“ปฏิบัติอดทนเป็นไฉน? คือ บุคคลบางคน เขาด่า ไม่ด่าตอบ เขาโกรธ
ไม่โกรธตอบ เขาวิวาท ไม่วิวาทตอบ นี้เรียกว่า ปฏิบัติอดทน”(จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมขมสูตร)
“เรา(ตถาคต) เรียกผู้ไม่โกรธ ผู้อดกลั้นต่อคำด่าว่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ (วัตถุเป็นเครื่องด่า ๑๐ ประการ คือ เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นลา เจ้าเป็นโค เจ้าเป็นอูฐ เจ้าเป็นสัตว์นรก เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน สุคติไม่มีสำหรับเจ้า ทุคติเท่านั้นที่เจ้าพึงหวัง) ผู้อดกลั้นต่อการทุบตีด้วยฝ่ามือเป็นต้น และอดทนต่อการจองจำ ด้วยการมัดด้วยเชือกเป็นต้น ผู้มีกำลังคือขันติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยกำลังคือขันติ ผู้มีหมู่พลคือขันติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยหมู่พลคือขันตินั้นเอง อันเป็นหมู่พลแห่งการเกิดบ่อย ๆ ผู้เห็นปานนั้นว่า เป็นพราหมณ์ (ผู้มีบาปอันเลยแล้ว,ผู้ประเสริฐ)”
(จาก... ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต วาเสฏฐสูตร)
ขันติ (ความอดทน ความอดกลั้น) เป็นธรรมเผาบาป คือ อกุศลธรรม ขณะที่ อดทนไม่โกรธ ไม่โต้ตอบ ขณะนั้นเผาอกุศล คือความโกรธ เป็นต้น แต่ถ้าโกรธตอบ โดยเป็นผู้ขาดความอดทน ตนเองเท่านั้นที่ทำร้ายตนเอง ไม่ใช่ผู้อื่นเลย เพราะเป็นอกุศลของตนเองเท่านั้นจริง ๆ จึงเห็นได้ว่า ขันติ เป็นธรรมฝ่ายกุศลที่ควรอบรม ด้วยการเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะมีปัญญาเข้าใจความจริงจึงเป็นผู้ไม่มักโกรธ อดทนต่ออารมณ์ที่มากระทบ อดทนต่ออกุศลของผู้อื่น(เพราะคนเราสะสมมาต่างกันย่อมจะมีบ้างที่การกระทำ พฤติกรรม อาจจะไม่เป็นที่พอใจของผู้อื่นได้ หน้าที่ ที่สำคัญของตนเอง ก็คือ อดทนต่ออกุศลของผู้อื่นด้วย) อดทนทั้งต่อผลของกุศล คือ เมื่อได้สิ่งที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ก็อดทนได้ ไม่เพลิดเพลินมัวเมาด้วยอำนาจของโลภะ และอดทนต่อผลของอกุศล คือ เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ ก็อดทนได้ ไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของโทสะ บุคคลผู้ที่อดทนอดกลั้นได้อย่างแท้จริง ก็เพราะมีปัญญา นั่นเอง ดังนั้น ขันติ คือ ความอดทนจึงเป็นหนึ่งในบารมี ๑๐ ที่ควรเจริญในชีวิตประจำวันเพื่อเกื้อกูลต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น