เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553
๓๐. ประวัติ พระมหาโกฏฐิตเถระ
๓๐. ประวัติ พระมหาโกฏฐิตเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)
๑. สถานะเดิม
พระมหาโกฏฐิตเถระ นามเดิม โกฏฐิตะ มีความหมายว่า ทำให้คนหนีหน้า เพราะเขาเป็นผู้ฉลาดในศาสตร์ต่าง ๆ จึงเที่ยวทิ่มแทงคนอื่นด้วยหอกคือปากของตน
บิดาชื่อ อัสสลายนพราหมณ์
มารดาชื่อ จันทวดีพราหมณี ทั้งคู่เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒. ชีวิตก่อนบวช
เขาเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนไตรเพทจนถึงความสำเร็จในศิลปของพราหมณ์ เป็นผู้ฉลาดในเวทางคศาสตร์ ตักกศาสตร์ นิฆัณฑุศาสตร์ ถกฏุภศาสตร์ ในประเภทแห่งอักษรสมัยของตน และในการพยากรณ์ทั้งหมด เขาชอบพูดหักล้างคนอื่น ใครพบเขาจึงพากันหลบหน้า ไม่อยากสนทนาด้วย
๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
โกฏฐิตมานพ ถึงแม้จะเป็นผู้มีความรู้มาก แต่ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ได้พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ได้ยินกิตติศัพท์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ชี้ให้เห็นประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าได้ชัดเจน เขาจึงเข้าไปเฝ้าและฟังธรรม แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช จึงทูลขอบวชกับพระองค์ ๆ ทรงบวชให้เขาตามประสงค์
๔. การบรรลุธรรม
ตั้งแต่เขาได้บวชแล้ว ก็พากเพียรศึกษาพระธรรมวินัย และตั้งใจบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาสังขาร โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่ช้าก็ได้สำเร็จ พระอรหัตผลพร้อมกับปฏิสัมภิทา ๔ มีความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทาญาณ กล้าหาญ แม้จะเข้าไปหาพระมหาเถระหรือแต่พระศาสดาก็จะถามปัญหาในปฏิสัมภิทา ๔ จึงมีนามเพิ่มอีกว่า มหาโกฏฐิตะ
๕. งานประกาศพระศาสนา
พระมหาโกฏฐิตเถระ เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ได้แสดงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไว้มาก เช่น ในมหาเวทัลลสูตร ท่านได้ซักถามพระสารีบุตรเถระเพื่อเป็นการวางหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จะนำมาเฉพาะบางเรื่อง ดังนี้
ผู้มีปัญญาทราม คือ ผู้ไม่รู้อริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง
ผู้มีปัญญา คือ ผู้รู้อริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง
วิญญาณ คือ ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ได้แก่รู้แจ้ง สุข ทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุข
ปัจจัยในการเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ การประกาศของผู้อื่น (ปรโตโฆสะ) ๑ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ๑
การเกิดในภพใหม่มีได้ เพราะความยินดีในภพนั้น ๆ ของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นนิวรณ์ (เครื่องกั้น) มีตัณหาเป็นสังโยชน์ (เครื่องผูกมัด) การไม่เกิดในภพใหม่มีได้ เพราะเกิดวิชาและเพราะดับตัณหา
คนตายกับผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกัน คือ คนตายสิ่งปรุงแต่งกาย วาจา จิตดับ อายุสิ้น ไออุ่นดับ และอินทรีย์แตก ผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ่งปรุงแต่งกาย วาจา จิตดับ แต่อายุยังไม่สิ้น ไออุ่นยังไม่ดับ อินทรีย์ผ่องใส
๖. เอตทัคคะ
เพราะอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างท่านกับพระสารีบุตรเถระ ในมหาเวทัลลสูตรนี้ พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทา
๗. บุญญาธิการ
แม้พระมหาโกฏฐิตเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมานาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า เขาได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงก่อสร้างความดีตลอดมา แล้วได้สมปรารถนาในสมัยแห่งพระศาสดาของเราทั้งหลาย ดังได้กล่าวมา
๘. ธรรมวาทะ
ผู้มีอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อันสงบ (ไม่รับเอาสิ่งผิดมาใส่ตน) เป็นผู้งดเว้นจากการทำบาป โดยประการทั้งปวง พิจารณาด้วยปัญญาแล้วจึงพูดไม่ฟุ้งซ่านเพราะเย่อหยิ่งด้วยชาติ เป็นต้น ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้ เหมือนลมพัดใบไม้เหลืองให้หล่นจากต้น
๙. นิพพาน
พระมหาโกฏฐิตเถระได้ทำหน้าที่ของท่านและหน้าที่ต่อพระศาสนาในฐานะที่เป็น พระสงฆ์แล้วได้ดำรงจนอายุอยู่ตามสมควรแก่เวลา สุดท้ายก็ได้นิพพานดับไป
หนังสืออ้างอิง.-
-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น