เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เผชิญความตายอย่างสงบ ๑


เผชิญความตายอย่างสงบ ๑

โดย พระไพศาล วิสาโล และคณะ
จัดพิมพ์โดย เครือข่ายพุทธิกา
พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๒๕๕๓


แบ่งปันบน facebook Share
คำนำ
ความตายเป็นธรรมดาของทุกชีวิต แต่มีน้อยคนที่ยอมรับอย่างสนิทใจว่าสักวันหนึ่งตนจะต้องตาย แม้เราจะได้ยินหรือรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความตายของผู้คนวันละหลายครั้งทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ หรืออาจรู้สึกตื่นเต้นสนุกสนานด้วยซ้ำกับความตายของตัวละครในภาพยนตร์หรือวีดีโอเกม แต่เวลานึกถึงความตายที่จะเกิดขึ้นกับตนในวันข้างหน้า หลายคนกลับรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง ด้วยเหตุนี้จึงไม่อยากนึกถึงหรือพูดถึง โดยพยายามทำตัวให้วุ่นจนลืมตาย หาไม่ก็ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานราวกับว่าชาตินี้จะไม่มีวันตาย ขณะที่จำนวนไม่น้อยหวัง “ไปตายเอาดาบหน้า” คือผัดผ่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแก่หรือป่วยหนัก ถึงค่อยมานึกถึงเรื่องนี้

พุทธศาสนาถือว่านี้เป็นความประมาทอย่างสำคัญ ในเมื่อความตายเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่มีอะไรดีกว่าการเตรียมรับมือกับความตายแต่เนิ่นๆ ความทุกข์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเรามีท่าทีหรือปฏิกิริยากับสิ่งนั้นอย่างไรต่างหาก ในทำนองเดียวกันความตายจะน่ากลัวหรือไม่อยู่ที่ใจเราเป็นสำคัญ จะตายอย่างทุกข์ทรมานหรือไม่หาได้ขึ้นอยู่กับโรคร้ายไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการวางใจของเราต่างหาก

ความตายนั้นมิใช่วิกฤตเสมอไป หากยังเป็นโอกาสสำหรับการเข้าถึงสัจธรรมของชีวิต เป็นโอกาสสำหรับการปลดเปลื้องสิ่งที่เคยยึดติดอย่างแน่นหนา อีกทั้งเป็นโอกาสสำหรับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานให้กลับคืนดี จนเข้าถึงความสงบในวาระสุดท้าย ประสบการณ์ของผู้คนจำนวนไม่น้อยชี้ว่า ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย ชาวนาหรือเศรษฐี จบประถมหรืออุดมศึกษา ล้วนสามารถแปรเปลี่ยนความตายจากวิกฤตให้เป็นโอกาสดังกล่าวได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งทุกคนมีศักยภาพที่จะเข้าถึงความตายอย่างสงบ แต่จะทำเช่นนั้นได้ ปัจจัยสำคัญก็คือมีการฝึกฝนตระเตรียมล่วงหน้ามาก่อน

ด้วยเหตุนี้ โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ จึงได้เกิดขึ้นโดยเครือข่ายพุทธิกา มีการดำเนินกิจกรรมที่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งประชาชนผู้สนใจ ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตัวผู้ป่วยเอง ญาติอาสาสมัคร และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งพบว่า นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้ความสนใจค่อนข้างมากและมีความต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากความใกล้ชิดที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย แต่ที่สำคัญเกิดจากความต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย และมีจิตที่มากกว่าเพียงทำตามหน้าที่ เป็นจิตอาสาซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยที่มีความต้องการการเยียวยามากกว่าเพียงการรักษาทางกาย การสู่วาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบ และเหนืออื่นใดผู้ดูแลรวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ยังได้เข้าถึงความจริงของชีวิตมากขึ้นอันเป็นผลพลอยได้ที่ยิ่งใหญ่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กิจกรรมที่ช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติที่ส่งผลต่อผู้เข้าร่วมมากและเพิ่มขึ้นทุกปี จนต้องมีการพัฒนาและขยายกิจกรรมให้สามารถตอบสนองความต้องการคือการจัดอบรม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่โครงการเผชิญความตายอย่างสงบของเครือข่ายพุทธิการ่วมกับเสมสิกขาลัยมาตั้งแต่เริ่มต้น การจัดอบรมดังกล่าวเน้นการเรียนรู้จากกระบวนการ วิธีการเป็นหลัก เรียนรู้จากการมีส่วนร่วมในกิจกรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในหมู่ผู้อบรม และลงมือปฏิบัติจริง

ตลอดระยะเวลาที่โครงการฯ จัดอบรมในทุกภาคของประเทศ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก ทั้งบุคคลทั่วไปและคนในแวดวงสาธารณสุข โรงพยาบาลหลายแห่งติดต่อให้จัดอบรมแก่บุคลากรของตนเป็นการเฉพาะ แม้ว่าทางโครงการฯ จะพยายามเพิ่มทีมวิทยากรแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถตอบสนองได้เพียงพอ

เครือข่ายพุทธิกาจึงได้ผลิตคู่มือขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้สนใจสามารถใช้อ่านประกอบการทำความเข้าใจการเผชิญความตายอย่างสงบ คู่มือเรียนรู้การเผชิญความตายอย่างสงบ ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๒ เล่ม เล่มที่ ๑ ว่าด้วยแนวคิดและกระบวนการเรียนรู้ และเล่มที่ ๒ เป็นข้อคิดจากประสบการณ์ หากได้อ่านทั้งสองเล่ม จะได้ทั้งแนวคิดและวิธีการต่างๆ ที่มีรูปธรรมนำเสนอเป็นกรณีศึกษาจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น

พระไพศาล วิสาโล
๑ ตุลาคม ๒๕๕๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น