เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พวกเรา...ชาวเฟซบุ๊ค ทำได้คร้าบบบ

โซเชียล เยียวยา

ตอฮีเราะ ฮะ

ของแถมจากความไม่สงบคือความหวาดกลัว กลัวจนไม่กล้าจะออกไปไหนแม้ยามเจ็บป่วยแต่ก็มีตัวช่วยที่บินมาพร้อม"ยาดี"จนคนเจ็บในพื้นที่ใต้สุด ดีวันดีคืน

เว็บธุรกิจโดย Googleรับ URL ฟรีสำหรับธุรกิจจาก Google ดึงดูดธุรกิจแบบออนไลน์ วันนี้www.goonline.in.th
ทำไมต้อง Super Resumeทำไม HR ต้องเลือกดู Super Resume ก่อนเรซูเม่ทั่วไป?www.jobtopgun.com

เช้าตรู่ของวันหนึ่งในเดือนมิถุนายน ท่ามกลางอากาศที่ดูขมุกขมัวกลายเป็นอุปสรรคต่อวิสัยทัศน์ในการมองเห็นอย่างมาก แต่สำหรับเจ้าแมลงปอยักษ์กลับไม่มีทีท่าสะทกสะท้านกับสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ ซ้ำยังค่อยๆ ยกตัวจากพื้นดินก่อนแหวกก้อนเมฆสีทะมึน หอบลังขนาดใหญ่มุ่งหน้าสู่ปลายทางที่ หน่วยเฉพาะกิจจังหวัดนราธิวาส ในนั้นบรรทุกคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งชีวิตไม่เคยเฉียดพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนเลยนับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงในปี2547เป็นต้นมา

เมื่อถึงที่หมาย ผู้โดยสารฉีกยิ้มทันที ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นยังออกอาการตะหนกอยู่ไม่น้อย เมื่อต้องอยู่บนฟ้าร่วมชั่วโมงตลอดการเดินทางจากค่ายมณฑลทหารบกที่42 อำเภอหาดใหญ่ ก่อนถึงหน่วย ฉก.นราธิวาส

"ยาใจ" ชาวไซเบอร์

แม้สัญญาณในพื้นที่แห่งนี้ไม่เป็นใจ แต่สตรีวัยกลางคนไม่ลดละในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทันทีที่ก้าวเท้าลงจากเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพภาคที่4 ด้วยมุ่งหวังจะเข้าไปยังโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อบอกกล่าวภารกิจให้สมาชิกได้รับทราบความเคลื่อนไหวทุกระยะ


ภาพถ่ายระหว่างเดินทางบนอากาศ พร้อมกับกล่องยาและเวชภัณฑ์นานาชนิดที่ถูกบรรทุกมากับแมลงปอยักษ์ถูกนำออกเผยแพร่สู่โลกไซเบอร์เพียงคลิกเดียว

พลันเสร็จจากภารกิจเล่าเรื่องให้เครือข่ายชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กรับทราบสถานการณ์ล่าสุด สตรีวัยกลางคนก็เริ่มต้นบทสนทนาด้วยท่าทีจริงจัง ว่า แรงจูงใจสำคัญที่ช่วยกลบความหวาดกลัวในใจผู้มาเยือน ทันทีที่เหยียบลงพื้นที่ที่ใครๆ ก็ป้ายสีแดงให้ คือ “ความห่วงใย” ที่มีต่อเพื่อนสุดปลายแดนสยาม

ด้วยสภาพรุนแรงที่สั่งสมอยู่ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสตลอด7ปีที่ผ่านมา ได้ปรากฎภาพความระทมทุกข์ของผู้คนในพื้นที่นี้ออกสู่สายตาคนภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ คุณภาพการศึกษาที่นับวันจะอยู่ในอาการทรงกับทรุด รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในภาวะชะงักงันเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น

เมื่อปัญหามากมายที่เป็นผลมาจากแรงกระเพื่อมของความรุนแรงได้กลายสภาพเป็นปัจจัยรุมเร้า และมะรุมมะตุ้มชีวิตของผู้คนในดินแดนแห่งนี้ให้ตกอยู่ในความทุกข์ทั้งทางกายและใจ จึงเกิดความห่วงใยเล็กๆ จากคนไกลก็ไม่ใช่ใกล้ก็ไม่เชิงอย่างโลกไซเบอร์ ที่ร่วมกันหาหนทางให้ความช่วยเหลือผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ธมลภัค จิระนคร หรือ "ทิพย์" ตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์ บอกว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดปรากฎการณ์มากมายในการบรรเทาหรือแก้ปัญหาให้กับสังคมจากการร่วมไม้ร่วมมือผ่านโลกเสมือน โดยเฉพาะกรณีภัยพิบัติ

สำหรับพื้นที่นี้ แง่มุมหนึ่งของคนในสังคมออนไลน์ที่ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบ เห็นพ้องต้องกันว่า การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชนเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะมีความหวาดกลัวจากเหตุรุนแรงเป็นอุปสรรคสำคัญคอยขัดขวาง


“เรื่องราวของคนชายแดนภาคใต้ประเด็นหนึ่งที่ถูกสะท้อนผ่านสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก คือ เมื่อประชาชนในพื้นที่รอบนอกเกิดอาการเจ็บไข้ ก็ไม่ได้ไปพบหมอเพราะกลัวอันตราย ไม่กล้าไปอนามัย บางรายบ้านอยู่ไกลอนามัยและโรงพยาบาลมากทำให้เข้าไม่ถึงยาและการรักษา มีก็แค่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่เท่านั้นที่พอจะช่วยเหลือได้”

ไม่เพียงเท่านี้หน่วยทหารแพทย์เคลื่อนที่ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดสำคัญในขณะนี้คือยาหรือเวชภัณฑ์ที่มีอยู่ไม่พอรองรับกับคนไข้ในพื้นที่ซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้การรักษาโรคบางชนิดไม่ประสบผลสัมฤทธิ์ได้

จนในที่สุด “ชาวเน็ต”กลุ่มหนึ่งได้ร่วมตัวกันคิดโครงการ “สานใจไปกับยา เพื่อพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่สันติ” ด้วยการร่วมระดมบริจาคยารักษาโรคทุกชนิด ทั้งยาสามัญประจำบ้าน และยารักษาโรคเฉพาะทาง ผ่านเครือข่าย “เฟซบุ๊ค”

“โครงการของเราเกิดขึ้นจากการรับรู้ถึงความขาดแคลนยารักษาโรคของพี่น้องในหมู่บ้านห่างไกลที่ไม่สามารถเดินทางออกมาหาหมอได้ เนื่องจากต้องเดินทางผ่านพื้นที่อันตราย เราจึงรวบรวมยาเท่าที่หาได้ฝากไปกับหมอทหารเดินเท้าที่เข้าไปตามชุมชนเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องที่อยู่ในจุดอันตราย เพราะทหารที่เดินทางเข้าไปมียาจำกัดตามที่ราชการจัดให้สำหรับกำลังพลเอง”

“โครงการสานใจไปกับยา”เป็นพลังของคนในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ร่วมมือร่วมใจกันให้ความช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติในจังหวัดชายแดนใต้ โดยส่งยาผ่าน “หมอทหารเดินเท้า” ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก พล.ต.อัคร ทิพโรจน์ รองผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่เป็นมือประสานงานนำยาจากโครงการ ฯ ไปมอบให้ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สุ่มเสี่ยงอันตราย

นอกจากนี้ยังมี อดุล แก้วมณี ประธานกลุ่มจิตอาสาพัฒนาพลังสามัคคีสร้างสรรค์ (กอพส.) ที่นำสมาชิกร่วมเป็นพันธมิตรขับเคลื่อนภารกิจนี้ด้วย


"เราเริ่มโครงการตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2553 และเริ่มบันทึกภาพรวบรวมข้อมูลกกิจกรรมของโครงการเมื่อเดือน กันยายน 2553 โดยได้ส่งยาถึงมือพี่น้องชาวใต้แล้วผ่านหน่วยงาน พี่ๆทหารทั้งจากหน่วย ฉก.ยะลา12 ,หน่วย ฉก.ยะลา 13 ,หน่วย ฉก.ยะลา14 ,หน่วย ฉก.ยะลา15 ,หน่วยฉก.ยะลา16 ,กรมทหารพรานที่41, กรมทหารพรานที่47, หน่วย ฉก.ปัตตานี 22 ,หน่วย ฉก.ปัตตานี 23 ,หน่วย ฉก.นราธิวาส38 ,หน่วยทักษิณสัมพันธ์ และกรมทหารพรานที่43" ประธาน กอพส.รื้อฟื้นความช่วยเหลือ

ยาออนไลน์ หายได้จริง

แม้หลายคนในสังคมออนไลน์จะไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน แต่ด้วยเป้าหมายเดียวกันนั่นคือการร่วมบริจาคยาผ่านโครงการสานใจไปกับยา ทำให้กล่องกระดาษขนาดใหญ่ที่บรรจุยาซึ่งมีรายชื่อแปะด้านข้างตั้งแต่กลุ่มยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น diclofenac หรือ ibuprofen(ยาแก้ปวด), orphetamol หรือ norgesic(ยาคลายกล้ามเนื้อ), ยาทาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ Paracetamol (แก้ปวด ลดไข้)ถูกส่งมาจากกรุงเทพมหานคร ส่วนกลุ่มยาโรคกระเพาะอาหาร เช่น Omeprazole(ยาลดกรด),Motilium(แก้คลื่นไส้อาเจียน),Buscopan(แก้ปวดท้อง)เป็นน้ำใจจากชาวหาดใหญ่


ตามมาด้วยยาหยอดตา เช่น Hista-oph(ลดอาการระคายเคืองตา), Polyoph(รักษาอาการติดเชื้อที่ตา) ยาทาผื่นผิวหนัง เช่น prednisolone cream(แก้ผื่นแพ้ผิวหนัง), clotrimazole cream(แก้เชื้อรา), benzyl benzoate(รักษาโรคหิด) , calamine (แก้คัน) ยาแก้อักเสบ ปฎิชีวนะ เช่น albendazole(ยาถ่ายพยาธิ), ketoclonazole(ยาแก้เชื้อรา) 6.เบ็ดเตล็ดทั่วไป เช่น Dramamine หรือ Dimenhydrinate (ยาแก้วิงเวียน) ที่ระดมมาจากเครือข่ายในโลกไซเบอร์ทั่วทุกสารทิศ ถึงกับต้องใช้กำลังพลทหารหลายนายยกลงจากเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเอาไปส่งให้ถึงมือแพทย์

“ช่วงแรกๆที่เรานำยาจากเครือข่ายสมาชิกในเฟซบุ๊คส่งไปให้หน่วยแพทย์ จะเดินทางด้วยการส่งผ่านรถไฟก่อนให้ทหารมารับที่สถานี ทำให้ทราบว่ายาทุกชนิดที่ถูกนำไปบรรเทาอาการป่วยไข้ ทำให้บางรายหายขาดจากโรคภัย ส่วนบางคนอาการทุเลาและดีขึ้นตามลำดับ”ทิพย์ บอกด้วยรอยยิ้ม

หนึ่งในนั้นคือ ตอฮีเราะ ฮะ สตรีมุสลิมวัยกลางคนในตำบลตันหยงลิมอ จ.นราธิวาส ฝ่าเปลวแดดอันร้อนระอุมาให้ “แพทย์เดินเท้า”ตรวจอาการปวดหลัง ที่เป็นผลมาจากการกรำงานหนัก และที่สำคัญการมารอพบหมอเคลื่อนที่ช่วยให้ตัดปัญหาเรื่องค่ายาที่จะมาบั่นทอนรายได้ของครอบครัว ไหนจะต้องส่งเสียลูกชายวัยกำลังเรียนอีก

สตรีคนเดิมพรายยิ้ม ก่อนบอกด้วยสำเนียงท้องถิ่นให้ฟังว่า ยาแก้ปวดเมื่อยทั้งชนิดรับประทานและชนิดทาช่วยบรรเทาอาการปวดแผ่นหลังได้เป็นอย่างดี แม้ว่ายังมีอาการเจ็บปวดเป็นครั้งคราวแต่หากเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ยอมรับว่าดีขึ้นมาก

“ยาที่เขาเอามามอบให้เป็นยาดี เพราะกินแล้วรู้สึกอาการดีขึ้น และเกือบจะหายปกติแล้ว ที่สำคัญหมอทหารบอกว่าไม่ใช่ยาถูกๆ จึงรู้สึกดีใจมากที่คนภายนอกยังเป็นห่วงและไม่ทิ้งเราที่อยู่ในสามจังหวัด” เธอกล่าว ก่อนเบือนหน้าหนีพลางยกมือปาดน้ำตา

มียา มีรอยยิ้ม

แม้จะต้องตระเวณออกให้บริการทางการแพทย์แก่ชาวบ้านในทั้งในพื้นที่สีแดง หรือสีเขียว แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับจ.ส.อ.กำจัด อุทัยมาก เจ้าหน้าที่พยาบาลและทันตกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพราะนอกจากได้ช่วยให้คนไข้พ้นจากอาการเจ็บป่วยได้แล้ว ยังช่วยผูกมิตรระหว่างเจ้าหน้าที่กับมวลชนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น


แต่เรื่องที่สร้างความหนักใจให้กับนายทหารรายนี้ หนีไม่พ้นปริมาณยาที่มีไม่เพียงพอต่อการรักษาอาการป่วยไข้ให้กับชาวบ้าน เพราะเมื่อดูตัวเลขเฉียดร้อยที่มาเข้าคิวรอรับการรักษากับจำนวนเวชภัณฑ์ที่ทางการมีอยู่ กลับสวนทางอย่างสิ้นเชิง


ครั้นได้เห็นลังบรรจุยาขนาดใหญ่ที่พลทหารอุ้มเดินตรงเข้ามายังหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทำเอา “จ.ส.อ.กำจัด” ฉีกยิ้มขึ้นมาทันที ก่อนจะรีบเปิดกล่องกระดาษสีน้ำตาลขนาดมหึมาเพื่อตรวจนับและสำรวจว่ามียาประเภทใดตรงกับความต้องการใช้ในเวลานี้บ้าง

นายทหารสูงวัยคนเดิม บอกอย่างยิ้มแย้มว่า แค่ยาธาตุน้ำขาวเพียงหนึ่งขวดที่ถูกส่งมาจากพี่น้องประชาชนภายนอก ก็มีสรรพคุณมากกว่าที่ระบุไว้ในฉลากข้างขวดด้วยซ้ำไป เพราะ "ยาดี" ที่ชาวบ้านจะได้รับไปด้วย คือ ความอิ่มเอิบใจ ที่บรรจุอยู่ในลังยาใบเขื่องอันเกิดจากการระดมของเครือข่ายในโลกออนไลน์

“ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด โรคผิวหนัง โรคความดัน โรคปวดเมื่อย ซึ่งยาเหล่านี้ที่แพทย์ทหารได้รับมาจากทางราชการจะหมดลงในเวลาอันรวดเร็ว" ทำให้การมาถึงของเวชภัณฑ์ของเครือข่ายเฟซบุ๊คตามโครงการสานใจไปกับยา ไม่เพียงทำให้ชาวบ้านยิ้มได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้หมอทหารทุกนายยิ้มออกด้วยเช่นเดียวกัน

“ก่อนหน้านี้หน่วยแพทย์เดินเท้าจะออกให้บริการพี่น้องตลอดทั้งวัน กระทั่งระยะหลังปริมาณยาไม่เพียงพอทำให้กำหนดการออกรักษาชาวบ้านต้องลดเหลือครึ่งวันเท่านั้น แต่เมื่อมีการบริจาคยาทั่วทุกสารทิศผ่านโลกออนไลน์ ทำให้วันนี้สามารถออกให้บริการผู้ป่วยถึงประตูบ้านได้ตลอดทั้งวันอีกครั้ง”จ.ส.อ.กำจัด กล่าวด้วยรอยยิ้มเบิกกว้าง

ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความปีติทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่สำหรับ พ.ต.มนตรา ประถมภัฏ หรือ “เสธ.เอ้” นายทหารฝ่ายปฏิบัติการข่าวสาร ฉก.นราธิวาส ดูทีท่าจะไม่หยุดไอเดียเชื่อมโยงความช่วยเหลือจากคนนอกพื้นที่สู่พี่น้องชายแดนภาคใต้ผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ค หลังจากประสบความสำเร็จในการลิงค์สัญญาณนำคณะสานใจไปกับยามาสู่ชายแดนภาคใต้ได้สำเร็จ

“เสธ.เอ้” บอกด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดีว่า ด้วยความนิยมของสื่อออนไลน์อย่าง “เฟซบุ๊ค”ทำให้เกิดความคิดตั้ง “แฟนเพจ” ในนาม “Narapeace”ขึ้นมาบนโลกไซเบอร์ครั้งแรกตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2553 ด้วยความตั้งใจส่วนตัว หวังใช้เป็นสื่อกลางทำความเข้าใจ เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ใช้ระยะเวลาไม่นานยอดสมาชิกNarapeace พุ่งพรวดจนทำให้หน่วย ฉก.นราธิวาส เห็นถึงประโยชน์ และได้กลายเป็นประตูบานใหญ่ที่ทำให้คนภายนอกเห็นถึงเรื่องราวดีๆ ในพื้นที่แห่งนี้ กระทั่งนำไปสู่การพบปะกับกลุ่มสานใจไปกับยาในเครือข่ายสังคมออนไลน์ จนนำมาสู่กิจกรรมในครั้งนี้

นายทหารหนุ่มคนนี้ยังบอกว่า โครงการสานใจไปกับยา เป็นมากกว่าการช่วยรักษาและบรรเทาโรคป่วยไข้ของพี่น้องในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพราะธารน้ำใจแห่งความห่วงใยจากนอกพื้นที่ซึ่งหลังไหลมากับเครือข่าย เป็นเสมือน "ยาดี" ที่ช่วยดับทุกข์ทางกายและทางใจให้กับประชาชนในพื้นที่ เพราะคงไม่มีตัวยาใดที่สรรพคุณจะดีไปกว่า “กำลังใจ”

เพราะนอกจากจะเรียกรอยยิ้มให้กลับมาบนใบหน้าของผู้คนในพื้นที่ได้แล้ว ยังเติมพลังใจในการลุกขึ้น เดินหน้า สู้กับปัญหาและก้าวไปสู่ปลายทางแห่งสันติสุขที่รออยู่ ณ ปลายอุโมงค์ได้

"ใครจะเชื่อ แค่กลุ่มคนเล็กๆในในโลกออนไลน์จะมีพลังขนาดสามารถเยียวยาโรคทางกายและบาดแผลทางใจให้กับคนที่นี่ได้”เสธ.เอ้ กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

Tags : โครงการ “สานใจไปกับยา เพื่อพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่สันติ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น