อดีตแชมป์ยิมฯ ตกอับ เร่ขายเหรียญทองประทังชีพ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก eastday.com, wenweipo.com, sohu.com
ชีวิตของคนเราไม่แน่ไม่นอนเลยจริง ๆ เพราะคงไม่มีใครคาดคิดว่า คนที่ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิต แต่ทว่าวันหนึ่ง ชีวิตของเขาคนนั้น กลับพลิกผันร่วงตกลงมาราวกับอดีตเป็นเพียงฝันหวาน และนี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่บอกเล่าสัจธรรมชีวิตได้เป็นอย่างดี
ภาพของชายหนุ่มร่างเล็กคนหนึ่งที่กำลังเดินเร่ขายเหรียญทองใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟฟ้าหวังฝูจิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน กลายเป็นภาพคุ้นตาของผู้ที่สัญจรไปมายังเส้นทางนั้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานีรถไฟฟ้าที่มักจะเดินเข้ามาไล่ชายหนุ่มคนดังกล่าวให้ออกไปอยู่เสมอ ๆ ซึ่งหากมองผ่าน ๆ อาจจะเข้าใจได้ว่า ชายคนดังกล่าวเป็นเพียงแค่ "ขอทาน" ทั่ว ๆ ไป แต่ใครจะรู้บ้างว่า ชายหนุ่มคนดังกล่าวแท้จริงแล้วเคยเป็นถึงนักกีฬายิมนาสติกผู้เกรียงไกรของประเทศจีน และเคยผงาดคว้าเหรียญรางวัลมาแล้วนับไม่ถ้วน
โดยหนุ่มคนดังกล่าวมีนามว่า "จาง ซ่างอู่" อายุ 27 ปี หากย้อนกลับไปเมื่อปี 1994 เขาติดทีมชาติจีนในฐานะนักกีฬายิมนาสติกเป็นครั้งแรก และจากนั้นมา "จาง ซ่างอู่" ก็เดินสายแข่งขันยิมนาสติกรายการระดับนานาชาติจนกวาดเหรียญทองมานับไม่ถ้วน แต่แล้วชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์กลับพลิกผัน เมื่อในปี 2003 "จาง ซ่างอู่" ประสบกับอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่เอ็นข้อเท้า ทำให้เขาชวดไปแข่งขันยิมนาสติกในการแข่งขันโอลิมปิกปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และหลังจากนั้นมาชื่อของ "จาง ซ่างอู่" ก็ไม่อยู่ในโผนักกีฬาทีมชาติอีกเลย
จะว่าไปก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะหลัง "จาง ซ่างอู่" พ้นจากสภาพความเป็นนักกีฬาทีมชาติแล้ว ชีวิตของเขาก็ตกต่ำลงเรื่อย ๆ เนื่องจากเขาได้ฝึกฝนเฉพาะด้านการกีฬามาตั้งแต่เล็ก ๆ และแทบไม่ได้เรียนหนังสือ จึงไม่มีความสามารถด้านอื่น ๆ ที่จะไปทำงานกับใครได้ จนกระทั่งมาถูกจับกุมในข้อหาลักทรัพย์ถึง 2 ครั้งในปี 2007 และถูกตัดสินใจจำคุกนานกว่า 3 ปี
หลังจากนั้นมา ชื่อของ "จาง ซ่างอู่" ในฐานะแชมป์ยิมนาสติกที่ทำให้ชาวจีนภาคภูมิใจก็เริ่มเลือนหายไปจากสังคม จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ชาวไซเบอร์ที่ใช้นามแฝงว่า "หลางเฟิง" ได้ไปพบเห็นเขากำลังเดินเร่ขายเหรียญรางวัลแถวสถานีรถไฟฟ้าหวังฝูจิ่ง ที่กรุงปักกิ่ง จึงได้ถ่ายรูปเขามาโพสต์ในอินเทอร์เน็ต จนกลายเป็นข่าวดังขึ้นมา
โดยหนุ่มจาง ซึ่งเพิ่งพ้นโทษจำคุกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ออกมาโชว์ลีลายิมนาสติกให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาชม เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาซื้อเหรียญทองของเขา โดยอดีตนักยิมนาสติก บอกกับนักข่าวว่า เหรียญเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นเหรียญเกียรติยศของเขา แต่วันนี้ หากมันสามารถแลกเป็นค่าอาหารได้บ้างก็พอใจแล้ว เพราะเขาไม่สามารถไปทำงานอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นงานรับจ้างใช้แรงงาน หรือยาม เนื่องจากคนมองว่าเขาซึ่งสูงเพียง 151 เซนติเมตรนั้นตัวเล็กเกินไป และเขายังบาดเจ็บเรื้อรังด้วยอาการเอ็นข้อเท้าเสื่อมจากการฝึกซ้อมอย่างหนักสมัยเป็นนักกีฬาทีมชาติ
ทั้งนี้ หลังจากเรื่องราวของ "จาง ซ่างอู่" ถูกเปิดเผยออกมาก็ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพูดถึงประเด็นนี้กันมากขึ้น อย่างเช่น "สิง อ้าวเหว่ย" หนึ่งในเพื่อนร่วมทีมยิมนาสติกของ "จาง ซ่างอู่" ได้โพสต์ข้อความให้กำลังใจหนุ่มจาง และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือหนุ่มจางด้วย เพราะยังไงเสียเขาก็เคยสร้างชื่อให้กับประเทศชาติในอดีต ขณะที่ "ฟ่าน หงปิน" อดีตโค้ชทีมชาติที่เคยฝึกสอนหนุ่มจาง กลับบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่หนุ่มจางหลุดออกจากทีมชาติ และเหตุที่ทำให้ชีวิตเสื่อม เกิดขึ้นเพราะหนุ่มจางทำตัวเอง
นอกจากนี้ เรื่องราวดังกล่าวยังทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามไปยังสมาคมยิมนาสติกแห่งประเทศจีน ว่าทำไมจึงไม่ดูแลอดีตนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งทางสมาคมฯ ก็ชี้แจงว่า เคยให้โอกาสหนุ่มจางเลือกเส้นทางชีวิตหลังออกจากทีมชาติแล้ว ซึ่งครั้งนั้น จาง ซ่างอู่ ตัดสินใจจะรับเงินช่วยเหลือจากสมาคมฯ ประมาณ 63,220 หยวน และตัดสินใจออกไปหางานทำเอง
อย่างไรก็ตาม "จาง ซ่างอู่" ไม่ใช่อดีตนักกีฬาจีนที่ตกอับและกลายเป็นข่าวขึ้นมาเป็นคนแรก เพราะก่อนหน้านี้ "อ้าย ตงเหมย" นักกีฬามาราธอนหญิงของจีน ก็เคยเร่ขายเหรียญรางวัลของเธอ หลังจากเธอหลุดจากทีมชาติพร้อม ๆ กับสามีที่ตกงานในช่วงปี 2007 ทำให้เธอและครอบครัวต้องออกมาอาศัยกระท่อมที่สร้างเองอยู่ริมถนน และขายเสื้อผ้าเด็กหาเลี้ยงชีพ
เช่นเดียวกับ "โจว ชุนหลาน" อดีตนักยกน้ำหนักหญิงทีมชาติจีนที่เคยทำลายสถิติโลกไว้ แต่ต้องลาวงการลูกเหล็กไปด้วยอาการบาดเจ็บที่หลังและเอวเรื้อรัง จนเมื่อปี 2006 มีคนไปพบ "โจว ชุนหลาน" รับจ้างนวดผู้คนในสถานอาบน้ำสาธารณะเพื่อแลกกับรายได้เพียงครั้งละ 1.45 หยวนเท่านั้น แต่โชคดีที่มีคนยื่นมือเข้าช่วยเหลือเธอลงทุนเปิดร้านซักรีดให้ จนวันนี้ "โจว ชุนหลาน" เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีอดีตนักกีฬายกน้ำหนักที่ชื่อว่า "ไช่ หลี่" ซึ่งเคยคว้าเหรียญทองการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์เมื่อปี 1990 แต่เมื่ออายุมากขึ้นต้องออกจากทีมชาติ และผันตัวมาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ก่อนจะเสียชีวิตไปเมื่อปี 2003 จากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมยกน้ำหนักมาอย่างหนักตลอดชั่วชีวิต
ที่น่าสนใจคือ หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ สปอร์ต ยังรายงานด้วยว่า ในจำนวนนักกีฬาทีมชาติจีนที่เลิกเล่นไปแล้วกว่า 300,000 คน พบว่า อดีตนักกีฬากว่า 80% ยังต้องเผชิญกับปัญหาอาการบาดเจ็บเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากการฝึกซ้อมอย่างหนักในอดีต อีกทั้งบางคนต้องกลายเป็นผู้พิการ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนต้องประสบปัญหาว่างงาน ความยากจน เพราะขาดการศึกษาอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น