ศีลแปด : อุโบสถศีล
โดยปกติผู้รักษาศีลจะเปล่งวาจาอธิษฐาน ที่จะขอสมาทานศีลตั้งแต่เช้าของวันนั้น หากรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน เรียกว่า "ปกติอุโบสถ" และหากรักษา 3 วัน เรียกว่า "ปฏิชาครอุโบสถ"
ศีล ๘
"ศีล ๘" หรือ "อัฏฐศีล" (Attha-sila: the Eight Precepts; training rules) คือ การรักษาระเบียบทางกายวาจา ข้อปฏิบัติในการฝึกหัวกายวาจา ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
"ศีล ๘" นี้ สมาทานรักษาพิเศษในวันอุโบสถ เรียกว่า อุโบสถ (Uposatha: the Observances) หรือ อุโบสถศีล (precepts to be observed on the Observance Day)
"อุปกิเลส" หรือ "จิตตอุปกิเลส ๑๖" คือ ธรรมเครื่องเศร้าหมอง สิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าเปรอะเปื้อนสกปรก ย้อมไม่ได้ดี
(จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม)
"ศีล ๘" สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธา จะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ "อุโบสถศีล" ศีลที่รักษาเป็นอุโบสถ หรือ ศีลที่รักษาในวันอุโบสถ ได้แก่ ศีล ๘ ที่อุบาสกอุบาสิกาสมาทานรักษาเป็นการจำศีลในวันพระ คือ ขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (แรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด)
(จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์)
"อานิสงส์แห่งการรักษาอุโบสถ"
อันผู้รักษาอุโบสถศีลนั้น ย่อมได้อานิสงส์ทั้งชาตินี้และชาติหน้าโดย อนุรูปแก่การปฏิบัติของตนๆ ดังพระพุทธพจน์ตรัสไว้ในตอนท้าย แห่งอุโบสถสูตรว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุโบสถประกอบด้วย องค์ ๘ ที่อริยสาวกเข้าอาศัยอยู่นานแล้ว เป็นคุณมีผลใหญ่ และอานิสงส์ใหญ่ มีความรุ่งเรืองแผ่ไพศาลมาก"
…การเข้ารักษาอุโบสถ นับว่าเป็นการเข้าถือบวชของคฤหัสถ์ เพราะเป็นอุบายเว้นจากบาปแล้วอบรมบ่มกายวาจาใจให้สุข เกิดเป็นรสหวาน ซึ่งเป็นผลที่ต้องการทั้งทางคดีโลกคดีธรรม จริงอย่างนั้น น้ำใจอัธยาศัยอันธรรมอบรมบ่มให้สุขแล้ว ย่อมเกิด รสหวานคือน่าเคารพและน่าคบค้าสมาคมด้วยความสนิทสนม การและวาจาอันศีลอบรมบ่มให้สุขแล้ว ย่อมเกิดรสหวาน กล่าวคือกิริยาทางกายหวานตาน่าดูน่าชม คำพูดทางวาจา ก็หวานหู ฟังไม่รู้เบื่อ
(จาก คู่มืออุบาสก-อุบาสิกา โดย กองวิชาการ อำนวยสาส์น [ธรรมบรรณาคาร])
"ความมหัศจรรย์แห่งอุโบสถศีลนี้ ผู้เขียนได้เรียบเรียงขึ้น จากพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นต้นตำรับของพระพุทธศาสนา เป็น ศีลระดับสูงของชาวพุทธผู้เป็นฆราวาส เป็นศีลที่มีความ สำคัญยิ่ง เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวพุทธ"
"อุโบสถศีลคืออะไร"
อุโบสถศีล เป็นศีลชั้นสูงของฆราวาส คำว่า "อุโบสถ" นี้ มีความหมาย ๖ ประการ คือ
๑. เป็นชื่อการประชุมสวดปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ ในวันพระ ขึ้น-แรม ๑๕ ค่ำ และแรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า อุโบสถกรรม
๒. เป็นชื่อการประพฤติวัตรบางอย่างของลัทธินอกพระพุทธ ศาสนา เช่น ปฏิญญาณตนอดข้าววันหนึ่งบ้าง หรือ ปฏิญญาณ ตนบริโภคเฉพาะน้ำผึ้งบ้าง เรียกว่า อุโบสถ
๓. เป็นชื่อของช้างตระกูลหนึ่ง มีสีการเป็นสีทอง เรียกว่า ช้างตระกูลอุโบสถ
๔. เป็นชื่อของโบสถ์ เรียกว่า พระอุโบสถ
๕. เป็นชื่อของวันสำคัญในพระพุทธศาสนา (วันพระ) เรียกว่า วันอุโบสถ
๖. เป็นชื่อของการรักษาศีล ๘ ในวันพระขึ้น-แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และแรม ๑๔ ค่ำ (กรณีเดือนขาด) เรียกว่า อุโบสถศีล
อุโบสถศีลมีวันพระเป็นแดนเกิด ศีล ๘ ที่รักษาในวันอื่นนอกจาก วันพระไม่เรียกว่า อุโบสถศีล เรียกว่า ศีล ๘ ธรรมดา
"ความหมายของอุโบสถศีล"
อุโบสถศีล มีบทวิเคราห์ศัพท์ว่า อุปะวะสิตัพโพ อุโปสะโถ แปลว่า สถาวธรรมอันบุคคลทั้งหลายผู้ต้องการด้วยบุญ พึงเข้าไปอาศัยอยู่ (รักษา) ชื่อว่า อุโบสถศีล อุปะกิเลเส อุเสติ ทะหะติ อุปะตาเปติ วาติ อุโปสะโถ ความว่า การกระทำที่กำจัดอุปกิเลส ๑๖ เผาอุปกิเลส ๑๖ ทำให้อุปกิเลส ๑๖ เดือดร้อน หมายความว่า ทำอุปกิเลส ๑๖ ให้หมดสิ้นไป ชื่อว่า อุโบสถศีล
"ความแตกต่างระหว่างอุโบสถศีลกับศีล ๘"
๑. อุโบสถศีล กับ ศีล ๘ มีข้อห้าม ๘ ข้อเหมือนกัน
๒. คำอาราธนา (ขอศีล) แตกต่างกัน
๓. อุโบสถศีล มีวันพระเป็นแดนเกิด สมาทานรักษาได้เฉพาะ วันพระเท่านั้น ส่วนศีล ๘ สมาทานรักษาได้ทุกวัน
๔. อุโบสถศีล มีอายุ ๒๔ ชั่วโมง (วันหนึ่งคืนหนึ่ง) ส่วนศีล ๘ ไม่มีกำหนดอายุในการรักษา
๕. อุโบสถศีล เป็นศีลสำหรับชาวบ้านผู้ครองเรือน หรือเป็นศีล ของชาวบ้านผู้บริโภคกาม (กามโภคี) ส่วนศีล ๘ เป็นศีลสำหรับ ชาวบ้านผู้ไม่ครองเรือน เช่น แม่ชี
"คำอาราธนาอุโบสถศีล"
อะหัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามิ
ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามิ
ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามิ
(จาก ความมหัศจรรย์แห่งอุโบสถศีล โดย พันเอก (พิเศษ) สฤษฏิ์ สิทธิเดช)
คำอาราธนาศีล ๘
มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
พระจะกล่าว "ติสรณคมนัง ปริปุณนัง"
โยคีกล่าวรับ "อามะภันเต"
ศีล ๘
ปาณาติปาตา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่าสัตว์)
อะทินนาทานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้)
อะพรัหมะจะริยา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการกระทำอันมิใช่พรหมจรรย์)
มุสาวาทา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง)
สุราเมระยะ มัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)
วิกาละโภชนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล)
นัจจะคีตะวาทิตะ วิสูกะทัสสะนะ มาลาคันธะวิเลปะนะ ธาระณะมัณฑะนะ
วิภูสะนัฏฐานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การดนตรี การดูการเล่น
ที่เป็นข้าศึกต่อกุศล การทัดทรงสวมใส่ การประดับ การตกแต่งด้วยพวงมาลา
ด้วยกลิ่นหอม ด้วยเครื่องทา)
อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(เจตนาเป็นเครื่องเว้นการนั่งนอนบนที่สูงและที่นอนใหญ่)
พระจะกล่าว "อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ"
โยคีกล่าวรับ "อามะภันเต"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น