เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เรียนพุทธศาสนา ใน ๑๕ นาที


เรียนพุทธศาสนา ใน ๑๕ นาที

นับตั้งแต่กาลที่โลกว่างเปล่า เริ่มกลายเป็น มนุษย์โลกขึ้น เมื่อหลายแสนปี มาแล้ว
มนุษย์ ได้ใช้ มันสมอง แสวงหา ความสุข ใส่ตน เป็นลำดับๆ มาทุกๆ ยุค,
จนในที่สุด เกิดมีผู้สั่งสอน ลัทธิแห่งความสุข นั้น ต่างๆ กัน,
ตัวผู้สอนเรียกว่า ศาสดา,
คำสอนที่สอนเรียกว่า ศาสนา,
ผู้ที่ทำตาม คำสอน เรียกว่า ศาสนิก,
ทุกอย่าง ค่อยแปรมาสู่ ความดี ยิ่งขึ้นทุกที,
สำหรับคำสอน ขั้นโลกิยะ หรือ จรรยา ย่อมสอน มีหลักตรงกันหมด ทุกศาสนา,
หลักอันนั้นว่า จงอย่าทำชั่ว จงทำดี ทั้งต่อ ตนเอง และผู้อื่น,
ดังที่ทราบกันได้อยู่ทั่วไปแล้ว:

แต่ส่วนคำสอนขั้นสูงสุด ที่เกี่ยวกับ ความสุขทางใจ อันยิ่งขึ้นไปนั้น
สอนไว้ต่างกัน.
ศาสนาทั้งหลาย มีจุดหมาย อย่างเดียวกัน เป็นแต่ สูงต่ำ กว่ากัน เท่านั้น

ทุกองค์ศาสดา เว้นจากพระพุทธเจ้า สอนให้ยึดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ซึ่งสาวก ไม่มี ความรู้ พิสูจน์ ว่าเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด
เป็นผู้สร้างโลก และ อำนวยสุข แก่ สัตว์โลก เป็นที่พึ่งของตน,
ให้นับถือบูชาสิ่งนั้น โดยแน่นแฟ้น ปราศจาก การพิสูจน์ ทดลอง แต่อย่างใด.
เริ่มต้นแต่ยุคที่ถือผี ถือไฟ ถือดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และ ดวงดาว ต่างๆ
มาจนถึง ยุคถือพระเป็นเจ้า เช่น พระนารายณ์ และ พระพรหม ของ ศาสนาฮินดู
พระยโฮวา ของ ศาสนาคริสเตียนและยิว และ
พระอหล่า ของอิสลาม ต่างสอน ให้มอบความเชื่อ ในพระเจ้าเหล่านั้น แต่ผู้เดียว
ว่าเป็น ผู้มีอำนาจ เหนือสิ่งใด ทั้งหมด
ทั้งๆ ที่ไม่ต้องรู้ว่า ตัวพระเจ้า นั้นเป็น อะไรกันแน่
และ ผิดจาก หลักธรรมดา โดยประการต่างๆ

ต่อมา เมื่อสองพันปีเศษมาแล้ว ภายหลังแต่พระเจ้าของศาสนาพราหม์
ก่อนแต่ พระคริสต์ และพระโมหมัด ของชาวยุโรปและอาหรับ1
พระพุทธเจ้า ได้อุบัติ บังเกิด ขึ้น
ทรงสอนการพึ่งตนเอง และ ทรงสอนหลักธรรมทางใจในขั้นสูง
ผิดกับ ศาสนาอื่นทั้งหมด คือ :-

หลักกรรม

ทรงสอนเป็นใจความว่า สุขทุกข์ เป็นผลเกิดมาจาก เหตุของมันเอง
ได้แก่ การกระทำ ของผู้นั้น
ผลเกิดจาก การกระทำ ของผู้ใด
ผู้นั้นต้องได้รับ อย่างแน่นอน และยุติธรรม
ไม่มีใครอาจ สับเปลี่ยน ตัวผู้ทำ กับตัวผู้รับ
หรือ มีอำนาจ เหนือ กฏอันนี้ได้ นี่เรียกว่า ลัทธิกรรม
มีเป็นหลักสั้นๆ ว่า สัตว์ทั้งหลาย มีกรรม เป็นของตน
หมุน ไปตามอำนาจเก่า ซึ่งในระหว่างนั้น ก็ทำกรรมใหม่
เพิ่มเข้า อันจะกลายเป็น กรรมเก่า ต่อไปตามลำดับ
เป็นเหตุและผล ของกันและกัน ไม่รู้จักสิ้นสุด
คาบเกี่ยวเนื่องกัน เหมือนลูกโซ่ ไม่ขาดสาย
เราเรียกความเกี่ยวพัน อันนี้กันว่า สังสารวัฏ หรือสายกรรม
มันคาบเกี่ยว ระหว่าง นาทีนี้ กับนาทีหน้า
หรือ ชั่วโมงนี้กับชั่วโมงหน้า
วันนี้กับวันหน้า เดือนนี้กับเดือนหน้า
ปีนี้กับปีหน้า จนถึง ชาตินี้กับชาติหน้า
สับสน แทรกแซงกัน จนรู้ได้ยาก
ว่าอันไหน เป็นเหตุของ อันไหนแน่
ดูเผินๆ จึงคล้ายกับว่า มีใคร คอยบันดาล
สายกรรม ประจำบุคคลหนึ่งๆ ย่อมผิดจาก ของอีกคนหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ต่างคน จึงต่างเป็นไปตาม แนวกรรม ของตน ไม่เหมือนกัน
กรรมเป็นเหตุ สุขและทุกข์ เป็นผลเกิดมาแต่กรรมนั้นๆ

หลักอนัตตา

ทรงสอนอีกว่า ไม่มีพระเจ้าผู้สร้าง ไม่มีสิ่งอันควรเรียกได้ว่า ตัวตน
สรรพสิ่งไม่มีผู้ใดสร้าง เกิดขึ้นแปลกๆ ก็เพราะปัจจัยตามธรรมชาติ
ที่จะต้องค่อยๆ แปรไปตามลำดับ ตามกฏเกณฑ์ ของธรรมชาติ
โดยไม่อยู่ในอำนาจของใคร เรียกว่า มันเป็นอนัตตา
หลักอนัตตา นี้จึงมีแต่ใน พุทธศาสนา ไม่มีในศาสนาอื่น
อันสอนว่า ทุกสิ่งพระเจ้าสร้างขึ้นเป็นตัวตน และอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า
ผู้เป็นเจ้า แห่งตัวตน ทั้งหลาย

ทรงสอนว่า ไม่มีตัวตน ซึ่งเที่ยง และ ยั่งยืน
สิ่งหนึ่ง ย่อมเกี่ยวเนื่อง มาแต่อีกสิ่งหนึ่ง และสิ่งนั้นก็เกิด ทยอยมาแต่สิ่งอื่น
แม้สิ่งอื่นนั้น ก็เกิดทยอยมา แต่สิ่งอื่นอีก ตั้งต้นมานาน ซึ่งไม่มีใครกำหนดได้
และจะเกิด สืบต่อกันไปข้างหน้า อีกเท่าไรแน่ ก็กำหนดมิได้ เหมือนกัน
กฏข้อนี้เป็นไป ทำนองเดียวกัน ทั้งสิ่งที่มีวิญญาณ และที่หาวิญญาณมิได้
สำหรับสิ่งที่หาวิญญาณมิได้ จักยกไว้ เพราะไม่เกี่ยวกับ สุขทุกข์
ส่วนสิ่งที่มีวิญญาณ เช่น มนุษย์ และ สัตว์เดรัจฉาน ทั่วไป เป็นสิ่งควรเรียนรู้
เพราะเกี่ยวกับ สุข ทุกข์ ในชีวิต
มนุษย์เรา เกิดจาก การรวมพร้อมแห่ง รูปธาตุ (Physical Element)
และนามธาตุ (Mental Element) อันมีประจำอยู่ตามธรรมดาในโลกนี้
เมื่อสองอย่างนี้ ยังประชุมกันเข้าไม่ได้อย่างเหมาะส่วน
ก็ยังไม่เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา
เช่นเดียวกับ พืชพรรณไม้ ที่อาศัย ดินฟ้าอากาศ และเชื้อ ในเมล็ดของมันเอง
งอกงาม กลายเป็น ต้นไม้ ใหญ่โต ขึ้นได้
รูปธาตุ และ นามธาตุ นั้น แต่ละอย่าง
ก็ล้วนเกิดมาจาก การรวมพร้อม ของพืชอื่น อีกต่อหนึ่ง เกิดสืบต่อกันมาเป็นลำดับ
จนกว่า จะเหมาะ สำหรับผสมกันเข้า ในรูปใหม่เมื่อใด รูปธาตุในกายนี้ เช่น
พืชและเนื้อสัตว์ ซึ่งอาศัยสิ่งอื่นเกิดมาแล้วหลายต่อหลายทอด จนมาเป็น
เชื้อบำรุงร่างกายนี้ โดยเป็นเชื้อให้เกิดและบำรุง ส่วนเล็กที่สุดของร่างกาย (Cell)
ที่สำหรับจะเป็นเนื้อ หนัง กระดูก ผม ขน เล็บ ฟัน โลหิต และอื่นๆ ในร่างกายเรา
ธาตุลม อันเกิดขึ้น จากธรรมชาติส่วนอื่นๆ ก็ได้ใช้เป็นลมหายใจ
เข้าไป บำรุงโลหิต และ สิ่งต่างๆ โลหิตเป็นเหตุ ให้เกิดความอบอุ่น
และความร้อนขึ้นได้
เท่านี้ก็พอจะมองเห็นได้ว่า มันอาศัยกัน เกิดขึ้น เป็นลำดับๆ มามากมาย
นี้เป็นการเกิด การผสม การแปร ของธรรมชาติ ฝ่ายรูปธาตุ

ส่วนนามธาตุนั้น ยิ่งละเอียดมาก
นามธาตุ อาศัยอยู่ได้เฉพาะใน รูปธาตุ ที่ได้ปรับปรุง กันไว้ เหมาะเจาะแล้ว
และมีหน้าที่บังคับรูปธาตุ พร้อมทั้งตนเอง ให้ตั้งอยู่ หรือ เป็นไปต่างๆ
ตลอดเวลาที่เข้ามา เนื่องเป็นอันเดียวกัน
ควรเปรียบเรื่องนี้ด้วย เครื่องไดนาโมไฟฟ้า ชิ้นโลหะต่างๆ
กว่าจะมา คุมกันเข้า จนเป็นอย่างนี้ได้นั้น
ล้วนแต่ เกิดจากอุตุนิยมสืบมา ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนปี
จนมนุษย์ นำมาปรับปรุง ให้เป็นรูปต่างๆ ก็ยังหามี ไฟฟ้าเกิดขึ้นไม่
แต่เมื่อได้ยักย้าย ประกอบกันเข้า จนถูกส่วน พร้อมด้วย อาการหมุน
มันจึงปรากฏ แรงไฟฟ้าอย่างแรง ขึ้นได้ ไฟฟ้าบางส่วนนั้น
ปรากฏขึ้นมาจากการหมุนของเครื่อง
การหมุนของเครื่อง กลับได้แรงไฟนั้นเอง
มาช่วยสนับสนุนในการหมุนบางส่วนก็มี
ถ้ามีแต่ชิ้นโลหะก็ดี มีแต่อาการหมุน อย่างเดียวก็ดี
หรือมีแต่กระแสไฟฟ้า อันเป็นธรรมชาติ ประจำ อยู่ใน สิ่งต่างๆ ในโลกก็ดี
ยังไม่ประชุมกัน เข้าได้แล้ว กระแสไฟฟ้าใหม่ จะไม่ปรากฏขึ้น มาได้เลย
ฉันใดก็ฉันนั้น รูปธาตุ หรือ ร่างกายนี้ เปรียบเหมือน เครื่องไดนาโม
นามธาตุ เปรียบเหมือน กระแสไฟฟ้า ได้อาศัยกันกลับไปกลับมา จึงเป็นไปได้
ทั้งแต่ละอย่างๆ ล้วนต้องอาศัย ความประจวบพร้อม แห่งเครื่องประกอบ
ซึ่งเกิดมาแต่สิ่งอื่นหลายทอดด้วยกัน
นามธาตุ ก็เกิดสืบมา โดยตรงจาก พวกนามธาตุ อิงอาศัย อยู่กับรูปธาตุ
เมื่อรวมกันเข้าแล้ว เราสมมุติเรียก คนหรือสัตว์ ชื่อนั้นชื่อนี้
เพื่อสะดวกแก่การพูดจา เช่นเดียวกับ สมมุติเรียก ชิ้นโลหะและวัตถุต่างๆ
ว่า เครื่องไดนาโม ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้เหมือนกัน
หลักของการ ที่สิ่งต่างๆ เป็นเหตุผลของกัน และให้เกิดสืบสาวกันไปนี้
เป็นปัญหา ที่ละเอียด ลึกซึ้ง ซึ่งพระองค์ ได้ทรงตีแตก อย่างทะลุปรุโปร่ง
ในตอนหัวค่ำ แห่งคืนตรัสรู้ ที่ใต้ต้นมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

ความรู้อันนี้ ทำให้พระองค์ ทรงรู้จักโลกดี
พอที่จะตี ปัญหาที่สอง ออกได้ สืบไปว่า
มนุษย์เรา ควรทำ อย่างไรกัน จึงเหมาะแก่โลก ซึ่งมีธรรมชาติ เป็นอย่างนี้
หรือ จะอยู่เป็นสุข ในโลกอันมี สภาวะเช่นนี้ได้?

การตีปัญหาข้อสอง ออก ได้สำเร็จผล เกิดเป็น หลักธรรมต่างๆ
ที่พระองค์ใช้สอน บริษัทในสมัยต่อมา นั่นเอง อันรวมใจความได้สั้นๆ ว่า
สิ่งซึ่ง เกิดมาจาก สิ่งอื่น ซึ่งไม่เที่ยงถาวร
และ ทั้งอาการที่สืบต่อกันมา ก็ไม่ถาวรแล้ว
สิ่งนั้นจะ เที่ยงถาวร อย่างไรได้
ย่อม กระสับกระส่าย โยกโคลง แปรปรวน ไปตามกัน
สิ่งที่แปรปรวน ไม่คงที่ ย่อมก่อให้เกิด ภาวะชนิดที่ ทนได้ยาก คือ
ทำให้เจ้าของ ได้รับ ความไม่พอใจ เสียใจ และ เป็นทุกข์
เมื่อมันแปรปรวน และ เป็นทุกข์ อยู่อย่างนี้แล้ว
มนุษย์จึง ไม่ควร ฝืนธรรมดา สะเออะ เข้าไปรับเอา ความทุกข์นั้น
โดยเข้าใจอ้างตัวเอง เป็นเจ้าของ ร่างกายนี้ และ ร่างกายอื่น มันไม่ใช่ของเรา
ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ ของเรา เห็นได้ตรงที่ไม่อยู่ ในอำนาจเรา
เราไม่ได้ ทำมันขึ้น นอกจาก อำนาจธรรมชาติ แห่ง นาม และ รูป เท่านั้น
ผู้ที่เข้าไป ผูกใจ ในสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นของ ภายใน และ ภายนอกตน ก็ดี
ว่าเป็นสิ่ง ที่จะเป็นไป ตามความประสงค์ ของตน ทุกเมื่อแล้ว
จะเกิดเป็นปัญหา ยุ่งยากขึ้น ในใจ ของผู้นั้น มืดมิดเกิดกว่า ที่เขาจะสะสางได้
พระองค์ จึงทรงสอน ให้หน่าย และ ละวาง สิ่งต่างๆ ด้วยการไม่ยึดถือ ทางใจ
แม้ว่า ตามธรรมดา คนเรา จะต้อง อิงอาศัย สิ่งนั้นๆ เพื่อมีชีวิตอยู่
หมายความว่า เราปฏิบัติ ต่อมัน ให้ถูกต้อง ก็แล้วกัน

เมื่อเรา ไม่เข้าไป ผูกใจ ในสิ่งใด สิ่งนั้น ก็ไม่เป็นนาย บังคับใจเรา
ให้อยาก ให้โกรธ ให้เกลียด ให้กลัว ให้เหี่ยวแห้ง หรือ ให้อาลัย ถึงมันได้
เราจะอยู่ เป็นสุข เมื่อใจ หลุดพ้นแล้ว ก็เป็นอันว่า
ไม่มีอะไร มาทำให้เรา กลับเป็น ทุกข์ ได้อีก จนตลอดชีวิต
การคิดแล้วคิดอีก เพื่อตีปัญหานี้ให้แตก
จนใจหลุดพ้น เรียกว่า วิปัสสนากัมมัฏฐาน
และ เมื่อใจเรา ไม่ค่อย ยอมคิด ให้จริงจัง ลึกซึ้ง
เพราะอาจฟุ้งซ่าน
ด้วยความรัก ความโกรธ ความกลัว ความขี้เกียจ หรืออะไรก็ตาม
จะต้องทำการ ข่มใจ ให้ปลอดจาก อุปสรรคนั้นๆ เสียก่อน
การข่มใจนั้น เราเรียกกันว่า สมถกัมมัฏฐาน
ถ้าไม่มี อุปสรรคเหล่านี้ สมถกัมมัฏฐาน ก็ไม่เป็น ของจำเป็นนัก
นอกจาก จะเข้าฌาน เพื่อความสุข ของพระอริยเจ้า เช่นเดียวกับ
การหลับนอน เป็นการ พักผ่อน อย่างแสนสุข ของพวกเราๆ เหมือนกัน
คำสั่งสอน ส่วนมาก ของพระองค์ เราจึงพบแต่วิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นส่วนใหญ่

ความยึดถือ หรือ อุปาทาน

เราจะมองเห็น อย่างแจ่มแจ้ง ได้แล้วว่า สภาพแห่งทุกข์ มีอยู่ในโลกนี้ จริง
แต่บุคคล ผู้จะรับทุกข์ นั้นหามีไม่
ถ้าหากเขา จะไม่หลง เข้าไปรับเอา ด้วยความ เข้าใจผิด
ว่า สิ่งนั้นเป็นสุข และ อยากได้ หรือ หวงแหน จนเกิดการ ยึดมั่น
หรือเข้าใจไปว่า ทั้งมัน ทั้งเขา เป็นตัวตน ที่จะอยู่ใน อำนาจของตน
ได้ทุกอย่าง ตามแต่จะปรารถนา คิดดูก็เป็นการ น่าขัน และ น่าสลดใจ
อย่างไม่มีเปรียบ ที่เราพากัน สมมุติเอา สิ่งที่ พระพุทธองค์ ทรงตรัสว่า
"ว่างเปล่า" ให้ เป็นตัว เป็นตน ขึ้น แล้ว
ทำใจตัวเอง ให้ดิ้นรน ก่อความ ยุ่งยาก ให้เกิดขึ้นในใจ
รัก โกรธ เกลียด กลัว ไปตาม ฉาก แห่งความ แปรปรวน ของสิ่งนั้นๆ
ซึ่งที่แท้ มันเป็นของ "ว่างเปล่า" อยู่ตลอดเวลา ตามที่ พระองค์ตรัส ไว้นั่นเอง

คำว่า "ว่างเปล่า" ในที่นี้ คือ ไม่มีแก่นสาร ตัวตน
ที่จะมายืนยันกับเราว่า เอาอย่างนั้น อย่างนี้กันได้
เพราะของทุกอย่างล้วนแต่มีสิ่งอื่นปรุงแต่ง ค้ำจุนกัน มาเป็นทอดๆ
จึงตั้งอยู่ได้พร้อมกับ การค่อยๆ แปรไป
สิ่งที่สิ่งอื่นปรุงแต่ง จึงเป็นของว่างเปล่า ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีอิสระแก่ตน
ใครจะเอา สัญญา มั่นเหมาะ กับสิ่งเหล่านั้น อย่างไรได้
ในเมื่อทั้ง ผู้ถือสัญญา และ ผู้ให้สัญญา ก็ล้วนแต่ ไม่มีความเป็นใหญ่แก่ตน
หรือมีความเป็นตัว เป็นตน ไปตามๆ กันทั้งนั้น
ผู้ที่ขืน เข้าไปสัญญา หรือ ยึดมั่น ในสัญญา
ก็เท่ากับ เอาความว่างเปล่า ไปผูกพัน กับ ความว่าง2
จะได้ผล อันพึงใจ จากอะไรเล่า ทั้งนี้ ก็เพราะ
การหลงยึดมั่น ของว่าง ขึ้นเป็น ตัวตน เราเรียกกันว่า อุปาทาน
วัตถุ อันเป็นที่ตั้ง แห่งความ ยึดมั่น นั้น เรียกว่า อุปาทานขันธ์
มีห้าอย่าง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เพราะฉนั้น จึงตรัสรู้ว่า ขันธ์ทั้งห้า เป็นที่ตั้ง แห่งความ ยึดมั่น อันเป็นทุกข์

หลักอริยสัจ

เราจะเรียนรู้ หลักความจริง เหล่านี้ ได้จากโรงเรียน คือร่างกายเรานี้ เท่านั้น
ของใคร ก็ของมัน ต้องอาศัยร่างกาย เป็นที่ค้นหาความจริง เป็นครู สอนความจริง
เพราะในร่างกายนี้ มีลักษณะพร้อม ทั้งเหตุและผล
พอเพียงที่จะให้เราศึกษาหาความรู้
และ ทำความมั่นใจให้แก่เราได้ พระองค์ จึงตรัสไว้ว่า

"...แน่ะเธอ! ในร่างกาย ที่ยาว วาหนึ่งนี้ นั่นเอง อันมีพร้อมทั้ง สัญญา และ ใจ
ฉันได้บัญญัติ โลก (คือความทุกข์),
ได้บัญญัติ โลกสมุทัย (คือ เหตุให้เกิด ทุกข์),
ได้บัญญัติ โลกนิโรธ (คือความดับไม่เหลือ แห่ง ทุกข์),
และได้บัญญัติ โลกนิโรธคามินีปฏิปทา
(คือการทำเพื่อให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น) ไว้"

ในที่นี้ ตรัสเรียก สภาพธรรมดา อันเต็มไปด้วยทุกข์ว่า โลก,
เรียก ความอยากทะเยอทะยานของสัตว์โลก
เพราะความยึดมั่น เข้าใจผิดว่า เหตุให้เกิดโลก,
เรียก การดับความอยากเสียแล้ว อยู่สงบเป็นสุขใจ
เพราะไม่ยึดมั่น และเข้าใจถูก ในสิ่งต่างๆ ว่า เป็นที่ดับของโลก,
และทรงเรียก มรรคมีองค์แปดประการ ว่า เป็นวิธีให้ถึง ความดับของโลก
นั้น อันเป็นสิ่งที่ สัตว์ทุกคน ควรกระทำ เป็นหน้าที่ ประจำชีวิต ของตนๆ ตามนัยนี้
เป็นอันว่า หลักใหญ่ ของพุทธศาสนา คือ การสอน ให้ดับทุกข์ ภายในใจ
ด้วยการศึกษา หาความจริง ในกายตน
และหยั่งรู้ ไปถึงสิ่ง และ บุคคล ที่แวดล้อมตน
อยู่ตามเป็นจริง ไม่ติดมั่น จนเกิดทุกข์ เพราะเห็น กฏแห่งอนัตตา
แล้วมีใจ ปลอดโปร่งสบาย
การไม่ยึดมั่นว่า เป็นตัวตนอันจะก่อให้เกิดการเห็นแก่ตนนั้น
เป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตน และผู้อื่น หรือแก่โลกทั้งสิ้น คือ
ตนเองจะเป็นผู้มีความสุขสงบ เยือกเย็นแสนจะเย็น7
ส่วนผู้อื่นนั้น นอกจาก ไม่ถูกผู้นั้น มาเบียดเบียนแล้ว
ยังอาจประพฤติ ตามเขา จนได้รับความสุข อย่างเดียว
ไฟทุกข์ ของโลกจะดับสนิท
หลักธรรมทั้งหลาย แม้จะมีชื่อเรียกต่างๆ กันหมดนั้น
รวมลงได้ในหลัก คือ ความดับทุกข์ ทั้งสิ้น
ความรู้ชนิดนี้ ย่อมนำให้เกิด ความเมตตา
สงสารเพื่อน ที่กำลังอยู่ในทะเล แห่งสังสารวัฏ ด้วยกันอย่างแรงกล้า
เพราะฉะนั้น เป็นอันไม่ต้องกล่าว ก็ได้ว่า
เมตตา เป็นหลักอันสำคัญ ใน พุทธศาสนา นี้ด้วย อีกประการหนึ่ง

หลักโลกิยะ และโลกุตตระ

ผู้สำคัญในสิ่งว่างเปล่า ว่าเป็นแก่นสาร ก็คือ ผู้หลง
หรือ เรียกตรงๆ อีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ปลูกสร้างฉางบรรจุความทุกข์ไว้ สำหรับตน
และนั่นคือ ปกติ หรือธรรมดา ของมนุษย์ทั้งโลก ที่เรียกว่า ยังอยู่ในวิสัยโลกิยะ
ไม่ใช่ โลกุตตระ คือ ผู้พ้นจากโลก ด้วยน้ำใจ
บางสมัยหรือบางเรื่อง ผู้แสวงหาทุกข์มาใส่ตนได้มาก
กลับได้รับความยกย่องนับถือ
ทั้งนี้ เพราะพากัน หลง ในสิ่งที่ยังไม่รู้จักมันดี และนับถือโลกิยะ

คนยากจน ซึ่งมีอยู่เป็นส่วนมาก
ทะเยอทะยาน เงินทอง ของมหาเศรษฐี อย่างแรงกล้า

แต่มหาเศรษฐีนั้น ไม่ได้ทะเยอทะยาน หรือ
รู้สึกอะไรกี่มากน้อย ในเงินทองของตนเองเลย
เป็นแต่ทะเยอทะยาน ต่อส่วนที่มากขึ้นไปกว่านั้นอีก

ส่วนความหนักใจ ความหวั่นใจ เมื่อคิด เทียบส่วนแล้ว ย่อมมีเสมอกัน ไปหมด
มันมีส่วนมากน้อย เท่ากับ ที่ตน สมมุติเอา ความว่างเปล่า ขึ้นเป็นตัว เป็นตน
ตามมาก และ น้อย เพียงไร ใครสมมุติขึ้นมาก ก็ต้องแบกไว้มาก และหนักกว่า!
พระพุทธเจ้าเอง ก็เคยทรงแบกก้อนหิน อันหนักนี้ แต่แล้วกลับทรงสลัดทิ้งเสีย !!
เพราะพระองค์ ทรงค้นพบว่า มันคือความทุกข์ ทรมาน ของผู้เข้าใจผิด
หลงเข้าไปยึดถือ เป็นของน่าสะอิดสะเอียน
และตรงกันข้าม กลับเป็นของเบา สบาย
สำหรับผู้ไม่หลงยึดถือ หรือสลัดทิ้งเสียได้แล้ว
นี้เรียกว่า ทรงค้นพบโลกุตรธรรม
เพราะฉะนั้น พุทธศาสนา ก็คือ คำสอนให้สลัดความทุกข์ ออกทิ้งเสีย
ให้พ้นจาก ความทุกข์ อันเป็นของมีประจำ อยู่ในโลกแต่อย่างเดียว
ไม่หลง ประกอบทุกข์ ขึ้นแบกไว้ ไม่ใช่ให้อ่อนแอ ร้องขอแต่ความสุข
ทั้งที่ไม่รู้จักทุกข์ และ สลัดมันออกไปเสีย โดยรู้ว่า
ภาวะที่หมดทุกข์ นั่นแล เป็นความสุข ที่แท้,
มันเป็นการ กระทำชีวิต ให้กลับกลาย มาเป็น อิสระ
จากสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ ตามธรรมชาติ อันยั่วยวนใจ ในโลก
ภายหลังจากที่เราเองได้ยอมตน เข้าไปเป็นทาส
ด้วยความโง่ อย่างยิ่ง ของเรามาแล้ว ตลอดสังสารวัฏ อันยาวยืด
ซ้ำซาก ไม่มีที่สิ้นสุด ลงได้ จนกว่า เราจะรู้เท่าทันมัน
ดวงใจอันข้ามขึ้น อยู่เหนือ โลก เช่นนี้ เรียกว่า โลกุตตรจิต
ภาวะที่เป็นเช่นนั้น เรียกว่า โลกกุตตรธรรม โลกุตตรวิสัย, หรือ โลกุตตรภูมิ

ในวงแห่งศาสนาอื่นๆ เมื่อศาสนิกใกล้จะตาย ย่อมร้องว่า "สวรรค์! พระเจ้า!"
แต่สำหรับ พุทธศาสนิก ที่แท้จริง จะร้องว่า

"ความดับสนิท อย่างไม่มีเหลือ เป็นเชื้ออีกต่อไป !"

นี้แสดงว่า เขาเหล่าโน้น ยังอยากอยู่ในโลก-โลกสวรรค์ หรือ โลกพระเจ้า
ส่วน พุทธศาสนิก มีจุดหมาย ปลายทาง คือ ความดับไม่มีเหลือ,
โลกุตตระ จึงมีแต่ใน พุทธศาสนา เท่านั้น

เมื่อมนุษย์ ยังเป็นป่าเถื่อน, รู้จัก และปรารถนา ความสุข อย่างสูงสุด
เพียงการได้กิน ได้เสพย์ ของอร่อยๆ พออิ่มไป ขณะหนึ่งๆ เท่านั้น
แต่ความคิด ของมนุษย์ ในอันแสวงหาความสุขที่ยิ่งขึ้นไป
ไม่ได้หยุดเฉยอยู่ นานเข้า ค่อยมีความเห็นแปรไปสู่ ภาวะที่สูงขึ้น
จนรู้จัก และปรารถนา ทรัพย์สมบัติ แว่นแคว้น
ปรารถนากามสุข จนถึงสวรรค์ อันเป็น ที่สุดยอด ของกาม
นานต่อมา มีพวกหัวคิดสูง เห็นว่า สุขในกาม ก็ยังเป็น ของเสียดแทงหัวใจ
เท่าๆ กับ ความหวาน อร่อยของมัน เลยนึก หาความสุข อันสูงขึ้นไป
และได้ยึดเอาว่า ความมี ความเป็น แห่งชีวิต ที่ปราศจากกาม เป็นยอดสุด
คือ ความเป็น พรหม นั่นเอง และบัญญัติขึ้น ในยุคนั้น ว่า
ความเป็นพรหม นั่นแหละ เป็นนิพพาน
คำว่า นิพพาน ที่แปล ตามศัพท์ว่า ปราศจากการเสียดแทง
ได้เกิดมีขึ้นแต่ครั้งนั้น

ต่อมาอีกนาน พระพุทธเจ้า อุบัติขึ้น และทรงค้นพบว่า
ภาวะ แห่งพรหม ก็ยังไม่เที่ยง แปรปรวน และแตกดับ
เช่นเดียวกับ สิ่งที่ต่ำกว่า อื่นๆ จะเรียกว่า นิพพาน หาได้ไม่
ยังเสียดแทงอยู่อย่างละเอียด เพราะยังมี ความสำคัญว่า ตัวตนอยู่
จะต้องเสียดแทงใจ ในเมื่อมันแตกดับ
เพราะยังมี ความอยาก ความปรารถนาในทางที่แม้ไม่ใช่กาม ก็จริง
ตัณหา ยังมีอยู่ จึงทรงบัญญัติ ความดับไม่เหลือเป็นตัวตนสำหรับยึดถืออีกต่อไป
ว่า เป็นตัวนิพพานอันแท้จริง
อันจะไม่มีใครมาบัญญัติความสุข ให้สูงกว่านี้ขึ้นไปได้อีก
โลกุตตรธรรม หรือ นิพพาน ที่แท้จริง จะมีแต่ในพุทธศาสนา
นอกนั้น ยังอยู่ในวิสัยโลกทั้งสิ้น ต่างกันสักว่า ชื่อ
เป็นมนุษย์โลกบ้าง เทวโลกบ้าง พรหมโลกบ้าง

พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์

หลักแห่งพุทธศาสนา แปลกจากศาสนาอื่น ทั้งหลาย
โดยเป็น ศาสนา แห่งวิชาความรู้ ที่ทนต่อการพิสูจน์ ของใครๆ ได้ทั้งสิ้น
ดังที่ตรัสไว้ว่า ธรรม ในพุทธศาสนา ย่อมทนต่อการพิสูจน์ได้3
คือ ท้าให้ใครพิสูจน์ได้ทุกอย่าง จนผู้พิสูจน์ พ่ายแพ้ภัยตัวเอง
หมดมานะ กลับใจ ยอมนับถือ พุทธศาสนา

คำที่กล่าวกันว่า พุทธศาสนา เหมือนกัน หรือเข้ากันได้ กับ วิทยาศาสตร์นั้น
มีผู้ตีความกันว่า
เพราะพุทธศาสนา แยกสังขารร่างกายออกวิเคราะห์หาความจริง
เช่นเดียวกับ วิทยาศาสตร์ แผนปัจจุบัน แยกธาตุต่างๆ ออก
หาคุณสมบัติชั้นละเอียด ข้าพเจ้าเห็นว่า คำกล่าวนั้น ยังไม่เพียงพอ
กับคุณค่าอันสูงสุดแท้จริงของพุทธศาสนา เพราะถ้า กล่าวเช่นนั้นแล้ว
วิชา สรีรศาสตร์ หรือ แพทย์ศาสตร์ อันเกี่ยวกับการแยกตรวจร่างกาย
ก็จะกลายเป็น พุทธศาสนาไปส่วนหนึ่งด้วย

ที่แท้ ควรกล่าวว่า เหมือนกันโดยที่ หลักวิทยาศาสตร์ ก็ทนต่อการพิสูจน์
อาจทำการ พิสูจน์ให้ดูเอง หรือยอมให้ใครพิสูจน์ ได้ทุกท่า ทุกทาง
จนเขาหมดท่าจะพิสูจน์ เพื่อโต้แย้งอีกต่อไป และหมดความสงสัย
เช่นเดียวกับพุทธศาสนา ยอมให้ใครเพ่งพิสูจน์ซักไซร์อย่างไร ก็ได้
ยอมทนอยู่ได้ จนเขาหมดวิธีพิสูจน์ และต้องเชื่อ สัจจะย่อมไม่ตาย!

คำว่า วิทยาศาสตร์ ในที่นี้ หมายถึง วิชา (Science) ที่แท้จริง
ทุกๆ อย่าง ไม่เฉพาะแต่การแยกธาตุ (Chemistry) เท่านั้น
แม้คณิตศาสตร์ (Mathematics) ก็เป็นวิทยาศาสตร์ ในที่นี้ด้วย
ถ้าท่านสงสัยว่า วิชาเลข หรือ คณิตศาสตร์ จะทนต่อพิสูจน์
ได้เหมือน พุทธศาสนา อย่างไร ก็จงลองคิดดูอย่างง่ายๆ ที่สุดว่า
๒+๓=๕ เป็นต้นนี้ มันเป็นความจริงเพียงไร
มีใครบ้างที่อาจพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ๒ บวก ๓ ได้ผลเป็นอย่างอื่นนอกจาก ๕
ใครจะพิสูจน์ โดยวิธีไร กี่ร้อยกี่พันเท่า ก็ตาม มันยังคงเป็น ๒+๓=๕ อยู่เสมอ
เป็นหลักที่แข็งแรง ยิ่งกว่าภูเขาหินแท่งทึบ อันอาจหวั่นไหวได้
โดยธรรมชาติ หรืออุตุนิยมแปรปรวน
หลักความจริง แห่งวิทยาศาสตร์ เหล่านี้มั่นคง
มีอุปมาฉันใด พุทธศาสนา ก็มีหลักแห่งความจริง หนักแน่นมั่นคง ฉันนั้น
แม้จะขนเอาการแยกธาตุ และตรวจค้นพิสูจน์
อย่างที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์แผนใหม่ ทั้งหมดมาเป็นเครื่องมือพิสูจน์
ก็ไม่อาจ พิสูจน์ พุทธศาสนา ให้เศร้าหมองไปได้
เช่น พิธีต่างๆ เป็นต้น มาพิสูจน์ในนามว่า พุทธศาสนา ก็แล้วกัน
ความจริง หรือพุทธศาสนา จะยังคงอยู่ชั่วโลก ไม่มีสมัย
หรือขีดขั้น กำหนดเวลาอายุ
เพราะเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อชำนะ ธรรมชาติด้วยความจริง
เช่นนี้ ยังมิเป็นเครื่องชี้ อันเด่นชัดว่า พุทธศาสนา เข้ากันได้กับ วิทยาศาสตร์
ซึ่งโลกปัจจุบัน ย่อมบูชาอย่างสนิททั่วหน้า โดยลักษณาการอย่างไรเจียวหรือ?
และข้อสำคัญที่สุด ก็คือ เมื่อมีแต่พุทธศาสนาเท่านั้น
ที่เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ของโลกแล้ว
จะยังมีศาสนาไหนอีกเล่า ที่จะเป็นศาสนาแห่งสากลโลก นอกจากพุทธศาสนา ?"

โมกขพลาราม
๑ กรกฏาคม ๒๔๗๗

---------------------------------
หมายเหตุส่วนตัว :-
ที่จริงศาสนาทั้งหลายมี จุดมุ่งหมาย อย่างเดียวกัน คือความสุข
ถ้าจะปรับกันเข้าให้สนิทก็จะลงกันได้เป็น ศาสนาเดียวกัน!
ใครมีคุณสมบัติแค่ไหน ย่อมอยู่ในระดับแค่นั้น เหมือนพี่น้อง
หรือ ผู้มีคุณวุฒิ ยิ่งหย่อนกว่ากัน ยืนเรียงแถวกันตามลำดับวุฒิ
ก็จะมีแต่ ศาสนาเดียวในโลก !
ขอแต่ อย่าถือเราถือเขา ถึงกับพยายาม ทำลายเพื่อนศาสนาอื่น เพื่อประโยชน์ตน
ด้วย "การรุกเงียบๆ" อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แล้วกัน
หลักศาสนาอื่นทั้งหลาย มีเพียง โลกิยะ ไม่พ้นไปได้
ส่วนพุทธศาสนา ยังมีสูงขึ้นไปถึงโลกุตตระด้วย
มีทั้งสองอย่าง ใครจะเลือกเอาอย่างไหนก็ได้
หลักโลกุตตระ หรือที่เกี่ยวกับ โลกุตตระ เท่านั้น
ที่พุทธศาสนา มีอยู่อย่างที่ศาสนาอื่นไม่มีเสียเลย
จึง "อม" ศาสนาอื่นๆ ไว้ได้ทั้งหมด

พุทธทาส.





หมายเหตุประกอบ
๑. ศาสนาคริสต์และอิสลาม แม้เกิดทีหลังพุทธศาสนา
แต่กลับไปมีหลักอย่างเดียวกับ ศาสนาพราหม์ในอินเดีย
ซึ่งมีอยู่ก่อนศาสนาพุทธ ก็เพราะมีมูลรากไปจากศาสนานั้น
โดยพวกที่ถือพระเจ้าแต่องค์เดียวของพราหม์ยุคนั้น
แยกพวกจากอินเดียข้ามแดนไปทางตะวันตก
คือ ปาเลสไตน์และอาหรับ (ดูพิสดารในเทศนาเสือป่า)

๒. ดูเรื่อง"ใครทุกข์? ใครสุข?" ประกอบ
จะได้ความชัดเจน เมื่อสงสัยว่า ไม่มีตัวตนแล้ว ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๓. ตรัสว่า "...เมื่อเขาใคร่ครวญต่อเนื้อความแห่งธรรมอยู่
ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อการพิสูจน์ได้
เมื่อธรรมทั้งหลายทนต่อการพิสูจน์ได้
เขาย่อมเกิดความพอใจและความขยันขันแข็ง.."
จังกีสูตร ม.ม. ไตร, ล. ๑๓ น. ๖๐๕ บ. ๖๕๘


พุทธศาสนา เป็น
Pessimism หรือ Optimism
พุทธศาสนา ไม่ใช่ทั้ง Pessimism (ลัทธิเห็นสิ่งทั้งปวงเป็นไปในแง่ร้าย)
และ Optimism (เห็นเป็นไปในแง่ดี) เพราะ Pessimism และ Optimism
เป็นลัทธิ ที่ดิ่งลงไป จนถึงที่สุด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งสองอย่าง

ส่วนพุทธศาสนา สั่งสอนสัจธรรม อันเดิน ไปตาม สายกลาง,
Pessimism นั้น จัดได้ว่าเป็นมูลแห่ง อัตตกิลมถานุโยค,
Optimism ก็เป็นทางมาแห่ง กามสุขัลลิกานุโยค
ทั้งสองลัทธินั้น ไม่กล่าวถึง การแก้ไข ให้ความ เป็นเช่นนั้นๆ
กลายเป็นตรงกันข้าม กับที่เป็นอยู่หรือที่เป็นมาแล้วได้

ส่วนพุทธศาสนา สอนให้ดูโลกในแง่ของ Pessimism ก่อนแล้ว และสอน
หนทางแก้ไข ให้มันกลายเป็นดีไป ซึ่งเป็นอันว่า ไม่ปัด Optimism เสียทีเดียว
พุทธศาสนาสอนว่า ชีวิตนี้ เต็มไปด้วย อาการที่ทนยาก เป็น มายา เหลวไหล
ถูกกักขัง และทรมาน อยู่โดยอวิชชา ไม่ได้อย่างใจหวัง สักอย่างเดียว
ทั้งส่วนร่างกาย หรือ ส่วนจิตใจ ก็ตาม นี่แสดงว่า คล้ายกับ จะเอียงไปฝ่าย
Pessimism แต่ พุทธศาสนา ไม่ได้สอน เพียงเท่านั้น ได้สอนวิธี ที่จะทำชีวิตให้
ตรงกันข้ามกับอาการเช่นนั้นได้ด้วย คือ อัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มัชฌิมาปฏิปทา
อันมีหลักสั้นๆ ว่า ชีวิตอาจบริสุทธิ์และหลุดพ้นจากการทรมานได้ด้วยการประพฤติ
อย่างถูกต้อง ของเราเอง จนเราอาจเป็นผู้ที่มีความเยือกเย็นใจของเราเองได้เสมอ
ทุกๆ ฉาก ที่โลกมันจะปรวนแปรไป ความคิดนึกในใจของพุทธบริษัท ไม่ได้ถูก
บังคับให้เชื่อ หรือเห็นอยู่ในวงจำกัด ดุจพวก Pessimist หรือ Optimist เมื่อ
เขายังพอใจที่จะหมุนกลิ้งไปกับโลก อันเอิบอาบไปด้วยความดีใจและเสียใจ เขาก็
มีอิสระที่จะทำเช่นนั้น เมื่อเขาเห็นว่ามันน่าเบื่อหน่าย เขาก็มีอิสระและหนทางที่จะ
เอาชนะมันเสียได้อย่างเด็ดขาด เพราะเหตุนี้เอง พุทธศาสนาจึงมิใช่ Pessimism
หรือ Optimism เลย เป็นแต่มีแง่บางแง่ ที่อาจลวงตา คนบางคน ให้เห็นเป็น
Pessimism หรือ Optimism อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ เขาจะเห็น ไปใน
บางคราวเท่านั้น

"จะมัวหัวเราะอะไรกัน บันเทิงอะไรกัน ก็เมื่อโลก อันเป็นที่อยู่อาศัย ของหมู่สัตว์นี้
มันลุกโพรงอยู่เป็นนิจ" นี่เป็นพระพุทธภาษิต (ชราวัคค์, ธ. ขุ.) ซึ่งแสดงว่าพระองค์
ก็ทรงเห็นโลก เช่นเดียวกันกับ พวก Pessimist เห็น แต่ติดต่อไปจากคำข้างต้น
นั่นเอง พระองค์ได้ตรัสสืบไปว่า "พวกท่านทั้งหลาย ถูกความมืดบอด ครอบงำ
หุ้มห่อไว้เต็มที่แล้ว ก็ยังไม่แสวงหาประทีปเครื่องนำของตนเอง " ซึ่งแสดงว่า
แสงสว่าง แห่งความรอดพ้น นั้นมีอยู่ นี่เราจะเห็นได้ว่า ไม่ทรงปฏิเสธ พวก
Optimist และพระองค์ เป็นพวกกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา โดยแท้

ในที่อื่นตรัสว่า "สิ่งที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง ตัวมันเอง ทุกๆ สิ่งไม่เที่ยงแท้ถาวร,
เป็นทุกข์ และทั้งสิ่งที่มีเหตุปัจจัย และไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งตัวมัน ทั้งสอง
อย่าง ไม่ใช่เป็นสิ่ง ซึ่งเป็นตัว เป็นตน หรือมีตัว มีตน อยู่ในมัน " นี่แสดงว่า ทุกๆ
สิ่งในโลกนี้เป็นพิษแก่ผู้ที่เข้าไปยึดถือโดยประการทั้งปวง แต่มิได้แสดงว่าเราไม่มี
หนทางที่จะวางสิ่งนั้นๆ หรือเอาชนะ อยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งนั้นได้ เพราะเหตุว่า
พร้อมกันนั่นเอง พระองค์ได้ทรงสอน วิธีแห่ง โลกุตตรปฏิปทา-ทางที่จะเป็นอิสระ
อยู่เหนือโลกไว้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งด้วย เมื่อเรามีใจหลุดพ้นแล้วโลกก็ไม่เป็น
พิษต่อเรา เช่นนี้ เราจะมาบัญญัติว่า โลกนี้เป็นยาพิษหรือเป็นอาหารที่ดีของมนุษย์
เด็ดขาดลงไปอย่างไรได้ สุราหรือแอลกอฮอล์, เมื่อเราแพ้มัน ดื่มด้วยความโง่เขลา
มันก็เป็นของให้โทษ เมื่อใช้เป็นยา ด้วยความมี สติสัมปชัญญะ ก็ปรากฏว่า มันเคย
ช่วยชีวิตมนุษย์ไว้แล้ว มีจำนวนไม่น้อย เราจะกล่าวว่า สุรา เป็นโทษ หรือ เป็นคุณ
โดยส่วนเดียว อย่างใด อย่างหนึ่ง ยังมิชอบฉันใด การที่จะกล่าวว่า โลกนี้เป็น
Pessimism หรือ Optimism โดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่ได้ฉันนั้น
เรา หลงใหล ต่อโลก โลกก็เป็นพิษต่อเรา เมื่อเราเอาชนะโลกได้ มันก็เป็น เครื่อง
อุปกรณ์ แก่เราได้ อย่างดี เช่นเดียวกับ ช้างที่เรายังฝึกมันไม่ได้ กับเมื่อเราฝึกมัน
จนเชื่องดีแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น

พุทธทาสภิกขุ

๑ กันยายน ๒๔๗๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น