แม้ธรรมชาติของไก่จะคล้ายๆ กัน แต่ก็มีข้อต่างกันอยู่ คือ ไก่บ้าน นิสัยจะเชื่องกว่าไก่ป่ามาก เนื่องจากเป็นไก่ที่ถูกเลี้ยงในบ้าน ทำให้มีความคุ้นกับคนและสิ่งอื่นๆ...
โดย...อ.ตุ้ย วรธรรม
ธรรมชาติของไก่เป็นสัตว์ที่ขี้ระแวงเอาการ เวลากินอาหารจะผงกหัวขึ้นมองรอบๆ ตัว และเวลาที่ได้ยินเสียงอะไรนิดอะไรหน่อยดังขึ้นจะเกิดอาการตกใจง่าย
ยิ่งถ้าเสียงนั้นดังลั่นแบบฉับพลันใกล้ๆ ละก็สัตว์ปีกชนิดนี้ก็จะส่งเสียงกระโตกกระตาก ถ้าเทียบคนก็ขั้นใจหายวับ จับหน้าอกตัวเอง ประมาณนั้น
ยิ่งไก่ป่าด้วยแล้วไม่ได้เลย ใครจะเข้าใกล้ไม่ได้เลย และตัวของมันก็ไม่มีทางย่างกรายเข้าใกล้คนด้วย เพราะแค่ได้ยินเสียงอะไรเบาๆ ก็ชูหัวชูคอขึ้นมองรอบทิศด้วยเกรงว่าเสียงนั้นจะนำภัยมาสู่ตัว
แม้ธรรมชาติของไก่จะคล้ายๆ กัน แต่ก็มีข้อต่างกันอยู่ คือ ไก่บ้าน นิสัยจะเชื่องกว่าไก่ป่ามาก เนื่องจากเป็นไก่ที่ถูกเลี้ยงในบ้าน ทำให้มีความคุ้นกับคนและสิ่งอื่นๆ เช่น เวลาได้ยินเสียงรถวิ่งผ่านไปมาใกล้ๆ อาจตกใจบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นกระโตกกระตาก
ส่วนไก่ป่าลองได้ยินเสียงดังๆ เช่นนั้นยังไงก็ตื่นตกใจและเตลิดหนีให้ไกลหรือเพื่อตั้งหลักดูเชิง และยิ่งคนเดินเข้าหามันก็ยิ่งเดินหนี และถ้าคิดจับก็อย่าหวังจะจับได้เพราะไก่ป่ามีความคล่องแคล่ว ปราดเปรียว ว่องไว มาก
เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ผมเคยเข้าป่าเก็บเห็ดกับแม่และเคยเห็นไก่ป่ามากมาย (แต่ทุกวันนี้หายากป่าถูกบุกรุก) เวลาที่ผมเดินเหยียบกิ่งไม้หรือใบไม้แห้งเจ้าไก่ป่าก็จะชูคอขึ้นมองแล้วเตลิดหนีไปอย่างรวดเร็วไม่ให้เห็นอีกเลย
เพราะฉะนั้น ไก่ป่าจะประพฤติตัวเป็นไก่บ้าน จึงไม่อยู่ในวิสัยจะทำได้ (ผมคิดอย่างนั้น) แต่กระนั้นก็อย่าดูเบา เพราะไก่ป่าที่ปกติเป็นสัตว์ขี้ระแวง ตกใจง่าย ไม่เข้าใกล้คนและไม่ยอมให้คนเข้าใกล้นั้นกลับปรากฏว่ามีความประพฤติตรงข้ามจากปกติวิสัยของมัน
พูดถึงไก่ป่าประพฤติตัวเป็นไก่บ้าน จะนึกถึงใครไปไม่ได้ นอกจาก สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) ฝั่งธนบุรี สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และคำว่า “สังฆราชไก่เถื่อน” ที่ได้ยินคำเล่าลือมานั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่หมายถึง สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดพลับ นี่เอง
พระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย กรุงเก่า โดยเมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่ “พระญาณสังวรเถร” แล้วโปรดให้มาอยู่ที่วัดพลับ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร และเมื่อสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ จึงได้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชในราชทินนามว่า “สมเด็จพระญาณสังวร” พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน วัดบวรฯ เป็นองค์ที่ 2)
การที่ชื่อที่เสียงของพระองค์เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วในหมู่ประชาชน “พระสังฆราชไก่เถื่อน” นั้น ก็เนื่องจากทรงมีเมตตาเป็นมหานิยมสูงมากจนขนาดว่าไก่ป่าที่อยู่รอบวัดยังสัมผัสได้ถึงเมตตาธรรมของท่าน กลายเป็นสัตว์เชื่อง และพากันมาหากินอยู่รอบๆ ตำหนัก เวลาที่ท่านลงจากตำหนักไก่เหล่านั้นก็จะเดินเข้ามาหาเป็นฝูงๆ จนใครที่มาเห็นก็มักเข้าใจว่าเป็นไก่บ้านที่ถูกปล่อยวัด
บางคนก็ว่าท่านมีของดีคือคาถาที่รู้จักกันในชี่อ “คาถาพญาไก่เถื่อน” ที่ว่า “เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ”
จะอย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าเมตตาธรรมนอกจากไม่เป็นภัยกับใครแล้วยังเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้คนและสัตว์แม้กระทั่งไก่เถื่อนหรือไก่ป่าให้เข้ามาหาอีกด้วยเหมือนเช่นพระเมตตาของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) นี่เอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น