เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553
เราเกิดมาทำไม
เราเกิดมาทำไม
เราเกิดมาทำไม ปัญหานี้ถ้าตั้งขึ้นคิดก็น่าจะจน เพราะขณะเมื่อทุกคนเกิดนั้นไม่มีใครรู้มารู้เมื่อเกิดมาและพอรู้เดียงสาแล้วว่า มีตัวเราขึ้นคนหนึ่งในโลก แต่ทุกๆคนย่อมมีความไม่อยากตาย กลัวความตาย อยากจะดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน นอกจากนี้ยังมีความอยากในสิ่งต่างๆ อีกมากมาย คล้ายกับว่าความที่ต้องเกิดมานี้ไม่อยู่ในอำนาจของตนเอง มีอำนาจอย่างหนึ่งทำให้เกิดมา ตนเองจึงไม่มีอำนาจ หรือไม่มีส่วนที่จะตั้งวัตถุประสงค์แห่งความเกิดของตนว่า เกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดูคล้ายๆกับจะเป็นดั่งที่ว่ามานี้ ที่ว่าดูคลายๆ ก็เพราะความไม่รู้ หรือจะเรียกว่า “อวิชชา” ก็น่าจะได้ แต่ถ้าจะยอมจนต่อความไม่รู้ก็ดูจะมักง่ายมากไป น่าจะลองทำตามหลักอันหนึ่ง ที่ว่าอนุมานและศึกษา คือสิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาก็รู้ได้ง่าย แต่สิ่งที่ไม่ประจักษ์แก่สายตาก็ใช้อนุมาน โดยอาศัยการสันนิษฐานและใช้ศึกษาในถ้อยคำของท่านผู้ตรัสรู้
พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ได้ตรัสไว้ แปลความว่า “ตัณหา (ความอยาก) ยังคนให้เกิด” และว่า “โลกคือหมู่สัตว์ ย่อมเป็นไปตามกรรม” ลองอนุมานตามคำของท่านผู้ตรัสรู้นี้ดูในกระแสปัจจุบันก่อนว่า สมมุติว่าอยากเป็นผู้แทนราษฎร ก็สมัครรับเลือกตั้งและทำการหาเสียง เมื่อได้ชนะคะแนนก็ได้เป็นผู้แทนราษฎร นี้คือความอยากเป็นเหตุให้ทำกรรม คือทำการต่างๆ ตั้งต้นแต่การสมัคร การหาเสียง เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับผล คือได้เป็นผู้แทน หรือแม้ไม่ได้เป็น ถ้าจะตัดตอนเอาเฉพาะความเกิดมาในช่วงแห่งชีวิตตอนนี้ ก็จะตอบปัญหาข้างต้นนั้นได้ว่า “เกิดมาเพื่อเป็นผู้แทน” ตัวอย่างนี้เป็นรายละเอียดเฉพาะเรื่อง ถ้าจะตอบให้ครอบคลุมทั้งหมดก็ควรตอบได้ว่า “เกิดมาเพื่อสนองความอยากและสนองกรรมของตนเอง” ถ้าจะแย้งว่าตอบอย่างนั้นฟังได้สำหรับกระแสชีวิตปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดมาทีแรกยังมองไม่เห็น เพราะไม่รู้จริงๆ ถ้าแย้งดังนี้ก็ต้องตอบว่า ฉะนั้นจึงว่าต้องใช้วิธีอนุมานโดยสันนิษฐาน ถ้ารู้จริงแล้วจะต้องอนุมานทำไม และก็อาศัยคำของท่านผู้ตรัสรู้เป็นหลัก ดังจะลองอนุมานต่อไปว่า จริงอยู่ เมื่อเกิดมาไม่รู้ แต่เมื่อรู้ขึ้นแล้วก็มีความกลัวตาย อยากดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน แสดงว่าทุกคนมีความอยากที่เป็นตัวตัรหานี้ประจำเป็นจิตสันดาน ความอยากเกิดย่อมรวมอยู่ในความอยากดำรงอยู่นี้ เพราะความตายเป็นความสิ้นสุดแห่งชีวิตในภพชาติอันหนึ่งๆ เมื่อยังมีความอยากดำรงอยู่ประจำอยู่ในจิตสันดาน ก็เท่ากับความอยากเกิดอีกเพื่อให้ดำรงอยู่ตามที่อยากนั้น ทั้งก็ต้องเกิดตามกรรม เป็นไปตามกรรม
ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า “เราเกิดมาด้วยตัณหา (ความอยากและกรรม) เพื่อสนองตัณหาและกรรมของตนเอง” ตัณหาและกรรมจึงเป็นตัวอำนาจหรือผู้สร้างให้เกิดมา ใครเล่าเป็นผู้สร้างตัวอำนาจนี้ ตอบได้ว่าคือตนเอง เพราะตนเองเป็นผู้อยากเองและเป็นผู้ทำกรรม ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ตนเองนี้แหละเป็นผู้สร้างตนเองให้เกิดมา
แต่ผู้ถือทางไสยกล่าวว่า ชีวิตของคนเรานี้มีพรหมลิขิต คือพระพรหมกำหนด เหมือนอย่างเขียนมาเสร็จว่าจะเป็นอย่างไร แต่ผู้ถือทางพุทธมามักใช้คำว่า กรรมลิขิต คือกรรมกำหนดมา โดยผลก็เป็นอย่างเดียวกัน คือมีสิ่งกำหนดให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ น่าพิจารณาว่าทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้จริงๆ อย่างไร
ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “มา กตเหตุ อย่าถือว่าเพราะเหตุแห่งกรรมที่ได้ทำไว้” คืออย่าถือว่าทุกๆ อย่างที่จะได้รับมีเพราะเหตุแห่งกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เพราะถ้าถืออย่างนั้นก็จะไม่ต้องทำอะไรขึ้นใหม่ รออยู่เฉยๆ อย่างเดียวเพื่อให้กรรมเก่าสนองผลต่างๆ ขึ้นเอง ถือเอาความดังนี้ก็เท่ากับไม่ให้ถือกรรมลิขิตนั่นเอง
มีปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้นพระพุทธศาสนาแสดงเรื่องกรรมไว้ทำไม พิจารณาดูจะตอบได้ว่า แสดงเรื่องกรรมไว้เพื่อให้รู้ว่ากรรมเป็นเหตุให้วิบาก คือผลตั้งแต่ให้ถือกำเนิดเกิดมา และ ติดตามให้ผลต่างๆ แก่ชีวิต ทำนองกรรมลิขิตนั่นแหละ แต่กระบวนการของกรรมที่ทำไว้มีความสลับซับซ้อนมาก ทั้งเกี่ยวกับเวลาที่กรรมให้ผล และข้อที่สำคัญที่สุดคือ เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคลในปัจจุบัน คือทางพระพุทธศาสนาสอนให้ไม่เป็นทาสของกรรมเก่า เช่นเดียวกับให้ไม่เป็นทาสของตัณหา แต่ให้ละกรรมชั่ว กระทำกรรมดี และชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ตามหลักพระโอวาท 3 หรือกล่าวโดยทั่วไป มีกิจอะไรที่ควรทำก็ทำ โดยไม่ต้องนั่งรอนอนรอผลของกรรมเก่าอะไร
ความพิจารณาเพื่อให้รู้กรรมและผลของกรรมนั้น ก็เพื่อให้จิตเกิดอุเบกขาในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหลือที่จะช่วยแก่ทั้งคนเป็นที่รักและที่ชัง กับเพื่อจะได้ปฏิบัติตนตามหลักพระโอวาท 3 ข้อนั้น ทั้งคนเรามีจิตใจที่เป็นต้นเดิมของกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ เพราะจะต้องมีจิตเจตนาขึ้นก่อนแล้วจึงทำกรรมอะไรออกไป ฉะนั้นจึงสามารถและทำอธิษฐาน คือตั้งใจว่าจะประสงค์ผลอันใด เมื่อประกอบกรรมให้เหมาะแก่ผลอันนั้น ก็จะได้รับความสำเร็จ และจึงสามารถตอบปัญหาว่า “เราเกิดมาทำไม” ได้อีกอย่างหนึ่งว่า “เราเกิดมาตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะมาทำ” เป็นอันไม่พ้นไปจากคำตอบที่ว่า “เราเกิดมาเพื่อสนองตัณหาและกรรมของตนเอง” แต่คนดีๆ ย่อมมีอธิษฐานใจที่ดี ดังพระโพธิสัตว์ทรงอธิษฐานพระหทัยเพื่อบำเพ็ญพระบารมี ความเกิดมาของพระองค์ในชาติทั้งหลายจึงเพื่อบำเพ็ญบารมีคือความดีต่างๆให้บริบูรณ์
อันที่จริงทุกๆ คนมีสิทธิ์ที่จะถือว่าตนเกิดมาเพื่อบำเพ็ญความดีให้มากขึ้น และสามารถที่จะบำเพ็ญความดีได้
ความสำนึกเข้าใจตนเองได้ว่า “เราเกิดมาเพื่อทำความดี” “เราเกิดมาเพื่อเพิ่มพูนปัญญา คือความรู้ความฉลาด” ดังนี้ย่อมมีประโยชน์ ไม่มีโทษ เพราะจะทำให้ขวนขวายทำความดีและศึกษาเพิ่มความรู้ของตนอยู่เสมอ แต่ชีวิตของคนเราก็ยังเนื่องด้วยกรรมเก่า และยังเนื่องด้วยกิเลสในจิตใจ สิ่งที่ทุกคนได้มา ตั้งต้นแต่ร่างกายและชีวิตนี้ เป็นวิบาก คือผลของกรรมและกิเลสของตนเอง แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่ง คือความดีที่แต่ละคนได้อบรมสั่งสมมา อันเรียกว่า “บารมี” คือความดีที่เก็บพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งเสริมจิตใจให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องและดำเนินไปในทางที่ถูก
ท่านกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราเกิดมาด้วยอำนาจของกุศล คือกุศลจิตและกุศลกรรม ไม่ว่าจะเกิดมายากดีมีจนอย่างไร เพราะมนุษยภูมิเป็นผลของกุศล ทุกคนจึงชื่อว่ามีกุศลหนุนให้มาเกิดด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า มนุษย์ ที่แปลอย่างหนึ่งว่า ผู้มีใจสูง คือมีความรู้สูง ดังจะเห็นได้ว่าคนเรามีพื้นปัญญาสูงกว่าสัตว์ดิรัจฉานมากมาย สามารถรู้จักเปรียบเทียบในความดีความชั่ว ความควรทำไม่ควรทำ รู้จักละอาย รู้จักเกรง รู้จักปรับปรุงสร้างสรรค์ สิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” “อารยธรรม” “ศาสนา” เป็นต้น แสดงว่ามีความดีที่ได้สั่งสมมาโดยเฉพาะปัญญา เป็นรัตนะอันส่องแสงสว่างนำทางแห่งชีวิต ถึงดังนั้น คนเราก็ยังมีความมืดที่มาเกิดกำบังจิตใจให้เห็นผิดเป็นชอบ ความมืดที่สำคัญนั้นก็คือกิเลสในจิตใจและกรรมเก่าทั้งหลาย
อะไรคือกรรมเก่า ไม่มีอธิบายอื่น จะอธิบายอย่างมองเห็น เช่นพระพุทธาธิบายที่ตรัสไว้ ความว่า “กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะ(ใจ)” กล่าวคือ ร่างกายที่ประกอบด้วยอายตนะทั้งหกนี้แหละเป็นตัวกรรมเก่า เป็นกรรมเก่าที่ทุกๆ คนมองเห็น นอกจากนี้ยังเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งกรรมใหม่ทั้งปวงอีกด้วย เพราะกรรมที่ทำขึ้นในปัจจุบันจะเป็น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็ตาม ก็อาศัยกรรมเก่านี้แหละเป็นเครื่องมือกระทำ ทั้งกรรมเก่านี้ยังเป็นชนวนให้เกิดเจตนาที่ทำกรรมใหม่ๆ ทั้งหลายด้วย เพราะ ตา หู เป็นต้น มิใช่ว่าจะมีไว้เฉยๆ ต้องดู ต้องฟัง แล้วก็ก่อกิเลส เช่น ราคะ (ความติดความยินดี) โทสะ(ความขัดเคือง) โมหะ(ความหลงใหล) ให้เกิดขึ้น ขณะที่ร่างกายเจริญในวัยหนุ่มสาว ซึ่งกล่าวได้ว่ากรรมเก่ากำลังเติบโตเป็นหนุ่มสาว ตา หู เป็นต้น ก็ยิ่งเป็นสื่อแห่งราคะ โทสะ และเป็นสื่อแห่งกรรมต่างๆ ตามอำนาจของจิตใจที่กำลังระเริงหลง จึงจำต้องมีการควบคุมปกครองจะปล่อยเสียหาได้ไม่ ถ้าตนเองควบคุมตนเองได้ก็เป็นวิเศษที่สุด แต่ถ้าควบคุมตนเองไม่ได้ ก็ต้องมีผู้ใหญ่ เช่นมารดา บิดา และผู้ใหญ่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควบคุมให้อยู่ในระเบียบวินัยที่ดีงาม ให้เกิดความสำนึกว่า “เรานี่เกิดมาเพื่อทำความดี”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น