ในการต่อสู้ทางการเมืองกับอังกฤษนั้น มหาตมะคานธียึดมั่นในแนวทางอหิงสา (Ahimsa) หรือการไม่เบียดเบียน ซึ่งเป็นหลักจริยศาสตร์ดั้งเดิมของฮินดูและพุทธศาสนา รากศัพท์เดิมนั้นหมายถึงการไม่ฆ่าฟันหรือทำร้ายผู้อื่น แต่ในทัศนะของคานธีเห็นว่าคำว่าอหิงสา “มิได้มีนัยยะปฏิเสธ คือการไม่ทำร้ายเท่านั้น หากยังรวมถึงนัยยะในเชิงบวก ได้แก่ความรัก ทำดีต่อทุกคนแม้กระทั่งกับคนชั่ว” และว่า “วิธีที่ดีที่สุดในการที่เราจะใช้ในการตอบโต้การกระทำอันรุนแรงและเลวร้ายของรัฐบาล ไม่ใช่อยู่ที่เราจะต้องกระทำการอันรุนแรงและเลวร้ายยิ่งไปกว่ารัฐบาล หากอยู่ที่เราต้องเอาชนะความรุนแรงด้วยความไม่รุนแรง และเอาชนะความเลวร้ายด้วยความจริง วิธีนี้เท่านั้นที่จะก่อประโยชน์ให้แก่เรา”
อหิงสาในทัศนะของคานธีต้องประกอบด้วยหลัก 5 ประการ คือ ความรัก ความอดทน ความกล้าหาญ ความบริสุทธิ์ และความซื่อสัตย์ โดยกล่าวถึงความรักว่า “ความรักเป็นพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกรู้จัก และขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่อ่อนโยนที่สุดที่มนุษย์รู้จักด้วย” ดังนั้นการต่อสู้ตามหลักอหิงสาจึงต้องมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง และเอาชนะศัตรูด้วยความรัก โดยที่“หนทางแห่งความดีนั้นดำเนินไปอย่างเชื่องช้า” คานธีจึงสอนให้รู้จักความอดทน “บุคคลผู้ต้องการประกอบคุณงามความดีนั้นย่อมไม่เห็นแก่ตัวและไม่รีบร้อน เยารู้ดีว่าการทำให้ผุ้อื่นซาบซึ้งในคุณงามความดีนั้นต้องอาศัยเวลา”
หลักสำคัญประการหนึ่งของอหิงสาก็คือความกล้าหาญ คานธีกล่าวว่า “ความกล้าหาญหมายถึงการปราศจากความกลัวในทุกลักษณะ มันเป็นเสรีภาพจากความเกรงกลัวในลักษณะต่าง ๆ เช่น ความกลัวตาย ความกลัวการประทุษร้าย การกลัวความจน หิวโหย ตกต่ำ คำวิพากษ์วิจารณ์และความโกรธแค้นจากบุคคลอื่น ฯ เป็นต้น”
การต่อสู้ในแนวทางอหิงสา จะต้องเป็นผู้ที่มีความบริสุทธื์ทั้งกาย วาจา ใจ ปราศจากอกุศลจิตหรือสิ่งเคลือบแฝงใด ๆ และต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอย่างเคร่งครัด ยอมรับความผิดพลาดอย่างองอาจ คานธีให้ความสำคัญต่อความซื่อสัตย์เป็นอย่างมาก โดยได้เน้นในเรื่องของ สัตยา (Satya)หรือความสัตย์ กับสัตยาเคราะห์ (Satyagraha) หรือพลังแห่งความสัตย์ ไว้เป็นพิเศษ โดยบันทึกไว้ว่าการไม่ใช้ความรุนแรงหรือหิงสาเป็น “พลังที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวของชีวิต” และที่ใดมีอหิงสาที่นั้นมีความสัตย์ และความสัตย์ก็คือพระเจ้า
สำหรับสัตยาเคราะห์ คานธีได้ให้อรรถาธิบายว่าหัวใจของสัตยาเคราะห์ คือ “การอุทิศชีวิตให้กับสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง” และ “ผู้ปฏิบัติสัตยาเคราะห์นั้นได้ตายจากกายของตนตั้งแต่ก่อนที่ศัตรูจะพยายามผลาญชีวิตของเขาเสียอีก กล่าวคือเขาเป็นอิสระจากการติดยึดอยู่กับร่างกาย และมีชีวิตอยู่กับชัยชนะแห่งจิตวิญญาณเท่านั้น”
เงื่อนไขของความสำเร็จแห่งสัตยาเคราะห์มีด้วยกัน 4 ประการ คือ
1. ผู้ปฏิบัติสัตยาเคราะห์จะต้องไม่มีความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามอยู่ในใจ
2. ประเด็นในการต่อสู้จะต้องเป็นประเด็นที่มีเนื้อหาจริงจังและเป็นเรื่องที่ถูกทำนองคลองธรรม
3. ผู้ปฏิบัติสัตยาเคราะห์จะต้องพร้อมที่จะทนทุกข์ทรมาณจนถึงที่สุด
4. การสวดภาวนาเป็นปัจจัยสำคัญสูงยิ่งต่อสัตยาเคราะห์ เพราะความศรัทธาในพระเจ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อสัตยาเคราะห์
การต่อสู้ในแนวทางอหิงสาของคานธีผ่านการทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งจากตนเอง
คนรอบข้าง เพื่อนร่วมชาติ และศัตรู แต่ไม่ว่าการทดสอบจะหนักหนาสาหัสขนาดไหน คานธีก็ไม่เคยลดราหรือเลิกล้มปณิธานของตน จนในที่สุดวิถีและปรัชญาของคานธีก็เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
ในปี 1942 คานธีได้เรียกร้องการประกาศเอกราชของอินเดีย ด้วยการยืนยันว่า “นี่คือคำสวดสั้น ๆ ที่ข้าพเจ้าขอมอบแก่ท่านว่าจะอยู่หรือตาย เราจะปลดปล่อยอินเดียหรือมิแะนั้นก็ยอมตาย” อังกฤษขานรับคำเรียกร้องด้วยการจับคานธีและสมาชิกสภาคองเกรสทั้งหมดเข้าคุก
2 ปีต่อมา เมื่อเห็นว่าไม่มีทางที่จะหน่วงเหนี่ยวอินเดียให้อยู่ภายใต้จักรวรรดิ์ได้ต่อไปอังกฤษได้ยินยอมเจรจากับคานธีซึ่งขณะนั้นยังถูกจำคุกอยู่ และในวันที่ 14 สิงหาคม 1947อินเดียก็ได้รับเอกราช ท่ามกลางความเจ็บปวดของคานธีเมื่อประเทศถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคืออินเดียและปากีสถานโดยใช้ศาสนาฮินดูและมุสลิมเป็นเกณฑ์กำหนด ประชาชนทั้งสองศาสนาต่างก็อพยพโยกย้ายไปยังอินเดียและปากีสถานอย่างชุลมุน ความแตกแยกและความรู้สึกที่เป็นปรปักษ์ต่อกันเมื่อครั้งอดีตคุโชนขึ้นอีกครั้งและโหมฮืออย่างรวดเร็ว ต่างฝ่ายต่างเข่นฆ่าและทำร้ายกันอย่างบ้าคลั่ง ผู้คนล้มตายเหมือนสัตว์ที่ถูกล่า พวกฮินดูหัวรุนแรงไม่พอใจแนวทางอหิงสาของคานธี และเห็นว่าคานธีเป็นต้นเหตุให้อินเดียถูกแบ่งแยกถึงขนาดที่เสียงตะโกนว่า “คานธีจงเจริญ” แปรเปลี่ยนเป็น “คานธีลงนรกไป”
และในวันที่ 30 มกราคม 1948 ขณะที่คานธีกำลังเดินไปร่วมพิธีสวดมนต์ประจำวันที่สวนสาธารณะกลางกรุงนิวเดลี ชายฮินดูผู้หนึ่งก็แหวกฝูงชนเข้าไปถึงตัวคานธี ยอบกายลงแสดงความเคารพ พร้อมกับเอ่ยวาจาว่า “คานธี ท่านมาช้าไป”...
.....................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น