เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ธรรมมะยามเช้า : ต้องเชื่อสิ่งที่เห็นได้ด้วยตนเอง




ธรรมมะยามเช้า : ต้องเชื่อสิ่งที่เห็นได้ด้วยตนเอง


หลาย ๆ ท่านเคยบอกไว้ว่า ตอนเช้าเป็นการเริ่มต้นแห่งชีวิตใหม่

เมื่อเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ก็ควรจะเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ดี ๆ และเป็นมงคลกับชีวิต

วันนี้จึงขออนุญาตนำคำสอนจากท่านพุทธทาสภิกขุ มาเพื่อเป็นศิริมงคลกับชีวิตในวันนี้และการดำเนินชีวิตสำหรับทั้งตัวกระผมเองและทุก ๆ ท่านตลอดไปครับ
ต้องเชื่อสิ่งที่เห็นได้ด้วยตนเอง

นี่ท่านจะเห็นได้เองทันทีว่า การถาม เรื่องเกิดทางเนื้อหนัง แล้วตายเข้าโลง แล้วว่า เกิดหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้า ท่านไม่ยอมพูด ด้วย ที่ว่า ไม่เป็น เงื่อนต้น ของความดับทุกข์นั้น ก็เพราะว่า เมื่อผู้ถามถามอย่างไร ผู้ตอบตอบให้ฟัง ผู้ถามก็เห็นด้วยตนเองไม่ได้ มันจึงได้แต่โง่ลง เป็นครั้งที่สองอีก คือเชื่อตามที่ผู้พูด พูด หรือ ผู้บอก บอก ครั้งยังไม่เข้าใจ ก็ถามอีก ผู้บอกก็บอกอีก คนฟังก็ต้องโง่เชื่อไปตามคำบอกเรื่อยไปๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมันไม่อาจจะเห็นได้ด้วยตาว่า ว่าหลังจากเข้าโลงไปแล้ว มันจะไปเกิด ได้อย่างไร เป็นคนๆเดียวกัน หรือเปล่า แล้วบุญกุศลนั้น มันจะไปถึง จริงหรือเปล่า นี่เป็น เรื่องสำคัญที่สุด ของพุทธศาสนา ว่า มันไม่ได้หมายถึง "ความเกิด" อย่างนั้น ถามไปเท่าไร มันก็เป็นเรื่อง ไกลออกไปทุกที ไกลออกไปทุกที จนไม่มีทาง ที่จะพูดถึง เรื่องดับทุกข์ แล้วผู้ถาม ก็ต้องเชื่อ ตามผู้บอก ซึ่งบอกเรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประโยชน์อะไร

พระพุทธองค์ ตรัสว่า มาพูดถึงเรื่องที่จำเป็น หรือที่สำคัญดีกว่า คือ มาพูดถึง เรื่องที่ว่า เกิดอยู่นี่มันเป็นทุกข์ แล้วทำอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์ อย่าไปพูดว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด อันเป็นเรื่อง ข้างหน้าโน้น พูดเดี๋ยวนี้ ที่นี่เลยว่า ที่เกิดอยู่นี่ เป็นทุกข์ หรือ ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์ ละก็ จะแก้ทุกข์อย่างไร? ท่านทรงชี้ให้เห็นว่า ความยึดมั่น ถือมั่น ว่าตัวกู ว่าของกู นี้มันเป็นทุกข์ พูดกันพักเดียว คนฟังนั้น เขาฟังเข้าใจ ไม่ต้องเชื่อ พระพุทธเจ้า แต่เขาเชื่อตัวเองเท่านั้น พระพุทธเจ้า ท่านก็กำชับว่า อย่าเชื่อตถาคต แม้พระสารีบุตร ก็กล้าปฏิญาณ ต่อหน้า พระพุทธเจ้าว่า ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า แต่เชื่อตัวเอง อย่างนี้ ในกรณีของธรรมะ เป็นอันว่า ในกรณีของธรรมะ ในพุทธศาสนานี้แล้ว ต้องเชื่อสิ่งที่เห็นได้ด้วยตนเอง ฉะนั้น พระพุทธเจ้า ท่านสามารถ ที่จะทรงแสดง ให้เขาทราบ เขาเห็นด้วยตนเอง ว่าการยึดมั่น ถือมั่น ว่าตัวกู ว่าของกู นี้มันเป็นทุกข์ และความเกิด นั่นมันเป็น ความเกิด ที่ทำให้เป็นทุกข์ ขึ้นมา ก็ต่อเมื่อ มีความยึดมั่น ถือมั่น ว่าความเกิดของกู นั่นเอง




เมื่อเห็นว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกู-ของกู นี้เป็นความทุกข์แล้ว เสร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว ท่านก็อธิบายต่อไปอีก ขั้นหนึ่ง ว่า ความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกูนี้ มันเป็นมายา มันไม่ใช่ตัวจริง คือมันเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ เห็นรูป ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ที่เรียกว่า สัมผัส แล้วเกิดเวทนา- แล้วเกิดตัณหา- แล้วเกิดอุปาทาน มันเพิ่งเกิดหยกๆ ตรงนี้ และชั่วครู่ ชั่วขณะเท่านั้น มันเป็นมายาอย่างนี้ โดยที่แท้จริงแล้ว มันไม่มี ตัวกู-หรือตัวเรา ของกู-หรือของเรา นี้มันไม่มี มันเป็นความเข้าใจผิด เป็นความยึดมั่น ถือมั่น ที่เกิดขึ้นมาจาก ความไม่รู้ หรืออวิชชา ในขณะที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส หรือ คิดนึก ด้วยใจ นั่นเอง ท่านอุตส่าห์ ทรงพร่ำสอน ตรงนี้ จนผู้ฟังนั้น เห็นเองอีก เห็นได้ด้วยตนเอง ว่า มันไม่มีตัวกู มันมีแต่ความสำคัญผิด ว่าตัวกู เกิดขึ้นเป็น egoism อย่างที่อธิบายแล้ว แต่วันก่อนนี้ ขึ้นมาในใจ แล้วไปยึดมั่น ถือมั่น สิ่งนั้นว่า ตัวกู แท้จริงแล้ว ตัวกูไม่มี มีแต่จิต ที่ประกอบด้วย อวิชชา มันก็ต้องรู้สึกว่า ตัวกู เสมอไป ถ้าประกอบด้วย สติปัญญา คือ ว่างแล้วก็ไม่มีตัวกู เสมอไป แล้วอันไหนเป็น ความเท็จ อันไหนเป็น ความจริง ผู้นั้น ก็จะเห็นได้ด้วย ตัวเองทันทีว่า ที่ว่างจากตัวกู นั่นแหละคือความจริง เลยกลายเป็น บุคคลที่เห็นได้ว่า ตัวกูไม่มี เมื่อตัวกู มันไม่มีแล้ว ใครมันจะตาย แล้วใครมันจะเกิด การที่มาถามทีแรกว่า ตายแล้วเกิดไหม? นั้นจึงเป็น ปัญหาที่โง่ที่สุด คือมันไม่เป็นปัญหาเลย มันก็เลยหยุดไปเอง เพราะมันเป็น การตอบเสร็จ ไปเลยในตัวเอง ว่าไม่มีใครตาย ไม่มีใครเกิด ในทำนองที่ เกิดทางเนื้อหนัง ที่ตายเข้าโลง แล้วเกิดอย่างนี้ มันไม่มี มันมีแต่จิต ที่เปลี่ยนแปลงไป ตามสิ่งปรุงแต่งเท่านั้น มีความเกิดขึ้น แห่งความ ยึดมั่น ถือมั่น ว่า ตัวกู-ของกู เท่านั้น พอเรารู้แจ้ง เห็นจริง ในข้อนี้ เราขจัดมันไป เสียได้ สิ่งที่เรียกว่า ตัวกู-ของกู ไม่มี เรื่องก็จบกัน คือ สิ้นสุดกันลง เพียงเท่านั้น สิ่งที่เหลืออยู่ ก็เป็นเพียง จิตที่ว่าง ไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู มาวี่แววเลย ปัญหาเรื่อง ตายแล้ว เกิดหรือไม่ ก็เลยเป็นหมัน




ทุกๆอย่างนั้น เห็นได้ด้วยตนเองหมด ว่าที่พระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่า ความเกิด ความแก่ ความตายนั้น มันหมายถึงอะไร? แล้วก็รีบ ขจัดสิ่งเหล่านี้ ออกไปให้หมด จนไม่มีการเกิดขึ้นมาเลย แล้วเรื่องก็สิ้นสุดลง ไม่ต้องพูดถึงชาติโน้น ไม่ต้องพูดถึงชาตินี้ ไม่ต้องพูดถึงชาติที่แล้วมา พูดแต่เรื่องเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันอย่างยิ่ง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ที่จะต้องรีบศึกษา ให้เข้าใจ จนไม่มีความรู้สึกว่า เป็นตัวกู-หรือของกู นั่นแหละ แล้วร่างกายนี้ อัตตภาพนี้ ซึ่งประกอบอยู่ ด้วยร่างกาย และจิตใจนี้ จะเป็นของเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ ของคนแก่ คนเฒ่า อะไรก็ตาม จะสะอาด ปราศจาก ตัวกู-ว่างจากตัวกู แล้วก็ ไม่มีความทุกข์เลย ในพระบาลี ก็ยังมีพูดถึง ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ตั้งแต่อายุเพียง ๑๕ ปี นี้ก็หมายถึงเป็นเด็ก แต่มีน้อยมาก มีแต่ที่พูดถึง ผู้สูงอายุ ได้เป็นพระอรหันต์นั้น เป็นจำนวนมากที่สุด เพราะว่า สามารถ ผ่านสิ่งต่างๆ มา ประจักษ์ชัด ด้วยตนเอง ทั้งนั้น กล่าวคือ มีความแจ่มแจ้ง ในทางจิต หรือทางวิญญาณ เป็นเรื่องๆ ไปอยู่เป็นประจำ เรียกว่า spritual experience, คือว่า experience อันนี้ไม่ใช่สัมผัส ทางเนื้อ ทางหนัง ทางวัตถุ แต่เป็นสิ่งที่เคย ถูกเข้าแล้ว โดยทางจิตใจ โดยทางวิญญาณ รู้รสมาแล้ว ทางจิตใจ รู้รสมาแล้ว ทางวิญญาณ ในส่วนลึก ว่า มันเป็นอย่างไร ซึ่งคนเรา ตั้งแต่เกิด ขึ้นมาแล้ว กว่าจะตายนี้ มันประสบ กับสิ่งเหล่านี้ นับไม่ถ้วน ถ้าเขาเป็นคนฉลาด สังเกตแล้ว สิ่งเหล่านี้ มันจะมีประโยชน์ มากที่สุด คือ มันจะสอน ให้ทุกคราวไปว่า ไม่มีสิ่ง ที่ควรเรียกว่า ตัวกู หรือ ของกู ทุกคราวไป ไม่เท่าไร เขาจะมีความรู้ มากพอ อย่างที่ว่า พระพุทธเจ้าตรัส สะกิดคำเดียว เขาก็เป็น พระอรหันต์แล้ว คือไม่กี่นาที ที่ได้คุยกับพระพุทธเจ้า ก็กลายเป็น พระอรหันต์ไป นี้เรียกว่า เป็นผลของ สิ่งๆเดียว คือความเข้าใจถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ เข้าใจถูก เรื่องความทุกข์ หรือในเรื่องที่ว่า "ความเกิด เป็นตัวความทุกข์" อันเป็นคำ ที่สำคัญ คำแรกที่สุด ที่ท่านทั้งหลาย จะต้องสนใจ และเข้าใจ.


ธ-มหา-๑ ๓๖/๑๓๙-๑๔๒


คัดจาก หนังสือ ธรรมานุกรมธรรมโฆษณ์ ฉบับประมวลธรรม เล่ม ๒ เรียบเรียงโดย นาย พินิจ รักทองหล่อ พิมพ์ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๐ โดย ธรรมทานมูลนิธิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น