งดงาม
rngodngam@gmail.com
พวกเราเคยไหมครับที่ต้องการอยากจะให้ชีวิตเราโชคดีและเป็นมงคล?
และเมื่อเราต้องการอยากจะให้ชีวิตโชคดีและเป็นมงคลเช่นนั้นแล้ว
สิ่งที่เราทำก็คือ มุ่งหาฤกษ์งามยามดี เพื่อเราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งในฤกษ์งามยามดีนั้น
กล่าวคือ เราได้ตั้งใจที่จะพึ่งพาและอาศัยฤกษ์ยามนั้นเป็นตัวช่วย
นอกจากฤกษ์ยามแล้วยังไม่พอ พวกเราเองยังอาจจะหาวัตถุมงคลมาพึ่งพาอีกด้วย
วัตถุมงคลที่พวกเราลงทุนลงแรงไปหามาในบางครั้ง ก็ต้องลงทุนราคาสูงมาก ๆ
บางครั้งก็ต้องเสียเวลาเป็นวัน ๆ ไปเข้าคิวรอ หรือเดินทางไกลเป็นวัน ๆ
เพื่อที่จะให้ได้วัตถุมงคลนั้น ๆ มาอาศัยพึ่งพิงเพื่อให้ชีวิตโชคดีและเป็นมงคล
บางท่านไม่ได้อาศัยฤกษ์ยาม หรืออาศัยวัตถุมงคลเหล่านั้น
แต่อาศัยพึ่งพิงการสวดมนต์บทคาถา เพื่อหวังจะให้ชีวิตโชคดีและเป็นมงคล
โดยบทสวดมนต์ที่นิยมสำหรับบางท่านที่สวดเพื่อให้ชีวิตโชคดี และเป็นมงคล
ก็น่าจะได้แก่ “ชัยมงคลคาถา” หรือไม่ก็ “มงคลสูตร”
ในที่นี้เราจะมาพิจารณาในเนื้อหาคำสอนในศาสนาพุทธเรานะครับว่า
หากต้องการให้ชีวิตเราโชคดีและเป็นมงคลแล้ว
เราควรจะอาศัยอะไร พึ่งพิงอะไร และเราควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร
ในส่วนของฤกษ์งามยามดีนั้น ขอแนะนำให้เราพิจารณาบทสวดมนต์ “มหาการุณิโก”
ซึ่งเป็นบทสวดมนต์ที่เรามักจะสวดต่อจาก “ชัยมงคลคาถา”
โดยในท่อนหนึ่งของบทสวดมนต์ “มหาการุณิโก” ได้กล่าวว่า
... สุนักขัตตัง สุมังคะลัง (เวลาที่สัตว์ประพฤติชอบ ชื่อว่าฤกษ์ดี มงคลดี)
สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง (สว่างดี รุ่งดี)
สุขะโณ สุมุหุตโต จะ (และขณะดี ครู่ดี) ...
ซึ่งจะเห็นได้ว่าในบทสวดมนต์สอนเราว่า
เมื่อไรก็ตามที่เราทำดีนั้น เมื่อนั้นเวลานั้นก็คือฤกษ์ยามดี มงคลดี
แต่สิ่งที่เรา ๆ บางท่านประพฤติอยู่นั้นอาจจะสวนทางกันก็คือ
เราบอกว่าต้องรอให้ฤกษ์ยามดีก่อน เราจึงจะทำดีได้ จึงจะทำกุศลได้
ซึ่งก็ไม่ตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนาครับ
พิจารณาต่อไปเกี่ยวกับการพึ่งพิงอาศัยวัตถุมงคลหรือการสวดบทสวดมนต์คาถาบางบท
เพื่อให้ชีวิตโชคดี หรือเป็นมงคลว่าจะช่วยได้เพียงไร
ในที่นี้ขอแนะนำให้พิจารณาพระสูตร “มงคลสูตร” จากพระไตรปิฎกนะครับ
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต)
ซึ่งก็คือพระสูตรที่เราได้นำมาสวดกันเป็นบทสวดมนต์ “มงคลสูตร” นั่นเอง
โดยมูลเหตุแห่งการเกิดมงคลสูตรนี้ ในอรรถกถาได้เล่าว่า
ในกาลครั้งนั้น ในเหล่ามนุษย์ได้มี “มงคลปัญหา” เกิดขึ้นว่า อะไรเล่าหนอเป็นมงคล?
สิ่งที่เห็นหรือเป็นมงคล เรื่องที่ได้ยินหรือเป็นมงคล หรือเรื่องที่ทราบเป็นมงคล
โดยแบ่งความคิดเห็นออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ ทำให้เรื่องมงคลปัญหานี้ปรากฏไปทั่วชมพูทวีป
โดยมนุษย์ทั่วชมพูทวีปถือกันเป็นพวกๆ พากันคิดมงคลทั้งหลายว่า อะไรกันหนอเป็นมงคล
อารักขเทวดาของมนุษย์พวกนั้น ฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็พากันคิดมงคลทั้งหลายเหมือนกัน
เหล่าภุมมเทวดาเป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้น ฟังเรื่องจากอารักขเทวดานั้นแล้ว
ก็พากันคิดมงคลอย่างนั้นเหมือนกัน
โดยทำนองเดียวกันนี้ ไล่เรื่อยไปตราบถึงอกนิฏฐเทวดาซึ่งเป็นมิตรของสุทัสสีเทวดา
ก็ถือกันเป็นพวกๆ พากันคิดมงคลทั้งหลาย
โดยทำนองเดียวกันนี้ได้ส่งผลให้การคิดมงคลได้เกิดไปในที่ทุกแห่งจนถึงหมื่นจักรวาล
“มงคลปัญหา” นี้ได้เกิดขึ้นแล้ว และไม่สามารถหาข้อสรุปกันได้เด็ดขาดอยู่นานถึง ๑๒ ปี
แม้กระทั่งมนุษย์ เทวดา พรหมทั้งหมดด้วยกัน (เว้นเสียแต่พระอริยสาวก) ได้แตกเป็น ๓ พวกคือ
“สิ่งที่เห็นหรือเป็นมงคล เรื่องที่ได้ยินหรือเป็นมงคล หรือเรื่องที่ทราบเป็นมงคล”
และแม้แต่ในพวกที่เห็นเหมือนกันก็ตาม ก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าเพียงนี้เท่านั้นที่เป็นมงคล
จึงได้มีเทวดาได้ไปทูลถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน “มงคลปัญหา” นี้
โดยใน “มงคลสูตร” นั้นได้มีเนื้อความ ดังนี้
“ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี
ครั้งนั้นแล ครั้นปฐมยามล่วงไปเทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก
ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย
ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล
พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า
การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑
การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การบำรุงมารดาบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑
การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑
การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การงดการเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑
ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑
ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑
การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑
การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ๑
ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว
เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ”
(หมายเหตุ พาหุสัจจะ ๑ หมายถึง การได้ยินได้ฟังมามาก
ศิลป ๑ หมายถึง การมีศิลปวิทยา
วาจาสุภาสิต ๑ หมายถึง วาจาอันชนได้กล่าวไว้ดีแล้ว)
จากพระสูตร “มงคลสูตร” นี้ ย่อมเห็นได้ว่าการมีวัตถุมงคลนั้นไม่ได้ถือเป็นมงคลข้อใด
ในมงคลทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนใน “มงคลสูตร” เลยนะครับ
และแม้กระทั่งการสวดมงคลสูตรเองก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่า
สวดมงคลสูตรแล้วจะเท่ากับว่าจะได้มีมงคลทุกข้อตามมงคลสูตรแล้วแต่อย่างใด
แต่ในมงคลสูตรนั้น ได้สอนให้เรานำมงคลทั้งหลายนั้นไปประพฤติปฏิบัติ
โดยได้ยืนยันว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่ได้ทำมงคลเช่นนี้แล้ว
ย่อมเป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
และเป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
ดังนั้นแล้ว หากเราต้องการให้ชีวิตเรามีโชคดีและเป็นมงคล
ก็ขอแนะนำให้เราพิจารณาปฏิบัติตามคำสอนใน “มงคลสูตร”
โดยหากจะสามารถประพฤติปฏิบัติข้อไหนได้ ก็ประพฤติปฏิบัติข้อนั้นก่อนเลย
ซึ่งบางข้อนั้นก็เป็นข้อที่ทำได้ไม่ยาก หรือเป็นข้อที่เรา ๆ ได้ทำกันอยู่แล้วในปัจจุบัน
ยกตัวอย่างเช่น การอยู่ในประเทศอันสมควร (คือประเทศไทยที่มีพระพุทธศาสนา)
การไม่คบคนพาล และการคบบัณฑิต การบำรุงมารดาบิดา การสงเคราะห์บุตรภรรยา
การงานอันไม่อากูล ความอดทน ความเพียร การประพฤติธรรม การสงเคราะห์ญาติ
ความเคารพ และความประพฤติถ่อมตน การฟังธรรมโดยกาล การเป็นผู้ว่าง่าย
การได้เห็นสมณะทั้งหลาย และการสนทนาธรรมโดยกาล เป็นต้น
ดังนั้นแล้ว ชีวิตที่โชคดีและเป็นมงคลนั้น ย่อมจะได้มาด้วยการลงมือทำด้วยตัวเราเอง
ไม่ได้มาโดยการพึ่งพิงอาศัยฤกษ์ยาม อาศัยวัตถุมงคล หรือพึ่งพิงมนต์คาถาวิเศษใด ๆ
เรื่องเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเราเอง และเห็นผลได้ในชีวิตนี้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น