พระพุทธเจ้าสอนอะไร?
หลวงพ่อปราโมทย์: ครั้งหนึ่ง สมเด็จญาณฯ ( สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก )เคยเขียนนะ พระศรีนครินทร์ฯ ( สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ) ท่านอาราธนาให้เขียนว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร ท่านเขียนเอาไว้ดีแล้ว พระพุทธเจ้าสอนอะไร สอนอริยสัจจ์สิ สอนไปเพื่ออะไร เพื่อความพ้นทุกข์สิ้นเชิง สอนอะไร ถ้าตัวเนื้อหาธรรมะนะ พระพุทธเจ้าท่านสอนอริยสัจจ์ อริยสัจจ์เป็นธรรมที่ครอบคลุมธรรมะทั้งหมด
มีพระสูตรอันหนึ่งนะ ชื่อ รอยเท้าช้าง ชื่อ อัตถิปโทปมสูตร ( มหาหัตถิปโทปมสูตร อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง )ชื่อยาวมากนะ ท่านสอนบอกว่า รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์บกนะ สัตว์น้ำมันก็มีรอยเท้าเหมือนกัน แต่ว่ามีไม่กี่ชนิดที่มีเท้า ในพระสูตรบอกว่า รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายเนี่ย เหยียบลงไปได้ในรอยเท้าช้าง ที่เป็นอย่างนี้เพราะในสมัยพุทธกาลไม่มีไดโนเสาร์แล้ว
หมายถึงธรรมะทั้งหมดนี้นะ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอน รวมลงอยู่ในอริยสัจจ์ ย่อๆก็คือ ท่านสอนเรื่องทุกข์ กับความพ้นทุกข์ ทุกข์ก็มีถึงเหตุของทุกข์ แล้วก็ตัวทุกข์ ความพ้นทุกข์ท่านก็สอนถึงวิธีปฎิบัติเพื่อความพ้นทุกข์แล้วก็ตัวของความพ้นทุกข์ คือตัวนิพพาน สอนได้ ๒ กลุ่ม
ทีนี้ตัวมรรคเนี่ย ย่อๆลงมาก็มี ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องทำ ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องเรียนนั่นเอง เรียนศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา จิตตสิกขาเรียนแล้วจะเกิดจิตที่ตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิ
ย่อๆลงไปอีกนะ คือ ทำสมถะกับวิปัสสนา ตรงภาวนานี้น่ะ ภาวนาก็มี ๒ ส่วน สมถะกับวิปัสสนา ตรงวิปัสสนาเนี่ย ถ้าทำถูกต้องนะ มีสติ รู้กายรู้ใจ ลงปัจจุบัน เห็นตามความเป็นจริง เห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ในที่สุดจะเกิดปัญญา เกิดผล มีปัญญาขึ้นมา เบื้องต้นเป็นพระโสดาบันนะ เบื้องปลายเป็นพระอรหันต์
พระโสดาบันท่านจะเข้าใจว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป เพราะฉะนั้นข้อที่ ๑ ที่จิรัฐถามนะ มันคือภูมิธรรมของพระโสดาบัน เป็นผลแล้ว เป็นผลจากการเจริญสติ ไม่ใช่ให้ทำตัวมัน ไม่ใช่ให้ทำความรู้นี้ขึ้นมานะ เจริญสติไปแล้วผลที่เกิดขึ้นคือมีความรู้ความเข้าใจ ว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นดับไป เนี่ยความรู้ความเข้าใจของพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นพระโสดาบันรู้ว่า สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ
ส่วรพระอรหันต์เนี่ย ท่านจะแจ้งสิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ สิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับคือนิพพาน พระโสดาฯ พระสกทาคาฯ พระอนาคาฯ ยังไม่แจ้ง(ในสิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ) เห็นบ้าง แต่ว่าไม่แจ่มแจ้ง เพราะฉะนั้นเบื้องต้นนะ ภาวนา จะเกิดปัญญาเห็นว่า สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นดับไป เบื้องปลายก็จะเกิดปัญญาไปเห็นแจ้งสิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ เพราะฉะนั้นธรรมะมีหลายระดับนะ มีหลายขั้น
อันแรกเลย วัตถุประสงค์ของธรรมะนะ ภาวนาไปเพื่อความพ้นทุกข์สิ้นเชิง เบื้องต้นพ้นทุกข์ เบื้องปลายดับทุกข์ พ้นทุกข์เนี่ยเป็นพระอรหันต์ที่ยังดำรงค์ขันธ์อยู่ ดับทุกข์คือพระอรหันต์ที่ท่านดับขันธ์แล้ว พ้นทุกข์เนี่ยพระอรหันต์มีขันธ์มั้ย? มี แต่ว่าจิตของท่านพ้นจากขันธ์ เพราะฉะนั้นท่านพ้นจากทุกข์ เบื้องปลายนี้ดับขันธ์ ก็ดับทุกข์ ตัวขันธ์นั้นแหละตัวทุกข์
ธรรมะปราณีตนะ ค่อยๆเรียน ค่อยๆฟัง อย่านึกเอาเอง มั่ว เดี๋ยวมั่วเอา อย่าไปเอา ยกตัวอย่างวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งนะ สิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างหนึ่ง วิธีปฏิบัติอย่างหนึ่ง ผลของการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง อย่าเอาไปปนกัน ถ้าปนกันแล้วยุ่งตายเลย
ยกตัวอย่าง ถามหลวงพ่อบอกว่า เราภาวนาเพื่ออะไร พระพุทธศาสนาสอนอะไรกันแน่ สอนให้เห็นว่าทุกอย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อันนี้เป็นความรู้ความเข้าใจของพระโสดาบัน ทุกอย่างมาแล้วไป นี่เกิดแล้วดับ หรือข้อสอง สอนให้จิตสำเหนียกสภาพดั้งเดิมของจิตเดิมแท้ ไม่ได้สอนให้สำเหนียกนะ มันสำเหนียกเอง มันเป็นผลน่ะ ถ้าเห็นนิพพานก็จะเห็นจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ไปเห็นนิพพาน
คำว่าจิตเดิมแท้เนี่ย เป็นคำซึ่งไม่มีพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ฝ่ายเถรวาทพูดถึงจิตพระอรหันต์นี้ จะพูดถึงมหากริยาจิต แค่มหากริยาจิตเกิดแล้วดับ ทีนี้ทางฝ่ายเซนทางฝ่ายอะไรนี้ เขาพูดถึงจิตเดิมแท้ คือจิตที่พ้นการปรุงแต่ง ถ้าอนุโลมเอาก็คือ มหากริยาจิต แต่ว่ามันมีสภาวธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุ ธาตุรู้ จะเรียกว่าอะไรก็ได้ จิตเดิมแท้ก็ได้ อะไรก็ได้ เป็นธาตุรู้ ธาตุรู้มันเข้าคู่กับธรรมธาตุ คือ ธาตุของธรรม อันนี้ไม่มีในคำสอนของฝ่ายเถรวาทเรา ไม่พูดถึงสิ่งเหล่านี้หรอก แต่พูดถึงธาตุธรรม คือพระนิพพาน
เพราะฉะนั้นเวลาเราเรียน เรารู้นะ วัตถุประสงค์ของการเรียน เพื่อความพ้นทุกข์สิ้นเชิงนะ
สิ่งที่เราต้องทำนะ เราก็พัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมา หรือ ละชั่วทำดีทำจิตให้ผ่องแผ้วขึ้นมา พูดได้หลาย Dimensions หลายแง่ หลายมุม หลายมิติ รวมความก็คือ ทำอันใดอันหนึ่งครบ set ของมัน ก็คือทำทั้งหมดแหละ มีศีล สมาธิ ปัญญา ครบ มันก็คือครบ ละชั่ว ทำดี ทำจิตผ่องแผ้วได้ ก็ครบเหมือนกัน
ทีนี้ก็เจริญไป วิธีที่จะทำให้ ศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์ ก็เจริญสติ(ปัฏฐาน)ไป วิธีที่จะละชั่ว ทำดี ทำจิตผ่องแผ้วนะ ก็เจริญสติ(ปัฏฐาน)ไป ถ้าเจริญสติ(ปัฏฐาน)ไม่ได้ ละชั่วไม่ได้จริงหรอก ได้แต่ข่มความชั่วเป็นคราวๆ ทำดีไม่ได้จริงหรอก ดีแป๊บเดียวนะ เดี๋ยวก็ชั่วแทรกเข้ามาแล้ว เช่นเห็นคนอื่นเขาได้ดิบได้ดีก็โมทนาๆ มันดีหลายที่ชักอิจฉาแล้ว มันทนไม่ได้หรอก หรือเห็นคนนี้ตกทุกข์ได้ยาก สงสารเขา ไปแนะนำ แนเะนำเขา เขาไม่ฟังก็โมโหแล้ว
กุศลเนี่ยพลิกเป็นอกุศลได้เสมอเลยถ้าขาดสติ เพราะงานของเรานะ มีสติไว้ มีสติไว้แล้ว แล้วก็ยังทำ ๒ อย่าง อันหนึ่งทำสมถะนะ สมถะก็ต้องมีสติ ถ้าสมถะขาดสติเป็นมิจฉาสมาธิไปเลย ใช้ไม่ได้ อย่างที่พวกเรานั่งเคลิ้มๆนี้ใช้ไม่ได้เลยนะ
เพราะฉะนั้นนั่งนี่ต้องรู้เนื้อรู้ตัว เดินรู้เนื้อรู้ตัว จิตสงบ จิตตั้งมั่น อยู่ในอารมณ์อันเดียวโดยที่ไม่ได้บังคับไว้ มีความสุขอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างนั้น สงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว เป็นสมถะ จิตยอมไปมีความสุขมีความสงบนะ ต้องเลือกอารมณ์ ถ้าเราเลือกอารมณ์กรรมฐานที่เราชอบ จิตมันชอบน่ะ ไม่ใช่เราชอบ ที่จิตมันชอบ
ยกตัวอย่าง บางคนนะ จิตชอบพิจารณาอสุภะ พิจารณาอสุภะแล้วสงบ แต่เราไม่ชอบ เรากลัวผี ให้ไปนั่งป่าช้านี่ไม่ชอบเลยนะ ไปเห็นรดน้ำศพ บางคนยังไม่ชอบเลย แต่จิตมันชอบ พอเข้าใกล้แล้วสงบ อย่างนี้สมควรทำอย่างไรดี จิตมันชอบแบบนี้ จิตมันชอบอย่างนี้ก็เอาสิ เรากลัวผี ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหลังก็ไม่กลัวเองแหละนะ แต่จิตมันเข้าใกล้ มันไปเห็นศพ อื๋อ… รถทับมาเละๆ พองๆ เวลาศพถูกรถทับนะ เน่าเร็วมากเลย เร็วกว่าศพธรรมดา แป๊บเดียวก็เน่า เราก็ไปดูได้จิตใจสงบ นี่ถ้าจิตมันชอบ
บางคนจิตมันชอบพุทโธ เราก็อยู่กับพุทโธ จิตมันชอบลมหายใจก็อยู่กับลมหายใจ จิตมันชอบท้องพองยุบก็อยู่กับท้องพองยุบไป อยู่กับอารมณ์ที่จิตชอบ จิตก็ไม่ร่อนเร่ไป จิตเสพอารมณ์ที่มันชอบนะ ก็ไม่หนีไปเที่ยว ได้สมถะนะ อย่างนี้ ก็มีสติอยู่กับอารมณ์นั้น
ถ้าทำวิปัสสนานะ ก็มีสติรู้กายรู้ใจไป รู้กายรู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่น ต้องดูอยู่ห่างๆนิดนึง แต่ตรงจิตตั้งมั่นก็มีอยู่ ๒ พวกนะ พวกหนึ่งตั้งทรงเด่นอยู่เลย พวกนี้ทางฌานอยู่ พอออกจากฌานแล้วจะทรงเด่นอยู่นาน อีกพวกหนึ่งไม่ได้ทรงฌาน ตั้งเป็นขณะๆ เรียก ขณิกสมาธิ เป็นขณะๆ แค่นี้ก็นิพพานได้ ถึงมรรคผลนิพพานได้ ถึงพระอรหันต์ได้
เวลาที่เราเจริญสตินะ เราอย่าดูถูก(ดูหมิ่น)สมาธิชั่วขณะนะ เวลาที่เราเจริญสติในชีวิตประจำวันจริงๆเนี่ย ส่วนใหญ่ใช้สมาธิชั่วขณะนี้เอง ทีละขณะๆ เดี๋ยวรู้สึกตัวขึ้นมา ใจตั้งมั่นได้แว้บ หลงไปอีกละ ไหลไป พอรู้ทัน สติระลึกรู้ใจไหลไปนะ ใจก็ตั้งขึ้นอีกแว้บ แว้บ แว้บ แว้บ ตลอดวันเลยนะ มีแต่ไหลไปแล้วก็ตั้ง ไหลแล้วก็ตั้ง แค่นี้พอแล้ว ถึงวันหนึ่งนะ ปัญญามันเกิดนะ มันจะเห็นเลย จิตไหลไปห้ามไม่ได้ จิตตั้งมั่นสั่งไม่ได้ มันสั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ มีแต่เกิดแล้วดับ จิตหลงไปกับจิตที่ตั้งมั่นเท่าเทียมกันขึ้นมา เท่าเทียมกันโดยความเป็นไตรลักษณ์ นี่เวลาเดินวิปัสสนานะ ไม่ใช่จะเอาอันหนึ่ง จะเกลียดอีกอันหนึ่ง
เรามีสติ รู้สภาวะทั้งหลาย ที่มันเป็นคู่ๆ เช่น เผลอกับรู้ นี่คู่หนึ่ง ใช่มั้ย โกรธกับไม่โกรธคู่หนึ่ง โลภกับไม่โลภคู่หนึ่งเนี่ย เห็นเป็นคู่ๆไว้ มันจะพลิกไปพลิกมาในคู่ของมัน เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ฝึกอันหนึ่ง เกลียดอันหนึ่ง ไม่ใช่จะเอารู้สึกตัว เกลียดหลง จะเอาความไม่โกรธ เกลียดความโกรธ จะเอาความไม่โลภ เกลียดความโลภ
แต่การที่เห็นคู่ๆ มันจะทำให้เห็นว่า ความโลภ โกรธ หลง เห็นขึ้นมาแล้วก็ดับไป ความรู้สึกตัว รู้ตื่นเบิกบานเกิดขึ้นมา แล้วก็ดับไป ชีวิตเราขาดเป็นท่อน ท่อน ท่อน ท่อน ไม่ใช่มีชีวิตอันเดียวรวดเลย คนซึ่งภาวนาไม่เป็นนะ จะรู้สึกมีตัวเราอันเดียวรวด พวกเราจะรู้สึก ปุถุชนทั้งหลายจะรู้สึก หลายคนซึ่งยังเจริญวิปัสสนาไม่พอ จะรู้สึก รู้สึกมั้ย ในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง เราคนนี้ กับเราตอนเด็กๆ เป็นเราคนเดียวกัน รู้สึกมั้ย หน้าตาหรอกที่เปลี่ยนไปนะ แต่ในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง เราคนเดิมด้วย
เนี่ยถ้าหากทำวิปัสสนาถูกต้องนะ จะเห็นเลยว่า มันเกิดดับเป็นขณะๆ ชีวิตตะกี้นี้ กับชีวิตปัจจุบันนี้ เหมือนกับคนละคนกันเลย ขาดออกจากกัน จิตตะกี้นี้หลง จิตตอนนี้รู้สึก(ตัว) มันเหมือนคนละคนกันเลย เหมือนคนละคนเลย ถ้าดูเป็นนะก็จะเห็นเลย มีช่องว่างเล็กๆมาคั่น จิตดวงนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีช่องว่างมาคั่น ขาดออกจากกันนะ ไม่ใช่ตัวเดิม ไม่ใช่เหมือนร่างกายนี้คนเก่า เปลี่ยนแต่เสื้อไปเรื่อยๆ อันนั้นมิจฉาทิฎฐิ
ยกตัวอย่างพวกเราหลายคน คิดว่าในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง พอตายไปนะ เราตัวนี้ออกจากร่างนี้ ไปหาร่างใหม่เกิดอีก นี่มิจฉาทิฎฐิ เพราะว่าทำวิปัสสนาไม่เป็น ไม่เห็นว่าจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับ (อีก)ดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับนะ
เพราะฉะนั้นการที่เราเห็นนะ จิตดวงหนึ่งเกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไป จะเป็นกุศลก็ตาม เป็นอกุศลก็ตาม จะเป็นจิตที่รู้หรือเป็นจิตที่หลงก็ตาม ทั้งหมด มีสภาพอันเดียวกันหมดเลย เกิดแล้วดับเหมือนกัน ในที่สุดปัญญามันเกิดนะ สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป เป็นธรรมดา นี่เป็นภูมิธรรมของพระโสดาบัน สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา ก็จะเห็นอยู่นี่เองนะ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม มีแต่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ๆ ไปเรื่อยๆ
ทีนี้พอฝึกมากเข้าๆนะ ปัญญามันเริ่มแก่กล้าขึ้น มันเห็นเลย ตัวที่เกิดแล้วดับเนี่ย ตอนที่มันมีอยู่ มันก็ทุกข์นะ มันทุกข์อยู่โดยตัวของมันเองนั้นแหละ พอปัญญามันแจ้งนะ มันรู้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมานี่ มันทุกข์หมดเลยนะ จิตมันสลัดทิ้งเลย หมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม เมื่อจิตหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม จิตจะดูเมือนถอดตัวเองออกมา
แต่พูดแล้วไม่รู้ว่าภาษามันจะเป็นยังไงนะ บางทีจะพูดในมุมหนึ่งมันเหมือนจับมันข้างทิ้งไปเลยนะ มันโยนจิตทิ้งไป อีกมุมหนึ่งนะ เหมือนมันถอดออกมา มันหลุดออกจากกันนะ แต่เดิม มันหลุดออกจากกัน สมมุติมันรวมอยู่ด้วยกันอย่างนี้ จิตกับขันธ์มันรวมอยู่ด้วยกันอย่างนี้ พอภาวนาเห็นขันธ์เป็นทุกข์นะ เหมือนจิตมันถอดออกมา แต่พวกเราภาวนาเห็นจิตถอดออกมา แยกออกมาจากขันธ์เป็นสองส่วนใช่มั้ย อันนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าขั้นสุดท้ายไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถอดออกมาแล้วนะก็ทิ้งตัวนี้ด้วย ทิ้งไป ตัวนี้(อีกตัวหนึ่ง)ก็ทิ้งไปนะ แล้วปรากฎว่า มันมีธาตุอยู่ธาตุหนึ่ง คือธาตุรู้ ธาตุรู้นี้จะซึมซ่านไปในทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่เดิมจิตเรามีขอบมีเขต มีจุดมีดวง นี่คนดีมากแล้วนะ ดวงแค่นี้ พวกเทวดา รุกขเทวดา รัศมีนิดเดียว แค่นี้เอง เล็กเท่าดาวเอง บางคนภาวนามานานนะ เท่ากับล้อ ล้อเกวียน ล้อรถบดถนน รัศมีไม่เท่ากัน แต่มีขอบมีเขตอยู่ ตรงที่มันเข้าถึงธาตุรู้จริงๆเนี่ย ธาตุรู้นี้ซึมซ่านไปในทุกสิ่งทุกอย่าง ธาตุรู้น่ะคล้ายๆอากาศธาตุ แต่อากาศธาตุไม่ใช่ธาตุรู้ อากาศธาตุเป็นช่องว่าง อากาศธาตุซึมซ่านเข้าไปได้ ในพัดนี้ก็มีอากาศธาตุ มันซึมซ่านเข้าไป ในแผ่นดินก็มีอากาศธาตุซึมซ่านอยู่ ธาตุรู้นี้ก็ซึมซ่านคล้ายๆกัน แต่ธาตุรู้เป็นธาตุรู้ จะเรียกว่าจิตมั้ย มันก็ไม่ใช่จิตที่เคยเห็น เป็นธาตุรู้ แล้วแต่จะเรียกชื่อ เป็นเจ้าของมั้ย ไม่มีเจ้าของ ไม่มีขอบ ไม่มีเขต ไม่มีจุด ไม่มีดวง ไม่มีที่ตั้ง ถามว่าธาตุรู้ รู้อะไร ธาตุรู้รู้ธรรม รู้นิพพานนะ นิพพานเนี่ย ครอบโลกครอบจักรวาล ซึมซ่านไปในทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนกันเปี๊ยบเลย แต่เป็นอีกสภาวะหนึ่ง พูดแล้วฟังยาก พวกคิดมาก อยากเรียนเยอะๆ ไปภาวนาเอาเองนะ แล้วจะเห็น
เพราะฉะนั้นสรุปก็คือ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนเพื่อให้เราเห็นว่า สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นดับไป ไม่ได้สอนเพื่อให้เห็นจิตเดิมแท้ ท่านสอนเพื่อความพ้นทุกข์สิ้นเชิง แล้วเราก็เจริญสติ(ปัฏฐาน)ไปเรื่อยๆ ความรู้ความเข้าใจของเราก็พัฒนาเป็นลำดับๆไป
เบื้องต้นก็จะเห็นว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป ไม่ควรยึดมั่นหรอก แต่มันยังยึดมั่นอยู่นะ เบื้องปลายนี้แหละมันหมดความยึดมั่นจริงๆ แล้วมันก็จะไปเห็นจิตที่เป็นอิสระ เราอย่าไปพูดถึงจิตเดิมแท้เดิมเท้อเลย ฟังแล้วเวียนหัวนะ วาดภาพมันเหมือนมีอะไรลึกลับซ้อนขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ขันธ์ที่เรียนอยู่ทุกวันนี้ก็จะปางตายแล้ว ยังจะไปสร้างจิตเดิมแท้ขึ้นมาอีกดวงหนึ่ง ยุ่งตายเลย ไม่มีนะ สิ่งทีเป็นอมตะ มีแต่พระนิพพานเท่านั้นที่เป็นอมตะ อย่าไปวาดภาพว่ามีอะไรที่เป็นอมตะอยู่
สุดท้ายก็จะเห็นสิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับคือเห็นพระนิพพาน เป็นผลหรอก เบื้องต้นเห็นสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ ได้เป็นพระโสดาบัน เบื้องปลายรู้แจ้งสิ่งที่ไม่เกิดแล้วก็ไม่ดับ คือพระนิพพาน หน้าที่ของเราตอนนี้ก็คือเจริญสติ(ปัฏฐาน)ไปเรื่อยๆ รู้กายรู้ใจไป สังเกตตัวเองไปเรื่อย อกุศลอะไรยังไม่ได้ละนะ ก็ละเสียบ้าง ขัดเกลาตัวเอง ไม่ใช่ตามใจอกุศลนะ กุศลใดยังไม่เจริญก็เจริญเสียบ้าง ไม่ใช่ปล่อยไปเรื่อยๆนะ หวังว่ามันจะเจริญขึ้นมาตามยถากรรม
ยกตัวอย่าง เราต้องหัดให้อภัยคน ต้องฝึกเหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่าฉันเจริญสติอย่างเดียวอะไรอย่างนี้ จะเอาแต่ปัญญา บางทีกิเลสเล็กกิเลสน้อย ไม่ยอมละนะ จะเอาแต่ปัญญา ในที่สุดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ศีลฉันจะไม่ถือหรอก ฉันจะมีแต่สติ มีแต่ปัญญา กลายเป็นมิจฉาทิฎฐิง่ายๆนะ
หลวงพ่อเคยรู้จักคนหนึ่ง ไม่ถือศีลนะ สอนลูกไม่ให้ถือศีลด้วย บอกว่าไม่จำเป็น เราดำรงค์ชีวิตอย่างมีเหตุผลก็พอแล้ว สอนลูกอย่างนี้ ดำรงค์ชีวิตอย่างมีเหตุผลตามใจกิเลสสิ วงเล็บไว้ด้วยน่ะ ไม่มีศีลน่ะ
เพราะฉะนั้น อกุศลเล็กๆน้อยๆนะ เราก็ต้องรู้ทัน อย่าไปเชื่อมัน อย่าไปตามใจมัน กุศลแม้แต่เล็กแต่น้อยนะ เราก็ต้องคอยดูแลรักษามัน คอยดูมันไป มีสติ พัฒนามันขึ้นไปเรื่อยๆ จิตใจเข้าไปคลุกคลี พัวพันอยู่กับอารมณ์ต่างๆ คอยรู้ทันจนมันถอดถอนออกมา มันเข้าถึงความผ่องแผ้วของมัน นี่คือละชั่วทำดีทำจิตผ่องแผ้ว มีศีลมีสมาธิมีปัญญา ค่อยๆพัฒนาไปนะ ค่อยฝึกของเราทุกวันๆ
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันศุกร์ที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น