อาการที่คุณแม่ไม่ควรนิ่งเฉยระหว่างตั้งครรภ์
1. อาการ เลือดออกที่ช่องคลอด : น่าจะเป็น... ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีตั้งแต่ปริมาณเล็กน้อยแบบเป็นจุดหรือมีมาก แต่เลือดออกแบบไหนก็ทำให้กังวลได้ทั้งนั้น ส่งผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์จำนวน 1 ใน 3 ในช่วงหนึ่งช่วงใด เลือดออกที่เกิดขึ้นตอน 3 เดือนแรกหรือที่เราเคยได้ยินว่าเป็น "เลือดล้างหน้า" แพทย์เชื่อว่าเกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนกับผนังมดลูก ความเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ก็เป็นอีกสาเหตุของอาการเลือดออกได้เช่นกัน เพราะช่วงไตรมาสที่สองหรือไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ปากช่องคลอดเริ่มอ่อนไหวมากขึ้น สังเกตได้สีของปากมดลูก จะคล้ำขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมากเนื่องจากมีเลือดมาเลี้ยงมากเป็นพิเศษนั่นเอง
แต่อาจจะเป็น... สัญญาณของการแท้งหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก
ที่แย่ที่สุดคืออาการเลือดออกที่เป็นสัญญาณของการแท้ง หากมีเลือดออกมากในช่วง 6-8 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ อาจบ่งชี้ถึงการตั้งครรภ์นอกมดลูกซึ่งตัวอ่อนเจริญเติบโตนอกมดลูก จัดเป็นอาการที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ด้วยการผ่าตัดหรือรับยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์
ถ้าคุณมีเลือดออกบวกด้วยกับอาการปวดท้องตอนช่วงท้ายการตั้งครรภ์ อาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด ให้ติดต่อพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ ตรวจเช็กการเต้นหัวใจ และดูท่าของทารก
สตรีมีครรภ์ 0.5 % มีอาการรกพันคอทารก หรือรกเกาะต่ำ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ จะทำให้เกิดเลือดออกโดยสีของเลือดค่อนข้างสด เป็นอาการที่เกิดขึ้นก่อนจะนำไปสู่อาการตกเลือด ซึ่งคุณต้องเข้ารับผ่าตัดคลอดโดยด่วน
2 อาการ ปวดท้องอย่างรุนแรง : น่าจะเป็น... อาหารไม่ย่อยหรือเนื้อเยื่อยืด
อาการปวดท้องส่วนใหญ่จัดเป็นเรื่องเล็ก เพราะในช่วงตั้งครรรภ์ระบบการย่อยอาหารของคุณทำงานเชื่องช้าลง ทำให้เกิดแก๊สและมีอาการท้องผูก เนื้อเยื่อหน้าท้องหนาขึ้นและยืดขยายออก เพราะมดลูกกำลังเจริญเติบโต ทารกที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเบียดกระเพาะปัสสาวะทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้ คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนมีอาการเจ็บท้องหลอกซึ่งทำให้รู้สึกเจ็บได้เช่นกัน
แต่อาจจะเป็น... ทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก
ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและมดลูกที่โตขึ้นทำให้การไหลของปัสสาวะจากไตไปยังกระเพาะปัสสาวะเชื่องช้าลง เชื้อแบคทีเรียภายในกระเพาะปัสสาวะจึงมีเวลาเจริญเติบโตขึ้นมาได้ อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบควรบำบัดด้วยยาปฏิชีวนะเนื่องจากมีการติดเชื้อที่บริเวณไต ซึ่งอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้
อาการปวดท้องตอนช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจเป็นสัญญาณการแท้งครรภ์หรือตั้งครรภ์นอกมดลูก ส่วนในกรณีที่มีอาการปวดท้องมากโดยที่มีเลือดออกหรือไม่มีก็ตาม อาจหมายถึงรกเริ่มลอกตัวจากผนังมดลูก ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงต้องเข้ารับการผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน
3 อาการ ปวดหัวอย่างต่อเนื่อง : น่าจะเป็น... ขาดน้ำหรือเหนื่อย
อาการปวดหัวอาจเพิ่มมากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ 1-2 % ที่ไม่มีประวัติเป็นโรคไมเกรนมาก่อนสามารถเกิดอาการนี้ขึ้นมาได้ด้วยสาเหตุหลายประการ คือ ขาดน้ำ ฮอร์โมน ความเครียด และเหน็ดเหนื่อย เมื่อครรภ์แก่มากขึ้นอาการปวดหัวอาจเกิดจากทรงตัวได้ไม่ดีเพราะช่วงหลังต้องรับน้ำหนักมากเป็นพิเศษ การดื่มน้ำมากๆและพักผ่อนมากๆ ช่วยลดอาการอันเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ให้ปรับปรุงการทรงตัวและบรรเทาอาการด้วยการพยายามทำกิจกรรมต่างๆ ให้ช้าลง
แต่อาจจะเป็น... ครรภ์เป็นพิษ
ถ้าปวดหัวตามด้วยวิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่า เห็นแสงแว่บ และมีเลือดออกเป็นจุด อาจเป็นสัญญาณของอาการครรภ์เป็นพิษ อาการครรภ์เป็นพิษเล็กน้อยหรือความดันโลหิตสูงก่อนตั้งครรภ์ เกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ราว 10 % และควรได้รับการดูแลจากแพทย์
สาเหตุยังไม่ชัดเจนแต่มีแนวโน้มว่าเป็นกรรมพันธุ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัว แม่ที่เพิ่งมีลูกแฝดท้องแรก และแม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้รับการบำบัดอาจทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งค่อนข้างอันตราย มีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดและรกเกาะต่ำ วิธีแก้ไขประการเดียวคือต้องทำคลอดทารกในทันที
4 อาการ กระหายน้ำจัด : น่าจะเป็น... ขาดน้ำ
เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจจะรู้สึกกระหายน้ำ เพราะภายในร่างกายมีเลือดไหลเวียนเพิ่มมากขึ้นและมีเหงื่อออกมาก น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 25 % ระหว่างตั้งครรภ์มาจากของเหลวส่วนเกิน ดังนั้นต้องหมั่นดื่มน้ำให้มากๆ
แต่อาจจะเป็น... เบาหวานตอนตั้งครรภ์
โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นตอน 20 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ไปแล้ว ตามด้วยอาการปวดปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นและเหนื่อยเป็นพิเศษ อาการเบาเหวานตอนตั้งครรภ์เกิดกับว่าที่คุณแม่ 1 ใน 3 เพราะฮอร์โมนไปปิดกั้นการทำงานของอินซูลิน ทำให้คุณต้องผลิตมากขึ้นอีก 2-3 เท่า ดังนั้นน้ำตาลจึงคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด แพทย์จะทำการทดสอบเพื่อวัดระดับกลูโคลสที่เพิ่มขึ้น ให้ออกกำลังกายเพิ่มขึ้นและระมัดระวังเรื่องโภชนาการ มีคุณแม่ 10 % ที่ต้องฉีดอินซูลิน ซึ่งเมื่อสามารถควบคุมไว้ได้ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อแม่หรือลูกในครรภ์ และมักหายไปหลังคลอดไปแล้ว
5 อาการ หน้า นิ้วมือ นิ้วเท้าบวม : น่าจะเป็น... เกิดภาวะเก็บกักของเหลว
อาการบวมบางกรณีจัดเป็นเรื่องปกติในยามตั้งครรภ์ เพราะคุณมีของเหลวในร่างกายมาก มดลูกเติบโต ทำให้การไหลเวียนของของเหลวในร่างกายสะดุดลง หลายคนบอกว่าเท้าบวมตอน 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ให้นั่งยกขาสูงพาดเก้าอี้และออกกำลังกายพอประมาณ และดื่มน้ำมากๆ
แต่อาจจะเป็น... ครรภ์เป็นพิษ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมอาการในข้อ 3) โดยเฉพาะถ้าเกิดอาการบวมขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน ปวดหัว ตาพร่า หรือถ้ามีของเหลวเก็บกักอยู่ทั่วทั้งร่างกาย รวมถึงดวงตา ใบหน้า มือ และขา ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
6 อาการ คันคะเยอสุดจะทน : น่าจะเป็น... ผิวหนังยืดขยายออก
ตอนครรภ์แก่ ผิวหนังจะยืดขยายออกค่อนข้างมาก จนรู้สึกถึงความแห้งและคัน บวกกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและเหงื่อที่ออกปริมาณมาก มักสร้างความระคายเคืองให้กับผิวของคุณแม่ โดยเฉพาะตามข้อพับส่วนต่างๆ บรรเทาอาการคันด้วยการสวมเสื้อผ้าฝ้ายและใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ชนิดไร้น้ำหอมเพื่อยับยั้งความแห้งผาก หรือจะใช้เบบี้ออยล์ทาก็ช่วยได้เช่นกัน
แต่อาจจะเป็น... อาการน้ำดีหยุดหลั่งตอนตั้งครรภ์
เป็นอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับตับ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่เข้ารับการบำบัดจะทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือทารกได้รับอันตราย เพราะน้ำดีอาจเข้าไปปะปนในกระแสเลือดทำให้เกิดอาการคันอย่างมากโดยเฉพาะที่มือและเท้าในตอนช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ สาเหตุของโรคยังไม่ชัดเจนแต่เชื่อว่าเกี่ยวพันกับฮอร์โมน ถ้าคันจนนอนไม่หลับหรือขาดสมาธิ ให้ไปพบแพทย์ อาการดังกล่าวนี้แม้ไม่มีทางบำบัดแต่มีวิธีการบรรเทาอาการคันได้ แพทย์จะติดตามอาการของคุณอย่างใกล้ชิดและอาจทำคลอดเร็วขึ้น (ในช่วง 37-38 สัปดาห์) อาการนี้จะหายไปใน 1 สัปดาห์หลังคลอด
7 อาการ ลูกในท้องไม่ขยับเขยื้อน : น่าจะเป็น... ลูกนอนหลับอยู่
มีบางเวลาที่ทารกในครรภ์มักอยู่เงียบๆ นิ่งๆ นอนสบายๆ ไม่ทำกิจกรรมอันใด หรือเมื่อทารกในครรภ์เติบโตขึ้นมากจนไม่มีพื้นที่เหลือให้พลิกหงายไปมาได้อีก คุณจึงรู้สึกเหมือนทารกเคลื่อนไหวเชื่องช้าลง ในช่วงกลางวันเรามักทำอะไรวุ่นวายจนตกเย็นถึงจะนึกได้ว่า วันนี้ลูกไม่ดิ้นเลย แต่ที่จริงแค่นอนพักสักชั่วโมงคุณจะรู้สึกถึงแรงเตะของลูกได้
แต่อาจจะเป็น... สัญญาณอันตรายจากทารก
แม้เราจะรู้สึกวิตกกังวลมากเป็นพิเศษ แต่โอกาสที่ทารกในครรภ์จะเสียชีวิตมีน้อยมาก ยากจะบอกได้ว่าคุณควรสัมผัสการเคลื่อนไหวทารกได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของร่างกายคุณเอง สังเกตรูปแบบและความถี่ซึ่งเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาเมื่อคุณกับลูกต่างก็เติบโตไปด้วยกัน ถ้าคุณไม่รู้สึกอะไรตอนกลางวันแม้ตอนนอนพัก ให้ติดต่อแพทย์ซึ่งจะทำการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อเช็กดูว่าทารกน้อยยังสบายดีอยู่หรือเปล่า
- ขอขอบคุณ :Mother & Babyผู้สนับสนุนเนื้อหา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น