mp 3 (for download) : จิตกับใจ ฌานกับสมาธิ
หลวงพ่อปราโมทย์ :วิธีที่จะทำให้เราเห็นความจริง ของธาตุของขันธ์ ของกายของใจนะ ว่ามันไม่ใช่ตัวตนนะ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา คือวิปัสสนากรรมฐาน มีหลักการสั้นๆนะ สั้นๆ “ให้มีสติ รู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง”
เราจะรู้ใจตามความเป็นจริง มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง จะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้นะ ต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นนะ จิตที่เป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นจิตที่เป็นกลางเป็นจิตที่ทรงสมาธิ แต่เป็นสมาธิคนละแบบกับสงบ
สมาธิมี ๒ ชนิดนะ พวกเราต้องเรียนให้ดี สมาธิชนิดที่หนึ่ง สงบ สมาธิที่สอง ตั้งมั่น แต่ในความตั้งมั่นนั้น เจือด้วยความสงบนะ มีความสงบเจืออยู่
พวกเรา ใครเคยเจอหลวงปู่เทสก์บ้าง มีมั้ย มีใครที่เจอหลวงปู่เทสก์บ้าง มีนิดเดียวเองเนาะ พวกนี้ไม่ทันแล้วล่ะ เคยได้ยินชื่อท่านมั้ย เออ..เคยได้ยิน รู้มั้ยท่านสอนอะไร เคยได้ยินมั้ย ท่านชอบสอนเรื่อง ฌาน กับ สมาธิ ได้ยินหรือเปล่า ไม่ได้ยินเหรอ ไปเรียนซะนะ คำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์วิเศษที่สุดเลยนะ ท่านสอนเรื่องฌาน กับ สมาธิ หมายถึงเป็นสมาธิ ๒ ชนิด ฌานเนี่ยจิตจะไปเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว
เช่น เราอยู่กับพุทโธๆนะ จิตไม่หนีไปจากพุทโธเลย ได้ความสุข ได้ความสงบ เราดูท้องพองยุบนะ จิตไม่หนีไปจากท้องเลย จิตสงบ ได้ความสงบ รู้ลมหายใจ จิตไม่หนีไปจากลมหายใจ สงบอยู่กับลมหายใจ สงบ ตรงที่จิตไปเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว สงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวนี้ ตรงนี้หลวงปู่เทสก์เรียกว่า ฌาน เป็นศัพท์เฉพาะที่ท่านเรียกว่า ฌาน ถ้าภาษาปริยัติจะไม่เรียกว่า ฌาน เขาจะเรียกว่า อารัมณูปนิชฌาน ชื่อยาว จำยาก หลวงปู่เทสก์ท่านตัดเหลือสั้นๆเรียกว่า ฌาน คือจิตมันไปเพ่งนิ่งๆอยู่ในอารมณ์อันเดียว ด้วยวิธีที่บอกมาตะกี้นี้นะ พุทโธไป จิตหนีแล้วรู้ จิตหนีแล้วรู้ หายใจไป จิตหนีไปแล้วรู้ จิตหนีแล้วรู้ จิตก็ค่อยๆรวมลงมา มาอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ สมาธิชนิดนี้เอาไว้พักผ่อน ทำให้จิตใจมีเรี่ยวมีแรง สดชื่น
สมาธิชนิดที่ ๒ เนี่ย หลวงปู่เทสก์เรียกว่า สมาธิ ถ้าชื่อภาษาปริยัตินะ จะชื่อ ลักขณูปนิชฌาน เรียกยาก ลักขณูปนิชฌาน ตัวสมาธิที่เป็นความสงบนะ หลวงปู่เทสก์เรียกว่า ฌาน ชื่อภาษาปริยัติ ชื่อ อารัมณูปนิชฌาน จิตมันสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว สบายๆ มีความสุขอยู่ สุขโง่ๆอยู่อย่างนั้นน่ะ สุขโง่ๆไม่เดินปัญญาสมาธิชนิดที่สอง จิตตั้งมั่น เห็นมั้ย สงบอันหนึ่งนะ ตั้งมั่นอีกอันหนึ่งนะ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนนะ สมัยหลวงพ่อเข้าไปหาครูบาอาจารย์ เข้าไปหาวัดไหนๆนะ เจอหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่เหรียญ หรืออาจารย์มหาบัว หรือใครต่อใครก็ตาม องค์ไหนก็ตาม ท่านพูดคำว่า “จิตผู้รู้” อยู่เรื่อยเลย เข้าไปวัดนี้ก็ได้ยินคำว่า “จิตผู้รู้” เข้าวัดนี้ก็ไปได้ยินคำว่า “จิตผู้รู้” จิตผู้รู้นั้นแหละ คือจิตที่เรียกว่า หลวงปู่เทสก์เรียกว่า “สมาธิ” จิตที่มี ลักขณูปนิชฌาน จิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดู จิตไม่ใช่ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง อีกต่อไปแล้ว จิตจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
หลวงปู่เทสก์เรียกจิตที่ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดูว่า “ใจ” ส่วนจิตที่เป็นผู้คิดผู้นึกผู้ปรุงผู้แต่ง หลวงปู่เทสก์เรียกว่า “จิต” มีจิตกับใจ คำสอนหลักๆของหลวงปู่เทสก์นะ จะมีอยู่ ๒ คู่ จิตกับใจคู่หนึ่งนะ ฌานกับสมาธิอีกคู่หนึ่ง ฌานนี้ก็คือสมาธิแบบมุ่งไปหาความสงบ สมาธินี้หมายถึงจิตตั้งมั่น ไม่ใช่แค่สงบเฉยๆ แต่ตั้งมั่น ถอนตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่วัดประชาสันติ จ.พังงา
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔
CD: วัดประชาสันติ จ.พังงา วันที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๔
File: 540123.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๒๒ วินาทีที่ ๑๙ ถึง นาทีที่ ๒๖ วินาทีที่ ๓๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น