เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จิตตั้งมั่นจึงจะเห็นสภาวะเกิดดับ, ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น



จิตตั้งมั่นจึงจะเห็นสภาวะเกิดดับ, ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น

หลวงพ่อปราโมทย์ : ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น จิตใจจะอยู่กับเนื้อกับตัว ?

จิตใจจะตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวได้ มีวิธีฝึกอันแรก ฝึกสมถะ ฝึกสมถะไปนะ พุทโธๆไปก็ได้ หายใจไปก็ได้ แล้วคอยรู้ทันจิตไว้ พุทโธ พุทโธ พุทโธไป แล้วคอยรู้ทันจิตไปเรื่อย อย่างนี้เป็นสมถะแบบง่ายๆ แบบง่ายๆที่พวกเราพอจะทำได้ เพราะฉะนั้นเราหัดพุทโธไป หัดหายใจไป พอจิตเราเคลื่อนไหว เรารู้ทัน จิตเคลื่อนไหว รู้ทัน ในที่สุดจิตจะสงบ จิตจะตั้งมั่น ไม่หนีไปแล้ว เพราะหนีไปทีไรถูกรู้ทุกที

จิตนี้เหมือนเด็กซน สติเหมือนพ่อแม่ พอเด็กจะหนีออกจากบ้าน พ่อแม่หันมาดูนะ เด็กมันกลับมาไม่กล้าไปเที่ยว เนี่ยสติก็เหมือนกัน มันคอยดู ดูจิตใจอยู่ พอจิตใจจะหนีไปคิดนะ สติรู้ทันไปเรื่อย จิตใจก็ไม่หนีไป จิตใจก็สงบ จิตใจก็ตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวได้ นี่ก็วิธีหนึ่งนะ ไม่ยาก อันนี้ง่ายๆ ใครๆก็ทำได้ เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายนะ ลองดู หายใจเข้าหรือพุทโธเข้าก็ได้นะ แล้วก็คอยรู้ทันจิตไป พอจิตไหลไปแล้วรู้ ไหลไปแล้วรู้ ในที่สุดจิตจะตั้งมั่นขึ้นมา อันนี้เป็นวิธีทำสมถะที่ง่ายที่สุดแล้วนะ

สมถะอีกชนิดหนึ่งเป็นสมถะเต็มรูปแบบ อันนั้นทำยากแล้ว ในยุคนี้ที่มาเรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อเห็นอยู่ไม่กี่คน มีไม่มากที่ทำสมถะเต็มรูปแบบได้ เห็นมีคุณดำเกิง มีอาจารย์วิชา อาจารย์วิชาเป็นลูกศิษย์อาจารย์วิริยังค์ทำอานาปานสติ คุณดำเกิงเป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณนรฯ ท่านก็ทำอานาปานสติเหมือนกัน พวกนี้เขาฝึกสมาธิ เขาฝึกกันทุกวัน หายใจไปนะ หายใจไป หัดใหม่ๆก็จะไปรู้ลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก ลมหายใจเนี่ยเขาเรียกว่า “บริกรรมนิมิต” ไปรู้ลมหายใจ ไม่เอาสติไปที่อื่นแล้ว มีแต่สติอยู่กับลม แต่ว่าไม่เผลอตัว ไม่เคลิ้ม ไม่ลืมตัว รู้สึกตัวอยู่ แล้วก็เห็นร่างกายนี้หายใจ ใจเป็นคนดูอยู่ เห็นลมอยู่ เอาลมหายใจนี้เป็นอารมณ์

หายใจไปนะ ทีแรกลมหายใจจะยาว หายใจเป็นธรรมชาติเนี่ย เราจะหายใจยาว หายใจลึกนะ หายใจไปถึงท้องเลย ทีนี้พอเราหายใจไปเรื่อย จนเริ่มสงบ ลมหายใจจะสั้น สั้นๆนะ จนขึ้นมาอยู่ที่ปลายจมูกนี้หน่อยเดียว เพราะฉะนั้นพอลมมันละเอียด ลมมันสั้น ค่อยๆละเอียดๆนะ ใจนี้มันจะโล่งว่าง จะสว่าง มันจะรู้สึกสว่าง

ทำไมรู้สึกสว่าง เวลาคนนั่งสมาธินะ เลือดจะมาเลี้ยงสมองส่วนหน้านี้เยอะ ถ้าคนฟุ้งซ่าน เลือดจะไปเลี้ยงที่อื่น ไปเลี้ยงมือเลี้ยงเท้าบ้าง เลี้ยงปาก แต่พอจิตเริ่มสงบนะ เลือดมาอยู่ที่ตรงนี้เยอะ จะให้ความรู้สึกว่าสว่าง สบาย แต่ไม่ใช่ว่าสว่างขึ้นมาเพราะเลือดมาอยู่ที่หัวหรอกนะ อันนี้สำหรับมนุษย์นะ เทวดาเขาไม่มีเลือดนี่ เขานั่งสมาธิเขาก็สว่างได้เหมือนกัน พอจิตมันสงบมันก็จะสว่างขึ้นมา

ทีนี้สว่างทีแรกมันก็จะสว่างอยู่ตรงนี้ เป็นดวงขึ้นมา ให้เราดูดวงสว่างตรงนี้แทนลมหายใจ เพราะลมหายใจสั้น..จนลมหายใจหยุดไปแล้ว จะเป็นดวงสว่างขึ้นมา ใช้แสงสว่างตรงนี้แทนลมหายใจ ตัวนี้เรียกว่า “อุคคหนิมิต” ไม่ใช่บริกรรมนิมิตแล้ว ตัวลมเป็นแค่บริกรรมนิมิตนะ พอมันเป็นความสว่างเกิดขึ้น เป็นอุคคหนิมิต ใช้ความสว่างนี้เป็นอารมณ์กรรมฐาน หายใจไปเรื่อย..แต่มันไม่รู้สึกว่าหายใจเท่าไหร่ มันเหมือนหายใจทางผิวหนัง แต่ใจมันจะสว่าง รู้ในความสว่าง มันก็ใหญ่ๆขึ้นมาได้นะถ้าฝึกชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญก็จะถลำลงไปในแสงแล้วก็เบลอไปเลย เคลิ้มๆไป ถ้าชำนาญก็จะขยับได้ ให้ใหญ่แค่ไหนก็ได้ ให้เต็มโลกก็ได้ จิตใจก็เริ่มมีปีติมีควาสุขขึ้นมา นี่ได้สมาธิ

พอมีสมาธิขึ้นมาแล้ว ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น จิตมันยังตรึกมันยังตรองถึงดวงสว่างนี้อยู่ เรียกว่ามีวิตกมีวิจารอยู่ จิตยังไม่ละเอียดจริง เราเฝ้ารู้ไปนะ จิตมันสงบขึ้นมานี้ มันทิ้งการตรึกการตรองในตัวนิมิต ไม่เอานิมิตนะ มันกลับมารู้ที่จิตได้ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นตัวผู้รู้ขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นเป็นตัวผู้รู้แล้ว มันจะเห็นว่ามีความสุขเกิดขึ้น มันมีความสุขอยู่แล้วล่ะ แต่ทีแรกมันหวือหวา มันไม่ดูความสุขนะ มันมัวแต่ไปดูนิมิต จิตมันเปลี่ยนจากการรู้นิมิตมาดูความสุขแทน ความสุขก็จะดับให้ดู เป็นอุเบกขาขึ้นมา มีปีติ มีสุข สุดท้ายจิตเป็นอุเบกขา แล้วทรงตัวเป็นผู้รู้อยู่ บางทีร่างกายหายไปเลย ไม่มีร่างกายแล้ว

ทีนี้พอออกจากสมาธิมาแล้วเนี่ย จิตที่ฝึกมาจนมีตัวผู้รู้นะ ตัวผู้รู้นี้ยังทรงอยู่ได้ บางคนทรงอยู่ได้นานเลย ถ้าสมาธิทำมานานนะ ทำมาปราณีตลึกซึ้ง ตัวผู้รู้จะทรงอยู่นาน ตัวผู้รู้ที่ทรงอยู่นานจะดูจิตไม่ได้ อย่าไปดูจิตนะเวลามันทรงตัวผู้รู้อยู่ มันจะไม่มีอะไรให้ดู มันจะว่างๆ ให้ดูกายไว้

เห็นร่างกายยืนเดินนั่งนอนนะ ใจเป็นคนดู มันจะดูได้ทั้งวันเลยคราวนี้ มันจะเห็นเหมือนคนอื่นเคลื่อนไหวตลอดวันตลอดเวลา มันจะรู้สึกอย่างนี้ อาจารย์เหน่งรู้สึกไหม มันจะรู้สึกเหมือนเห็นคนอื่นทั้งวัน ปัญญามันเริ่มเกิด จิตมีสมาธิเป็นผู้รู้ผู้ดู แล้วร่างกายเคลื่อนไหว สติรู้ทันความเคลื่อนไหวของกายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู ปัญญาจะเกิด จะเห็นทันทีว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา

เพราะฉะนั้นปัญญาเกิดได้ด้วย ๒ เหตุผล อันหนึ่งจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู อันที่สองมีสติระลึกรู้ลงไปที่กายก็จะเห็นว่ากายไม่ใช่ตัวเรา สติระลึกรู้ในเวทนาก็จะเห็นเวทนาไม่ใช่เรา สติระลึกรู้จิตทีเป็นกุศลอกุศลนะ ก็จะเห็นว่าจิตก็ไม่ใช่เรา สติระลึกรู้ เป็นตัวผู้รู้อยู่

ถ้าประคองไว้มากนะ เหมือนตัวผู้รู้เด่นดวงอยู่อย่างนี้ จะเห็นว่าทุกอย่างในโลกธาตุนี้ไม่เที่ยง ยกเว้นผู้รู้ พวกนี้ยังเดินต่อไม่ได้จริง ยังยึดตัวผู้รู้อยู่ จะเห็นตัวผู้รู้เที่ยง หลวงปู่หล้า ภูจ้อก้อ เคยสอนไว้นะ “ใครเห็นผู้รู้เที่ยง ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่” เพราะฉะนั้นตัวผู้รู้เราก็ไม่ประคองไว้ มีตัวผู้รู้ก็สักแต่ว่าอาศัยไปรู้กาย รู้เวทนา รู้สังขาร รู้อะไรไป แต่เราไม่ประคองตัวผู้รู้

ถ้าเราไม่ประคองตัวผู้รู้ไว้ เราจะพบปรากฏการณ์อันหนึ่งว่า ตัวผู้รู้ก็ไม่เที่ยง ตัวผู้รู้เองเดี๋ยวก็เป็นตัวผู้รู้เดี๋ยวก็เป็นตัวผู้คิด ตัวผู้รู้เดี๋ยวก็เป็นตัวผู้รู้เดี๋ยวก็เป็นตัวผู้หลง เดี๋ยวก็เป็นตัวผู้รู้เดี๋ยวเป็นตัวผู้เพ่งนะ นี่มีความแปรปรวน ตัวผู้รู้เองไม่คงที่ ในที่สุดก็จะเห็นเลยนะว่า ขันธ์ทั้งหมดแม้กระทั่งตัวจิตเอง เกิดดับตลอด ไม่มีตัวไหนคงที่เลย

แต่การที่เราจะรู้ขันธ์ทั้งหลายแล้วเห็นความเกิดดับได้ จิตต้องตั้งมั่น จิตต้องเป็นกลาง ถ้าจิตถลำลงไปในอารมณ์ จะไม่เห็นหรอก ปัญญาจะไม่เกิด เพราะฉะนั้นจิตต้องตั้งมั่น บางคนถึงบอกว่าต้องทำสมาธิก่อน อันนี้ก็ถูกเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ไม่ใช่ทุกคนต้องทำสมาธิในรูปแบบก่อน บางคนทำไม่ได้ บางคนไม่มีวันทำได้นะ เพราะฉะนั้นบางคนต้องใช้ปัญญาก่อน ใช้ปัญญานำสมาธิ บางคนที่ทำสมาธิได้ก็ใช้สมาธินำปัญญา คนที่เชี่ยวชาญทั้งสมาธิและเชี่ยวชาญในการดูจิต จะใช้สมาธิและปัญญาควบกันได้ เพราะฉะนั้นมันมี ๓ แบบนะ การปฏิบัตินี้

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น