เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
เป็นเลิศได้เมื่อไม่มี“ฉัน"
นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๐๘ :: ตุลาคม ๕๓ ปีที่ ๒๖
คอลัมน์ริมธาร : เป็นเลิศได้เมื่อไม่มี“ฉัน”
รินใจ
แบ่งปันบน facebook Share
เขาโอบากุซานแห่งนครเกียวโตเป็นที่ตั้งของวัดแห่งหนึ่ง จุดเด่นที่สะดุดใจผู้มาเยือนวัดนี้คือซุ้มประตูซึ่งมีตัวอักษรจีนขนาดใหญ่แกะสลักไว้อย่างสวยงาม เป็นข้อความว่า “หลักธรรมประการแรกสุด” ตัวอักษรดังกล่าวเป็นลายพู่กันของท่านโคเซน ช่างเอกเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว ผลงานชิ้นนี้ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามอย่างยิ่งจวบจนทุกวันนี้
มีเรื่องเล่าว่าตอนที่ท่านโคเซนทำงานชิ้นนี้ มีลูกศิษย์คนหนึ่งช่วยผสมน้ำหมึกเพื่อให้ท่าน เขียนบนแผ่นกระดาษ ก่อนที่จะใช้เป็นแบบสำหรับแกะสลักลงบนแผ่นไม้ต่อไป
ศิษย์ผู้นี้เป็นเด็กกล้าและมีตาแหลมคม เมื่อท่านเขียนงานชิ้นแรกเสร็จ เขาพูดต่อหน้าอาจารย์ว่า “ชิ้นนี้ยังไม่ดี”
ท่านโคเซนจึงเขียนใหม่ แล้วถามศิษย์ว่า “แล้วชิ้นนี้ล่ะ เป็นอย่างไร”
ศิษย์ตอบว่า “แย่ แย่กว่าชิ้นก่อนเสียอีก”
ท่านเขียนใหม่ แต่ศิษย์ก็ยังส่ายหน้า ท่านเขียนอีก แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของศิษย์ ท่านเขียนแล้วเขียนอีกรวมแล้วถึง ๘๐ ชิ้น ก็ยังมีข้อตำหนิ
ท่านเริ่มรู้สึกท้อ เผอิญศิษย์ผู้นั้นมีธุระออกไปข้างนอกชั่วคราว ท่านโคเซนเห็นเป็นโอกาสดี นึกในใจว่า “ทีนี้ฉันไม่ต้องพะวงกับสายตาของเขาแล้ว” ท่านจึงรีบเขียนด้วยใจที่ไร้กังวล จิตมีสมาธิตั้งมั่นกับงานชิ้นนี้ ตวัดพู่กันด้วยความรู้สึกที่นิ่งสงบแต่มีพลัง ไม่นานก็เสร็จ
เมื่อศิษย์กลับมาเห็น ก็อุทานขึ้นทันทีว่า “นี่เป็นงานที่ยอดเยี่ยมมาก”
ท่านโคเซนเป็นช่างชั้นครู แต่ผลงานไม่สามารถบรรลุถึงความเป็นเลิศได้ ก็เพราะใจพะวงถึงความรู้สึกของผู้อื่น จิตจึงไม่สามารถเป็นสมาธิกับงานได้อย่างแท้จริง ทำให้ศักยภาพไม่สามารถเปล่งประกายออกมาอย่างเต็มที่ แต่ทันทีที่หายพะวงกับสายตาของคนรอบข้าง พลังสร้างสรรค์ก็ออกมาอย่างสมบูรณ์พร้อมด้วยอำนาจของสมาธิ จนเกิดผลงานชิ้นเยี่ยมได้
ไม่ว่ามีฝีมือสูงส่งเพียงใด หากรู้สึกพะวงถึงสายตาของคนอื่นแล้ว แม้แต่เรื่องง่ายก็กลายเป็นเรื่องยากได้ ในเกมฟุตบอลนั้น โอกาสที่ดีที่สุดในการทำประตูก็คือ เตะที่จุดโทษ แต่มีนักฟุตบอลระดับโลกหลายคนที่เตะลูกโทษไม่เข้า โดยเฉพาะในนัดสำคัญที่ตัดสินอนาคตของทีม สาเหตุไม่ได้อยู่ที่ฝีมือของนักฟุตบอล แต่เป็นเพราะใจไม่นิ่งพอ ความกังวลว่าจะถูกด่ายับหากเตะลูกง่าย ๆ อย่างนี้ไม่เข้าทำให้หลายคนเตะไม่เข้าจริง ๆ จุดที่ทำประตูได้ง่ายที่สุด กลับกลายเป็นจุด “ปราบเซียน”มานักต่อนัก ไม่ว่าเซียนผู้นั้นจะชื่อเบคแคม โรนัลดินโย่ รูนีย์ หรือโรนัลโด้
มองให้ลึกลงไป เมื่อใดที่รู้สึกว่ามีคนอื่นเฝ้าดูอยู่ ความรู้สึกมี “เขา” และมี “ฉัน” ก็เกิดขึ้นทันที ความรู้สึกว่ามี “ฉัน” หรือ “ตัวกู” นี้แหละที่ทำให้ใจเกิดพะวงขึ้นมา ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับ “กู”หากทำไม่สำเร็จ คนอื่นจะพูดถึง “กู”อย่างไร ฯลฯ ความรู้สึกอย่างนี้แหละที่ทำให้ใจไม่นิ่ง จิตหวั่นไหว ปัญญาและทักษะที่มีอยู่จึงไม่สามารถออกมาได้อย่างเต็มที่
ในทางตรงข้ามหากจิตเป็นสมาธิ จนเป็นหนึ่งเดียวกับงาน กระทั่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเลือนหายไปจากความรับรู้ ไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็น “เขา” เป็น “ฉัน” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเกิดสภาวะ “จิตว่าง” ความสามารถทั้งมวลก็จะพรั่งพรูออกมาจนบังเกิดผลงานชั้นเลิศได้
ซู ตงโป มหากวีแห่งราชวงศ์ซ้อง เคยเขียนบทกวีถึงจิตรกรระดับปรมาจารย์ชื่อเวน ยู่ โก ว่า เมื่อเวน ยู่ โก วาดต้นไผ่ ในมโนทัศน์ของเขา ไม่มีผู้วาดและสิ่งที่ถูกวาด เพราะทั้งหมดได้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ในสภาวะดังกล่าวนี้เองที่เวน ยู่ โก ตวัดพู่กันอย่างฉับพลัน เกิดเป็นภาพต้นไผ่ที่งดงามและไหวพลิ้วราวกับมีชีวิตอยู่ต่อหน้า
ท่านโคเซนเขียนงานชิ้นเลิศได้เมื่ออยู่ผู้เดียวตามลำพัง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องอยู่ผู้เดียวเท่านั้นถึงจะสร้างสรรค์งานได้ดี สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ามีใครอยู่รอบตัวเราหรือไม่ หากอยู่ที่ใจเราต่างหากว่าใส่ใจกับสายตาของผู้อื่นเพียงใด หากจิตเป็นสมาธิกับงานที่ทำ ไม่สนใจว่ามีใครอยู่ด้วยหรือไม่ และไม่สนใจว่าเขาจะมองอย่างไร ก็เหมือนกับอยู่ผู้เดียวตามลำพัง หรือยิ่งกว่านั้นคือ ไม่รู้สึกว่ามี “กู”อยู่ด้วยซ้ำ เพราะจิตเป็นหนึ่งเดียวกับงานนั้นเสียแล้ว ความสามารถก็จะพรั่งพรูออกมาได้อย่างเต็มที่
ปัญหาก็คือเวลาทำอะไรก็ตามเรามักพะวงถึงสายตาของผู้อื่น หรือไม่ก็ปล่อยให้คนอื่นมามีอิทธิพลต่อเราโดยไม่รู้ตัว มีการวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันตรงกันว่า เวลาทำข้อสอบ นักเรียนหรือนักศึกษาส่วนใหญ่จะสอบได้คะแนนดีกว่าหากมีคนเข้าสอบด้วยไม่กี่คน แต่ถ้ามีคนเข้าสอบเป็นจำนวนมาก คะแนนที่ได้จะลดลง
ในการทดลองครั้งหนึ่ง ผู้ทดลองจัดให้นักศึกษาสอบคนเดียวในห้อง แต่ครึ่งหนึ่งของผู้สอบได้รับการบอกว่ามีอีก ๑๐ คนสอบแข่งกับเขาด้วย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งผู้คุมสอบบอกเขาว่าเขากำลังแข่งกับคนอีก ๑๐๐ คน ทุกคนได้ข้อสอบเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปที่ง่าย ๆ และได้รับคำสั่งให้ทำข้อสอบให้เร็วที่สุด โดยมีรางวัลให้สำหรับคนที่ได้คะแนนสูงสุด ผลที่ออกมาก็คือ นักศึกษาที่คิดว่าตนแข่งกับคน ๑๐ คนทำแบบทดสอบจบในเวลา ๒๘.๙๕ วินาทีโดยเฉลี่ย ส่วนคนที่คิดว่ามีคน ๑๐๐ คนแข่งกับเขา ทำแบบทดสอบเสร็จในเวลา ๓๓.๑๕ วินาที
การวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการรับรู้ว่ามีใครสอบแข่งกับเรานั้น มีผลต่อความสามารถในการทำข้อสอบของเรา คนส่วนใหญ่เมื่อรู้(หรือคิด)ว่ามีคนสอบแข่งด้วยนับร้อยหรือนับพันคน จะรู้สึกหวั่นไหว จิตไม่สู้ดี เพราะเข้าใจว่าโอกาสที่ตนจะสอบได้มีน้อยลง ผลก็คือทำข้อสอบได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับการสอบในสนามที่มีคนแข่งด้วยไม่กี่คน
อย่างไรก็ตามลำพังการรับรู้ว่ามีคนสอบแข่งกับเราเป็นจำนวนมากนั้นไม่ใช่เป็นอุปสรรคในการทำข้อสอบ หากว่าขณะที่ทำข้อสอบนั้นใจเราไม่พะวงถึงคนอื่น จิตตั้งมั่นอยู่กับการทำข้อสอบ ราวกับว่าในขณะนั้นไม่มีใครอยู่เลย และหากทำได้ถึงขั้นว่าไม่มีแม้แต่ “ฉัน” เพราะจิตเป็นหนึ่งเดียวกับข้อสอบ สติปัญญาก็จะพรั่งพรูออกมาอย่างเต็มที่ สามารถทำข้อสอบยาก ๆได้ หรือเพลินกับการทำข้อสอบด้วยซ้ำ
ไม่ใช่แต่การทำข้อสอบเท่านั้น การทำงานอย่างอื่นก็เช่นกัน ใคร ๆ ก็อยากเป็นตัวของตัวเอง แต่เรามักปล่อยให้คนอื่นมามีอิทธิพลกับเรามากเกินไป แม้เขายังไม่ได้ทำอะไรกับเราเลย ไม่ได้ตำหนิ ไม่ได้ชื่นชมเรา เพียงแค่นึกถึงปฏิกิริยาของเขาที่จะเกิดขึ้นเมื่อเห็นผลงานของเรา หรือเพียงแค่รับรู้ว่าการกระทำของคนเหล่านั้นจะมีผลอย่างไรต่อตัวเรา เท่านี้ก็สามารถส่งผลถึงพฤติกรรมหรือความรู้สึกนึกคิดของเราแล้ว
ไม่จำเป็นต้องหลบลี้หนีใครไปซุ่มทำงานอยู่คนเดียว เพียงแค่มีสติกับงานที่ทำ ลืมผู้คนทั้งหลายไปชั่วคราว จิตตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันขณะ เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า ที่เหลือนอกนั้นก็ปล่อยให้ปัญญาและทักษะทั้งปวงแสดงตัวออกมาเอง
“อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว” พุทธพจน์ดังกล่าวเป็นข้อแนะนำที่ดีสำหรับผู้ปรารถนาสร้างสรรค์ผลงานอย่างสุดฝีมือ
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่
รับมือกับอารมณ์ที่มาเยือน
นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๐๙ :: พฤศจิกายน ๕๓ ปีที่ ๒๖
คอลัมน์รับอรุณ : รับมือกับอารมณ์ที่มาเยือน
พระไพศาล วิสาโล
คงไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการความสงบใจ ในยามปกติสุข หลายคนย่อมปรารถนาความรื่นเริงบันเทิงใจยิ่งกว่าอะไรอื่น แต่เมื่อใดที่ประสบความผิดหวัง หรือถูกกระทบกระแทก จนจิตใจว้าวุ่นรุ่มร้อน ถึงตอนนั้นจึงใฝ่หาความสงบใจ แต่ยิ่งพยายามทำใจให้สงบ จิตใจก็กลับว้าวุ่นรุ่มร้อนกว่าเดิม เพราะสิ่งที่ผู้คนมักกระทำคือ กดข่มอารมณ์และความคิด ยิ่งนึกถึงเรื่องร้ายหรือเหตุการณ์ที่เจ็บปวดมากเท่าไร ก็ยิ่งอยากผลักไสมันออกไปจากใจมากเท่านั้น แต่การทำเช่นนั้นกลับทำให้มันรังควานเรายิ่งกว่าเดิม
ความรู้สึกนึกคิดนั้นชอบเล่นตลกกับเรา ยิ่งผลักไสกดข่ม มันยิ่งผุดโผล่ เหมือนเด็กดื้อ ยิ่งห้าม ก็เหมือนกับยิ่งยุ เดวิด เวกเนอร์ (David Wegner) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยทดลองด้วยการขอให้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งนั่งอยู่ในห้องเงียบ ๆ คนเดียว โดยมีเงื่อนไขว่าทุกคนจะคิดอะไรก็ได้ แต่ห้ามนึกถึงหมีขาว หากนึกถึงหมีขาวเมื่อใดขอให้กดกริ่งทันที ปรากฏว่า ไม่นานหลังจากที่เริ่มการทดลอง เสียงกริ่งก็ดังระงม
การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่ายิ่งพยายามไม่คิดถึงสิ่งใด ใจก็ยิ่งหมกมุ่นกับสิ่งนั้น การทดลองดังกล่าวอาจดูเหมือนเป็นเรื่องทำสนุก แต่บ่อยครั้งปฏิกิริยาดังกล่าวของจิตสามารถส่งผลลบได้ในชีวิตจริง เจนนิเฟอร์ บอร์ตัน (Jennifer Borton) และอลิซาเบธ เคซีย์ ( Elizabeth Casey)แห่งมหาวิทยาลัยแฮมิลตัน ได้ขอให้คนกลุ่มหนึ่งนึกถึงเหตุการณ์หรือสิ่งที่แย่ที่สุดเกี่ยวกับตัวเอง จากนั้นก็ให้ครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้พยายามผลักไสความคิดดังกล่าวออกไปจากใจตลอด ๑๑ วันข้างหน้า ส่วนอีกครึ่งหนึ่งให้ดำเนินชีวิตตามปกติ ทุกคืนให้แต่ละคนทบทวนว่าตนนึกถึงความคิดดังกล่าวมากน้อยเพียงใด รวมทั้งให้คะแนนภาวะอารมณ์ ความกังวล และความรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง
สิ่งที่นักวิจัยทั้งสองคนพบก็คือ เมื่อเทียบกับคนที่ใช้ชีวิตตามปกติ คนที่พยายามผลักไสความคิดที่เป็นลบเกี่ยวกับตัวเอง จะคิดถึงเรื่องนั้นมากกว่า นอกจากนั้นคนกลุ่มนี้ยังมีความกังวลมากกว่า ซึมเศร้ามากกว่า และรู้สึกเป็นลบเกี่ยวกับตัวเองมากกว่าด้วย
จริงอยู่มีความรู้สึกนึกคิดบางอย่างที่เราสามารถกดข่มผลักไสจนมันดูเหมือนจะหายไป แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้หายไปไหน หากแต่คอยรังควานรบกวนเราอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ (ที่เรียกว่าจิตไร้สำนึก) โดยแสดงอาการในรูปลักษณ์อื่นที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน ชายผู้หนึ่งพบว่าตนเองมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อศาลพระภูมิ พบเห็นทีไรก็อยากเข้าไปทำลาย โดยไม่รู้สาเหตุ จนเมื่อไปปรึกษาจิตแพทย์ สิ่งสำคัญที่จิตแพทย์พบก็คือ ชายผู้นี้โกรธเกลียดพ่อมาก เนื่องจากพ่อใช้อำนาจและความรุนแรงกับเขาอยู่เป็นประจำ แต่เขาไม่สามารถยอมรับความรู้สึกนี้ได้ เพราะความใฝ่ดีในใจเขาคอยย้ำเตือนว่าคนดีจะโกรธเกลียดพ่อไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงพยายามกดข่มความรู้สึกนี้ แต่มันไม่ได้หายไปไปไหน หากแอบซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกและหาโอกาสปรากฏตัวในรูปอื่นที่แฝงเร้นแต่เป็นที่ยอมรับได้ง่ายกว่า นั่นคือระบายความโกรธเกลียดใส่ศาลพระภูมิ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่มีสถานะสูงส่งเป็นที่เคารพยำเกรง คล้ายกับพ่อของเขา
ในเมื่อยิ่งผลักไสกดข่มความรู้สึกนึกคิด มันยิ่งรบกวนจิตใจ จะดีไหมหากเราใช้วิธีตรงข้าม นั่นคือ ปล่อยมันออกมาให้เต็มที่ ถ้าโกรธ ก็ระบายความโกรธออกมาเลย ถ้าเกลียดก็แสดงความเกลียดออกมาสุด ๆ ฟังดูน่าจะดีหากว่าระบายออกมาแล้วมันหายเกลี้ยงไปจากใจ แต่ความจริงหาใช่เช่นนั้นไม่ ดูเผิน ๆ เหมือนมันหาย แต่ที่จริงมันกลับทำให้เราโกรธเกลียดได้ง่ายขึ้น และระบายอารมณ์ออกมาได้รุนแรงกว่าเดิม
การทดลองของแบรด บุชแมน (Brad Bushman) แห่งมหาวิทยาลัยรัฐไอโอวา ยืนยันข้อสรุปดังกล่าว เขาได้ขอให้นักศึกษา ๖๐๐ คนเขียนเขียนความเรียงเพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำแท้ง จากนั้นก็มีการนำความเรียงเหล่านั้นไปให้นักศึกษาอีกคนหนึ่งวิจารณ์ แต่ในความเป็นจริงผู้วิจารณ์ก็คือคณะผู้ทดลองนั่นเอง ความเรียงแต่ละชิ้นจะถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง เช่น วิจารณ์ว่า “เป็นความเรียงที่แย่ที่สุดที่เคยอ่านมา” ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อคืนความเรียงไปให้เจ้าของ เขาจะรู้สึกโกรธแค้นเพียงใด
จากนั้นก็มีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเหล่านี้จำนวนหนึ่งระบายความโกรธออกมา ด้วยการชกกระสอบทรายซึ่งติดภาพใบหน้าของคนที่(ถูกอ้างว่า)เป็นผู้วิจารณ์ความเรียงของเขา นักศึกษาแต่ละคนถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพังและระบายความโกรธได้เต็มที่ โดยหารู้ไม่ว่ามีการแอบฟังเสียงชกกระสอบทรายเพื่อนับว่ามีการชกกี่ครั้ง ขณะเดียวกันนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง แทนที่จะชกกระสอบทราย ก็ถูกขอให้นั่งเงียบ ๆ ในห้องคนละ ๒ นาที
ขั้นตอนต่อมา ทุกคนกรอกแบบสอบถามเพื่อประเมินว่าแต่ละคนมีความโกรธ หงุดหงิด หรือขุ่นเคืองใจมากน้อยเพียงใด สุดท้ายก็มีการจับคู่เล่นเกม ผู้ชนะสามารถตะโกนใส่หน้าผู้แพ้ได้เต็มที่ จะดังเท่าใด หรือนานเท่าใดก็ได้
ผลจากการทดลองก็คือ คนที่ชกกระสอบทรายอย่างเต็มที่นั้น หาได้รู้สึกโกรธน้อยลงหลัง
จากนั้นไม่ ตรงกันข้ามกลับมีความก้าวร้าวขุ่นเคืองมากกว่าคนที่นั่งนิ่ง ๆ ในห้อง อีกทั้งยังตะโกนใส่หน้าเพื่อนด้วยเสียงที่ดังกว่าและนานกว่าด้วย เห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าในแง่อารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมา มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างคน ๒ กลุ่ม
การทดลองดังกล่าวชี้ว่า การระบายความโกรธออกมานั้นไม่ได้ช่วยให้ความโกรธลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มันเหมือนกับการเทน้ำมันลงในกองไฟด้วยซ้ำ
มองในแง่ของพุทธศาสนา เมื่อเกิดอารมณ์ขึ้นไม่ว่า ความโกรธ ความหงุดหงิดขัดเคือง ความโลภ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ “อนุสัย” ซึ่งพร้อมจะสะสมนอนเนื่องในจิตใจ หากระบายอารมณ์ดังกล่าวออกมา เช่นระบายความโกรธด้วยการแสดงความรุนแรงไม่ว่าด้วยคำพูดหรือการกระทำ ก็ยิ่งทำให้อนุสัยสะสมมากขึ้น ส่งผลให้ความโกรธก่อตัวง่ายกว่าเดิม รวมทั้งแสดงออกได้ง่ายขึ้นด้วย พูดอีกอย่างคือ เกิดการสะสมเป็นนิสัยสันดาน คนที่ระบายความโกรธออกมาบ่อย ๆ จึงเป็นคนมักโกรธ คนที่ทำตามความอยากอยู่เสมอ จึงเป็นคนมักได้ หากปล่อยไว้นานวันก็จะต้านทานอารมณ์เหล่านั้นได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ
ในเมื่อกดข่มผลักไส มันก็ไม่หายไปไหน ระบายออกไป มันก็กลับสะสมพอกพูน แล้วจะจัดการกับความรู้สึกนึกคิดที่รบกวนจิตใจอย่างไร คำตอบคือ ดูมันเฉย ๆ หรือรับรู้มันด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ต้องผลักไสหรือปล่อยใจ(และกาย)ไปตามอำนาจของมัน นั่นคือมี “สติ” สตินั้นช่วยให้เราไม่เผลอเข้าไปในอารมณ์จนตกอยู่ในอำนาจของมัน ปกติอารมณ์ใดก็ตามมักจะมีแรงดึงดูดให้ใจเราถลำจมหรือหมกมุ่นอยู่กับมัน แต่สติช่วยดึงจิตให้ถอนออกมาจากอารมณ์นั้น และดูมันเฉย ๆ อย่างมีระยะห่าง เหมือนดูกองไฟที่ลุกโชนโดยไม่รู้สึกร้อนรุ่ม แต่ถ้าขาดสติเมื่อใด ใจก็จะโถมเข้าหาอารมณ์นั้นและเกิดทุกข์ตามมา เหมือนกับโดดเข้าไปในกองไฟแล้วถูกมันเผาลน
การวางระยะห่างจากอารมณ์ ทำให้อารมณ์นั้นค่อย ๆ มอดดับลงเพราะขาดเชื้อ ในทางตรงข้ามการถลำเข้าไปในอารมณ์ หรือครุ่นคิดถึงมันอยู่เสมอ กลับทำให้อารมณ์นั้นลุกโพลงขึ้น เหมือน
กองไฟที่ได้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
สติยังช่วยยั้งใจไม่ให้ผลักไสกดข่มอารมณ์ เพราะการทำเช่นนั้นกลับทำให้ติดยึดในอารมณ์มากขึ้น การอยากผลักไสนั้นจะว่าไปแล้วก็เป็นความติดยึดอย่างหนึ่ง และเมื่อพยายามผลักไสก็ยิ่งยึดติดหรือพลัดจมอยู่ในอารมณ์นั้นยิ่งกว่าเดิม ทำนองเดียวกับที่เราพยายามผลักรถที่จอดขวางทาง ยิ่งออกแรงผลักเท่าไร ตัวเราก็ยิ่งแนบชิดกับตัวถังรถมากขึ้น เมื่อมือเราสัมผัสกับสิ่งที่เหม็นสกปรก แม้เราจะพยายามล้างมือและขัดถูเพื่อให้ปลอดกลิ่นเพียงใด แต่เราก็อดไม่ได้ที่จะดึงมือขึ้นมาดมหากลิ่นนั้น ยิ่งเหม็นก็ยิ่งดม ยิ่งอยากขจัดใครบางคนออกไปจากใจ ก็ยิ่งนึกถึงคนนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่อเมื่อมีสติรู้ทันอารมณ์และอาการดังกล่าว เราจึงจะปล่อยวางมันได้ และดูมันด้วยใจนิ่งสงบจนมันเลือนหายไปเอง
ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย หากเราไม่ไปยุ่งกับมัน ไม่ว่าหลงตามหรือผลักไส มันย่อมดับไปเองตามธรรมชาติของมัน แต่หากมันรบกวนเรา สิ่งที่ควรทำคือรู้หรือดูมันเฉย ๆ เหมือนกับดูสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่เรา
วันหนึ่งลูกสาววัย ๙ ขวบมารบเร้าแม่ว่าอยากได้ของเล่นอย่างหนึ่งในร้านค้า ลูกสาววิงวอนขอความเห็นใจแม่ว่า อยากได้จริง ๆ เมื่อแม่สอบถามก็ได้ความว่า ลูกอยากได้ไมโครโฟนเล็ก ๆ พอเสียบปลั๊กแล้วก็ร้องเพลงได้ แต่พอลูกตอบว่า ของเล่นชิ้นนี้ราคา ๔๐๐ บาท แม่ก็ตกใจเพราะแพงเกินไปสำหรับเด็กวัยนี้
ลูกสาววิงวอนแล้ววิงวอนอีก เพราะอยากได้จริง ๆ ในสถานการณ์อย่างนี้ ผู้เป็นแม่โดยทั่วไปมักเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ หากไม่ตามใจลูก ก็ปฏิเสธความต้องการของลูก แต่แม่ผู้นี้รู้ว่ามีวิธีที่ดีกว่านั้น เธอจึงเจรจากับลูกว่า ถ้าลูกอยากได้ลูกต้องซื้อด้วยเงินของตัวเอง โดยมีเงื่อนไข ๒ ข้อ คือ ข้อที่หนึ่ง แม่จะหักค่าขนมของลูกครึ่งหนึ่งนับแต่วันพรุ่งนี้ โดยจะหยอดกระปุกจนครบ ๔๐๐ บาท ข้อที่สอง นับแต่นี้ไปทุกเย็นให้ลูกไปที่ร้านนั้นแล้วดูไมโครโฟนอันนั้น แล้วให้สังเกตดูใจของตัวไปด้วยว่า รู้สึกอย่างไร ชอบมันมากเหมือนเดิมทุกวันไหม
ลูกดีใจ จึงทำตามที่แม่บอก แต่เมื่อผ่านไปได้ ๔ วัน ลูกก็มาบอกแม่ว่า ไม่อยากได้แล้ว แม่ถามว่าทำไม คำตอบของลูกคือ “เบื่อ” ทำไมถึงเบื่อ ลูกตอบว่า ดูนาน ๆ ก็เบื่อเอง เก็บเงิน ๔๐๐ ไว้ทำอย่างอื่นดีกว่า
สิ่งที่แม่ผู้นี้ทำไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การสอนให้ลูกมีสติดูความอยากที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อดูมันทุกวัน ความอยากก็จางคลายไปเอง เพราะเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้วที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป ไม่จีรังยั่งยืน เมื่อดูมันไปเรื่อย ๆ ไม่นานมันก็หมดพิษสง และไม่รบกวนจิตใจอีกต่อไป แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักไม่เห็นความจริงข้อนี้เพราะมักจะทำตามความอยาก หรือไม่ก็ครุ่นคิดถึงมัน จึงทำให้มันมีกำลังมากขึ้นจนยากที่เราจะต้านทานได้
ความโกรธก็เช่นเดียวกัน เมื่อมันเกิดขึ้น ลองตั้งสติดูมัน เสมือนเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจ แต่ไม่ใช่ “เรา” จะลองสังเกตดูกายด้วยก็ได้ว่า ขณะที่โกรธนั้น ลมหายใจเป็นอย่างไร หัวใจเต้นแรงมากน้อยเพียงใด หน้านิ่วคิ้วขมวด กัดฟัน หรือเกร็งมือหรือไม่ การหันมาดูกายและใจ จะช่วยดึงความรู้สึกตัวกลับมา และทำให้ความโกรธจางคลายไป ความโกรธก็เช่นเดียวกับอารมณ์อื่น ๆ ไม่สามารถอยู่ร่วมกับความรู้สึกตัวได้ เมื่อความรู้สึกตัวเกิดขึ้น อารมณ์ก็เลือนหายไป เหมือนกับความมืดที่หายวับเมื่อเจอแสงสว่าง
แต่หากสติยังไม่เข้มแข็งฉับไว ความรู้สึกตัวอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แล้วหายวับไป ทำให้ความโกรธผุดขึ้นมาใหม่ ลองน้อมใจมาที่ลมหายใจ แล้วหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาว ๆ สัก ๑๐ ครั้ง จะพบว่าความโกรธทุเลาลง เพราะเมื่อใจละวางจากอารมณ์ มันก็เหมือนกองไฟที่ไม่มีใครเติมเชื้อให้ จึงอ่อนแรงลง จากนั้นลองหันมาดูความโกรธอีกครั้งด้วยใจที่เป็นกลาง ๆ คือดูเฉย ๆ โดยไม่คิดผลักไสกดข่มมัน
อารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนานั้น ยากที่จะป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นแทนที่จะคิดผลักไสมัน ลองเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน โดยไม่หลงไปตามอำนาจของมัน ต้อนรับอารมณ์เหล่านี้เสมือนอาคันตุกะผู้มาเยือน ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็จากไปเอง โดยไม่ต้องเร่งรัดผลักไส เพียงแค่ยอมรับอารมณ์เหล่านี้ได้ ไม่รู้สึกเป็นลบหรือมองเป็นศัตรู ใจก็สงบไปได้มาก ข้อสำคัญก็คืออย่าหลงเชื่อคำชักชวนของมันจนปล่อยตัวปล่อยใจไปตามมันก็แล้วกัน
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่
ม้านอกสายตา
นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๑๐ :: ธันวาคม ๕๓ ปีที่ ๒๖
คอลัมน์ริมธาร : ม้านอกสายตา
รินใจ
เมื่อ ๕๐ ปีก่อน พม่าและฟิลิปปินส์เคยถูกจับตามองว่าจะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวต่อไปของเอเชียตะวันออกตามหลังญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้ความฝันนั้นก็ยังเลือนราง สิบปีต่อมาบราซิลได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา แต่แล้วก็กลับอับแสงลงไป จวบจนเมื่อ ๓๕ ปีมานี้เอง ซีไอเอยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตอาจล้ำหน้าสหรัฐในทศวรรษต่อไปด้วยซ้ำ แต่หลังจากนั้นไม่ถึง ๒ ทศวรรษ สหภาพโซเวียตก็หายไปจากแผนที่โลก
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญผู้มากด้วยข้อมูลและประสบการณ์ แต่ก็เช่นเดียวกับปุถุชนทั้งหลาย นักปราชญ์ย่อมพลาดพลั้งได้เสมอ ในขณะที่โลกจับตามองพม่า ฟิลิปปินส์ และบราซิลนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่า สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน จะกลายเป็นประเทศที่เจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจอย่างทุกวันนี้ แม้แต่ ลี กวน ยิว เองเมื่อแรกเป็นนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ก็ยังยอมรับว่า เพียงแค่การนำพาประเทศให้ไปรอดได้ก็เป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เพราะทั้งเกาะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่จะส่งออกเลย แถมคนว่างงานก็มีสูงถึง ๑๔ เปอร์เซ็นต์ ส่วนเกาหลีใต้ก็เต็มไปด้วยคนยากจน คนหิวโหยมีมากมายเพราะบ้านเมืองเพิ่งฟื้นจากสงคราม ขณะที่การเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวายระส่ำระสาย
การคาดการณ์อนาคตนั้น แม้จะออกมาจากมันสมองของผู้เชี่ยวชาญ มีโอกาสผิดได้เสมอ เพราะนอกจากมนุษย์จะมีขีดจำกัดในการรับรู้และวิเคราะห์แล้ว อนาคตยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่พร้อมจะผันแปรได้ตลอดเวลา ดังนั้นการคาดการณ์ที่เป็นบวก อาจสวนทางกับความจริงที่เป็นลบ ในทำนองเดียวกัน การคาดการณ์ที่เป็นลบ อาจสวนทางกับความจริงที่เป็นบวกได้
เมื่อ ๒๐ ปีก่อนน้อยคนที่คาดคิดว่า อินเดียจะกลายเป็นเสือเศรษฐกิจที่มาแรงอย่างยิ่ง จะเป็นรองก็แต่จีนเท่านั้น จนถึงวันนี้อินเดียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่องเกือบ ๒ ทศวรรษแล้ว บางคนถึงกับคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของอินเดียจะสูงกว่าจีนในอีก ๓ ปีข้างหน้า ธุรกิจของอินเดียที่ติดอันดับโลกมีมากมาย รวมทั้ง บริษัทเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้แต่รถยี่ห้อดังเช่น จากัวร์ หรือแลนด์โรเวอร์ก็กลายเป็นของบริษัทอินเดียที่ชื่อตาตาไปแล้ว
ย้อนถอยหลังไปเมื่อปี ๒๕๓๔ อินเดียไม่มีวี่แววว่าจะเป็นเสือเศรษฐกิจที่น่าเกรงขามอย่างทุกวันนี้เลย ตรงกันข้ามผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายทั้งในและนอกประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันว่า เศรษฐกิจของอินเดียกำลังย่ำแย่ถึงขั้นวิกฤต ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเหลือน้อยมาก พอจ่ายหนี้และสินค้านำเข้าได้เพียง ๒ สัปดาห์เท่านั้น เพื่อป้องกันมิให้เศรษฐกิจของอินเดียพังครืน รัฐบาลต้องสาละวนกับการกู้ยืมเงินเพื่อจ่ายหนี้วันต่อวัน แม้หันไปพึ่งเงินกู้ของไอเอ็มเอฟ แต่ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก ดูเหมือนวันที่อินเดียประกาศพักชำระหนี้กำลังจะมาถึง
นี้คือสถานการณ์ที่มัมโมฮัน ซิงห์ ต้องเผชิญตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลชุดใหม่ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เขารู้ดีว่ากำลังจะเกิดขึ้นอะไรกับประเทศ ไม่กี่วันหลังได้รับตำแหน่ง เขารายงานสถานการณ์ต่อนายกรัฐมนตรีว่า “เรากำลังใกล้ล้มละลาย”
ไม่มีเพื่อนคนใดเห็นด้วยที่ซิงห์รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเพราะเป็นการเปลืองตัวเปล่า ๆ พวกเขาเห็นว่าเศรษฐกิจของอินเดียเลวร้ายเกินกว่าที่เขาจะเยียวยาได้ หลายคนทำนายว่าภายในหกเดือนเขาจะถูกปลดจากตำแหน่งและกลายเป็นแพะที่ต้องรับบาปจากความล้มเหลวของรัฐบาล
ชื่อเสียงเขาจะต้องด่างพร้อยจากงานนี้อย่างแน่นอน
มิใช่แต่เพื่อนของเขาเท่านั้น ผู้รู้และนักสังเกตการณ์ทั้งหลายก็ไม่มีความหวังในตัวเขา ต่างลงความเห็นว่า เขาไม่เหมาะกับตำแหน่งนี้ บ้างก็ว่าเขาเป็น “เทคโนแครตที่ไร้ประสิทธิภาพ” หรือ “ข้าราชการที่ไร้หน้าค่าตา” แม้ทุกคนจะยอมรับในความเป็นคนดีของเขา แต่ไม่มีใครเห็นว่าเขาจะนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้
ซิงห์เองยอมรับว่าเขาไม่ใช่คนฉลาดหลักแหลม เขารู้ดีว่าโอกาสที่เขาจะล้มเหลวนั้นมีสูง แต่เขาพร้อมที่จะเปลืองตัว เขาให้เหตุผลที่มารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังว่า “หากผมล้มเหลว ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ใครเล่าจะล้มเหลวหากอินเดียได้รับชัยชนะ”
ซิงห์เห็นว่าแม้สถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใด ก็ใช่จะไร้ความหวัง โอกาสที่จะแก้ไขยังมีอยู่แต่นั่นหมายความว่าจะต้องใช้ “ยาแรง” ในขณะที่ใคร ๆ พากันหมดหวัง เขามองว่าวิกฤตขณะนั้นเป็น “โอกาสที่จะสร้างอินเดียใหม่ โอกาสที่จะทำสิ่งที่หลายคนก่อนหน้านี้เคยคิดและพูดว่าควรทำ แต่กลับไม่ได้ทำ”
ไม่กี่วันหลังจากได้รับตำแหน่ง ซิงห์เรียกประชุมข้าราชการระดับสูงจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ เพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและตอกย้ำถึงความจำเป็นต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจของอินเดียอย่างเร่งด่วนเพื่อกู้วิกฤต โดยเฉพาะการลดบทบาทของรัฐและการเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจที่เคยสืบเนื่องมาหลายทศวรรษ ซึ่งอาจต้องเผชิญหน้ากับการขัดขวางต่อต้านจากกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ดังนั้นหากข้าราชการคนใดไม่เห็นด้วยกับแผนปฏิรูปของเขา ก็ขอให้บอกเขาทันที จะได้ย้ายให้ไปทำงานใหม่ที่เหมาะสม เขาจบการประชุมด้วยการขอร้องว่า “ผมต้องการความช่วยเหลือจากคุณ”
มาตรการเร่งด่วนอย่างแรกที่ซิงห์นำมาใช้คือลดค่าเงินรูปีถึงร้อยละ ๒๐ ซึ่งช่วยให้สินค้าออกมีราคาถูกลง สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น จากนั้นก็ตามมาด้วยการยกเลิกการให้เงินอุดหนุนสินค้าส่งออก ซึ่งช่วยลดรายจ่ายของรัฐไปได้มาก แต่ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากก็คือ การผ่อนคลายการควบคุมของรัฐ มาตรการหลังนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะรัฐได้ควบคุมเศรษฐกิจของประเทศมาเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ กิจการแทบทุกอย่างและทุกขั้นตอนของเอกชนต้องได้รับอนุญาตจากรัฐ ไม่เว้นแม้แต่การผลิตสินค้าตัวใหม่ การนำเข้าอุปกรณ์ หรือการปลดคนงาน ในอดีตความพยายามใด ๆ ที่จะลดอำนาจการควบคุมของรัฐ จะถูกต่อต้านจากนักการเมืองและข้าราชการ แต่เมื่อบ้านเมืองใกล้ถึงจุดวิกฤต ซิงห์รู้ดีว่านี้คือโอกาสที่จะผู้คนพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างหากจะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตนั้นได้
ซิงห์ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ ต้องเจอแรงต่อต้านมากมายโดยเฉพาะจากนักการเมืองอย่างที่คาดไว้ แต่เขาก็สามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ แม้บุคลิกของเขาจะนุ่มนวลแต่คำเตือนของเขานั้นรุนแรงหนักแน่น หากไม่มีการปฏิรูป อินเดียจะประสบหายนะ เขาเรียกร้องการเสียสละจากทุกฝ่าย ความซื่อสัตย์และความสุภาพของเขาเป็นแรงดึงดูดผู้คนหลายฝ่ายให้มาร่วมมือกันขับเคลื่อนการปฏิรูป
ภายในเวลาไม่ถึง ๒ ปี เศรษฐกิจของอินเดียก็ฟื้นตัว อุตสาหกรรมที่รัฐเคยผูกขาด ได้เปิดกว้างให้เอกชนมาลงทุน ทำให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันต่างชาติก็มาลงทุนมากขึ้น ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียพุ่งพรวด ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มเป็น ๑๒ เท่าตัวในเวลาไม่ถึง ๓ ปี
ห้าปีในฐานะรัฐมนตรีคลัง ซิงห์ได้นำความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจขนานใหญ่มาสู่อินเดีย การปฏิรูปของเขาได้ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์และผลิตภาพของอินเดียออกมาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เปิดโอกาสให้ธุรกิจของอินเดียก้าวสู่เวทีระดับโลกและมีบทบาทอย่างสูงในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ที่ทำให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางด้านการให้บริการทางธุรกิจแก่บริษัทชั้นนำทั่วโลก
ย้อนหลังไปเมื่อ ๑๙ ปีที่แล้ว ไม่มีใครคาดคิดว่านักเศรษฐศาสตร์และอดีตข้าราชการที่จับพลัดจับผลูมาเป็นรัฐมนตรีคลังอย่าง มัมโมฮัน ซิงห์ จะสามารถนำอินเดียผ่านพ้นวิกฤตมาได้ อีกทั้งยังผลักดันให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่เป็นรากฐานให้อินเดียเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องร่วมสองทศวรรษ จนผู้รู้บางคนเรียกว่าเป็น “ปาฏิหาริย์” ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของโลก แต่แม้จะประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ซิงห์ก็เป็นคนเดิมที่ถ่อมตัว “ผมเป็นคนตัวเล็กที่ถูกดึงให้มานั่งเก้าอี้ตัวใหญ่” เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ “ผมคิดว่า ไม่ว่าผมได้ทำอะไรไป ผมหวังว่าผมจะได้มีชื่ออยู่ในเชิงอรรถของประวัติศาสตร์อันยาวนานและทุรกันดารของอินเดีย” อย่างไรก็ตามความสำเร็จไม่ยอมปล่อยเขาไปง่าย ๆ ในที่สุดเขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดียถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา และได้รับการยกย่องว่า เป็น “รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของเอเชีย” ขณะที่นิตยสารนิวสวีคคัดเลือกเขาเป็น ๑ ใน ๑๐ ผู้นำโลกที่ได้รับความเคารพ อีกทั้งเป็น “ผู้นำที่ผู้นำคนอื่นรัก”
การปฏิรูปบ่อยครั้งเกิดขึ้นโดยบุคคลที่ไม่มีใครคาดคิด การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญบ่อยครั้งเกิดขึ้นในยามที่ผู้คนสิ้นหวัง แม้แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในสายตาของผู้รู้ ก็สามารถเป็นจริงได้ในที่สุด สิ่งที่เลวร้ายที่สุดอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์ก็ได้ ดังนั้นแม้ใครต่อใครจะท้อแท้หมดหวัง นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะสิ้นศรัทธาในอนาคต แม้ใครต่อใครจะไม่มั่นใจในตัวเรา นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะหมดศรัทธาในตนเอง ขอเพียงแต่ใช้ปัญญาและวิริยะอย่างถึงที่สุดด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยมุ่งประโยชน์สุขของส่วนรวมยิ่งกว่าตนเอง สักวันหนึ่งผลแห่งธรรมดังกล่าวย่อมปรากฏอย่างไม่ต้องสงสัย
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่
ช้าลงสักนิด
นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๑๒ :: กุมภาพันธ์ ๕๔ ปีที่ ๒๖
คอลัมน์ริมธาร : ช้าลงสักนิด
รินใจ
มารดาของแก้วเป็นมะเร็งลำไส้ จึงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล หลังจากได้รับเคมีบำบัด ๑๐ ครั้ง ร่างกายก็ผ่ายผอม วันหนึ่งแก้วจึงพาแม่ไปพักผ่อนกับครอบครัวที่เชียงใหม่ เที่ยวกันทั้งวัน ตกค่ำก็ไปกินอาหารหน้าโรงแรม แก้วสั่งข้าวต้มให้แม่ แต่แม่ไม่ยอมแตะข้าวต้มเลย เอาแต่อุ้มหลานเดินอยู่รอบโต๊ะ แก้วคะยั้นคะยอให้แม่ทานอาหาร แม่ก็ไม่สนใจ แก้วไม่พอใจจึงบ่นเสียงดังว่า แม่เอาใจยาก ป่วยขนาดนี้แล้ว ยังไม่สนใจดูแลรักษาตัวเองอีก
กลางดึกขณะที่นอนอยู่ แก้วก็ได้ยินเสียงสะอื้นไห้ สงสัยว่าเป็นเสียงของใคร พลิกตัวกลับมาก็พบว่าแม่กำลังร้องไห้ จึงถามว่า แม่มีอะไรไม่สบายใจหรือ แม่ตอบว่า แม่น้อยใจลูกที่ต่อว่าแม่เรื่องข้าวต้มเมื่อหัวค่ำ แม่บอกว่า แม่กินข้าวต้มไม่ลงจริง ๆ รู้ไหมว่าแม่เกลียดข้าวต้มมาก เพราะอยู่ที่โรงพยาบาลแม่กินแต่ข้าวต้ม พอเห็นข้าวต้มใจก็หวนระลึกถึงความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานเพราะฤทธิ์เคมีบำบัด พาลให้เกลียดพยาบาลทุกคนที่โรงพยาบาล ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไรเลย แม่ทุกข์ทรมานมาก แต่แทนที่แก้วจะเห็นใจหรือเข้าใจแม่ กลับต่อว่าแม่อีก
แก้วได้ยินเช่นนั้นก็ตกใจ กราบขอโทษแม่ที่พูดจาทำร้ายจิตใจแม่ แก้วไม่รู้เลยว่าแม่ทุกข์ถึงเพียงนี้ แล้วแก้วก็กอดแม่อยู่นาน เช้าวันรุ่งขึ้น แม่ก็คุยกับแก้วเป็นปกติ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เหตุการณ์นี้ผ่านมานานหลายปี บัดนี้แม่หาชีวิตไม่แล้ว นึกถึงเหตุการณ์นี้คราวใด แก้วอดรู้สึกใจหายวาบไม่ได้ ที่เผลอทำร้ายจิตใจแม่เพียงเพราะข้าวต้มจานเดียวเป็นเหตุ หากแก้วถามแม่สักคำว่าทำไมแม่ถึงไม่กินข้าวต้ม แทนที่จะด่วนต่อว่าแม่ แม่ก็คงไม่เสียน้ำตาเพราะลูก ยังดีที่แก้วรับรู้ความรู้สึกของแม่ในคืนนั้น จึงขอโทษแม่ได้ทัน หาไม่แล้ว แก้วคงจะเสียใจหากมารู้ความจริงเมื่อแม่จากไปแล้ว
ความผิดพลาดในชีวิตบ่อยครั้งเกิดจากการด่วนสรุปหรือผลีผลามตัดสิน โดยไม่สอบถาม หรือฟังผู้ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน จริงอยู่คนเราเมื่อเห็นหรือได้ยินอะไร ก็อดไม่ได้ที่จะตีความหรือหาความหมายจากสิ่งนั้น รวมทั้งคาดเดาถึงที่มาที่ไปของมัน แต่หากเราตระหนักหรือระลึกว่านั่นเป็นแค่ “ความคิด” ซึ่งอาจผิดหรือถูกก็ได้ เราก็จะไม่ด่วนสรุปว่ามันเป็น “ความจริง” ทำให้พร้อมที่จะรับฟังข้อเท็จจริงหรือความเห็นที่ต่างออกไป
ปัญหาก็คือคนเรามักด่วนตัดสินโดยไม่รู้ตัว ทันทีที่คิดนึกหรือคาดเดาอะไรขึ้นมาได้ก็ยึดมั่นสำคัญหมายว่ามันเป็นความจริงหรือสิ่งที่ถูกต้อง จนไม่ยอมเปิดใจรับฟังอะไรที่ต่างจากความคิดนั้น ผลก็คือความคิดนั้นกลายเป็นนายเรา ควบคุมบงการให้เราพูดหรือทำตามมัน ดังที่บงการแก้วให้ต่อว่าแม่ด้วยความไม่พอใจ
การมีสติรู้ทันความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราไม่ด่วนสรุป หรือหากเผลอด่วนสรุปไปแล้ว ก็รู้ตัว และวางมันไว้ก่อน ไม่ปล่อยให้มันบงการจิตใจ พร้อมเปิดใจรับฟังผู้อื่น หรือตามดูเหตุการณ์ให้แน่ใจ ซึ่งบ่อยครั้งช่วยให้ไม่เผลอทำสิ่งผิดพลาด ที่ทำให้ต้องเสียใจในภายหลัง
อังคณา มาศรังสรรค์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ผลัดใบชีวิต” เล่าว่า วันหนึ่งเธอชวนลูกไปเดินเล่นในสวน ลูกชายทั้งสองเดินไปก็แหย่หยอกกันไป เธอเดินตามหลังลูก เห็นแล้วก็ลุ้นในใจว่า ลูกจะตีกันไหมหนอ สักพักก็เห็นคนพี่หันไปทำท่าเหมือนตีหัวน้อง เธอเกือบจะหลุดปากออกไปปรามลูกว่า “เล่นกันดี ๆ ลูก ทำไมต้องตีหัวน้อง” แต่แล้วก็ยั้งเอาไว้ เพราะเกรงว่าน้องจะรู้สึกมีพวก และหันมางอแงหาแม่ให้ช่วย
ครู่ต่อมาเธอเห็นคนพี่ตีหัวน้องอีกครั้ง คราวนี้เธอเห็นความโกรธพุ่งจี๊ดขึ้นมา แต่ไม่ทันจะทำอะไรไป ก็ได้ยินลูกคนโตพูดว่า “เดี๋ยว ๆ ยังไม่ออกเลย มดตะนอยเกาะอยู่ เดี๋ยวโดนกัดหรอก”
เธอได้ยินก็อมยิ้ม รู้สึกดีใจที่ไม่ได้พูดอะไรออกไป หาไม่ลูกชายคงจะเสียใจมากกับคำพูดของแม่ที่เข้าใจลูกผิด
คงไม่มีอะไรที่ทำให้ลูกเสียใจมากเท่ากับถูกแม่ตำหนิทั้ง ๆ ที่ตัวเองทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ผู้เป็นลูกมักหนีไม่พ้นที่ต้องเจอเรื่องทำนองนี้ โดยที่แม่ก็หารู้ไม่ว่าได้ทำอะไรลงไป เพราะคิดเสมอว่าแม่ย่อมรู้ดีกว่าลูก
หนังสือเล่มเดียวกันนี้เล่าถึงคุณแม่ผู้หนึ่ง เธอชอบพาลูกสาววัย ๕ ขวบเดินชมสวน เธออยากให้ลูกมีนิสัยรักธรรมชาติ ระหว่างที่เดินมักจะเตือนลูกไม่ให้เด็ดดอกไม้ แต่ลูกก็มักจะทำตรงข้าม เธอเห็นคราวใดก็ตีมือลูกเบา ๆ พร้อมกับพูดเสียงแข็ง “แม่บอกหลายครั้งแล้วนะ ไม่ให้เด็ดดอกไม้” บ่อยครั้งที่ลูกสาวมีอาการงอน เสียใจ ขณะที่เธอรู้สึกกังวลที่ลูกสาวเป็นคนดื้อ ไม่ค่อยเชื่อฟังแม่
มีช่วงหนึ่งที่เธอได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้ช้าลงและไม่ด่วนสรุป เธอจึงอยากทดลองใช้กับตัวเองบ้าง วันหนึ่งขณะที่เดินเล่นกับลูกสาว เธอเห็นลูกน้อยเอื้อมมือไปเด็ดดอกไม้ เธอรู้สึกขุ่นเคืองขึ้นมาทันที แต่เตือนตนไม่ให้ผลีผลามทำอะไร นึกในใจว่า “ลองช้าสิ ลองไม่ตัดสินสิ ดูก่อน ลูกจะเอาดอกไม้ไปทำอะไร” ลูกเด็ดดอกไม้เสร็จเธอก็เดินตามลูกไป พอกลับถึงบ้านลูกถามหาชามเล็ก ๆ แม่ถามว่าจะเอาไปทำอะไร
“ใส่ดอกไม้ค่ะ เวลาพ่อกินข้าว จะได้ดูดอกไม้สวย ๆ” ลูกตอบ
แม่น้ำตาคลอทันที คิดมาตลอดว่าลูกเป็นคนดื้อ หากเธอด่วนสรุปด่วนตำหนิเหมือนเคย ก็คงไม่รู้ว่าลูกสาวมีน้ำใจงดงามเช่นนี้
ความสัมพันธ์ในครอบครัวแม้เริ่มต้นด้วยความรัก แต่มักปริร้าวจนแตกแยกก็เพราะผู้คนไม่ค่อยฟังกัน แม้จะได้ยินด้วยหู เห็นด้วยตา แต่เมื่อมีข้อสรุปล่วงหน้าแล้ว ใจก็ปิดไม่ยอมรับรู้ความเห็นต่าง จึงยากที่จะเข้าใจกันได้ ทำให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง ความรักจึงกลายเป็นความมึนตึงและความเกลียดชังกันในที่สุด
อย่าเพิ่งด่วนสรุป ตัดสินช้าลงสักนิด พึงระลึกว่าความจริงนั้นเป็นมากกว่าสิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู หรืออาจตรงข้ามกับสิ่งที่คิดในใจก็ได้ แม้จะมีข้อสรุป ก็เผื่อใจไว้บ้างว่าความจริงอาจมิใช่เป็นอย่างที่คิด ลองสอบถามหรือดูต่อไปสักนิด เราอาจเห็นความจริงอีกด้านหนึ่งที่งดงามของคนที่เรารัก
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org
วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
มหาปเทศ4และหลักตัดสินพระวินัย 8ประการ
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 161
พระพุทธานุญาตมหาประเทศ ๔
[๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติ
บางสิ่งบางอย่างว่า สิ่งใดหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ สิ่งใดไม่
ได้ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระมีพระภาคเจ้า.
วัตถุเป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง ๘ ข้อ ดังต่อไปนี้.
๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หาก
สิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้น ไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.
๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร
หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.
๓. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร
หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.
๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร
หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 293
เรื่องมหาปเทส ๔ อย่าง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จ
ถึงโภคนครแล้ว. ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ อานันทเจดีย์ใน
โภคนครนั้น. ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมหาปเทส ๔ เหล่านี้ พวกเธอจงฟัง จงตั้งใจ
ฟังให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังต่อไปนี้.
[๑๑๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้
ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา
พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น. ครั้นไม่ชื่นชม ไม่
คัดค้านแล้ว พึงเรียนบทพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว สอบสวนในพระสูตร
เทียบเคียงในพระวินัย. ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลง
ในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้. พึงถึงความตกลงใจในข้อนี้ว่า
นี้ไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว
แน่นอน ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย. ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร
ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘
ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการนี้ มีมาใน โคตมีสูตร อังคุตตรนิกาย เป็นถ้อยคำที่ตรัสแก่ ประเจ้าแม่น้ำโคตมี ซึ่งออกบวชเป็นภิกษุณี ถือกันว่า เป็นหลักสำคัญ มีข้อความที่น่าสนใจเป็นพิเศษ อีกส่วนหนึ่ง คือ เป็นหลักธรรมที่ทรงเลือกสรรมา ในลักษณะเป็นเครื่องตอบแทนคุณ แก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ ในฐานะที่เป็นมารดา อีกส่วนหนึ่งด้วย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นว่า การปฏิบัติอย่างใด จะเป็นไปถูกต้องตาม หลักแห่งการดับทุกข์ หรือไม่ ก็ควรใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้ เป็นเครื่องตัดสินได้โดยเด็ดขาด ฉะนั้น จึงเป็นหลักที่แสดงถึง ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา อยู่ในตัว หลักเหล่านั้น คือ
ถ้า ธรรม (การปฏิบัติ) เหล่าใด
๑. เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ
๒. เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ (คือทำให้ลำบาก)
๓. เป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ (คือไม่เป็นการมักน้อย)
๕. เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ
๖. เป็นไปเพื่อความคลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก
พึงรู้ว่า ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่ สัตถุศาสน์ (กล่าวคือคำสอนของพระศาสดา) แต่ถ้าเป็นไปตรงกันข้าม จึงจะเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ คือ
๑. เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
๒. เป็นไปเพื่อความไม่ประกอบทุกข์
๓. เป็นไปเพื่อไม่สะสมกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความอยากน้อย
๕. เป็นไปเพื่อความสันโดษ
๖. เป็นไปเพื่อความไม่คลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อความพากเพียร
๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย
มีอธิบายว่า ความกำหนัดย้อมใจ ได้แก่ ความติดใจรัก ยิ่งขึ้นๆ ในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องหรือแวดล้อม ถ้าการปฏิบัติ หรือ การกระทำ หรือ แม้แต่การพูดการคิดอย่างใด ทำให้ บุคคลผู้นั้นมีความติดใจรักในสิ่งใดๆ แล้ว ถือว่าเป็นการปฏิบัติผิด ตัวอย่างเช่น การดูหนังดูละคร เป็นต้น มันทำให้เกิดความยอ้มใจ อย่างที่กล่าวนี้ ด้วยอำนาจของราคะ เป็นต้น ซึ่งจะเทียบดูได้กับจิตใจของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความสงบ หรือ แม้แต่อยู่ในที่สงัด จะเห็นได้ว่า เป็นการแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม พึงอาศัยตัวอย่างนี้ เป็นเครื่องเทียบเคียง จับความหมายของคำๆ นี้ ให้ได้ ทั้งในทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่สุด ตัวอย่างแห่งธรรมารมณ์ เช่น การขอบคิดฝัน ถึงสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ ก็ย่อมทำจิตให้ถูกยอ้มด้วย ราคะมากขึ้นๆ เป็นต้น
คำว่า เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ หมายถึง การทำตนเองให้ลำบากด้วยความไม่รู้เท่าถึงการณ์ ด้วยความเข้าใจผิดในกรณีที่ไม่ควรจะมีความลำบากหรือลำบากแต่น้อยก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าพิศวงว่า คนเราไม่ชอบความลำบากด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้ว ทำไมจึงไปทำสิ่งที่ตนจะลำบาก ทั้งนี้ ก็เพราะ อำนาจของโมหะ คือ ความหลงเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความเข้าใจผิดกลับตรงข้าม แม้ในกรณีที่เป็นเรื่องของการอยากดี อยากเด่น อยากมีชื่อเสียง เป็นต้น ก็มีมูลมาจากโมหะอยู่นั่นเอง กรณีที่เป็นการประชดผู้อื่น หรือ ถึงกับประชดตัวเองก็ตาม ย่อมสงเคราะห์เข้าในข้อนี้ ซึ่งมีมูลอันแท้จริง มาจากความหลงสำคัญผิดอย่างเดียวกัน นั่นเอง โดยส่วนใหญ่ ได้แก่ การปฏิบัติ ที่เรียกว่า อัตตภิลมถานุโยค คือ การทรมานตนอย่างงมงาย
คำว่า สะสมกองกิเลส หมายถึง การเพิ่มพูน โลภะ โทสะ โมหะ โดยรอบด้าน ผิดจากความกำหนัดย้อมใจ ตรงที่ข้อนี้ หมายถึงเป็นอุปกรณ์ หรือ เครื่องสนับสนุนการเกิดของกิเลสทั่วไป และให้ทวียิ่งขึ้นด้วย การสะสมสิ่งซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกิเลส อยู่เป็นประจำ ในกรณีของ คนธรรมดาสามัญ บางอย่างอาจจะ ไม่จัดเป็น การสะสมกองกิเลส แต่จัดเป็น การสะสมกิเลส อย่างยิ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ โดยตรง เช่น พวกบรรพชิต หรือ ในบางกรณี ก็จัดว่า เป็นการสะสม กองกิเลส ทั้ง คฤหัสถ์ และ บรรพชิต เช่น การมีเครื่องประดับ หรือ เครื่องใช้ชนิดที่ ไม่มีความจำเป็น แก่การเป็นอยู่ แต่เป็นไป เพื่อความลุ่มหลง หรือ ความเห่อเหิม ทะเยอทะยาน ประกวด ประขันกัน โดยส่วนเดียว เป็นต้น เป็นการขยาย ทางมาของกิเลส ให้กว้างขวาง ไม่มีที่สิ้นสุด
คำว่า ความอยากใหญ่ หมายถึง การอยากเกินมาตรฐานแห่งภาวะ หรือสถานะ หรือกำลังสติปัญญาของตน เป็นต้น ส่วนความไม่สันโดษ ไม่ได้หมายถึง ความอยากใหญ่ เช่นนั้น แต่หมายถึง ความไม่รู้จักพอใจ ในสิ่งที่ได้มาแล้ว หรือมีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้มีความรู้สึกเป็น คนยากจนอยู่เนืองนิจ เป็นทางให้เกิดความอยากใหญ่ หรือ กิเลสอย่างอื่นต่อไปได้ หรือ ในทางตรงกันข้าม ทำให้เกิดการทำลายตัวเอง จนถึงกับฆ่าตัวตายก็ได้ โดยภาษาบาลี ความอยากใหญ่ เรียกว่า มหิจฺฉตา ความไม่สันโดษ เรียก อสันตุฎฐิ โดยพยัญชนะ หรือ โดยนิตินัย เราอาจจะแยกได้ว่า เป็นคนละชั้น คนละตอน หรือ คนละอย่าง แต่โดยพฤตินัย ย่อมเป็นไปด้วยกัน จนถึงกับหลงไปได้ว่า เป็นสิ่งเดียวกัน
คำว่า ความคลุกคลี หมายถึง การระคนกันเป็นหมู่ เพื่อความเพลิดเพลิน อย่างใดอย่างหนึ่ง จากการกระทำอันนั้น ความเพลิดเพลิน จากการคลุกคลีนี้ มีรสดึงดูดในทางธรรมารมณ์ เป็นส่วนใหญ่ และก็มีความยั่วยวน ไม่แพ้อารมณ์ ที่ได้รับ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะเหตุฉะนั้นเอง คนเราจึงติดใจ รสของการที่ได้ ระคนกันเป็นหมู่นี้ ทำให้จิตใจลุ่มหลง มีลักษณะเหมือนกับจมไม่ลง ทำให้ความคิด ความอ่าน ดำเนินไปอย่างผิวเผิน ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการคิด อย่างแยบคาย หรือ ลึกซึ้ง แต่พึงทราบไว้ว่า การประชุมกัน เพื่อศึกษา เล่าเรียน ปรึกษา หารือ กิจการงาน อันเป็นหน้าที่เป็นต้นนั้น ท่านไม่เรียกว่า การคลุกคลีกัน เป็นหมู่ในที่นี้ แต่อีกทางหนึ่ง ท่านยังหมายกว้างไปถึงว่า การถูกกิเลสทั่วไป กลุ้มรุม ด้วยสัญญาอดีต ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เคยผ่านมาแล้ว แต่หนหลัง แม้นั่งคิดฝัน อยู่คนเดียว ก็กลับสงเคราะห์ไว้ในคำว่า การคลุกคลีในหมู่ อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพราะมีมูล มาจาก ความอาลัย ในการระคนด้วยหมู่
คำว่า ความเกียจคร้าน และคำว่า เลี้ยงยาก มีความหมายชัดเจนแล้ว การปฏิบัติทำความดับทุกข์ เป็นเรื่องใหญ่และยึดยาว จึงต้องอาศัย ความเพียร ความเลี้ยงง่าย จึงจะเป็นเหตุให้ไม่ต้องมีภาระ เรื่องอาหาร มากกว่าที่จำเป็น ซึ่งทำให้เสียเวลา และ เสียวัตถุ มากไปเปล่าๆ โดยที่อาจจะนำไปใช้ เป็นประโยชน์ อย่างอื่นได้
ลักษณะทั้ง ๘ นี้ แต่ละอย่างๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ โดยตรงก็มี เป็นเพียงอุปสรรคก็มี และเป็นการปฏิบัติผิดโดยตรงก็มี จึงถือว่าไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ ต่อเมื่อปฏิบัติ ตรงกันข้าม จาก ๘ อย่างข้างต้น จึงจะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ หรือ เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ นี้นับว่าเป็น หมวดธรรมที่เป็นอุปกรณ์ แห่งการปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ อย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นหลักสำหรับยึดถือ หรือให้ดำเนินไปถูกทาง
วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
อ่าน "วันละเรื่อง" เพียงเรื่องละวัน แล้วคุณจะพบว่า ชีวิตมีปรากฏการณ์ดีๆ เกิดขึ้นทุกวัน
วันละเรื่อง
อ่าน "วันละเรื่อง" เพียงเรื่องละวัน แล้วคุณจะพบว่า ชีวิตมีปรากฏการณ์ดีๆ เกิดขึ้นทุกวัน
โดย พระไพศาล วิสาโล
สำนักพิมพ์ โพสต์บุ๊ค
ISBN 9786167061863
คำปรารภ
เป็นเพราะความเป็นคนช่างลืม จึงเกิดมีหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ข้าพเจ้าพบว่าตนเองมีความจำสั้นมาก ไม่ว่าสนทนากับใคร หรืออ่านหนังสืออะไร มักจะจดจำไม่ได้นาน เวลาผ่านไปแค่ไม่กี่สัปดาห์ ก็ลืมแล้ว พยายามย้อนระลึก ก็นึกไม่ค่อยออก หรือนึกได้ไม่ชัดเจน บ่อยครั้งจึงต้องย้อนกลับไปค้นหนังสือที่เคยอ่าน หากเป็นหนังสือเล่ม ก็ค้นได้ไม่ยาก แต่หากเป็นนิตยสาร ก็มักเสียเวลาค้นนาน บางครั้งก็ไม่เจอ เพราะทิ้งไปแล้ว หาไม่ก็จำไม่ได้ว่าไปซุกไว้ที่ไหน แต่หากเป็นเรื่องราวที่ได้จากการสนทนาพูดคุย ก็ไม่รู้ว่าจะกลับไปหาอย่างไร นอกจากไปสอบถามคนที่เคยพูดคุยกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะบางคนก็ไม่ใช่ผู้คุ้นเคย อีกทั้งเรื่องราวก็ไม่สลักสำคัญพอที่จะไปรบกวนเขา
ระยะหลังข้าพเจ้าจึงใช้วิธีบันทึกลงสมุด แต่ก็มีสมุดบันทึกอยู่หลายเล่มและกระจัดกระจาย จึงมักเสียเวลาในการค้นหาทั้งสมุดและข้อมูล ในที่สุดข้าพเจ้าก็ตัดสินใจว่า เขียนเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ดีกว่า เพราะค้นได้ง่ายกว่ามาก ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นข้าพเจ้าได้รับจดหมายชวนจากเพื่อนหลายคนให้สมัครเป็นสมาชิก Facebook (FB) ปกติข้าพเจ้าได้รับจดหมายชวนแบบนี้เป็นประจำจากหลายคน แต่ก็ไม่ค่อยสนใจ จนกระทั่งได้รับจดหมายชวนจากเพื่อนที่คุ้นเคย (ตอนนั้นยังไม่ทราบว่าเพื่อนอาจไม่ได้ตั้งใจชวน แต่เผลอกดปุ่มสั่งโปรแกรมให้ออกจดหมายเชิญเพื่อนคนอื่น ๆ โดยอัตโนมัติ) จึงเปิดอ่านแล้วก็กดบางปุ่มในจดหมายนั้นด้วยความไม่รู้ ผลก็คือข้าพเจ้ากลายเป็นสมาชิก FB ไปทันที
เมื่อเผลอเป็นสมาชิก FB ไปแล้ว ทีแรกข้าพเจ้าไม่คิดจะทำอะไรกับโปรแกรมนี้ แต่ไม่นานก็คิดได้ว่า ตนเขียนบันทึกบางอย่างเอาไว้ แม้จะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นบ้าง จึงนำเอาเรื่องราวจากบันทึกดังกล่าวมาลงใน FB ปรากฏว่าเพื่อน ๆ หลายคนสนใจ ข้าพเจ้าจึงได้ความคิดว่า FB เป็นช่องทางหนึ่งที่น่าจะนำเอาเรื่องราวที่น่าสนใจมาแบ่งปันกันอ่านในหมู่มิตรสหาย
นั่นคือจุดเริ่มต้นของบันทึกต่าง ๆของข้าพเจ้าใน FB ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว เดิมบันทึกดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องราวที่ได้ยินหรือข้อมูลที่ได้อ่านพบ ต่อมาก็มีการแสดงความคิดเห็นต่อเติมเข้าไปด้วย ไป ๆ มา ๆ จึงกลายเป็นบทความขนาดสั้น
บันทึกเหล่านี้ข้าพเจ้าเขียนตามความสนใจ ไม่จำกัดประเด็น ประโยชน์อย่างหนึ่งที่ได้ก็คือ ได้รับรู้แง่คิดและความเห็นที่หลากหลายจากผู้อ่านอย่างฉับพลันทันที ต่างจากที่เคยเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์ บ่อยครั้งก็มีผู้เขียนเรื่องราวน่าสนใจมาแบ่งปัน ซึ่งข้าพเจ้าได้เอามาใช้ประโยชน์ในงานเขียนหรืองานบรรยายในเวลาต่อมาด้วย
บันทึกใน FB ของข้าพเจ้ามีจุดเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงโดยคนเสื้อแดงซึ่งเริ่มต้นกลางเดือนมีนาคมและจบลงอย่างโหดร้ายกลางเดือนพฤษภาคม ข้าพเจ้าและมิตรสหายจำนวนหนึ่งได้ร่วมจัดตั้ง “เครือข่ายสันติวิธี” โดยมีจุดยืนคัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี บันทึกใน FB ของข้าพเจ้าในช่วงนั้น(และสืบเนื่องต่อมาอีกสองสามเดือน)จึงหนีไม่พ้นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง (ซึ่งก่อนหน้านั้น แทบไม่มีเรื่องทำนองนี้ในบันทึกFBของข้าพเจ้าเลย)
ในช่วงนี้เองที่มีผู้มาขอเป็น “เพื่อน”ในเครือข่าย FB กับข้าพเจ้าเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่มีแค่พันเศษก็เพิ่มเป็นสองพันและสี่พันในชั่วเวลาแค่สองเดือน จำนวนคนที่เพิ่มขึ้นนี้มาพร้อมกับความสนใจที่หลากหลาย จำนวนไม่น้อยสนใจแต่เรื่องการเมือง และดูจะไม่สนใจเรื่องอื่นเลย
ในยามที่ผู้คนที่มีความคิดเห็นแตกแยกเป็นฝักฝ่าย ข้อเขียนของข้าพเจ้าใน FB จึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่หลากหลายทั้งบวกและลบ ข้อเขียนของข้าพเจ้าทั้งที่เป็นบันทึกและที่ปรากฏใน “สถานะ” (status) บางตอนก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่หลายคน ถึงกับเขียนมาต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง เพียงเพราะข้าพเจ้าคิดต่างจากเขา และเนื่องจากข้าพเจ้าไม่สนับสนุนฝ่ายใดเลยที่เป็นคู่ขัดแย้ง บ่อยครั้งข้าพเจ้าจึงถูกกล่าวหาจากทั้งสองฝ่ายว่าสนับสนุนหรือปกป้องฝ่ายที่เขาถือว่าเป็นศัตรู ในสถานการณ์เช่นนี้เพียงแค่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายใด ก็ง่ายที่จะถูกฝ่ายนั้นมองเห็นเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย ๆ แต่สำหรับผู้ที่ทำงานสันติวิธี นี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องพร้อมทำใจอยู่เสมอ
ข้อความหลายชิ้นที่ข้าพเจ้าเขียนในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ที่ได้มาอ่านตอนนี้อาจรู้สึกว่าเรียบ ๆ ธรรมดา ๆ ไม่น่ามีอะไร แต่ในช่วงที่เหตุการณ์บ้านเมืองกำลังร้อนแรงนั้น หลายคนรู้สึกขุ่นเคืองใจมากกับข้อความดังกล่าว เพราะไม่สบอารมณ์ของเขา โดยเฉพาะระหว่างที่มีการใช้กำลังทหารกับผู้ชุมนุม บันทึกของข้าพเจ้าในช่วงนั้น (๑๘ พฤษภาคม) ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทันทีกว่า ๒๐๐ ความเห็น ส่วนใหญ่เป็นคำต่อว่าพร้อมกับตีตราประทับป้าย หลายคนใช้ถ้อยคำที่รุนแรงมาก (แต่ก็มีบางคนที่เขียนมาขอโทษในภายหลัง)
มาถึงวันนี้ความสงบได้กลับคืนมาสู่หน้า FB ของข้าพเจ้าอีกครั้งหนึ่ง แม้จะยังมีการแสดงความเห็นที่ร้อนแรงในหน้าดังกล่าวอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับบ้านเมืองยามนี้ที่ได้ทิ้งรอยแผลอันบาดลึกในจิตใจของผู้คนเป็นอันมาก อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในFBของข้าพเจ้าก็คือ บันทึกแบบเดิม ๆ ที่ข้าพเจ้าเคยเขียนมาเล่าสู่กันฟังนั้น มีให้เห็นน้อยลง ได้แก่ข้อเขียนเชิงบันทึกส่วนตัว ที่เกิดจากการสนทนาพูดคุยหรืออ่านพบเรื่องราวที่น่าสนใจ ทั้งนี้เนื่องจากข้าพเจ้ามีเวลาน้อยลง แต่ข้อเขียนที่เป็นบทความซึ่งตีพิมพ์ในที่อื่นมาแล้ว ยังมีลงใน FB ของข้าพเจ้าต่อไป นั่นคือคุณประโยชน์อย่างหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ายังใช้ FBอยู่จนทุกวันนี้
ข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้นำมาจากบันทึกเชิงส่วนตัวของข้าพเจ้าที่ลงใน FB ตั้งแต่ชิ้นแรกคือเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วจนถึงปลายเดือนกรกฎาคมศกนี้ ครบหนึ่งปีพอดี นอกจากนั้นยังได้นำข้อเขียนบางตอนที่เคยลงใน “สถานะ” มารวมพิมพ์ในที่นี้ด้วย สำหรับผู้ที่สนใจอยากอ่านข้อเขียนอื่น ๆ ของข้าพเจ้านั้น หาอ่านได้ที่ FBของ Phra Paisal Visalo หรือเว็บไซต์ www.visalo.org
หนังสือเล่มนี้สำเร็จได้ด้วยความเอื้อเฟื้อของคุณนิภา เผ่าศรีเจริญ ซึ่งรับเป็นบรรณาธิการให้ด้วยความใส่ใจอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่มีกิจธุระเต็มมือ จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
พระไพศาล วิสาโล
๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓
จิตอาสา สุขสร้างง่าย ๆ แค่ลงมือทำ
บทสัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล ในหนังสือ
จิตอาสา สุขสร้างง่าย ๆ แค่ลงมือทำ
โดย เพชรภี ปิ่นแก้ว
พิมพ์โดย สนพ. I am
ISBN 9786167502007
แบ่งปันบน facebook Share
จิตอาสาถาม ?
พระไพศาลตอบ...
“จิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทานให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย และด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น...”
วรรคทองที่ถูกหยิบยกมาใช้ขยายความคำว่า ‘จิตอาสา’ มากที่สุดวรรคหนึ่งจาก ‘พระไพศาล วิสาโล’ พระนักวิชาการ นักคิด นักเขียน และนักปฏิบัติธรรมที่ทำงานเพื่อสังคมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ป่า ทำแนวกันไฟ ดูแลป้องกันการลักลอบตัดไม้ ฯลฯ นอกจากนั้น ท่านยังมุ่งเผยแผ่ธรรมะผ่านสื่อโทรทัศน์และงานเขียนกว่าร้อยเล่ม โดยเฉพาะเรื่องการนำพุทธธรรมมาใช้พัฒนาสังคมแนวทางสันติวิธี...
ความหมายของ ‘จิตอาสา’ ทางโลกกับทางธรรม แตกต่างกันหรือไม่
พระไพศาล “จิตอาสา”ส่วนใหญ่ใช้ความหมายในทางโลก คือ การเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือส่วนรวมหรือผู้ทุกข์ อย่างไรก็ตามคำว่า ‘จิตอาสา’ ก็มีมิติในทางธรรมด้วย เพราะเกิดจากความเมตตากรุณา การคิดถึงประโยชน์สุขของผู้อื่น ขณะเดียวกันก็เป็นการลดละตัวตน พูดได้ว่าจิตอาสาเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา
จิตอาสาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความตระหนักว่าเราเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะฉะนั้นจิตอาสาไม่ได้มีความหมายแค่ว่า การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการช่วยเหลือส่วนรวม ซึ่งเกิดจากความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนที่มีจิตอาสานอกจากจะทำงานสังคมสงเคราะห์หรือบำเพ็ญประโยชน์แบบมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งแล้ว ยังทำงานในลักษณะอื่นด้วย เช่นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการปฏิรูปสังคมหรือช่วยให้สังคมดีขึ้น เช่น เป็นอาสาสมัครรณรงค์ส่งเสริมประชาธิปไตย ต่อต้านคอรัปชั่น อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตอาสาทั้งสิ้น
หากพูดให้กระชับมากขึ้น จิตอาสา ก็คือ จิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทานให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย และด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น จุดที่ควรเน้นก็คือจิตอาสาไม่ใช่แค่การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นหรือเพื่อส่วนรวมอย่างเดียว แต่ยังเป็นการพัฒนาจิตวิญญาณของเราด้วย
นั่นหมายความว่าเป็นคนดีแล้วก็ไม่กล้าทำดี ก็อย่าเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนดี’ หรือเปล่า
พระไพศาล ใช่...แต่ต้องขอขยายความว่า เป็นคนดีก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ไม่ใช่แค่ช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ขณะเดียวกันก็มีมิติทางธรรมด้วย ประการที่หนึ่ง จิตอาสาต้องเกิดจากจิตที่มีความเมตตากรุณา รวมทั้งมีทัศนคติที่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรากับสังคม เรากับเพื่อนมนุษย์ คือเห็นว่าความสุขของเราต้องแยกไม่ออกจากความสุขของผู้อื่นด้วย มองในแง่ธรรมะ นั่นก็คือ การลดอัตตาหรือตัวตน ซึ่งจะช่วยทำให้ชีวิตเติมเต็มและมีคุณค่า ฉะนั้น จิตอาสาจึง ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือผู้อื่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการทำให้ชีวิตของเรามีประโยชน์และมีคุณค่ามากขึ้น
ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อเรื่องการทำบุญที่วัด มากกว่าการช่วยคน
พระไพศาล นั่นเพราะเดี๋ยวนี้เราเข้าใจคำว่า ‘บุญ’ และ ‘ทาน’ แคบลง หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการทำบุญ คือ การถวายของให้พระหรือวัดเท่านั้น ความคิดนี้ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เนื่องจากการถวายของแก่พระสงฆ์นั้น ก็ถือว่าเป็น ‘ทาน’ อย่างหนึ่ง
‘ทาน’ ในพระพุทธศาสนานั้น หมายถึง การสละสิ่งของจะให้ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือฆราวาส ก็เรียกว่า ‘ทาน’ ทั้งสิ้น อย่างทานที่ถวายพระสงฆ์ก็ เรียกว่า ‘สังฆทาน’ แต่คนมักจะเข้าใจผิดว่า การให้ของแก่ฆราวาส เรียกว่า ‘ทาน’ แต่การให้ของแก่พระ เรียกว่า ‘บุญ’ อันนี้ไม่ใช่...
‘บุญ’ ในพระพุทธศาสนานั้นมี 10 อย่าง โดยมี ‘ทาน’ เป็นหนึ่งในบุญเหล่านั้น นอกจากนี้ ก็จะมีการทำบุญอีก 9 วิธีที่เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย เช่น การรักษาศีล การบำเพ็ญภาวนา การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘เวยยาวัจจมัย’ คือ บุญที่เกิดจากการทำเพื่อส่วนรวม ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า ‘จิตอาสา’
แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ‘บุญ’ เกิดจากการถวายของให้พระ ทำให้คนส่วนใหญ่มุ่งแต่จะถวายสิ่งของ ถวายเงินให้พระอย่างเดียว ไม่สนใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ปฏิเสธที่จะเป็นจิตอาสารักษาสิ่งแวดล้อม มองข้ามการทำงานช่วยเหลือสังคม ฯลฯ
เหตุผลเพราะ ประการที่หนึ่ง เราไปเน้นการให้ด้วยเงิน ทั้ง ๆ ที่สามารถให้อย่างอื่นได้ด้วย เช่น ให้เวลา ให้แรงงาน หรีอให้ความรู้ ประการที่สอง เรามักไปเน้น ‘ผู้รับ’ ที่เป็น ‘พระ’ มากกว่าคนทั่วไป
คนในอดีตจะเข้าใจคำว่า ‘บุญ’ กว้างกว่าคนในปัจจุบัน ยกตัวอย่างง่ายๆ คนเมืองเพชรแตก่อนเวลาเขาจะปลูกต้นไม้สักต้น เขาจะมีคาถาเรียกว่า “คาถากลบดิน”คือ
‘พุทธัง ผลาผล นกเกาะได้บุญ คนกินเป็นทาน
ธัมมัง ผลาผล นกเกาะได้บุญ คนกินเป็นทาน
สังฆัง ผลาผล นกเกาะได้บุญ คนกินเป็นทาน’
จะเห็นได้ว่า การปลูกต้นไม้นั้นก็ถือเป็นการทำบุญ เป็นการให้ทานที่ไม่ต้องใช้เงินเลย แต่เกิดจากจิตที่เมตตาทั้งกับคนและสัตว์
นั่นหมายความ ‘งานอาสา’ นั้น มีบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก
พระไพศาล ใช่ เพียงแต่ในสมัยก่อนนั้น ไม่มีคำว่า ‘อาสา’ แต่โดยแนวคิดก็ไม่แตกต่างจากคำว่า ‘อาสา’ สังเกตได้จากพุทธสุภาษิตมากมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น มีพุทธพจน์ว่า “ชนเหล่าใดปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน จัดที่บริการน้ำดื่ม และบึงบ่อสระน้ำ ให้ที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้นย่อมเจริญงอกงาม ทั้งคืนทั้งวัน ตลอดทุกเวลา” นอกจากนี้ ในพระไตรปิฎกก ยังมีชาดกซึ่งเป็นเรื่องราวของ ‘มฆมานพ’ เป็นชายหนุ่มธรรมดา ที่อุทิศแรงกายช่วยเหลือส่วนรวม สร้างสะพาน ทำถนน ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดที่สาธารณะ ทำศาลาที่พักคนเดินทาง ฯลฯ เวลากลับบ้านดึกแล้วมีคนมาถามว่า ‘ไปไหนมา มฆมานพก็จะตอบว่า ‘ไปทำบุญมา’ เขาดำเนินชีวิตเรื่อยมา จนกระทั่งเสียชีวิต ผลบุญที่เกิดจากการทำงานอาสาทั้งหมด ทำให้มฆมานพได้กลายเป็นพระอินทร์
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่อง ‘บุญ’ ในพระพุทธศาสนา ที่ไม่ใช่แค่การให้ทานอย่างเดียว คำว่าบุญนั้น มีความหมายกว้างขวางมาก เพียงแต่คนสมัยนี้ต่างหาก ที่เข้าใจคับแคบ และคลาดเคลื่อนไปเอง
การทำงานจิตอาสาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า สร้างสะพาน ช่วยเหลือเด็ก หรือคนชรา ฯลฯ เหล่านี้ให้ผลบุญที่แตกต่างกันหรือไม่ หากเราพูดในเชิงความเชื่อที่ว่า ชาติหน้านั้นมีจริง...
พระไพศาล ไม่แตกต่างกัน แต่ต้องเข้าใจคำว่า ‘บุญ’ ให้ถูกต้องเสียก่อน หากเราเข้าใจไม่ถูกต้อง แล้วมัวแต่สร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างหอระฆัง เพื่อหวังจะเกิดเป็นเทวดาในชาติหน้าหรือเป็นเศรษฐีในชาตินี้ ถ้าคิดอย่างนี้อาจทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘ชอบทำบุญ แต่ไร้น้ำใจ’ ซึ่งปัจจุบันนี้ มีคนประเภทนี้เป็นจำนวนมาก คือมุ่งทำบุญเฉพาะกับวัด แต่ไม่มีน้ำใจกับคน ไม่มีน้ำใจกับสัตว์ จิตไม่มีเมตตาอย่างแท้จริง เพราะถ้าจิตที่มีเมตตาอย่างแท้จริงแล้ว ต้องพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้คน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพระ หรือฆราวาส หรือแม้แต่สัตว์
ในอดีต คนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อเรื่องของชาติหน้า แต่เขามีจิตเมตตากรุณา และไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นคนที่เดือดร้อน ซึ่งถือเป็นค่านิยมที่ส่งเสริมและถ่ายทอดกันมา แตกต่างจากปัจจุบัน แม้คนไทยจะมีความเชื่อเรื่องบุญ แต่มักจะทำบุญด้วยจิตที่เจือความโลภ คือ ไม่ได้หวังจะขึ้นสวรรค์เพียงอย่างเดียว แต่หวังอยากถูกหวย อยากมั่งมี อยากประสบความสำเร็จในชาตินี้เลย ซึ่งเป็นการทำเพื่อตัวเองแท้ๆ คือ การทำบุญด้วยจิตที่มีโลภะอยู่
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘ทาน’ ที่มีอานิสงส์ไม่มาก ก็คือ ทานที่ให้ด้วยใจที่มีเยื่อใย หวังสั่งสมบุญ หรือหวังเสวยสุขในภพหน้า ถ้าผู้ที่ทำบุญยังมีจิตใจแบบนั้นอยู่ ก็จะไม่ได้อานิสงส์มากเท่าที่ควรจะเป็น
แต่หากเราทำบุญ ไม่ว่าจะให้ทาน หรือช่วยเหลือใครก็ตาม เรามุ่งแต่ประโยชน์สุขของผู้รับ โดยไม่นึกถึงตัวเองว่าเราจะได้อะไร นั่นกลับเป็นบุญยิ่งกว่า นอกจากนี้ยังเป็นการขัดเกลา ลดละความเห็นแก่ตัว และลดละความยึดมั่นในตัวตนด้วย คนไทยควรทำบุญแบบนี้ให้มากขึ้น
แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ การทำบุญด้วยจิตที่ไม่มีความโลภอาจจะยากสักเล็กน้อย จึงอยากให้พระอาจารย์ช่วยชี้แนะแนวทาง
พระไพศาล อันดับแรก เราต้องเชื่อก่อนว่า‘สุขที่แท้นั้น อยู่ที่ใจ...ใจที่ลดละ ไม่ใช่ใจที่คิดจะเอา สอง เราต้องตระหนักว่า ‘บุญ’ ทำได้หลายวิธี โดยไม่ต้องใช้เงินก็ได้ เช่น ร.ต.ต.ตำรวจวิชัย สุริยุทธ ที่อุทิศเวลาในชีวิตร่วม 20 ปี ก้มหน้าก้มตาปลูกต้นไม้ทุกวัน จนทำให้อำเภอปรางค์กู่ ซึ่งเคยเป็นอำเภอที่แห้งแล้งยากจนมาก กลับร่มรื่นเขียวขจีไปด้วยต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านต้น เขาเคยบอกไว้ว่า “เราเป็นคนจน ไม่มีเงินแสนเงินล้านจะบริจาคอย่างใครเขา แต่เราทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้ ซึ่งถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ เป็นการทำบุญให้โลก ผลบุญจะตกถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน”
”
จะเห็นได้ว่า ร.ต.ต.วิชัย ไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็สามารถทำบุญได้ ซึ่งเป็นบุญเพื่อส่วนรวม และที่สำคัญเขามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเจอวิกฤตเศรษฐกิจหนักหนาแค่ไหนก็ไม่ใช่อุปสรรคในการทำบุญเลย ถ้าเราเข้าใจว่า ‘การทำบุญ ไม่ต้องใช้เงินก็ทำได้’ ความจริงแล้วเศรษฐกิจและสังคมแบบนี้ เปิดโอกาสให้เราทำบุญได้มากขึ้น เพราะคนเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น เราก็มีโอกาสช่วยเหลือคนมากขึ้น ขณะเดียวกันยิ่งมีคนพร้อมจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้ทางบ้านเมืองฟื้นฟูเร็วขึ้น และทำให้สังคมไทยน่าอยู่ยิ่งขึ้น ฉะนั้น วิกฤตเศรษฐกิจ ประการแรก คือ มันไม่ได้เป็นอุปสรรค ตรงข้ามมันกลับส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้นต่างหาก
เริ่มจากหน้าบ้านเราก่อนเลยก็ได้ เราลองคิดดูว่าจะช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้อย่างไร เราจะช่วยให้มีมลภาวะน้อยลงได้อย่างไร เช่น ช่วยกวาดขยะ เก็บถุงพลาสติก รวมไปถึงเวลาขับรถก็มีน้ำใจบนท้องถนน หยุดรถ เพื่อให้คนเดินข้าม หรือเวลานั่งรถเมล์ ก็เอื้อเฟื้อที่นั่งแก่เด็ก คนชรา และคนพิการ นี่คือสิ่งที่เราทำได้เลย หรือหากมีกำลังก็ควรรวมกันเป็นกลุ่ม พากันไปสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น ช่วยเหลือคนทุกข์ยากตามท้องถนน หรือเด็กเร่ร่อน
แม้แต่เรื่องการเมือง หากเราเข้าใจเรื่องบุญ และมีจิตเมตตากรุณา ก็อย่าสะสมความโกรธความเกลียด อย่ามองคนในแง่ร้าย อย่าเห็นคนที่มีความคิดต่างหรือใส่เสื้อสีต่างจากเราเป็นศัตรู ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็จะทำให้สังคมไทยน่าอยู่มากขึ้น
จริงๆ แล้ว บุญอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา
พระไพศาล ตราบที่เรายังมีลมหายใจ และยังมีหัวจิตหัวใจอยู่ เราสามารถทำบุญได้ตลอดเวลา เช่น การเจริญสมาธิภาวนาด้วยเมตตาจิต นั่นก็ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ใดเจริญเมตตาจิตเพียงชั่วเวลารีดน้ำโค มีผลมากกว่าการให้ทาน ๓ ครั้ง ๆ ละ ๑๐๐ หม้อ ฉะนั้น คนที่ไม่มีเงิน หรือไม่มีเวลาจะไปวัด แต่อยากทำบุญ ก็เพียงเจริญเมตตาจิต ไม่ให้โกรธเกลียดใคร มีแต่ความรักให้แก่เขา วิธีนี้ก็ถือเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มากทีเดียว
นอกจากบุญที่เราพูดถึงแล้ว หลายครั้งการทำบุญด้วยจิตเมตตานี้ ยังส่งผลให้ได้รับสิ่งอื่นที่เรานึกไม่ถึง เช่น นักศึกษาคนหนึ่ง กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็ก รู้สึกว่าตัวเองขาดความรักมาตลอด กระทั่งวันหนึ่งมีคนมาชวนไป ‘นวดเด็ก’ ที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนบ้านปากเกร็ด ทำให้เขามีโอกาสเจอเด็กที่ขาดความรักความอบอุ่นมากมาย บางคนเดินมาหาเขา มาขอให้อุ้ม ขอให้โอบกอด ตั้งแต่วันนั้นมา เขารู้สึกว่าชีวิตเขามีคุณค่า จากที่เคยรู้สึกว่าตัวเองขาดความรักมาตลอด เขารู้สึกว่าได้รับความรัก และพบว่าตัวเองมีความอ่อนโยนอยู่ในจิตใจ เขาบอกว่า “ชีวิตผมสมบูรณ์ขึ้นได้เพราะเด็ก 7 ขวบ”
ชีวิตของคนเรานั้น สามารถเติมเต็มได้ด้วยการทำความดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราคิดถึงตัวเองมากเท่าไหร่ เราก็จะรู้สึกเปล่าเปลี่ยวอ้างว้าง และรู้สึกชีวิตพร่องมากขึ้นเท่านั้น
หากเป็นเช่นนั้น เราจะสร้างแรงบันดาลใจในการทำดีได้อย่างไร ในขณะที่บางคนทำงานหนักทุกวัน จนบางทีก็ลืมไปว่า จริงๆ เราน่าจะให้คนอื่นบ้าง
พระไพศาล ต้องเริ่มจากการเปิดใจ รับรู้สัมผัสคนที่ทุกข์กว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนชรา หรือคนที่ยากไร้ อาตมาเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความดีอยู่ในตัว แต่บางทีเราถูกครอบงำด้วยกิเลส หรือถูกครอบงำด้วยชีวิตที่เร่งรีบ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราได้สัมผัส หรือได้เจอคนที่ทุกข์ยาก ปลุกมโนธรรมสำนึกของเราจะถูกปลุกให้ตื่นตัว และผลักดันให้เราอยู่เฉยไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่าง ฉะนั้น การที่เราได้เจอคนที่ทุกข์กว่าเรา มันจะช่วยให้จิตใจของเราเกิดความเมตตากรุณาขึ้นมาได้
แต่หากเราทำอยู่คนเดียวก็อาจจะรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง สำหรับคนที่เริ่มต้นขอแนะนำให้ทำดีเป็นกลุ่ม คือ การรวมกลุ่มกันทำความดี นอกจากเราจะทำประโยชน์ได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราสนุกด้วย เหมือนกับการออกค่ายอาสาถึงแม้จะยากลำบาก แต่ก็สนุก จึงควรทำงานเป็นกลุ่ม จะได้มีดกำลังใจทำความดีต่อไป
หัวใจสำคัญของ ‘จิตอาสา’ คืออะไร
พระไพศาล จิตที่เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น อยากให้เขาพ้นทุกข์ โดยไม่หวังประโยชน์สุขหรือผลตอบแทนให้แก่ตัวเอง เป็นจิตที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ รางวัลของจิตอาสา คือ ความสุขและความภาคภูมิใจในตนเองเท่านั้น
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค และความล้มเหลว รวมถึงมีความอดทนที่จะรอเห็นผล เนื่องจากการทำงานอาสาส่วนใหญ่นั้น พอเจออุปสรรคนิดหน่อยก็เป็นทุกข์ เช่น มีคนถามว่า ‘ทำ...ทำไม? โง่! บ้า!’ ก็จะหวั่นไหว หรือพอช่วยคนแล้ว เขาไม่ดีขึ้น ก็รู้สึกท้อแท้ นี่คืออุปสรรคอย่างหนึ่ง
อุปสรรคของคนทำจิตอาสานั้น หนึ่ง มักจะหวั่นไหวต่อคำสรรเสริญนินทา สอง หวั่นไหวต่อความสำเร็จและล้มเหลว แต่ถ้าเราสามารถข้ามพ้น 2 ข้อนี้ไปได้ เราไม่หวั่นไหวต่อคำนินทา หรือไม่หลงใหลต่อคำสรรเสริญ จะสำเร็จหรือไม่ เราก็ยังเดินหน้าทำดีต่อไป ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะประสบกับความสุขได้ แต่อาสาสมัครส่วนใหญ่ก็มักจะสะดุดอยู่กับ 2 ข้อนี้แหละ
ถ้าเราสามารถทำด้วยความเห็นแก่ตัวน้อยเท่าไหร่ คำสรรเสริญนินทาใดๆ หรือความล้มเหลวและสำเร็จ ก็จะไม่ทำให้เราหวั่นไหวได้เลย นั่นหมายความว่า ยิ่งทำงานอาสา กิเลส และตัวตน จะยิ่งลดละลง ไม่ใช่ทำงานอาสาแล้ว กิเลสมากขึ้น ตัวตนเพิ่มขึ้น
ฉะนั้น ถ้าเราทำงานอาสา แล้วรู้สึกว่าตัวเองได้บุญ ก็ผิด...
พระไพศาล จริงๆ ก็ไม่ผิด ถ้าทำบุญแล้วเกิดความปีตินั่นดีแล้ว แต่ถ้าเราทำเพราะหวังผลตอบแทนในอนาคตนั่นแสดงว่ายังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ ซึ่งก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่คำว่า ‘อาสา’ ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า เป็นการอาสาเข้าไปเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยจิตที่มีความเมตตากรุณา และไม่หวังผลตอบแทน
สุดท้ายนี้ อยากให้พระอาจารย์ฝากถึงคนที่อยากทำดี แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร
พระไพศาล มนุษย์ทุกคนนั้น โหยหาความดี คือ เราอยากเห็นคนดี และอยากทำความดีด้วย เพราะการทำความดีนั้นทำให้จิตใจเราอิ่มเอิบเบิกบาน แม้จะไม่มีใครเห็นก็ตาม ฉะนั้น เราควรทำดีทุกครั้งที่มีโอกาส แม้จะเหนื่อย หรือยากลำบาก แม้จะมีคนที่ไม่เข้าใจ ก็อย่าไปหวั่นไหว
ทุกวันนี้มีคนเป็นจำนวนมากที่ กล้าทำชั่ว กลัวทำดี เราต้องระวังอย่าให้เป็นอย่างนั้น ควรทำตรงข้ามคือ กล้าทำดี และกลัวความชั่ว จงทำดีทุกครั้งที่มีโอกาส อย่าไปกลัว อย่าไปอาย ใครไม่ทำก็ช่างเขา แล้วความสุข ความภาคภูมิใจก็จะมาหาเรา ขอให้ระลึกว่าความดีนั้นทำได้ทุกโอกาส ทุกเวลา และทำได้ตั้งแต่วินาทีนี้เลย...
ชีวิตสมดุลได้ด้วยการให้
นิตยสารซีเครท : Vol.3 No.62 26 January 2011
Joyful Life & Peaceful Death
ชีวิตสมดุลได้ด้วยการให้
พระไพศาล วิสาโล
เคล็ดลับอย่างหนึ่งในการสร้างสุขให้แก่ชีวิต ก็คือการมีความสมดุล ความสมดุลนั้นมีหลายด้าน เช่น สมดุลระหว่างสมองกับหัวใจ (หรือเหตุผลกับความรู้สึก) สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตส่วนรวม สมดุลระหว่างงานกับการพักผ่อน แต่ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องพื้นฐานมากเท่ากับสมดุลระหว่างการรับกับการให้ หรือการได้กับการสละ
หายใจเข้าแต่ไม่ยอมหายใจออก ก็ตายสถานเดียว กินมากแต่ไม่ยอมออกกำลังกาย โรคร้ายก็ถามหา ในทำนองเดียวกันหากเอาแต่เก็บสะสมทรัพย์สมบัติ แต่ไม่ยอมแบ่งปันให้ผู้อื่น ก็ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์
การเอาแต่รับแต่ไม่ยอมให้เป็นการกระทำที่สวนทางกับวิถีธรรมชาติ ต้นไม้นั้นไม่เคยเป็นผู้รับฝ่ายเดียว แม้พึ่งน้ำจากฟ้า ดูดปุ๋ยจากดิน แต่ในเวลาเดียวกันก็คายน้ำให้ฟ้า ทิ้งใบและกิ่งให้กลับกลายเป็นปุ๋ยคืนสู่ดิน ใช่แต่เท่านั้นยังให้ดอกและผลเป็นอาหารแก่สรรพสัตว์ รวมทั้งให้ร่มเงาแก่นานาชีวิต เช่นเดียวกับลำห้วยเมื่อได้รับน้ำจากภูเขาก็ส่งต่อให้ผืนดินเบื้องล่างเป็นทอด ๆ จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ผู้คนได้ใช้ประโยชน์มากมาย วิถีแห่งการรับและให้เช่นนี้ทำให้เกิดความบรรสานสอดคล้องในธรรมชาติและทำให้โลกนี้น่าอยู่
มนุษย์เราก็เช่นกัน จะมีความสุขและมีชีวิตที่บรรสานสอดคล้องได้ การให้เป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้ “ทาน” จึงเป็นธรรมข้อต้น ๆ ในพุทธศาสนา ไม่ว่าคำสอนเรื่องบุญกิริยาวัตถุ สังคหวัตถุ หรือแม้แต่ทศพิธราชธรรม ก็เริ่มต้นด้วยทาน
ทานทำให้ชีวิตมีความสมดุล เพราะตั้งแต่เกิด เราเป็นผู้รับฝ่ายเดียว ร่ำร้องและเรียกหาทั้งอาหาร ของเล่น เงินทอง เวลา ความรัก จากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ตลอดจนความรู้จากครูบาอาจารย์ ดังนั้นเมื่อเราเติบใหญ่ขึ้น จึงควรเป็นผู้ให้บ้าง มิใช่เพื่อทดแทนบุญคุณหรือตอบแทนโลกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรามีความสุขด้วย
การรู้จักให้ช่วยปรับใจเราให้ไม่คิดแต่จะเอาอย่างเดียว จิตที่คิดแต่จะเอาเป็นจิตที่ทุกข์ง่าย เพราะถูกเผาลนด้วยความโลภเป็นอาจิณ ต้องดิ้นลนไล่ล่าหาสิ่งต่าง ๆ มาครอบครองไม่หยุดหย่อน แม้ได้มามากมายเพียงใด ก็ยังไม่พอใจ อยากได้เพิ่มอีก จึงหาความสงบสุขได้ยาก
การให้ช่วยลดทอนความโลภ บรรเทาความเห็นแก่ตัว หากสิ่งที่ให้นั้นเป็นทรัพย์หรือวัตถุ ก็ช่วยให้เราละความยึดติดถือมั่นใน “ตัวกู ของกู” ธรรมดาคนเราย่อมหวงแหนในทรัพย์สมบัติเพราะสำคัญมั่นหมายว่าของเหล่านั้นเป็น “ของกู” ความสำคัญมั่นหมายดังกล่าวเป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งปวง เพราะสวนทางกับความจริง ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง และไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราได้ตลอด หากมันไม่จากเราไป เราเองแหละที่จะเป็นฝ่ายจากมันไป ที่สำคัญก็คือ ทันทีที่เรายึดมั่นว่ามันเป็นของเรา เราต่างหากที่กลายเป็นของมันทันที คือตกเป็นทาสของมัน จนอาจป่วยหรือตายเพราะมันได้ (เช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือหัวใจวายเมื่อบ้านถูกยึดเงินถูกโกง) หากไม่ตายเพราะมัน ในยามใกล้ตายก็อาจกระสับกระส่ายเพราะยังหวงแหนอาลัยในทรัพย์เหล่านั้น สุดท้ายก็อาจไปสู่ทุคติได้
ถ้าอยากคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู ของกู สิ่งแรกที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการให้ทาน การให้ทาน หากเป็นการให้ที่แท้จริง คือให้โดยไม่หวังอะไรเข้าตัวเลย ไม่ว่าจะเป็นการให้แก่ใครก็ตาม จะช่วยบรรเทาความยึดติดถือมั่นดังกล่าวได้ ซึ่งช่วยให้ใจโปร่งโล่งเบาสบายแช่มชื่นเบิกบาน นี้แหละคือความหมายที่แท้จริงของคำว่า “บุญ”
เดี๋ยวนี้เวลาทำบุญให้ทานผู้คนมักนึกถึงโชคลาภและความมั่งมี หรือ “สวย รวย ฉลาด สมปรารถนา” แม้นั่นเป็นอานิสงส์อย่างหนึ่งของทาน แต่หาใช่อานิสงส์สูงสุดของทานไม่ ประโยชน์สูงสุดที่สามารถเกิดได้จากทานก็คือ การคลายความยึดมั่นในตัวกูของกู หรือการลดละความโลภ หากให้ทานโดยยังหวังได้โชคลาภ ก็ไม่ช่วยให้บรรลุถึงประโยชน์ดังกล่าวเลย เพราะยังเป็นการให้ที่ยังเจือด้วยความโลภอยู่
นอกจากการให้ทรัพย์สมบัติแล้ว เรายังควรให้อย่างอื่นที่มีคุณค่าด้วย เช่น เวลา กำลังกาย และสติปัญญา การ การช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก แม้บางครั้งต้องประสบกับความเหน็ดเหนื่อย ไม่สะดวกสบาย แต่กลับสัมผัสได้ถึงความสุขใจ ความปีติและความแช่มชื่นภายใน เป็นสุขที่ประณีตกว่าความสุขหรือความสนุกจากการเสพ
ใช่หรือไม่ว่า เมื่อเรานึกถึงตัวเองน้อยลง คิดถึงผู้อื่นมากขึ้น เราจะมีความสุขได้ง่ายขึ้น อาสาสมัครนวดเด็กคนหนึ่งเล่าว่า เธอเป็นไมเกรน ต้องกินยาทุกวัน แต่หลังจากที่เป็นจิตอาสาได้ไม่นาน อาการปวดก็หายไปจนเธอลืมกินยาไปเลย ส่วนผู้เฒ่าคนหนึ่งเปิดใจว่า หลังจากที่ได้เป็นอาสาสมัครแยกขยะ เขารู้สึกว่าตนเองเป็น “ขยะคืนชีพ” ไม่รู้สึกว่าไร้ค่าเหมือนตอนที่นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ในบ้าน
น้ำที่ไม่ถ่ายเทย่อมกลายเป็นน้ำเน่า ชีวิตที่ไม่รู้จักให้คือชีวิตที่หม่นหมองไร้สุข ความสุขที่แท้มิได้เกิดจากการเสพหรือการมีมาก ๆ แต่อยู่ที่การสละออกไป เริ่มจากสละวัตถุสิ่งของ ไปจนถึงสละความยึดติดถือมั่นในตัวตน สละได้มากเท่าใด ก็ช่วยให้เราอยู่ในโลกนี้อย่างผาสุกมากเท่านั้น อีกทั้งยังทำให้เราจากโลกนี้ไปได้อย่างสงบสุขด้วย
เผชิญความตายอย่างสงบ ๑
เผชิญความตายอย่างสงบ ๑
โดย พระไพศาล วิสาโล และคณะ
จัดพิมพ์โดย เครือข่ายพุทธิกา
พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๒๕๕๓
แบ่งปันบน facebook Share
คำนำ
ความตายเป็นธรรมดาของทุกชีวิต แต่มีน้อยคนที่ยอมรับอย่างสนิทใจว่าสักวันหนึ่งตนจะต้องตาย แม้เราจะได้ยินหรือรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความตายของผู้คนวันละหลายครั้งทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ หรืออาจรู้สึกตื่นเต้นสนุกสนานด้วยซ้ำกับความตายของตัวละครในภาพยนตร์หรือวีดีโอเกม แต่เวลานึกถึงความตายที่จะเกิดขึ้นกับตนในวันข้างหน้า หลายคนกลับรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง ด้วยเหตุนี้จึงไม่อยากนึกถึงหรือพูดถึง โดยพยายามทำตัวให้วุ่นจนลืมตาย หาไม่ก็ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานราวกับว่าชาตินี้จะไม่มีวันตาย ขณะที่จำนวนไม่น้อยหวัง “ไปตายเอาดาบหน้า” คือผัดผ่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแก่หรือป่วยหนัก ถึงค่อยมานึกถึงเรื่องนี้
พุทธศาสนาถือว่านี้เป็นความประมาทอย่างสำคัญ ในเมื่อความตายเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่มีอะไรดีกว่าการเตรียมรับมือกับความตายแต่เนิ่นๆ ความทุกข์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเรามีท่าทีหรือปฏิกิริยากับสิ่งนั้นอย่างไรต่างหาก ในทำนองเดียวกันความตายจะน่ากลัวหรือไม่อยู่ที่ใจเราเป็นสำคัญ จะตายอย่างทุกข์ทรมานหรือไม่หาได้ขึ้นอยู่กับโรคร้ายไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการวางใจของเราต่างหาก
ความตายนั้นมิใช่วิกฤตเสมอไป หากยังเป็นโอกาสสำหรับการเข้าถึงสัจธรรมของชีวิต เป็นโอกาสสำหรับการปลดเปลื้องสิ่งที่เคยยึดติดอย่างแน่นหนา อีกทั้งเป็นโอกาสสำหรับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานให้กลับคืนดี จนเข้าถึงความสงบในวาระสุดท้าย ประสบการณ์ของผู้คนจำนวนไม่น้อยชี้ว่า ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย ชาวนาหรือเศรษฐี จบประถมหรืออุดมศึกษา ล้วนสามารถแปรเปลี่ยนความตายจากวิกฤตให้เป็นโอกาสดังกล่าวได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งทุกคนมีศักยภาพที่จะเข้าถึงความตายอย่างสงบ แต่จะทำเช่นนั้นได้ ปัจจัยสำคัญก็คือมีการฝึกฝนตระเตรียมล่วงหน้ามาก่อน
ด้วยเหตุนี้ โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ จึงได้เกิดขึ้นโดยเครือข่ายพุทธิกา มีการดำเนินกิจกรรมที่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งประชาชนผู้สนใจ ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตัวผู้ป่วยเอง ญาติอาสาสมัคร และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งพบว่า นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้ความสนใจค่อนข้างมากและมีความต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากความใกล้ชิดที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย แต่ที่สำคัญเกิดจากความต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย และมีจิตที่มากกว่าเพียงทำตามหน้าที่ เป็นจิตอาสาซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยที่มีความต้องการการเยียวยามากกว่าเพียงการรักษาทางกาย การสู่วาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบ และเหนืออื่นใดผู้ดูแลรวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ยังได้เข้าถึงความจริงของชีวิตมากขึ้นอันเป็นผลพลอยได้ที่ยิ่งใหญ่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กิจกรรมที่ช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติที่ส่งผลต่อผู้เข้าร่วมมากและเพิ่มขึ้นทุกปี จนต้องมีการพัฒนาและขยายกิจกรรมให้สามารถตอบสนองความต้องการคือการจัดอบรม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่โครงการเผชิญความตายอย่างสงบของเครือข่ายพุทธิการ่วมกับเสมสิกขาลัยมาตั้งแต่เริ่มต้น การจัดอบรมดังกล่าวเน้นการเรียนรู้จากกระบวนการ วิธีการเป็นหลัก เรียนรู้จากการมีส่วนร่วมในกิจกรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในหมู่ผู้อบรม และลงมือปฏิบัติจริง
ตลอดระยะเวลาที่โครงการฯ จัดอบรมในทุกภาคของประเทศ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก ทั้งบุคคลทั่วไปและคนในแวดวงสาธารณสุข โรงพยาบาลหลายแห่งติดต่อให้จัดอบรมแก่บุคลากรของตนเป็นการเฉพาะ แม้ว่าทางโครงการฯ จะพยายามเพิ่มทีมวิทยากรแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถตอบสนองได้เพียงพอ
เครือข่ายพุทธิกาจึงได้ผลิตคู่มือขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้สนใจสามารถใช้อ่านประกอบการทำความเข้าใจการเผชิญความตายอย่างสงบ คู่มือเรียนรู้การเผชิญความตายอย่างสงบ ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๒ เล่ม เล่มที่ ๑ ว่าด้วยแนวคิดและกระบวนการเรียนรู้ และเล่มที่ ๒ เป็นข้อคิดจากประสบการณ์ หากได้อ่านทั้งสองเล่ม จะได้ทั้งแนวคิดและวิธีการต่างๆ ที่มีรูปธรรมนำเสนอเป็นกรณีศึกษาจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น
พระไพศาล วิสาโล
๑ ตุลาคม ๒๕๕๓
ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองกำลังเล่นเกมส์อะไรกันอยู่
ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองกำลังเล่นเกมส์อะไรกันอยู่....มันไม่ใชเรื่องเลยที่จะเอาบ้านเมืองไปเกี่ยวข้อง
ดินแดนแผ่นดินไทยยังไม่ได้คืน ชาวไทยตกค้างไม่ได้รับการเหลียวแลมานาน........แล้วทำแบบนี้มันมากไปหน่อยแล้วล่ะมั้ง
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกลาโหมกัมพูชาเป็นคนเชื้อสายไทย
....หนังสือคนสองแผ่นดิน เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวของเกาะกง หรือ ครั้งหนึ่งชื่อว่า ปัจจันตคีรีเขตร ซึ่งรัชกาลที่สี่ ตั้งชื่อเพื่อให้คล้องกับเมือง ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากเมืองทั้งสองนั้นอยู่ในแนวเส้นรุ้งเดียวกัน
...ซึ่งเกาะกง เคยเป็นของไทยมาก่อน สมัยก่อนมีคนไทยอาศัยอยู่และมีขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทย ต่อมา เมื่อ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศษได้ยึดเอาหัวเมืองจันทบุรี ตราด รวมถึงเกาะกงไป และภายหลังในปี 2449 ไทยได้ขอแลกเมืองจันทบุรี และตราดคืนมา โดยแลกกับ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ แต่เมืองเกาะกงนั้นไม่ได้กลับคืนมาด้วย ยังคงเป็นของเขมรต่อไป
...ในหนังสือจะเล่าถึงชะตากรรมของคนไทยที่ตกค้างอยู่ที่เกาะกง ในช่วงเวลาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส รัฐบาลสีหนุ รัฐบาลลอนนอน หรือรัฐบาลเขมรแดง คนไทยในเกาะกงซึ่งกลายเป็นชนกลุ่มน้อยโดนกระทำหลายๆ อย่างตามห้วงเวลา โดนห้ามพูดภาษาไทย ทั้งต้องโดนฆ่าตายไปมากมายในช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจ นอกจากกนี้ยังกล่าวถึงขบวนการต่อสู้ของคนไทยในเกาะกงที่จัดตั้งขึ้นในนามเขมรอิสระ รวมถึงอธิบายความเป็นไปและความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์เขมร กับ คนไทยในเกาะกง
...ในเล่มยังมีประวัติของ พลเอกเตีย บัญ ซึ่งเป็นนักรบเกาะกง ที่ได้ขึ้นคุมกองทัพกัมพูชา เป็นคนเชื้อสายไทย ที่พูดภาษาไทยได้คล่อง ทั้งยังกล่าวถึงคนไทยเกาะกงอีกจำนวนหนึ่งที่มีตำแหน่งสำคัญในกัมพูชา เช่น นาย จา เรียง ซึ่งเป็นผู้ว่าแบงค์ชาติ และใส่ ภูทอง หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของกัมพูชา โดยเฉพาะหลังโค่นเขมรแดงลงในปี พ.ศ. 2522 เขาผู้นี้(ใส่ ภูทอง)คือผู้ที่เปิดทางสู่อำนาจของ ฮุน เซน
...ปัจจุบันคนไทยในเกาะกงหลงเหลืออยู่เพียง 25% และได้รับการรับรองให้มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกับประชนชนกัมพูชาทั่วไป คนไทยทุกคนที่มีบทบาทสำคัญในการกอบกู้อิสรภาพ ในพื้นที่เขตเกาะกงมาต้งแต่เริ่มต้น ได้รับการยกย่องเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง ทั้งที่กรุงพนมเปญและในการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้คนไทยเกาะกงมีความภาคภูมิใจมาก
...หนังสือคนสองแผ่นดิน โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ พิมพ์ปี 2551 เป็นหนังสือที่ให้รายละเอียดประวัติศาสตร์ที่อ่านแล้วสนุกสนาน และได้เข้าใจความเป็นมาของชาวไทยในเกาะกงได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%87
รูปจากวิกิพีเดีย
ภาพจากhttp://www.tobethai.org/autopage/show_page.php?t=36&s_id=05&d_id=05&page=1
๑๓.ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงกัมพูชา
(บัตรสีเขียว)
บัตรผู้อพยพเชื้อสายไทยจากเกาะกงในเขมร
ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงกัมพูชา คนกลุ่มนี้คือคนไทย เดิมจังหวัดเกาะกง (จังหวัดประจัญคีรีเขต) เป็นดินแดนของประเทศไทย ในสมัยรัชการที่ ๕ ดินแดนส่วนนี้ได้ตกเป็นของฝรั่งเศส และต่อมาก็เป็นของกัมพูชา เมื่อกัมพูชาได้เอกราชจากฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่ในดินแดนนี้ไม่ยอมกลับมาอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากเสียดายทรัพย์สินบ้รนเรือนที่เคยอยู่อาศัย ต่อมาเมื่อปี ๒๕๑๗ กัมพูชาเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการปราบปรามประชาชนในประเทศ คนไทยที่อาศัยอยู่ที่เกาะกงจึงอพยพเข้ามาอยู่ที่จังหวัดตราดแห่งเดียว โดยทางราชการถือเอาวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ เป็นวันสุดท้ายที่จะรับผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา เข้ามาอยู่ในประเทศไทย
สถานะของผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา
เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเคยเป็นคนไทย แต่ได้เสียสัญชาติไทยไปเพราะดินแดนดังกล่าวตกเป็นของฝรั่งเศสและกัมพูชา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติหลายครั้งในการให้สัญชาติไทยแก่ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา โดยการแปลงสัญชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๖ , วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๒๗, วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔
บัตรประจำตัวผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา (สีเขียว)
ดินแดนแผ่นดินไทยยังไม่ได้คืน ชาวไทยตกค้างไม่ได้รับการเหลียวแลมานาน........แล้วทำแบบนี้มันมากไปหน่อยแล้วล่ะมั้ง
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกลาโหมกัมพูชาเป็นคนเชื้อสายไทย
....หนังสือคนสองแผ่นดิน เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวของเกาะกง หรือ ครั้งหนึ่งชื่อว่า ปัจจันตคีรีเขตร ซึ่งรัชกาลที่สี่ ตั้งชื่อเพื่อให้คล้องกับเมือง ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากเมืองทั้งสองนั้นอยู่ในแนวเส้นรุ้งเดียวกัน
...ซึ่งเกาะกง เคยเป็นของไทยมาก่อน สมัยก่อนมีคนไทยอาศัยอยู่และมีขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทย ต่อมา เมื่อ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศษได้ยึดเอาหัวเมืองจันทบุรี ตราด รวมถึงเกาะกงไป และภายหลังในปี 2449 ไทยได้ขอแลกเมืองจันทบุรี และตราดคืนมา โดยแลกกับ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ แต่เมืองเกาะกงนั้นไม่ได้กลับคืนมาด้วย ยังคงเป็นของเขมรต่อไป
...ในหนังสือจะเล่าถึงชะตากรรมของคนไทยที่ตกค้างอยู่ที่เกาะกง ในช่วงเวลาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส รัฐบาลสีหนุ รัฐบาลลอนนอน หรือรัฐบาลเขมรแดง คนไทยในเกาะกงซึ่งกลายเป็นชนกลุ่มน้อยโดนกระทำหลายๆ อย่างตามห้วงเวลา โดนห้ามพูดภาษาไทย ทั้งต้องโดนฆ่าตายไปมากมายในช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจ นอกจากกนี้ยังกล่าวถึงขบวนการต่อสู้ของคนไทยในเกาะกงที่จัดตั้งขึ้นในนามเขมรอิสระ รวมถึงอธิบายความเป็นไปและความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์เขมร กับ คนไทยในเกาะกง
...ในเล่มยังมีประวัติของ พลเอกเตีย บัญ ซึ่งเป็นนักรบเกาะกง ที่ได้ขึ้นคุมกองทัพกัมพูชา เป็นคนเชื้อสายไทย ที่พูดภาษาไทยได้คล่อง ทั้งยังกล่าวถึงคนไทยเกาะกงอีกจำนวนหนึ่งที่มีตำแหน่งสำคัญในกัมพูชา เช่น นาย จา เรียง ซึ่งเป็นผู้ว่าแบงค์ชาติ และใส่ ภูทอง หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของกัมพูชา โดยเฉพาะหลังโค่นเขมรแดงลงในปี พ.ศ. 2522 เขาผู้นี้(ใส่ ภูทอง)คือผู้ที่เปิดทางสู่อำนาจของ ฮุน เซน
...ปัจจุบันคนไทยในเกาะกงหลงเหลืออยู่เพียง 25% และได้รับการรับรองให้มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกับประชนชนกัมพูชาทั่วไป คนไทยทุกคนที่มีบทบาทสำคัญในการกอบกู้อิสรภาพ ในพื้นที่เขตเกาะกงมาต้งแต่เริ่มต้น ได้รับการยกย่องเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง ทั้งที่กรุงพนมเปญและในการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้คนไทยเกาะกงมีความภาคภูมิใจมาก
...หนังสือคนสองแผ่นดิน โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ พิมพ์ปี 2551 เป็นหนังสือที่ให้รายละเอียดประวัติศาสตร์ที่อ่านแล้วสนุกสนาน และได้เข้าใจความเป็นมาของชาวไทยในเกาะกงได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%87
รูปจากวิกิพีเดีย
ภาพจากhttp://www.tobethai.org/autopage/show_page.php?t=36&s_id=05&d_id=05&page=1
๑๓.ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงกัมพูชา
(บัตรสีเขียว)
บัตรผู้อพยพเชื้อสายไทยจากเกาะกงในเขมร
ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงกัมพูชา คนกลุ่มนี้คือคนไทย เดิมจังหวัดเกาะกง (จังหวัดประจัญคีรีเขต) เป็นดินแดนของประเทศไทย ในสมัยรัชการที่ ๕ ดินแดนส่วนนี้ได้ตกเป็นของฝรั่งเศส และต่อมาก็เป็นของกัมพูชา เมื่อกัมพูชาได้เอกราชจากฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่ในดินแดนนี้ไม่ยอมกลับมาอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากเสียดายทรัพย์สินบ้รนเรือนที่เคยอยู่อาศัย ต่อมาเมื่อปี ๒๕๑๗ กัมพูชาเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการปราบปรามประชาชนในประเทศ คนไทยที่อาศัยอยู่ที่เกาะกงจึงอพยพเข้ามาอยู่ที่จังหวัดตราดแห่งเดียว โดยทางราชการถือเอาวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ เป็นวันสุดท้ายที่จะรับผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา เข้ามาอยู่ในประเทศไทย
สถานะของผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา
เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเคยเป็นคนไทย แต่ได้เสียสัญชาติไทยไปเพราะดินแดนดังกล่าวตกเป็นของฝรั่งเศสและกัมพูชา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติหลายครั้งในการให้สัญชาติไทยแก่ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา โดยการแปลงสัญชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๖ , วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๒๗, วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔
บัตรประจำตัวผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา (สีเขียว)
วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
หลวงตามหาบัว บริจาคทองคำให้รัฐมากสุดในโลก
หลวงตามหาบัว บริจาคทองคำให้รัฐมากสุดในโลก
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3 , luangta.com
เสนอลงกินเนสส์บุ๊ก หลวงตามหาบัว บริจาคทองคำให้รัฐมากสุดในโลก ทั้งหมดกว่า 12 ตัน รอผล 3 เดือน
นายถนอม บุตรเรือง อดีตผู้บริหารสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับแบงค์ชาติทำหนังสือยื่นใบสมัครถึงกินเนสส์บุ๊ก (Guinness Book of World Records) เพื่อบันทึกเรื่องราวของ พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ว่า เป็นเอกชนหรือปัจเจกบุคคลเพียงคนเดียว ที่บริจาคทองคำให้รัฐมากที่สุดในโลก เพื่อให้โลกได้รับรู้ถึงคุณความดีของ หลวงตามหาบัว ที่มีต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ หลวงตามหาบัว สามารถรวบรวมทองคำภายใต้โครงการผ้าป่าช่วยชาติ ได้ทั้งหมดกว่า 12 ตัน เป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99% ตามมาตรฐานสากล แต่ละแท่งมีน้ำหนัก 12.5 กิโลกรัม และมอบให้แก่รัฐ ซึ่งขณะนี้ทางกินเนสส์บุ๊ก รับใบสมัครไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการพิสูจน์เรื่องราวของ หลวงตามหาบัว ประมาณ 3 เดือน จึงจะทราบผล
[23 กุมภาพันธ์] เชิญชวนร่วมทำบุญ - ระลึกพุทโธ กับ หลวงตามหาบัว
พระอาจารย์อินทร์ถวายย้ำญาติธรรมต้องสามัคคีกันทำเพื่อหลวงตามหาบัวเป็นครั้งสุดท้าย ส่วนวันงานพระราชทานเพลิง หากใครมาร่วมงานไม่ได้ให้ระลึกพุทโธ ด้านการจัดเตรียมเมรุปลูกหญ้าเสร็จแล้วเหลือตกแต่งเล็กน้อย คณะศิษย์หารือ ธปท.นัด 12 เม.ย. มอบทองคำแท่งล็อตสุดท้าย 12.5 ตันให้หลวง
มหาชนยังเดินทางไปกราบสรีระสังขาร หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมืองฯ จ.อุดรธานี ตลอดวันอังคารที่ผ่านมา โอกาสเดียวกัน พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย อ.นายุง จ.อุดรธานี ได้กล่าวกับญาติธรรมก่อนฉันภัตตาหารว่า หลวงตามหาบัวได้ละสังขารไปแล้วเป็นเวลา 24 วัน สำหรับการประชุมเมื่อวันที่ 21 ก.พ. มีอยู่หลายเรื่องมากมาย สรุปแล้วคือเรื่องความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ในวันที่ 5 มีนาคม 2554 อันเป็นวันงานซึ่งคณะกรรมการใช้เวลาประชุมหารือกันนานกว่า 8 ชั่วโมง ขอในคณะศรัทธาญาติโยมช่วยกัน สิ่งไหนที่จะเกิดขึ้นและมีประโยชน์ขอให้ช่วยกัน สามัคคีกัน สิ่งไหนไม่เกิดประโยชน์ก็อย่าคิด อย่าพูด
"ในช่วงนี้ขอให้มีความพร้อมสามัคคีกัน ซึ่งผู้ที่อยู่ไกลหรือใกล้ ผู้ที่เคยได้รับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตามหาบัว ขอเชิญชวนบอกกล่าวให้มาร่วมทำบุญ มาทำบุญกับองค์หลวงตา คำเชิญชวนนี้ไม่ได้บังคับ ขอร้อง แต่เป็นการบอกกล่าว"
พระอาจารย์อินทร์ถวายได้ยกตัวอย่างปริศนาธรรมว่า เมื่อพวกเราหิวอาหาร หลวงพ่อบอกว่าอาหารอยู่ตรงนั้นนะ ตรงนี้นะ ทานซะนะ ถ้าพวกเราไม่ทาน หลวงพ่อก็ไม่ว่าอะไร หลวงพ่อได้บอกกล่าวไปแล้ว งานองค์หลวงตามหาบัวก็เช่นเดียวกัน หลวงพ่อบอกคณะศิษยานุศิษย์ที่รักและเคารพในองค์หลวงตาให้มาทำบุญแด่องค์หลวงตาครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายขององค์หลวงตาแล้ว หลวงตาจะไม่เกิดอีกแล้ว พวกเราควรจะแสดงความกตัญญูต่อองค์หลวงตามหาบัว
"หากมาไม่ได้ก็ขอให้ระลึกคำว่า พุทโธ พุทโธ แค่นี้ก็แสดงถึงความกตัญญูต่อองค์หลวงตาแล้ว และนำคำสอนของหลวงตามาใช้ในการดำรงชีวิต แค่นี้เราก็จะมีความสุขตลอดไป" พระอาจารย์อินทร์ถวายกล่าว
สำหรับความคืบหน้าในการก่อสร้างเมรุชั่วคราว ขณะนี้เมรุได้ปลูกหญ้าเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ตัวเตาที่ใช้สำหรับเผาก็ทาสีทองแล้ว เหลือเพียงการประดับตกแต่ง และนำกลดมากางเท่านั้น
ส่วนเงินบริจาคที่ได้จากงานบำเพ็ญกุศลสรีระสังขารองค์หลวงตา ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2554 ถึงปัจจุบัน รวมยอดรายรับ (เฉพาะเงินสด) จากตู้บริจาค ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.54 - 21 ก.พ.54 รวม 124,276,738 บาท ยอดรายรับจากธนาคาร (เงินสดจากตู้บริจาค เงินโอน เช็ค) บัญชีออมทรัพย์ 3 บัญชี คือ ธนาคารกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงไทย ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.54 - 21 ก.พ.54 รวมทั้งสิ้น 151,581,448.74 บาท
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันที่ 22 ก.พ. พระสงฆ์และศิษยานุศิษย์ของหลวงตามหาบัว นำโดยพระอาจารย์นพดล นันทโน เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา ต.ท่าขุนราม อ.เมืองฯ จ.กำแพงเพชร เข้าพบและหารือเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับทองที่ได้รับบริจาคจากหลวงตามหาบัว ซึ่งขณะนี้นำไปเก็บที่บัญชีทุนสำรองเงินตราตามเจตนารมณ์
ในการหารือครั้งนี้ พระอาจารย์นพดลกล่าวว่า ในวันที่ 12 เม.ย.ที่จะถึงนี้ คณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัวจะส่งมอบทองคำชุดสุดท้ายของโครงการผ้าป่าช่วยชาติ จำนวน 1,001 แท่ง น้ำหนักรวม 12,500 กิโลกรัม (12.5 ตัน) เพื่อใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศหรือเป็นคลังหลวงต่อไป โดยสถานที่ส่งมอบคาดว่าจะเป็นที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
พระอาจารย์นพดล กล่าวว่า การเดินทางมา ธปท.ในครั้งนี้ นอกจากหารือเรื่องการส่งมอบทองคำที่ต้องการบริจาคแล้ว ยังมาหารือถึงแนวคิดของกระทรวงการคลังและ ธปท. ที่มีแผนแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา และ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคลังหลวงด้วย การหารือกับผู้บริหาร ธปท.ในครั้งนี้ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก เพราะ ธปท.เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของหลวงตามหาบัวและคณะศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี โดย ธปท.สัญญาว่าจะไม่แตะต้องเงินคลังหลวง และหากจะมีการแก้ไขกฎหมายหรือ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับเงินคลังหลวง ก็จะสอบถามความเห็นมายังคณะศิษยานุศิษย์ทุกครั้ง
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก
สงบได้เมื่อใจยอมรับ
สงบได้เมื่อใจยอมรับ
โพสต์ทูเดย์ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๔
สงบได้เมื่อใจยอมรับ
พระไพศาล วิสาโล
เครือข่ายพุทธิกา
http://www.budnet.org
คนส่วนใหญ่ทุกข์ก็เพราะ ๒ เรื่อง เรื่องที่เป็นอดีตกับเรื่องที่เป็นอนาคต เวลาเราทุกข์เพราะของหาย ทุกข์เพราะถูกตำหนิ ทุกข์เพราะแฟนตีจาก เหตุการณ์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นอดีต แต่พอนึกถึงมันก็ทำให้เราทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์เพราะอดีต ก็ทุกข์เพราะอนาคตหรือเรื่องราวที่ยังมาไม่ถึง เวลาเราทุกข์เมื่อเจอรถติด เราไม่ได้ทุกข์เพราะอากาศร้อน เราไม่ได้ทุกข์เพราะที่นั่งมันแข็งกระด้าง แต่เราทุกข์เพราะกำลังกังวลว่าจะไปทำงานสาย ไม่ทันประชุม หรือไม่ก็คอยลุ้นว่า เมื่อไรจะถึง ๆ ๆ ตัวอยู่บนรถ แต่ใจไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว ก็เลยทุกข์ อันนี้เรียกว่าทุกข์ใจเพราะไปอยู่กับอนาคต แต่ถ้าเรามีสติ รู้ทันจิตใจว่ากำลังอยู่กับอดีตและอนาคต สติจะพาเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่ทุกข์ร้อนกับเรื่องที่ผ่านไปแล้วหรือเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ทำให้ใจเป็นปกติได้
ทุกวันนี้ผู้คนไม่ค่อยมีความสุขก็เพราะใจเผลอคิดเรื่องอดีตกับอนาคต แต่ถ้ามีสติเมื่อใด ใจก็จะหวนกลับมาอยู่กับปัจจุบัน แล้วเป็นทุกข์เพราะอดีตหรืออนาคตน้อยลง มีเหมือนกันที่บางครั้งเราไม่ได้ทุกข์เรื่องอดีตหรืออนาคต แต่ทุกข์อยู่กับปัญหาที่เผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน เช่นความเจ็บป่วยไข้ อันนี้เป็นเรื่องเฉพาะหน้า แต่ขอให้สังเกต เราไม่ได้ทุกข์เพราะความเจ็บป่วย แต่เป็นเพราะใจที่ปฏิเสธต่อต้านผลักไสความเจ็บป่วยมากกว่า เมื่อใดที่ใจต่อต้าน ผลักไส อะไรก็ตาม ความทุกข์ก็ตามมาทันที กับงานการก็เช่นกัน เราไม่ได้ทุกข์เพราะงาน แต่ทุกข์เพราะใจที่ปฏิเสธต่อต้านงานนั้น เรามักคิดว่าเราทุกข์เพราะสิ่งที่เผชิญอยู่เฉพาะหน้า ที่จริงไม่ใช่ มันเป็นเพราะเราวางใจไม่ถูกต่างหาก พูดง่าย ๆ คือเป็นเพราะใจเรานั่นเอง
เวลาเราเจองานซึ่งไม่ใช่เป็นงานของเรา เรากำลังจะกลับบ้านอยู่แล้ว แต่เจ้านายขอให้เราทำงานชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นของคนอื่น เรารู้สึกไม่พอใจขึ้นมาเลยใช่ไหม บ่นอุบอิบหรือตีโพยตีพายว่า มันไม่ยุติธรรม ทำไมต้องเป็นฉัน ถ้ามีความรู้สึกแบบนี้เราจะทำงานด้วยความทุกข์ ความทุกข์นั้นไม่ได้เกิดจากงานชิ้นนั้น แต่เป็นเพราะใจของเราเองที่ต่อต้านหรือปฏิเสธงานนั้น ลองมีสติรู้ทัน หรือเลิกบ่นเลิกตีโพยตีพาย ยอมรับงานชิ้นนั้นและทำงานอย่างเต็มที่ เราจะไม่ทุกข์เลย ไม่รู้สึกว่างานนั้นยุ่งยากหรือหนักหนาอะไร ทำได้สบายมาก ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเวลาทำงานนั้น มักเกิดจากใจที่บ่นกระปอดกระแปดว่าไม่ไหว ๆ ไม่ยุติธรรม ทำไมต้องเป็นฉัน ทันทีที่คุณมีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น คุณจะเป็นทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์เพราะงาน แต่ทุกข์เพราะใจที่เป็นลบมากกว่า
มีการศึกษาพบว่าเวลาถูกฉีดยา ถ้าคุณกลัวเข็มฉีดยา ทันทีที่ถูกเข็มแทง ความเจ็บจะเพิ่มเป็น ๓ เท่าของคนที่ไม่กลัว อันนี้เป็นเพราะความกลัวในใจ ทำให้ใจปฏิเสธต่อต้านเข็มนั้น แต่ถ้าเราวางใจให้เป็นกลาง ยอมรับมัน ก็จะไม่รู้สึกปวดเท่าไหร่ รู้สึกว่าพอทนได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิอยู่ มียุงมาเกาะที่แขนเรา จะปัดก็ไม่ได้ แต่ถ้าใจเราปฏิเสธยุงตัวนั้น รู้สึกแขยง หรือกลัวเจ็บ ทันทีที่มันกัดเรา เราจะรู้สึกปวดจนอยากจะปัดหรือตบมันด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราทำใจยอมรับมัน รู้ทันความกลัวหรือความรู้สึกรังเกียจ พอถูกกัดเราจะไม่ค่อยรู้สึกปวดเท่าไหร่ พูดอีกอย่างหนึ่ง จะปวดมากหรือน้อย อยู่ที่ใจเรานั่นเอง
การทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ใจเราสงบลง ไม่ทุกข์อะไรง่าย ๆ แม้บางครั้งสิ่งที่เผชิญนั้นจะอันตรายหรือดูน่ากลัวก็ตาม
มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เคยไปว่ายน้ำที่เกาะสมุย ว่ายอยู่ดี ๆ ก็พบว่าตัวเองถูกกระแสน้ำพัดไกลจากฝั่งออกไปทุกที เธอพยายามว่ายน้ำเข้าฝั่ง แต่ว่ายเท่าไหร่ก็ยิ่งไกลจากฝั่งมากขึ้น เธอตกใจมากร้องตะโกนขอให้เพื่อนช่วย เพราะถูกพัดออกทะเลไกลขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากอยู่กลางกระแสน้ำที่เชี่ยวแรงมาก เพื่อน ๆ พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอ ก็พยายามว่ายไปช่วยเธอ แต่พอว่ายได้สักพักก็รู้สึกว่ากระแสน้ำแรงมาก จึงเปลี่ยนใจ พยายามว่ายกลับเข้าฝั่ง
ตัวเธอเองยิ่งว่ายเข้าฝั่ง ก็ยิ่งเหนื่อย แถมไกลฝั่งออกไปเรื่อย ๆ จึงรู้ว่าไม่มีประโยชน์ ตอนนั้นรู้เลยว่าคงไม่รอดแล้ว แต่แทนที่จะตื่นตกใจ เธอกลับรู้สึกสงบ เพราะทำใจได้ว่า ถ้าจะตายก็ต้องตาย พอทำใจได้เธอก็ปล่อยวาง อยู่เฉย ๆ ลอยคอนิ่ง ๆ ไม่ฝืนว่ายต่อไป ตอนนั้นเธอรู้สึกสงบมาก ผ่านไปพักใหญ่ก็พบว่าตัวเองถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่งทีละน้อย ๆ เพื่อนเห็นเช่นนั้น ก็ว่ายออกมาช่วยเธอ พาขึ้นฝั่งได้ในที่สุด หลังจากนั้นเธอก็มารู้ว่าตรงที่เธอว่ายน้ำนั้นมีกระแสน้ำเชี่ยวมากที่เกิดจากคลื่นกระทบฝั่ง ไม่มีใครที่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำได้ ส่วนใหญ่ตายเพราะหมดแรง ที่เธอรอดมาได้ก็เพราะทำตัวนิ่ง ๆ ไม่ฝืนว่ายด้วยความตื่นตระหนก และที่เธอทำตัวนิ่งได้ก็เพราะยอมรับความตายได้ ไม่ขัดขืนหรือต่อสู้กับมัน
เวลาเจอเหตุร้ายที่หนีไม่พ้น ไม่มีอะไรดีกว่าการยอมรับมันด้วยใจสงบ บ่อยครั้งการทำเช่นนั้นกลับทำให้รอดตายด้วยซ้ำ ตรงกันข้ามการพยายามต่อสู้ขัดขืน กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง จนอาจไม่รอดก็ได้
ผู้หญิงอีกคนหนึ่งเล่าว่า ขณะที่กำลังขับรถบนทางด่วนด้วยความเร็วสูง พอผ่านทางโค้งก็เห็นข้างหน้ามีรถติดเป็นแพ เธอเริ่มชะลอความเร็ว แต่พอมองกระจกหลัง ก็เห็นว่ารถคันหลังไม่ชะลอ กลับแล่นตรงเข้ามาเต็มที่ เธอรู้เลยว่าเธอกำลังถูกอัดก๊อปปี้ ความคิดตอนนั้นบอกเธอว่าคงไม่รอด
ตอนรู้ตัวว่าจะไม่รอดเธอสังเกตว่ามือกำพวงมาลัยอยู่แน่นมาก เธอคิดขึ้นมาว่าเครียดแบบนี้มาทั้งชีวิตแล้ว ถ้าจะตายก็ขอตายแบบผ่อนคลาย เลยปล่อยมือจากพวงมาลัย นั่งอย่างผ่อนคลาย หลับตา แล้วก็มาจดจ่ออยู่กับลมหายใจ จากนั้นก็มีเสียงดังสนั่น แล้วเธอก็หมดความรู้สึกตัว มารู้ตัวอีกทีตอนที่ตำรวจช่วยดึงเธอออกมาจากรถ ตำรวจแปลกใจมากที่เธอรอดมาได้โดยไม่เป็นอันตรายอะไรทั้ง ๆ ที่รถพังยับเยินทั้งหน้าและหลัง แต่หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวของเธอ ตำรวจก็บอกว่าถ้าคุณเกร็งตอนนั้นคุณคงไม่รอด เพราะถ้าเธอตัวเกร็ง ก็จะต้องเจอแรงกระแทกเต็มที่
เธอบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เปลี่ยนชีวิตของเธอ ทำให้เธอกลายเป็นคนที่ผ่อนคลายและปล่อยวางมากขึ้น ไม่เคร่งเครียดหรือเอาเป็นเอาตายกับสิ่งต่าง ๆ เธอได้เห็นคุณค่าของการปล่อยวางมากขึ้น ตัวอย่างจากผู้หญิงคนนี้ชี้ว่า การยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งความตายนั้น ไม่เพียงทำให้ใจสงบเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้รอดตายได้ด้วย
ประเด็นที่อยากจะเน้นคือคนเราเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนา แทนที่จะต่อสู้ขัดขืน อย่างแรกที่ควรทำคือยอมรับมัน ไม่ปฏิเสธหรือต่อสู้ขัดขืน อย่างน้อย ๆ มันช่วยทำให้เราทุกข์ใจน้อยลง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของหาย งานหนัก หรือความเจ็บป่วย เมื่อเจ็บป่วยแล้วบ่นตีโพยตีพาย คุณจะทุกข์กว่าเดิม ไม่ใช่แค่ทุกข์กายเท่านั้น แต่ทุกข์ใจด้วยแต่ถ้ายอมรับว่าเมื่อความป่วยเกิดขึ้นกับเราแล้ว ป่วยการที่จะตีโพยตีพายหรือปฏิเสธมัน แทนที่จะตีโพยตีพาย ไม่ดีกว่าหรือหากเราจะมาพิจารณาว่าจะรักษาตัวอย่างไรให้หายป่วย
การยอมรับไม่ใช่การยอมจำนน แต่หมายถึงการยอมรับความจริงว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ เสียเวลาหรือเสียอารมณ์ด้วยการตีโพยตีพายโวยวาย แต่เราจะยอมรับความจริงได้ก็ต้องมีสติรู้ทันใจของตัวเอง เพราะปฏิกิริยาแรกของใจก็คือการโวยวาย ต่อสู้ ขัดขืน ผลักไส เป็นธรรมดาของใจเมื่อเจอสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ใจก็จะผลักไสต่อต้านเป็นอย่างแรก ถ้าหนีไม่ได้ก็จะผลักไส แต่ถ้ามีสติรู้ทันอาการดังกล่าว มันก็จะคลายไป ช่วยทำให้ใจเราสงบ เพราะความสงบเกิดจากการยอมรับ แต่ถ้าเราดิ้นขัดขืนเมื่อไหร่ใจจะเป็นทุกข์ เร่าร้อน ทันที
ความสุดโต่งในยุคข่าวสารข้อมูล
ความสุดโต่งในยุคข่าวสารข้อมูล
นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๑๑ :: มกราคม ๕๔ ปีที่ ๒๖
คอลัมน์รับอรุณ : ความสุดโต่งในยุคข่าวสารข้อมูล
พระไพศาล วิสาโล
บารัค โอบามา เป็นใคร ? ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ บารัค โอบามา นับถือศาสนาอะไร ? หลายคนย่อมตอบได้ว่า เขานับถือศาสนาคริสต์ แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตอบว่าเขานับถือศาสนาอิสลาม เชื่อหรือไม่ว่าคนกลุ่มหลังนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่แซอีร์หรือรวันดา หากอยู่ในสหรัฐอเมริกานี้เอง
การสำรวจความคิดเห็นเมื่อกลางปีนี้ของสำนักวิจัยแห่งหนึ่งพบว่า ร้อยละ ๑๙ ของชาวอเมริกันเชื่อว่าโอบามาเป็นชาวมุสลิม ไม่กี่เดือนต่อมานิตยสารไทม์พบว่า ชาวอเมริกันที่มีความเชื่อดังกล่าวมีสูงถึงร้อยละ ๒๔ ข้อมูลของบางสำนักระบุว่าในสหรัฐอเมริกามีถึง ๓๐ ล้านคนที่มีความเชื่อเช่นนี้ หลายคนเข้าใจว่าโอบามาเป็นมุสลิมก็ด้วยเหตุผลเพียงเพราะชื่อและนามสกุลของเขา โดยเฉพาะ “ฮุสเซน” ซึ่งเป็นชื่อกลางของเขา อีกไม่น้อยเชื่อเพราะได้ข่าวลือมาว่าในวัยเด็กเขาเคยเข้าโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในอินโดนีเซีย รวมทั้งได้ฟังมาว่าเขาไม่ยอมเอามือแตะหัวใจขณะกล่าวคำปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อประเทศสหรัฐอเมริกา
ความเข้าใจว่าโอบามาเป็นมุสลิมมิใช่เรื่องใหม่ หากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนที่เขาจะได้เป็นประธานาธิบดีเสียอีก ความที่เขาเป็นตัวเก็งในตำแหน่งนี้ จึงมีการปล่อยข่าวลือนานาประการเกี่ยวกับตัวเขาในช่วงหาเสียง รวมทั้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการนับถือศาสนาของเขา การปล่อยข่าวลือดังกล่าวได้ผลไม่น้อย เดือนเมษายน ๒๕๕๑ หรือ ๖ เดือนก่อนวันลงคะแนนเสียง มีชาวอเมริกันร้อยละ ๑๐ ที่เชื่อว่าเขานับถือศาสนาอิสลาม ที่น่าแปลกใจก็คือหลังจากที่เขาได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว ความเข้าใจผิดดังกล่าวแทนที่จะลดลงกลับเพิ่มขึ้นมากกว่า ๒ เท่าดังผลการสำรวจข้างต้นของนิตยสารไทม์
ใช่แต่เพียงเท่านั้นยังมีคนอเมริกันไม่น้อยที่เชื่อว่าโอบามาไม่ได้เกิดในสหรัฐอเมริกา แต่เกิดที่ประเทศเคนยา คนที่เชื่อเช่นนี้มีถึงร้อยละ ๒๐ ของชาวอเมริกันที่บรรลุนิติภาวะ ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะหากเป็นความจริงก็หมายความว่าโอบามาไม่มีสิทธิเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ มีการฟ้องศาลกล่าวหาว่าเขามิใช่เป็นชาวอเมริกันโดยกำเนิด
โอบามาและคณะของเขาปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เขาไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม และไม่เคยเข้าโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม รวมทั้งโต้แย้งข้อกล่าวหาอีกมากมายด้วยการเอาหลักฐานต่าง ๆ มายืนยัน ใช่แต่เท่านั้น แม้แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังยืนยันว่าโอบามาเกิดในฮาวายโดยมีสูติบัตรเป็นหลักฐาน แต่จนแล้วจนรอดคนที่เชื่อข่าวลือก็ไม่ได้ลดลงเลย กลับเพิ่มมากขึ้น
ควรกล่าวด้วยว่าผู้ที่เชื่อข่าวลือดังกล่าวไม่ใช่คนระดับรากหญ้าที่ไร้การศึกษา คนเหล่านี้อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ท่องเน็ต คำถามจึงมีว่าเหตุใดจึงมีคนเชื่อข้อมูลเท็จกันมากมายทั่วประเทศทั้ง ๆ ที่รายล้อมด้วยข่าวสารข้อมูลมหาศาล เหตุใดข่าวลือจึงแพร่ระบาดในประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างยิ่งในด้านสารสนเทศ ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในยุคข่าวสารข้อมูล
คำถามดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเรามีสมมติฐานว่าข่าวลือกับยุคข่าวสารข้อมูลน่าจะเป็นสิ่งตรงข้ามกัน แต่ในความจริงแล้ว สองสิ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้ จะว่าไปแล้ว มันยังเกื้อกูลกันด้วยซ้ำ
พูดอีกอย่างก็คือ เป็นเพราะทุกวันนี้มีข่าวสารข้อมูลท่วมท้น ข่าวลือข่าวเท็จจึงแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะข่าวเท็จที่เหลือเชื่ออย่างยิ่ง
ข่าวลือข่าวเท็จนั้นใคร ๆ ก็หลงเชื่อได้ง่ายหากไม่ไตร่ตรอง แต่จะไตร่ตรองได้อย่างไรในเมื่อข่าวสารข้อมูลไหล่บ่าท่วมท้นตลอดทั้งวัน ดังนั้นจึงยากที่ใครจะรู้ว่าแต่ละวันรับเอาข่าวลือข่าวเท็จไปมากมายเพียงใด ใช่แต่เท่านั้นทุกวันนี้ข้อมูลมีความหลากหลายมาก แม้เทคโนโลยีจะเอื้อให้เราเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีเพื่อคัดกรองข่าวสารข้อมูลมากกว่า เมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อนแป้นรีโมทคอนโทรลช่วยให้เราสามารถคัดกรองรายการโทรทัศน์นับร้อยนับพัน ๆ ออกไป ทำให้เราสามารถเลือกดูรายการที่สนใจได้สะดวกขึ้น ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาอีกมากมายเพื่อคัดกรองข่าวสาร จนเหลือแต่ข่าวสารที่อยู่ในความสนใจของเราหรือถูกใจเรา (เช่น สั้น ง่าย กระชับ) อาทิ ข่าวทางโทรศัพท์มือถือหรืออินเตอร์เน็ต (RSS feed) ที่เราสามารถกำหนดได้ว่าจะเป็นข่าวประเภทไหน ผลก็คือ ยิ่งมีข่าวสารข้อมูลมากเท่าใด ก็ยิ่งมีข่าวสารถูกคัดกรองออกไปมากเท่านั้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ผู้คนมีอำนาจมากขึ้นในการกรองข้อมูลที่ปรากฏแก่ตน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีการเลือกรับข่าวสารข้อมูลที่ตรงกับจริตของตน รวมทั้งความเชื่อ อุดมการณ์ และอคติของตนมากขึ้น ในขณะที่ข่าวสารข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเชื่อ อุดมการณ์ และอคติของตนถูกคัดกรองออกไป ทำให้ผู้คนมีความคิดเห็นโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากขึ้น จนกลายเป็นความสุดโต่งไป
ดูเผิน ๆ ก็น่าแปลกที่ผู้คนมีความคิดที่สุดโต่งมากขึ้นทั้ง ๆ ที่ยุคนี้ข่าวสารข้อมูลมีความหลากหลายอย่างยิ่ง แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ยิ่งมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารข้อมูลมากเท่าไร สื่อที่นำเสนอข้อมูลด้านเดียวหรือความเห็นสุดโต่งก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งเทคโนโลยีก็เอื้อให้สื่อประเภทนี้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เพราะใช้ต้นทุนไม่มาก อาทิ เว็บไซต์ บล็อก หรือรายการวิทยุโทรทัศน์ทางอินเตอร์เน็ต ผลก็คือสื่อประเภทสุดโต่งเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด และเป็นพาหะให้ข่าวลือข่าวเท็จแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เพราะคนที่รับสื่อเหล่านี้ก็พร้อมจะเชื่อข่าวเหล่านี้อยู่แล้วหากสอดคล้องกับความเชื่อ อุดมการณ์ และอคติของตน
ในสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์ที่เติบโตเร็วมากที่สุดประเภทหนึ่งได้แก่ เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาโอนเอียงสนับสนุนอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งอย่างชัดเจน เช่น เสรีนิยม หรืออนุรักษ์นิยม พูดอีกอย่างคือ ถ้าไม่ซ้ายก็ขวาไปเลย เว็บไซต์เหล่านี้ล้วนมีลิงค์เชื่อมโยงไปสู่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาอย่างเดียวกันถ้าเปรียบกับคนก็ล้วนเป็นคนที่คบหาแต่คอเดียวกัน คิดเหมือนกัน สนใจเรื่องเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ยิ่งพึ่งพิงข่าวสารข้อมูลจากเว็บไซต์เหล่านี้มากเท่าไร ก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อ อุดมการณ์และอคติที่มีอยู่เดิมให้ฝังลึกแน่นหนามากเท่านั้น
สื่อที่ตอบสนองความเชื่อและอุดมการณ์ไปคนละทิศละทางนี้เองที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางความคิดอย่างชัดเจนในสังคม บรรยากาศเช่นนี้เอื้อให้คนอเมริกันจำนวนหลายสิบล้านเชื่อข่าวลือและข่าวเท็จเกี่ยวกับโอบามาอย่างฝังหัว ไม่เฉพาะเรื่องศาสนาและถิ่นกำเนิดของเขาเท่านั้น หากยังรวมถึงข่าวลือว่าเขาเป็นสังคมนิยมและฟาสซิสต์ด้วย ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าคนที่เชื่อข่าวลือเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพรรคเดโมแครตของโอบามา (๑ใน ๓ ของสมาชิกพรรครีพับลิกันไม่เชื่อว่าโอบามาเกิดในสหรัฐ อีก ๑ ใน ๓ ตอบว่าไม่แน่ใจ)
ความเชื่อและอคติที่ฝังหัวทำให้คนเหล่านี้ไม่สนใจฟังคำชี้แจงของโอบามาหรือทีมงานของเขา แม้จะเอาหลักฐานมายืนยันว่าเขานับถือศาสนาคริสต์และเกิดที่ฮาวาย (รวมทั้งคลิปวีดีโอที่มีภาพเขาเอามือแตะหัวใจขณะกล่าวคำปฏิญาณจงรักภักดีต่อสหรัฐอเมริกา) คนเหล่านี้ก็ทำหูทวนลม หาไม่ก็สรรหาเหตุผลมาหักล้างได้หมด จนแม้เมื่อรัฐฮาวายนำสูติบัตรของเขามาแสดงในเว็บไซต์ คนเหล่านี้ก็ยังปฏิเสธว่าไม่ใช่ของจริง มีพิรุธตรงนั้นตรงนี้ หรือแม้หาข้อผิดพลาดไม่เจอ ก็ยังอ้างว่าปลอมได้เนียนมาก
กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่ายุคข่าวสารข้อมูลไม่ได้เป็นหลักประกันว่าผู้คนจะมีข้อมูลที่หลากหลายรอบด้าน สามารถรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของข่าวลือข่าวเท็จ ในทางตรงข้ามมันกลับเอื้อให้ผู้คนมีความคิดที่คับแคบหรือมีความเห็นสุดโต่ง จนหลงเชื่อข่าวลือข่าวเท็จง่ายขึ้นด้วยซ้ำ ควรกล่าวด้วยว่าการติดต่อสื่อสารที่สะดวกฉับไวก็มีส่วนทำให้ผู้คนมีความคิดสุดโต่งมากขึ้นด้วย มักพูดกันว่าอินเตอร์เน็ตช่วยย่อโลกให้เล็กลง ในด้านหนึ่งมันช่วยให้เข้าถึงคนที่อยู่ไกลได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งมันทำให้ผู้คนคบค้าสมาคมกับคนคอเดียวกันได้สะดวกขึ้น ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน แค่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ก็สามารถแลกเปลี่ยนความเห็น ระบายอารมณ์ สาดใส่ความเกลียด หรือปล่อยข่าวลือไปได้แล้ว ซึ่งก็ยิ่งหนุนเสริมตอกย้ำความเชื่อและอคติให้แก่กันและกัน
สภาพเช่นนี้ไม่ได้เกิดที่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากยังเห็นได้ชัดในเมืองไทย ข่าวสารข้อมูลที่หลากหลายไม่ได้ช่วยให้ผู้คนมีความเห็นรอบด้านและใจกว้างมากขึ้นเลย กลับคับแคบและมีความคิดสุดโต่ง ทำให้แบ่งขั้วเป็นข้างกันชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ละขั้วต่างมีสื่อที่ตอบสนองความเชื่อและหนุนเสริมอคติให้ฝังแน่นขึ้น ทุกฝ่ายต่างดูโทรทัศน์หรือเว็บไซต์ของพวกตน และปิดหูปิตาไม่รับรู้ข้อมูลจากอีกฝ่าย จึงยิ่งมองเห็นอีกฝ่ายหรือคนที่คิดต่างจากตน เป็นพวกเลวร้าย ไม่ต่างจากปีศาจหรือยักษ์มาร (เพียงแต่ติดฉลากต่างชื่อเท่านั้น) ข้อเท็จจริงใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อของตน ก็ปฏิเสธไว้ก่อน หาไม่ก็สรรหาเหตุผลต่าง ๆ มาหักล้าง แม้จะเป็นการเอาสีข้างเข้าถูก็ตาม จะว่าไปแล้วเมื่อมีความเชื่อหรืออุดมการณ์ที่ฝังแน่น ซ้ำยังมีความโกรธเกลียดหนุนเนื่องด้วยแล้ว
ยากที่ใครจะสนใจความจริงหรือข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง ๆ หากสนใจรับรู้แต่สิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเท่านั้น
อคตินั้นไม่ได้เกิดจากไหน แรกเริ่มเดิมทีก็เกิดจากการปรุงแต่งของเรา แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันก็สามารถปรุงแต่งทั้งความคิดและการรับรู้ของเราให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับมัน ถ้ามีอคติว่าใครเลว ก็คิดถึงเขาแต่ในแง่เลวร้าย หรือเห็นทุกอย่างที่เขาทำเป็นเลวไปหมด ทำให้มีอคติรุนแรงมากขึ้น จนรู้สึกโกรธทันทีที่เห็นหรือนึกถึง และเมื่อโกรธใครแล้ว ก็ยิ่งอยากคบค้าสมาคมกับคนที่โกรธ “ผู้ร้าย”คนเดียวกัน (จะโดยทางโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตก็แล้วแต่) รวมทั้งอยากให้ผู้ที่สนิทชิดเชื้อกับเราโกรธเจ้าหมอนั่นด้วย แต่หากเขาไม่โกรธ เราก็จะไม่พอใจเขา หาไม่ก็จะต้องโกรธเจ้าหมอนั่นให้หนักขึ้น ต้องด่าว่ามันให้รุนแรงกว่าเดิม เพื่อคนใกล้ชิดของเราจะได้โกรธมันเสียที แต่ถ้าเขายังไม่โกรธหรือไม่เห็นว่าเขาเป็นตัวเลวร้าย ทีนี้เราก็จะระบายความโกรธใส่เขาแทน ผลก็คือทะเลาะวิวาทกัน
ในบรรยากาศอย่างนี้แหละที่ผู้คนจะชื่นชอบใครก็ตามที่เล่นงานฝ่ายตรงข้ามอย่างสาดเสียเทเสีย ยิ่งพูดแรง ๆ ใส่อารมณ์มาก ๆ ก็ยิ่งยกนิ้วให้ ด้วยเหตุนี้ใครที่ต้องการได้รับคะแนนนิยมจากพวกเดียวกันยิ่งต้องแสดงความกราดเกรี้ยวและสุดโต่งให้มากกว่าคนอื่น โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่ตนพูดจะเป็นเท็จหรือไม่ ขอให้ถูกใจคนฟังเป็นพอ จึงไม่น่าแปลกใจที่นักการเมืองเหล่านี้ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และนี้คือเหตุผลว่าทำไมซาราห์ เพลินจึงได้รับคำนิยมอย่างสูงจากชาวอเมริกันฝ่ายขวา ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เธอพูดนั้นเต็มไปด้วยความเท็จหาไม่ก็ขาดหลักฐานและข้อมูล ส่วนในเมืองไทยก็เห็นได้ไม่ยากว่าใครที่พูดแรง หรือโจมตีอีกฝ่ายด้วยถ้อยคำหยาบคายก็ได้รับยกย่องสรรเสริญเช่นกัน
คนเราจะมีความคิดความเชื่ออะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าคิดและเชื่ออย่างไร แม้จะสมาทานความคิดความเชื่อที่สูงส่งหรือวิเศษเพียงใด แต่หากสมาทานอย่างสุดโต่งหรือยึดติดถือมั่นอย่างหัวปักหัวปำแล้ว ก็ย่อมกลายเป็นโทษยิ่งกว่าเป็นคุณ เพราะย่อมเปิดรับความเท็จและตกเป็นทาสของความโกรธเกลียดได้ง่าย ทำให้มองเห็นคนที่คิดต่างจากตนเป็นศัตรู และพร้อมจะทำร้ายเขาทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ ในทางตรงข้ามแม้จะมีความเชื่อที่คร่ำครึ ไม่ทันยุคทันสมัย แต่สมาทาน
ด้วยใจที่เปิดกว้าง ไม่ลืมหูลืมตา เคารพคนที่คิดต่างจากตน ย่อมมีโอกาสที่จะเข้าถึงความจริงและหยิบยื่นไมตรีให้แก่ผู้คน ทำให้เกิดการร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์กับส่วนรวมได้ ในยุคที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย นี้มิใช่หรือท่าทีที่เราควรมีต่อกัน
ความหลากหลายไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การแบ่งขั้วแบ่งข้างและตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน มีประโยชน์อะไรหากเรายึดติดถือมั่นกับความคิด เชิดชูอุดมการณ์อันสูงส่ง แต่กลับทำร้ายเพื่อนมนุษย์ แม้ไม่ถึงกับเลือดตกยางออก แต่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขาด้วยการหยามเหยียดหรือใส่ร้ายป้ายสีเพียงเพื่อสังเวยความเชื่อของตนเท่านั้น
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)