
๓๖. ประวัติ พระขทิรวนิยเรวตเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)
๑. สถานะเดิม
พระขทิรวนิยเรวตเถระ นามเดิม เรวตะ แต่เมื่อบวชแล้วท่านพำนักอยู่ในป่าไม้ตะเคียน จึงมีชื่อว่า ขทิรวนิยเรวตะ
บิดาชื่อ วังคันตพราหมณ์
มารดาชื่อ นางสารีพราหมณี
เกิดที่บ้านนาลันทา แคว้นมคธ เป็นคนวรรณะพราหมณ์
๒. ชีวิตก่อนบวช
เรวตะ เป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัว เหลืออยู่คนเดียว ส่วนคนอื่นบวชกันหมดแล้ว บิดาและมารดาจึงหาวิธีผูกมัด โดยจัดให้แต่งงานตั้งแต่มีอายุได้ ๘ ขวบ
๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
ครั้นถึงวันแต่งงาน บิดาและมารดาแต่งตัวให้เรวตะอย่างภูมิฐาน นำไปยังบ้านของนางกุมาริกา ขณะทำพิธีมงคลสมรสรดน้ำสังข์ ได้นำญาติผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่ายไปอวยพร ถึงลำดับยายแห่งนางกุมาริกา ซึ่งมีอายุ ๑๒๐ ปี เข้ามาอวยพร คนทั้งหลายให้พรคู่สมรสทั้งสองว่า ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืนเหมือนกับยายนี้
เรวตะได้ฟังดังนั้น มองดูคุณยาย ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว หลังโกง เนื้อตัวสั่นเทา รู้สึกสลดใจกับการที่ตนเองจะต้องอยู่ในสภาพเช่นนั้นในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเสร็จพิธีญาติจึงพาเขากลับบ้าน ในระหว่างทางเขาได้หาอุบายหนีไปยังสำนักของภิกษุผู้อยู่ป่า ขอบรรพชากับท่าน ภิกษุนั้นก็จัดการบวชให้ เพราะพระสารีบุตรได้สั่งไว้ว่า ถ้าน้องชายของท่านมาขอบวชให้บวชได้เลย เพราะโยมบิดาและมารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ
๔. การบรรลุธรรม
สามเณรเรวตะ ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ เรียนกรรมฐานในสำนักอุปัชฌาย์อาจารย์แล้ว ได้ไปอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน บำเพ็ญเพียรภาวนา ในไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์
๕. งานประกาศพระศาสนา
พระเรวตเถระนี้ แม้ตำนานไม่ได้กล่าวว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ตาม แต่ปฏิปทาเกี่ยวกับการอยู่ป่าของท่าน ก็นำมาซึ่งความเลื่อมใสของผู้ที่ได้รู้จักในสมัยนั้น และได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลังต่อมา แม้แต่องค์พระศาสดาและมหาสาวกยังไปเยี่ยมท่านถึงป่าไม้ตะเคียนที่ท่านจำพรรษาอยู่
๖. เอตทัคคะ
เพราะท่านพระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ ชอบอาศัยอยู่ในป่า องค์พระศาสดาจึงทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า
๗. บุญญาธิการ
แม้พระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ ก็ได้เห็นพระปทุมุตตรศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า สนใจอยากได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้สร้างกุศลมีทานเป็นต้น อันพระทศพลทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จแน่นอน ในกาลแห่งพระสมณโคดม จึงได้สร้างสมความดีอีกช้านาน แล้วได้สมดังปณิธานที่ตั้งไว้ทุกประการ
๘. ธรรมวาทะ
ตั้งแต่อาตมภาพ สละเรือนออกบวช ยังไม่เคยรู้จักความคิดอันเลวทราม ประกอบด้วยโทษ ไม่เคยรู้จักความคิดว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงเดือดร้อน จงถูกฆ่า จงประสบความทุกข์ อาตมภาพรู้จักแต่การเจริญเมตตาจิต อย่างหาประมาณมิได้ ซึ่งอาตมภาพค่อย ๆ สะสมมาโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
๙. นิพพาน
พระขทิรวนิยเรวตเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว ได้ปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชนตามสมควรแก่เวลา แล้วได้นิพพานจากไปตามสัจธรรมของชีวิต
หนังสืออ้างอิง.-
-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น