เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สนทนาธรรมะกับพระอาจารย์ชยสาโร



ศาสนาพุทธกับแนวคิดของโลกตะวันตก

สนทนาธรรมะกับพระอาจารย์ชยสาโร

บันทึกถ้อยคำสนทนาระหว่างพระอาจารย์ชยสาโรและคณะผู้เดินติดตาม

ในการเดินตามธรรม ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2544

คัดลอกจาก http://www.taodum.com/bhuda/ask1.htm

ถาม : ผมอยากเรียนถามประวัติของพระอาจารย์ และเหตุผลในการมาบวชเป็นพระ ในศาสนาพุทธ ทั้ง ๆ ที่เป็นชาวตะวันตก?

พระอาจารย์ชยสาโร : ประวัติของอาตมายาว แต่พอจะเล่าสั้น ๆ ได้ว่า ตอนเด็กเป็นคนขี้โรค เป็นโรคหืดมาตั้งแต่เด็ก แต่โชคดีที่เป็นคนชอบอ่าน สนใจ ค้นคว้า จึงมีความคิดอ่าน มากกว่าเด็กทั่วไป เมื่ออายุ 14 -15 ปี เริ่มคิดถึงชีวิตที่ดี ชีวิตที่ประเสริฐ ชีวิตที่มีความหมาย ทำไมคนบนโลกที่อยู่มากมายล้วนต้องการมีความสุข แต่ทำไมคนที่มีความสุขจึงมีน้อย ทำไมโลกไม่ยุติธรรม อาตมาจึงหาคำตอบโดยการอ่าน เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ จึงอ่านพุทธศาสนา ซึ่งก็มีแนวคิดตรงกับตัวเองว่า ที่คนเป็นทุกข์เพราะไม่เข้าใจใจตนเอง จึงสนใจพุทธศาสนา มากขึ้นเมื่ออาตมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จึงขอพ่อแม่ไปอินเดีย เพื่อไปศึกษาชีวิตหนึ่งปี แต่พอไปถึงใช้เวลาถึงสองปี เมื่อกลับไปก็ไม่อยากเรียนแล้ว ต่อมาได้ไปเรียนวิปัสสนา ก็เจออาจารย์ที่เคยบวชเป็นพระอยู่ที่เมืองไทย ทำให้มีความสนใจอยากบวช อาตมาได้ยิน ชื่อเสียงของพระสุเมทโธที่เมืองนอก จึงบวชกับท่านปีหนึ่ง แล้วจึงได้ยินชื่อหลวงพ่อชา ต่อมาจึงบวชกับหลวงพ่อชา มาอยู่เมืองไทยถึงปัจจุบันก็ 23 ปีแล้ว

ถาม : ชาวอังกฤษส่วนมากมีความคิดเห็นอย่างไรครับ กับการเผยแพร่พุทธศาสนาในอังกฤษ?

พระอาจารย์ชยสาโร : ชาวอังกฤษมีความหลากหลายเกือบทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การแต่งตัว การกินอาหาร การนับถือศาสนา ใครสนใจอย่างไรก็มีสิทธิทำได้ คนอังกฤษเปิดกว้างเรื่องศาสนา การเผยแพร่ศาสนาของพุทธก็ต่างจากการเผยแพร่ของ ศาสนาอื่น ซึ่งทำทุกวิถีทางที่จะให้คนมาสนใจ คนอังกฤษจึงนับถือศาสนาพุทธที่ไม่ก้าวร้าว ไม่สอนคนที่ไม่สนใจ ทำให้เกิดความสนใจในคนระดับปัญญาชน คนที่มีการศึกษา แม้จะมีผู้สนใจน้อย แต่ก็เป็นคนที่มีคุณภาพ มีความตั้งใจ ศาสนาพุทธจะมีอิทธิพลต่อแนวคิดของนักวิชาการมาก แต่เขาจะไม่ใช้คำว่า พุทธศาสนาเพื่อไม่ให้ผู้อ่านสะดุดตา

ถาม : การอธิบายพุทธศาสนาให้ชาวตะวันตกฟัง ควรอธิบายอย่างไร?

พระอาจารย์ชยสาโร : ชาวตะวันตกมักถามว่า “What are you belief?” เพราะเขาเข้าใจว่า ศาสนาคือความเชื่อ จึงต้องอธิบายก่อนว่าศาสนาของเราต่างออกไป ศาสนาพุทธเป็นการศึกษา พัฒนาทุกด้านของชีวิต ทั้งจิตใจ ปัญญา ให้หมดไปจากโลภ โกรธ หลง เหลือแต่ความเมตตากรุณา ซึ่งพระพุทธเจ้า พระอริยะสงฆ์ทำได้ ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้เชื่อในคัมภีร์ แต่ต้องนำคำสอนในคัมภีร์ไปใช้

ถาม : กรณีรัฐบาลตาลีบันทำลายพระพุทธรูปยืนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเรื่องที่ควร ประณาม หรือไม่ควรยึดติดกับวัตถุ ในมุมมองของพระอาจารย์?

พระอาจารย์ชยสาโร : อาตมาเคยไปนมัสการพระพุทธรูปทั้งสองนี้ การทำลายพระพุทธรูป เกิดจากแนวคิดที่คับแคบและขาดสติปัญญา เพราะการเดินทางไปนมัสการยากลำบาก และไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการนับถือศาสนาได้ การทำลายกลับ ทำให้เกิดผลเสียต่อศาสนาอิสลามในแง่ที่ถูกมองว่าก้าวร้าว น่ากลัว ไม่มีเหตุผล

ในดินแดนนี้ ศาสนาอิสลามเข้ามาหลังศาสนาพุทธด้วยซ้ำ จริง ๆ แล้วพระพุทธรูป ทั้งสองนี้ถูกทำลายมาแล้วหลายครั้งทั้งที่จมูกและหน้าผาก แต่สมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยี ที่จะทำลายพระพุทธรูปหินได้ทั้งหมด แต่ตอนนี้ทำได้ รัฐบาลตาลีบันไม่สนใจความรู้สึก ของชาวพุทธ และคนทั่วโลกเลย จริง ๆ แล้วคนทั่วโลกเป็นเพื่อนกัน ควรเคารพ เห็นใจกัน ก็เป็นที่น่าเสียดาย เป็นประเด็นหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาตามหลักความไม่เที่ยงแล้วก็จริงอยู่ น่าเสียดายก็จริง แต่ก็เป็นธรรมดาของโลก

ถาม : การทำลายพระพุทธรูปของตาลีบันก็เป็นสิ่งที่แย่มาก แต่การทำลายพระพุทธรูปที่เกิดขึ้น ในเมืองไทย ที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำเป็นเรื่องที่น่าเศร้า

พระอาจารย์ชยสาโร : เราควรดูที่สาเหตุ รากเหง้าของปัญหา ซึ่งสาเหตุมาจากค่านิยมในสังคม ที่วิปริตไปว่า สิ่งที่ให้ความสำเร็จสูงสุดของชีวิตคือเงินทอง เมื่อคนในสังคมเชื่ออย่างนี้ จึงเป็นภัยต่อศาสนา คนที่มีส่วนสร้างค่านิยมนี้ให้สังคมก็มีส่วนผิด อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเราปล่อยให้เกิดค่านิยมเช่นนี้ในสังคม

ถาม : ผมอยากทราบว่าในหน่วยงานราชการอังกฤษนี่มีคนคอรัปชั่นเยอะ ไหมครับ? เพราะอะไร?

พระอาจารย์ชยสาโร : ก็ไม่ใช่ว่าธรรมชาติของคนอังกฤษจะดีกว่าคนไทย แต่ว่าอยู่ที่ระบบ สังคม ก็จะอธิบายตามแนวที่เจ้าคุณพระธรรมปิฏกเคยอธิบาย ซึ่งอาตมาว่าใช่ คือท่านจะพูดถึง พรหมวิหารสี่คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทีนี้เมืองไทยเป็นสังคมที่เน้นในเรื่องเมตตา กรุณา ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แล้วก็เน้นเรื่องน้ำใจ เราจะเห็นว่าในประวัติศาสตร์ของไทยเนี่ย ที่สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่มีปัญหาว่าปฏิบัติไม่ครบวงจร ขาดอุเบกขา ความเป็นกลาง เป็นตัวปัญญา แล้วถ้ามีสังคมที่เน้นเมตตากรุณา ขาดอุเบกขาเป็นไง

นี่ก็ตรงกับที่อาตมาพูดเมื่อกี้ เช่นชาวตะวันตกตั้งแต่เด็ก จะต้องมีห้องนอนของตัวเองถึงจะดี ถ้าจะต้องไปนอนกับคนอื่นจะรู้สึกอึดอัด ไม่ว่าจะเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน อยากมีที่ส่วนตัว อยากprivate ทีนี้เมื่อมาอยู่วัดป่าก็มีกุฏิส่วนตัว อยู่ในป่า คนไทยก็โอ้โห! ท่านนี่เก่งนะอยู่ในป่า อยู่รูปเดียว ไม่ต้องอยู่กับเพื่อน ซึ่งเราก็ไม่รู้สึกว่า ตัวเองเก่งเลย ถ้าจะต้องให้มีเพื่อนมาอยู่ด้วยก็ไม่อยู่ละฮะ ไม่เอา (ยิ้ม) ชอบอยู่คนเดียว

ถาม : แสดงว่าชาวตะวันตกนี่เขาก็ไม่ค่อยกลัวอะไรเลย ไม่ค่อยกลัวผี ไม่กลัวความเงียบเหงา?

พระอาจารย์ชยสาโร : กลัวอย่างอื่น แต่กลัวผีจะมีน้อย ถ้ามาอยู่ในป่านี่ สัญญาของ ชาวตะวันตกก็ไม่ได้เอาผีกับป่ามาร่วม แต่สำหรับคนอังกฤษนี่ก็ถ้าเข้าไปอยู่ในบ้านหลังเก่า ๆ คงจะเห็นในหนังผีฝรั่งนะ เปิดประตูมา แอ๊ด นี่ก็กลัวเหมือนกัน แต่ถ้ามาอยู่ในป่านี่ก็ไม่กลัวผี เพราะในสัญญาของชาวตะวันตก ผีไม่ได้อยู่ในป่า ผีจะอยู่ในบ้าน

ถาม : อย่างการเกิดโรควัวบ้าในอังกฤษนี่ ถือว่าเป็นเคราะห์กรรมของคนอังกฤษที่กิน วัวเยอะหรือเปล่าคะ?

พระอาจารย์ชยสาโร : เรื่องกรรมนี่ไม่ทราบ แต่ว่ากรรมที่เห็นชัดคือ กรรมที่เกิดจากความโลภ ของพวกที่เลี้ยงสัตว์ สิ่งที่น่าเกลียด คือ วัวเป็นสัตว์ที่กินหญ้า แต่ก็เอากระดูก เอาเนื้อสัตว์ป่น ให้สัตว์กิน เป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ อาตมาว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญ ทำอะไรให้ผิดธรรมชาติ โดยไม่คิดให้รอบคอบ คิดแต่ว่าจะได้กำไรเท่านั้น ที่อังกฤษยังมี Food and mouth disease นี่เป็นตลกใหญ่ที่ไม่ตลกนะ คือโรคนี้ไม่เป็นอันตรายเลย ถ้าวัวเป็นเค้าบอกว่ามันเทียบได้กับ ไข้หวัดธรรมดา คนที่กินวัวเป็นโรคนี้เข้าไปไม่เป็นอะไรเลย เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงเท่าไหร่ แต่ก็ไม่วายต้องฆ่าสัตว์ทุกตัวที่เป็น

ถาม : เรื่องฆ่าสัตว์นี่ คริสเตียนถือว่าผิดไหมครับ?

พระอาจารย์ชยสาโร : เค้าถือว่าไม่ผิด ตามหลักศาสนาคริสต์ พระเจ้าสร้างสัตว์เพื่อรับใช้มนุษย์ ก็มีสิทธิที่จะใช้กัน

ถาม : พุทธศาสนามองเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง ขัดแย้งกับต่างประเทศหรือไม่?

พระอาจารย์ชยสาโร : สิทธินี่ไม่มีอยู่โดยธรรมชาติ เป็นเรื่องสมมุติ มนุษย์สมมุติขึ้น เพื่อป้องกันไม่ใช้ผู้น้อยถูกผู้มีอำนาจเอารัดเอาเปรียบ เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกที่อยู่กันอย่าง ตัวใครตัวมัน ทุกคนต้องสู้ ในสังคมพุทธจะเน้นในเรื่องหน้าที่ ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มากกว่าเรื่องสิทธิ แต่การที่มีการเบียดเบียนกัน อย่างเช่น รัฐบาลมีการเบียดเบียนประชาชน อย่างนี้ก็มีอยู่ทุกประเทศ จึงต้องมีกฎหมายหรือหลักการสมมุติขึ้น เพื่อบังคับให้รัฐบาล อยู่ในกรอบแห่งความถูกต้อง ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่ามันเป็นเรื่องสมมุติ จึงมีปัญหาว่าเราจะอยู่ตรง จุดไหน มีสิทธิมนุษยชนแล้ว ก็ต้องมีสิทธิผู้หญิง สิทธิเกย์ สิทธินั่น สิทธินี่ มันก็เลยวุ่นวาย ไปหมด แต่ที่น่ากลัวมากคือ สิ่งที่คนไม่ค่อยสังเกต คือในการสร้างสถาบันทางเศรษฐศาสตร์ เช่น WTO เค้าจะมีกฎหมายที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตเรามาก ข้อหนึ่ง คือ ถือว่าบริษัทข้ามชาติ มีสิทธิเท่ากับตัวบุคคล ทำให้บริษัทสามารถฟ้องรัฐบาล เช่นว่า ในประเทศของเรามีบริษัท อเมริกามาลงทุน แล้วก็ลงทุนไปแล้วมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านไม่ชอบ จึงมีการเดินขบวน แต่มีการลงทุนไปแล้ว บริษัทอาจจะสามารถฟ้องร้องรัฐบาล หรือว่าชาวบ้านในประเทศนั้นว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขา แม้ว่าเขาจะเป็นบริษัท กลายเป็นว่าบริษัทต่างประเทศจะมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลของเรา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ส่วนกลาง หรือรัฐบาลในท้องถิ่น เขาจะอ้างว่าเป็นกฎหมายนานาชาติ เขาฉลาดที่จะทำให้เป็น กฎหมายนานาชาติเพื่อไม่ให้เห็นเป็นผลประโยชน์ของนักธุรกิจ หรือพ่อค้า เพราะว่า ในการร่างกฎหมายนานาชาติ ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดกฎหมายก็คือผู้ที่มีเงิน ผู้ที่มีอำนาจ ก็คือ อเมริกา ประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเขาก็ต้องช่วยพวกบริษัทยักษ์ใหญ่

ถาม : ประชาธิปไตยในบริบทของสังคมไทยเป็นรูปแบบเดียวกับ เมืองนอกหรือเปล่าครับ?

พระอาจารย์ชยสาโร : ประชาธิปไตยก็ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนตามตัว สมมุติว่าเรามีระบบ ประชาธิปไตยที่มีสภาผู้แทนราษฎร เช่นของไทย 400 คนต่อประชาชน 60 ล้านคน เป็นอันว่า ส.ส. 1 คนเป็นตัวแทนของคนแสน สองแสนคน แล้วส.ส.คนนั้นจะรู้จะสนใจกับ ความต้องการของคนแสนสองแสนคนนั้นมากน้อยแค่ไหน เมื่อเขาเข้าไปในสภา เขาจะโวตหรือไม่โวตจะขึ้นอยู่กับความต้องการ หรือผลประโยชน์ของแสนกว่าคนที่บ้านเขา มากน้อยแค่ไหน จะอย่างไรนี่ก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตย ส่วนมากทุกวันนี้ประชาธิปไตยถูกเงิน ครอบงำ ไม่ใช่ว่าจะเป็นเฉพาะในเมืองไทย อเมริกาเขาก็ทราบว่าเป็นระบบที่มีข้อเสียมาก คอรัปชันมากแล้ว ต้องแก้ไข เพียงแต่ว่าการใช้เงินในอเมริกาเป็นคนละลักษณะกับ ในเมืองไทย ไม่ใช่เป็นการแจกเงินชาวบ้าน แต่ว่าเป็นการสนับสนุนพรรค ก็มีบริษัทต่าง ๆ ให้เงินพรรค รีพับริกัน พรรคเดโมแครต เขาให้แต่ไม่ใช่ให้ฟรี เมื่อพรรคที่เขา รับเงินได้เป็นรัฐบาลเขาก็ต้องตอบแทน ทุกวันนี้จะสมัครส.ส. หรือสมัครอะไรที่อเมริกา ต้องใช้งบประมาณโดยเฉพาะในการโฆษณาทางทีวี หลายล้านดอลลาร์ ถ้าหากว่าไม่มี ผู้สนับสนุน คนธรรมดาไม่มีสิทธิจะเป็นส.ส.ได้เลย มันเป็นระบบที่ไม่สะอาด

ในสงฆ์เอง ในวินัยก็ถือว่าในการปกครอง ระบบประชาธิปไตยเป็นแค่ระบบเดียว วิธีเดียวที่จะใช้ในการแก้ปัญหา ส่วนมากตามหลักวินัย ถ้ามีการลงมติกันก็ต้องเห็นชอบกัน ทุกรูปเลย ไม่เช่นนั้นก็ลงมติไม่ได้ แล้วก็จะใช้ระบบประชาธิไตยเฉพาะในกรณีที่เรารู้ว่า ถ้าใช้ระบบนี้แล้ว ผู้ที่เป็นฝ่ายแพ้จะไม่น้อยใจมาก ไม่เกิดปัญหากับความสามัคคีของสงฆ์ ตอนนี้ประชาธิปไตยก็มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ผลออกมาก็กลายเป็น การกระจายการคอรัปชันไปสู่ท้องถิ่น แทนที่จะคอรัปชันกันในระดับสูง ก็กระจายไปเป็น ระดับอบต. หรือว่าโยมมีความคิดเห็นอย่างไร ขอฟังโยมพูดมั่ง

ถาม : ผมมองว่าประชาธิไตยในชุมชนพุทธนี่ ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน แต่วางอยู่บนพื้นฐานของระบบอาวุโส เน้นเรื่องการประนีประนอมกัน ซึ่งแตกต่างกับ ประชาธิปไตยของตะวันตก ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าระบบใดจะเหมาะสมกับสังคมสมัยใหม่ เพราะระบบอาวุโสก็ถูกทำลายไปเยอะ ระบบของตะวันตกก็ไม่พอดีกับสังคมไทย โจทย์ทีคิด ก็คือว่าจะสามารถดึงเอาข้อดีมาใช้รวมกัน เพื่อให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ได้อย่างไร?

พระอาจารย์ชยสาโร : อาตมาว่าหลายสิ่งหลายอย่างถ้าเราศึกษาจากสงฆ์ เราจะได้ข้อคิดดี ๆ เช่นที่วัดป่านานาชาติ พวกเราก็เป็นชาวตะวันตกแต่เข้าไปอยู่ในระบบอาวุโสจัดในวัดป่า อีสาน ที่ถือว่าเป็นระบบที่อนุรักษ์นิยมที่สุด แต่พวกเราก็อยู่ได้ สำหรับชาวยุโรป จะง่ายกว่า ชาวอเมริกันสักหน่อย แต่อย่างไรก็ตามระบบอาวุโสของสงฆ์นี้ก็มีเอกลักษณ์ บางอย่างที่ควร สังเกต ข้อหนึ่งคือมีพระวินัยเป็นฐาน อาตมาอยู่ในผ้าเหลืองถึงยี่สิบกว่าปี แต่อาตมาก็ยังต้อง รักษาวินัยทุกข้อเหมือนกับพระที่บวชวันเดียวหรือว่าพรรษาเดียว แม้ว่าพระห้าสิบ หกสิบ พรรษา ไม่มียกเว้นเรื่องพระวินัยแม้แต่ในเรื่องปลีกย่อย แม้ว่าพระรูปใดบรรลุเป็นอรหันต์ เรียกว่าหมดกิเลสแล้วไม่จำเป็นต้องรักษาวินัย รักษาไม่รักษา ท่านก็บริสุทธิ์แล้ว แต่ท่าน ก็ยังรักษาพระวินัยทุกข้อเพื่อเป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นใหม่ นี่ก็เป็นหลักสำคัญ

หลักอีกข้อหนึ่งคือ สงฆ์เป็นชุมชนอิสระที่ทุกคนสมัครใจที่จะเป็นพระ เราเข้าไปในระบบอาวุโสนี้เราก็มีความรู้สึกปลอดภัย หรือมั่นคงว่า ผู้ใหญ่อาจจะขอให้เราทำ บางสิ่งบางอย่างที่ไม่อยากทำ แต่ว่าเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะขอให้เราทำอะไรที่ผิดศีลธรรม แล้วเราก็มีความสบายใจด้วยว่า ท่านขอให้เราทำยังไงท่านก็ทำอย่างนั้น โอกาสที่ผู้ใหญ่จะ เอาเปรียบผู้น้อยก็แทบจะไม่มีเลย เพราะพระวินัยควบคุมอยู่

ข้อที่สาม แต่ว่าข้อนี้เป็นข้อที่ขาดหายไปในระบบสงฆ์ไทย หรือว่าแทบจะไม่มีเลย เพราะว่าวัฒนธรรมไทยครอบงำอยู่ ก็คือระบบปวารณาตัว คำว่าปวารณาตัวนี่เป็นศัพท์ ทางศาสนา แต่ความหมายเดิมก็คือ พระทุกรูปในวัดตั้งแต่เจ้าอาวาสเป็นต้นไป ต้องปวารณาตัว ต่อสงฆ์ว่า ถ้าใครเห็นผมทำอะไร พูดอะไร ที่ไม่เหมาะสมให้ช่วยบอกผมด้วย เพราะ พระพุทธองค์ถือว่าหลักการสำคัญของสงฆ์คือการตักเตือนซึ่งกันและกัน ด้วยความหวังดี โดยผู้น้อยมีสิทธิ์ตักเตือนผู้ใหญ่ด้วยความเคารพ อ่อนน้อม ไม่ใช่ในลักษณะคำสอน

ทีนี้ในสังคมเราทั่วไประบบอาวุโสไม่ค่อยได้ผลในทุกวันนี้ หนึ่งเพราะ ผู้ใหญ่ไม่มีศีลธรรม ผู้น้อยเลยขาดความมั่นใจ และผู้น้อยก็กลายเป็นเหยื่อของ ผู้มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจมีอภิสิทธิ์ในการเป็นผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ประพฤติตัวเหมาะสม กับการเป็นผู้ใหญ่ ทำให้คนเบื่อหน่ายในระบบ และสังคมถือว่าผู้น้อยไม่ควรตักเตือน ไม่ควรให้ข้อคิดกับผู้ใหญ่เพราะจะถือว่าไม่ให้ความเคารพ ในคณะสงฆ์ จะเห็นว่าพระผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นยันตระหรือใครก็ตาม ก่อนที่จะเสียหายจริง ๆ ก็จะมี พฤติกรรมที่เริ่มเพี้ยน เริ่มจะไม่ดี ถ้าหากว่าระบบเราสมบูรณ์ ลูกวัดก็จะต้องพูด ท่านอาจารย์ครับ ผมอาจจะ มองท่านผิดก็ได้ แต่ว่าผมเห็นท่านอาจารย์ทำอย่างนี้ ผมไม่สบายใจ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์ มีความเหตุผลอย่างไรครับ มันก็ต้องเริ่มมีเสียงสะท้อน จากลูกวัด ตามหลักการปวารณา ซึ่งกันและกัน ชุมชนที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ต้องสร้างวัฒนธรรมความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ที่จะเป็นฐานของการตักเตือนกัน ถ้าเราอยู่แบบเป็นกันเอง รักกัน เรารู้ว่าเราพูดได้ ไม่มีใคร โกรธ เราก็กล้าพูด นี่ก็ข้อคิดที่ได้จากสงฆ์ บางทีคนไม่กล้าพูดเพราะเกรงใจกัน แต่ถ้า เทียบกับฝรั่ง ไม่ควรพูดก็พูดออกไปเลยใช่ไหม แต่คนไทยควรพูดกลับก็ไม่พูด สองอย่างนี่ มันไม่พอดี พุทธศาสนาสอนให้รู้จักกาละเทศะ รู้จักกาลเวลา เวลาควรพูดเราก็พูด เวลาไม่ควรพูดเราก็ไม่พูด

ถาม : คนตะวันตกนี่ก่อนที่จะเข้ามาบวชนี่ ต้องทิ้งอะไรบ้าง?

พระอาจารย์ชยสาโร : มันอยู่ที่นิสัย บุคลิกของแต่ละคน ถ้าเป็นอเมริกาที่จะเน้นเรื่อง ความเสมอภาคมาก จะเห็นว่าลักษณะของคนเคยที่อยู่ในสังคมที่เน้นความเสมอภาค แบบอเมริกา จะมีนิสัยชอบแข่งขันกัน เขาจะแข่งกับคนรอบข้างว่าจะต้องเก่งกว่าเพื่อน นี่ก็เป็นผล เป็นกรรม เป็นสิ่งที่ต้องทิ้ง แต่คณะสงฆ์นี่มันพิเศษอยู่ที่เรามาอยู่รวมกัน ด้วยศรัทธาเป็นจุดเชื่อม

ถาม : อะไรที่ดึงคนเหล่านี้มารวมอยู่ด้วยกัน?

พระอาจารย์ชยสาโร : คือในโลกที่เจริญด้วยวัตถุมาก ๆ นี่โรคประจำตัวของตนคือ มีความรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่า ไม่มีความหมาย นี่แหละสำคัญ รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย ไม่รู้ว่าอยู่เพื่ออะไร การเข้ามาอยู่ในระบบการพัฒนาของพระพุทธศาสนา รู้สึกว่าชีวิตนี้มี ความหมาย ไม่อย่างนั้น ตื่นแต่เช้า กินข้าว ไปทำงาน กินอะไรสักอย่าง เย็นกลับมากิน หลับ อยู่เพื่อเสาร์ อาทิตย์จะได้ไปเที่ยว จะได้มีความสุข(ยิ้ม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น