เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลูกนิมิต พัทธสีมา



“นิมิต” แปลว่า “เครื่องหมาย”


“ลูกนิมิต”
๐ ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
หมายถึง “ลูกที่ทำกลม ๆ ประมาณเท่าบาตร มักทำด้วยหินใช้ฝังเป็นเครื่องหมายเขตอุโบสถ"
๐ ส่วนพจนานุกรมฉบับมติชนให้ความหมายว่า "ก้อนหินที่วางบอกเขตพัทธสีมาในการทำสังฆกรรม"

สรุปแล้ว “ลูกนิมิต” ก็คือ ลูกหินกลม ๆ มีขนาดเท่าบาตรของพระสงฆ์ ที่ใช้ฝังเพื่อเป็นเครื่องหมาย
บอกให้ทราบว่า ตรงไหนเป็นเขตของอุโบสถหรือโบสถ์เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรมนั่นเอง
เพราะคำว่า “ นิมิต” แปลว่า “เครื่องหมาย”

อุโบสถ (อ่านว่า อุโบสด) ถือเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำ สังฆกรรมซึ่งแต่เดิมในการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์จะใช้เพียงพื้นที่โล่ง ๆ ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่สังฆกรรมโดยการกำหนดตำแหน่ง “สีมา” เท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการมีผู้มาอุปสมบทบรรพชามากขึ้น อีกทั้งภายในพระอุโบสถมักประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญ ๆ ทำให้มีผู้มาสักการะบูชา และ ร่วมทำบุญเป็นจำนวนมากพระอุโบสถจึงถูกสร้างขึ้นเป็นอาคารถาวร และมักมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม

ยังมีอีกมีหลายความหมาย คือ หมายถึง

สถานที่ที่พระสงฆ์ ประชุมทำสังฆกรรมตามพระวินัย เช่นสวดพระปาติโมกข์ในวันพระทุกกึ่งเดือน
ขึ้น ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ และแรม ๑๔ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำ หรือ การอุปสมบทบรรพชาเป็นพระภิกษุ
หรือการสวดเข้าอยู่ปริวาสกรรม ของพระภิกษุสงฆ์ หรือสังฆกรรมใด ๆ ที่ต้องเกิดขึ้นในอุโบสถ
ตามพระวินัยบัญญัติ เรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสถัคคะ บ้าง แต่เรียกโดย
ทั่วไปว่า โบสถ์

๑. การเข้าจำ คือการรักษาศีล ๘ ของอุบาสก อุบาสิกา ในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เรียกว่า
รักษาอุโบสถ และรักษาอุโบสถศีล
๒. วันพระหรือวันฟังธรรมของคฤหัส วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันที่คฤหัสถ์รักษา
อุโบสถกัน เรียกว่า วันอุโบสถ
๓. วันที่พระสงฆ์ลงฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เรียกว่า วันอุโบสถ
. การสวดพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนหรือทุกวันอุโบสถของพระสงฆ์ เรียกว่า การทำอุโบสถ
. โบสถ์ เป็นคำเรียกสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมกันทำสังฆกรรมตามพระวินัย
เช่น สวดพระปติโมกข์ ให้อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต คำว่า โบสถ์เป็นคำที่ใช้เฉพาะ
ในพระพุทธศาสนา
๖. โบสถ์ เรียกเต็มคำว่า อุโบสถ หรือ โรงอุโบสถ ถ้าเป็นของพระอารามหลวงเรียกว่า
พระอุโบสถ บางถิ่นเรียกว่า สีมา หรือ สิม
. โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดิน
พระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่าพระราชทาน วิสุงคามสีมา

ก่อนที่จะมาเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมีสังฆกรรมที่เรียกว่า ผูกสีมา หรือ ผูกพัทธสีมา ก่อน

มูลเหตุความเป็นมา

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาและมีผู้มาขออุปสมบทบรรพชา เป็นพระสาวก
พระพุทธองค์ทรงประทาน “เอหิภิกขุ” ให้ได้สำเร็จเป็นพระภิกษุสงฆ์ดังประสงค์ เมื่อมีพระภิกษุสงฆ์มากถึง
จำนวน ๖๐ รูปเป็นพระสงฆ์สาวกในเวลาอันรวดเร็วนั้น พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธประสงค์ให้พระภิกษุสงฆ์
สาวกเหล่านั้น กระจายกันออกจาริกไปยังทิศต่าง ๆ เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพระธรรมคำสอน
ของพระพุทธองค์ จึงทำให้ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมนั้นมีความเลื่อมใสศรัทธาประสงค์ที่จะขออุปสมบทบรรพชา เป็นพระสาวกมากขึ้น พระภิกษุสงฆ์สาวกเหล่านั้นก็จะนำผู้ที่จะขออุปสมบทบรรพชาในพระพุทธศาสนา มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงพระเมตตาประทานการอุปสมบทบรรพชาให้แด่ผู้มีจิตศรัทธาเหล่านั้น ซึ่งพระภิกษุสงฆ์สาวกที่ออกจาริกเผยแผ่พระธรรมคำสอนและพระพุทธศาสนาไปยังดินแดนต่าง ๆ นั้นต่างก็อยู่ห่างไกลจากที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ จึงทำให้การเดินทางกลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เป็นไปด้วยความยากลำบาก

เมื่อเป็นดังนี้ พระพุทธองค์ทรงคำนึงถึงความลำบากของเหล่าพระสงฆ์สาวกในการเดินทาง พระองค์จึงทรงมี
พระกรุณาธิคุณ โดยมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สาวกเหล่านั้นทำการอุปสมบทบรรพชาให้กับผู้มี
ความเลื่อมใสศรัทธา โดยมิต้องสร้างความยุ่งยากลำบากในการนำผู้ที่ประสงค์จะขออุปสมบทบรรพชามาเข้าเฝ้าขอบรมพุทธานุญาตจากพระพุทธองค์ เป็นการลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลำบากแก่เหล่าพระสงฆ์สาวก

และการที่พระภิกษุสงฆ์สาวกออกไปอยู่ห่างไกลจากพระพุทธองค์นั้น ประการหนึ่งนั้นก็เท่ากับห่างจากการ
ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ ซึ่งในสมัยพุทธกาลนั้นพระธรรม พระวินัยต่าง ๆ ที่พระพุทธองค์ทรง
บัญญัติไว้ให้พระสงฆ์สาวกปฏิบัติตามนั้นยังไม่มีการจดบันทึกรวบรวมไว้เป็นคัมภีร์ หรือรวบรวมเป็น
พระไตรปิฏกจัดแยกหมวดหมู่ดังเช่นปัจจุบัน ดังนั้น พระธรรม พระวินัยต่าง ๆ นั้น จึงต้องอาศัยการจดจำ
ท่องจำโดยการสวดสืบต่อ ๆ กัน เรียกว่าการสวดพระปาติโมกข์ อีกทั้ง เมื่อมีเหตุการณ์ใดที่พระสงฆ์สาวกจะ
ต้องตัดสินใจร่วมกัน ให้พระสงฆ์ได้มีการปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหา หรือทำกิจบางประการร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้กำหนดให้พระสงฆ์ต้องประชุมร่วมกันหรือที่เรียกว่า ทำสังฆกรรม คือทำกิจของสงฆ์ให้สำเร็จลุล่วง เช่น การทบทวนพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ หรือเรียกว่า การสวดพระปาติโมกข์ การอุปสมบทบรรพชา หรือการบวชพระ การกรานกฐิน และการปวารณากรรม เป็นต้น โดยกำหนดให้ทำสังฆกรรม ในบริเวณที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อมิให้ฆราวาสมายุ่งเกี่ยวกับกิจของสงฆ์ผู้ทรงศีลโดยเฉพาะ แต่เนื่องจากในสมัยต้นพุทธกาลนั้นพระภิกษุยังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน

แม้ต่อมาพระเจ้าพิมพิสาร มหาราชแห่งแคว้นมคธจะมีศรัทธาถวายพื้นที่สวนไผ่ของราชวงศ์
ให้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา ชื่อ วัดเวฬุวัน ให้พระภิกษุสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานได้อยู่อาศัย
แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นป่าตามธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อพระสงฆ์ต้องจาริกไปยังที่ต่าง ๆ จึงทรงดำริให้หมายเอา
วัตถุบางอย่าง เป็นเครื่องกำหนดเขตแดนขึ้น เรียกว่า การผูกสีมา ซึ่งคำว่า “สีมา” ที่แปลว่า “เขตแดน”
ซึ่งพระพุทธองค์ได้กำหนดไว้มี ๘ ประการ และเรียกเครื่องหมายบอกเขตแดนนี้ว่า “นิมิต” แต่นิมิตเหล่านี้
ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทำให้การกำหนดเขตแดนที่จะทำสังฆกรรมกำหนดสถานที่ประชุมสงฆ์
ทำได้ยากและมักคลาดเคลื่อน เช่น หากใช้ต้นไม้เป็นสิ่งบอกเขต แต่เมื่อต้นไม้นั้นล้มตายลง หรือหักโค่น
จนตายไป ก็ทำให้เขตที่อาศัยต้นไม้นั้นเป็นสัญลักษณ์ก็จะคลาดเคลื่อนไป

ต่อมาจึงได้มีการพัฒนากำหนดนิมิตขึ้นใหม่อีกประเภทหนึ่งขึ้นแทน คือ เป็นนิมิตที่จัดสร้างหรือทำขึ้นเฉพาะ
เช่น ขุดบ่อน้ำ คูน้ำ สระน้ำ และก้อนหิน โดยเฉพาะก้อนหินเป็นที่นิยมกันมากเพราะทนทานและเคลื่อนย้าย
ได้ยาก ครั้นเมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นจึงได้มีการประดิษฐ์ก้อนหินให้เป็นลูกกลม ๆ ประมาณ
เท่าบาตรของพระสงฆ์เป็นอย่างน้อย เป็นเครื่องหมายที่ค่อนข้างถาวรขึ้นแทนและเรียกกันว่า “ลูกนิมิต”
ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันรวมถึงมีการเรียกเขตแดนที่ใช้ทำสังฆกรรมนี้ว่า “อุโบสถ หรือ โบสถ์”
ซึ่งสมัยก่อนโบสถ์คงมีลักษณะตามธรรมชาติมากกว่าจะเป็นถาวรวัตถุเช่นปัจจุบัน และเมื่อมี “ลูกนิมิต”
เป็นเครื่องหมายบอกเขต ต่อมาก็มีพิธีที่เรียกว่าการ “ฝังลูกนิมิต” ขึ้นด้วย

การขอพระราชทานวิสุงคามสีมา


ในปัจจุบันนี้ เมื่อมีการก่อสร้างอุโบสถขึ้นภายในวัดใด เมื่อการก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จก่อนการทำสังฆกรรม
เกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนของอุโบสถหรือฝังลูกนิมิตนั้น ทางวัดหรือเจ้าอาวาสผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ
ในวัดนั้น ๆ ที่ได้จัดสร้างอุโบสถขึ้นใหม่จะต้องแจ้งการสร้างอุโบสถของวัดไปยังเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ
และเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งเจ้าคณะจังหวัดก็จะมีคณะพระภิกษุสงฆ์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบไปตรวจสอบอุโบสถที่
จัดสร้างขึ้นใหม่ แล้วให้วัดทำหนังสือขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งหนังสือเอกสารที่นำแจ้งขอพระราชทาน
วิสุงคามสีมานี้ จะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบตามลำดับที่ได้กล่าวมา และแจ้งขนาดของอุโบสถให้ถูกต้องว่า
อุโบสถมีพื้นที่ความสูง ความกว้าง ความยาว เท่าไร เมื่อเอกสารการขอพระราชทานวิสุงคามสีมาได้รับการ
จัดทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับการอนุมัติรับรองไปตามลำดับขั้น ตั้งแต่เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ
เจ้าคณะจังหวัด และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดที่วัดนั้นสังกัดอยู่ จนถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
นำเอกสารขอพระราชทานวิสุงคามสีมานำเสนอไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อท่านรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงาน
ทางพระพุทธศาสนารับรองอนุมัติ ต่อจากนั้นนำทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงประทานอนุมัติ แล้วเสนอเพื่อ
นำความกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ มีลำดับดังนี้

ปัจจุบัน การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีขั้นตอนและวิธีดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ดังนี้

๑. เจ้าอาวาสเสนอรายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามแบบ ต่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอ
๒. เมื่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอ เห็นสมควรให้นำปรึกษานายอำเภอ แล้วเสนอเรื่องและความเห็น
ไปยังเจ้าคณะจังหวัด
๓. เมื่อเจ้าคณะจังหวัดเห็นสมควร ให้นำปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยัง
เจ้าคณะภาค และสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด
๔. เมื่อเจ้าคณะภาคเห็นสมควรแล้ว ให้ส่งเรื่องและความเห็นไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
๕. เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นสมควรแล้ว จะได้นำเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะ
รัฐมนตรีซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กราบทูลสมเด็จ
พระสังฆราชเพื่อทรงประทานอนุมัติ แล้วเสนอเพื่อนำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานวิสุงคามสีมาเพื่อนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป
๖. เมื่อพระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดใดแล้ว ให้นายอำเภอท้องที่ที่วัดนั้นตั้งอยู่ดำเนินการปักหมายเขต
ที่ดินตามที่ได้พระราชทานต่อไป

อนึ่ง ในการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา สำนักงานพระ พุทธศาสนาแห่งชาติจะดำเนินการขอให้กับวัด
ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และส่งรายงานการขอรับพระราชทานมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ปีละ ๖ งวด โดยจะรวบรวมรายชื่อวัดแล้วเสนอขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ๒ เดือนต่อ ๑ งวด


*******************************************

การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา
มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๗/๒๕๕๐
สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
มติที่ ……………………………………………...

เรื่อง การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา

ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๗/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐
เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยกองพุทธศาสนา
ได้รายงานว่า ปัจจุบันวัดต่าง ๆ ได้ทำเรื่องขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาโดยผ่านความเห็น
ชอบจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองและเจ้าคณะผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์มายังสำนักงานพระพุทธ
ศาสนาแห่งชาติ เพื่อดำเนินการและเรื่องยังไม่แล้วเสร็จ ทางวัดได้กำหนดจัดงานผูกพัทธสีมา
ไว้ล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาทำให้ประสบปัญหาไม่สามารถจัดงานได้

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอนมัสการว่า ในการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา
มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
เป็นหน่วยงานที่นำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา
และนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีเรื่องอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันที่สำนักเลขาธิการ
คณะรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการให้ตามลำดับ ซึ่งไมสามารถทราบได้ล่วงหน้าว่าขั้นตอนดังกล่าว
จะดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อใด

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยกองพุทธศาสนสถาน พิจารณาแล้วเห็นควร
แจ้งเจ้าคณะจังหวัดเกี่ยวกับการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาว่า ควรได้รับพระราชทาน
วิสุงคามสีมาก่อน แล้วจึงกำหนดจัดงานผูกพัทธสีมาและตัดลูกนิมิต และแจ้งเจ้าอาวาสที่
ขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ไม่ให้กำหนดวันจัดงานจนกว่าจะได้รับประกาศ.

ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่เสนอ
(นางจุฬารัตน์ บุณยากร)
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ


*******************************************

การขอพระราชทานวิสุงคามสีมานั้น เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อถวายที่ดินบริเวณนั้น
ให้เป็นสิทธิ์ของสงฆ์ ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา คือ เขตแดนที่ได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่
ทำสังฆกรรม เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด ซึ่งคำว่า วิสุง แปลว่า ต่างหาก คาม แปลว่า บ้าน
การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำการใด ๆ
บนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อมีพระบรมราชานุญาตพระราชทานที่ดินนั้นเป็นเขต
พุทธาวาสแก่หมู่สงฆ์แล้ว ที่ดินที่พระราชทานนั้นก็เป็นสิทธิ์ขาดของพระพุทธศาสนา ซึ่งใคร ๆ จะทำการ
ซื้อขาย จำหน่ายจ่ายโอนมิได้โดยเด็ดขาด ถือเป็นเขตพุทธาวาส คือ เป็นอาวาสหรือเขตแดนของพระพุทธเจ้า
และพระพุทธศาสนา หรือสิทธิของพระภิกษุสงฆ์โดยถูกต้องสมบูรณ์

สีมา

สีมา แปลว่า เขต หรือ แดน

สีมานั้น มีอยู่ ๒ ประเภท คือ

๑. พัทธสีมา คือ เขตที่สงฆ์กำหนดเอาเอง แปลว่า แดนที่ผูก
๒. อพัทธสีมา คือ เขตที่เขากำหนดไว้ตามปกติของบ้านเมือง แปลว่า แดนไม่ได้ผูก

นิมิต หรือ วัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมายเขตแห่งสีมา มี ๘ ชนิด คือ

๑. ภูเขา หรือ ปพฺพโต
๒. ศิลา หรือ ปาสาโณ
๓. ป่าไม้ หรือ วนํ
๔. ต้นไม้ หรือ รุกฺโข
๕. จอมปลวก หรือ วมฺมิโก
๖. หนทาง หรือ มคฺโค
๗. แม่น้ำ คูน้ำ หรือ นที
๘. สระน้ำ หนองน้ำ หรือ อุทกํ

พัทธสีมา ๓ ชนิด(แต่ตามคัมภีร์มหาวรรคมี ๔ ชนิด) คือ

๑. ขัณฑสีมา คือ สีมาผูกเฉพาะโรงอุโบสถ
๒. มหาสีมา คือ สีมาผูกรอบวัด
๓. สีมาสองชั้น คือ สีมาที่มีขัณฑสีมาอยู่ภายในมหาสีมา
๔. นทีปารสีมา คือ สีมาที่สมมติคร่อมฝั่งน้ำ

อพัทธสีมา ๓ ชนิด (หากนับสีมาสังกระเข้าด้วยมี ๔ ชนิด) คือ

๑. คามสีมา แดนบ้านที่ฝ่ายอาณาจักรจัดไว้
๒. สัตตัพภันตรสีมา เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นในป่าชั่ว ๗ อัพภันดร
๓. อุทกุกเขปสีมา เขตแห่งสามัคคีชั่ววักน้ำสาด
๔. สีมาสังกระ สีมาที่คาบเกี่ยวปะปนกัน

สีมาสังกระ คือ การสมมติสีมาคาบเกี่ยวกัน เช่น การสมมติสีมาใหม่คาบเกี่ยวกับสีมาเดิม
แต่สงฆ์ไม่รู้ว่าเป็นสีมาเดิม ทั้งไม่ได้ทำการสวดถอนก่อน สีมาใหม่ที่สมมติขึ้นนั้นย่อมวิบัติใช้ไม่ได้

การขอพระราชทานวิสุงคามสีมานั้น เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อถวายที่ดินบริเวณนั้น
ให้เป็นสิทธิ์ของสงฆ์ ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา คือ เขตแดนที่ได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่
ทำสังฆกรรม เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด ซึ่งคำว่า วิสุง แปลว่า ต่างหาก คาม แปลว่า บ้าน
การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำการใด ๆ
บนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อมีพระบรมราชานุญาตพระราชทานที่ดินนั้นเป็นเขต
พุทธาวาสแก่หมู่สงฆ์แล้ว ที่ดินที่พระราชทานนั้นก็เป็นสิทธิ์ขาดของพระพุทธศาสนา ซึ่งใคร ๆ จะทำการ
ซื้อขาย จำหน่ายจ่ายโอนมิได้โดยเด็ดขาด ถือเป็นเขตพุทธาวาส คือ เป็นอาวาสหรือเขตแดนของพระพุทธเจ้า
และพระพุทธศาสนา หรือสิทธิของพระภิกษุสงฆ์โดยถูกต้องสมบูรณ์

จากนั้น“การฝังลูกนิมิต” นี้ มีชื่อเรียกเป็นทางการอีกอย่างหนึ่งว่าการ “ผูกพัทธสีมา” ซึ่งก็แปลว่า
เขตทำสังฆกรรมที่กำหนดตามพุทธานุญาต โดยปัจจุบันจะเริ่มจากพระสงฆ ประชุมพร้อมกันในอุโบสถ
หรือโบสถ์ เพื่อทำพิธีสวดถอน เพื่อให้แน่ใจว่ามิให้อาณาบริเวณที่จะกำหนดเป็นเขตแดนนี้ไปทับที่ที่เคยเป็น
สีมาเดิมหรือสีมาเก่ามาก่อน หรือเป็นที่ที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ก่อน เมื่อพระสงฆ์สวดถอนเป็นแห่ง ๆ ไปตลอด
สถานที่ที่กำหนดเป็นเขตแดนทำสังฆกรรมแล้วว่า มีอาณาเขตเท่าใด โดยทั่วไป ลูกนิมิตที่ใช้ผูกสีมาจะมี
จำนวน ๙ ลูก โดยฝังตามทิศต่าง ๆ โดยรอบอุโบสถทั้ง ๘ ทิศ ๆ ละ ๑ ลูก และฝังไว้กลางอุโบสถอีก ๑ ลูก
เป็นลูกเอก เมื่อจะผูกสีมาพระสงฆ์จำนวน ๔ รูป หรือจตุวรรคสงฆ์ ก็จะเดินตรวจลูกนิมิตที่วางไว้ตามทิศต่าง ๆ
โดยเริ่มตั้งแต่ทิศตะวันออกเป็นต้นไปเรียกว่า สวดทักสีมา เวียนขวาไปจนครบทั้ง ๘ ทิศ หรือ ๘ ลูกนิมิต
จนครบทุกทิศและมาจบที่ทิศตะวันออกอีกครั้ง เพื่อให้แนวนิมิตบรรจบกันเป็นสี่เหลี่ยมหรือวงกลม เมื่อสวด
ทักนิมิตจบแล้ว ก็จะกลับเข้าไปประชุมสงฆ์ในอุโบสถ และสวดประกาศสีมาอีกครั้ง หลังจากนั้นก็จะทำการ
ตัดลูกนิมิตลงหลุมเพื่อกลบ แล้วสร้างเป็นซุ้มหรือก่อเป็นฐานตั้งใบสีมาต่อไป

ซึ่งใบสีมานี้จะถูกตั้งหรือตั้งครอบอยู่บนลูกนิมิตที่ถูกฝังอยู่ภายใต้พื้นดิน ซึ่งที่เป็นดังนี้ก็อาจเพื่อให้เป็นที่
สังเกตได้ง่ายว่าสถานที่ตรงบริเวณใดเป็นที่ประดิษฐานลูกนิมิตไว้ภายใต้เพื่อให้รู้เขตแดนของวิสุงคามสีมา
ที่เป็นลูกนิมิตฝังอยู่ให้สังเกตได้ชัดเจนและง่ายขึ้น และใบเสมานั้นก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นตามแต่ช่างจะออกแบบ
ให้สวยงามโดยนำนิมิตหมายเอาสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาประดิษฐ์เป็นลวดลายของใบเสมา เช่น
เครื่องหมายธรรมจักร สัญลักษณ์กวางหมอบ หรือรูปเทวดา

ความหมายของลูกนิมิตทั้ง 9 ลูก

ลูกนิมิตทั้ง ๙ ลูกนั้นจำนวน ๑ ลูก ซึ่งถือเป็นนิมิตเอกนั้นจะตั้งอยู่กลางอุโบสถเพื่อถวายการบูชาพระพุทธเจ้า
ส่วนจำนวน ๘ ลูก ถูกจัดให้อยู่ตามทิศต่าง ๆ โดยรอบอุโบสถ ซึ่งทิศที่อยู่รอบอุโบสถนั้นเรียกว่าทิศทั้ง ๘ มี
ความหมายที่เป็นมงคล คือ เพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือองค์แทนพระอรหันต์สาวก และเพื่อเป็นการบูชา
พระอรหันต์สาวกผู้ใหญ่ประจำทิศ หรืออีกนัยหนึ่งนั้นเป็นองค์แทนพระอรหันต์สาวกที่รักษาอุโบสถ
หรือเขตพุทธาวาสของพระพุทธเจ้า และเป็นการบูชาเทพนพเคราะห์ทั้ง ๙ ให้เกิดบุญและสิริมงคลแก่ตัวเอง
และครอบครัว โดยแต่ละลูกมีความหมายดังนี้

๑. นิมิตลูกเอก เป็นลูกที่มีความสำคัญมาก ถือเป็นประธานของลูกนิมิตทั้งหมด ฝังไว้บริเวณใจกลางอุโบสถ
หรือบางท่านเรียกว่า สะดือโบสถ์ ก็มี รายล้อมด้วยลูกนิมิตอีก ๘ ลูก เป็นการถวายการบูชาพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นพระบรมศาสดาเอกของพระพุทธศาสนาผู้เป็นพระประมุขแห่งสงฆ์ เป็นการอัญเชิญและบูชาพระเกตุ
เทพผู้คุ้มครองสถานที่ส่วนกลางของอุโบสถ
๒. ทิศตะวันออก(ทิศบูรพา) ลูกที่อยู่ด้านหน้าของอุโบสถ ถือเป็นลูกบริวารที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ
เป็นลูกแรกที่ต้องเริ่มนับ ยกเว้นลูกกลางสะดือโบสถ์ ดังนั้น จึงเปรียบนิมิตลูกนี้เหมือนปฐมสาวก หรือ
พระสาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้า คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอัครสาวกผู้ได้รับยกย่อง
ว่าเป็นเอตทัคคะผู้รู้ราตรีกาลนาน คือ มีความรู้มาก ผ่านโลกมามาก
เนื่องจากท่านเป็นผู้เดียว
ที่เมื่อยังเป็นดาบสที่ทำนายพระราชกุมารรคือพระพุทธเจ้าเมื่อมีพระประสูติกาล และทำนายว่าพระองค์
จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และพระดาบสก็เฝ้ารอการบรรพชาของพระองค์เพื่อจะได้ออกบวชตาม
พระองค์ และถวายตัวเป็นพระอัครสาว การฝังลูกนิมิตไว้ด้านทิศตะวันออกเพื่อเป็นการบูชาพระ
อัญญาโกณฑัญญะ เป็นการอัญเชิญและบูชาพระจันทร์ เทพผู้คุ้มครองสถานที่ส่วนด้านหน้าของอุโบสถ
๓. ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ทิศอาคเนย์) หรือด้านหน้าฝั่งขวาของอุโบสถ การฝังลูกนิมิตไว้ทางทิศนี้
เพื่อบูชา พระมหากัสสปะเถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้ทรง
ธุดงค์คุณ
ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานสงฆ์ทำสังคายนา เป็นการอัญเชิญและบูชาพระอังคาร
เทพผู้คุ้มครองสถานที่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอุโบสถอีกองค์หนึ่ง
๔. ทิศใต้ (ทิศทักษิณ) เป็นลูกนิมิตที่อยู่ด้านขวาของอุโบสถ เป็นการบูชาพระสารีบุตร
พระอัครสาวกฝ่ายขวา พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทาง
ปัญญา
เป็นการอัญเชิญและบูชาพระพุธ เทพผู้คุ้มครองสถานที่ด้านทิศใต้ของอุโบสถ
๕. ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ทิศหรดี) หรือทิศด้านหลังฝั่งขวาของอุโบสถ การฝังลูกนิมิตทางด้านทิศนี้
เพื่อบูชาพระอุบาลีเถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางวินัย
และเป็นการอัญเชิญและบูชาพระเสาร์ ซึ่งเป็นเทพหนึ่งในนพเคราะห์ทั้ง ๙ คือ เทพผู้ดูแลคุ้มครอง
สถานที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุโบสถ
๖. ทิศตะวันตก(ทิศประจิม) เป็นลูกนิมิตที่ฝังอยู่ด้านหลังของตัวอุโบสถ เป็นสัญลักษณ์หรือ
เครื่องหมายของเงา ซึ่งเปรียบได้กับพระเถระที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก คอยเฝ้าติดตามดูแลปรนนิบัติ
รับใช้พระพุทธองค์เหมือนเงาตามตัว ดังนั้น การฝังลูกนิมิตทางทิศนี้ เพื่อเป็นการบูชา
พระอานนท์เถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางพหูสูต
และเป็นมหาพุทธอุปัฎฐากแด่พระพุทธเจ้า
และอัญเชิญบูชาพระพฤหัสบดี เทพคุ้มครอง
ทิศตะวันตก
๗. ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ(ทิศพายัพ) การฝังลูกนิมิตที่ฝังอยู่ด้านหลังฝั่งซ้ายของอุโบสถ
ทางด้านทิศนี้ เป็นการบูชา พระควัมปติเถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น
เอตทัคคะผู้เลิศในทางลาภสักการะและรูปงาม
ท่านเป็นพระอรหันต์องค์ที่ ๑๐ ของโลก
และเป็นสหาย ๑ ใน ๔ ของพระยสะกุลบุตรอีกทั้งเป็นบุตรของนางสุชาดาผู้ถวายข้าว
มธุปายาสในวันก่อนที่พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และอัญเชิญบูชา
พระราหู ซึ่งเป็นเทพประจำทิศนี้
๘. ทิศเหนือ(ทิศอุดร) ลูกนิมิตที่ฝังทางด้านทิศนี้ถือเป็นลูกที่มีความสำคัญอีกลูกหนึ่ง
ซึ่งอยู่ด้านซ้าย ของตัวอุโบสถ เพื่อเป็นการบูชา พระมหาโมคคัลลานะ พระอัครสาวก
ฝ่ายซ้ายของพระพุทธเจ้า ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางแสดงฤทธิ์
และอัญเชิญบูชาพระศุกรเทพคุ้มครองรักษาประจำทิศนี้
๙. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ(ทิศอีสาน) ลูกนิมิตที่ฝังอยู่ด้านหน้าฝั่งซ้ายของอุโบสถทางทิศเหนือนี้
เป็นสัญญลักษณ์แห่งความผูกพัน มีผลทางด้านจิตใจ ถือเป็นทิศสุดท้าย เพื่อเป็นการบูชา
พระราหุลเถระ ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ พระอัครสาวกผู้ได้รับการ
ยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางการศึกษา
และอัญเชิญบูชาพระอาทิตย์
เทพผู้คุ้มครองรักษาประจำทิศ

อานิสงส์ของการฝังลูกนิมิต

ด้วยเหตุที่ในสมัยก่อน การที่จะสร้างอุโบสถได้หลังหนึ่ง ๆ หรือแม้จะซ่อมแซมอุโบสถเก่าให้สวยงามขึ้นมิใช่เรื่องง่าย ๆ และต้องใช้ระยะเวลานานมาก ดังนั้น จึงเชื่อกันว่า หากใครได้มีโอกาสทำบุญ “ฝังลูกนิมิต” หรือว่าได้ร่วมสร้างอุโบสถไว้ในพระพุทธศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา คือ การบูชาคุณของพระพุทธเจ้า และเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้พระได้ใช้ทำสังฆกรรมนั้น จะมีอานิสงส์ถึง ๖ ประการด้วยกัน คือ

๑. ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บทุกชาติ ปราศจากอุปัททวะ ทั้งหลาย
๒. ไม่เกิดในตระกูลต่ำ
๓. หากเกิดในมนุษย์โลก ก็จะเกิดเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์
๔. หากเกิดในเทวโลก ก็จะเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช
๕. จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง มีผิวพรรณผ่องใส
๖. มีอายุยืนนาน

นอกจากนี้ ในพิธีผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตนั้นนิยมจะใส่สมุด ดินสอ เข็ม และด้าย เป็นต้น
ลงไปในหลุมที่ฝังลูกนิมิตด้วย ทั้งนี้เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นนิมิตหมายแห่งความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้สร้างบุญ ซึ่งขอนำมาอรรถาธิบายโดยสังเขป ดังนี้

๐ เข็ม หมายถึง ความเป็นผู้มีปัญญา สามารถรู้แจ้งแทงตลอดอย่างทะลุปรุโปร่ง
๐ ด้าย หมายถึง ความเป็นผู้มีอายุยืนยาวตราบเท่าอายุขัย
๐ ธูป หมายถึง พระคุณของพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ
และพระมหากรุณาธิคุณ ที่เราทั้งหลายน้อมรำลึกถึงอยู่ ธูปจึงเป็นสัญญลักษณ์แห่งการบูชา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๐ เทียน หมายถึง พระธรรมอันแสดงถึงความสว่างไสวประดุจดังประทีปส่องสว่าง ฉะนั้น
เทียนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาพระธรรม
๐ ดอกไม้ หมายถึง ความสวยงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ดอกไม้จึงเป็นสัญลักษณ์
แห่งการบูชาพระสงฆ์ ซึ่งดอกไม้หลากสีสัน เมื่อนำมาใส่แจกันจัดเป็นดอกไม้จึงทำให้เกิด
ความสวยสดงดงาม อุปมาดังหมู่สงฆ์ที่มาจากต่างตระกูล ต่างครอบครัวเมื่อมาอยู่ร่วมกัน
ในร่มพระพุทธศาสนาแล้วก็ก่อให้กิดความงดงามอย่างยิ่ง
๐ แผ่นทอง หมายถึง ธรรมดาว่า ทองคำ เป็นคุณชาติที่สูงค่าที่นำมาปิดองค์พระ ลูกนิมิต
ช่อฟ้า เป็นเครื่อง แสดงให้เห็นถึงความยกย่อง เชิดชูบูชาด้วยใจที่สูงส่ง ผลานิสงส์ย่อม
อำนวยผลให้ได้ผลสำเร็จในสิ่งที่เป็น ความงามโดยประการทั้งปวง
๐ สมุด,แผ่นกระดาษ ดินสอ สำหรับจดบันทึกจารึกสิ่งต่าง ๆ ไว้ หมายถึง
ความเป็นผู้ทรงจำดี ไม่มีหลงลืมเลือน

อันที่จริงแล้ว “การฝังลูกนิมิต” เพื่อกำหนดเขตทำสังฆกรรม หรือปัจจุบันก็คือ การกำหนดเขตที่เป็นอุโบสถนั้น เป็นกิจของสงฆ์โดยเฉพาะ ฆราวาสหรือชาวบ้านไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่เนื่องจากปัจจุบันอุโบสถมิเพียงแต่จะเป็นสถานที่ที่สงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมเท่านั้นแต่ยังเป็น ศาสนสถานที่พุทธศาสนิกชนใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมอื่น ๆ ด้วย อีกทั้ง ไม่ว่าจะสร้างหรือซ่อมแซมอุโบสถขึ้นใหม่จำเป็นต้องมีการผูกสีมาใหม่ทุกครั้ง ดังนั้นทางวัดต่าง ๆ จึงมักจะประกาศเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนได้มาทำบุญสร้างกุศลเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และยังเป็นการยกย่องบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ อีกด้วย


1 ความคิดเห็น:

  1. ทำไมต้องสนเข็มในพิธีฝ้งลูกนิมิตด้วย ไม่เข้าใจว่าการสนเข็มมีควาามหมายอย่างไร

    ตอบลบ