เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

ท่าทีชาวพุทธในสถานการณ์ขัดแย้ง



บทความ > ท่าทีชาวพุทธในสถานการณ์ขัดแย้ง


ท่าทีชาวพุทธในสถานการณ์ขัดแย้ง

สัมภาษณ์โดยสถานีวิทยุ ๙๑๙
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา
เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๓

พิธีกร กราบนมัสการพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วันนี้มีคำถามอยากจะกราบเรียนถามพระอาจารย์ ซึ่งสถานการณ์การเมืองขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ค่อนข้างที่จะสร้างความวิตกกังวลใจให้คนในสังคมเป็นส่วนมาก อยากจะเรียนถามพระอาจารย์ว่า ท่าทีของชาวพุทธต่อสถานการณ์ทางการเมืองดังกล่าว ควรจะทำใจอย่างไรดีในการวางตัว วางใจ หรือว่าการแสดงออกในส่วนของชาวพุทธทั่วๆ ไป

พระไพศาล ควรมองว่าเหตุการณ์แบบนี้เป็นธรรมดาโลก เป็นธรรมดาโลกที่คนจะมีความเห็นขัดแย้งกัน รวมถึงการมีผลประโยชน์ขัดกันด้วย เราจึงไม่ควรรู้สึกตื่นตระหนกตกใจหรือตึงเครียดกับเหตุการณ์เหล่านี้ นอกจากนั้นอาตมาคิดว่าเราควรมีท่าทีต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมองว่าเขาเป็นพี่น้องของเรา เป็นเพื่อนร่วมโลก ที่รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา อาตมาคิดว่านี่เป็นท่าทีของชาวพุทธต่อบุคคลทั่วไป ผู้ชุมนุมหรือใครก็ตามอาจจะมีความเห็นต่างจากเรา เราก็ควรมีใจกว้าง พร้อมที่จะยอมรับความแตกต่างทางความคิด ความคิดบางอย่างอาจจะไม่ถูกใจเรา เราก็อย่าเพิ่งไปตีขลุมว่า เขาคิดผิด ขณะเดียวกันก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าความคิดของเราถูกร้อยเปอร์เซนต์ ถ้ายึดมั่นอย่างนั้นก็จะทำให้เราไม่ยอมรับความคิดของคนอื่นเลย

อีกส่วนหนึ่งที่อาตมาคิดว่าจำเป็นต้องมีคือ การมีสติ อย่าให้ความโกรธ ความเกลียดครองใจ ความโกรธความเกลียดเกิดขึ้นในใจได้ เราห้ามได้ยาก แต่เราควรดูแลรักษาไม่ให้มันครองจิตครองใจเราได้ เพราะถ้าใจเรามีความโกรธความเกลียดแล้วเราจะไม่รับฟังคนอื่น ใจเราจะปิดทันที แล้วเราก็จะทุกข์เพราะความโกรธความเกลียดนั้น

ตอนนี้เหตุการณ์บ้านเมืองเป็นความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ เราก็ต้องรับรู้เหตุการณ์เหล่านั้นอย่างรู้เท่าทัน จะปิดหูปิดตาก็คงไม่ถูกเพราะว่ามันมีผลกระทบกับตัวเรา ถ้าเราปิดหูปิดตาไม่รับรู้ ไม่เข้าใจความจริง ความไม่เข้าใจนั้นก็จะทำให้เรามองสถานการณ์คลาดเคลื่อน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาหรือความทุกข์แก่เราเองได้ เช่นเกิดความโกรธ เกิดความเกลียด เห็นคนอื่นเป็นศัตรู หรือเรียกร้องสนับสนุนให้ใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้ความรุนแรง

เมื่อเรารับรู้เหตุการณ์แล้ว ไม่ปิดหูปิดตาตัวเองแล้ว เราก็ควรรู้จักปล่อยวางด้วย ตื่นเช้าขึ้นมาอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ เปิดวิทยุ ดูโทรทัศน์ เรารับรู้ข่าวสารก็จริง แต่เมื่อถึงเวลากินข้าว ใจก็ควรอยู่กับการกินข้าว ไม่ควรกังวลกับเหตุการณ์บ้านเมือง ถึงเวลาไปทำงานใจก็อยู่กับการทำงาน ทำหน้าที่หรือทำกิจวัตรต่างๆ อย่างมีสติ ถ้าเราแบกเอาความเครียดความหงุดหงิดเอาไว้ในจิตใจไม่ยอมปล่อยวาง กินข้าวก็ไม่อร่อย ทำงานก็ไม่มีความสุข งานก็มีปัญหา กลับบ้านแทนที่จะให้เวลากับลูกก็ไปกังวลเรื่องการเมืองเลยไม่มีเวลาดูแลเขา มันก็เสียไปหมด อาตมาคิดว่าเราควรวางใจและวางตัวให้ถูกต้องจะได้ไม่เป็นทุกข์หรือร้อนรุ่มไปตามสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้เรากลายเป็นตัวก่อปัญหาเสียเอง เพราะถ้าเราเครียดหงุดหงิด เราก็อาจระบายความเครียดใส่ลูก ใส่ครอบครัว ใส่เพื่อน เมื่อใจเราทุกข์ คนที่อยู่รอบตัวเราก็ทุกข์ไปด้วย ยิ่งกว่านั้นเราอาจทำให้สถานการณ์บ้านเมืองเลวร้ายลง เช่นไปตะโกนด่าว่าผู้ชุมนุม เกิดการกระทบกระทั่งกัน ก็เดือดร้อนกันไปหมด อย่างน้อยก็ควรวางใจให้ถูกต้องถึงแม้เราจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้เลยก็ตาม

พิธีกร ก่อนหน้าที่พระอาจารย์จะมาบวช อาจารย์ก็เคยเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองมา แต่หลังจากบวชแล้วอยากทราบว่าพุทธศาสนาหรือว่าการได้เข้ามาบวช มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนมุมมองหรือทัศนะเรื่องการเมือง สังคมต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง

พระไพศาล ที่จริงอาตมาไม่ได้เป็นนักต่อสู้ทางการเมือง เป็นแค่นักกิจกรรมมากกว่า เช่นทำค่ายอาสาพัฒนา ไปช่วยเด็กกำพร้า พาคนไปสัมผัสสลัมตั้งแต่เป็นนักเรียน ที่จริงตอนนั้นก็มีความสนใจทางการเมืองแล้ว และได้รับอิทธิพลความคิดจากสังคมนิยมมาทั้งก่อนและหลัง ๑๔ ตุลา แต่อาตมาก็หันมาสนใจพุทธศาสนาตั้งแต่ก่อนบวชแล้ว การมาสนใจพุทธศาสนาก็ทำให้เห็นคุณค่าของอหิงสธรรม เห็นคุณค่าของสันติวิธี การเป็นชาวพุทธทำให้อาตมาไม่เชื่อเรื่องความรุนแรง และเชื่อว่าสันติสุขจะได้มาก็ด้วยสันติวิธี

อาตมาสมาทานอหิงสธรรมมาตั้งแต่เป็นนักเรียนแล้ว ทำให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนควบคู่ไปกับการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคม คือคนที่เป็นนักเคลื่อนไหวหรือนักกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง สังคม เศรษฐกิจก็ตาม ล้วนมีความใฝ่ฝันอยากให้สังคมดีขึ้น แต่พุทธศาสนาทำให้เราเห็นความสำคัญของการฝึกฝนพัฒนาตนด้วย ว่าถ้าเราไม่รู้จักฝึกฝนพัฒนาตน ไม่รู้จักลดละความเห็นแก่ตัว ไม่รู้จักลดละกิเลสหรืออัตตา สิ่งที่เราทำไปก็อาจกลายเป็นการก่อปัญหาแก่สังคม อีกทั้งยังทำให้เราทำงานอย่างมีความทุกข์ เรียกว่าเบียดเบียนตนด้วย

คนเราไม่ควรเบียดเบียนตนและเบียดเบียนผู้อื่น พุทธศาสนาทำให้เราเห็นความสำคัญของการไม่เบียดเบียนตนเบียดเบียนผู้อื่น ควรบำเพ็ญประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน บำเพ็ญประโยชน์ตนด้วยการทำสมาธิภาวนา มีสติมีปัญญา รู้จักปล่อยวาง ลดละความเห็นแก่ตัว ไม่ให้ความโกรธความเกลียดความกลัว รวมทั้งกิน กาม เกียรติ ครอบงำใจ ถ้าเราปล่อยให้กลัว เกลียด โกรธ กับ กิน กาม เกียรติ หรือ ๖ ก. มาครอบงำใจเรา เราก็จะเบียดเบียนคนอื่นได้ การทำเพื่อส่วนรวมก็จะกลายเป็นการทำเพื่อสนองกิเลสเราเองหรือทำให้สังคมแย่ลง อาตมาคิดว่าพุทธศาสนาได้ให้มุมมองและเปลี่ยนชีวิตตัวเองในแง่นี้

พิธีกร มีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นที่น่าสงสัยของสังคมเหมือนกัน เพราะว่าปัจจุบันนี้ มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็แล้วแต่ มักมีการนำเอาพุทธศาสนาเข้ามาโยงโดยเฉพาะเรื่องของการนำทางจิตวิญญาณก็มี แม้แต่เรื่องตัวบุคคลเอง พิธีกรรมเองมาเกี่ยวข้องหรือแม้แต่ยกเอาบางส่วนของพุทธศาสนามา เช่นเรื่องของกรรมว่าอีกฝ่ายทำกรรมไม่ดี เป็นฝ่ายเป็นอธรรม อีกฝ่ายทำกรรมดี เป็นฝ่ายธรรมะ เขาเอามาใช้ทั้งสองฝ่ายเลย พระอาจารย์มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรหรือว่ามีจุดที่เป็นกลางอย่างไรครับ

พระไพศาล เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะ มีมาตั้งแต่สุโขทัย อยุธยาแล้ว เวลาคนไทยจะไปทำศึกสงครามกับพม่า หรือกับต่างเมืองก็อาศัยพิธีกรรมต่าง ๆ เช่นพรมน้ำมนต์ คล้องสายสิญจน์ รวมทั้งแจกวัตถุมงคล เพื่อเป็นกำลังใจและเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย คนเราเชื่อเรื่องอะไรก็ตาม เช่นถ้าเชื่อพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ เราก็ปรารถนาให้อานุภาพเหล่านั้นปกป้องคุ้มครองเรา สมัยก่อนคนไทยไม่นิยมห้อยพระ จึงมีแต่ตะกรุดหรือยันต์ แต่สมัยนี้เรานิยมห้อยพระก็เพราะเหตุนี้ เวลาเราจะทำอะไรที่เสี่ยงอันตรายก็อดไม่ได้ที่จะนึกสิ่งที่ตัวเองนับถือคือพระรัตนตรัย อันนี้อาตมาเห็นว่ามีมานานแล้ว แต่ก็อย่าไปคิดว่าการทำเช่นนั้นจะเป็นหลักประกันให้เราอยู่ดีมีสุขหรือปลอดภัยได้ ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นไม่สำคัญเท่ากับธรรมะ ธรรมะก็คือศีล สมาธิ ปัญญา คือความถูกต้องนั่นเอง ถ้าเรายืนอยู่บนความถูกต้องคือ มีศีล มีธรรม ความถูกต้องจะปกปักรักษาเรา ธรรมหรือความถูกต้องมีอานุภาพมากกว่าพิธีกรรมหรือวัตถุมงคล

แต่คนไทยหรือที่ไหนก็ตามมักเข้าใจพุทธศาสนาแต่เพียงเปลือกคือเรื่องพิธีกรรมหรือวัตถุมงคล จึงอดไม่ได้ที่จะเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ เพื่อเป็นประโยชน์ให้ตัวเอง เช่นทำให้เกิดกำลังใจ ทำให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิม เพราะคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะปกป้องได้ การทำเช่นนี้นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แก่ตัวเองเท่าที่ควรแล้ว ยังทำให้เข้าใจพุทธศาสนาผิดพลาดคลาดเคลื่อน คือไปคิดว่าพุทธศาสนาส่งเสริมการโค่นล้มทำร้ายกัน ที่จริงพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ส่งเสริมการทำดีไม่เบียดเบียนใคร ไม่ส่งเสริมให้เกิดความโกรธความเกลียดหรือการทำลายล้างกัน เราจึงควรนำพุทธศาสนามาเตือนใจให้หมั่นทำความดี เมื่อเราทำความดีแล้วก็จะเกิดความสุขไปเอง ความดีนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยศีล คือไม่เบียดเบียนใคร อย่างน้อยศีล ๕ ต้องทำให้ได้ คือไม่ทำร้ายใคร ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ปล่อยข่าวลือ ไม่ใส่ร้ายใคร สุรายาเมาก็ต้องเลี่ยง ถ้ารักษาศีลได้อย่างนี้ ศีลนั้นก็จะปกปักรักษาเราให้ปลอดภัยได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ชาวพุทธเราควรเข้าใจ

พิธีกร อีกส่วนหนึ่งที่เป็นที่มองกันอยู่ว่าเรื่องของนักบวชเองหรือเรื่องของพระสงฆ์เอง ในเรี่องสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้เข้าไปมีบทบาทพอสมควร อยากทราบว่าในทางปฏิบัติแล้วขอบเขตควรอยู่แค่ไหน มีพระธรรม พระวินัยกำหนดไว้ขนาดไหน

พระไพศาล จุดยืนของพระสงฆ์ควรเป็นไปเพื่อส่งเสริมธรรม เพื่อความถูกต้อง เพื่อสันติภาพ ไม่ควรเป็นไปเพื่อสร้างความโกรธความเกลียดหรือการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถ้าพระจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมก็ทำได้ ถ้าไปเพื่อเตือนสติเขาไม่ให้วู่วามหุนหันพลันแล่น ไม่ให้โกรธ ไม่ให้เกลียด ให้ตั้งมั่นอยู่ในสันติวิธี ก็น่าจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไปเพื่อเชียร์หรือเพื่อเป็นฝักฝ่ายกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ไม่เหมาะสม เพราะว่าพระต้องเป็นกลางในความหมายว่าต้องอิงธรรมะเป็นหลัก ถ้าเราเป็นกลาง มั่นคงในธรรมะ เราก็สามารถชี้ผิดชี้ถูกได้ เราก็จะตักเตือนเขาได้ ถ้าพระเป็นฝักเป็นฝ่าย พระก็เสียความเป็นกลาง จะไปตักเตือนใครก็ทำได้ยาก และถ้าไปช่วยกระพือความโกรธความเกลียดให้แก่กันและกันก็ยิ่งไม่ถูก เพราะว่าสมณะแปลว่าความสงบ พระมีหน้าที่ส่งเสริมความสงบให้เกิดขึ้นในจิตใจและในสังคม อาตมาคิดว่าตอนนี้พระหลายรูปจับหลักไม่ชัด ไปเอาความรู้สึกส่วนตัวเป็นหลักมากกว่าจะอิงธรรมะ คืออิงความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง อันนี้ไม่เป็นธรรมาธิปไตยแล้ว กลายเป็นอัตตาธิปไตย

พิธีกร ในส่วนของธรรมะก็เช่นเดียวกันนะครับ อย่างที่กราบเรียนถามไปตอนต้นแล้วมีการเอาบางส่วนมาแล้วมีการมองฝ่ายตรงข้ามเป็นอธรรมตัวเองเป็นธรรมะ ให้ข้อความนี้จะทำอย่างไรดีที่จะมองให้เป็นกลางและอีกส่วนหนึ่งคือพิธีกรรมบางอย่างซึ่ง อาจจะเคยเห็นที่ผ่านมามีการนำเอาบทสวดพระพุทธมนต์ เช่น บทสวดพระพุทธเจ้าชนะมารหรือพาหุงมาใช้สวดก่อนดำเนินการทางการเมือง อันนี้พูดถึงทั้งหลายฝ่ายด้วยกันนะครับ พระอาจารย์มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร

พระไพศาล เป็นธรรมดาคนเราเมื่อทำอะไรก็มักคิดตัวทำถูก แต่บางทีถูกใจมากกว่าถูกต้อง อันนี้เราก็ต้องจับหลักให้มั่น คือถึงแม้ว่าเราจะมีความมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง เป็นธรรมะ แต่ก็ต้องตรวจสอบอยู่เสมอ ตรวจสอบที่ไหน ก็ตรวจสอบที่ใจเรา ถ้าใจเรามีความโกรธความเกลียด โดยเฉพาะมองคนที่คิดไม่เหมือนเราว่าเป็นคนละฝ่ายหรือถึงกับเป็นศัตรู อันนี้แสดงว่าไม่ใช่ธรรมะแล้ว อย่างน้อยก็ไม่ใช่พุทธธรรม เพราะว่าพุทธศาสนาสอนให้มีขันติธรรม ต้องมีความใจกว้างและต้องมีสิ่งที่เรียกว่า สัจจานุรักษ์ก็คือ การอนุรักษ์หรือการคุ้มครองสัจจะหมายความว่า เราไม่ผูกขาดความเป็นจริงว่าเราเท่านั้นที่เป็นฝ่ายถูก คนที่คิดไม่เหมือนเรา เห็นไม่เหมือนเราก็อาจจะถูกก็ได้ อันนี้เป็นความหมายของสัจจานุรักษ์คือความใจกว้างนั่นเอง

ธรรมะหมายถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความเป็นปกติในจิตใจ ถ้าจิตใจเราไม่เป็นปกติ คือเราเห็นคนอื่นที่คิดต่างจากเราเป็นคนละพวก มองเขาเป็นศัตรูเป็นปรปักษ์ และรู้สึกโกรธเกลียดหรือพยาบาทเขา สิ่งนี้จะทำให้จิตใจเราไม่ปกติ และเมื่อไม่ปกติก็จะคลาดเคลื่อนจากธรรมะ แม้เราจะอ้างว่าเราทำเพื่อพระศาสนา แต่ถ้าเราใช้ความรุนแรงทำกับอีกฝ่ายหนึ่ง ใช้วิธีการที่เป็นอธรรม แม้จะทำไปเพื่อปกป้องธรรมะ แต่สิ่งที่เราทำมันก็จะกลายเป็นอธรรมได้ อธรรมหมายถึงการที่จิตเราคลาดเคลื่อนจากปกติและนำไปสู่การพูดการกระทำที่ไร้ศีล อาตมาคิดว่าตัวชี้วัดตัวหนึ่งว่าเราคลาดเคลื่อนจากธรรมะคือความโกรธความเกลียดต่อคนที่เขาคิดไม่เหมือนเรา หรือมองเขาเป็นศัตรู เป็นคนละพวกกับเรา ถ้าคิดแบบนี้ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังเคลื่อนออกจากธรรมะแล้ว ต้องมีสติพาจิตกลับมาสู่ความปกติ

คนที่คิดไม่เหมือนกับเราก็ไม่จำต้องเป็นศัตรูหรือเป็นคนชั่วก็ได้ เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นคนอื่นเป็นคนชั่ว ที่จะต้องจัดการด้วยวิธีการใดก็ได้ ขอให้ระวังว่าเราอาจจะกลายเป็นคนชั่วเสียเอง เพราะว่าเส้นแบ่งระหว่างความดีกับความชั่วมันไม่ได้อยู่นอกใจเรา มันอยู่ในใจเรา ถ้าเราเผลอเมื่อไร สิ่งที่เราทำในนามของความดีอาจจะผลักให้เราไปทำชั่วก็ได้ เช่นเราเห็นเขาไม่ดีก็เลยจัดการด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใส่ร้ายเขา หรือฆ่าเขา อันนี้ไม่ถูก ก็เหมือนกับตำรวจที่วิสามัญฆาตกรรมผู้ร้าย ทั้งที่เขายอมให้จับกุมแล้ว ตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมาย แต่ถ้าไปฆ่าโจรที่ยอมแพ้แล้ว แม้จะอ้างว่าเพื่อรักษากฎหมาย แต่การทำเช่นนั้นก็ทำให้ตำรวจผู้นั้นไม่ต่างจากผู้ร้าย เพราะกลายเป็นผู้ละเมิดกฎหมายเสียเอง

ถึงแม้ว่าเราจะทำในนามของความดี ความถูกต้อง แต่ถ้าวิธีการไม่ดี ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมหรือไม่ตรงตามหลักกฎหมาย ก็จะเป็นดีไปไม่ได้ ตรงนี้เราต้องระวัง อย่าไปถลำตกอยู่ในความโกรธความเกลียดจนเห็นคนอื่นเป็นศัตรูและคิดว่าจะทำอย่างไรกับเขาก็ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น


ส่วนเรื่องการสวดมนต์หรือสวดพาหุงในที่ชุมนุม เราต้องเข้าใจความหมายก่อน คาถาพาหุงหมายถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า ๘ ประการ ซึ่งล้วนแต่เป็นชัยชนะโดยสันติวิธี โดยธรรมะ เช่นโดยเมตตากรุณา โดยขันติธรรม โดยปัญญา เป็นชัยชนะที่มีต่อสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ยักษ์ อสูร รวมทั้งพรหมด้วย เป็นคาถาที่สอนว่าเราสามารถเอาชนะทุกสิ่งได้ด้วยธรรมะ ถ้าเราใช้คาถาพาหุงไปส่งเสริมการกระทำที่เป็นอธรรม ที่เป็นความรุนแรง เป็นการเบียดเบียนทำร้ายกัน มันก็ไม่ถูกต้อง และจะไม่เป็นประโยชน์ด้วย เราควรสวดคาถาพาหุงเพื่อเอาชนะความทุกข์ในจิตใจของเรา เพื่อให้เรามั่นคงในธรรม ไม่ตกอยู่ในความโกรธเกลียด

เรื่องพิธีกรรมต่างๆ เช่น สาปแช่ง เผาพริกเผาเกลือ ก็เช่นกัน ต้องเข้าใจว่าพิธีกรรมเหล่านี้ไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาไม่มีความประสงค์ร้ายต่อใคร ไม่เบียดเบียนใคร แม้กับผู้ที่ทำร้ายพระพุทธเจ้า อย่างในคาถาพาหุง พระองค์ก็ไม่เคยทำร้ายใคร มีแต่จะชนะใจเขาด้วยด้วยธรรมะ เช่นช้างนาฬาคีรีจะพุ่งทำร้ายพระองค์ พระองค์ก็ไม่ทำร้ายตอบ แต่ทรงใช้ความเมตตากรุณาสยบช้างนาฬาคีรีได้ พิธีกรรมในพุทธศาสนาไม่มีการสาปแช่ง มีแต่การให้ศีลให้พรให้เจริญ หรือว่าให้ความเมตตากรุณาและให้อภัยกัน ต้องเข้าใจว่าพิธีกรรมสาปแช่งไม่ใช่เป็นของพุทธอาจจะเป็นของผีหรือของพราหมณ์ก็แล้วแต่ ชาวพุทธควรละเว้นสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าทันทีที่เราสาปแช่งเขา บาปกรรมก็ตกอยู่กับเราแล้วเพราะเป็นมโนกรรมและวจีกรรมที่เป็นอกุศล ความพยาบาทก็ดี การพูดจาสาปแช่งก็ดีเป็นบาปกรรมที่จะทำร้ายเราเอง ไม่ใช่ทำร้ายใครเลย พวกเราชาวพุทธจึงควรหลีกเลี่ยงการกระทำเหล่านี้

พิธีกร ในสมัยพุทธกาลมีเรื่องราวลักษณะที่คล้ายแบบนี้ไหม ความขัดแย้งทางการเมือง เรื่องความแตกแยก ที่น่าจะเป็นสิ่งที่นำมาสอนใจกันได้

พระไพศาล ก็มีอยู่หลายกรณี ที่เด่นชัดก็คือ กรณีที่พระญาติของพระพุทธองค์ ทั้งฝ่ายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ทะเลาะกันจนเกือบจะทำสงครามกัน เพราะมีข้อขัดแย้งเรื่องน้ำ คือแม่น้ำโรหิณีเป็นแม่น้ำที่อยู่กึ่งกลางระหว่างแคว้นของฝ่ายโกลิยวงศ์และศากยวงศ์ ปีนั้นน้ำแห้งขอดก็เลยมีการแย่งชิงน้ำกันระหว่างชาวนาชาวไร่ของสองแคว้น แย่งไปแย่งมาก็เลยทะเลาะกัน แล้วบานปลายกลายเป็นการด่าโคตรเหง้าของกันและกัน ทีนี้ข่าวลือก็แพร่กระจายเป็นทอด ๆ จนถึงหูผู้ปกครองของทั้งสองแคว้นก็เลยเกิดความโกรธ ผู้ปกครองของสองฝ่ายไม่รู้ว่าทะเลาะเพราะเรื่องอะไร รู้แต่ว่าเขาด่าโคตรเหง้าของตัวก็เลยโกรธ กรีฑาทัพหมายจะไปทำสงครามกัน พระพุทธองค์เมื่อทราบข่าวก็เลยไปห้ามทัพ เมื่อกองทัพของสองแคว้นประจันหน้ากันที่แม่น้ำโรหิณี พระพุทธองค์ก็ถามว่า ทะเลาะกันเรื่องอะไร ปรากฏว่าพระราชาและเสนาบดีของสองฝ่ายตอบไม่ได้ว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร ต้องสอบถามไล่เลียงกันเป็นทอดๆ ไปจนถึงชาวนาของทั้งสองฝ่าย จึงรู้ว่าทะเลาะกันเรื่องน้ำ เพิ่งรู้นะ จะฆ่ากันแล้ว ยังไม่รู้ว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร รู้แต่ว่าเขาด่าว่าโคตรเหง้าของเรา

ทีนี้พระองค์จึงถามว่าระหว่างน้ำกับเลือดพระญาติ อะไรมีค่ามากกว่ากัน ทุกคนก็ตอบว่าน้ำมีค่าน้อย เลือดพระญาติมีค่ามากกว่า พระองค์จึงตรัสเตือนสติว่า แล้วจะมาฆ่ากันเพราะเรื่องน้ำทำไม อันนี้เป็นตัวอย่างพุทธจริยาที่ทรงไกล่เกลี่ยความขัดแย้งด้วยการเตือนสติไม่ให้ทั้งสองฝ่ายลุแก่โทสะ เวลาความขัดแย้งกันบางทีเราก็ทะเลาะกันโดยไม่รู้สาเหตุ หรือไม่รู้ที่มาที่ไปด้วยซ้ำ แต่ก็ทะเลาะกันเพียงเพราะคำพูดบางคำ เสร็จแล้วก็หน้ามืดถึงกับฆ่ากัน แต่ถ้าหากมีการเตือนสติให้เห็นโทษของการทำร้ายกัน เห็นโทษของการฆ่าฟันกันว่ามันได้ไม่คุ้มเสีย ก็จะช่วยลดความสูญเสียได้มาก นี่เป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่จะต้องเตือนสติทุกฝ่ายว่าอย่าไปทำร้ายกันเพียงเพราะความโกรธเกลียดหรือเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ทางวัตถุ อันนี้เป็นแบบอย่างเตือนใจชาวพุทธได้ดีเลยว่าจะต้องมีสติ ถ้าเรามีสติแล้วเราก็ไม่ถลำเข้าสู่การเบียดเบียนกัน

พิธีกร แต่อาจจะมีคนบอกว่า ครั้งนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติทั้งสองฝ่ายก็เลยทำให้ อาจจะต้องออกมาต่อสู้กันพระอาจารย์มีความเห็นอย่างไร

พระไพศาล คือต่อสู้กันได้ ถ้าไม่ใช้ความรุนแรง ต่อสู้โดยใช้กติกาประชาธิปไตยและสู้โดยสันติวิธี สันติวิธีไม่ได้หมายถึงการอยู่เฉยๆ หรือการเจรจาอย่างเดียว จะมีกดดันกันบ้างก็ได้ การชุมนุมบนท้องถนนก็เป็นส่วนหนึ่งของสันติวิธี ส่วนรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถใช้สันติวิธีเพื่อรักษาความสงบได้ จะโต้เถียงกันไป กดดันกันไปก็ได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง และอย่าผิดศีล อย่าปล่อยข่าวลือ อย่าเผยแพร่ความเท็จ เราควรสู้กันด้วยสัจจะ จะทำให้สังคมเป็นอารยะขึ้นมา อาตมาคิดว่าเราต้องมีจุดยืนตรงนี้ คือเถียงกันได้โต้แย้งกันได้ แต่ต้องไม่มีการใช้ความรุนแรงให้เกิดความเสียหาย เรียกว่าเถียงกันแบบอารยชน อารยชนในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นอริยบุคคลเพราะอริยบุคคลย่อมไม่ทะเลาะกันแล้ว แต่อารยชนหมายถึงผู้มีความเจริญ ใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช้กำลังเป็นคำตอบ

พิธีกร ในแง่อุดมการณ์ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ในแง่ความเป็นจริง หลายฝ่ายมองกันว่าฝ่ายตรงข้ามก็มีทั้งบนดินทั้งใต้ดิน ฝ่ายเราถ้าใช้ธรรมะอย่างเดียวก็คงสู้กันไม่ได้ ฉะนั้นมันจะหาจุดในการมองสถานการณ์ แก้ปัญหาสถานการณ์อย่างไร

พระไพศาล คือฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงหรือพวกที่ฉกฉวยสถานการณ์หรือมือที่สาม อาตมาคิดว่าเป็นส่วนน้อย สิ่งที่เราต้องทำก็คือว่า เมื่อเกิดเหตุร้ายต้องแยกแยะให้ชัดว่าใครเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่นิยมความรุนแรงและใครเป็นส่วนน้อยที่นิยมความรุนแรง ที่จริงถ้าคนเรามีสติแล้ว คนกลุ่มน้อยจะหาเหตุสร้างความรุนแรงไม่ได้เลย เหมือนกับเวลามีพวก ๑๘ มงกุฎมาหลอกเอาเงินหรือโกงเงินชาวบ้านไป ขอให้เราสังเกตดูที่เขาโกงเงินชาวบ้านได้ก็เพราะใช้ความโลภมาล่อให้หลง

ถ้าเราไม่มีความโลภ ถ้าเรามีสติ พวก ๑๘ มงกุฎทำอะไรเราไม่ได้เลยเช่น แกล้งทำบัตรเอทีเอ็มตกพร้อมมีรหัสติดมาด้วย พอเห็นบัตรเอทีเอ็มตก คนที่มีความโลภจะรีบไปถอนเงินเลยเสร็จแล้วก็จะถูกตำรวจจับ ตำรวจนี้ร่วมมือกับพวก ๑๘ มงกุฎก็เลยรีดไถเงินเป็นหมื่น ๆ ไม่งั้นจะจับเข้าคุก แต่ถ้าคนที่ไม่มีความโลภ เห็นบัตรเอทีเอ็มตกก็ไม่เก็บหรอก หรือถึงเก็บเขาก็จะไม่ไปถอนเงิน เพราะเขารู้ว่าการถอนเงินของคนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเขาก็คงสงสัยว่าทำไมถึงมีการทิ้งบัตรแบบนี้

พวก มิจฉาชีพหลอกเราได้เพราะเขาใช้ความโลภมาล่อให้เราถลำตัว ส่วนพวกที่ก่อความไม่สงบในสถานการณ์แบบนี้ก็ใช้ความโกรธมาล่อให้เราหลงเชื่อทำตามเขา แต่ถ้าเรามีสติ ไม่ปล่อยให้ความโกรธความเกลียดครอบงำเขา เขาก็ไม่สามารถยั่วยุให้เราไปเผารถ เผาอาคารสถานที่ หรือไปทุบตีตำรวจทุบตีผู้ชุมนุม คนเหล่านั้นก็จะร้องแรกแหกกระเชิงไปคนเดียว แล้วเขาก็จะปรากฏตัวให้เห็นเด่นชัดเอง สุดท้ายเขาก็จะถูกจับกุมหรือว่าถูกโดดเดี่ยวได้

อาตมาคิดว่าปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะต้องมีสติ อย่าไปหลงเชื่อใคร จริงอยู่แม้จะมีคนก่อกวนหรือว่าใช้ความรุนแรงก่อน จะเป็นผู้ชุนนุมก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐก็ดี ใครทำก่อนไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเราอย่าไปตอบโต้ ถ้าเราตอบโต้ เราเองแหละจะเป็นฝ่ายเสียหายและทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อมีคนโกรธเรา พูดจาด่าว่าเรา ถ้าเราโกรธตอบ เราก็โง่กว่าเขา คนที่โกรธก่อนโง่ก็จริง แต่คนที่โกรธตอบต่างหากที่โง่กว่า เมื่อมีใครทำไม่ถูกต้องเช่นใช้ความรุนแรงก่อน ถ้าเราตอบโต้ด้วยความรุนแรง เราก็แย่กว่าเขา อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ใครทำก่อนก็ตาม ถ้าเราไม่ตอบโต้เขาก็ได้แต่ชกลม คานธีพูดไว้ดีว่า ถ้าเรากำหมัดไว้แน่นแล้วฟาดกับอากาศอย่างแรง แขนเราอาจเคลื่อนได้ คนที่เจ็บปวดคือเรานั่นเอง ในทำนองเดียวกันถ้าใครจะฟาดเรา แต่เราหลบ เขาก็ฟาดลมจนไหล่อาจเคลื่อนได้ เขาจะทำอะไรก็ตามให้เขาทำไปคนเดียว แล้วเขาก็จะเดือดร้อนเอง

สรุปแล้วก็คืออย่าไปตอบโต้เขา ใครทำก่อนไม่เป็นไร แต่เราอย่าไปทำตามเขา เราไม่ควรทำตามศัตรู เราไม่ควรเอาคนชั่วมาเป็นครู เขาทำไม่ดี เราก็ไม่ควรเลียนแบบเขา อาตมาคิดว่านี่คือวิธีที่จะระงับความสงบได้ น่คือการไม่จองเวรนั่นเอง เมื่อไรที่เราจองเวรเราก็จะถลำเข้าสู่วงจรอุบาทว์ ที่เรียกว่าวงจรแห่งการจองเวร มันจะไม่จบไม่สิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ใครทำก่อนก็ตามเราอย่าไปตอบโต้ แล้วเขาจะแพ้ภัยตัวเอง

พิธีกร คงเป็นคำถามสุดท้าย ในสถานการณ์วิกฤตอย่างนี้ พระอาจารย์มีโครงการในเรื่องของการนำปัญญามาใช้ให้เกิดความสุข ในวิกฤตทางการเมืองแบบนี้คนจะมีความทุกข์มาก จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างไรในสถานการณ์อย่างนี้

พระไพศาล ปัญญาจะทำให้เราเห็นว่า มันเป็นเช่นนี้เอง เรียกว่า “ตถตา” เป็นเช่นนั้นเอง โลกมันเป็นเช่นนั้นเอง อย่าไปคาดหวังว่าโลกจะสงบสุขไปตลอด ถ้าเราเห็นว่าโลกเป็นเช่นนั้นเองเราก็จะไม่ทุกข์ ก็เหมือนกับเวลาเราพลัดพรากสูญเสียสิ่งรัก คนรัก ถ้าเราเห็นว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นอนิจจัง เราก็จะไม่ทุกข์ ถ้ามีปัญญาเห็นถึงความธรรมดาของโลกว่าเป็นเช่นนี้เอง เราก็จะไม่ทุกข์

ประการที่สองคือว่า เราต้องมีสติ ต้องรู้จักปล่อยวาง ไม่เอาเรื่องเหล่านี้มาเก็บให้รกสมองหรือรบกวนจิตใจ ควรรู้จักปล่อยวางบ้าง เราจึงจะมีความสุขได้ และถ้าเรามีความสงบเย็นในจิต ความสงบเย็นของเราก็จะแผ่กระจายไปสู่ผู้อื่นทำให้เขาสงบเย็น และความสงบเย็นของผู้อื่นก็จะกระจายแผ่กว้างออกไปเป็นระลอกๆ เป็นเสมือนน้ำเย็นที่ช่วยชโลมใจผู้คนให้หายรุ่มร้อนได้

จึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนมีสติ มีปัญญาและแผ่เมตตาให้ทุกฝ่าย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งตอนนี้เขากำลังมีความทุกข์มากเลย ไม่ว่าจะฝ่ายผู้ชุมนุมหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐล้วนตกอยู่ในความเครียด เต็มไปด้วยความกังวล เต็มไปด้วยความกลัว เต็มไปด้วยความโกรธและความระแวง แถมแดดก็ร้อน กินก็ไม่อิ่ม นอนก็ไม่หลับ คนเหล่านี้น่าเห็นใจ เราจึงควรแผ่เมตตาให้เขา เขาจะโกรธ จะเกลียด จะอารมณ์เสียใส่เราบ้าง ก็ขอให้อดกลั้นเอาไว้ เราอย่าไปทุกข์กับเขา เราช่วยเป็นน้ำเย็นชโลมใจเขา ก็จะช่วยให้บ้านเมืองคลายความร้อนแรง ในที่สุดก็จะคืนสู่ความปกติได้ ขอให้เราทำใจอย่างนี้เพื่อเป็นน้ำเย็นชโลมใจของผู้คนให้สงบเย็นหายรุ่มร้อน

รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่
webmaster ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น