การกระทำหรือ “กรรม” ของเราชีวิตนี้มีทั้งทางดีและทางร้าย
หากชีวิตนี้เราเดิน เราทำ เราน้อมนำชีวิตด้วย “ความดี” นับได้ว่าเป็นการพัฒนาจิตให้ดี
แต่ทว่า... หากเราเดิน เราทำ เราน้อมนำชีวิตนี้ด้วย “ความโลภ ความโกรธ และหลง” แล้วไซร้ นั่นถือได้ว่าเป็น “การพัฒนาความหายนะของจิต (Disastrously Development of MIND : DDM)”
การมีชีวิตแล้วไม่รู้จักชีวิต ชีวิตย่อมกัดกินเจ้าของ
การคิด การพูด การทำ และน้อมนำความเลวเข้าสู่ชีวิตแม้นเพียงนิด สิ่งทั้งหลายย่อมถูกจดอยู่ในจิต และสลักอยู่ในใจ
ไม่มีกรรมอันใดที่ไม่เคยจะให้ผล
หยดน้ำสามารถทำให้แม่น้ำเต็มได้ฉันใด กรรมชั่วเพียงเล็กที่ทำย่อมพัฒนาจิตให้ถึงความหายนะได้ฉันนั้น
คนเราส่วนใหญ่มักประมาทว่า กรรมเล็ก กรรมน้อยจะไม่ให้ผล ไม่สำคัญ
กรรมเล็ก กรรมน้อยนั่นเองเป็นสิ่งที่สำคัญ
ขนาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังประมาท ละเลย เลินเล่อและทำไม่ได้ จะหวังได้อย่างไรว่า กรรมใหญ่ ๆ เหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เราจะมีทุนที่สั่งสมจากกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ประมาทนั้นสั่งสมให้เป็นกรรมดีได้อย่างไร...?
ความเคยชิน การทำความชั่วทั้งหลายจนเคยเล็ก การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ย่อมพัฒนาจิตดวงนี้ไปสู่ความ “หายนะ...”
การเมินเฉย เย็นชา ไม่รู้จักละอายชั่ว และกลัวบาปนั้น สั่งสม อบรม และบ่มเพาะให้จิตนี้ “หายนะ”
ทำดีน้อย ทำชั่วมาก
เมื่อดีน้อยกว่าชั่ว ความชั่วย่อมถูกสะสมเป็นทุน เป็นต้นทุนแห่งชีวิต
คนเราเดินชีวิตได้ด้วยมีกรรมเป็นทุน
ทุนดี นำชีวิตให้ดี ทุนชั่วนำชีวิตให้หายนะ
การหลง มัวเมา อยู่ด้วยกิเลสของโลก
ไม่ว่าจะเป็นกาม ตัณหา และราคะทั้งหลาย ทั้งปวง
ทั้งที่ถูกผู้คนต่าง ๆ ขุดขึ้นไว้ล่อ หรือว่าเราขุดขึ้นไว้ล่อคนเรา สิ่งทั้งหลายนั้นย่อมนำจิตเรา และพาจิตของเขาไปสู่ความหายนะ
การมีมิจฉาทิฏฐิ คิดว่าความสุขแบบโลก ๆ นั้น จะนำชีวิตให้พบกับความสุขได้ การหลงระเริงในความสุขเช่นนี้ย่อมนำจิตไปสู่ความหายนะ
การหลงโลก ลืมธรรม เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความลุ่มหลง มอมมัวเป็นสิ่งที่เลิศและประเสริฐกว่าความสงบนั้น เป็นทางนำจิตไปสู่ความ “หายนะ...”
ความโลภ การลุ่มหลง ในรายได้ เงินทอง ทรัพย์สิน และเงินตรา เป็นการดำเนินชีวิตด้วยความรุ่มร้อน กระวน กระวาย การดำเนินชีวิตแบบนี้เอง เป็นการพัฒนาจิตไปสู่ความ “หายนะ...”
แล้วเราจะหยุดเส้นทางการพัฒนาจิตไปสู่ความหายนะนี้ได้อย่างไรเล่า หากเรายังขาด “ศีล” อันเป็นที่พึ่งของจิตใจ
“ศีล” อันเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้ตกลงไปสู่นรกบนดินที่ร้อน รุ่ม เหมือนไฟที่สุมทรวงอยู่ทั้งวันทั้งคืน
การมีศีลนี้ คือ การมีเครื่องป้องกันจิต มิให้ตกลงไปในหลุมพรางแห่งความ “หายนะ”
ศีลหนึ่ง สมาธิหนึ่ง อันจะน้อมนำให้เกิดปัญญาที่รวมเป็นหนึ่งนั้น ย่อมเป็นทางการพัฒนาจิตนี้ไปสู่ “ความสงบ”
ความวุ่นวายนั้นเป็นความหายนะแห่งจิตนี้
จิตเดิมที่เคยประภัสสรนั้นถูกกิเลสจรเข้ามาและปิดบังความมืดให้ดวงตาจนต้องพาชีวิตนี้ไปสู่ความหายนะ
ใช้ศีลชำระความมืดบอดให้แห่งตา มีสมาธิในการย่างก้าว และใช้ปัญญาเป็นแสงสว่างนำทางให้ชีวิต
ชีวิตนี้ กายนี้ จิตนี้ ชาตินี้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนานั้นย่อมพบสุขแท้ได้โดยพลัน
สุขอื่น หมื่น แสน จะเปรียบแม้นด้วยความสงบนั้นไม่มี
หากชีวิตคือการพัฒนา เรานั้นหนาควรพาชีวิตไปทางใด
“ความหายนะ” หรือ “ความสงบ...”?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น