ตักบาตรเที่ยงคืน บูชาพระอรหันต์ "พระอุปคุต"
โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ชีวิตช่วงที่อยู่บ้านห้วยคันแหลน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ได้เห็นและรับรู้ว่า พระมหาทองใบ เจ้าอาวาสวัดอบทม ออกบิณฑบาตตอนบ่ายสองโมง ด่ากันขรมว่าพระมหาทองใบเป็นบ้าไปแล้ว ความมากระจ่างเมื่อพุทธศาสนิกชนคนพุทธรวมตัวกันไปเรียนถาม จึงได้กระจ่างสว่างใจหายข้องขัดและหายใจได้ทั่วท้อง
"บิณฑบาตรเช้า พระเณรและลูกศิษย์วัดฉันกันสองมื้อ เกลี้ยง หมาแมวที่ญาติโยมชอบเอามาปล่อยที่วัดร้องกันกระจองอแง ทนไม่ไหว ต้องออกบิณฑบาตรข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงเขา"
พระอุปคุต
เสียงสวดกลายเป็นเสียงสาธุไปทั่วคุ้งน้ำ ตั้งแต่นั้นมาญาติโยมเฝ้ารอพระมหาทองใบมาบิณฑบาตรตอนบ่าย ได้ทำบุญกันวันละสองรอบ แต่เมื่อพระมหาทองใบสิ้นการบิณฑบาตรบ่ายสองโมงก็เลิกราไป แต่แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ร่างกายของท่านบรรจุอยู่ในโลงแก้ว วัดอบทม ไม่เน่าเปื่อยแต่อย่างใด
เรื่องราวเกี่ยวกับพระมหาทองใบ ผมจำได้ไม่มีวันลืม ด้วยว่าเมื่อผมบวชเรียนก็ได้พระมหาทองใบเป็นอุปัชฌาย์ให้ แต่ผมบุญน้อยบวชเรียนได้เพียง 5 วันก็ลาสิกขาบท
ญาติโยมเดินทางเข้ามาในบริเวณวัด
พอคุณไตรเทพ ไกรงู เพื่อนรุ่นลูกจากนสพ.คมชัดลึกชวนไปชมประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนที่เชียงใหม่ ผมตอบรับด้วยความเต็มใจทั้งๆที่ยังกังวลว่า ประเพณีอะไรหรือ?
ระหว่างนั่งรถยนต์ไปด้วยกัน ผมได้รับความกระจ่างมากขึ้นจากคำบอกเล่า แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย ไม่พอเพียงที่มหาบัณฑิตอย่างผมต้องเคี่ยวต่อ
ผมได้ความรู้เพิ่มเติมเมื่อกลับมาถึงกรุงเทพเรียบร้อย พร้อมรูปภาพประทับใจจากวัน "เป็งปุ๊ด" อันแสนจะน่าทึ่งในความอลังการงานบุญเชียวละครับ
พุทธศาสนิกชน นิสิต ม.เชียงใหม่
เรื่องราวมันเป็นอย่างนี้ครับ วันเป็งปุ๊ด คือ วันเพ็ญวันพุธ หรือเทียบได้กับ คืนวันพุธ ขึ้น15 ค่ำ ส่วนจะนับเนื่องจากวันอังคาร เวลา 24.01 น.เป็นต้นไปจนแจ้งจางปาง หรือที่เรียกว่าตีนฟ้ายก หรือเมื่อแสงเงินแสงทองสาดส่องท้องฟ้าอำไพ หรือจะนับเนื่องจากคืนวันพุธเวลา 00.00 น.เป็นต้นไปก็แล้วแต่จะพิจารณาเอา แต่วัดที่ผมไปตักบาตรเที่ยงคืนวัดนี้ถือเอา 24.01 น.จึงเริ่มออกบิณฑบาตร วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ครับ
คุณยายให้ลูกหลานเข็นรถมาร่วมงาน นักศึกษาหนุ่มนั่งทำสมาธิ
ระหว่างที่นั่งรับประทานอาหารค่ำอยู่ข้างๆวัดสวนดอก ผมเห็นญาติโยมทะยอยกันมามากมาย มีตั้งแต่คนแก่คนเฒ่า คนหนุ่มคนสาว และลูกเล็กเด็กแดง ทุกผู้คนหอบหิ้วถุงบรรจุเครื่องตักบาตร อันได้แก่ข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องกระป๋อง เครื่องดื่ม เครื่องยาสมุนไพรฯลฯ ทุกผู้คนแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยเสื้อผ้าสวยงาม บ้างก็แต่งขาวทั้งชุด บ้างก็แต่งตัวตามสบายๆ โดยเฉพาะหนุ่มสาวนั้นช่างน่าพิศวงนัก ผมได้สอบถามแล้วเป็นนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่บ้าง มหาวิทยาลัยอื่นๆบ้าง ข้าราชการพนักงานบ้าง
เทศน์ธรรมมาศคู่......ครึกครื้นในรสพระธรรม
ที่ผมรู้สึกประทับใจเหลือเกินก็ผู้เฒ่าที่แม้จะเดินไม่ได้ก็นั่งรถเข็นโดยให้ลูกๆใส(เข็น)มาร่วมงาน แม้ว่าคืนนั้นฝนจะตกปรอยๆตลอดเวลา เหมือนว่าฟ้าสั่งให้โปรยปรายสายฝนดั่งประพรมน้ำมนต์จากสรวงสวรรค์ ญาติโยมไม่มีถอย มีแต่มาเพิ่มมากขึ้นๆ บนศาลาการเปรียญวัดสวนดอกเต็ม สนามหญ้าข้างๆศาลาวัดเต็ม เห็นอย่างนี้แล้วพูดได้เลยว่า พุทธศาสนาไม่มีวันดับสูญ
ระหว่างช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืน ทางวัดได้จัดให้มีพระสงฆ์เทศนาธรรมโปรดญาติโยมอย่างสนุกสนานและอิ่มเอิบไปทั่วใบหน้าของพุทธศาสนิกชน หลังจบการเทศนาธรรมก็เริ่มต้นการตักบาตรเที่ยงคืน ด้วยการนำพระอุปคุตประดิษฐานบนรถเข็น พระอุปคุตองค์นี้มีบาตรอยู่ที่หน้าตักเสมอ ญาติโยมตักบาตรกันด้วยความสุขและเทิดทูนบูชา ซึ่งเชื่อกันว่า ท่านเป็นพระให้โชคลาภ ให้ความมั่งคั่ง และแคล้วคลาดจากภัยพาล
ประวัติของพระอุปคุต กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เขียนไว้ในพระปฐมสมโพธิกถา ปริจเฉทที่ 28 มารพันธ-ปริวรรต ความว่า พระอุปคุตเป็นบุตรของพ่อค้าวานิชประเภทค้าเครื่องหอมอยู่ที่เมืองมถุรา ท่านมีพี่น้อง 3 คน แต่เชื่อไหมว่าบิดาของท่านได้เคยให้คำมั่นสัญญากับ พระสาณวารี(สาณสัมภูติ) หากมีบุตรชายจะให้บวชในพุทธศาสนา แต่แล้วก็เบี้ยวเมื่อมีลูกชาย ด้วยการบ่ายเบี่ยงว่า จำเป็นต้องใช้งานการค้าอยู่
สถูปบรรจุอัฐิราชวงศ์เมืองเชียงใหม่
ในที่สุดวันหนึ่งพระอุปคุตได้ฟังธรรมเทศนาจากพระสาณวารี จนเกิดความเลื่อมใส จึงขอบรรพชาด้วยตนเอง นับแต่เมื่อได้บวชเรียนในพุทธศาสนาแล้ว พระอุปคุตได้ชื่อว่าเป็นพระที่ชอบปลีกวิเวก อยู่ในความสงบ ท่านศึกษาพระธรรมจนสำเร็จอรหันต์ และได้ชื่อว่าเป็นพระแห่งโชคลาภ ไปไหนก็ไม่มีอด และยังความปลอดภัยให้กับผู้ที่บูชาจนเลื่องลือกันไปทั่ว ท่านได้ศึกษาจนเชี่ยวชาญสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสนากัมมัฏฐาน ดังไม่ดังก็ลองนึกดูนะว่า พระอุปคุตมีลูกศิษย์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ถึง 18,000 องค์ โอ้โฮเฮะเลยครับ
พระสงฆ์ตามรับการตักบาตร
เรื่องเล่ากันว่า พระอุปคุตเมื่อบวชเรียนแล้วได้ไปจำพรรษายังปราสาทแก้วท่ามกลางความวิเวกในสะดือทะเล ปีหนึ่งถึงจะออกมาโปรดสัตว์สักครั้งหนึ่ง และส่วนใหญ่ก็จะออกบิณฑบาตรก่อนรุ่งจางสว่างแจ้ง ญาติโยมเฝ้ารอคอยด้วยการตระเตรียมอาหารหวานคาวถวาย ถือว่าเป็นอีกมิติหนึ่งที่เล่าถึงพระอุปคุต นอกจากนี้ยังเล่ากันว่า ถึงคราจะออกบิณฑบาตรเมื่อไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหนดี ถึงจะมีผู้คนใส่บาตร พระอุปคุตมักสำแดงให้เห็นว่า ท่านตัดสินใจไปทางใดก็มีคนมาใส่บาตรทั้งๆที่พระสงฆ์องค์อื่นๆเคยไปในเส้นทางนั้นแล้ว ไม่มีผู้คนใส่บาตรเลย
ตักบาตรพระอุปคุต ตักบาตรพระสงฆ์
ก้าวมาถึงวันนี้ มีการสร้างพระอุปคุตในหลากหลายรูปลักษณ์ เช่นปางเหลือกินเหลือใช้ปางจกบาตร ปางห้ามมาร ปางพระบัวเข็ม ฯลฯ เพื่อให้ผู้ที่เคารพนับถือได้บูชาไว้ในเรือน ห้อยคอติดตัว อิ่มเอมด้วยโภคทรัพย์ศฤงคารและมั่นคงปลอดภัยไร้กังวล เรื่องประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนนี้ เมื่อปีพ.ศ.2300 ได้มีการบันทึกในประวัติวัดอุปคุต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ว่า ว่าได้จัดประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนมากว่า 250 ปี ถือเป็นประเพณีที่ดีงามและสืบสานกันมายาวนานมาก
พระธรรมเทศนาก่อนเที่ยงคืน
ข้อมูลเพิ่มเติม ตามภาษาบาลีเรียกว่า พระอุปคุต ตามภาษาสันสกฤตเรียกว่า พระอุปคุตเถระ ส่วนชาวไตเรียกว่า ส่างอุปคุต ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนนิยมทำกันในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ และจังหวัดอื่นๆที่ทำกันเงียบๆไม่โด่งดัง หรือในหมู่บ้านเล็กๆ แต่ก็มิได้หมายความว่า จังหวัดอื่นๆจะสืบสานประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนไม่ได้ ทำได้ครับ ถ้าเห็นว่าจะช่วยกันสืบทอดพระศาสนาไปในทางที่ดีต่อไป
ขอขอบคุณ คุณเอกพงษ์ ประดิษย์พงษ์ นสพ.คมชัดลึก ข้อมูล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น