เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ





    หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ สถิต ณ วัดสะแก ม.๗ บ้านสะแก ต.ธนู อ.อุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงปู่ ท่านมีชาติกำเนิดในสกุลหนูศรี เดิมชื่อ ดู่ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อัตโนประวัติ นามเดิม ดู่ หนูศรีฉายา พรหมปัญโญ ภิกขุวันเดือนปีเกิด วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

นามเดิมชื่อว่า “ดู่” เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง ซึ่งเป็นวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำเนิดในตระกูล “หนูศรี” โยมบิดาชื่อ พุด โยมมารดาชื่อ พ่วง มีพี่สาวร่วมบิดามารดา ๒ คน ท่านเป็นคนที่ ๓ เป็นบุตรคนสุดท้อง อาชีพของโยมบิดามารดาเป็นชาวนา มีฐานะไม่ร่ำรวย เมื่อหมดหน้านา โยมทั้งสองจะช่วยกันทำขนมไข่มงคลออกเร่ขาย หารายได้อีกทางหนึ่ง

ขณะที่ท่านยังเป็นทารกน้อย ได้เกิดเหตุอัศจรรย์กับตัวท่านครั้งหนึ่ง กล่าวคือ เวลานั้นเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำเหนือได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มแถบอยุธยาแทบทั้งหมด ท้องนาและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีแต่น้ำเจิ่งนองไปทั่ว บ้านของโยมหลวงปู่ดู่ก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน วันนั้นโยมมารดาได้เอาเบาะซึ่งท่านนอนอยู่ไปวางตรงนอกชาน(ไม่มีระเบียงกั้น) ด้วยเห็นว่าเป็นที่โล่งโปร่ง ลมเย็นพัดโชยตลอดเวลา แล้วโยมมารดาก็ไปช่วยโยมบิดาทอดขนมไข่มงคลในครัว

ขณะที่โยมทั้งสองกำลังง่วนอยู่กับการทอดขนม ก็ได้ยินเสียงสุนัขเลี้ยง เห่าขรมตรงนอกชาน แล้ววิ่งเข้ามาเห่าในครัวด้วยท่าทางลุกลน ก่อนจะวิ่งพล่านออกไปเห่าตรงนอกชานอีก โยมเห็นสุนัขแสดงกิริยาแปลก ๆ รีบออกจากห้องครัวมาดู มองไปที่เบาะลูกชาย ปรากฏว่า หายไปก็ตกใจสุดขีด วิ่งถลันไปที่สุดนอกชาน กวาดสายตามองหาไปรอบทิศ จึงได้เห็นเบาะหล่นจากชานเรือนลงไปในน้ำที่ท่วมเจิ่งด้านล่าง และลอยไปติดริมรั้วกลางเบาะนั้นมีลูกชายตัวน้อยๆ นอนร้องอ้อแอ้อยู่โยมบิดารีบโดดโครมลงไปในน้ำ ลุยไปที่เบาะลูกชาย เมื่ออุ้มลูกขึ้นมา ปรากฏว่าไม่เป็นอันตรายอย่างใด จึงประคับประคองกลับขึ้นบ้าน ด้วยความรู้สึกอัศจรรย์ใจเหลือจะกล่าว

โยมทั้งสองคิดหาสาเหตุที่ลูกตกไปในน้ำพร้อม ๆ กับเบาะก็นึกไม่ออกว่าลูกจะดิ้นจนเบาะเลื่อนไหลไปจนสุดนอกชาน แล้วตกลงไป ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะลูกยังไม่คว่ำเสียด้วยซ้ำ จะดิ้นรนตะกายอย่างไร ก็ไม่ทำให้เบาะขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ไปไกลถึงเพียงนั้น หรือจะว่ามีลมพัดอย่างแรงถึงกับหอบเอาเบาะลูกหล่นน้ำ ตนอยู่ในครัวใกล้ ๆ ทำไมจึงไม่รู้ว่ามีลมพัด และถ้ากระแสลมรุนแรงถึงขั้นหอบเอาเบาะกับลูกปลิวตกเรือนไปได้ หลังคาบ้านก็คงเปิดเปิงด้วยกระแสลมไปแล้วและที่น่าแปลกน่าอัศจรรย์ก็คือ เมื่อเบาะมีเด็กทารกนอนอยู่ตกลงไปในน้ำ เหตุใดเบาะไม่พลิกคว่ำ หรือตัวเด็กเลื่อนไหลตกน้ำไป ซ้ำเบาะยังลอยน้ำได้ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เบาะไม่ควรจะรับน้ำหนักเด็กไว้ได้ถึงเพียงนั้น

โยมบิดามารดาจึงเชื่อมั่นว่า ลูกของตนมีบุญวาสนามาแต่กำเนิดแน่นอน ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะทารกน้อยผู้นี้เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ก็ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์จนชั่วชีวิต ได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติสมณธรรมจนกล่าวได้ว่า ท่านบรรลุอรหัตมรรคผลอีกรูปหนึ่ง

ชีวิตเยาว์วัยของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ท่านต้องเผชิญกับการพลัดพรากที่รุนแรงร้ายกาจอย่างยิ่ง นั่นคือโยมมารดาเสียชีวิตไปก่อนขณะท่านยังเป็นทารก ครั้นอายุได้ ๔ ขวบ โยมบิดาก็เสียชีวิตตามไปอีกคน ต้องอาศัยอยู่กับยาย โดยมีพี่สาวชื่อ สุ่ม เป็นผู้เลี้ยงดูเอาใจใส่

เมื่อเจริญเติบโตถึงวัยเรียน ก็เข้าศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

    การอุปสมบท

    • อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    • อายุครบ ๒๑ ปี จึงได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงปู่กลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่แด เจ้าอาวาสวัดสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่ฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พรหมปัญโญ ภิกขุ”
    • ในพรรษาแรกๆ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรม (สมัยนั้นเรียกวัดประดู่โรงธรรม) พระอาจารย์ผู้สอนคือ ท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม และหลวงปู่รอด(เสือ) เป็นต้น
    • ในด้านการปฏิบัติพระกรรมฐาน ท่านได้รับการสอนจากหลวงปู่กลั่น ผู้เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ และหลวงปู่เภา ศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่กลั่น ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่านเอง นอกจากนี้ท่านยังได้ไปศึกษากับพระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานอีกหลายรูป ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสระบุรี
    • ประมาณพรรษาที่สาม หลวงปู่ดู่จึงออกเดินธุดงค์เดี่ยวจากพระนครศรีอยุธยา ไปยังสระบุรี เพื่อไปนมัสการพระพุทธฉาย และรอยพระพุทธบาท จากนั้นก็จาริกย้อนมาทางสุพรรณบุรี ตัดเข้ากาญจนบุรี แต่ธุดงค์ได้เพียง ๓ เดือน ก็ต้องกลับวัดสะแก เนื่องจากอาพาธอย่างหนัก ตลอดเวลาที่ครองเพศบรรพชิต หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ปฏิบัติธรรมกรรมฐานอย่างเคร่งครัดจริงจัง การกระทำความเพียรของท่าน ก็เพื่อตัดขาดจากสายใยของวัฏสงสารให้สะบั้นไปในชาตินี้ จะได้ไม่ต้องสืบภพสืบชาติต่อไปอีก

    นิมิตธรรม

    ในคืนหนึ่ง ในช่วงก่อน ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เล็กน้อย หลังจากที่ท่านสวดมนต์ทำวัตรเย็น และเข้าจำวัดแล้วนั้น เกิดนิมิตไปว่าได้ฉันดาว ที่มีแสงสว่างมากเข้าไป 3 ดวง ขณะที่ฉันนั้นรู้สึกว่า กรอบๆ ดี เมื่อฉันหมดก็ตกใจตื่น ท่านจึงได้พิจารณานิมิตที่เกิดขึ้น ก็เกิดความเข้าใจในนิมิตนั้นว่า ดาวสามดวง ก็คือ ดวงแก้วไตรสรณาคมน์ นั้นเอง ท่านจึงท่อง“ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ” ก็เกิดปิติขึ้นในจิตท่านอย่างท่วมท้น เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และมั่นใจว่า การยึดมั่นพระไตรสรณาคมน์ เป็นวิธี ที่เข้าสู่แก่นแท้ เป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ท่านจึงกำหนดเอา พระไตรสรณาคมน์ เป็นองค์บริกรรมภาวนา
    กล่าวได้ว่า ภูมิรู้ภูมิธรรมของหลวงปู่ดู่ มุ่งสู่มรรคผลนิพพานเป็นแนวตรง ซึ่งในอัตประวัติท่าน มีเกร็ดเล็ก ๆ ที่แสดงให้เห็นชัดเจนพอสมควร ดังจะนำมาเล่าดังต่อไปนี้
    กล่าวคือเมื่อครั้งที่หลวงปู่ดู่มีพรรษาไม่มากนัก ที่วัดสะแกมีเรื่องเดือดร้อนรำคาญใจอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ พวกโจรใจบาปหยาบช้า มักจะเข้ามาลักขโมยสิ่งของในวัดเนืองๆ บางครั้งขณะที่หลวงปู่ดู่นอนอยู่ พวกมันก็ยังบังอาจเข้ามาลักขโมยเอาไปต่อหน้าต่อตา
    หลวงปู่ดู่เคยทราบจากตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า พระอาจารย์ธรรมโชติ มีคาถาอาคมขลังอยู่บทหนึ่ง สำหรับกำหราบขโมย หากมีใครลักขโมยสิ่งของไป จะต้องกลับเอามาคืนหมด แต่พระอาจารย์ธรรมโชติได้ล่วงลับไปนานแล้ว และไม่มีผู้ใดสืบทอดวิชานี้เอาไว้ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้พระอาจารย์ธรรมโชติมาสอนวิชาอาคมนี้แก่ท่านในนิมิต แต่ก็ไม่เคยมีนิมิตปรากฏเอาเสียเลย กระทั่งเวลาผ่านไปหลายปี ทำให้ท่านลืมเรื่องที่อธิษฐานจิตเรื่องนี้โดยสนิท

      ท่านผู้อ่านอาจจะเลือน ๆ เรื่องของพระอาจารย์ธรรมโชติไปแล้วก็ได้ ดังนั้นจะขอทบทวนความทรงจำสักนิด

      กล่าวคือ ก่อนมหาธานีกรุงศรีอยุธยาจะถึงกาลล่มสลายในครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ด้วยน้ำมือของพม่าข้าศึก คนไทยทุกคนย่อมจะจำกันได้ถึง วีรกรรมค่ายบางระจัน นักรบไทยใจหาญกล้ามิว่าชายหญิง รวมตัวกันปักหลักสร้างค่ายสู้กับทหารพม่าอย่างยิบตา พม่ายกกองทหารมาตีคราวใดก็ต้องพ่ายแพ้กลับไปคราวนั้น

      ณ ที่ค่ายบางระจันนี้ นามของ พระอาจารย์ธรรมโชติ ก็เป็นที่ปรากฏ และได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ พระอาจารย์ธรรมโชติเป็นพระภิกษุผู้ทรงวิชาอาคมเป็นเลิศ ได้มาเป็นมิ่งขวัญกำลังใจให้แก่ชาวค่ายบางระจันตลอดเวลาที่สู้ศึกกับพม่า ตราบกระทั่งค่ายบางระจันถูกถล่มจนค่ายแตก ประสบความพ่ายแพ้ย่อยยับ วีรบุรุษวีรสตรีลูกค่ายบางระจันสู้ศึกจนตัวตายเกลื่อนค่าย เกลื่อนแผ่นดินเป็นที่เลื่องลือ

      และพระอาจารย์ธรรมโชติก็สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย ในประวัติศาสตร์มิได้บันทึกเอาไว้ว่า พระอาจารย์ธรรมโชติหายสาบสูญไปเช่นไร แต่เป็นที่เชื่อได้ข้อหนึ่งว่า คมดาบของพม่าข้าศึกคงไม่มีทางระคายแม้แต่เงาของท่าน

      นับแต่ค่ายบางระจันแตก กรุงศรีอยุธยาล่มสลาย ตราบกระทั่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราช สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี แล้วมาถึงรัชสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขึ้นครองราชย์ ย้ายเมืองหลวงมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ คือ กรุงเทพมหานคร กาลเวลาล่วงเลยไปนานแสนนานเช่นนี้ พระอาจารย์ธรรมโชติย่อมมรณภาพไปแล้วตามวงวัฏแห่งอนิจจัง วิญญาณของท่านจะไปสถิตอยู่ ณ ที่แห่งใด ย่อมยากที่จะรู้ได้

      หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ในกาลต่อมา ท่านผ่านพรรษามานานหลายพรรษาแล้ว และรับศิษย์ไว้ผู้หนึ่ง ซึ่งกล่าวได้ว่า ศิษย์ผู้นี้กับท่านมีวาสนาเกื้อกูลกันโดยตรงก็ว่าได้ เพราะศิษย์คนนี้มิใช่พุทธศาสนิกชน หากนับถือศาสนาคริสต์ ระยะแรก ๆ ที่มาฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่ เขาไม่มีศรัทธาปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ต่อมาจึงได้ยอมปฏิบัติ และก้าวหน้าในทางธรรมกรรมฐานอย่างเหลือเชื่อ กระทั่งวันหนึ่งเข้าไปเจริญสมาธิในกุฏิกับหลวงปู่ดู่ ได้ปรากฏหลวงปู่ทวดในนิมิต แต่ด้วยเหตุผลทางศาสนา จึงไม่ยอมกราบไหว้นมัสการหลวงปู่ทวด

      ในที่สุด เขาก็ต้องก้มกราบหลวงปู่ทวด ด้วยความเคารพศรัทธาอย่างหาที่เปรียบมิได้ วันหนึ่ง ศิษย์คนนี้มารายงานผลการปฏิบัติของตนต่อหลวงปู่ดู่ตามปกติ จากนั้น จึงได้กราบเรียนถามท่านว่า
      “หลวงลุงครับ หลวงลุงรู้จักหลวงปู่พระอาจารย์ธรรมโชติไหมครับ”

      ได้ยินลูกศิษย์ถาม หลวงปู่ดู่เพิ่งฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ท่านเคยอธิษฐานถึงพระอาจารย์ธรรมโชติ ขอคาถากำราบโจรไว้นานแล้วจนลืม จึงตอบลูกศิษย์ว่า “รู้จักซิ” แล้วเล่าให้ฟังที่ท่านเคยอธิษฐานขอให้พระอาจารย์ธรรมโชติมาปรากฏในนิมิต ศิษย์จึงกราบเรียนถวายว่า

      “พระอาจารย์ธรรมโชติ ท่านสั่งให้มาเรียนหลวงลุงว่า คาถาที่ของนั้นยังเป็นโลก ติดอยู่ในโลก ไปไม่ได้ แต่วิธีการของหลวงลุงเป็นการทำตัวให้พ้นโลก ที่ท่านทำนั้นสูงแล้ว”

      ขณะที่ศิษย์ซึ่งเคยนับถือศาสนาคริสต์ มารายงานผลการปฏิบัติ และเล่าเรื่องพระอาจารย์ธรรมโชติ (มาปรากฏในนิมิต) สั่งความมาถึงหลวงปู่ดู่ มีศิษย์คนอื่น ๆ นั่งฟังอยู่ด้วยหลายคน ท่านจึงพูดให้ได้ยินกันทุกคนว่า

      “ที่จริงข้าลืมไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะขอมานมนานกาเล แต่ท่านยังอุตส่าห์บอกถึงข้าจนได้”
      เมื่อนำเรื่องของหลวงปู่ดู่มาพรรณนาดังที่ท่านได้อ่านมาแล้ว ย่อมเห็นว่า ท่านมีแนวทางในการกระทำความเพียรเพื่อสิ้นทุกข์ สิ้นกิเลส ในชาตินี้ชัดเจน พร้อมกันนี้ ยังกอร์ปด้วยเมตตาบารมี ยินดีสงเคราะห์ญาติโยม ที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ ซึ่งยากจะแก้ไขได้ด้วยตัวเองให้ผ่อนคลายลงได้

      เมตตาธรรม

      หลวงปู่ดู่ท่านให้การต้อนรับแขกอย่างเสมอเท่าเทียมกันหมด ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ท่านจะพูดห้ามปรามหากมีผู้เสนอตัวเสนอหน้าคอยจัดแจงเกี่ยวกับแขกที่มาหาท่าน เพราะท่านทราบดีว่ามีผู้ใฝ่ธรรมจำนวนมากที่อุตสาห์เดินทางมาไกล เพื่อนมัสการและซักถามข้อธรรมจากท่าน หากมาถึงแล้งยังไม่สามารถเข้าพบได้โดยสะดวก ก็จะทำให้เสียกำลังใจ เป็นเมตตาธรรมอย่างสูงที่หลวงปู่มีให้ศิษย์ทั้งหลาย และหากมีผู้สนใจการปฏิบัติกรรมฐาน มาหาท่าน ท่านจะเมตตาสนทนาธรรมเป็นพิเศษอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

      หลวงปู่ทวด

      ท่านให้ความเคารพในองค์หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ เป็นอย่างมากทั้งกล่าวยกย่อง ว่าหลวงปู่ทวดท่านเป็นผู้ที่มีบารมีธรรมเต็มเปี่ยม เป็นโพธิสัตว์จะได้มาตรัสรู้ ในอนาคต ให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ยึดมั่น และระลึกถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อติดขัดในระหว่างการปฏิบัติธรรม หรือประสบปัญหาทางโลก ท่านว่า หลวงปู่ทวดท่านคอยที่จะช่วยเหลือทุกคนอยู่แล้ว แต่ขอให้ทุกคนอย่าท้อถอย หรือละทิ้งการปฏิบัติ

      สร้างพระ

      หลวงปู่ดู่ท่านมิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ การที่ท่านสร้าง หรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่องหรือพระบูชา ก็เพราะเห็นว่า บุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยงทางด้านจิตใจ เพราะศิษย์ หรือ บุคคลนั้น มีทั้งที่ใจใฝ่ธรรมล้วนๆ กับ ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล ท่านเคยพูดว่า “ติดวัตถุมงคลยังดีกว่า ที่จะไปให้ติดวัตถุอัปมงคล” แม้ว่าหลวงปู่ดู่ท่านจะรับรองในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่ท่านอธิฐาน จิตให้ แต่สิ่งที่ท่านยกไว้เหนือกว่านั้นก็คือการปฏิบัติ การภาวนา นี้แหละ เป็นสุดยอดแห่งเครื่องรางของขลัง บางคนมาหาท่านเพื่อต้องการของดีเช่นเครื่องรางของขลัง ซึ่งมักจะได้รับคำตอบจากท่านว่า “ ของดีนั้นอยู่ที่ตัวเรา พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละของดี ”

      ปัจฉิมวาร

      นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมาสุขภาพหลวงปู่เริ่มทรุดโทรม เนื่องการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ด้วยเหตุจากการที่ต้องต้อนรับแขก และบรรดาศิษย์ทั่วทุกสารทิศ ที่นับวันก็ยิ่งหลั่งไหลกันมานมัสการท่านมากขึ้นทุกวัน แม้บางครั้งจะมีโรคมาเบียดเบียนอย่างหนัก ท่านก็อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปกติ พระที่อุปัฏฐากท่าน เล่าว่า บางครั้งถึงขนาดที่ท่านต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่น และมีน้ำตาคลอเบ้า ท่านก็ไม่เคยปริปากให้ใครต้องเป็นกังวลเลย ภายหลังตรวจพบว่า หลวงปู่ เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว แม้ว่าทางคณะแพทย์ จะขอร้องท่านให้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ท่านก็ไม่ยอมไป

      ประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๓๒ หลวงปู่พูดบ่อยครั้ง เกี่ยวกับ การที่ท่านจะละสังขาร ซึ่ง ในขณะนั้นหลวงปู่ท่านได้ใช้หลักธรรม ขันติ คือความอดทนอดกลั้นระงับ ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากโรคภัย จิตของท่านยังทรงความเป็นปรกติสงบเย็น จนทำให้คนที่แวดล้อมท่านไม่อาจสังเกตเห็นถึงปัญหาโรคภัยที่คุกคามท่านอย่าง หนัก

      วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ช่วงเวลาบ่ายนั้น มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งมากราบท่านเป็นครั้งแรก หลวงปู่ท่านได้ลุกขึ้นนั่งต้อนรับ ด้วยใบหน้าที่สดใส ราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ จนบรรดาศิษย์ เห็นผิดสังเกต หลวงปู่ยินดีที่ได้พบกับศิษย์ผู้นี้ ท่านว่า “ต่อไปนี้ ข้าจะได้หายเจ็บไข้เสียที ” คืนนั้นมีคณะศิษย์มากราบท่าน ท่านได้พูดว่า “ ไม่มีส่วนใดในร่างกายที่ไม่เจ็บปวดเลย ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้อง ICU ไปนานแล้ว ” พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าจะไปแล้วนะ” และกล่าวปัจฉิมโอวาทย้ำให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท “ถึงอย่างไรก็ขอให้อย่าได้ละทิ้งการปฏิบัติ ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติ ก็เหมือนนักมวย ขึ้นเวทีแล้วต้องชก อย่ามัวแต่ตั้งท่า เงอะๆ งะๆ” หลังจากคืนนั้นหลวงปู่ก็กลับเข้ากุฏิ และละสังขารไปด้วยอาการสงบด้วยโรคหัวใจ ในกุฏิท่านเมื่อเวลาประมาณ ๕ นาฬิกา ของ วันพุธที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ รวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๘ เดือน ๖๕ พรรษา ยังความเศร้าโศกและอาลัยแก่ ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง อุปมาดั่งดวงประทีปที่เคยให้ความสว่าง ดับไป แต่เมตตาธรรมและคำสั่งสอนของท่านยังปรากฏ อยู่ในดวงใจของ ศิษยานุศิษย์ตลอดไป
      พระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕

      ธรรมโอวาท

      อีกเรื่องหนึ่งที่หลวงปู่ดู่มักจะกล่าวเตือนศิษยานุศิษย์ ทั้งที่ใกล้ชิดและห่างไกล ตลอดจนสาธุชนญาติโยมทั้งหลาย ให้พึงสังวรอยู่เสมอก็คือ เรื่องควรงดเว้นกระทำกรรมชั่วโดยเด็ดขาด โดยท่านจะนำเอาพุทธพจน์ที่ว่า “ขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า” มาเป็นข้อเตือนสติแก่ทุกคน เพราะการกระทำกรรมใด ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมเลวก็ตาม จิตของผู้นั้นจะบันทึกเก็บงำข้อมูลเอาไว้โดยละเอียด เมื่อใดที่ถึงกาลมรณะ จิตตัวนี้จะเป็นตัวชี้นำไปสู่สุคติ หรือทุคติอย่างชัดเจน

      จิตตัวนี้สำคัญนัก แม้เพียงไปยึดติดหรือข้องอยู่กับกรรมเพียงน้อยนิด ขณะใกล้จะสิ้นใจตาย ก็ยังสามารถเบี่ยงเบนจุดหมายปลายทางที่จะไปเกิดได้ ลักษณะที่จิตไปจับกรรมในขณะกำลังจะถึงมรณกาล เรียกว่า “มรณาสันนวิถี” นี้ หลวงปู่ดู่ท่านเคยกล่าวถึง พระภิกษุผู้ปฏิบัติกรรมฐานขั้นสูงรูปหนึ่ง พระภิกษุรูปนี้ หรือ อาจารย์รูปนี้เป็นที่แน่ใจว่า ไม่มีทางไปสูทุคติ หรือ ภูมิแห่งความทุกข์ยากลำบากอย่างแน่นอน ท่านถึงกับบอกแก่บรรดาศิษย์ของท่านว่า “หากท่านมรณภาพวันใด ทุกคนจะได้ยินเสียงปี่พาทย์ราดตะโพนมารับ” (คงหมายถึง เหล่าเทวดาแสดงเสียงดนตรีสวรรค์ต้อนรับ)

      ต่อมาอาจารย์รูปนี้อาพาธ และมีอาการทรุดหนักเกินกว่าจะเยียวยารักษาได้ กระทั่งมรณภาพ ในวันมรณภาพนั้น ศิษยานุศิษย์ และทายก ทายิกา มาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เมื่ออาจารย์สิ้นลมหายใจ ทุกคนก็คิดว่า จะได้ยินเสียงปี่พาทย์ราดตะโพน แต่กลับไม่ได้แว่วเสียงอะไรเลย ทุกคนต่างพากันผิดหวังระคนเสียใจ ที่อาจารย์ของตนไม่ได้ไปดีดังที่ท่านตั้งปณิธาน และเชื่อมั่น อีกทั้งยังเกิดห่วงใยอาจารย์ไปต่าง ๆ นานา

      เหตุที่อาจารย์มิได้ไปตามวิถีดังที่ตั้งใจ หลังจากมรณภาพแล้วนั้น เนื่องจากก่อนท่านจะอาพาธ มีโยมนำอ้อยมาถวาย ท่านจึงได้นำไปปลูกไว้ และเอาใจใส่รดน้ำอยู่เสมอ จนอ้อยเจริญงอกงามขึ้น เรื่อย ๆ ขณะที่ท่านใกล้จะถึงกาลมรณภาพ เกิดคิดไปถึงอ้อยกำลังเจริญงามเต็มที่ น่าจะตัดอ้อยไปปอกถวายพระฉัน

      ด้วยเหตุที่จิตไปข้องอยู่กับอ้อย เมื่อสิ้นใจตาย จึงไปเกิดเป็นตัวเล็น ติดอยู่ที่ต้นอ้อย ไปไหนไม่รอด

      พิธีงานศพของอาจารย์ยังดำเนินไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ ๗ ทายกเห็นอ้อยกำลังงาม จึงได้ตัดไปปอกเปลือกแล้วควั่นอ้อยถวายพระ เป็นโอกาสดีของอาจารย์ท่าน จึงโมทนาไม่ติดเกาะอยู่ที่นั่นอีก

      ทันทีที่อาจารย์หลุดพ้นจากอัตภาพตัวเล็น เสียงปี่พาทย์ราดตะโพนก็ดังกังวานขึ้นในอากาศ เป็นที่ประจักษ์ของผู้ร่วมงานทุกคน ทำให้ทายก ทายิกา และบรรดาศิษย์ทั้งหลาย บังเกิดความปีติปราโมทย์กันทั่วหน้า เพราะเป็นไปตามวาจาของอาจารย์ทุกประการ

      เหตุนี้ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ จึงกล่าวย้ำซ้ำเตือนตามพุทธพจน์เสมอว่า “ขึ้นชื่อว่าความชั่ว ไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า” เพราะถ้าจิตไปยึดติดกรรมเพียงน้อยนิด ก็ยังไม่อาจไปสู่สุคติได้ ดังเช่น อาจารย์ซึ่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาอย่างเคี่ยวกรำ กระทั่งจิตหมดจดสดใสแล้ว เพียงแค่เกิดความห่วงใย “อยาก" จะนำอ้อยไปถวายให้พระฉันเท่านั้น ถึงกับไปไหนไม่รอดเอาดื้อ ๆ ดังเรื่องราวซึ่งได้กล่าวมาแล้ว

      คติธรรม

      พระนิพพานอุปมาขนาดเท่าเส้นผม ผู้ที่จะผ่านพ้นในขั้นสุดท้ายไปได้หรอืไม่ได้อยู่เพียงนิดเดียวในการทำจิต ตัดจุดนี้ได้หรือไม่เท่านั้น พระพุทธเจ้าตอนที่ท่านจะปรินิพพาน ท่านได้ปรินิพพานไประหว่างรูปฌานและอรูปฌาน เป็นการดับขันธ์ด้วยความบริสุทธิ์เหนือสมมติโดยสิ้นเชิง"

      ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-doo/lp-doo-hist.htm

      ไม่มีความคิดเห็น:

      แสดงความคิดเห็น