ในรอบ 3 ปี คนไทยสุขมากขึ้น-ชายสุขกว่าหญิง
ในรอบ 3 ปี คนไทยสุขมากขึ้น-ชายสุขกว่าหญิง
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล และ สสส. ร่วมแถลงผลการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยในรอบ 3 ปี (2551-2553) โดยการทำผลสำรวจนี้ จะช่วยให้ได้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปัจจัยความสุขคนไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เอื้อต่อการสร้างความสุขคนไทย
ทั้งนี้ ผลการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยในปีที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 87,000 คนทั่วประเทศ พบว่า แนวโน้มสุขภาพจิตคนไทยดีขึ้น โดยมีคะแนนตามแบบประเมินความสุขของกรมสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจาก 31.80 คะแนน ในปี 2551 เป็น 33.09 และ 33.30 ในปี 2552, 2553 ตามลำดับ
โดยระดับคะแนนของจังหวัดที่มีความสุขมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ จ.พังงา ตรัง มหาสารคาม นราธิวาส และตาก ซึ่ง จ.พังงา มีคะแนนเป็นจังหวัดที่มีความสุขมากติดกันเป็นปีที่ 2 ส่วนจังหวัดที่มีความสุขต่ำ 5 ลำดับ คือ สมุทรสงคราม สุโขทัย ภูเก็ต สมุทรปราการ และสระแก้ว
ส่วนเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ มีคะแนนความสุขในปี 2552 อยู่ที่ลำดับ 59 แต่ปี 2553 ลดลงอยู่ที่ลำดับ 65 โดยระดับความสุขคนกรุงเทพฯ ในช่วงปี 2551- 2552 ดีขึ้น และลดต่ำลงช่วงปลายปี 2552 เข้าสู่ปี 2553 ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องในครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยพบว่า คะแนนเรื่องสมรรถภาพของจิตใจคนกรุงเทพฯ ต่ำสุด หมายถึง ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง การมีจิตใจสาธารณะ และมองโลกในแง่ร้ายมากกว่าคนในภาคอื่น
ผลสำรวจยังระบุอีกด้วยว่า เพศชายมีสุขภาพจิตดีกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะในเรื่องของสมรรถภาพทางใจ คือ สามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่า และคนที่อยู่ในวัย 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพจิตดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในปี 2552 คะแนนสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึงร้อยละ 4.6 โดยพบว่า คนมีสถานะสมรสมีความสุขมากที่สุด รองลงมาเป็น คนโสด และน้อยที่สุดคือ กลุ่มหย่าร้าง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น