เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความไม่มีตัวตน (อนัตตา)




ความไม่มีตัวตน (อนัตตา)

ไตรลักษณ์
ความเชื่อเรื่องอัตตา
บ่อเกิดของความเดือนร้อนในโลก
มนุษย์สร้างพระเจ้า
ธรรมทวนกระแส
วิเคราะห์ขันธ์ 5
ปฏิจจสมุปบาท
สัจจะ 2 ประการ
ผู้แสวงหา
กลัวในสิ่งที่ไม่น่ากลัว
ตีความในพระธรรมบท
อลคัททูปมสูตร
วิเคราะห์ “ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ”
มหาปรินิพพานสูตร
อัตตาอยู่ที่ไหน
วิธีตอบคำถามของพระพุทธเจ้า
ปัญหาที่นำไปสู่เป้าหมาย
จุดยืนที่ถูกต้อง

ไตรลักษณ์

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงประกอบอยู่ด้วยลักษณะอันเรียกว่า "ไตรลักษณ์" หรือลักษณะ 3 ประการคือ

อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง มีหมายความว่า สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไป ไม่มีความคงที่ตายตัว
ทุกขัง แปลว่า เป็นทุกข์ มีหมายความว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีลักษณะที่เป็นทุกข์มองดูแล้วน่าสังเวชใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจแก่ผู้ที่ไม่มีความเห็นอย่างแจ้มแจ้งในสิ่งนั้นๆ
อนัตตา แปลว่าไม่ใช่ตัวตน มีความหมายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ไม่มีลักษณะอันใดที่จะทำให้เรายึดถือได้ว่ามันเป็นตัวเราของเรา ถ้าเห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนถูกต้องแล้ว ความรู้สึกที่ว่า "ไม่มีตน" จะเกิดขึ้นมาเองในสิ่งทั้งปวง แต่ที่เราไปหลงเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนนั้น ก็เพราะความไม่รู้อย่างถูกต้องนั่นเอง
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้คือการประกาศความจริงออกไปว่า "สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงเป็นทุกข์ สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน"

ขอให้ทราบว่า ลักษณะสามัญ 3 ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากกว่าคำสั่งสอนอื่นๆ ในบรรดาคำสั่งสอนทั้งหลายจะนำมารวบยอดอยู่ที่การเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ทั้งนั้น บางทีก็กล่าวตรงๆ บางทีก็พูดด้วยโวหารอย่างอื่น แต่ใจความมุ่งแสดง ความจริงอย่างเดียวกัน

เมื่อได้กล่าวถึงหลักที่ว่า เราต้องรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร และต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะตรงต่อกฏธรรมชาติของสิ่งทั้งปวง ดังนี้แล้ว หลักในพระบาลีก็มีอีกพวกหนึ่งเรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ แปลว่า คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด มีอยู่ 3 ข้อสั้นๆ คือ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้เต็มที่ และทำจิตใจให้สะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง นี้เป็นหลักสำหรับปฏิบัติ

เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ยึดถือไม่ได้ และไปหลงใหลด้วยไม่ได้ เราต้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องด้วยความระมัดระวัง คือเว้นจาการทำชั่ว หมายถึง การละโมบ โลภลา๓ด้วยกิเลส ไม่ลงทุนด้วยการฝืนศิลธรรมขนบธรรมเนียมต่างๆ เพื่อไปทำความชั่ว อีกทางหนึ่งนั้นให้ทำแต่ความดีตามทีบัณฑิตสมมติตกลงกันว่าเป็นคนดี แต่ทั้งสองข้อนี้เป็นเพียงขั้นศิลธรรม ข้อที่สามที่ว่า ทำจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองโดยประการนั้นนั่นแหละ เป็นตัวพุทธศาสนาโดยตรง หมายความว่าทำจิตใจให้เป็ฯอิสระ ถ้ายังไม่เป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของสิ่งทั้งปวงแล้ว จะเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ไปไม่ได้ จิตจะเป็ฯอิสระก็ต้องมาจากความรู้ อะไรเป็น อะไรถึงที่สุด ถ้ายังไม่รู้จะไปหลงรัก หรือหลงชังอย่างใดอย่างหนึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วจะเรียกว่าเป็นอิสระแท้จริงได้อย่างไร คนเรามีความรู้สึกอยู่สองอย่างเท่านั้น คือความพอใจกับไม่พอใจ (อภิชฌา และโทมนัส)


ความเชื่อเรื่องอัตตา

สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจ “ วิญญาณ ” “ อัตตา ” “ ตัวตน ” หรือที่ภาษาสันสกฤต ใช้ว่า “ อาตมัน ” นั้น คือ สิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ เป็นสิ่งถาวร ยั่งยืน และสมบูรณ์แบบ เป็นแก่นสารที่คงอยู่เบื้องหลังโลกที่แสดงปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลง ในบางศาสนาเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีวิญญาณที่พระเจ้าสร้างไว้ให้ และในที่สุดหลังจากตายแล้ว วิญญาณนี้ก็จะไปสถิตชั่วนิจนิรันดร์ในนรกหรือสวรรค์ ชะตากรรมของวิญญาณขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของพระผู้สร้าง ส่วนในบางศาสนาก็เชื่อว่า วิญญาณผ่านการมีชีวิตมาหลายครั้งจนกว่าจะถูกชำระให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง และในที่สุดก็จะเข้าไปอยู่ร่วมกับพระเจ้าหรือพระพรหม กล่าวคือ วิญญาณแห่งจักรวาล หรืออาตมันซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของตน วิญญาณ หรืออัตตา เป็นผู้คิดเป็นผู้รับรู้อารมณ์และเป็นผู้รับคุณและโทษจากกรรมดีและกรรมชั่วของตนความเชื่อเช่นนี้เรียกว่าความเชื่อมีตัวตน (อัตตวาท)

บ่อเกิดของความเดือนร้อนในโลก

พระพุทธศาสนามีเอกลักษณ์พิเศษ ในประวัติศาสตร์ความคิดของมนุษย์ว่าเป็นศาสนาที่ปฏิเสธความมีอยู่ของวิญญาณ อัตตาหรือตัวตนตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ความคิดว่ามีอัตตานี้เป็นความเชื่อที่ผิด เกิดจากการใช้จินตนาการ ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงและก่อให้เกิดความคิดชั่วร้าย “ ตัวเรา ” และ “ ของเรา ” ก่อให้เกิดความอยากที่เห็นแก่ตัว ความทะยานอยาก ความคิดบึด ความโกรธ ความพยาบาท ความทะนงตัว ความถือดี ความหลงตน ตลอดจนกิเลสาสวะและปัญหาอื่นๆ รวมทั้งเป็นบ่อเกิดของความเดือนร้อนทั้งหลายทั้งปวงในโลก นับแต่ความขักแย้งระหว่างบุคคล จนถึงสงครามระหว่างประชาชาติ สรุปว่า ความชั่วทั้งปวงในโลกมีบ่อเกิดมาจากความเห็นผิดนี้เอง


มนุษย์สร้างพระเจ้า

ในจิตมนุษย์มีความคิดที่หยั่งรากลงลึกอยู่ด้วยกัน 2 ประการ คือ (1) ความคิดต้องการปกป้องตนเอง และ (2) ความคิดต้องการรักษาตนเอง จากความคิดต้องการปกป้องตนเองนี้ มนุษย์จึงได้สร้างพระเจ้าขึ้นมา ซึ่งตนจะได้พึ่งพาอาศัยเพื่อปกป้องคุ้มครอง เพื่อความปลอดภัยและเพื่อความมั่นคงตนเอง ดุจเดียวกับทารกพึ่งพาอาศัยบิดามารดาของตนฉะนั้น จากความคิดต้องการรักษาตนเองนั้นมนุษย์สร้างแนวความคิดว่า มีวิญญาณหรืออาตมันที่เป็นอมฤตมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ ด้วยเหตุมีอวิชชา ความอ่อนแอ ความกลัว ความอยากนี้เอง มนุษย์จึงต้องการ 2 สิ่งนี้มาช่วยปลอบประโลมใจและยึดติดกับ 2 สิ่งนี้ อย่างเหนียวแน่นและโงหัวไม่ขึ้น

คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่สนับสนุนให้มีอวิชชา ความอ่อนแอ ความกลัว และความอยากเหล่านี้ แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์ได้ตรัสรู้ด้วยการกำจัดและทำลายสิ่งเหล่านี้อย่างขุดรากถอนโคนเลยที่เดียว ตามหลักของพระพุทธศาสนา ความคิดของเราที่ว่ามีพระเจ้าและมีอัตตานี้เป็นความคิดที่ผิดและว่างเปล่าไร้สาระ แม้ว่าแนวความคิดเหล่านี้จะได้พัฒนามาเป็นทฤษฎีไปแล้ว แต่ก็ล้วนเป็นจินตนาการที่ละเอียดลึกซึ่งยากแก่การเข้าใจ แนวความคิดเหล่านี้ได้ฝังรากลึกอยู่ในมนุษย์ เป็นสิ่งที่มนุษย์มีความสนิทชิดเชื้อมาก จนไม่ต้องการได้ยิน ไม่ต้องการเข้าใจคำสอนใดๆ ที่โต้แย้งกับความคิดเหล่านี้


ธรรมทวนกระแส

พระพุทธเจ้าทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี อันที่จริงนั้นพระพุทธองค์ตรัสคำสอนของพระองค์ “ ทวนกระแส ” (ปฏิโสตคามิ) คือ ทวนกระแสความอยากด้วยความเห็นแก่ตัวของมนุษย์หลังจาก

ทรงตรัสรู้ได้เพียง 4 สัปดาห์ พระองค์ประทับนั่งที่ใต้ไทรต้นหนึ่ง ทรงรำพึงกับพระองค์เองว่า “ เราได้ตรัสรู้สัจธรรมนี้แล้ว อันเป็นสัจธรรมที่ลึกซึ่งยากแก่การรู้เห็น ยากแก่การเข้าใจ...บัณฑิตเท่านั้นจึงจะเข้าใจได้...มนุษย์ทั้งหลายมีกิเลสครอบงำมีมวลความมืดห้อมล้อม จึงไม่สามารถมองเห็นสัจธรรมนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทวนกระแส มีความสูงส่ง ลึกล้ำ ละเอียด และยากแก่การเข้าใจ"

ด้วยทรงมีพระดำริในพระทัยเช่นนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงลังเลไปชั่วขณะ ด้วยความไม่แน่พระทัยว่าจะล้มเหลวหรือไม่หนอ ถ้าหากพระองค์จะทรงพยายามอธิบายสัจธรรมที่พระองค์เพิ่งตรัสรู้นั้นแก่ชาวโลก จากนั้นพระองค์ได้ทรงเปรียบเทียบโลกกับสระบัวว่าในสระบัวแห่งหนึ่ง มีดอกบัวบางดอกอยู่ใต้น้ำ บางดอกโผล่ขึ้นมาอยู่เสมอกับระดับน้ำ และบางดอกโผล่ขึ้นมาพ้นพื้นน้ำ ในทำนองเดียวกันในโลกนี้มีมนุษย์ผู้มีระดับการพัฒนาแตกต่างกัน คงจะมีบ้างที่จะเข้าใจสัจธรรมนี้ได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตัดสินพระทัยสอนสัจธรรมนั้น

หลักอนัตตาหรือความไม่มีตัวตนนี้ เป็นผลพวงสอดคล้องกับการวิเคราะห์เบญจขันธ์ และหลักการอาศัยกันและกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปฺปาท)


วิเคราะห์ขันธ์ 5

ดังที่ได้ทราบมาแต่ต้นในตอนที่อภิปรายเกี่ยวกับอริยสัจจ์ข้อที่ 1 (ทุกข์) นั้นแล้ว สิ่งที่เราเรียกว่า สิ่งที่เราเรียกว่า สัตว์หรือบุคคลประกอบด้วยขันธ์ 5 และเมื่อนำขันธ์ 5 นี้มาวิเคราะห์และตรวจสอบแล้วไม่มีสิ่งใดอยู่เบื้องหลังที่สามารถยึดถือได้ว่าเป็น “ เรา ” “ อาตมัน ” “ ตัวตน ” หรือเป็นแก่นสารที่คงทน ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แบบนี้เป็นวิธีอธิบายในเชิงวิเคราะห์ผล เช่น เดียวกันนั้นก็สรุปได้เมื่อใช้กับหลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นการใช้วิธีอธิบายเป็นเชิงสังเคราะห์และตามหลักการนี้คือทฤษฎีสัมพันธภาพของพระพุทธศาสนา

ปฏิจจสมุปบาท

ก่อนที่เราจะเข้าสู่ปัญหาในเรื่อง “ อนัตตา ” แท้ ๆ นั้น คงจะเป็นประโยชน์ ถ้าเราได้รู้แนวความคิดเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทเอาไว้บ้างหลักปฏิจจสมุปบาทนี้มีคำอธิบายเป็นสูตรสำเร็จอยู่ 4 บรรทัดดังนี้

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี (อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ)

เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นจึงเกิด (อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ)

เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนั้นก็ไม่มี (อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ)

เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นก็ดับ (อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฌติ)

โดยหลักของการเป็นเหตุปัจจัย มีความเชื่อมโยง และอิงอาศัยซึ่งกันและกันนี้ ความมีเป็นและความต่อเนื่องของชีวิตทั้งสิ้นรวมทั้งความดับของสิ่งเหล่านั้น มีคำอธิบายแยกแยะเป็นสูตรสำเร็จเรียกว่า ปฎิจจสมุปบาท (การอาศัยกันและกันเกิดขึ้น) ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ 12 อย่างด้วยกัน (รายละเอียดเพิ่มเติม)


สัจจะ 2 ประการ

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน จึงใคร่จะกล่าวไว้ในที่นี้ว่า สัจจะมีอยู่ 2 อย่าง คือ จริงโดยสมมติ (สม . มุตสจ . จ) และจริงโดยปรมัตถ์ (ปรมตถสจจ) สันสกฤตว่า ปรมารถสตย) เมื่อเราใช้คำพูดในชีวิตประจำวัน เช่น “ เรา ” “ ท่าน ” “ สัตว์ ” “ บุคคล ” ฯลฯ เราไม่ได้โกหกกัน เพราะไม่มีตัวตนหรือสัตว์เช่นนั้น แต่เราพูดความจริงตามสมมุติของชาวโลก แต่สำหรับทางปรมัตถสัจจ์แล้ว ไม่มี “ เรา ” หรือ “ สัตว์ ” ในความจริงแท้ ดังที่กล่าวไว้ในมหายานสูตราลังการ ว่า “ บุคคล ” (ปุท.คล) เรียกว่ามีอยู่โดยแต่เพียงการบัญญัติ (โดยการสมมุติว่าอยู่) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีบุคคล (แก่นสารที่แท้จริง, ทวายะ) ”

การปฏิเสธความมีอยู่ของอาตมันที่เที่ยงแท้นี้ เป็นลักษณะร่วมที่มีอยู่ในทุกระบบความเชื่อดั้งเดิมของทั้งฝ่ายหีนยานและฝ่ายมหายาน ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะไปสันนิษฐานว่า ความเชื่อของชาวพุทธที่สอดคล้องกันในประเด็นนี้ เป็นความเชื่อที่เบี่ยงเบนจากคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า


ผู้แสวงหา

เป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีนักปราชญ์บางคนได้ประสบความล้มเหลว เมื่อพยายามสอดแทรกแนวความคิดว่ามีตัวตนนี้เข้าไปในคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องที่แย้งกับเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา นักปราชญ์เหล่านี้มีความเคารพยกย่องและนับถือพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์ จึงได้หันเข้ามาหาพุทธศาสนา แต่ท่านเหล่านั้นไม่ยอมคิดว่า พระพุทธเจ้าผู้ที่พวกตนถือว่าเป็นนักคิดที่บริสุทธิ์และลึกซึ้งที่สุดนี้ จะปฏิเสธความมีอยู่ของอาตมันหรือตัวตนซึ่งเป็นสิ่งที่พวกตนต้องการมาก คนเหล่านี้จึงได้พยายามหาความสนับสนุนจาก (คำสอน) ของพระพุทธเจ้า เพื่อนำมาสนองความต้องการที่ว่ามีสิ่งที่เป็นนิรันดร์ และสิ่งที่เป็นนิรันดร์นี้ไม่ใช่อัตตาเล็ก ๆ ที่มีอยู่ในบุคคลเสียอีกด้วย แต่เป็นอัตตาใหญ่

ผู้ที่เชื่อว่ามีอาตมันหรือตัวตนนั้น ความจริงแล้วน่าจะพูดออกมาตรง ๆ ว่าตนมีความเชื่อนั้น หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะพูดไปเลยว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นฝ่ายผิดพลาดโดยสิ้นเชิงที่ทรงปฏิเสธความมีอยู่ของอาตมัน แต่ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ใคร ๆ จะไปพยายามนำแนวคิดที่พระพุทธองค์ไม่ทรงยอมรับเข้าไปแทรกไว้ในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เท่าที่ได้พิจารณาจากคัมภีร์ดั้งเดิมต่าง ๆ เท่าที่มีอยู่

ศาสนาต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามีพระเจ้าและมีวิญญาณนั้น จะไม่ปกปิดสองเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ แต่จะประกาศออกมาตรง ๆ และซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการใช้ศัพท์ที่ไพเราะเพราะพริ้งยิ่ง หากว่าพระพุทธเจ้าทรงยอมรับแนวคิดว่ามีพระเจ้าหรือมีวิญญาณในทั้งสองอย่างนี้ ดังที่ถือว่ามีความสำคัญอยู่ในทุกศาสนา พระองค์ก็จะต้องประกาศออกมาให้สาธารณชนได้รู้อย่างที่พระองค์ตรัสเกี่ยวกับสิ่งอื่น ๆ พระองค์คงไม่ทรงปล่อยให้มันซ่อนเร้นอยู่ เพื่อให้คนอื่นมาค้นพบ หลังจากทรงปรินิพพานไปแล้วสองพันห้าร้อยปีเป็นแน่


กลัวในสิ่งที่ไม่น่ากลัว

คนทั้งหลายเกิดความตื่นตระหนกกับแนวคิดในคำสอนเรื่อง “ อนฺตตา ” ของพระพุทธเจ้า ทั้งนี้เพราะคิดว่า อัตตาที่ตนจินตนาการว่าตนเองมีอยู่นั้น กำลังจะถูกทำลายไป ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตระหนักถึงข้อนี้เป็นอย่างดี

สมัยหนึ่ง มีภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีกรณีของใครบ้างหรือไม่ ที่เมื่อไม่พบว่ามีสิ่งที่เที่ยงแท้ในตนแล้วเกิดความทุกข์ทรมาน ”

“ ดูกรภิกษุ กรณีเช่นนี้มีอยู่ ” พระพุทธองค์ทรงตรัส “ คือมีชายผู้หนึ่งมีความเห็นอย่างนี้ว่า “ จักรวาลคืออาตมัน เราจะเป็นอาตมันหลังจากตายไป อาตมันเป็นสิ่งยั่งยืน ถาวร ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ และไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเราเองก็จะดำรงอยู่เช่นนั้นได้ชั่วนิจนิรันดร์ ” ชายผู้นั้นได้ยินว่าตถาคตหรือสาวกสอนหลักการทีมุ่งทำลายความเห็นที่เกิดจากความคาดคะเนทั้งหลายทั้งปวงโดยสิ้นเชิง...สอนหลักการที่มุ่งดับตัณหา...มุ่งคลายกำหนัด ความดับและนิพพาน ชายผู้นั้นจึงคิดว่า “ เราจะถูกทำลาย เราจะถูกล้างผลาญ จะไม่มีเราอีกอยู่ต่อไป ” ด้วยเหตุนี้เขาจึงเศร้าโศก วิตกกังวลคร่ำครวญ ร้องไห้ ทุบอก และมึนงง ดูกรภิกษุ นี่แหละคือกรณีของผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมาน เมื่อไม่พบว่ามีสิ่งที่ยั่งยืนอยู่ในตนเอง ”

อีกแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลายความคิดที่ว่า “ เราอาจจะไม่เป็น เราอาจจะไม่มี ” นี้ เป็นที่หวาดหวั่นของชาวโลกที่ยังไม่รู้เรื่องนี้ดี ”

มีผู้ที่ต้องการค้นหา “ อัตตา ” ในพระพุทธศาสนา ได้โต้แย้งว่าเป็นความจริงที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงวิเคราะห์ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มีอยู่ และตรัสว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่มีสิ่งใดที่มีตัวตนแต่พระองค์ไม่ได้ตรัสเลยว่า ไม่มีอัตตาในมนุษย์หรือในที่อื่น นอกเหนือจากขันธ์ 5 เหล่านี้

ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้นด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

เหตุผลประการแรก ในคำสอนของพระพุทธเจ้า บุคคลประกอบด้วยขันธ์ 5 เหล่านี้ และไม่มีสิ่งอื่นใดนอกไปจากนี้ ไม่มีในที่ใดเลยที่พระองค์ทรงตรัสว่า ในคนและสัตว์มีสิ่งอื่นใดนอกจากขันธ์ 5
เหตุผลประการที่ 2 พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธโดยปราศจากเยื่อใย ในที่ต่าง ๆ มากกว่าหนึ่งแห่งว่า ไม่มีอาตมัน วิญญาณ อัตตา หรือตัวตนในภายในมนุษย์ ภายนอกมนุษย์ หรือในที่แห่งใดแห่งหนึ่งในจักรวาล ดังจะขอยกบางตัวอย่างมาแสดงดังนี้
ตีความในพระธรรมบท

ในพระธรรมบท มีคาถาอยู่ 3 คาถา ซึ่งมีความสำคัญยิ่งและเป็นแก่นแท้ในคำสอนของพระพุทธเจ้า คือคาถาที่ 5 คาถาที่ 6 และคาถาที่ 7 บทที่ 20 (หรือ คาถาที่ 277 , 278 , 279) สองคาถาแรกว่า

“ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง (สฺพเพ สฺงขารา อนิจจา) ”

“ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ (สฺพเพ สฺงขารา ทุกขา) ”

คาถาที่ 3 ว่า

“ ธรรมทั้งปวงไม่มีตัวตน (สฺพเพ ธฺมมา อนฺตตา) ”

ในที่นี้ควรจะได้สังเกตอย่างถี่ถ้วนว่า ในสองบาทแรกนั้นได้ใช้คำว่า “ สฺงขารา ” (สิ่งทั้งหลายที่มีปัจจัยปรุงแต่ง) แต่ในบาทที่ 3 ใช้คำว่า “ ธฺมมา ” แทน “ สฺงขารา ” เพราะเหตุใด ในคาถาที่ 3 นี้จึงไม่ใช้คำว่า “ สฺงขารา ” (สิ่งทั้งหลายที่มีปัจจัยปรุงแต่ง) ดังในสองคาถาแรก ? และเพราะเหตุใด จึงได้ใช้คำว่า “ ธฺมมา ” แทน ? จุดนี้คือประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ทั้งหมด

คำว่า “ สฺงขารา ” หมายถึง ขันธ์ 5 คือสิ่งหรือสภาวะทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่ง มีความเกี่ยวโยงกัน มีความสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ว่าสิ่งหรือสภาวะนั้นจะเป็นส่วนที่เป็นกายภาพ หรือเป็นจิตก็ตาม หากว่าคาถาที่ 3 เกิดใช้ว่า “ สังขารทั้งปวง (สิ่งทั้งหลายที่มีปัจจัยปรุงแต่ง) ” คนก็อาจจะคิดว่า แม้ว่าสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งจะไม่มีอัตตา แต่ก็มีอัตตาอยู่นอกสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือ นอกขันธ์ 5 เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นนี้จึงได้ใช้คำว่า “ ธฺมมา ” ในพระคาถาที่ 3

คำว่า “ ธฺมม ” กินความกว้างกว่าคำว่า “ สงขาร ” ไม่มีคำศัพท์ในทางพุทธศาสนา ศัพท์ใดกินความกว้างไปกว่าคำว่า “ ธฺมม ” คำว่า “ ธฺมม ” นี้กินความรวมถึงไม่แต่เพียงสิ่งหรือสภาวะที่มีปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพระนิพพานที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง และเป็นสภาวะสมบูรณ์แบบอีกด้วย ไม่มีสิ่งใดในจักรวาลหรือนอกจักรวาลไม่ว่าเป็นสิ่งดีหรือสิ่งเลว ไม่ว่าเป็นสิ่งมีปัจจัยปรุงแต่งหรือไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ว่าเป็นสิ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หรือมีอิสระสมบูรณ์ ที่ไม่รวมอยู่ในคำว่า “ ธมม ” ดังนั้น จึงเป็นที่กระจ่างชัดว่าในข้อความที่ว่า “ ธรรมทั้งปวงไม่มีตัวตน ” นี้ หมายความว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีอาตมัน ไม่แต่เพียงในขันธ์ 5 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงไม่มีในที่อื่นใดภายนอกขันธ์ 5 หรือนอกเหนือขันธ์ 5 อีกด้วย

เมื่อว่าตามคำสอนของฝ่ายเถรวาทแล้ว ข้อนี้หมายความว่าไม่มีอัตตา ทั้งในบุคคล (ปุทคล) หรือในธรรมทั้งหลาย ส่วนปรัชญาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ก็มีจุดยืนในประเด็นนี้ตรงกัน ไม่มีความผิดแผกแตกต่างกันแม้แต่น้อย ดังฝ่ายมหายานได้ย้ำไว้ว่า “ ธรม – ไนราตมยะ ” และ “ ปุทคล – ไนราตมยะ ”

อลคัททูปมสูตร

ใน อลคัททูปมสูตรแห่งมัชฌิมนิกาย พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับบรรดาสาวกว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยอมรับทฤษฏีอัตตา (อตตวาท) เถิด หากในการยอมรับนั้นไม่ก่อให้เกิดความโศก ความร่ำไร รำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่เธอทั้งหลายเคยเห็นทฤษฏีอัตตาที่เมื่อยอมรับแล้วจะไม่ก่อให้เกิดความโศก ความร่ำไร รำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจบ้างไหม ?”
“ ไม่เคยเห็นเลย พระเจ้าข้า ”

“ ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเองก็เช่นเดียวกันยังไม่เคยเห็นทฤษฏีอัตตาใดที่เมื่อยอมรับแล้ว จะไม่ก่อให้เกิดความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจ ”

ถ้ามีทฤษฏีอัตตาใดที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับ พระองค์ก็คงจะอธิบายไว้ ณ ที่นี้แน่ ๆ เพราะพระองค์ทรงขอให้ภิกษุทั้งหลายยอมรับทฤษฏีอัตตาที่ไม่ก่อทุกข์นั้นได้ แต่ในทัศนะของพระพุทธเจ้าไม่มีทฤษฏีอัตตาเช่นนี้ และทฤษฏีอัตตานี้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฏีใด มีความละเอียดอ่อนขนาดไหน ต่างก็เป็นทฤษฏีที่ผิดพลาด และเกิดจากการจินตนาการเอาเองทั้งนั้น ก่อให้เกิดปัญหาทุกชนิด ก่อให้เกิดความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์ ความโสมนัส และความคับแค้นใจ และความเดือดร้อน

พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปในพระสูตรเดียวกันนั้นว่า

“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีอัตตาและไม่มีสิ่งใดมีอัตตา ที่สามารถค้นพบได้จริงแท้ ทัศนะที่เกิดจากการคาดหมายที่ว่า “ จักรวาล คือ อาตมัน (วิญญาณ) หลังจากตายแล้ว เราจะเป็นอัตตานั้น ซึ่งถาวรยั่งยืน มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง และเราจะดำรงอยู่เช่นนั้นชั่วนิจนิรันดร์ ” ทัศนะนั้นจะไม่เป็นทัศนะที่งี่เง่าไปทั้งหมดดอกหรือ ?”

ตรงนี้เองที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างชัดแจ้งว่า อาตมันวิญญาณหรือตัวตนที่แท้จริง ไม่สามารถหาพบได้ในที่ใด และเป็นความงี่เง่าที่เชื่อว่า สิ่งเช่นนั้นมีอยู่


วิเคราะห์ “ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ”

บรรดาผู้ที่ค้นหาอัตตาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้อ้างจากตัวอย่างบางแห่ง ซึ่งครั้งแรกได้แปลกันไว้ผิด ๆ แล้วก็เลยตีความกันผิด ๆ ตามไปด้วย ตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีมาจากคาถาธรรมบท (บทที่ 12 คาถาที่ 4 หรือคาถาที่ 160) ความว่า “ อตตา หิ อตตโน นาโถ ” ซึ่งแปลกันไปว่า “ อัตตาเป็นนายของอัตตา ” แล้วก็ตีความหมายว่า “ อัตตาใหญ่เป็นนายของอัตตาเล็ก ”

ประการแรกนั้น การแปลเช่นนี้ไม่ถูกต้อง “ อตตา ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอัตตาในแง่ที่เป็นวิญญาน ในภาษาบาลี คำว่า “ อัตตา ” โดยทั่วไปใช้เป็นสัมพันธสรรพนาม หรือ อนิยมสรรพนาม จะมียกเว้นอยู่บ้างก็ในกรณีที่ใช้ในความหมายพิเศษในเชิงปรัชญาในส่วนที่เกี่ยวกับทฤษฏีอัตตา ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ที่ใช้โดยทั่ว ๆ ไปดังเช่นในธรรมบท บทที่ 12 ในคาถาที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นและในที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง “ อัตตา ” ใช้เป็นสัมพันธสรรพนามหรืออนิยมสรรพนาม หมายถึง “ เราเอง ” “ ท่านเอง ” “ เขาเอง ” “ บุคคล ” “ บุคคลนั้นเอง ”

ประการต่อมา คำว่า “ ที่พึ่ง ” “ สนับสนุน ” “ ช่วยเหลือ ” “ คุ้มครอง ” ดังนั้น “ อตตา หิ อตตโน นาโถ ” จึงมีความหมายที่แท้จริงว่า “ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเอง ” “ ตนช่วยเหลือตนเอง ” หรือ “ ตนสนับสนุนตนเอง ” หมายความว่า “ ท่านจะต้องพึ่งตนเอง อย่างไปพึ่งคนอื่น ”

มหาปรินิพพานสูตร

อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า มีการพยายามที่จะนำเอาความเห็นว่ามีอัตตามาแทรกไว้ในคำสอนของพระพุทธเจ้า คือพระดำรัสที่รู้จักกันดีว่า “ อตตทีปา วิหรถ อตตสรณา อนญญสรณา ” ซึ่งคัดมาจากเนื้อเรื่องใน มหาปรินิพพานสูตร วลีที่ยกมานี้แปลโดยพยัญชนะว่า “ เธอทั้งหลายจงอยู่อย่างทำตนให้เป็นเกาะ ทำตนให้เป็นที่พึ่ง อย่าทำคนอื่นให้เป็นที่พึ่ง ” บรรดาผู้ที่ต้องการเห็น “ อัตตา ” ในพระพุทธศาสนาได้ตีความคำ “ อตตทีปา ” และคำ “ อตตสรณา ” ว่า “ ยึดอัตตาเป็นประทีป ” และ “ ยึดอัตตาเป็นที่พึ่ง ”

เราจะไม่สามารถเข้าใจความหมายที่สมบูรณ์ และความสำคัญของพุทธโอวาทที่ประทานแก่พระอานนท์นี้ได้ หากไม่ได้พิจารณาถึงภูมิหลังและเนื้อเรื่องซึ่งเป็นที่มาของพุทธดำรัสเหล่านี้

เมื่อทรงประทานพระโอวาทเหล่านี้ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อ “ เพลุวะ ” อยู่ในช่วง 3 เดือนก่อนปรินิพพาน ขณะนั้น พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา กำลังประชวรด้วยโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง จนเกือบจะสิ้นพระชนม์ แต่พระองค์ทรงดำริว่ายังไม่เป็นการสมควรที่พระองค์จะปรินิพพานจนกว่าจะได้กระจายข่าวไปให้บรรดาสาวกที่ใกล้ชิดกับพระองค์ได้รู้เสียก่อน ดังนั้น ด้วยน้ำพระทัยที่กล้าหาญและเด็ดเดี่ยว พระองค์จึงทรงอดกลั้นทุกขเวทนาทั้งหลายทั้งปวงได้ ต่อมาพระอาการประชวรก็ดีขึ้น และได้ทรงหายจากประชวรในที่สุด แต่พระพลานามัยของพระองค์ยังไม่ค่อยดีนักหลังจากทรงหายจากประชวรแล้ว ในวันหนึ่งพระองค์ได้ไปประทับนั่งที่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง นอกที่ประทับ พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ได้เข้าไปเฝ้าพระปิยบรมครู นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า

“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ถวายการดูแลพระพลานามัยของพระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ถวายการอุปัฏฐากแด่พระผู้มีพระภาคเมื่อประชวร แต่เมื่อข้าพระองค์ได้เห็นพระอาการประชวรของพระผู้มีพระภาค ขอบฟ้าปรากฏมืดมัวแก่ข้าพระองค์ อินทรีย์ทั้งหลายของข้าพระองค์ไม่กระจ่างชัดอีกต่อไป กระนั้นก็ตาม ข้าพระองค์ก็มีความเบาใจอยู่หน่อยหนึ่ง ข้าพระองค์คิดว่าพระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงปรินิพพานจนกว่าจะได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ ”

ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยพระกรุณาปรานีตรัสกับพระอานนท์พุทธอุปัฎฐาก ด้วยพระวาจาสุภาพอ่อนโยนว่า “ ดูกรอานนท์ ภิกษุยังจะหวังอะไรจากเราเล่า ? เราได้แสดงธรรม (สัจธรรม) ไว้แล้ว โดยไม่ทำความแตกต่างระหว่างสิ่งเปิดเผยกับสิ่งเร้นลับ ในส่วนที่เกี่ยวกับสัจธรรมนั้น ตถาคตไม่มีอะไรที่เหมือนกำมือของอาจารย์ (อาจริยมุฏ.ฐิ) ดูกรอานนท์ หากจะมีผู้ใดคิดว่า เขาจักบริหารภิกษุสงฆ์ได้ และคิดว่าภิกษุสงฆ์จักพึ่งเราได้ก็ขอให้ผู้นั้นกล่าวคำแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาแต่ตถาคตไม่ได้มีความคิดเช่นนั้น เพราะเหตุใดเขาจึงจะต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารภิกษุสงฆ์เล่า ? ดูกรอานนท์ บัดนี้เราแก่เฒ่าแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง 80 ปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้การได้ต่อไปด้วยการซ่อนแซมฉันใด กายของตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังจะเป็นไปได้ก็แต่เพียงด้วยการซ่อมแซมเท่านั้น ดูกรอานนท์ ดังนั้น พวกเธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยการทำตนเป็นเกาะ (สนับสนุน) ทำตนเป็นที่พึ่งอย่าทำผู้อื่นเป็นที่พึ่งเลย จงทำธรรมะเป็นเกาะ (สนับสนุน) ทำธรรมะเป็นที่พึ่ง อย่าได้ทำสิ่งใดเป็นที่พึ่งเลย ”

สิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการแสดงแก่พระอานนท์ เป็นที่ปรากฏแจ่มชัด คือ พระอานนท์มีความเศร้าโศกเสียใจ เพราะคิดว่าพระภิกษุสงฆ์จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีที่พักพิง ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีผู้นำ หลังจากพระบรมครูของพวกตน ทรงปรินิพพานเสียแล้ว ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงประทานคำปลอบใจ คำให้กำลังใจ และความมั่นใจแก่พระอานนท์ โดยตรัสว่าภิกษุสงฆ์พึงพึ่งตนเอง พึ่งพระธรรมที่ทรงแสดงไว้แล้ว และไม่พึ่งบุคคลใดหรือสิ่งอื่นใด ดังนั้น ปัญหาในเรื่องอาตมันหรือตัวตน ซึ่งเป็นเรื่องทางอภิปรัชญาจึงอยู่นอกประเด็นในที่นี้

นอกจากนั้น พระพุทธเจ้ายังได้ทรงอธิบายแก่พระอานนท์ถึงวิธีการที่จะทำให้คนเราสามารถมีตนเป็นเกาะหรือเป็นที่พึ่ง และวิธีการที่คนเราจะสามารถทำพระธรรมให้เป็นเกาะหรือที่พึ่งได้ ทั้งนี้โดยการเจริญสติปัฏฐาน 4 คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา ไม่มีการพูดถึงอาตมัน หรืออัตตาไว้ ณ ที่นี้เลย

อัตตาอยู่ที่ไหน

หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่บรรดาผู้พยายามค้นหาอาตมันในคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้นำมาใช้อ้างอยู่บ่อย ๆ ก็คือเรื่องต่อไปนี้
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ประทับนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งในระหว่างทางเสด็จจากเมืองพาราณสีไปยังอุรุเวลาเสนานิคม ในวันนั้นราชกุมารซึ่งเป็นพระสหายกัน 30 องค์ พร้อมด้วยพระชายา ได้พากันออกไปปิกนิก (รับประทานอาหารกลางแจ้ง) อยู่ในป่าแห่งเดียวกันแต่มีราชกุมารพระองค์หนึ่งยังทรงโสดอยู่ ได้ทรงนำโสเภณีนางหนึ่งไปด้วย ขณะที่คนอื่น ๆ กำลังสนุกสนานกันอยู่นั้น โสเภณีนางนั้นได้ขโมยของมีค่าต่าง ๆ หลบหนีไป พระราชกุมารเหล่านั้นจึงได้ออกติดตามโสเภณีนางนั้นไป และได้ไปพบพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ใต้ต้นไม้นั้น จึงทูลถามว่า พระองค์ทรงเห็นผู้หญิงคนหนึ่งหรือไม่ ? พระองค์จึงได้ทรงสอบถามเรื่องราวความเป็นไปเมื่อราชกุมารเหล่านั้นได้กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงถามราชกุมารเหล่านั้นว่า “ ดูกรมาณพทั้งหลาย เธอทั้งหลายมีความเห็นเป็นอย่างไร ? อะไรจะประเสริฐกว่ากัน ? ระหว่างผู้หญิงกับการแสวงหาตนเอง ”

ในข้อนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นการถามปัญหากันอย่างธรรมดา ๆ ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะนำมาอ้างได้ ว่าเป็นการพูดกันถึงแนวความคิดที่ก้าวไกลไปถึงเรื่องอาตมันหรืออัตตา อันเป็นเรื่องทางอภิปรัชญา ราชกุมารเหล่านั้นได้กราบทูลว่า “ การแสวงหาตนเองประเสริฐกว่า ” จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงเชื้อเชิญให้ราชกุมารเหล่านั้นประทับนั่ง แล้วทรงแสดงธรรมแก่ราชกุมารเหล่านั้น ในเนื้อเรื่องสิ่งที่พระองค์ทรงสอนราชกุมารเหล่านั้น ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ดั้งเดิมไม่มีคำใดที่กล่าวถึงอาตมันไว้เลย

ที่มีการเขียนถึงกันมาก คือเรื่องที่พระองค์ทรงนิ่งเมื่อปริพพาชกชื่อ วัจฉโคตร ได้ทูลถามพระองค์ว่า มีอาตมันหรือไม่ ? ดังมีเรื่องราวต่อไปนี้

วัจฉโคตรได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทูลถามว่า “ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อาตมันมีอยู่หรือ ?”

พระพุทธเจ้าทรงประทับนิ่งดุษณีภาพ

“ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อามันไม่มีหรือ ?”

พระพุทธเจ้าทรงประทับนิ่งดุษณีภาพดุจเดิม

วัจฉโคตรได้ลุกหลีกไป

หลังจากวัจฉโคตรปริพพาชกออกไปแล้ว พระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ทำไมพระองค์จึงไม่ทรงตอบคำถามของวัจฉโคตร ? พระพุทธเจ้าทรงอธิบายจุดยืนของพระองค์ว่า

“ ดูกรอานนท์ เมื่อวัจฉโคตรปริพพาชกถามว่า “ อัตตามีอยู่หรือ ?” ถ้าเราตอบว่า “ มีอัตตา ” ดูกรอานนท์ มันก็จะเป็นการเข้าข้างสมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายพวกที่ยึดถือทฤษฎีว่าเที่ยง (สัสสตวาทะ) ”

“ ดูกรอานนท์ เมื่อวัจฉโคตรปริพพาชกถามว่า “ อัตตาไม่มีหรือ ?” ถ้าเราตอบว่า “ ไม่มีอัตตา ” ดูกรอานนท์ มันก็จะเป็นการเข้าข้างสมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายพวกที่ยึดถือทฤษฎีว่าขาดสูญ (อุจเฉทวาทะ) ”

“ ดูกรอานนท์ ก็เมื่อวัจฉโคตรปริพพาชกถามว่า “ อัตตามีอยู่หรือ ?” ถ้าเราตอบว่า “ มีอัตตา ” มันก็จะเป็นการสอดคล้องกับสิ่งที่เรารู้มาว่า ธรรมทั้งหลายไม่มีอัตตาละหรือ ?”

“ ไม่มีสอดคล้องแน่ พระเจ้าข้า ”

“ ดูกรอานนท์ ก็เมื่อวัจฉโคตรปริพพาชกถามว่า “ อัตตามีอยู่หรือ ?” ถ้าเราตอบว่า “ อัตตาไม่มี ” มันก็จะทำให้วัจฉโคตรซึ่งงุนงงอยู่แล้วงุนงงมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเขาคิดว่า “ เมื่อก่อนเรามีอาตมัน (อัตตา) แต่เดี๋ยวนี้เราไม่มีอาตมันเสียแล้ว ”

วิธีตอบคำถามของพระพุทธเจ้า

บัดนี้ ก็คงจะเป็นที่เข้าใจกระจ่างในข้อที่ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงนิ่งเงียบ แต่เรื่องนี้จะเข้าใจชัดยิ่งขึ้น ถ้าเราจะลองไปพิจารณาถึงภูมิหลัง และวิธีการที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อคำถามและผู้ถามปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจของบรรดาผู้ที่นำปัญหานี้มาอภิปรายกัน
พระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะตอบปัญหาใด ๆ ที่ใคร ๆ ใส่ข้อมูลเข้าไปให้ตอบ โดยที่ไม่ได้ทรงไตร่ตรองพิจารณาใด ๆ เสียก่อน พระองค์ทรงเป็นศาสดานักปฏิบัติ ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระกรุณาธิคุณและพระปัญญาธิคุณ พระองค์ไม่ทรงตอบปัญหาในลักษณะเพื่ออวดภูมิความรู้ แต่พระองค์ทรงตอบปัญหาเพื่อช่วยให้ผู้ถามนั้น ๆ ดำเนินไปสู่ทางแห่งการรู้แจ้งเห็นจริง พระองค์ตรัสกับบุคคลทั้งหลาย โดยคำนึงถึงมาตรฐานการพัฒนา จริต อุปนิสัยลัษณะ และศักยภาพ ที่บุคคลเหล่านั้นจะเข้าใจแต่ละปัญหานั้น ๆ

ในการปฏิบัติต่อคำถามต่าง ๆ นั้น พระพุทธเจ้าทรงมีแนวทางอยู่ 4 แนวทางด้วยกัน คือ

บางปัญหาพระองค์จะตอบในทันทีที่ถาม
บางปัญหาพระองค์จะตอบหลังจากที่ได้ทรงวิเคราะห์ปัญหาเหล่านั้นแล้ว
บางปัญหาพระองค์จะใช้วิธีตอบด้วยการถามกลับไป
บางปัญหาจะทรงเลี่ยงไม่ตอบ
การหลีกเลี่ยงไม่ตอบปัญหานั้น กระทำได้หลายวิธีด้วยกัน วิธีการอย่างหนึ่ง คือ บอกว่าปัญหานั้น ๆ ตอบไม่ได้ หรืออธิบายไม่ได้ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกแก่วัจฉโคตรคนเดียวกันนี้มากกว่าหนึ่งครั้งเมื่อวัจฉโคตรถามปัญหาต่าง ๆ ว่า จักรวาลเที่ยงหรือไม่ ? ฯลฯ ในทำนองเดียวกัน พระองค์ก็ทรงเคยใช้วิธีนี้ตอบปัญหาของมาลุงกยบุตรและคนอื่น ๆ มาแล้ว แต่พระองค์ไม่สามารถตรัสเช่นเดียวกันนี้กับปัญหาที่ถามว่า มีอาตมัน (อัตตา) หรือไม่ ? เพราะว่าพระองค์ได้ทรงอภิปรายและทรงอธิบายในปัญหาข้อนี้อยู่เสมอมา พระองค์ไม่สามารถตรัสว่า “ มีอัตตา ” เพราะเป็นการขัดกับสิ่งที่พระองค์ทรงทราบมาว่า “ ธรรมทั้งหลายไม่มีอัตตา ” และพระองค์ทรงไม่ต้องการตรัสว่า “ ไม่มีอัตตา ” เพราะมันจะก่อให้เกิดความสับสนและเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น และไร้จุดหมายแก่วัจฉโคตรผู้เกิดความสับสนกับปัญหาในทำนองเดียวกันนี้ไปแล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้วัจฉโคตรยอมรับในความคิดว่ามีอัตตา เขาจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าใจแนวคิดเรื่อง “ อนัตตา ” นี้ได้ ดังนั้น การหลีกเลี่ยงโดยไม่ตอบปัญหาข้อนี้ด้วยการใช้วิธีนิ่งเงียบ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในกรณีเช่นว่านี้

ปัญหาที่นำไปสู่เป้าหมาย

เราจะต้องไม่ลืมด้วยว่า พระพุทธเจ้าทรงรู้จักวัจฉโคตรผู้นี้เป็นอย่างดีมานานแล้ว ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขามาเฝ้าพระองค์ พระองค์ผู้เป็นบรมครูผู้ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ ทรงมีพระเมตตาสงสารและเกรงใจผู้แสวงหาสัจธรรม ซึ่งมีจิตใจสับสนผู้นี้มาก ในคัมภีร์บาลีมีอยู่หลายแห่งที่กล่าวถึงวัจฉโคตรปริพพาชกคนเดียวกันนี้ว่าเป็นผู้เทียวไล้เทียวขื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และมาพบสาวกของพระองค์อยู่เป็นประจำ และได้ถามปัญหาชนิดเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อได้รับคำตอบแล้วก็เกิดความวิตกกังวลและหมกหมุ่นอยู่กับปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นการที่พระพุทธเจ้าทรงนิ่งเงียบเสียเช่นนี้ ดูเหมือนจะเป็นผลดีต่อวัจฉโคตรยิ่งไปกว่าการที่พระองค์จะทรงตอบหรืออภิปรายสิ่งใดออกไป

มีคนบางพวกคิดว่า “ ตัวตน ” หมายถึงสิ่งที่คนทั่ว ๆ ไปเรียกกันว่า “ จิต ” หรือ “ วิญญาณ ” แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นการดีที่คนเราจะถือว่าร่างกายเป็น “ ตัวตน ” ยิ่งไปกว่าที่จะไปถือว่า จิต ความคิดหรือวิญญาณ เป็น “ ตัวตน ” ทั้งนี้เพราะร่างกายรู้สึกว่าจะเป็น “ ของแข็ง ” มากกว่าจิต ความคิด หรือวิญญาณ เพราะจิต ความคิด หรือวิญญาณ (จิต.ต, มโน, วิญ.ญาณ) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องอยู่ทุกคืนทุกวันและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าร่างกาย

ความรู้สึกที่ยังคลุมเครือว่า “ เรามีเราเป็น ” นั่นเอง ที่สร้างแนวความคิดว่า “ มีอัตตา ” ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การเห็นสัจธรรมในข้อนี้ ก็คือ การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ง่าย ๆ เลย ในสังยุตตนิกาย มีการสนทนาธรรมในประเด็นนี้ระหว่างภิกษุชื่อ เขมกะ กับภิกษุหมู่หนึ่ง

ภิกษุเหล่านี้ได้ถามพระเขมกะว่า ท่านเห็นในเบญจขันธ์ว่ามีตัวตนหรือมีสิ่งที่มีตัวตนอยู่หรือไม่ ? พระเขมกะตอบว่า “ ไม่เห็น ” จากนั้น พวกภิกษุได้กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านพระเขมกะก็จะต้องเป็นพระอรหันต์หมดอาสวะไปแล้ว แต่พระเขมกะสารภาพว่า แม้ว่าท่านจะไม่พบตัวตนในเบญจขันธ์ หรือสิ่งใดที่มีตัวตน “ แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์หมดอาสวะ ดูกรสหายทั้งหลาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการยึดมั่นในเบญจขันธ์นี้ ข้าพเจ้ายังมีความรู้สึกว่า “ เรามีเราเป็น ” แต่ยังไม่สามารถเห็นอย่างกระจ่างว่า “ นี้คือตัวเรา ” จากนั้น พระเขมกะได้อธิบายว่า สิ่งที่ท่านเรียกว่า “ เรามีเราเป็น ” นั้น ไม่ใช่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากนั้น แต่ท่านมีความรู้สึกว่า “ เรามีเราเป็น ” ทั้ง ๆ ที่ยังไม่สามารถเห็นอย่างกระจ่างแจ้งว่า “ นี่คือตัวเรา ”

พระเขมกะกล่าวว่า มันเหมือนกับกลิ่นของดอกไม้ ซึ่งจะว่าเป็นกลิ่นจากกลีบก็ไม่ใช่ จะว่ากลิ่นจากสีก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นกลิ่นจากเกสรก็ไม่ใช่ แต่มันเป็นกลิ่นของดอกใม้

พระเขมกะอธิบายต่อไปว่า แม้แต่บุคคลที่ได้บรรลุคุณธรรมขั้นต้น ๆ ก็ยังมีความรู้สึกว่า “ เรามีเราเป็น ” นี้อยู่ แต่ต่อมาเมื่อบรรลุคุณธรรมสูง ๆ ขึ้นไป ความรู้สึกว่า “ เรามีเราเป็น ” นี้ก็จะหมดไปโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับกลิ่นทางเคมีของผ้าที่ซักเสร็จใหม่ ๆ หายไป หลังจากที่นำผ้านั้นไปเก็บไว้ในหีบแล้ว

การอภิปรายกันครั้งนี้มีประโยชน์และทำความกระจ่างแจ้งแก่ภิกษุเหล่านั้น จนในที่สุดพระคัมภีร์บอกว่า พระภิกษุเหล่านั้นทุกรูปรวมทั้งพระเขมกะ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์หมดอาสวะและสามารถกำจัด “ เรามีเราเป็น ” ได้ในที่สุด

จุดยืนที่ถูกต้อง

ตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นมิจฉาทิฐิ ถ้าไปยึดถือว่า “ เราไม่มีตัวตน ” (คือเป็น อุจเฉททิฏฐิ) เช่นเดียวกับไปยึดถือว่า “ เรามีตัวตน ” ก็เป็นมิจฉาทิฐิ (คือเป็นสัสสตทิฏฐิ) เพราะความเห็นทั้งสองอย่างนั้นเป็นสังโยชน์ เป็นความเห็นที่เกิดจากความคิดผิดว่า “ เรามีเราเป็น ” จุดยืนที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง “ อนัตตา ” นี้ คือไม่ยึดความเห็นหรือทิฏฐิใด ๆ ให้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงโดยไม่ให้จิตเข้าไปปรุงแต่งให้เห็นว่า สิ่งที่เราเรียกว่า “ เรา ” หรือ “ สัตว์บุคคล ” เป็นเพียงการประกอบกันของขันธ์ทั้งหลาย ทั้งส่วนที่เป็นรูปและส่วนที่เป็นนาม เป็นสิ่งที่ทำงานประสานเชื่อมโยงอิงอาศัยกันและกัน อยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ตามกฎแห่งเหตุและผล กับให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดเที่ยง ยั่งยืน คงที่และเป็นอมตะในสกลพิภพนี้
มีปัญหาต่อไปว่า เมื่อไม่มี “ อาตมัน ” หรือ “ อัตตา ” ใครเป็นผู้รับผลต่าง ๆ ของกรรม ? ไม่มีใครตอบปัญหาข้อนี้ได้ดีไปกว่าพระพุทธเจ้า เมื่อภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งทูลถามปัญหาข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราสอนเธอทั้งหลายให้มอบเห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัยในสรรพสิ่ง ในที่ทั้งปวง ”

คำสอนในเรื่อง “ อนัตตา ” “ ไม่มีวิญญาณ ” หรือ “ ไม่มีตัวตน ” นี้ ไม่พึงเห็นว่าเป็นคำสอนในเชิงลบ หรือเป็นอุจเฉททิฏฐิ อนัตตานี้เป็นเช่นเดียวกับนิพพาน คือเป็นสัจธรรม เป็นความจริงแท้ และความจริงแท้จะเป็นไปในเชิงลบไปไม่ได้ ความเชื่อผิด ๆ ใน “ อนัตตา ” ที่เกิดจากจินตนาการในสิ่งที่ไม่มีว่ามีนั้นต่างหาก ที่เป็นความเชื่อในเชิงลบ คำสอนในเรื่องอนัตตานี้ ย่อมขับไล่ความืดคือความเชื่อที่ผิด ๆ ทั้งหลายออกไปและก่อให้เกิดแสงสว่างคือ ปัญญา มันจึงไม่ใช่ความเชื่อในเชิงลบ ดังที่ท่าน อสังคะ กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ ข้อเท็จจริงในเรื่องอนัตตา มีอยู่ ” (ไนราต.มยาสติตา)


ติดต่

2 ความคิดเห็น: