เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

๙. ประวัติ พระราธเถระ


๙. ประวัติ พระราธเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระราธเถระ ชื่อเดิม ราธมาณพ บิดามารดาตั้งให้
บิดาและมารดา เป็นคนวรรณะพราหมณ์ แต่ไม่ปรากฎชื่อในตำนาน
เกิดที่บ้านพราหมณ์ ในเมืองราชคฤห์

๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา

พระราธเถระ ในสมัยเป็นฆราวาส ยังไม่แก่เฒ่าเป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง แต่พอแก่เฒ่าลง บุตรและภรรยาไม่นับถือ ไม่เลี้ยงดู จึงเข้าวัดตั้งใจว่าจะบวชแล้วอยู่รอวันตายไปวัน ๆ หนึ่ง ได้ขอบวชกับพระเถระทั้งหลาย แต่ไม่มีใครบวชให้ เพราะรังเกียจว่า เป็นคนแก่ บวชแล้วจะว่ายากสอนยาก เขาจึงได้แต่อยู่วัด ช่วย พระกวาดวัด ดายหญ้า ตักน้ำเป็นต้น ภิกษุทั้งหลายก็ได้สงเคราะห์เขาด้วยอาหาร ไม่ขาดแคลนแต่อย่างไร

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

วันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่งอันเป็นพุทธกิจอย่างหนึ่ง ทรงเห็นพราหมณ์นั้นเข้าไปในข่ายแห่งพระญาณ ได้เสด็จไปโปรดตรัสถามว่า พราหมณ์ ท่านกำลังทำอะไร เขากราบทูลว่า ข้าพระองค์กำลังทำวัตรปฏิบัติภิกษุทั้งหลายอยู่ พระเจ้าข้า ตรัสถามต่อว่า เธอได้รับการสงเคราะห์จากภิกษุเหล่านั้นหรือ เขาทูลว่า ได้พระเจ้าข้า ได้เพียงอาหาร แต่ท่านไม่บวชให้ข้าพระองค์

พระศาสดารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เกี่ยวกับเรื่องนั้น แล้วตรัสถามว่า ใครระลึกถึงอุปการะของพราหมณ์นี้ได้บ้าง พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า ท่านระลึกได้ ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านเที่ยวบิณฑบาต ในพระนครราชคฤห์ พราหมณ์นี้ได้แนะนำให้คนถวายข้าวท่านทัพพีหนึ่ง พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่ท่านแล้ว ตรัสว่า สารีบุตร เธอเป็นสัตบุรุษที่มีความกตัญญูกตเวที และได้ทรงเล่าถึงอดีตชาติที่พระเถระมีความกตัญญูกตเวทีให้ภิกษุทั้งหลายฟังด้วย แล้วทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ราธพราหมณ์นั้น

๔. วิธีบวช

การบวชให้ราธพราหมณ์นี้ ตรัสให้ยกเลิกวิธีอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ที่ทำเฉพาะพระอุปัชฌาย์ กับผู้มุ่งบวชเท่านั้นมาเป็นการบวชโดยสงฆ์รับผิดชอบ ซึ่งต้องมีพระภิกษุอย่างต่ำที่สุด ๕ รูปประชุมกันจึง บวชได้ โดยแบ่งกันทำหน้าที่ ๓ ฝ่าย คือ ๑. เป็นพระอุปัชฌาย์ ๑ รูป ๒. เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์อย่างละ ๑ รูป ๓. นอกนั้นร่วมรับรู้ว่าการบวชนั้นถูกต้องหรือไม่ การบวชวิธีนี้ เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา แปลว่า การบวชด้วยกรรมมีญัตติเป็นที่ ๔ หมายความว่า มีการตั้งญัตติ คือการประกาศให้สงฆ์ทราบ ๑ ครั้ง มีอนุสาวนา คือการบอกให้สงฆ์ตรวจสอบว่าการบวชนั้นถูกต้องหรือไม่ ๓ ครั้ง พระราธเถระ เป็นรูปแรกในพระพุทธศาสนาที่บวชด้วยวิธีนี้

พระราธเถระ ครั้นบวชแล้ว ถึงแม้จะเป็นพระผู้เฒ่า เป็นหลวงตา แต่ก็เป็นผู้ว่าง่ายใคร่ศึกษา ใครแนะนำสั่งสอนอย่างไรไม่เคยโกรธ ยอมรับฟังและปฏิบัติตามด้วยความเคารพ แต่เพราะท่านมีบุญน้อย ทั้งอาหาร ทั้งที่อยู่อาศัย จึงมักไม่พอแต่การดำรงชีวิต จึงตกเป็นภาระของพระอุปัชฌาย์ ต้องช่วยสงเคราะห์ตลอดมา วันหนึ่ง ท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอให้แสดงธรรมย่อ ๆ พอให้ท่านเกิดกำลังใจยินดีในวิเวก ไม่ประมาทและมีความเพียร เพื่อความพ้นทุกข์

พระศาสดาตรัสว่า ราธะ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นมาร เธอจงละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจรักใคร่ในขันธ์ ๕ นั้นเสีย ท่านรับพุทธโอวาทแล้วจาริกไปกับพระอุปัชฌาย์พยายามปฏิบัติตามพระโอวาทนั้นไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระราธเถระบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านเป็นผู้เฒ่าแก่มากแล้ว คงช่วยงาน พระศาสนาด้วยกำลังกาย กำลังวาจาเหมือนรูปอื่นไม่ได้ แต่ท่านได้ช่วยประกาศพระศาสนาด้วยปฏิปทาที่ดีงามของท่าน ด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย ใครแนะนำสั่งสอนอะไรยินดีรับฟังด้วยความเคารพ ไม่เคยโกรธ เป็นเหตุให้พระศาสดานำท่านมาเป็นอุทาหรณ์ สั่งสอนภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุควร เป็นผู้ว่าง่ายเหมือนราธะ แม้อาจารย์ชี้โทษ กล่าวสอนอยู่ก็ไม่ควรโกรธ ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาท เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้

๖. เอตทัคคะ

เพราะพระราธเถระ เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายใคร่การศึกษา ทำให้พระศาสดาและ พระอุปัชฌาย์ เป็นต้น มีความเมตตาสั่งสอนท่านเสมอ จึงทำให้ท่านมีปฏิภาณ คือปัญญาแจ่มแจ้งในเทศนา เพราะได้รับฟังบ่อย ๆ พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีปฏิภาณคือญาณแจ่มแจ้งในธรรมเทศนา

๗. บุญญาธิการ

ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ พระราธเถระนี้ได้เกิดเป็นพราหมณ์ ได้เห็น พระศาสดาทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งซึ่งมีปฏิภาณแตกฉานไว้ในเอตทัคคะ ได้เกิดกุศลฉันทะในตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้ทำสักการะบูชาพระศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ กราบลงแทบพระบาท ปรารถนาฐานันดรนั้น พระศาสดาทรงพยากรณ์แก่เขาแล้ว ได้ทำบุญกุศลมากมายหลายพุทธันดร จนชาติสุดท้ายเกิดเป็นพราหมณ์ในพระนครราชคฤห์ ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณดังกล่าวแล้ว

๘. ธรรมมวาทะ

ในเวลาเราแก่เฒ่า เราอาศัยวัดอยู่ ใคร ๆ ไม่ยอมบวชให้เราผู้ชราหมดกำลังเรี่ยวแรง เพราะฉะนั้น เราผู้เป็นคนยากเข็ญ จึงเป็นผู้ปราศจากผิวพรรณ เศร้าโศก พระโลกนาถผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณาคุณ ทอดพระเนตรเห็นเข้า จึงตรัสถามเราว่า ไฉนลูกจึงเศร้าโศก จงบอกถึงโรคที่เกิดในใจ เราได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ข้าพระองค์ไม่ได้บวชในศาสนาของพระองค์ ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงมีความเศร้าโศก

๙. นิพพาน

พระราธเถระ ได้พากเพียรพยายามจนได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของมนุษย์เรา และได้ปฏิบัติตนให้เป็นทิฏฐานุคติของประชุมชนที่เกิดมาในภายหลังแล้ว สุดท้ายก็ได้นิพพาน พันจากวัฏสงสาร อย่างสิ้นเชิง


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น