ทิศ ๖
คหบดีบุตร ! อริยสาวก เป็นผู้ปิดกั้นทิศทั้งหกโดยเฉพาะแล้ว เป็นอย่างไรเล่า?
คหบดีบุตร ! พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือ
พึงทราบว่า มารดาบิดา เป็น ทิศเบื้องหน้า, พึงทราบว่า อาจารย์ เป็น ทิศเบื้องขวา
พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็น ทิศเบื้องหลัง, พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็น ทิศเบื้องซ้าย
พึงทราบว่า ทาษกรรมกร เป็น ทิศเบื้องต่ำ, พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็น ทิศเบื้องบน
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ ดังนี้ว่า
ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน ๑ เราจักทำกิจของท่าน ๑ เราจักดำรงวงศ์สกุล ๑
เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท ๑ เมื่อท่านกาละล่วงลับไปแล้ว เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน ๑.
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ ห้ามเสียจากบาป ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑
ให้ศึกษาศิลปะ ๑ ให้มีคู่ครองที่สมควร ๑ มอบมรดกให้ตามเวลา ๑.
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ ด้วยการลุกขึ้นยื่นรับ ๑
ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๑ ด้วยการเชื่อฟังอย่างดี ๑ ด้วยการปรนนิบัติ ๑ ด้วยการศึกษาวิทยาโดยเคารพ
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์พึงปฏิบัติตอ่โดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ แนะนำดี ๑ ให้ศึกษาดี ๑ บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง ๑
ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย ๑ ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง ๑.
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ ด้วยการยกย่อง ๑ ด้วยการไม่ดูหมิ่น ๑
ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ ๑ ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้ ๑ ด้วยการให้เครื่องประดับ ๑.
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ จัดแจงการงานดี ๑ สงเคราะห์คนข้างเคียงดี ๑
ไม่ประพฤตินอกใจ ๑ ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่ ๑ ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง ๑.
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐาน ๕ ประการ คือ ด้วยการให้ปัน ๑ ด้วยการพูดจาไพเราะ ๑
ด้วยการประพฤติประโยชน์ ๑ ด้วยการวางตนเสมอกัน ๑ ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกหักกัน ๑.
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์มิตรสหายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว ๑
เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย ๑ ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย ๑ นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร ๑.
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ ด้วยให้ทำงานตามกำลัง ๑ ด้วยการให้อาหารและรางวัล
๑ ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ ๑ ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้ ๑ ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย ๑.
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรกร อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย ๑ เลิกงานทีหลังนาย ๑ ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๑ กระทำการงานให้ดีที่สุด ๑ นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ ๑.
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ ด้วยเมตตากายกรรม ๑
ด้วยเมตตาวจีกรรม ๑ ด้วยเมตตาตามโนกรรม ๑ ด้วยการไม่ปิดประตู(คือยินดีต้อนรับ) ๑ ด้วยการคอยถวายอามิสทาน ๑.
คหบดีบุตร! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการ คือ ห้ามเสียจากบาป ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ อนุเคราะห์ด้วยใจอันงาม ๑
ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑.
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น
มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า | มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า |
บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง | มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย |
ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ | สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน |
คฤหัสถ์ผู้สามารถในการครองเรือน | พึงนอบน้อมทิศทั้งหลายเหล่านี้. |
บัณทิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล | มีวาจาละเอียดอ่อน มีปฎิภาณ |
มีความประพฤติถ่อมตัว ไม่กระด้าง | เช่นนี้แล้ว ย่อมได้รับการบูชา. |
ผู้ขยันลุกขึ้น ไม่เกียจคร้าน | ไม่หวั่นไหวในอันตรายใดๆ |
ประพฤติตนไม่มีช่องโหว่ มีปัญญา | เช่นนี้แล้ว ย่อมได้รับการบูชา. |
ผู้ชอบสงเคราะห์ สร้างสรรค์มิตรภาพ | รู้ความหมายแห่งถ้อยคำ ไม่ตระหนี่ |
เป็นผู้นำ-นำวิเศษ-นำไม่ขาดสาย | เช่นนี้แล้ว ย่อมได้รับการบูชา. |
การให้ทาน, การพูดจาไพเราะ, กระประพฤติประโยชน์ใดๆเมื่อควรประพฤติ,ความวางตนเสมอกันในกิจกรรมทั้งหลาย ตามสมควรในกรณีนั้นๆ, สี่อย่างนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวโลก ดุจหมุดสลักยึดโยงรถที่กำลังแล่นอยู่.
ถ้าไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้แล้ว มารดาก็จะไม่ได้รับอะไรจากบุตร บิดาก็จะไม่ได้รับอะไรจากบุตร จะเป็นการนับถือ หรือการบูชาก็ตาม. เพราะเหตุที่เครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้ เป็นสิ่งที่บัณฑิตมุ่งกระทำ ดังนั้น เขาถึงซึ่งคุณอันใหญ่ มีความสรรเสริญทั้งหลายเกิดขึ้นแก่เขา.
ฆราวาสธรรม
ชีวิตอันสมบูรณ์ของชาวพุทธ คือชีวิตแห่งการสร้างประโยชน์ เมื่อสร้างประโยชน์ตนแล้ว ต้องสร้างประโยชน์ผู้อื่นต่อ หลังจากหลวงพ่อได้ตั้งหลักแหล่งที่วัดหนองป่าพงแล้ว ท่านก็เริ่มสานต่องานบำเพ็ญ ประโยชน์ในหลายๆ ด้านอย่างเป็นล่ำเป็นสัน นอกจากการฝึกอบรมพระภิกษุสามเณรแล้ว ท่านก็ตั้งอกตั้งใจสั่งสอนชาวบ้านตรงกับหลักใน สิงคาโลวาทสูตร คือ:
๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
๖. บอกทางสวรรค์ คือทางชีวิตที่มีความสุขความเจริญให้
ในการสอนชาวบ้านนั้น หลวงพ่อก็ใช้แนวทางของอริยสัจสี่ เช่นเดียวกันกับในการสอนพระสงฆ์ เพียงแต่เน้นย้ำในสิ่งที่เกี่ยวข้อง กับความเป็นอยู่ของฆราวาส เมื่อหลวงพ่อมาอยู่วัดหนองป่าพงใหม่ ๆ ชาวบ้านยังมีความยึดถือผิดๆ หลายอย่าง แม้ศีลห้าก็ยังไม่รู้จัก ในสมัยบุกเบิกวัด การสอนของหลวงพ่อจึงมุ่งที่การกำจัดมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นชอบให้เกิดขึ้น และให้เข้าใจความหมายของไตรสรณคมน์และยึดเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ให้เลิกละอบายมุข ประกอบสัมมาชีพและตั้งอยู่ในศีลธรรม ชักชวนมาจำศีลทุกวันพระ เพื่อฟังเทศน์ นั่งสมาธิ เดินจงกรมและปฎิบัติต่อสิ่งรอบตัวอย่างถูกต้อง จนเป็นที่พึ่งของตนได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น