เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

๑๖. ประวัติ พระอนุรุทธเถระ


๑๖. ประวัติ พระอนุรุทธเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระอนุรุทธะเถระ พระนามเดิม เจ้าชายอนุรุทธะ เป็นพระนามที่พระญาติทั้งหลายขนานให้
พระบิดา พระนามว่า อมิโตทนะ เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ
ประสูติที่พระราชวังนครกบิลพัสดุ์ เป็นวรรณะกษัตริย์

๒. ชีวิตก่อนบวช

เจ้าชายอนุรุทธะ มีพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกัน ๒ พระองค์ คือ ๑. พระเชษฐา พระนามว่า เจ้าชายมหานามะ ๒. พระกนิษฐภคินี พระนามว่า โรหิณี

เจ้าชายอนุรุทธะ เป็นผู้มีบุญญาธิการสูง เป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง และเป็นผู้มีปัญญามาก ไม่รู้จักแม้ แต่คำว่า ไม่มี

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการสงเคราะห์ พระญาติ ตามหน้าที่แล้วได้ให้พระราหุลกุมารบรรพชา ไม่นานนักทรงจาริกออกจากนครกบิลพัสดุ์ไปยังมัลลรัฐ แล้วประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน

ทางฝ่ายพระนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะได้ตรัสเรียกเจ้าศากยะทั้งหลายมาประชุมกัน ตรัสว่า บัดนี้บุตรของเราเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว มีกษัตริย์เป็นอันมากเป็นบริวาร ท่านทั้งหลายจงให้ เด็กชายจากตระกูลหนึ่ง ๆ บวชบ้าง ขัตติยกุมารชาวศากยะเป็นอันมากได้ออกบวชตามพระศาสดา

สมัยนั้น เจ้าชายมหานามะ เสด็จเข้าไปหาเจ้าชายอนุรุทธะ ตรัสว่า พ่ออนุรุทธะ บัดนี้ ศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงพากันบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ตระกูลของเรายังไม่มีใครบวชเลย เธอหรือพี่จะต้องบวช ในที่สุดเจ้าชายอนุรุทธะตัดสินพระทัยบวชเอง จึงพร้อมด้วยกษัตริย์อีก ๕ พระองค์คือ ภัททิยะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต พร้อมกับอุบาลีภูษามาลา ได้ไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน ทูลขอบรรพชาอุปสมบท โดยให้อุบาลีบวชก่อน เพื่อกำจัดขัตติยมานะ

๔. การบรรลุธรรม

พระอนุรุทธเถระนี้ ครั้นบวชแล้วได้เรียนกรรมฐานในสำนักพระธรรมเสนาบดี แล้วได้ไปประจำอยู่ที่ปาจีนวังสทายวัน ในเจติยรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม ตรึกมหาปุริสวิตกได้ ๗ ข้อ คือ

๑. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความมักมาก
๒. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
๓. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะ
๔. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารถนาความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
๕. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของคนหลง
๖. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง
๗. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้ทรามปัญญา

พระศาสดาทรงทราบว่า ท่านลำบากในมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ จึงเสด็จไปยังที่นั้น ตรัสอริยวังสปฏิปทา ว่าด้วยการอบรมความสันโดษในปัจจัย ๔ และยินดีในการเจริญกุศลธรรม แล้วตรัสมหาปุริสวิตก ข้อที่ ๘ ให้ บริบูรณ์ว่า

๘. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า

พอเมื่อพระศาสดาเสด็จไปยังเภสกลาวัน ท่านพระอนุรุทธเถระ ก็ได้เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์ มีวิชา ๓

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระอนุรุทธเถระ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา เพราะท่านชำนาญในทิพพจักษุญาณ จึงเป็นพระที่เทวดาและมนุษย์เคารพนับถือ ท่านมีอายุอยู่มานาน หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ได้เป็นอาจารย์ของหมู่คณะ มีสัทธิวิหาริก และอันเตวาสิกมาก แม้ในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๒ ก็ยังมีศิษย์ที่สืบเชื้อสายจากท่านเข้าร่วมด้วยที่ปรากฎชื่อ คือ พระอาสภคามีและพระสุมนะ

ชีวประวัติของท่านก็น่าศรัทธาเลื่อมใส จากผู้ที่เป็นสุขุมาลชาติที่สุด ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินคำว่า ไม่มี ต้องการอะไรได้ทั้งนั้น แต่เมื่อเข้าบวชในพระพุทธศาสนาแล้วกลับเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เก็บผ้าจากกองขยะมาทำไตรจีวรนุ่งห่ม โดยไม่มีความรังเกียจ กลับมีความยินดีว่านั่นเป็นการ ปฏิบัติตามนิสัย คือที่พึ่งพาอาศัยของภิกษุ ๔ ประการ

๖. เอตทัคคะ

ดังได้กล่าวแล้วว่า พระอนุรุทธเถระได้บรรลุพระอรหัตพร้อมวิชา ๓ คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพพจักขุญาณ และอาสวักขยญาณ ตามปกตินอกจากเวลาฉันภัตตาหารเท่านั้น นอกนั้นท่านจะพิจารณา ตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพพจักขุญาณ (เปรียบกับคนธรรมดาก็เหมือนกับ ผู้มีใจเอื้ออาทรคอยเอาใจใส่ดูแล ทุกข์สุขของผู้อื่นตลอดเวลา) เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ได้ทิพพจักขุญาณ

๗. บุญญาธิการ

พระอนุรุทธเถระนี้ ได้สร้างสมบุญกุศลที่จะอำนวยผลให้เกิดทิพยจักษุญาณในพุทธกาลเป็นอันมาก คือได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬารที่พระสถูปเจดีย์ ด้วยผลบุญอันนี้จึงทำให้ได้ บรรลุทิพยจักษุญาณ สมกับปณิธานที่ตั้งไว้

๘. ธรรมวาทะ

ครั้งหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธเถระพร้อมกับพระนันทิยะและพระกิมพิละไปจำพรรษา ณ ป่าโคสิงคสาลวัน พระศาสดาเสด็จไปเยี่ยม ตรัสถามถึงความเป็นอยู่ ท่านกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๓ อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก ต่างก็อยู่ด้วยกันอย่างตั้งเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจต่อกัน พยายามไม่ทำอะไรตามใจตน แต่รู้จักทำตามใจผู้อื่น ข้าพระองค์ทั้ง ๓ แม้จะมีกายต่างกัน แต่มีจิตใจเสมือนเป็นอันเดียวกัน

๙. นิพพาน

พระอนุรุทธเถระ ครั้นได้เป็นพระขีณาสพ สิ้นชาติสิ้นภพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จหน้าที่ส่วน ตัวของท่านแล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา จนถึงพระศาสดาปรินิพพาน ก็ได้ร่วมอยู่ใน เหตุการณ์นั้นด้วย เป็นผู้ที่รู้ว่าพระศาสดานิพพานเมื่อไร อย่างไร สุดท้ายท่านเองก็ได้ละสังขารนิพพาน ไปตามสัจธรรม


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น