เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เฮ้อออ...ของดีๆมันเอาออกไปหมด ก็เลยภูมิใจจะเป็นไพร่ทั้งที่ไม่รู้ความหมาย



สมบัติของผู้ดี
ผู้เรียบเรียง เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราบดี
ผู้จัดทำคำอธิบายเพิ่มเติม ม.ล.ป้อง มาลากุล ๒๕๐๓
ผู้ตรวจทาน นายสุชีพ ปุญญานุภาพ
INDEX BOTTOM NEXT

คู่มือหลักในการดำเนินชีวิต








ปรารภ


หนังสือเก่า ๆ เล่มนี้ หากจะให้ใครเป็นของขวัญ ถ้าผู้รับจะไม่คิดเพียงว่าเป็นเรื่องเชยล้าสมัย ก็อาจจะพาลโกรธด้วยคิดว่ากำลังถูกด่าทางอ้อมว่าเป็นคนไม่มีมรรยาทชาติตระกูล ดังเช่นที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ ในนิยายหรือในละครโทรทัศน์ และส่วนใหญ่แล้วผู้ที่อ้างหนังสือนี้มักจะคิดถึงคนโน้นคนนี้ว่าสมควรต้องนำไปประพฤติเพื่อปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น มากกว่าจะคิดว่าแท้จริงแล้วเราเองแต่ละคนก็ต้องฝึกฝนขัดเกลาและปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน

ในการอยู่ร่วมกันในสังคม มนุษย์เราจำต้องมีปฏิสัมพันธ์ในการทำ การพูด และการรู้สึกนึกคิดต่อผู้อื่น เพื่อให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปโดยราบรื่นไม่มีข้อขัดแย้งจึงจำต้องมีกฏกติกา มรรยาท ของการอยู่ร่วมกัน โดยพื้นฐานก็คือ สิ่งใดที่เราไม่อยากให้คนอื่นทำกับเรา ก็ไม่ควรทำเช่นนั้นกับเขา สิ่งใดที่เรายินดีชื่นชม หรือรักใคร่เอ็นดู เมื่อได้ยินได้เห็น ได้รับการปฏิบัติต่อ คนอื่นก็ปรารถนาจะได้รับเช่นเดียวกัน ดังนั้นการประพฤติปฏิบัติต่อกันและกันโดยเหมาะสมกับเพศ วัย สถานะตำแหน่ง ในสถานที่และโอกาสอันควร จึงนับเป็นหลักการหรือวัตถุประสงค์หลักที่เราควรคำนึงถึง มากกว่าจะติดอยู่กับข้อบกพร่องปลีกย่อยด้านการใช้ภาษาหรือขนบธรรมเนียมเก่า ๆ พ้นสมัยที่อาจจะปรากฏอยู่บ้างในหนังสือเล่มนี้

กล่าวโดยสรุป คำว่า"ผู้ดี"ในที่นี้จึงมิใช่เรื่องของการแบ่งชนชั้นทางสังคม มิใช่เรื่องแบบแผนพิธีรีตองเจ้ายศเจ้าอย่าง หรือการสร้างภาพเพื่อหวังผลประโยชน์แอบแฝงอย่างใดอย่างหนึ่ง หากแต่เป็นหลักการประพฤติปฏิบัติตนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ใจเขา-ใจเรา ข้อปฏิบัติเหล่านี้เป็นมาตรฐานทางสังคมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เสมอในทุกยุค เป็นการขัดเกลาตนให้มีระเบียบวินัย มีทัศนคติที่ดีต่อกัน เมตตากรุณาต่อกัน มีหิริโอตตัปปะที่จะไม่เอารัดเอาเปรียบ แทนความโกรธ เกลียด หยาบคายต่อกัน เพราะผู้มีจิตใจดีย่อมสะท้อนออกมาในรูปของจริยามรรยาท ความละมุนละไม นุ่มนวล ตรงข้ามกับความกักขละ หยาบคาย ทำอะไรตามอำเภอใจ ซึ่งย่อมไม่เป็นที่ยินดีคบหาหรือแม้แต่พบเห็นเข้าใกล้ ของบุคคลทั่วไป
สมบัตินี้ไม่ใช่วัตถุสิ่งของที่ต้องแบกหามหรือซื้อหา หากแต่เป็นสมบัติประดับกายประดับใจให้เจ้าของเป็นผู้ดีมีคุณค่า มีความสง่างามในตัวเอง ถ้าหากความงามของเหล่าสงฆ์ที่มาจากหลากหลายวรรณะชั้นชนเกิดขึ้นด้วยบัญญัติแห่งพระธรรมวินัย ให้มีความสำรวมในการดื่มฉัน การเดิน ยืน นั่งนอน ฆราวาสชนทั่วไปก็อาจฝึกตนให้มีความงามได้ด้วยระเบียบวินัยอันเป็นสมบัติของผู้ดีเช่นเดียวกัน


Odz Webslave
๑๐ ตุลา ๔๘













คำนำ


หนังสืออ่านเพิ่มเติมเรื่อง "สมบัติของผู้ดี" ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้มอบ ม.ล. ป้อง มาลากุล จัดทำคำอธิบายเพิ่มเติมจากหนังสือสมบัติของผู้ดี ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เพื่อให้อ่านเข้าใจง่าย เหมาะสำหรับเด็ก ระดับประถมศึกษา และมอบให้นายสุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นผู้ตรวจทานนี้ กรมวิชาการได้มอบให้องค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์จำหน่ายใช้ประกอบการ เรียนการสอนตามหลักสูตรประโยคประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๐๓ มาตั้ง แต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ และในการที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้หลัก สูตรประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๑ ก็ปรากฏว่าหนังสือนี้สามารถใช้ประกอบการเรียนการสอนระดับประถมศึกษากลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต และกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย ได้อย่างดียิ่ง จึงได้มอบให้องค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์จำหน่ายต่อไป

(นายสุรเดช วิเศษสุรการ)
อธิบดีกรมวิชาการ
๑ มีนาคม ๒๕๒๗







สมบัติของผู้ดี

ภาค ๑
ผู้ดี ย่อมรักษา ความเรียบร้อย

กายจริยา (คลิก Link สีแดงดูรายละเอียดในภาคผนวก) คือ
(๑) ย่อมไม่ใช้กิริยาข้ามกรายบุคคล.
(๒) ย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง.
(๓) ย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่นซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน.
(๔) ย่อมไม่เสียดสีกระทบกระทั่งกายบุคคล.
(๕) ย่อมไม่ลุกนั่งเดินเหินให้พรวดพราดโดนผู้คนหรือสิ่งของแตกเสียหาย.
(๖) ย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่นด้วยกิริยาอันเสือกไสผลักโยน.
(๗) ย่อมไม่ผ่านหน้าหรือบังตาผู้อื่น เมื่อเขาดูสิ่งใดอยู่ เว้นแต่เป็นที่เฉพาะไป.
(๘) ย่อมไม่เอิกอึงเมื่อเวลาผู้อื่นทำกิจ.
(๙) ย่อมไม่อื้ออึงในเวลาประชุมสดับตรับฟัง.
(๑๐) ย่อมไม่แสดงกิริยาตึงตัง หรือพูดจาอึกทึกในบ้านแขก.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด.
(๒) ย่อมไม่พูดด้วยเสียงอันดังเหลือเกิน.
(๓) ย่อมไม่ใช้เสียงตวาด หรือพูดจากระโชกกระชาก.
(๔) ย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญดึงดัน.
(๕) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำอันหยาบคาย.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งโยโส.
(๒) ย่อมไม่บันดาลโทสะให้เสียกิริยา.





สมบัติของผู้ดี
ภาค ๒
ผู้ดี ย่อมไม่ทำอุจาดลามก

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวอันสะอาด และแต่งโดยเรียบร้อยเสมอ.
(๒) ย่อมไม่แต่งตัวในที่แจ้ง.
(๓) ย่อมไม่จิ้มควักล้วงแคะแกะเการ่างกายในที่ชุมชน.
(๔) ย่อมไม่กระทำการที่ควรจะทำในที่ลับในที่แจ้ง.
(๕) ย่อมไม่หาวเรอให้ปรากฏในที่ชุมชน.
(๖) ย่อมไม่จามด้วยเสียงอันดังและโดยไม่ป้องกำบัง.
(๗) ย่อมไม่บ้วนขากด้วยเสียงอันดัง หรือให้เปรอะเปื้อน ให้เป็นที่รังเกียจ.
(๘) ย่อมไม่ลุกลนเลอะเทอะมูมมามในการบริโภค.
(๙) ย่อมไม่ถูกต้องหรือหยิบยื่นสิ่งที่ผู้อื่นจะบริโภคด้วยมือตน.
(๑๐) ย่อมไม่ล่วงล้ำ ข้ามหยิบ ของบริโภคผ่านหน้าผู้อื่น ซึ่งควรขอโทษและขอให้เขาส่งได้.
(๑๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วงเอาของผู้อื่นมาใช้ในการบริโภค เช่น ถ้วยน้ำ และผ้าเช็ดมือ.
(๑๒) ย่อมไม่เอาเครื่องใช้ของตน เช่น ช้อนส้อมไปล้วงตักสิ่งบริโภคซึ่งเป็นของกลาง.
(๑๓) ย่อมระวัง ไม่พูดจาตรงหน้าผู้อื่นให้ใกล้ชิดเหลือเกิน.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครกพึงรังเกียจในท่ามกลางประชุมชน.
(๒) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งควรปิดบังในท่ามกลางประชุมชน. มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมพึงใจที่จะรักษาความสะอาด. ภาคสาม ผู้ดี ย่อมมีสัมมาคาราวะ.





สมบัติของผู้ดี
ภาค ๓
ผู้ดี ย่อมมีสัมมาคารวะ

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมนั่งด้วยกิริยาสุภาพเฉพาะหน้าผู้ใหญ่
(๒) ย่อมไม่ขึ้นหน้าผ่านผู้ใหญ่.
(๓) ย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่.
(๔) ย่อมแหวกที่หรือให้ที่นั่งอันสมควรแก่ผู้ใหญ่หรือผู้หญิง.
(๕) ย่อมไม่ทัดหรือคาบบุหรี่ คาบกล้อง และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น.
(๖) ย่อมเปิดหมวกเมื่อเข้าชายคาบ้านผู้อื่น
(๗) ย่อมเปิดหมวกในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่าแห่งศาสนาใด.
(๘) ผู้น้อยย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน.
(๙) ผู้ชายย่อมเคารพผู้หญิงก่อน.
(๑๐) ผู้ลาย่อมเป็นผู้เคารพก่อน.
(๑๑) ผู้เห็นก่อนโดยมากย่อมเคารพก่อน.
(๑๒) แม้ผู้ใดเคารพตนก่อน ย่อมต้องตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่.
(๒) ย่อมไม่กล่าวร้ายถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง.
(๓) ย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนสิ่งเคารพหรือที่เคารพของผู้อื่นแก่ตัวเขา.
(๔) เมื่อจะขอทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ย่อมต้องขออนุญาตตัวเขาก่อน.
(๕) เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใด แก่บุคคลใด ควรออกวาจาขอโทษเสมอ.
(๖) เมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมเคารพยำเกรงบิดามารดาและอาจารย์.
(๒) ย่อมนับถือนอบน้อมต่อผู้ใหญ่.
(๓) ย่อมมีความอ่อนหวานแก่ผู้น้อย.





สมบัติของผู้ดี
ภาค ๔
ผู้ดี ย่อมมีกิริยาเป็นที่รัก

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ฝ่าฝืนเวลานิยม คือ ไม่ไปใช้กิริยายืนเมื่อเขานั่งกับพื้นและไม่ไปนั่งกับพื้นเมื่อเวลาเขายืนเดินกัน.
(๒) ย่อมไม่ไปนั่งนานเกินสมควรในบ้านของผู้อื่น.
(๓) ย่อมไม่ทำกิริยารื่นเริงเมื่อเขามีทุกข์.
(๔) ย่อมไม่ทำกิริยาโศกเศร้าเหี่ยวแห้งในที่ประชุมรื่นเริง.
(๕) เมื่อไปสู่ที่ประชุมการรื่นเริงย่อมช่วยสนุกชื่นบานให้สมเรื่อง.
(๖) เมื่อเป็นเพื่อนเที่ยว ย่อมต้องกลมเกลียวและร่วมลำบากร่วมสนุก.
(๗) เมื่อตนเป็นเจ้าของบ้าน ย่อมต้องต้อนรับและเชื้อเชิญแขกไม่เพิกเฉย.
(๘) ย่อมไม่ทำกิริยาบึกบึนต่อแขก.
(๙) ย่อมไม่ให้แขกต้องคอยนานเมื่อเขามาหา.
(๑๐) ย่อมไม่จ้องดูนาฬิกาในเวลาที่แขกยังนั่งอยู่.
(๑๑) ย่อมไม่ใช้กิริยาอันบุ้ยใบ้หรือกระซิบกระซาบกับผู้ใด ในเวลาเฉพาะเมื่อตนอยู่ต่อหน้าผู้หนึ่ง.
(๑๒) ย่อมไม่ใช่กิริยาอันโกรธเคือง หรือดุดันผู้คนบ่าวไพร่ต่อหน้าแขก.
(๑๓) ย่อมไม่จ้องดูบุคคลโดยเพ่งพิศเหลือเกิน.
(๑๔) ย่อมต้องรับส่งแขกเมื่อไปมา ในระยะอันสมควร.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่เที่ยวติเตียนสิ่งของที่เขา ตั้ง แต่ง ไว้ในบ้านที่ตนไปสู่.
(๒) ย่อมไม่กล่าวสรรเสริญรูปกายบุคคลแก่ตัวเขาเอง.
(๓) ย่อมไม่พูดให้เพื่อนเก้อกระดาก.
(๔) ย่อมไม่พูดเปรียบเปรยเกาะแกะสตรีกลางชุมชน.
(๕) ย่อมไม่ค่อนแคะติรูปกายบุคคล.
(๖) ย่อมไม่ทักถึงการร้ายโดยพลุ่งโพล่งให้เขาตกใจ.
(๗) ย่อมไม่ทักถึงสิ่งอันน่าอายน่ากระดากโดยเปิดเผย.
(๘) ย่อมไม่เอาสิ่งที่น่าจะอายจะกระดากมาเล่าให้แขกฟัง.
(๙) ย่อมไม่เอาเรื่องที่เขาพึงซ่อนเร้นมากล่าวให้อับอายหรือเจ็บใจ.
(๑๐) ย่อมไม่กล่าวถึงการอัปมงคลในเวลามงคล.

มโนจริยา
คือ
(๑) ย่อมรู้จักเกรงใจคน.




สมบัติของผู้ดี

ภาค ๕
ผู้ดี ย่อมเป็นผู้มีสง่า

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมมีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ.
(๒) จะยืนนั่ง ย่อมอยู่ในลำดับอันสมควร ไม่เป็นผู้แอบหลังคนหรือหลีกเข้ามุม.
(๓) ย่อมไม่เป็นผู้สะทกสะท้านงกเงิ่นหยุด ๆ ยั้ง ๆ .

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมพูดจาฉะฉานชัดถ้อยความ ไม่อุบอิบอ้อมแอ้ม.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมมีความรู้จักงามรู้จักดี.
(๒) ย่อมมีอัชฌาสัยอันกว้างขวาง เข้าไหนเข้าได้.
(๓) ย่อมมีอัชฌาสัยเป็นนักเลง ใครจะพูดหรือเล่นอันใดก็เข้าใจและต่อติด.
(๔) ย่อมมีความเข้าใจว่องไวไหวพริบ รู้เท่าถึงการณ์.
(๕) ย่อมมีใจอันองอาจกล้าหาญ.




สมบัติของผู้ดี
ภาค ๖
ผู้ดี ย่อมปฏิบัติการงานดี

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน.
(๒) ย่อมไม่ถ่วงเวลาให้คนอื่นคอย.
(๓) ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย.
(๔) ย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า.

วจีจริยา คือ
(๑) พูดสิ่งใดย่อมให้เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้.
(๒) ย่อมไม่รับวาจาคล่อง ๆ โดยมิได้เห็นว่าการจะเป็นได้หรือไม่.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมเป็นผู้รักษาความสัตย์ในเวลา.
(๒) ย่อมไม่เป็นผู้เกียจคร้าน.
(๓) ย่อมไม่เข้าใจว่า ผู้ดีทำอะไรด้วยตนไม่ได้.
(๔) ย่อมไม่เพลิดเพลินจนละเลยให้การเสีย.
(๕) ย่อมเป็นผู้รักษาความเป็นระเบียบ.
(๖) ย่อมเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาเมื่ออยู่ในหน้าที่.
(๗) ย่อมมีมานะในการงานไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก.
(๘) ย่อมเป็นผู้ทำอะไรทำจริง.
(๙) ย่อมไม่เป็นผู้ดึงดันในที่ผิด.
(๑๐) ย่อมปรารถนาความดี ต่อการงานที่ทำอยู่เสมอ.





สมบัติของผู้ดี
ภาค ๗
ผู้ดี ย่อมเป็นผู้ใจดี

กายจริยา คือ
(๑) เมื่อเห็นใครทำผิดพลาดอันน่าเก้อกระดาก ย่อมช่วยกลบเกลื่อนหรือทำไม่เห็น.
(๒) เมื่อเห็นสิ่งของของใครตก หรือจะเสื่อมเสีย ย่อมต้องหยิบยื่นให้หรือบอกให้รู้ตัว.
(๓) เมื่อเห็นเหตุร้าย หรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใด ย่อมต้องรีบช่วย.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่เยอะเย้ยถากถางผู้กระทำผิดพลาด.
(๒) ย่อมไม่ใช้วาจาอันข่มขี่.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่มีใจอันโหดเหี้ยมเกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย.
(๒) ย่อมเอาใจโอบอ้อมอารีแก่คนอื่น.
(๓) ย่อมเอาใจช่วยคนเคราะห์ร้าย.
(๔) ย่อมไม่เป็นผู้ซ้ำเติมคนเสียที.
(๕) ย่อมไม่เป็นผู้อาฆาตจองเวร.





สมบัติของผู้ดี
ภาค ๘
ผู้ดี ย่อมไม่เห็นแต่แก่ตัวถ่ายเดียว

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่พักหาความสบายก่อนผู้ใหญ่.
(๒) ย่อมไม่เสือกสนแย่งชิงที่นั่งหรือที่ดูอันใด.
(๓) ย่อมไม่เที่ยวแย่งผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่ง ในเมื่อเขาสนทนากัน.
(๔) เป็นผู้ใหญ่ จะไปมาลุกนั่งย่อมไว้ช่องให้ผู้น้อยมีโอกาสบ้าง.
(๕) ในการเลี้ยงดูย่อมแผ่เผื่อ เชื้อเชิญแก่คนข้างเคียงก่อนตน.
(๖) ในที่บริโภค ย่อมหยิบยกยื่นส่งสิ่งของแก่ผู้อื่นต่อ ๆ ไป ไม่มุ่งแต่กระทำกิจส่วนตน.
(๗) ย่อมไม่รวบสามตะกลามสี่กวาดฉวยเอาของที่เขาตั้งไว้เป็นกลาง จนเกินส่วนที่ตนจะได้.
(๘) ย่อมไม่แสดงความไม่เพียงพอใจในสิ่งของที่เขาหยิบยกให้.
(๙) ย่อมไม่นิ่งนอนใจให้เขาออกทรัพย์แทนส่วนตนเสมอ เช่น ในการเลี้ยงดูหรือใช้ค่าเดินทางเป็นต้น.
(๑๐) ย่อมไม่ลืมที่จะส่งของ ซึ่งคนอื่นได้สงเคราะห์ให้ตนยืม.
(๑๑) การให้สิ่งของหรือเลี้ยงดูซึ่งเขาได้กระทำแก่ตน ย่อมต้องตอบแทนเขา.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่ง เพื่อจะพาไปพูดจาความลับกัน.
(๒) ย่อมไม่สนทนาแต่เรื่องตนถ่ายเดียว จนคนอื่นไม่มีช่องจะสนทนาเรื่องอื่นได้.
(๓) ย่อมไม่นำธุระตนเข้ากล่าวแทรกในเวลาธุระอื่นของเขาชุลมุน.
(๔) ย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนของที่เขาหยิบยกให้แก่ตน.
(๕) ย่อมไม่ไต่ถามราคาของที่เขาได้หยิบยกให้แก่ตน.
(๖) ย่อมไม่แสดงราคาของที่หยิบยกให้แก่ผู้ใดให้ปรากฏ.
(๗) ย่อมไม่ใช้วาจาอันโอ้อวดตนและหลบหลู่ผู้อื่น.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่มีใจมักได้
(๒) ย่อมไม่ตั้งใจปรารถนาของรักเพื่อน.
(๓) ย่อมไม่พึงใจการหยิบยืมข้าวของทองเงินซึ่งกันและกัน.
(๔) ย่อมไม่หวังแต่จะพึ่งอาศัยผู้อื่น.
(๕) ย่อมไม่เป็นผู้เกี่ยงงอนทอดเทการงานตนให้ผู้อื่น.
(๖) ย่อมรู้คุณผู้อื่นที่ได้ทำแล้วแก่ตน.
(๗) ย่อมไม่มีใจริษยา.





สมบัติของผู้ดี
ภาค ๙
ผู้ดี ย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วงเข้าห้องเรือนแขกก่อนเจ้าของบ้านเชิญ.
(๒) ย่อมไม่แลลอดสอดส่ายโดยเพ่งเล็งเข้าไปตามห้องเรือนแขก.
(๓) ย่อมไม่เที่ยวฉวยโน่นหยิบนี่ของผู้อื่นดูจนเหลือเกิน ราวกับว่าจะค้นหาสิ่งใด.
(๔) ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูจดหมายของผู้อื่นที่เจ้าของไม่มีประสงค์จะให้ดู.
(๕) ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูสมุดพกหรือสมุดจดรายงานบัญชีของผู้อื่น ซึ่งตนไม่มีธุระเกี่ยวข้องเป็นหน้าที่.
(๖) ย่อมไม่เที่ยวนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น.
(๗) ย่อมไม่เที่ยวเปิดดูหนังสือตามโต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น.
(๘) ย่อมไม่แทรกเข้าหมู่ผู้อื่นซึ่งเขาไม่ได้เชื้อเชิญ.
(๙) ย่อมไม่ลอบแอบฟังคนพูด.
(๑๐) ย่อมไม่ลอบแอบดูการลับ.
(๑๑) ถ้าเห็นเข้าจะพูดความลับกัน ย่อมต้องหลบตาหรือลี้ตัว.
(๑๒) ถ้าจะเข้าห้องเรือนผู้ใด ย่อมต้องเคาะประตูหรือกล่าววาจาให้เขารู้ตัวก่อน.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ซอกแซกไต่ถามธุระส่วนตัวหรือการในบ้านของเขาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ตน.
(๒) ย่อมไม่เที่ยวถามเขาว่า นั่นเขียนหนังสืออะไร.
(๓) ย่อมไม่เที่ยวถามถึงผลประโยชน์ที่เขาหาได้เมื่อตนไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง.
(๔) ย่อมไม่เอาการในบ้านของผู้ใดมาแสดงในที่แจ้ง.
(๕) ย่อมไม่เก็บเอาความลับของผู้หนึ่งมาเที่ยวพูดแก่ผู้อื่น.
(๖) ย่อมไม่กล่าวถึงความชั่วร้าย อันเป็นความลับเฉพาะบุคคลในที่แจ้ง.
(๗) ย่อมไม่พูดสับปลับกลับกลอกตลบตะแลง.
(๘) ย่อมไม่ใช้คำสบถติดปาก.
(๙) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำมุสา.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่เป็นคนต่อหน้าอย่างหนึ่งลับหลังอย่างหนึ่ง.
(๒) ย่อมเป็นผู้รักษาความไว้วางใจแก่ผู้อื่น.
(๓) ย่อมไม่แสวงประโยชน์ในทางที่ผิดธรรม.
(๔) ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง.





สมบัติของผู้ดี
ภาค ๑๐
ผู้ดี ย่อมไม่ประพฤติชั่ว

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่เป็นพาลเที่ยวเกะกะระรั้วและกระทำร้ายคน.
(๒) ย่อมไม่ข่มเหงผู้อ่อนกว่า เช่น เด็กหรือผู้หญิง.
(๓) ย่อมไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเจ็บอาย เพื่อความสนุกยินดีของตน.
(๔) ย่อมไม่หาประโยชน์ด้วยอาการที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน.
(๕) ย่อมไม่เสพสุราจนถึงเมาและติด.
(๖) ย่อมไม่มั่วสุมกับสิ่งอันเลวทราม.
(๗) ย่อมไม่หมกมุ่นในการพนัน เพื่อจะปรารถนาทรัพย์.
(๘) ย่อมไม่ถือเอาเป็นของตน ในสิ่งที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตให้.
(๙) ย่อมไม่พึงใจในหญิงที่มีเจ้าของหวงแหน.

วจีจริยา
คือ
(๑) ย่อมไม่เป็นพาลพอใจทะเลาะวิวาท.
(๒) ย่อมไม่พอใจนินทาว่าร้ายกันและกัน.
(๓) ย่อมไม่พอใจพูดส่อเสียดยุยง.
(๔) ย่อมไม่เป็นผู้สอพลอประจบประแจง.
(๕) ย่อมไม่แช่งชักให้ร้ายผู้อื่น.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ปองร้ายผู้อื่น.
(๒) ย่อมไม่คิดทำลายผู้อื่นด้วยประโยชน์ตน.
(๓) ย่อมมีความเหนี่ยวรั้งใจตนเอง.
(๔) ย่อมเป็นผู้มีความละอายแก่บาป.






INDEX TOP NEXT
home

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น