นักวิชาการค้าน กทม.ออกกฎห้ามม็อบใช้สนามหลวง
นักวิชาการค้าน กทม.ออกกฎห้ามม็อบใช้สนามหลวง
กทม.ยึดสนามหลวง (ไทยโพสต์)
นักวิชาการยก "สนามหลวง" เป็นสนามรบต่อสู้เชิงอุดมการณ์ เปรียบเสมือนห้องเรียนการเมืองภาคประชาชน ค้าน กทม.ออกกฎห้ามม็อบใช้พื้นที่ชุมนุม ชี้เป็นสมบัติสาธารณะ ไม่ควรทำอะไรตามอำเภอใจ
หลังจากที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวงใกล้เสร็จสิ้น และเตรียมจะเปิดให้ประชาชนเข้าใช้พื้นที่ในเดือนกรกฎาคมนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้การกำหนดหลักเกณฑ์การขอใช้พื้นที่สนามหลวงยังไม่แล้วเสร็จ โดยจะมีการเรียกประชุมอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปให้ทันก่อนประกาศเปิดใช้สนามหลวง ในเบื้องต้นยังคงยึดหลักเกณฑ์การใช้สนามหลวงตามประกาศเดิม แต่จะมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการชุมนุมทางการเมือง ได้ประสานไปทางกรมศิลปากรแล้ว ซึ่งรับคำตอบว่าไม่อนุญาตให้นำม็อบเข้ามาใช้สนามหลวงอย่างเด็ดขาด กทม.จึงมีหลักเกณฑ์ห้ามไม่ให้ชุมนุมทางการเมืองในสนามหลวงอีกต่อไป
นายสุวพร เจิมรังษี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพระนคร ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการใช้พื้นที่สนามหลวง บอกว่า การจัดทำหลักเกณฑ์การขอใช้พื้นที่สนามหลวงยังไม่ได้ข้อสรุป คาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และสามารถประกาศใช้ได้ทันการเปิดใช้สนามหลวง ทั้งนี้ การกำหนดกฎระเบียบการขออนุญาตใช้สนามหลวงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งทางผู้บริหาร กทม.มีนโยบายไม่ให้ม็อบเข้ามาใช้พื้นที่ หน่วยงานก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
"ที่ผ่านมาหลักเกณฑ์การขอใช้พื้นที่สนามหลวงหละหลวมมาก ใครจะเข้ามาจัดงานอะไรก็ทำได้ง่ายๆ แต่หลักเกณฑ์ใหม่จะมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและคงคุณค่าความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เนื่องจากสนามหลวงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองดูแลไม่ให้สนามหลวงมีสภาพเละเทะอีกต่อไป" ผอ.สำนักงานเขตพระนครเผย
รศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สนามหลวงเป็นสมบัติของประเทศชาติ เป็นขุมทรัพย์แห่งความรู้ทางการเมืองของคนไทย ไม่ใช่เป็นสมบัติของ กทม. ซึ่งควรจะพิจารณาหลักเกณฑ์การขอใช้พื้นที่สนามหลวงให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ใช่ร่างระเบียบเพื่อกลั่นแกล้งกัน ทั้งนี้ ตนเห็นว่าสนามหลวงเป็นพื้นที่การต่อสู้ทางการเมืองเชิงอุดมการณ์ ซึ่งควรอนุญาตเปิดให้ม็อบเข้าใช้พื้นที่ได้เพื่อเป็นเวทีการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองของภาคประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องไปปิดถนนให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น หาก กทม.ห้ามใช้สนามหลวงเพื่อชุมนุมทางการเมือง ก็จะทำให้ม็อบต่างๆ รวมตัวไปปิดกั้นสี่แยกราชประสงค์หรือปิดสนามบิน
"ผมเห็นว่า กทม.ไม่ควรห้ามชุมนุมการเมืองในสนามหลวง แต่ควรกำหนดเงื่อนไขการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมและยืดหยุ่น เช่น การจัดสรรพื้นที่บางส่วนให้ชุมนุมได้โดยมีวิธีรักษาความสะอาดอย่างดี การเจรจาต่อรองให้ชุมนุมแบบวันเดียว ผมคิดว่าสนามหลวงเป็นสนามปราบเซียนม็อบต่างๆ ถ้าหากรวมตัวกันน้อยก็ทำให้ไม่ถึงเป้าหมาย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องท้าทายว่าสนามหลวงจะยังรักษาประวัติศาสตร์การชุมนุมทางการเมืองได้อยู่หรือไม่" รศ.พิชญ์เผย
อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้นำชุมนุมการเมืองสมัยเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กล่าวว่า สนามหลวงเป็นสถานที่สาธารณะของประชาชน กทม.ไม่ควรออกกฎระเบียบห้ามชุมนุมทางการเมือง เพราะจะเป็นการตัดตอนประวัติศาสตร์ทางการเมืองในประเทศไทย และลดทอนความตื่นตัวในกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะสนามหลวงถือเป็นห้องเรียนทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ และเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการเคลื่อนไหวเรียกร้องของสาธารณชน ดังนั้น กทม.จะต้องเปิดเวทีประชุมเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายให้มากขึ้นก่อนที่จะประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น