เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอมขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการครอบครัวข่าว 3 หลังจากอิทธิพลของพายุนกเตน ได้พัดผ่านบริเวณหลายจังหวัดในภาคเหนือ และภาคอีสาน ของประเทศไทย ส่งผลให้ในบริเวณดังกล่าวเกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลทะลักท่วมไร่นาของชาวบ้าน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก ขณะที่กรมอุตุฯ สั่งจนท.เตรียมพร้อม 24 ชม. ทางด้าน เวียดนาม เตือนพายุลูกใหม่กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้ อุตรดิตถ์อ่วม กว่าพันครอบครัวเดือดร้อนหนัก เมื่อช่วงดึกที่ผ่านมา จ.อุตรดิตถ์ มีฝนตกตลอดอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ชั่วโมง จากฤทธิ์พายุโซนร้อน 'นกเตน' ส่งผลทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างรวดเร็วเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนราษฎร หมู่ 8 บ้านวังเบน หมู่ 9 บ้านวังตะเคียน ต.ผักขวง และ หมู่ 1 หมู่ 12 บ้านแสนขัน หมู่ 6 บ้านปางคล้อ หมู่ 4 บ้านน้ำลอก ต.บ่อทอง อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ระดับน้ำท่วมสูง 2-4 เมตร ส่งผลทำให้ชาวบ้านจำนวนเกือบ 1,000 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ต้องขนสิ่งของหนีขึ้นสู่ที่สูง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่สามารถเก็บสิ่งของหนีน้ำท่วมได้ทันทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้รถยนต์ของชาวบ้าน จำนวนกว่า 50 คัน ต้องจมอยู่ในน้ำที่ไหลหลากเข้าท่วมครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำได้ไหลท่วมพื้นผิวถนนสายหลัก ระหว่าง ทองแสนขัน-น้ำปาด สูงเกือบ 2 เมตร ถนนถูกตัดขาดรถไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้กินระยะทางยาวกว่า 5 กิโลเมตร โดยมีหน่วยกู้ภัยจากมูลนิธิอุตรดิตถ์สงเคราะห์ และสมาคมกู้ภัยหมอนไม้ นำเรือท้องแบน จำนวน 3 ลำเข้าช่วยเหลือชาวบ้าน
อุดรธานี น้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ด้านผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี ว่า จากอิทธิพลของพายุ "นกเตน" ที่พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักตั้งแต่คืนที่ผ่านมาจนถึงช่วงเช้า วัดปริมาณน้ำฝนที่สถานีตรวจอากาศ จ.อุดรธานี ได้ 139.7 มิลลิเมตร ที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานี 145.5 มิลลิเมตร ส่งผลให้ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี เกิดน้ำท่วมบนถนนกว่า 10 สาย ระดับน้ำสูงสุดมากกว่า 70 ซม. เทศบาลนครอุดรธานีต้องระดมสูบน้ำลงลำห้วยหมากแข้ง ลำห้วยมั่ง และสถานีสูบน้ำใต้ดินออกนอกเมือง
แม่ฮ่องสอน 3 หมู่บ้านถูกตัดขาด สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จากฝนตกมาตลอดทั้งคืนจนถึงเมื่อวานนี้ ทำให้ลำน้ำปาย เอ่อท่วมถนนหมู่บ้านแล้วใน ต.แม่นาเติง อ.ปาย เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา ทำให้การสัญจร 3 หมู่บ้านถูกตัดขาด คือ บ้านแม่ของหมู่ 5 บ้านนาจลอง หมู่ 6 และบ้านแม่ตาเติง หมู่ 11 เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว และยังท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเป็นวงกว้าง
ขณะเดียวกันแม่น้ำปาย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และพัดต้นไม้ไหลมากับน้ำ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งเร่งขนย้ายข้าวของไปอยู่ในจุดปลอดภัยก่อนที่แม่น้ำปายจะเอ่อล้นอย่างฉับพลัน โดยชาวบ้านได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอยู่ตลอด เพราะเกรงว่าน้ำจะขึ้นสูงและไหลแรงขึ้น หากฝนไม่หยุดตก และขณะนี้ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆฝน ด้านนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กำชับนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะในพื้นที่ อ.ปาย และ อ.ปางมะผ้า ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำตามลำห้วยต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนพื้นที่ราบลุ่มให้เคลื่อนย้ายทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงขึ้นมาอยู่บนพื้นที่สูง เกรงว่าจะเกิดน้ำป่าไหลหลากในช่วงนี้ได้อีก
นครพนม หวั่นน้ำป่าทะลักอีก ยังคงได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนนกเตน ทำให้มีฝนตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้ไร่นาและพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรหลายพื้นที่ ถูกน้ำเอ่อท่วมได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ไผ่ล้อม จำนวน 8 หมู่บ้าน กับ ต.นางัว จำนวน 11 หมู่บ้าน รวม 19 หมู่บ้าน ในเขตอ.บ้านแพง จ.นครพนม มีน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา ไหลทะลักเข้าท่วมตั้งแต่เช้าของวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา มีระดับสูงประมาณ 30 เซนติเมตร บางจุดลึกถึง 50 เซนติเมตร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่กว่า 1,000 ครอบครัว ต้องอพยพสิ่งของเครื่องใช้หนีน้ำไว้ที่สูง บางรายที่เป็นบ้านชั้นเดียว ต้องไปอาศัยพักนอนกับเพื่อนบ้าน ที่สำคัญยังได้รับความเดือดร้อนจากการไม่มีห้องน้ำห้องส้วมใช้ เพราะถูกน้ำเอ่อท่วมหมด และต้องคอยเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง ไม่กล้าหลับนอน เนื่องจากเกรงว่าน้ำป่าจะทะลักเข้าท่วมเพิ่มอีก
ด้านนายวสุพล คัณทักษ์ ปลัดอาวุโส อ.บ้านแพง กล่าวว่า ได้นำเจ้าหน้าที่ อส. ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน จัดเตรียมอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือ ยารักษาโรค รวมถึงเรือท้องแบน ออกตรวจสอบให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประกาศเตือนให้พี่น้องประชาชนเฝ้าระวังเป็นระยะ เมื่อเกิดน้ำป่าไหลหลากทะลักเข้ามาจำนวนมาก ที่อาจเกิดอันตราย จะได้มีการอพยพออกจากพื้นที่ได้ทัน เนื่องจากยังมีฝนตกลงมาเป็นระยะ อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการป้องกันมิจฉาชีพมาฉวยโอกาสลักขโมยสิ่งของชาวบ้านด้วย หากคืนนี้ไม่มีฝนตกลงมาต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำที่ท่วมขังจะลดลงอย่างรวดเร็ว และเข้าสู่ภาพวะปกติได้ แต่หากมีฝนตกหนักซ้ำอีก อาจจะต้องเร่งอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่โดยด่วน ส่วนโรงเรียนคาดว่าจะมี 2 แห่ง ที่ไม่สามารถเปิดเรียนได้ในพรุ่งนี้ เพราะถูกน้ำท่วมขัง
แพร่ ระดับน้ำในห้วยเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เตรียมขนของขึ้นที่สูง เกิดฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ อ.สอง อ.ร้องกวาง และ อ.หนองม่วงไข่ ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 30 ก.ค.-31 ก.ค. ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาไหลเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่ทางการเกษตรของ อ.ร้องกวาง หลายแห่ง ส่วนในเขตเทศบาลเมือง ตั้งแต่บริเวณหน้าโรงพยาบาลแพร่เข้ามาสู่ตัวเมืองมีน้ำท่วมขังหลายจุดเช่นกัน ทำให้การสัญจรเป็นไปด้วยความยากลำบาก
นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ระดมเจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นแล้ว
พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่บริเวณห้วยแม่แคมให้ระมัดระวังน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง เพราะขณะนี้ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยจุดวัดน้ำห้วยสัก อ.สอง อยู่ที่ระดับ 3.92 เมตร และที่จุดวัดน้ำบ้านน้ำโค้ง อยู่ที่ระดับ 5 เมตร ซึ่งในพื้นที่บ้านแม่ยางตาน หมู่ 3 และหมู่ 6 น้ำได้เข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร ส่วนถนนที่จะสัญจรไปที่บ้านแม่ยางโตนหมู่ 4 มีบางจุดที่ถนนขาดแล้ว และในเขตรับผิดชอบของ อบต.ทุ่งกวาว หมู่ 1, 2 และ 3
เชียงคาน นาข้าวกว่าพันไร่จมน้ำ ฝนตกติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีปริมาณน้ำฝนทะสมบนเทือกเขาในอ.เเชียงคาย และปริมาณน้ำไหลจากตำบลเขาแก้ว และตำบลธาตุ เข้าท่วม ต.นาสี อ.เชียงคาน ส่งผลให้นาข้าวกว่า 1,000 ไร่ และ บ่อปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงกว่า 100 บ่อ ได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันกระแสน้ำที่ไหลผ่านตำบลนาสี ได้ไหลเข้าท่วมตลาดสามแยกบ้านธาตุ ทำให้กระแสไหลเข้าท่วมร้านค้าที่ขวางทางน้ำ ได้รับความเสียหาย บรรดาพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนต่างพากันย้ายข้าวของอย่างโกลาหล แต่รถยังสามารถสัญจรไปมาได้ นอกจานี้กระแสน้ำยังได้ไหลเข้าท่วมถนนสายบ้านธาตุ-ปากชม จนเส้นทางขาด รถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถเดินทางผ่านไปมาได้
ทางด้าน นายโสภณ สุวรรณรัตน์ นายอำเภอเชียงคาน กล่าวว่า ทางอำเภอได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ บรรเทาสาธารณภัยของทุกองค์กรปกครองท้องถิ่น ให้เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น และจะได้นำเงินมาชดเชยตามระเบียบทางราชการต่อไป
กรมอุตุเตือน พายุลูกใหม่กำลังจะมา กรมอุตุฯ แจ้งพายุโซนร้อน "นกเตน" อ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันพัดเข้าภาคเหนือของไทยแล้ว ชี้ 12 จังหวัดช่วง 1-2 วันนี้ฝนตกหนัก เสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน "โคราช-บุรีรัมย์" สั่งจนท.เตรียมพร้อม 24 ชม. "เวียดนาม" เตือนพายุลูกใหม่กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้ หลังมีผู้เสียชีวิต 1 คนจากอิทธิพลนกเตน ผลพวงจากพายุโซนร้อนนกเตนที่พัดขึ้นฝั่งช่วงเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมาในจังหวัดแท้งฮวาและจังหวัดเหงะอาน ประเทศเวียดนาม นอกจากเกิดความเสียหายและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ยังทำให้มีชายชาวเวียดนามอายุ 68 ปี เสียชีวิต เช่นเดียวกับในประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนหน้านี้ที่อิทธิพลจากพายุนกเตนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 52 คน และสูญหายอีก 27 คน
ขณะที่ในประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศถึง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นฉบับที่ 13 ประกาศเวลา 10.00 น. เรื่องพายุโซนร้อนนกเตน บริเวณประเทศลาวได้อ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว โดยมีศูนย์กลางทางตะวันออกของจังหวัดน่านประมาณ 50 กิโลเมตร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนเข้าสู่จังหวัดน่านในเวลา 12.00 น. วันเดียวกัน
จากนั้นเวลา 16.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 14 ระบุหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชันนกเตน ได้ปกคลุมบริเวณจังหวัดลำปาง ทำให้ภาคเหนือยังมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ พร้อมขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่ม ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งที่เกิดขึ้นได้
โดยวันที่ 31 ก.ค. ในบริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และพิจิตร วันที่ 1-2 ส.ค. ในบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และตาก ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร และให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 31 ก.ค.-4 ส.ค.
สำหรับในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างและภาคกลาง หลายจังหวัดมีการเตรียมความพร้อมป้องกันผลกระทบจากพายุนกเตน โดยที่จังหวัดนครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ขเทศบาลทุกส่วนราชการ เตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง, จังหวัดบุรีรัมย์ นายธานี สามารถกิจ ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ แจ้งเตือนประชาชนและเกษตรกรให้ติดตามความเคลื่อนไหวการพยากรณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ รวมไปถึงองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เตรียมความพร้อม
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.สั่งให้โรงพยาบาลเตรียมมาตรการรองรับพายุฝนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันนอก ไว้ 4 แผนหลัก คือ 1. แผนเตรียมกั้นกระสอบทราย การขนย้ายเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์อื่น ๆ ไปไว้ในจุดที่ปลอดภัย
2. แผนสำรองออกซิเจนเพื่อใช้ในผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือใช้ในห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด
3. แผนเตรียมความพร้อมการอพยพผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินหากมีน้ำท่วมอาคารบริการ
4. แผนเตรียมความพร้อมการให้บริการนอกสถานที่
ล่าสุด ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ออกประกาศเตือนระวังอันตรายจากพายุลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ จากหย่อมความกดอากาศต่ำทางตะวันตกหมู่เกาะฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวช้า ๆ ไปทางทิศตะวันตก และอาจจะทวีความแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนได้ในอีก 24 ชั่วโมงข้างหน้า ซึ่งพายุลูกใหม่ก่อตัวและทวีความเร็วลมศูนย์กลางขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ไต้ฝุ่นมุ่ยฟ้า (Mui Fah) ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันออกของฟิลิปปินส์ กำลังอ่อนตัวลงเป็นพายุโซนร้อน