ลืมกันหรือยังจ๊ะ! มารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม
มารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม (กระทรวงวัฒนธรรม)
"ไม่มีมารยาทเอาเสียเลย" ไม่น่าเชื่อว่า คำ ๆ นี้ กลายเป็นประโยคที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยครั้งในสังคมปัจจุบัน อาจจะเป็นเพราะไม่มีใครเอาใจใส่ หรือกวดขันความมีวินัย และความมีมารยาทกันมากนัก จึงทำให้หลายคนละเลยที่จะใส่ใจกิริยามารยาทของตัวเองเมื่อปฏิบัติต่อผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน
ที่น่าห่วงก็คือ เยาวชนไทยจำนวนหนึ่งกำลังรับซึมซับรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามากขึ้น จนหลงลืมวัฒนธรรมของไทยไป ทำให้ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ผู้อาวุโสน้อยควรปฏิบัติต่อผู้อาวุโสกว่าดูลดน้อยลงไปมาก ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงพยายามเผยแพร่ความรู้เรื่องมารยาทไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำรงเอาไว้ซึ่งวัฒนธรรม และมารยาทอันดีงาม
และนี่ก็คือ "มารยาทของการอยู่ร่วมกันในสังคม" ที่เยาวชน และทุก ๆ คน ควรจดจำไว้ เพื่อนำไปปฏิบัติตามในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมค่ะ
1. การรู้จักวางตน
ต้องเป็นคนมีความอดทน มีความสงบเสงี่ยม ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าว อวดรู้ อวดฉลาด อวดมั่งมี และไม่ควรตีตัวเสมอผู้ใหญ่ แม้ว่าจะสนิทสนมหรือคุ้นเคยกันสักปานใดก็ตาม
2. การรู้จักประมาณตน มีธรรมของคนดี 7 คำ
ได้แก่ รู้จัก เหตุผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคล โดยไม่ทำตัวเองให้เด่น เรียกร้องให้คนอื่นสนใจ หรือสร้างจุดสนใจในตัวเรามากเกินไป ตัวอย่างเช่น คำเตือนของหลวงวิจิตรวาทการที่กล่าวไว้ว่า "จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน"
3. การรู้จักการพูดจา
ต้องไม่ทักทายปราศรัยกับคนด้วยคำพูดที่จะทำให้คนเขาเกิดความอับอายในสังคม และไม่คุยเสียงดังหรือยักคิ้วหลิ่วตาทำท่าทางประกอบจนทำให้เสียบุคลิกภาพได้
4.การรู้จักควบคุมอารมณ์
คือ รู้จักข่มจิตของตน ไม่ใช่อารมณ์รุนแรงเพื่อไม่ให้ล่วงสิ่งที่ไม่ควรล่วง ได้แก่ การข่มราคะ โทสะ โมหะ ไม่ให้กำเริบเป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ รู้จักข่มอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ทำลายข้าวของ ไม่พูด และแสดงกิริยาประชดประชัน หรือส่อเสียด
5. การสำรวมกิริยาเมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่
ขณะที่เดินผ่านผู้ใหญ่ให้ก้มตัวพองาม หรือหากผู้ใหญ่กำลังเดินไม่ควรวิ่งตัดหน้า ควรหยุดให้ผู้ใหญ่เดินไปก่อน หรือไม่ควรเดินผ่านกลางขณะที่ผู้ใหญ่กำลังพูดกัน
6. การรู้จักควบคุมอิริยาบถ ถือเป็นคุณสมบัติที่ดี
เช่น เมื่อเราได้ยินเสียงเพลงก็ไม่ควรเขย่าตัว กระดิกเท้า หรือเคาะจังหวะโดยไม่เลือกสถานที่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นอาการของคนที่ไม่ควบคุมอิริยาบถ และไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ
7. ความมีน้ำใจไมตรีอันดีต่อกัน
การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขด้วยความรักและเข้าใจกัน ควรมีความเอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีต่อกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีความเห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ทุกข์สุขของผู้เกี่ยวข้อง มุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ที่สำคัญคือมีน้ำใจในการช่วยเหลือ หรือช่วยทำประโยชน์ให้แก่สังคม
8. การช่วยเหลือผู้อื่น เป็นคุณธรรมชั้นสูงของการอยู่ร่วมกันในสังคม
ดังจะเห็นว่า ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์มีอุดมการณ์สำคัญคือ "การช่วยเหลือผู้อื่น" หรือ พระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรมเป็นปัจฉิมโอวาท ก็ยังมีใจความสำคัญว่า "จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นด้วยความไม่ประมาทเถิด"
การยังประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็คือ การช่วยเหลือผู้อื่น หรือการปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม สังคมจะมีสันติสุข คือ มีความสงบสุข ถ้าบุคคลในสังคมรู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น มีความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั่นเอง
นอกจากมารยาททั้ง 8 ประการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งที่คนไทยไม่ควรลืมเลยก็คือ"ขนบธรรมเนียมประเพณี" ดั้งเดิมของไทย อย่างเช่น "การไหว้" ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ในการแสดงออกถึงความมีสัมมาคารวะของคนไทย แต่ทุกวันนี้ อาจจะมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า "การไหว้" ที่ถูกต้องเป็นเช่นไร และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
สำหรับลักษณะการแสดงความเคารพด้วยการไหว้ ที่เป็นมารยาทในสังคมที่ควรปฏิบัติกัน คือ
- ระดับที่ 1 การไหว้พระ ได้แก่ การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วแนบส่วนบนของหน้าผาก
- ระดับที่ 2 การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ โดยประนมมือ แล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลง ให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว
- ระดับที่ 3 การไหว้บุคคลทั่ว ๆ ไป ที่เคารพนับถือหรือผู้มีอาวุโสสูงกว่าเล็กน้อย โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก
ทั้งนี้ สำหรับผู้หญิง การไหว้ทั้ง 3 ระดับ อาจจะถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัดไปข้างหลังครึ่งก้าว แล้วย่อเข่าลงพอสมควร พร้อมกับยกมือขึ้นไหว้ก็ได้
เห็นแล้วใช่ไหมคะว่า "การไหว้" ที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ เพื่อใช้กับบุคคลต่าง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่การยกมือประนมส่ง ๆ ไปเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกคำสอนให้คนไหว้รู้จักกาลเทศะ รู้จักการเคารพผู้อาวุโส และกตัญญูรู้บุญคุณ เช่นนั้นแล้ว คนไทยทุกคนก็ควรที่จะทำความเข้าใจกับกฎเกณฑ์มารยาทของสังคมที่ได้วางเอาไว้ มิใช่ปล่อยผ่าน หรือเพิกเฉยกับสิ่งเหล่านี้ เพราะ "มารยาท" คือ กิริยาวาจาที่สุภาพเรียบร้อยถูกกาลเทศะ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยรังสรรค์ให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขนั่นเองค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น