“พระธรรมจาริก” พระบัณฑิตอาสา...ผู้จาริกตามรอยพระบาท | ||
คมชัดลึก : ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ ๔๕ ปีก่อน มีพระสงฆ์คณะหนึ่งที่เรียกว่า “พระธรรมจาริก“ ได้ออกเดินทางจาริกปฏิบัติศาสนกิจในชุมชนบนพื้นที่สูง ในดงดอยห่างไกล เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา และพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้คนในชุมชนบนพื้นที่สูง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐของกระทรวงมหาดไทย เพื่อเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ เหมือนเช่นครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ ตรัสไว้ว่า
“พระธรรมจาริก” ผู้จาริกตามรอยพระบาท เป็นโครงการพระบัณฑิตอาสา ได้สร้างพระนิสิตของมหาวิทยาลัยให้เป็นพระรุ่นใหม่ ที่มีแนวการพัฒนาชาวเขารูปแบบใหม่ และเอาใจใส่ชาวเขาอย่างจริงจัง ทำงานเพื่ออุดมการณ์ตามแนวความคิดที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป โดยมิเลือกเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์วรรณะ ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาของชาวพุทธ ที่กำลังคลอนแคลน การทำงานของเหล่าพุทธสาวกนี้จึงเปรียบได้ดังแสงประทีปบนขุนเขาที่ห่างไกลจากสังคมเมืองอันสับสนวุ่นวาย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้ผลิตพระบัณฑิตออกมารับใช้พระศาสนาและสังคม ได้ตระหนักว่า ควรที่จะขยายภารกิจการเผยแผ่พระศาสนาไปสู่ชาวเขาเหล่านั้นด้วย จึงได้จัดโครงการพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา (ธรรมจาริก) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๕ ประการ คือ ๑. เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขา ๒. เพื่อช่วยพัฒนาจิตใจตามแนวพระพุทธศาสนา และตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๓. เพื่อให้การศึกษา ภาษา หน้าที่พลเมืองที่ดี ตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ตลอดถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม ๔. เพื่อช่วยแนะนำและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ ๕.เพื่ออบรมสั่งสอนชี้ให้เห็นถึงหลักการดูแลสุขภาพพื้นฐานและพิษภัยของยาเสพติด โรคเอดส์ ตามพื้นที่เป้าหมาย ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยครั้งแรกทางโครงการได้ตั้งหมู่บ้านเป้าหมายไว้ จำนวน ๓๕ หมู่บ้าน ประชากรชาวเขา จำนวน ๑๗,๕๐๐ คน จากที่ได้สนทนากับพระบัณฑิตอาสาที่ปฏิบัติงานบนพื้นที่สูง พระมานพ มหายโส และพระสมพงษ์ จิตฺตสํวโร ซึ่งเป็นพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา ยิ่งทำให้เกิดความศรัทธาในความเสียสละของท่าน ที่ยอมเสียสละความสะดวกสบายในการเป็นอยู่พื้นราบขึ้นมาผจญกับความยากลำบากกับชุมชนบนพื้นที่สูง ท่านเล่าว่า หลังจากศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแล้ว ก็ตั้งใจแน่วแน่ว่า จะขึ้นมาปฏิบัติงานกับชนบนพื้นที่สูง และก็ได้สมัครเข้าร่วมโครงการพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา เมื่อเดินทางมาแล้วก็พบว่า การปฏิบัติงานเช่นนี้ต้องใช้ความอดทนอย่างสูงที่โดยเฉพาะเมื่อชาวบ้านอยู่อย่างไร กินอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และที่สำคัญต้องเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้ นอกจากนี้ ต้องทำหน้าที่สอนนักเรียน ในช่วงแรกต้องสอนถึง ๑๘ คาบ/สัปดาห์ นับว่าเป็นงานหนัก พร้อมกันนี้ก็ต้องพัฒนาเสนาสนะ ให้เจริญขึ้นด้วย ชาวเขาที่ตั้งรกรากอยู่ที่นี้ เขาอยู่กันมานานกว่าร้อยปี และเขาก็มีวิถีชีวิตอยู่แบบพอเพียง เราเข้ามาก็ช่วยเสริมในส่วนที่ขาด และไม่ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของเขา งานของพระบัณฑิตอาสา ในปี ๒๕๔๕ พระบัณฑิตอาสาฯ จำนวน ๓๒ รูป ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่พี่น้องชุมชนบนพื้นที่สูง ทำให้พื้นที่เป้าหมายที่โครงการกำหนด ได้รับการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม และพัฒนาทางด้านจิตใจ โดยแต่ละรุ่นทำงานไปแล้ว คือ ๑. งานด้านการศึกษา เช่น สอนภาษาไทยแก่เด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือ งานสอนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สอนจริยธรรมในโรงเรียน จัดอบรมค่ายคุณธรรมจริยธรรม ๒. งานด้านการป้องกันยาเสพติด เช่น จัดลานกีฬาต้านยาเสพติด สนับสนุนส่งเสริมการแข่งขันกีฬาต้านยาเสพติด จัดนิทรรศการเกี่ยวกับพิษภัยยาเสพติด จัดบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพชาวเขาผู้ติดยาเสพติด ๓. งานอนามัย เช่น แจกยารักษาโรค เป็นที่ปรึกษาแนะนำให้ชาวเขาให้รักษาสุขภาพขั้นพื้นฐาน ติดต่อประสานงานขอยาเพื่อนำไปไว้ที่อาศรม ๔. งานพัฒนาชุมชน เช่น งานก่อสร้างอาศรม สร้างศาลาบำเพ็ญบุญ สร้างแท็งค์น้ำ สร้างห้องน้ำห้องส้วม สร้างห้องสมุด ช่วยพัฒนาถนนหนทางให้อยู่ในสภาพที่ดีสัญจรไป-มาสะดวก จัดทำโครงการต้นไม้พูดได้ นำชาวบ้านทำวัตรสวดมนต์เย็น นำเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เปิดเทปธรรมะ และพูดธรรมะเสียงตามสายภาคเช้า จัดงานแสดงตนเป็นพุทธมามกะ จัดหาผ้าห่มเครื่องกันหนาวมาแจกชาวบ้าน และร่วมประชุมกับชาวบ้าน เป็นที่ปรึกษาผู้นำชุมชน และ ๕.งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น งานบวชป่า อนุรักษ์และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ปลูกพืชสมุนไพร ปลูกผักสวนครัว แนะนำชาวบ้านให้รู้จักรักษา และหวงแหนป่าไม้ เนื่องจากสภาพของภาคเหนือมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา และเป็นเขตติดต่อกับชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านมีชาวเขาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยกระจายอยู่บริเวณรอบนอกของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง ปัญหาที่พบ คือ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการทำลายป่าต้นน้ำ และการทำไร่เลื่อนลอย ตลอดถึงกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ปัญหาค่านิยมทัศนคติ การปรับตัวสถานภาพความเป็นคนไทย การประกอบอาชีพ ปัญหาการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม การแต่งตัวที่เปลี่ยนไป เพราะปัจจุบันเริ่มมีสื่อสารต่างๆ เข้าสู่วิถีชีวิต ทำให้เกิดสังคมใหม่บนดอย นับได้ว่า พระบัณฑิตอาสาได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง บางครั้งเป็นกลางในการประสานความร่วมมือ ระหว่างชุมชนกับหน่วยงานราชการ แต่การทำงาน โดยที่ไม่เลือกปฏิบัติในชั้นวรรณะ ความเชื่อ การเข้าพื้นที่ชุมชนต้องสร้างสรรค์ มิใช่เข้าไปเพื่อทำลาย ทางโครงการไม่มีรูปแบบที่แน่นอนว่า การทำงานต้องกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ต้องแบบนั้นแบบนี้ แต่โครงการจะแนะนำรูปแบบการทำงานที่กว้างๆ แล้วให้ท่านนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ปักหลักชัยแห่งชุมชน ที่มีแต่ความสงบร่มเย็น ภายใต้ร่มใบบุญของพระพุทธศาสนา ที่เหล่าพระสงฆ์นักพัฒนาอย่างเราๆ ท่านๆ ได้กระทำอยู่เฉกเช่นทุกวันนี้ และสร้างเสริมสุขแก่ชนหมู่มาก “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธอจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด" เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู" ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น