เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
ปมเดียวที่ควรแก้
บทที่ ๓
ปมเดียวที่ควรแก้
มีความคิดเข้าใจผิดในหมู่คนที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาจริง ว่า หลักของพระพุทธศาสนา เป็นไปในทางที่จะทำให้คนสิ้นหวัง หรือ เห็นโลกไปในแง่ร้ายเสียหมด ทำให้คนฟังแล้วเศร้าสร้อยไม่เบิกบาน เพราะพุทธศาสนาพูดถึงเรื่องสุญญตา (ความว่าง) อนัตตา(ความไม่มีตัวตน) หรือ บอกว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นสาร ที่คนควรจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น แม้แต่เรื่องสวรรค์ก็ไม่มีความดีที่เราจะลุ่มหลง ไม่ควรใฝ่ฝัน ไม่ควรหวัง เพราะเป็นเรื่องของตัณหา และอุปาทาน ไม่ดีไม่วิเศษ อย่างที่คนส่วนมากหลงเข้าใจผิดกันอยู่
ชาวต่างประเทศที่เผอิญมาได้ยินได้ฟังดังนี้ หรือได้ศึกษาแต่เพียงบางตอน ก็เกิดมีความเห็นไปว่า พุทธศาสนาเพ่งเล็งในแง่ร้าย และยิ่งไปกว่านั้น ยังแถมจัดให้เป็นพวกที่ปฏิเสธสิ่งทั้งปวง ซึ่งในที่สุด ก็คงไม่ได้รับอะไรเลย เพราะไม่ได้ยึดถือเอาอะไรเลย เมื่อใครมีความรู้สึกดังนี้ ความเห็นของเขาก็จะเดินไปผิดทาง เป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่งไปทันที สำหรับชาวไทย ที่ไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาจนถึงแก่น ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน และถ้าบุคคลพวกนี้มีอาชีพ หรือทำงานเกี่ยวกับการเผยแพร่พุทธศาสนาด้วยแล้ว เขาก็จะทำให้คนอื่นพลอยเห็นผิดตามไป เกิดผลร้ายแก่พุทธศาสนา และประชาชนผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง เพราะประชาชนเข้าใจว่า เขาเป็นผู้มีความรู้ จนได้รับเชิญให้มาบรรยายหลักพระพุทธศาสนา และตอบปัญหาแก่ประชาชน ปรากฏอยู่บ่อยๆ ว่า ผู้สอนพุทธศาสนาบางคน ได้บิดผันคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อเอาใจประชาชน หรือด้วยอคติเพราะรัก เพราะเกลียด เพราะกลัว และด้วยความหลงงมงายของตนเอง
ส่วนอีกทางหนึ่งนั้น ก็ได้แก่ พวกพุทธบริษัทที่ไม่ชอบการเรียน หรือไม่อาจจะเรียนได้ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากที่สุด คนพวกนั้น มีแต่ศรัทธา และความเข้มแข็งในการทำบุญให้ทาน เชื่อมั่นในบุญกุศล ว่ามีผลเป็นความสุขความเจริญ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า โดยไม่ต้องการคำอธิบายอย่างใดอีก พวกที่เป็นเช่นนี้ ย่อมมองพุทธศาสนาในลักษณะที่ตรงกันข้าม คือมองในด้านดีอย่างเดียว คิดว่าจะได้นั่นได้นี่ จะเป็นนั่นเป็นนี่ แล้วก็ไม่ฟังเสียงใครๆ หากใครจะกรุณาชี้แจงเรื่องถูกต้อง เขาก็ไม่ยอมรับฟัง และยังจะโกรธ หรือเห็นว่า ผู้ชี้แจงนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิไปด้วยก็ได้ อันตรายก็จะตกแก่ผู้นั้นเอง เพราะเขาไม่รู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริง
ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงไม่ใช่พวกที่มองในแง่ร้าย หรือพวกที่มองในแง่ดี แต่เป็นพวกที่อยู่ตรงกลาง เพราะมองเห็น สิ่งทุกสิ่งประกอบอยู่ด้วยคุณและโทษ แต่จักเป็นผู้มีจิตว่างหรือเฉยอยู่ได้ในทุกสิ่ง การที่มองอะไรๆ เป็นแง่ดี หรือแง่ร้ายไปโดยส่วนเดียวนั้น เป็นความคิดผิด เป็นการมองอย่างเด็กอมมือ คือเห็นอะไรเท่าที่ตัวเห็น แล้วก็ว่ามันเป็นอย่างนั้นไปหมด ฉะนั้น พึงเข้าใจว่า พุทธศาสนามองสิ่งทั้งปวงตามที่มันเป็นจริง ทั้งด้านนอกและด้านใน แล้วก็เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น เท่าที่ควร และในลักษณะที่จะไม่เป็นทุกข์แก่ตนแต่ประการใดเลย ไม่มีอาการที่เรียกว่า ติดในความดี หรือ อีดอัดขัดใจเพราะความชั่ว พุทธศาสนาไม่ปฏิเสธว่า ไม่มีอะไร แต่ยอมรับว่า ทุกๆ อย่างมันมี เพียงแต่ว่า ทุกๆ อย่างนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเรา หรือ เป็นของเรา
ที่กล่าวว่า ไม่มีอะไรเป็นตัวเรา หรือ ของเรานั้น มิได้หมายความว่า เราไม่มีอะไร หรือ ไม่รับอะไร ไม่ใช้สอยบริโภคสิ่งใด เราคงมีอะไร หรือบริโภคใช้สอยสิ่งใดๆ ไปตามที่สมควรจะมีจะเป็น แต่ภายในใจนั้น ไม่มีการยึดถือว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นตัวตนของมันหรือของใครเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้ได้รับความเย็นใจ เบากายเบาใจอยู่ตลอดเวลานั่นเอง เรียกว่า เรารับมันไว้ เพื่อมาเป็นบ่าวเป็นทาสเรา เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย เท่าที่จำเป็น ไม่ยอมรับรู้อะไร มากไปกว่านั้น ความมีจึงมีค่าเท่ากับไม่มี หรือความไม่มีจึงมีค่าเท่ากับมี แต่ความสำคัญส่วนใหญ่นั้น เราจะมีจิตใจที่ไม่หวั่นไหว ไม่ทุกข์ร้อน หรือลิงโลดไป เพราะการได้การเสีย จิตใจชนิดนี้ ไม่ต้องการที่จะรับ และไม่ต้องการที่จะปฏิเสธ จึงสงบเป็นปกติอยู่ได้ พุทธศาสนาสอนให้เรามีจิตใจอย่างนี้ คือให้มีจิตใจเป็นอิสระอยู่เหนือวิสัยชาวโลก ไม่หวั่นไหวไปตามสถานการณ์ทุกอย่างในโลก จึงอยู่เหนือความทุกข์ทุกอย่าง ทั้งในการคิด การพูด การทำ เพราะมีจิตใจเป็นอิสระจากกิเลสนั่นเอง จริงอยู่ พุทธศาสนาปฏิเสธว่า ไม่มีอะไรที่ควรสนใจ หรือควรได้ แต่ก็ยอมรับว่า สิ่งที่ควรสนใจหรือควรได้นั้น มีอยู่โดยแน่นอน สิ่งนั้นก็คือ ภาวะแห่งไม่มีทุกข์เลย เป็นภาวะที่เกิดจากความไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นว่า เป็นตัวเราหรือของเรา ไม่ยึดมั่นแม้กระทั่งชีวิต เกียรติยศ ชื่อเสียง หรืออะไรๆ ทั้งสิ้น ที่คนทั่วไปเขายึดถือกัน คือจิตใจเป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งปวง เราเรียกว่าสิ่งนี้อย่างสั้นๆ ว่า ความหลุดพ้น เมื่อถามว่าหลุดพ้นจากอะไร ก็ต้องตอบว่า จากทุกสิ่งที่ครอบงำจิต หรือ ทำจิตไม่ให้เป็นอิสระ
ความสับสนในการจับหลักพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นอุปสรรคอันสำคัญ ของการที่จะเข้าถึงตัวแท้ของพุทธศาสนา เพราะต่างคนต่างถือเรื่องนั้นเรื่องนี้ หมวดนั้นหมวดนี้ ว่าเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แต่แล้วก็ไม่พ้นที่จะคว้าน้ำเหลวอยู่นั่นเอง คือไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมะให้ประสบผลสำเร็จได้ ความไม่สำเร็จยังเนื่องมาจาก ความยึดมั่นถือมั่นดั้งเดิมของคนนั้นๆ เมื่อเขามีความเชื่ออย่างไรมาก่อน เขาก็ชอบแต่ที่จะดูพระพุทธศาสนาในเหลี่ยม หรือแง่ที่เข้ากันได้ กับความรู้หรือความเชื่อ ที่มีอยู่เป็นทุนเดิมของเขา แล้วยังทำให้คนอื่นจับหลักผิดไปด้วย เพราะเขาเป็นมหาเปรียญ เป็นบัณฑิตในทางเผยแพร่พุทธศาสนา และต่างก็แย่งกันบอกผู้ฟังว่า นั่นนี่เป็นหลักพระพุทธศาสนา
แม้บางคนจะถามเขาว่า การกราบไหว้อ้อนวอนพระภูมินั้น มิเป็นการเสียความเป็นพุทธบริษัทหรือ นักปราชญ์ชนิดนี้ก็ตอบว่า ไม่เสียความเป็นพุทธบริษัทเลย เพราะไม่ได้นับถือพระภูมิมากกว่าพระรัตนตรัย นี่เป็นตัวอย่างของการพูดสับปรับ แม้คนที่เป็นนักศึกษาชาวต่างประเทศชั้นเยี่ยมยอด ก็ยังเวียนหัว แล้วนับประสาอะไรกับที่ทายกทายิกา อย่างคุณย่า คุณยาย จะไม่เวียนหัว ฉะนั้น เป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง ที่จะกล่าวว่า แม้กระทั่งทุกวันนี้ พวกเราชาวพุทธ ก็ยังจับหลักไม่ได้ว่า หลักของพุทธศาสนาที่แท้จริงเป็นอย่างไร ส่วนพวกที่ไม่เป็นขบถต่อพระพุทธเจ้า ก็อ้างเอาหมวดอริยสัจ หมวดมรรคมีองค์แปด หมวดไตรสิกขา หมวดไตรลักษณ์ หมวดปฏิจจสมุปบาท หรือเช่นหลัก ๓ ประการ เรื่องไม่ให้ทำชั่ว ให้ทำแต่ความดีทุกอย่าง และให้ทำจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดนั้น ว่าเป็นหลักของพุทธศาสนา เห็นกันไปคนละแง่คนละมุม เลยกลายเป็นหมู่ของหลักที่ปักไว้มากๆ ดูสลอนไปหมด จนกระทั่ง พวกทายกทายิกา ไม่รู้ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรดี
ความสับสนอีกทางหนึ่งก็คือ การที่ธรรมะบางหมวดมีถ้อยคำที่เข้าใจไม่ได้ เพราะเหตุว่า เขาได้แปลความหมายของคำนั้นๆ ผิดไปจากความหมายที่แท้จริง หรือพุทธประสงค์เดิม ข้อความจึงค้านกัน และเมื่อฉงนมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีผู้เขียนคำอธิบายเพิ่มเติมมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเขียนเพิ่มเติมมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งผิดไกลออกไปทุกที แต่เนื่องจากคำอธิบายใหม่ๆ นั้นใช้สำนวนโวหารเป็นนักปราชญ์มากขึ้น คนที่ได้ฟังได้เห็น ก็ยิ่งยึดถือคำอธิบายเหล่านี้กันอย่างเต็มที่ โดยมีความหลงผิดไปว่า ยิ่งเข้าใจได้ยากนั่นแหละ ยิ่งเป็นหลักสำคัญของพุทธศาสนา อาการดังที่กล่าวนี้ได้เกิดขึ้นแก่เรื่องเช่น ปฏิจจสมุปบาท จนกระทั่งเกิดคำอธิบายเป็นเล่มสมุดขนาดใหญ่ ได้รับเกียรติอย่างยิ่ง และนิยมศึกษากันแพร่หลายอย่างยิ่ง แต่ในที่สุดก็หาสาระอันใดไม่ได้ ใช้เป็นหลักปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ตรงตามพระพุทธประสงค์เดิม ที่ได้ตรัสเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ก็ไม่ได้ ถึงแม้คำอธิบายที่เรียกกันว่า อภิธรรม ก็ตกอยู่ในลักษณะเพ้อพก เช่นเดียวกัน จนกระทั่ง เหลือความสามารถที่จะเข้าใจได้อย่างทั่วถืง หรือจะนำมาใช้ปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ได้
เนื่องจากได้พิจารณาเห็นอุปสรรคต่างๆ นานา ซึ่งเป็นเครื่องกีดขวาง ไม่ให้เราได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนา เพราะเหตุเพียงอย่างเดียวคือ การที่จับปมยังไม่ได้ คือไม่ได้หลักที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง จนสะดวกที่จะเข้าใจ และปฏิบัติ ให้ตรงกันกับความนึกคิดของคนธรรมดาสามัญ จึงมีความคิดเกิดขึ้นว่า เราควรจะชำระสะสางปัญหาข้อนี้กันเสียที เพื่อให้ได้หลัก ที่ใช้ได้เป็นวงกว้างทั่วๆ ไป แก่มนุษย์ทุกคน สำหรับจะได้ถือเอาไปเป็นหลักเพื่อปฏิบัติตามทางของเขาเอง เพราะธรรมะเป็นสัจธรรม เป็นของกลาง เป็นของธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องศีลธรรม ที่คนบัญญัติเอาได้ ตามสมควรแก่สถานการณ์ที่แวดล้อมอยู่ แต่การที่จะทำอย่างนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องระมัดระวัง ในการที่จะรักษาหลักเดิมๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ ให้ลงรอยกันได้กับหลักพุทธศาสนาทั่วไปทั้งหมด จนเป็นที่ยอมรับสำหรับ พวกพุทธบริษัทผู้คงแก่เรียนทั้งหลายได้ด้วย และให้เข้าใจง่ายๆ แม้ในหมู่พุทธบริษัทที่ไร้การศึกษา เช่น พวกทายกทายิกา หรือคุณย่าคุณยายด้วย
เมื่อเป็นดังนี้ ก็ย่อมจำเป็นที่จะต้อง มีการแปลงการใช้ถ้อยคำให้เป็นคำธรรมดาสามัญ ที่อาจจะเข้าใจได้ทันทีสำหรับคนทั่วไป แต่เนื้อความนั้น เป็นเช่นเดียวกันกับที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ และที่สำคัญก็คือ ให้สามารถใช้ปฏิบัติได้ทันที โดยไม่ต้องศึกษาอะไรให้ยุ่งยาก แม้คนที่มีการศึกษาน้อย หรือ คนชราคนเจ็บร่อแร่จวนจะตายอยู่แล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเข้าใจธรรมะได้ทันเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า คำอธิบายต่อไปนี้จะแปลกจากที่เคยได้ยินได้ฟังไปบ้าง ก็อย่าประหลาดใจ จนถึงกับไม่ยอมอ่านเอาเสียเลย หรือ อ่านอย่างไม่สนใจเพราะเข้าใจว่า เป็นการกล่าวเอาตามอัตโนมัติตามชอบใจมากเกินไป ขอให้ทราบความตั้งใจของผู้กล่าว ว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องกล่าวในลักษณะเช่นนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของพุทธบริษัทนั่นเอง
วิธีที่ได้ปรับปรุงใหม่ และใคร่จะขอเสนอ ก็มีอยู่เพียงสั้นๆ ว่า เราไม่ต้องศึกษาเรื่องอะไรเลย นอกจากเรื่อง "อัตตา" "ตัวตน" และ "ของตน" ยังไม่ต้องคำนึงถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือคำนึงถึงข้อธรรมะชื่อนั้น ชื่อนี้ แต่ประการใดเลย รวมทั้งไม่ต้องคำนึงถึง ประวัติความเป็นมา ของพระพุทธศาสนาด้วย ฉะนั้น เราจะแอบพระคัมภีร์ทั้งหมดไปไว้เสียทางหนึ่งก่อน เพราะความยุ่งยากมากมายของพระคัมภีร์เหล่านั้นจะทำให้อ่อนเพลียลงไปเปล่าๆ เราจะมุ่งศึกษาค้นคว้า พินิจพิจารณา ตรงไปยังสิ่งที่เรียกว่า "อัตตา" อย่างเดียวเท่านั้น ในแง่ในมุมที่เกี่ยวกับความทุกข์ และความดับทุกข์สิ้นเชิง เพราะพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า "แต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันบัญญัติกฏเกณฑ์เฉพาะเรื่องอันเกี่ยวกับความทุกข์ และความดับไม่เหลือแห่งทุกข์"
ฉะนั้น เราจะพิจารณากันว่า "ตัวเรา-ของเรา" นี้มันทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมาอย่างไร แล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไร เริ่มตั้งแต่ชั้นที่จะทำลายตัวเราชนิดอันชั่วร้าย ให้เหลืออยู่แต่ตัวเราชนิดที่ดีๆ แล้วค่อยๆ บันเทายึดถือในตัวเราชั้นดีให้น้อยลงๆ จนกระทั่งถึงขั้นสุดท้าย คือไม่มีความรู้สึกของ "ตัวเรา-ของเรา" ชนิดใดๆ เหลืออยู่ในใจเลย เรื่องมันก็จบกันเพียงเท่านี้ และเป็นการจบเรื่องหมดทั้งพระไตรปิฎก หรือทั้งหมดในพระพุทธศาสนา แล้วผู้นั้นก็จะประสบสันติสุขอันถาวร ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพเช่นไร เพราะสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา" นี้มันเป็นเหตุของความทุกข์ทุกอย่าง สิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา" และ "ของเรา" นี้ ก็มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า "อหังการ" และ "มมังการ" ถ้าเป็นคำทางจิตวิทยา จะเรียกว่า "อัตตา" และ "อัตตนียา" ก็ได้ ทั้งหมดนี้ ก็หมายถึง จิตที่กำลังกลัดกลุ้มอยู่ด้วยความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวจัด กำลังดิ้นรนทุกอย่างเพื่อจะทำตามใจตน โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม หรือ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีใดๆ
อุปาทาน คือการยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจ เช่น ยึดมั่นในเบญจขันธ์ คือร่างกายและจิตใจ รวมกันว่าเป็น "ตัวตน" และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ถูกใจ อันมาเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็น "ของตน" หรือที่ละเอียดลงไปกว่านั้น ก็ยึดถือจิตส่วนหนึ่งว่าเป็น "ตัวเรา" แล้วยึดถือเอารูปร่างกาย ความรู้สึก ความจำ และความนึกคิด สี่อย่างนี้ว่าเป็น "ของเรา" พุทธภาษิตมีอยู่ว่า "เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน นั่นแหละเป็นตัวทุกข์" ฉะนั้น คนที่มีอุปาทานยึดมั่นว่า "ตัวเรา" ว่า "ของเรา" จึงมีเบญจขันธ์ที่เป็นทุกข์ คือแสดงอาการที่ทนได้ยากแก่บุคคลนั้น และแสดงอาการที่น่าเกลียด น่าเอือมระอา แก่บุคคลที่ได้พบเห็นทั่วไป ส่วนเบญจขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานครอบงำนั้น หาเป็นทุกข์ไม่ ฉะนั้น คำว่า บริสุทธิ์ หรือ หลุดพ้น จึงหมายถึง การหลุดพ้นจากอุปาทานว่า "ตัวเรา" ว่า "ของเรา" นี้โดยตรง ดังมีพระพทธภาษิตว่า "คนทั้งหลายย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน" ถ้ายังมีอุปาทานก็ยังไม่พ้นจากความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา" นั่นแหละเป็นบ่วงทุกข์ ที่คล้องหรือร้อยรัดผูกพันเราทั้งหลายอยู่ ถ้าเราตัดบ่วงนี้ให้ขาดไม่ได้ อยู่เพียงใด เราก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่เรื่อยไป
ความหลุดพ้น (วิมุติ) เป็นวัตถุประสงค์มุ่งหมาย ของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ดังพระพุทธภาษิต ตรัสเป็นใจความว่า "พรหมจรรย์นี้ มิได้มีลาภสักการะ สรรเสริญ เป็นอานิสงส์ มิได้มีกามสุขในสวรรค์เป็นอานิสงส์ มิได้มีการเข้าถึงความเป็นอันเดียวกับพรหมในพรหมโลกเป็นอานิสงส์ แต่ว่ามีวิมุติเป็นอานิสงส์ ดังนี้" วิมุติ ในที่นี้ก็หมายถึง ความหลุดพ้นจากอำนาจของลาภสักการะ สรรเสริญของกามสุขในสวรรค์ ของความอยากเป็นพรหม แต่ความรู้สึกว่ามี "ตัวตน-ของตน" นั่นแหละ เป็นตัวการที่หวังลาภสักการะสรรเสริญ ทั้งกามสุขในสวรรค์ หรือ ความเป็นพรหม เพราะมันเป็นความรู้สึก ที่อยากได้ อยากเป็น อยากเอา ถ้ามีการได้การเป็น ด้วยอุปาทานนี้ เพียงใดแล้ว ความทุกข์ย่อมเกิดอยู่เสมอไป ต่อเมื่อเอาอุปาทานนี้ออกไปเสียแล้ว การได้การเป็นทั้งหลาย จึงจะไม่เป็นทุกข์
ใจความสำคัญอยู่ตรงที่ มีการได้ การเอา การเป็น ด้วยอุปาทาน อีกอย่างหนึ่งนั้น เป็นการได้การเอาการเป็น ด้วยสติปัญญาไม่มีอุปาทาน และคำว่าสติปัญญาในที่นี้ หมายถึง สติปัญญาที่แท้จริง ไม่ใช่สติปัญญาชนิดอุปาทานครอบงำไว้แล้ว เช่นสติปัญญาของปุถุชนทั้งหลายในเวลานี้ ที่นับถือกันว่า มีการศึกษาทางโลกก้าวหน้าเจริญที่สุด ส่วนจิตใจของเขากลับจมดิ่งอยู่ภายใต้อำนาจของอุปาทาน ชนิดที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา" สติปัญญาของเขา จึงไม่บริสุทธิ์สะอาดหมดจด ดังนั้นจึงไม่ใช่ปัญญา ตามความหมายของพุทธศาสนา เขาไม่มีชีวิตอยู่ด้วยการควบคุมของสติปัญญา แต่มีชีวิตอยู่ภายใต้การควบคุมของอุปาทานว่า "ตัวเรา-ของเรา" นี้เสมอไป
บรรยากาศของโลกสมัยนี้ จึงมีแต่ความเห็นแก่ตัว จัดกลุ่มอยู่ทั่วไปหมด และเข้มข้นยิ่งขึ้นทุกทีๆ นั่นแหละคือ พิษสงของสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา" เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง ที่ชาวโลกกำลังประสบอยู่ ถึงกับทำให้นอนตาหลับไม่ได้ ทั้งๆ ที่อวดอ้างอยู่ว่า อะไรๆ ก็เจริญ การศึกษาก็เจริญ ประดิษฐกรรม และอุตสาหกรรม ก็เจริญ แต่ความทุกข์ที่ทรมานด้านจิตใจของคน กลับถูกสลัดให้พ้นออกไปไม่ได้ ก็เพราะอำนาจของสิ่งนี้ สิ่งเดียวเท่านั้น คือ ความเห็นแก่ตัวจัด ฉะนั้นแม้ว่า คนสมัยนี้จะได้ทำตนให้มีประสิทธิภาพในการงาน มากขึ้นเท่าใด ประสิทธิภาพเหล่านั้นๆ ก็มีแต่จะพาให้คนไหลไปสู่สังสารวัฎฎ์ คือ ความทุกข์ซ้ำๆ ซากๆ ไม่สิ้นสุด ไม่มีส่วนที่จะไหลไปใกล้นิพพาน หรือความพ้นทุกข์ กล่าวคือ สันติภาพอันแท้จริงและถาวรได้เลย มีแต่จะยิ่งห่างออกไปๆ จากสันติภาพที่แท้จริง
ฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่า ความสามารถของชาวโลกเราสมัยนี้ มีแต่จะกลายเป็นความสามารถที่ผิดทาง ไปเสียทั้งนั้น แล้วเราจะปรารถนามันไปทำไมกัน จงเอาสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา" นี้ออกไปเสียก่อน โลกนี้จึงจะมีความสามารถ หรือ การกระทำที่พึงปรารถนา นี่แหละคือความสำคัญใหญ่ยิ่ง ที่ควรศึกษาเรื่อง "ตัวเรา-ของเรา" และขอร้องให้ถือว่า เป็นหัวข้อเพียงหัวข้อเดียว สำหรับการศึกษาพุทธศาสนาของคนทุกคน ในฐานะที่เรียกได้ว่า เป็นบทเรียนสากล เป็นการเรียนลัด โดยไม่ต้องจำกัดว่า เป็นพุทธศาสนา หรือเป็นศาสนาไหนหมด เพราะมนุษย์ทั้งหมดย่อมมีปัญหาอย่างเดียวกัน มีหัวอกเดียวกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นชนชาติอะไร อยู่ที่มุมโลกไหน หรือถือศาสนาอะไร โลกทั้งหมด กำลังเดือดร้อน เพราะ "ตัวเรา" ตัวเดียวเท่านี้เอง รวมความว่า สังคมเดือดร้อน และเอกชนก็หาความสุขแท้จริงไม่ได้ แม้ว่าจะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ อำนาจวาสนา หรือสติปัญญาก็ตาม ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่า "อัตตา" หรือ ความเห็นแก่ตัวจัด นั่นเอง
เราจะต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า ไม่ใช่เป็นเพราะพระเจ้าลงโทษเรา หากแต่ว่ามันเป็นความเดือดร้อนของเราเอง ที่เกิดมาจากพิษสงของการถือว่ามี "ตัวตน-ของตน" เมื่อมนุษย์เดือดร้อนหนักเข้าๆ ก็คิดค้นวิธีที่จะกำจัดความเดือดร้อนเหล่านั้น มนุษย์จึงได้ค้นพบหลักต่างๆ นานาว่า เราควรปฏิบัติต่อกันอย่างนี้ ต่อตัวเราเองอย่างนี้ แล้วสมมติสิ่งที่ตั้งแห่งความเชื่อว่าเป็น "พระเป็นเจ้า" เพื่อจะทำให้คนเชื่อ หรือยึดมั่นอย่างแน่นแฟ้นทีเดียว แท้จริงนั้น การที่ความรู้หรือความเข้าใจอันถูกต้อง ปรากฏออกมานั่นแหละคือ การที่พระเป็นเจ้าอันแท้จริงได้ปรากฏขึ้นแล้ว ดังนั้นทุกคนก็ควรจะเห็นได้ด้วยตนเองว่า เราต่างหาก ที่สร้างพระเจ้าขึ้นมา
พระพุทธศาสนา ต้องการขจัดทุกข์ภัยอันเกิดจาก "ตัวตน-ของตน" เหล่านี้ จึงได้มีหลักปฏิบัติเป็นขั้นๆ ไป นับแต่ต้นจนปลาย โดยไม่เกี่ยวกับสิ่งภายนอก เช่น ผีสางเทวดา พระผู้เป็นเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายอื่นใดเลย แต่ไม่อยากขัดคอใครตรงๆ ในเรื่องพระเป็นเจ้า เรื่องนรก หรือเรื่องสวรรค์ จึงปล่อยเรื่องเหล่านี้ไป ตามความเชื่อและความประสงค์ของคนที่อยากจะเชื่อ ถ้าหากจะนำเรื่องเหล่านั้นเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ก็จะนำมาเพียงเป็นเครื่องช่วย บุคคลที่มีปัญญาอ่อน หรือบุคคลที่เคยมีความเชื่ออย่างนั้นมาก่อน จะได้อาศัยเป็นกำลังใจสำหรับจะละความชั่ว และทำความดีเท่านั้น เพราะเขายังไม่สามารถกำจัด "ตัวตน-ของตน" โดยสิ้นเชิงได้ จึงไม่ถือว่าเรื่องเหล่านั้น เป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า แม้เขาจะเว้นความชั่วทุกอย่าง กระทำความดีทุกอย่าง กระทั่งไปเกิดในสวรรค์ มีความสุขแบบเทวดาแล้ว เขาก็ยังไม่พ้นจากการบีบคั้น ของสิ่งที่เรียกว่า "ตัวตน-ของตน" จักต้องหัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง อยู่ในสวรรค์ เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น เขาจึงต้องมีหลักเกณฑ์อันอื่นซึ่งสูงไปกว่านั้น กล่าวคือ หลักปฏิบัติ ที่สามารถกำจัดอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า "อัตตา" เสียได้โดยสิ้นเชิง ทั้งเป็นหลักการที่สามารถใช้ได้ทั่วไป ไม่ว่าในหมู่มนุษย์หรือหมู่เทวดา แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งนั้น เราต้องการกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ขอให้คนที่ใหม่ต่อพุทธศาสนา จงเข้ามาสนใจพุทธศาสนา โดยจับแต่ปมอันนี้ เพื่อให้เข้าถึงพุทธศาสนาตัวแท้เสียก่อน และตัวเองจะได้ไม่ไขว้เขว หรือสอนใครผิดๆ ต่อไปอย่างน่าสงสาร
เราต้องไม่ลืมว่า มันมีสิ่งๆหนึ่ง ซึ่งทำให้สังคมไม่เป็นสุข และทำให้เอกชนไม่ได้รับความสงบเย็น และถ้าไม่กำจัดสิ่งนี้ให้ออกไปเสียแล้ว มนุษย์เราก็แทบจะกล่าวได้ว่า เกิดมาเพื่อความทนทุกข์ทั้งนั้น หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ได้รับสิ่งที่มนุษย์ควรจะได้รับ เพราะฉะนั้น เราควรแข่งขันกันในการค้นคว้าให้พบว่า เราจะต้องทำอย่างไร มนุษย์จึงจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งมนุษย์ควรจะได้รับ และจักต้องเป็นสิ่งทั่วไปแก่มนุษย์โดยตรง โดยน้ำมือของมนุษย์ ไม่ต้องไปหวังในความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้า หรือพระศาสดาต่างๆ เพราะถ้ายิ่งไปหวังพระผู้เป็นเจ้า หรือ ศาสดาต่างๆแล้ว ก็มีแต่จะถูกดึงให้ไกลออกไปจากตัวแท้ของสิ่งที่จะกำจัดทุกข์ ยิ่งขึ้นไปอีก
ฉะนั้น จึงต้องยืนยันในข้อที่ว่า เอาพระเป็นเจ้า เอาพระศาสดาต่างๆ หรือแม้กระทั่งพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ไปเก็บไว้เสียที่อื่นก่อน แล้วมาสนใจสิ่งที่เรียกว่า "ตัวตน-ของตน" ให้จริงจังเด็ดขาดลงไป ครั้นทำสำเร็จได้ผลแล้ว พระเป็นเจ้าหรือพระศาสดาต่างๆ หรือแม้กระทั่ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะพรูกันมาหาเราเอง หรือมีเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว ในการกระทำเสร็จไปแล้วนั้นเอง เพราะ ความบริสุทธิ์ สะอาด หมดจด จาก"ตัวเรา-ของเรา" นั้นต่างหาก คือองค์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริง หรือเป็นพระเจ้าที่แท้จริง เป็นที่พึ่งได้จริงๆ ถ้าผิดไปจากนั้นแล้ว ก็เป็นเพียงเปลือกนอกของพระเจ้า หรือของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งอาจเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น จนกระทั่ง เกิด "ตัวตน-ของตน" ขึ้นมาอีกแบบใหม่ๆ แปลกๆ เมื่อเป็นดังนี้ แทนที่มนุษย์จะจัดการกับ "ตัวตน" หรือ "ของตน" เรื่องก็กลับกลายเป็นว่า มนุษย์ถูก "ตัวตน" และ "ของตน" หลอกลวงหนักยิ่งขึ้นไปอีก จนหาสันติภาพไม่ได้ ทั้งในวงของหมู่นักบวช ตามวัดวาอารามต่างๆ ตลอดจนชาวบ้าน นี่แหละ คือข้อที่เราจะต้องเห็นกันให้ถูกต้อง เพราะศัตรูที่จะต้องกำจัดร่วมกันมีเพียงสิ่งเดียว คือ สิ่งที่เรียกในที่นี้ว่า "ตัวตน-ของตน" นั่นเอง ซึ่งเมื่อกำจัดเสียได้แล้ว ก็จะประสบสิ่งที่เรียกว่า "นิพพาน" คือความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ใจทั้งปวง
เพื่อความสะดวกในการศึกษา เราอาจจะแบ่ง "ตัวตน" ออกได้เป็นชั้นๆ คือ ตัวตนที่ชั่ว ตัวตนที่ดี ตัวตนที่เบาบางลงๆ และตัวตนที่ว่างจากความรู้สึกว่ามี "ตัวตน" รวมเป็น ๔ ชั้นด้วยกัน การปฏิบัติเกี่ยวกับตัวตนก็มีเป็น ๓ ชั้นคือ (๑) กำจัดตัวตนที่ชั่วให้สิ้นสูญสิ้นไป (๒) สร้างตัวตนที่ดีขึ้นมา และ (๓) ทำตัวตนนั้นให้เบาบางลงจนกระทั่งไม่มีเหลือ สมตามหลัก ๓ ข้อที่เรียกว่า หัวใจพุทธศาสนา กล่าวคือ ละชั่ว ทำดี และทำใจให้ขาวบริสุทธิ์ พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาของมนุษย์ทุกคน การเข้าใจว่า พุทธศาสนาเป็นของพุทธเจ้าซึ่งชื่อสิทธัตถะโคตมะนั้น เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง พระพุทธองค์ ทรงปฏิเสธความเป็นเจ้าของธรรมะ หรือความเป็นเจ้าของพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง และทรงยืนยันว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง พระองค์ทรงค้นพบ ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งต้องการค้นให้พบสิ่งที่จำเป็นแก่มนุษย์ และทรงค้นเฉพาะแต่ในแง่ที่จะเป็นความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง แล้วก็ทรงเคารพธรรมะนั้น พร้อมทั้งชักชวนให้คนทุกคน ให้เคารพธรรมะและ เข้าให้ถึงธรรมะ ทั้งประกาศไว้ด้วยว่า "สิ่งที่ควรเข้าให้ถึงและเคารพนั้น หาใช่พระองค์ไม่ แต่เป็นธรรมะ อย่ามาเคารพที่เนื้อที่ตัวของพระองค์"
ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนกับการประกาศว่า ธรรมะนั้นเป็นของมนุษย์ เพื่อมนุษย์ โดยมนุษย์ และพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น ต้องหมายถึง ธรรมะบริสุทธิ์ หรือ ธรรมะล้วนๆ ที่กล่าวนี้ต้องไม่เป็นของผู้ใด หรือของศาสดาองค์ใด ซึ่งมีแต่จะกลายเป็นเรื่อง "ตัวตน-ของตน" ขึ้นมาอีก แม้จะมีชื่อว่า พุทธศาสนา ก็ให้มีความหมายแต่เพียงว่า เป็นคำสอนของผู้รู้ถึงที่สุดแล้ว จะเป็นใครก็ได้ และสิ่งที่รู้แล้วนำมาสอนนั้นก็คือ ธรรมะ ฉะนั้น ให้มองเห็นว่า พุทธศาสนากับธรรมะ เป็นสิ่งๆ เดียวกัน อย่าให้ธรรมะกลายเป็นของนิกายนั้น นิกายนี้ เพราะเมื่อนิกายนั้นสอน นิกายนี้จะไม่ยอมฟัง ไม่ยอมอ่าน จึงจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือกำจัด "ตัวตน-ของตน" อันเป็นศัตรูร่วมกันที่ร้ายกาจของมนุษย์ได้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น