เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หลงสังขารเป็นทุกข์







หลงสังขารเป็นทุกข์

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ

...วันนี้เป็นวันธรรมะสวนะ เป็นกาลเป็นเวลาที่พุทธบริษัททั้งหลายได้พากันมาอบรมจิตใจ ก่อนอื่นเมื่อเราตั้งใจที่จะกระทำการงานทุกสิ่งทุกอย่าง ครูบาอาจารย์ของเราท่านก็สอนให้เราพากันตั้งใจ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องมาจากจิตใจของเรา พระพุทธศาสนาที่ท่านสอนก็เกี่ยวถึงเรื่องจิตใจ เรานั้นก็ระลึกรู้ได้อยู่ทุกๆคนว่า ในสกลกายของเราทั้งหมดนี้ เฉพาะส่วนตัวของแต่ละบุคคลนั้นมีอะไรเป็นใหญ่ เราจะสังเกตได้ว่าร่างกายของเรานั้น ถ้าปราศจากวิญญาณแล้ว มันก็หมดประโยชน์...ไม่มีค่าอะไร นอนหมดลมหายใจ...ไม่ลืมตา เคลื่อนไหวไปมาก็ไม่ได้ ใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้ อันนี้แสดงว่าจิตใจนั้นเป็นของสำคัญ บุคคลที่จะมีความรู้สึกนึกคิด...มีความรู้ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็เนื่องมาจากจิตใจ บุคคลจะกระทำความดีกระทำความชั่วได้ทั้งหมดนั้น ก็เป็นเรื่องของจิตใจ

ฉะนั้นจะเห็นได้ง่ายๆว่า การสร้างคุณงามความดี การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ต้องเกี่ยวเนื่องแก่จิตใจ ดังนั้นจึงต้องพากันอบรมจิตใจ อย่างวันนี้เราได้สมาทานข้อวัตรเป็นต้น ธรรมดาทุกๆวันนั้น เราก็จะได้พากันกระทำอะไรๆต่างๆได้ตามอำเภอใจของตัวเอง เราจะได้กินข้าวเย็น เราจะได้ทาแป้งแต่งตัว เราจะได้นอนบนเตียงที่มีฟูกมีฟองน้ำรองนอนอันอ่อนนุ่มสบาย ตามความปรารถนาของเรา บางคนก็อาจจะเข้าใจว่า ที่ท่านให้รักษาศีลนั้น...ทำไม?...กินข้าวเฉยๆก็จะต้องบาปด้วย ทาแป้งแต่งตัวธรรมดาก็จะบาปด้วยหรือ? นอนที่นอนสูงที่นอนใหญ่ก็จะบาปด้วยหรือ? ความเป็นจริงนั้นการสมาทานศีลงดเว้นสิ่งเหล่านี้ ก็เพื่อให้มันเป็นเครื่องอุปกรณ์สำหรับช่วยทำจิตใจให้สงบคือ

หนึ่ง เรามาทำเพียร ถ้าเรามาปฏิบัติภาวนาแล้ว เรามัวแต่ไปยุ่งอยู่กับเรื่องอาหารการกินวันละ ๒-๓ ครั้ง มันก็วุ่นวาย ใจไม่สงบระงับ เป็นปธิโพธกังวลมาก ท่านจึงตัดออกเสียข้อหนึ่งคือไม่ให้กินข้าวเย็น ให้กินครั้งเดียวเท่านั้น...ก็หยุด ภาระมันก็น้อยลง.ถ้าภาระน้อยลงจิตใจของเรามันก็น้อยลง...ไม่คิดกว้างขวางจิตของเราถ้ามาฝึกหัดเพื่อให้เกิดความเคยชินก็จะดีอยู่นะ....อย่างวันพระวันนี้ ทุกๆวันนั้นญาติโยมที่อยู่บ้าน พอถึงเวลาเย็นก็ต้องกินข้าวเย็น เมื่อถึงเวลาก็คงจะต้องอยากกินข้าว แต่ถ้ามารักษาศีลในวันนี้ แล้วกำหนดว่าวันนี้จะไม่กินอะไร..หยุด หยุดอยาก หยุดหิว ถึงใครจะเอามากินอยู่ตรงหน้า ก็ไม่อยากไม่หิว นี่...ถ้าอยู่บ้านเป็นไม่ได้เลย อันนี้ถ้ามาพิจารณาดูก็จะเห็นว่า ที่มันเป็นอย่างนี้เพราะมันเกี่ยวกับอะไร? เราจะพากันสังเกตเห็นได้ วันนี้ให้เราพากันตั้งใจ ตั้งใจว่าเราจะละมันออกว่าจะวางมันเสียแล้ว ไม่ไปยึดมั่นหมายในสิ่งเหล่านี้ ความอยากก็ไม่มี เพราะตั้งใจไว้แล้วตั้งแต่เมื่อเช้านี้ ตอนเย็นมาก็คงจะไม่มารบกวนอีกหรอก ไม่มีความหิวกระหายตามมารบกวนอีก

ทีนี้ถ้าหากว่าเรากลับไปบ้าน เราก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะบังคับตัวเอง ก็กินกันตั้งแต่เช้าไปเรื่อยๆ แล้วแต่ความต้องการ กินกันตลอดกาลตลอดเวลา เพราะไม่ได้ตั้งข้อวัตรอะไร พอแม่บ้านตำแจ่ว (น้ำพริกอิสาน) ป๊อก ๆ ๆ ๆ เสียงลูกเรียกว่า "มาเถอะพ่อ...มากินข้าว" ก็รีบไป...ไม่หิวก็กิน อันนี้ก็เลยทำให้เป็นปลิโพธกังวลหลายๆอย่าง แต่เรามาทำกิจอันนี้ให้น้อยลง ถ้ากิจทางนอกมันน้อยลง ใจของเราก็ไม่พัวพันผูกกังวลมาก...มันก็สบาย อันนี้เป็นข้อวัตรข้อหนึ่งที่ท่านบัญญัติไว้ไม่ให้กินข้าวมื้อเย็น เพื่อให้มันเบาจิตใจไม่มีความกังวล เวลานั่งสมาธิภาวนาให้มันมีความสงบระงับ

สอง ท่านไม่ให้แต่งเนื้อแต่งตัว ทาแป้งประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ด้วยของหอมเครื่องย้อมเครื่องทาต่างๆ อันนี้เป็นเพราะอะไร? ธรรมดาจิตของเราถ้าไปสัมผัสถูกกลิ่นหอมอะไรเข้า ก็คิดปรุงแต่งไปหลายๆอย่างหลายประการ เป็นกามคุณ รูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วทำให้จิตใจวิตกกังวลไปต่างๆนานา เหมือนกับเราได้กลิ่นของสบู่หอม...น้ำหอมเหล่านี้เป็นต้น ก็ปรุงแต่งขึ้นมา เพราะความหอมนั้นมากระทบ เกิดวิตกวิจารณ์ไปหลายๆอย่าง ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ หาความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงดังนั้นท่านจึงบัญญัติไม่ให้ทาแป้ง ไม่ให้แต่งตัวผิดปกติ ให้นุ่งห่มธรรมดาๆ อันนี้ทำให้ไม่มีปลิโพธกังวล มีแต่ความสบายๆ

สาม ท่านไม่ให้นั่งนอนที่นอนสูงที่นอนใหญ่ นอนฟูกนอกเบาะอันอ่อนนุ่ม เป็นเพราะอะไร?...มันยิ่งจะไม่ภาวนาดีหรือ นอนที่นอนอ่อนๆนุ่มๆ...ห้ามทำไม? คนเราถ้าได้นอนเบาะนอนฟูกอ่อนๆนั้น ใจจะวิตกกังวลปรุงแต่งไปมากมายหลายๆอย่าง เพราะร่างกายของเรามันกระทบวัตถุอันอ่อนนุ่ม ก็จะเกิดความดำริขึ้นในใจ ซึ่งเป็นราคะ โทสะ โมหะ มันก็ปรุงแต่งไปเป็นเหตุให้ใจของเราวุ่นวายในกามสุข นั่น...จะทำสมาธิก็ไม่สงบได้ง่าย ไม่เป็นของง่าย

อันนี้เป็นวัตร ๓ ข้อ ที่บัญญัติไว้ก็ไม่ใช่เพื่ออะไรหรอก เพื่อทำไม่ให้จิตใจของเราไปกังวลอยู่กับสิ่งต่างๆเหล่านี้ เมื่อเราประกอบกิจปฏิบัติภาวนา ถ้านำเอามารวมกับอันเก่า (ศีล ๕) ก็รวมเป็นศีลแปด ให้พากันเข้าอยู่รักษาอุโบสถศีล เพราะวันนี้เป็นวันประพฤติปฏิบัติ

ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงทรงวางข้อวัตรไว้ให้พวกเราทั้งหลายว่า เมื่อถึงวันพระหรือวันอุโบสถศีล ก็ให้พากันมาอบรมบ่มนิสัย หนุ่มๆสาวๆก็มาได้ ถึงมาแล้วอยู่จำศีลไม่ได้ ก็ให้ฟังธรรมะแล้วก็กลับบ้าน วันนี้ถ้าเราได้ฟังธรรมะแล้วใจของเราก็สบาย เมื่อมีราคะ โทสะ โมหะเกิดขึ้นมา เราก็รู้เท่าทันได้จึงต้องมาฝึกหัดจิตของเราให้มีความชำนาญ อันนี้เป็นผลประโยชน์ที่เกิดจากการมาประพฤติปฏิบัติในวันธรรมสวนะนี้ แต่ว่าก็ให้ญาติโยมทั้งหลายพากันประพฤติปฏิบัติจริงๆ อย่าสักแต่ว่ามาเปล่าๆ มาเล่นที่วัดเฉยๆเท่านั้น ให้พากันพิจารณาเอาไปประพฤติปฏิบัติด้วย

อย่างที่เราสมาทานศีลข้อที่ ๑ เป็นเพราะอะไร? ท่านจึงบอกไม่ให้เบียดเบียนกัน...ดีไหม?

ข้อที่ ๒ คนเราไม่ให้ข้ามสิทธิ์กัน.ไม่ให้ขโมยของกันและกัน

ข้อที่ ๓ ไม่ให้นอกใจกัน

ข้อที่ ๔ ไม่ให้โกหกเหลวไหล

ข้อที่ ๕ ไม่ให้กระทำความย้อมจิตของเราให้มัวเมา

แต่ละข้อๆนี้ เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกันทั้งหมด ถ้าหากว่าบุคคลทั้งหลายไม่พากันอบรมจิตใจ ใจของเราก็ไม่ตื่นไม่รู้ ใจของเราก็ไม่เห็น ไม่รู้จักอุปการะคุณของครูบาอาจารย์ ของพ่อแม่อย่างเราเป็นลูกอย่างนี้ โดยมากเราไม่ค่อยเอาใจใส่ ไม่ค่อยนึกถึงพระคุณของพ่อพระคุณของแม่ เป็นเพราะอะไร? เพราะไม่รู้จักความเป็นจริงเรื่องของพ่อแม่นี้ ท่านตรัสไว้ว่า "มาตาปิตุ อุปัฏ-ฐานัง ปฏิบัติบิดามารดาของตนให้เป็นสุข" การปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุขนั้นทำอย่างไร? เป็นเพราะอะไรจึงต้องปฏิบัติให้ท่านมีความสุข? เราก็ควรรู้จักว่าพ่อแม่ที่ท่านเลี้ยงเรามานั้นท่านมีบุญคุณต่อเรามากเท่าไร? อันนี้ให้เรานำมาพิจารณาดู ตั้งแต่แรกที่เราเกิดขึ้นมา เราจะต้องปฏิสนธิอยู่ในครรภ์ของมารดาอยู่หลายเดือน มารดาก็ต้องอุ้มท้องไปๆมาๆอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของแม่นั้นตั้งแต่รู้ว่าลูกได้อุบัติบังเกิดขึ้นในครรภ์ ก็ไม่รู้ว่าชีวิตของตัวเองจะดำรงอยู่หรือจะต้องตาย ต้องทุกข์ยากลำบาก ต้องประคับประคองทะนุถนอม และก็ไม่ใช่ว่าจะต้องประคับประคองแต่เฉพาะอยู่ในครรภ์เท่านั้น เมื่อออกมาแล้วตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ก็ยังตามประคับประคองปกป้องรักษาอยู่ ฉะนั้นบุคคลที่ไม่รู้จักบุญคุณไม่รู้จักกตัญญูกตเวที ซึ่งคิดแล้วก็เหมือนสัตว์เดรัจฉาน พระ-พุทธเจ้าท่านตรัสว่า เหมือนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย เราจะสังเกตดูได้ว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นมานั้นมันไม่รู้จักพ่อไม่รู้จักแม่ และมนุษย์เราทั้งหลายท่านก็ไม่ให้เป็นไปอย่างนั้น

คำว่า "มนุษย์" นั้นสูงมาก สูงกว่าสัตว์ทั้งหลาย หรือจะเรียกว่าเป็นชาติที่สูงที่สุดก็ว่าได้ จะไปต่อไปอีกไม่มี มีแต่จะต้องหวนกลับมาบังเกิดเป็นมนุษย์นี้อีก (โลกมนุษย์เป็นแหล่งสถานที่สำหรับสร้างบารมีให้บรรลุถึงมรรคผล พ้นวัฏฏสงสารสู่แดนแห่งนิพพานได้) พระพุทธเจ้าท่านก็มาสร้างบารมีในชาติมนุษย์นี้ พระ-สาวกทุกๆองค์ก็ต้องมาสร้างบารมีที่นี่ หรือจะเป็นพระอรหันต์เจ้าทุกๆองค์ ที่ท่านทั้งหลายสิ้นอาสวะกิเลสแล้ว ก็จะต้องมาบังเกิดเป็นมนุษย์เสียก่อน จะไปจุติเป็นอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เป็นสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย...ไปไม่เป็น (ไปได้ไม่สิ้นสุด สร้างบารมีเพื่อถึงมรรคผลนิพพานไม่ได้)

ฉะนั้นมนุษย์เราทั้งหลายจึงควรมาฝึก พระบรมศาสดาท่านจึงฝึก...ฝึกบุคคลที่ควรจะฝึกได้ เราก็เป็นบุคคลที่ควรฝึกตัวเองเหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นว่า พวกเราทั้งหลายเป็นบุคคลที่ควรฝึก เราก็มาพิจารณาดูอีกว่า...ทำไมจึงควรฝึกตัวเอง?โอ!...มันก็ควรนั่นแหละ ถ้าตัวไม่ได้ฝึกตัวของตัวเอง ใครจะมาฝึกให้เรา เท้าของเรามันพาเดินเข้าป่า ถ้าเราไม่ดูหนามให้ตัวเอง ใครจะมาดูแลให้เรา อันตรายทั้งหลายจะเกิดมีแก่เรา ถ้าเราไม่ระวังรักษา ใครจะมาระวังรักษาให้เรา ฉะนั้นจึงควรฝึกตัวเอง...ควรฝึกระวังรักษาตนเอง ควรให้เข้าใจในธรรมะทั้งหลาย เมื่อเข้าใจในธรรมะทั้งหลายแล้ว เราทั้งหลายก็พากันอยู่เย็นเป็นสุข มีความสงบระงับ อยู่ตามธรรมชาติของเรา ไม่มีการอิจฉาหรือพยาบาทกัน

ธรรมะทั้งหลายคืออะไร? ที่เรียกว่าฟังธรรมหรือธรรมะคืออะไร? "ธรรม" คือธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่มันเป็นรูปหรือไม่มีรูปอยู่ในสกลโลกอันนี้ ตลอดจนถึงต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ สัตว์เดรัจฉานหรือมนุษย์ทั้งหลายเหล่านี้ รวมกันเป็นธรรมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจึงให้พิจารณาธรรม เป็นเพราะอะไร...จึงให้พิจารณาธรรม? เพราะถ้าคนไม่รู้จักธรรมะแล้วจะเป็นทุกข์ ถ้ารู้จักธรรม รู้จักพิจารณาธรรม ว่าธรรมทั้งหลายเหล่านี้...ธรรมชาติเหล่านี้ มันจะมีกฎความจริงของมันอยู่ กฎธรรมชาติที่มนุษย์เราทั้งหลายหรือสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ แก้กฎของธรรมชาติอันนี้ไม่ได้ กฎของดินน้ำ ของไฟ ของลม ของดินฟ้าอากาศ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ กฎของมันคืออะไร? กฎของมันคือ...เบื้องต้นของการบังเกิดขึ้นมา อันนี้คือกฎของธรรมชาติหรือกฎของธรรมะ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการบังเกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น เรียกว่ากฎของมันตามเหตุตามปัจจัยเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็จะค่อยๆแปรเปลี่ยนไป ไหลไป...ไหลไปจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ไหลไปๆ...ไหลไปเรื่อยๆ...เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีความแปรเปลี่ยนไปตามกาล เปลี่ยนไปๆอายุก็ไหลไปๆไหลจากเด็กไปหาหนุ่ม...ไหลจากหนุ่มไปหาความแก่เฒ่าชรา และความตาย อันนี้แหละความแปรเปลี่ยนของมันมีอยู่ ความแปรเปลี่ยนของธรรมชาติ ไม่มีความยั่งยืนถาวร ถ้าหากว่าเรายังไม่เห็น...ก็หวนกลับมาดูสิ่งที่อยู่ใกล้ๆตัวเราก็ได้ มองออกไปดูต้นไม้...มองดูแผ่นดินนั่น...ดูซิ!...มันเปลี่ยนแปรไหม? หรือมันยังเหมือนเดิม...คงสภาพเดิมอยู่ เห็นไหม...ว่ามันก็แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ทีนี้ก็มองย้อนกลับมาดูตัวของเราเอง ว่ามันจะทรงสภาพเหมือนเดิม...เหมือนแต่ก่อนเก่าไปไม่ได้ ตลอดแม้แต่สกลร่างกายของเราอันนี้ มันก็ยังแปรเปลี่ยนไปสภาพธรรมชาติของมัน ขน, ผม, เล็บ, ฟัน, หนัง มันจะไม่คงอยู่เหมือนเดิม อันนี้คือกฎของมันที่จะต้องแปรเปลี่ยนไป ตลอดมาถึงฟัน, หู, ตา แข้งขา อวัยวะของเราทั้งหลาย มันก็แปรไปๆ ความแปรเปลี่ยนไปนี้เรียกว่า กฎของธรรมชาติหรือกฎของธรรมดา...กฎของธรรมะหรือกฎของธรรม ใครๆก็จะมาห้ามมันไม่ได้...ห้ามมันไม่ฟัง จะไปอยู่ที่ไหนๆก็ตาม ถึงจะหนีไปอยู่ในมหาสมุทรก็ช่างเถอะ...มันก็จะต้องแปรเปลี่ยนไป หรือจะหนีไปซ่อนอยู่ในกลีบเมฆก็ตามมันจะต้องแปรเปลี่ยนไปอย่างนี้ จะมีแต่ความแปรไปเปลี่ยนไปๆไม่หยุดยั้ง มีแต่มันจะไหลไปๆตามกาลตามเวลา อันนี้เรียกว่ากฎของธรรมะ

เราไม่รู้จักว่าธรรมะคืออะไร? ธรรมะคือสัตว์...คือมนุษย์นี่คือสัตว์เดรัจฉาน คือต้นไม้คือแผ่นดินนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างนี้เราเรียกว่า "ธรรมะ" และกฎของธรรมะก็คือกฎของธรรมชาติอันนี้ มันก็แปรไปตามเรื่องของมัน...แปรไปๆ ๆ...

ตัวอย่างที่มันปรากฏชัดให้เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ดูที่ตัวของเราเองนี่แหละ แต่ก่อนเราไม่ได้มีสภาพอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้...มันแปรเปลี่ยนมาเป็นอย่างนี้ นั่นแหละธรรมะ มันมีการบังเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้นแล้วมันก็มีการแปรไปๆ...แปรไปในท่ามกลางและแปรไปในที่สุด ผลที่สุดของมันนั้นก็ไม่มีอะไร มีแต่ความเสื่อมสลายแตกดับทำลายไป ท่านจึงบอกว่า อันนั้นมันไม่ใช่ของของเรา...ไม่ใช่เรา...ไม่ใช่เขา...ไม่ใช่สัตว์...ไม่ใช่บุคคล...ไม่ใช่ตัวตน ให้พิจารณาเอาไว้ อันนี้เราจะไปยึดเอาไม่ได้ เราบอกมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ฟัง อันนี้คือกฎของธรรมดา คือกฎของธรรมะ คือ อนิจจังทุกขัง อนัตตา ถ้ามันแปรไปแล้วจะเอาอะไรมาห้ามมันก็ไม่ได้ จะเอาทรัพย์สมบัติมาห้ามมันก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นสังขาร...ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปรไปอย่างนี้ ทีนี้ถ้าคนไม่รู้จักกฎของธรรมะ เมื่อมาเห็นแล้วก็เกิดความเสียใจ มาเห็นความเปลี่ยนแปรไปอย่างนี้แล้ว...ก็ร้องไห้เสียใจ อันนี้คือคนไม่ได้เรียนธรรมะ ไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักธรรมะว่าธรรมะนั้นอยู่ที่ไหน? ว่าการปฏิบัติธรรมะคือการปฏิบัติอย่างไร?...ไม่รู้จัก...ไม่รู้จักธรรมะก็ไม่รู้จักการปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรมะก็คือการมาทำความรู้จักกฎของธรรมชาติกฎของธรรมชาติตามความเป็นจริงนี้แหละ...ว่ามันเป็นอย่างนี้เหมือนกับกล้วย, มะพร้าว, หมาก ผลไม้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็แก่ไปๆเป็นของธรรมดา แล้วผลที่สุดมันก็ร่วงหล่นลงมาเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆไป ฉะนั้นจึงว่าต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ มันก็แปรเปลี่ยนไปอยู่อย่างนั้น ต้นไม้นั้นถึงฤดูกาลเวียนมาใบของมันก็ร่วงหล่นไป แล้วมันก็แตกผลิกิ่งใบขึ้นมาใหม่ มนุษย์...สัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ที่เป็นรูปธรรมอันนี้ ฉะนั้นจึงเป็นของไม่แน่นอนจริงๆไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า "ธรรม" แล้วเราปฏิบัติธรรมะปฏิบัติอย่างไร? คือมาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน ว่าอาการที่มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องแปรเปลี่ยนไปนี้ เราห้ามมันไม่ได้...บอกมันก็ไม่เชื่อฟัง จะเอาอำนาจอะไรมาปราบมันก็ไม่ได้ จะหายาอะไรมากินให้มันหายจากการแปรเปลี่ยน...ไม่ให้ตายไม่ได้...นี่...เป็นกฎธรรมชาติที่ตายตัว นี่...คือความจริง เรามาพิจารณาหาความจริงอันนี้ เรียกว่า "สัจจธรรม" ถ้าเราเห็นสัจจธรรมแล้วเราก็หมดทุกข์ เพราะเห็นแล้วว่ามันจะต้องแปรไปอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้มันจะต้องเป็นไปอย่างนี้ เราก็มาเห็นตามความเป็นจริง ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น อันนี้เรียกว่า...ธรรมะ...เรียกว่าการปฏิบัติธรรมะ เห็นตามความเป็นจริงอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา การยืน การเดิน การนั่ง การนอน เห็นอยู่-รู้อยู่...เป็นอยู่ มองเห็นรูปภายนอกนั้นว่ามันกำลังแปรไป จากเด็กไปเป็นหนุ่ม-สาว จากหนุ่ม-สาวแปรไปสู่ความแก่ชรา ผลที่สุด...ก็แปรไปสู่ความตาย...เป็นธรรมดา นี่แสดงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตา เป็นของไม่แน่นอน

ทีนี้พูดถึงนามธรรมคือจิตใจ จิตใจของเรานี้มันก็แปรไปไม่คงอยู่เหมือนเก่า จิตใจที่มันยังอยู่เหมือนเก่ามีไหม? ลูกก็ดี...หลานก็ดี...วัตถุก็ดี วัตถุสิ่งของบางสิ่งบางอย่าง เราเคยรักเคยชอบเคยมีความพอใจ แต่พอใช้ไปๆ ก็กลับไม่รักไม่ชอบไม่พอใจอีก นี่...มันก็เป็นของเราอยู่อย่างนี้ อันนี้มันก็ไม่แน่นอนเหมือนกันเกิดมีขึ้นแล้วก็แปรไป...เปลี่ยนไป...ไหลไปตามธรรมดา สิ่งที่มันแปรไปเปลี่ยนไปไม่อยู่เหมือนเดิมคือ สังขารที่มันแปรเปลี่ยน ท่านเรียกว่าความจริง ฉะนั้นคนที่ไม่เห็นความจริงก็คือ คนที่เห็นสังขารมันแปรเปลี่ยน...แต่ว่าไม่อยากจะให้มันเป็นไปอย่างนั้น ไปกั้น...ไปห้าม...ไปยึดมั่นหมายมั่นว่า สังขารเหล่านี้เป็นสิ่งที่มั่นคงถาวร เป็นสาระแก่นสาร เป็นของของตัวเอง แล้วก็กลับมาเป็นทุกข์ "ถ้าคนหลงสังขารแล้วจะเป็นทุกข์มาก" ฆ่ากัน ยิงกัน ทุบตีกัน แข่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ก็เพราะไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ว่ามันเป็นธรรมะ เลยเกิดฆ่ากันตีกันแย่งชิงกันขึ้นถึงกับมีอันต้องล้มหายตายจาก...เกิดการจองเวรกัน ก็ต้องมีอันเป็นไปทุกสิ่งทุกอย่างดังนี้ ก็เพราะคนไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักธรรมชาติของธรรมะ บ้านเมืองก็เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา ถึงตัวเราเองก็ต้องเดือดร้อน

ฉะนั้นพระบรมศาสดาท่านจึงให้ประพฤติปฎิบัติธรรมหรือปฏิบัติธรรมะ คือทำจิตใจของเราให้เข้าไปเห็นตามความเป็นจริง ว่าสังขารทั้งหลาย...เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น มันก็จะแปรเปลี่ยนไปตามเรื่องของมัน มีแล้วก็หาไม่...เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นของทางนอกหรือของภายในก็ตาม ของภายนอกคือแก้วแหวนเงินทอง เมื่อได้มาแล้วก็เสียไป...เสียไปแล้วก็ได้มาเป็นธรรมดา นั่น...คือสิ่งที่มันแปรไปเปลี่ยนไป ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน ของภายในคือสกลร่างกายของเรา ที่มันมีการเปลี่ยนสภาพไปทุกๆวัน อย่างวันนี้ก็เหมือนกัน วันนี้ก็ได้อันใหม่แล้วนี่...ฮือ!...นั่น...ได้ผมเส้นใหม่ ได้ฟันซี่ใหม่ ได้ตาอันใหม่ ได้หนังแผ่นใหม่แล้ววันนี้ ได้อันใหม่...อันเมื่อวานนี้มันตายไปแล้วนะ มาถึงวันนี้เราก็ได้อันใหม่ทั้งหมดนี้ หมดวันนี้ก็ได้ของอันนี้ไปถึงพรุ่งนี้หมดพรุ่งนี้ก็ทิ้งอันเก่าได้อันใหม่อีก บางครั้งจนหลงกัน...จนลืมกันจนมองกันไม่ออก...ไม่รู้จักกัน...เป็นเพราะอะไร? ก็เพราะเปลี่ยนไปเป็นคนใหม่ เปลี่ยนตาใหม่ เปลี่ยนหูใหม่ เปลี่ยนหนังใหม่ เปลี่ยนรูปร่างใหม่ เปลี่ยนฟันใหม่ เปลี่ยนไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมาพบกันเลยไม่รู้จักกัน ไม่รู้ก็เลยถาม เขาว่า...ตัวนั้นเป็นใคร...ตัวนั้นอยู่ที่ไหน? อีกคนก็ตอบว่า อ้าว!...ตัวจำเราไม่ได้หรือ...ตัวหลงเราแล้วหรือ? จะไม่ให้หลงได้อย่างไรล่ะ...ตัวนั้นเป็นคนใหม่ ไม่เหมือนคนเก่านี่นา ถ้าเป็นคนเก่าใครจะหลง ก็เพราะมันเปลี่ยนไปเป็นคนใหม่ถึงได้หลง...จะว่าอย่างไร นี่แหละคือลักษณะที่มันเปลี่ยนไป ที่มันเปลี่ยนไปนี้ใครจะมาบอกมันก็ไม่ฟัง พ้นกฎหมาย...กฎหมายบัญญัติตามไม่ทัน มันไม่เชื่อฟังใคร ฟัน, ขน, ผม, เนื้อหนังของเราก็เหมือนกัน ถึงมีอยู่กับใครก็จะต้องมีความแก่ ความเจ็บ ความตายได้ ไม่เฉพาะเจาะจงอยู่แต่มนุษย์เราเท่านั้นแม้แต่เสือตัวดุร้าย...มันก็ทำร้ายไม่ได้ ช้างตัวร้ายกาจ...มันก็ทำร้ายไม่ได้ กับเรื่องกฎของธรรมชาติ มันจะจับเอาไปถอดถอนออกหมดทุกสิ่งทุกอย่าง อันนี้เรียกว่าความจริงของธรรมชาติ...มันไม่กลัวใคร

ฉะนั้นจึงให้พวกเราทั้งหลายมาพิจารณาธรรมะ...ให้เห็นอย่างนี้ ไม่ว่าใครๆก็จะเหมือนกันทุกๆคน เป็น "สามัญลักษณะ"มีลักษณะเสมอกันในสังขารทั้งปวง ใครก็เหมือนกัน ทีนี้เมื่อเรามาเห็นแล้วว่าไม่ว่าร่างกายภายนอกหรือภายใน...มันก็ต้องมีลักษณะเหมือนกันทั้งหมด เมื่อมันเหมือนกันทั้งหมดเสียแล้วดังนี้ พระ-พุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า พวกเราทั้งหลายนี้เป็นญาติกัน...ญาติเกิดญาติแก่ ญาติเจ็บ ญาติตาย เมื่อเป็นญาติกันดังนี้แล้ว ควรที่จะทำอย่างไร? ก็ควรที่จะมีเมตตาต่อกัน ควรมีความกรุณาต่อกันควรมีความซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่แก่งแย่งซึ่งกันและกัน ให้มันเป็นธรรมะ เพียงเท่านี้พวกเราก็รู้จักกฎของธรรมชาติ ไม่ว่าเราจะมีมากหรือน้อยก็ตาม ก็ให้มีด้วยความจริง...ด้วยความดี อย่าให้ต้องมีโทษ ได้มาแล้วก็สบายใจ ถ้าเราเห็นธรรมะอย่างนี้แล้ว ใจของเราก็เป็นสุขสบาย ไม่จำเป็นที่จะต้องไปโลภเอาของใคร ไปแย่งเอาของใครมา ไม่มีความคิดอย่างนี้อยู่ในใจ เพราะเข้าใจแล้วว่า...สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของใครสักคน เมื่อเรามีความสุข บุคคลอื่นก็ต้องการความสุข ถ้าเราต้องการความสุข...แต่ว่าเราไปแย่งเอาความสุขของคนอื่นมา คนอื่นก็เป็นทุกข์ เมื่อเขาเป็นทุกข์...เราก็เป็นทุกข์ เมื่อเราเป็นสุข...เขาก็เป็นสุข ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าของเราท่านจึงให้มีเมตตา ถ้าเราจะเมตตาสัตว์ท่านให้เมตตาตนเสียก่อน ให้ดูตัวเองเสียก่อน ถ้าเราจะเบียดเบียนเขา ก็ให้เรามาคิดูเสียก่อนว่า เราดีไหม...เราชอบไหม...เราไม่ชอบไหม ให้เราพิจารณาดู สิ่งไหนมันเป็นทุกข์ สิ่งไหนอันไหนมันเดือดร้อน เราก็ไม่ชอบ...คนอื่นก็ไม่ชอบ...สัตว์อื่นก็ต้องไม่ชอบ เรื่องความไม่ชอบธรรมทั้งหลายนั้น...ด้วยมันจะนำความทุกข์มาให้เรา ให้พากันเลิกละถอน ให้ต่างคนต่างมาประพฤติปฏิบัติธรรม...มันก็สบาย...สงบ...ระงับ ใครก็เตือนตัวใครตัวเรา เหมือนกับท่อนไม้ที่เรานำมาเหลาให้เกลี้ยงเกลา...นำมาดัดแปลงแล้ว เหมือนไม้ลูกหน้าของเรานี่แหละ (ไม้ลูกหน้าเป็นอาวุธใช้สำหรับยิงสัตว์ มีลักษณะคล้ายคลึงกับลูกศรธนู ต่างแต่ลูกหน้านี้ เขาจะนำเอายางไม้ที่มีพิษมาทาหัวลูกศรด้วย) ต่างคนต่างก็ซื่อตรง ต่างคนต่างก็ไม่คดโกงต่างคนต่างก็มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เหมือนกับไม้ลูกหน้าที่เขานำมาดัดแปลงเหลาให้เกลี้ยงเกลาแล้ว แม้ว่าเราจะนำเอามามัดรวมกันเข้าไว้ด้วยกันก็เรียบร้อย...ไม่เกะกะดี ทำไมมันไม่เกะกะ เพราะต่างคนต่างก็รักษาของใครของเรา ไม้ท่อนนี้ซี่นี้มันก็รักษาตัวของมัน มันจะไม่คดไม่งอ ทุกๆอันมันจะตรง มันก็เลยไม่เกะกะซึ่งกันและกัน...นี่...เหมือนกันกับไม้ เรามาเห็นธรรมะ มาปฏิบัติธรรมะ มีความเห็นอย่างเดียวกันนี้ การอยู่ร่วมกันก็สบาย

ดังนั้นท่านจึงให้พิจารณาธรรมะ และธรรมะก็คือธรรมชาติฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมะนั้น ญาติโยมบางคนอาจจะเข้าใจว่าไม่ได้เรียนมามาก ไม่รู้สิ่งอันนี้ ไม่ได้สวดมนต์บทนั้นบทนี้ อันนั้นไม่เป็นของจำเป็น อันนั้นไม่ใช่ธรรมะ...มันเป็นคำพูดธรรมะเป็นชื่อของธรรมะ...ไม่ใช่ตัวธรรมะ ตัวธรรมะแท้ๆก็คือตัวเราที่มีอยู่นี้ เรานั่งอยู่ที่นี่ เรานั่งกินหมากอยู่ขณะนี้ ที่เรากำลังนั่งทับอยู่...อาศัยไปมาอยู่ขณะนี้ นี่...อยู่ที่ตรงนี้...เห็นไหม? ก็สถานที่ที่เรานั่งทับอยู่ที่นี่ ที่เรากำลังอาศัยอยู่ไปมาในขณะนี้ ต้นไม้ภูเขาเถาวัลย์ ที่อยู่ที่อาศัยนั่น...มันมีแต่ตัวธรรมะหมดทั้งนั้นแหละ คนเราไม่รู้เป็นอะไร...ถ้าทุกข์มาก็ทุกข์กับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แหละ เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงของมันท่านจึงให้พิจารณา ถ้าหากว่าเห็นธรรมะทั้งหลายเหล่านี้แล้วมันก็ไม่ยาก เพราะธรรมะทั้งหลายนั้นมีอยู่ที่นี่แล้ว ไม่ต้องเรียนมันมีอยู่แล้วที่นี่แล้ว ไม่ต้องเรียน...มันมีอยู่แล้ว ความสุขเกิดขึ้นมาในใจของเรานั่นก็เป็น "สุขาธัมมา"ความทุกข์เกิดขึ้นมาในใจของเราก็เป็น "ทุกขาธัมมา" ความสุข...ความทุกข์...ความพอใจความไม่พอใจนี้มันเป็นตัวของธรรมะทั้งหมด ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง อันไหนที่เราคิดว่าถูกธรรมะ...คิดว่าเราหรือว่าของเรานั้น ก็เป็นตัวสมมติว่าเป็นธรรมะ...อย่าได้ไว้ใจ ท่านจึงให้พิจารณาให้ระวัง ถ้าไม่ระวังธรรมะไม่รู้จักธรรมะ...แล้วมันก็จะเป็นทุกข์ เพราะที่ถูกแล้วกฎของธรรมะ...มันเป็นธรรมดาของมัน อย่างเราเกิดขึ้นมาแล้วไม่อยากจะแก่...แก่แล้วไม่อยากจะเจ็บ...เจ็บแล้วก็ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพรากจากลูกหลาน อันนี้คือคนไม่รู้จักธรรมะ เข้าไปแก้ไขไม่ได้...ก็ไม่เข้าไปแก้ ก็เลยทำให้เป็นทุกข์

อันความเป็นจริงนั้น พระศาสดาท่านพิจารณาธรรมะหรือปฏิบัติธรรมะ ก็คือการมาปฏิบัติอย่างนี้เอง คือให้รู้เรื่องของมัน "อะนิจจา วะตะสังขารา อุปาทะวะยะ ธัมมิโน อุปัชชิตะวา นิรุฌันติ เตสังวูปะสะโม สุโข" ไม่มีอะไรในสิ่งเหล่านี้...มันเป็นของไม่มั่นคง ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างนี้ เมื่อใจเห็นอย่างนี้ตามความเป็นจริงแล้ว มันก็เข้าไปเห็นธรรม...เข้าไปรู้ธรรม ไม่ได้สนใจยึดมั่นหมาย...เห็นเป็นธรรมดา เมื่อสกลกายของเรามันเจ็บ...มันป่วย...มันเฒ่าชราแล้ว เราก็มองเห็นว่ามันเป็นของธรรมดา..หนอ มันก็จะต้องเป็นไปอย่างนั้น นี่คือหลักธรรมะเบื้องต้นมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดาในท่ามกลาง แล้วผลที่สุดก็ดับไปสิ้นไปในเบื้องปลาย ไม่มีอะไรคงอยู่ในสกลโลกใบนี้ อันนี้คือธรรมะที่พระศาสดาทรงค้นพบวิธีแก้ไขเอาไว้คือการมาพิจารณาธรรมะ เมื่อเรารู้ว่าอันนี้เป็นเรา อันนี้เป็นของของเรา เมื่อเกิดมีความโลภโมโทสันต์จนลืมเนื้อลืมตัวก็จะทำให้เป็นทุกข์ เพราะไม่รู้จักธรรมะ ถ้ารู้จักธรรมะแล้ว...ก็จะต้องรู้จักประมาณ พอมีพอเป็นไปได้ตามอัตภาพ พอมีทุนสำรอง มีความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อมองเห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็เหมือนกันกับเราเห็นพ่อแม่เขา...ก็เหมือนกับพ่อแม่ของเรา เห็นลูกเห็นหลานเขา...ก็เหมือนกับลูกหลานของเรา เห็นของของเขาก็เหมือนกับของของเรามันเหมือนกันไปหมดอย่างนี้ ก็จะไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันต่างคนต่างก็หากินกันตามน้ำพักน้ำแรงของใครของเรา อันนี้มันก็เป็นศีลเป็นธรรมขึ้นมาเองเท่านั้นแหละ

เอ้อ!...นั่นแหละถ้ามันเป็นศีลเป็นธรรมขึ้นมา...แล้วมันก็จะสบายเท่านั้น...เพราะเข้าใจธรรมะที่ตัวมันมีอยู่เป็นอยู่นี่ก็ให้พิจารณารู้ว่า...มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ จะทำอย่างไร...เพราะมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น เราเข้าใจอยู่...รู้อยู่ว่ามันเป็นอย่างนั้น เหมือนกับที่เราปลูกถั่วปลูกแตง ปลูกฟักทองปลูกฟักเขียวอย่างนั้นแหละ ปลูกแล้วมันก็เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาแล้วก็แก่ แก่แล้วมันก็เน่าเสียไป เมื่อเรารู้จักอย่างนี้ เราก็รู้มาจัดการกับมันเสียก่อนซิ...ตั้งแต่มันยังไม่ทันเน่าเสีย จะนำเอามาต้มมาแกง.นำมารับประทานหรือจะเอาไปขาย เอาไปแลกเปลี่ยนกับอะไร ให้มันเกิดประโยชน์ก็รีบจัดการกับมันเสียซิ... จะมามัวนั่งเสียดายต่อเมื่อมันเน่าเสียไปแล้ว มันจะมีประโยชน์อะไรล่ะ... อันนี้ก็เหมือนกัน เราจะปล่อยให้สังขารของเรานั้นแก่เฒ่าเจ็บป่วยและตายไปเสียก่อนถึงจะร้องไห้เสียใจเสียดายตามในภายหลัง มันทำไมจะเกิดประโยชน์ ก็เหมือนกันกับฟักเขียวฟักทอง...เราจะได้ประโยชน์อะไรกับมัน เมื่อปลูกแล้วก็ปล่อยให้มันเน่าทิ้งไปเสียเฉยๆ แล้วถึงจะมานั่งรำพึงรำพันคิดเสียดายตามภายหลัง ปลูกขึ้นมาแล้วก็ปล่อยให้มันเน่าทิ้งไปเสียเฉยๆ ถึงจะมานั่งคิดว่า...เสียดายหนอๆ...จะเสียดายเอาอะไร?...

คนเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อยังหนุ่มสาวยังมีกำลังวังชาอยู่ พอที่จะประพฤติปฏิบัติได้ พอที่จะพิจารณาได้ พอละได้ในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ก็พากันละ...พากันถอนออกซิ...หรือจะมัวแต่นั่งนองพิไรรำพันว่า โอ!...เจ็บหนอ...ไข้หนอ...เสียดายหนอ...แต่เฒ่าเร็วหนอ...กลัวจะตายหนอ ฯลฯ ...อย่างนี้มันจะเกิดประโยชน์อะไร ทั้งๆที่จะพูดจะบ่นจะว่าอย่างไร มันก็จะต้องเน่าเหมือนกับฟักทองอยู่เช่นนั้นแหละ ฉะนั้นถ้าคนฉลาดคนมีปัญญาก็ให้พิจารณาธรรมะ ถ้าพิจารณาธรรมะแล้ว ก็ต้องรู้จักกาลรู้จักเวลา เราก็มาสั่งสอนจิตใจของเรา ให้มีความสุขความสำราญอยู่ในปัจจุบันนี้ นี่...ก็คือการประพฤติธรรม การปฏิบัติธรรม หรือการฟังธรรมให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจการฟังธรรมแล้ว...ก็รู้จักธรรม เมื่อรู้จักธรรมเป็นต้น...ก็รู้จักกฎของธรรมะ เมื่อรู้จักกฎของธรรมะ...ก็จะไม่เข้าไปจับยึดมั่นหมายในสิ่งต่างๆ เข้าใจและรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เมื่อถึงกาลถึงเวลามันก็จะต้องมีอันเป็นไป

อันนี้ก็เปรียบเหมือนใบไม้ของเรานี้แหละ ถึงฤดูใบไม้ผลิเวียนมาถึงมันก็ผลิแตกใบออกมา ปีต่อไปเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ใบของมันก็จะร่วงหล่นลงไป ร่วงหล่นลงไปแล้วก็ผลิแตกใบออกมาอีก เราก็ควรจะรู้จักธรรมชาติของมันว่า เอ้อ!...ฤดูนี้เป็นฤดูใบไม้ร่วงหรอก ฤดูนี้เป็นฤดูใบไม้ผลิหรอก เราก็พูดตามหลักของมันอย่างนั้น มันก็ร่วงจริงๆ ผลิขึ้นมาใหม่จริงๆ คนมันก็เหมือนใบไม้นี่แหละ เราจะไปร้องไห้เสียใจกับมันนั่นหรือ...จะไปหัวเราะดีใจกับมันนั่นหรือ ถ้ารู้จักอย่างนั้น รู้จักถึงหลักความจริง ก็เหมือนกับเรารู้จักฤดูใบไม้ร่วง...ร่วงแล้วมันก็ต้องผลิใบใหม่ออกมาอีก สังขารร่างกายของเราก็เหมือนกัน เมื่อประชุมปรุงแต่งรวมกันขึ้นมา ถึงเวลามันก็จะหายไป อย่างเรามีเพื่อนมิตรสหายมีลูกมีหลานมาอยู่ร่วมกัน มีความเป็นอยู่ร่วมกันวันหนึ่งเป็นต้น สักวันหนึ่งก็จะต้องมีความพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดาของมัน ให้เราเข้าใจไว้อย่างนี้ คือ...นี่...มันเป็นธรรมะ นี่คือ...กฎของธรรมะ ธรรมะนั้นอยู่ในตัวในกายในใจ อยู่ในสังขารของเราทั้งหมด ให้ปฏิบัติธรรมะ...เพื่อรู้ธรระ เมื่อรู้ธรรมะแล้ว...เรามันก็จะสบาย มันจะสบายอะไร? สบายเพราะเราไม่ไปยึดมั่นหมายมั่นนั่นแหละ รู้เรื่องของมันว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น เป็นไปตามเรื่องของมัน ให้เรามาพิจารณา ไม่ต้องไปมองดูที่อื่นไกล ให้เรานั้นพากันเข้ามาวัดประพฤติปฏิบัติให้มีศีลธรรม "วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่...เราพิจารณาอะไรอยู่" ให้เราพยายามกระทำใจของเราไม่ให้มีความขุ่นมัวเมื่อใจเราจะมีความขุ่นมัว ก็ให้ระลึกถึงคุณพระคุณเจ้า ใจมันขุ่นขึ้นมา...ใจไม่ดีขึ้นมา นั่นแหละ... เรากำลังจะตกนรก ฮึ่มๆ...วันนี้เราจะจัดการกับมันเสียดีไหมหนอ? มีความคิดเคียดแค้นขุ่นเคืองอยู่ในใจอย่างนั้น อันนี้แหละ...ระวังให้ดีมันจะพาเราให้ไปตกนรก ถ้าเรามีความทุกข์อยู่ตลอดวันตลอดคืน นั่นแหละตกนรกจริงๆทีนี้... ฉะนั้นจึงว่าคนเรานั้นจิตใจเป็นของสำคัญ

ฉะนั้นเมื่อถึงวันธรรมสวนะเวียนมาถึง ในวันขึ้น-แรม ๘ ค่ำ, ๑๕ ค่ำ ก็ให้พากันมาอบรมบ่มนิสัย จะได้รู้จักข้อประพฤติปฏิบัติของตัวเรา รู้จักการรักษาตัวเอง รักษากาย รักษาวาจา รักษาใจ การประพฤติปฏิบัติธรรมะก็อยู่ที่เรา เพราะฉะนั้นจึงพากันพิจารณา น้อมเอาเข้ามาไว้ในจิตใจของเรา อย่าฟังเฉยๆ...ฟังแล้วให้นำเอาไปประพฤติปฏิบัติที่บ้านของเราด้วย.ให้เราพิจารณาดูเมื่อเวลาใจของเรามีความโมโหโกรธแค้น ก็ให้หมั่นเพียรปรับปรุงรักษาตัวเอง...สั่งสอนตัวเอง ถามไปฟังไปแล้วให้นำเอากลับไปประพฤติปฏิบัติ จำเอาไว้ในลักษณะอย่างนี้ ให้เรามีความรู้สึกรับผิดชอบอยู่ในจิตใจของเราอยู่เสมอ นั่นแหละถ้าหากว่าใจของเรามีความสว่างไสว มีความบริสุทธิ์ขาวสะอาด ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง มันไม่เศร้า...ไม่มัวหมอง...มันไม่ทุกข์ทน เท่านั้นแหละใจเป็นบุญแล้ว ใจพ้นจากนรกแล้ว ใจพ้นจากอาสวะทั้งหลายแล้ว นั่น...ให้เรามาดูจิตใจของเรา ถ้าเวลามันโมโหขึ้นมาก็ให้พิจารณาดู เวลาใจดีขึ้นมาก็พิจารณาดูเหมือนกัน ปล่อยมัน...วางมัน...วางอารมณ์เหล่านี้ลงเสีย อย่าไปเชื่อมันจนเกินไป อย่าไปส่งเสริมมันในทางไม่ดีไม่งาม ให้สั่งสอนตัวเอง ฉะนั้นผู้รักษาจิตของตัวเอง จึงป้องกันความผิดทั้งหลายได้ หยุดจิตที่มันกำลังจะไป...

"จิต" นี้เหมือนกันกับ "ควาย" ทีนี้เรามารักษาจิตของเรา"ผู้รู้" รักษาจิตคือ "เจ้าของควาย" อาหารของควายนั้นคืออะไร?อาหารของควายนั้นคือข้าวหรือหญ้า ถ้าเราตามรักษาจิตของเราก็คือ "คนเลี้ยงควายจะต้องทำอย่างไร?" คนเลี้ยงควายก็จะต้องเห็นควายของตัวเอง ว่าควายมันกำลังอยู่ในลักษณะท่าทีอย่างไร...เราก็รู้จักหมด มันจะเข้าป่าเข้าดง ลงน้ำลงห้วยเราก็รู้จัก หรือมันจะไปเข้ารั้วเข้าสวนเขา...เราก็รู้จัก เพราะเรามองดูควายของเราอยู่ถ้ามันจะเข้าไปใกล้รั้วใกล้สวนของเขา เราก็ตะเพิดไล่มัน...อย่าไปส่งเสริมมัน เราตามรักษาจิตก็เหมือนกัน สิ่งที่จะทำให้เราเกิดมีความสุขความทุกข์ มีความอิจฉาพยาบาทนั้นคือข้าวคือหญ้าอารมณ์ของจิต...จิตมันจะมีอิจฉา...จิตมันจะมีพยาบาท...จิตโลภอันนั้น...โกรธอันนี้เราก็รู้จัก เพราะจิตเปรียบเหมือนกับควาย ผู้มีปัญญาผู้รู้ทั้งหลายก็เหมือนกันกับเจ้าของควาย ถ้าจิตของเราจะคิดดีคิดชั่ว เราก็รู้จักเรื่องของมัน เราก็รักษาสั่งสอน...ทรมานมันได้ เหมือนกันกับคนเลี้ยงควายตามรักษาควาย มันจะไปกินข้าวเข้าไปในรั้วในสวนของเขา เราก็ไล่มันได้ เพราะเราคอยดูควายของเราอยู่ การรักษาตัวเองก็เหมือนกัน ก็ต้องรักษาอย่างนั้น อันนี้คือการตามรักษาจิตของตัวเอง "ผู้ใดตามรักษาจิตของตน...ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร" ก็ต้องพ้นซิ...ก็เหมือนกันกับคนตามรักษาควายนั่นแหละ ควายมันจะเข้าไปกินหญ้ากินข้าวในนาเขาเราก็ไล่มันจะเข้ารั้วเข้าสวนเขาเราก็ไล่ มันจะไปในทางไม่ดีไม่งามเราก็ไล่มันก็พ้นจากความเสียหาย พ้นจากความผิดเท่านั้น นั่น...ตามรักษาจิตเจ้าของ ก็เหมือนกันกับคนตามรักษาควาย มันจะเกลียดผู้นั้น...โกรธผู้นี้ มันจะหลงอันนั้น...หลงอันนี้ เราก็ตามรักษาจิตของเราอยู่อย่างนั้น ในเรื่องความชั่วเราไม่ส่งเสริมมัน...กำราบสอนมันอยู่เรื่อยๆ มันก็สอนได้เท่านั้นแหละ ถ้าตามรักษาตัวเองแต่นี่กลับไม่รู้จักรักษาตัวเอง นั่งอยู่เฉยๆมันก็มีธรรมะ คนเรานั้นจิตมันจะไม่อยู่เฉยๆหรอก ไม่รู้จักปฏิบัติอะไร กฎนั้นเป็นอย่างไร ธรรมนั้นอยู่ที่ไหน?...ไม่รู้จัก ถ้าเรารู้จักอย่างนี้นั่งอยู่มันก็คิดปรุงแต่งไปเรื่อยๆคิดรัก...คิดชัง...คิดน้อยใจ...คิดดีใจเสียใจ...คิดวิตกกังวล คิดไปหลายๆอย่าง ถ้าเราตามรักษาเราก็ต้องรู้จัก ถ้ารู้จักแล้วเราก็ทรมานมันซิ...อันไหนมันไม่ดีไม่งาม เราก็ตะคอกมันซิ...ไล่มันออกไปอย่าให้มันอยู่กับเราซิ...อย่าให้มันโผล่ขึ้นมาได้ อย่างนี้มันก็เป็นการปฏิบัติเท่านั้น เกิดมาแล้วก็ดับไป...เกิดแล้วดับไป นั่น...คือการตามรักษาจิตของตน นี่...คือธรรมะคือการปฏิบัติธรรม อันนี้ก็เหมือนกันนั่นแหละ อย่าได้พากันมาเฉยๆ กลับไปถึงบ้านแล้ว ถึงเราจะมีงานที่ต้องทำ จะรดสวน เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่หุงหาอาหาร หรือทำอะไรต่างๆก็ให้ตามดูจิตของเราอย่าได้ทิ้งไป ถ้าตามรักษาจิตของตัวเอง เราก็จะรู้ตัวเราก็คอยห้ามตักเตือนตัวเอง เหมือนกันกับเราตามรักษาควายนั่นแหละ มันจะเข้าไปกินข้าวกล้าในนาเขา หรือกินพืชผักในรั้วสวนของเขาเราก็ตะเพิดไล่มันออก หรือมันจะหนีไปไม่กลับบ้าน เราก็ไล่มันกลับมา เราตามรักษาจิตของเราก็เป็นอย่างนั้น มันจะออกไปข้างนอก มันจะไปอิจฉาพยาบาทผู้อื่น เราก็ต้องต้อนมันกลับเข้ามา จะไปส่งเสริมมันทำไม...อันนี้ก็ให้รู้จักอะไรๆต่างๆ ถ้าจิตของเรามีความโกรธขึ้นมาก็ตั้งท่าจะสู้ช่วยมันด้วยซ้ำไป ถลกผ้าขึ้นแสดงท่าที่ช่วยส่งเสริมมันอีกอย่างนั้น มันจะรักษาตัวเองได้อย่างไร ในเมื่อเราเองก็เห็นพร้อมร่วมส่งเสริมไปกับมันอย่างนั้น นั่น...มันเป็นสิ่งไม่ดีก็ไปช่วยมันอย่างนั้น มันก็เลยละไม่ได้ เพราะคนไม่เคยรักษาตัวเอง เห็นท่าว่ามันจะไม่ดี...แล้วก็หยุด คิดว่า เอ๊ะ!..เราจะเอามันไปด้วยได้ไหม... "ให้หนี" บอกตัวเองว่าอย่างนั้นก็ได้ เมื่อถูกอารมณ์มากระทบก็หันท่าสู่ใส่เขาปากก็ถามเขาว่า "เคยตายไหม?" เอาแล้วซิ...ไปส่งเสริมมันอย่างนั้นทำไม เอ้า...เราก็ดูอย่างนี้แหละตัวธรรม การปฏิบัติธรรม จะไปเรียนเอาในพระไตรปิฎกที่ไหน เราอย่าไปส่งเสริมมันในทางที่ผิดซิ...

...เมื่อกายของเราหมดลมหายใจแล้ว วิญญาณมันก็ต้องหนีออกมา ฉะนั้นเรื่องนี้เรายังหลงอยู่ สร้างความทุกข์สร้างความอยาก สร้างบาปสร้างกรรมอยู่เดี๋ยวนี้...เพราะอะไร? เพราะเรื่องของกาย

....ให้ญาติโยมสรงน้ำตามประเพณีนิยม ที่เราได้เคยพากันทำมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น