เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ
ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ
" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "
หน้าเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
- Nitinandho
- อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย
ผู้ติดตาม
วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553
๒๔. ประวัติ พระสุภูติเถระ
๒๔. ประวัติ พระสุภูติเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)
๑. สถานะเดิม
พระสุภูติเถระ นามเดิม สุภูติ เพราะร่างกายของท่านมีความรุ่งเรือง (ผุดผ่อง) อย่างยิ่ง
บิดานามว่า สุมนเศรษฐี ชาวเมืองสาวัตถี
มารดาไม่ปรากฏนาม
เกิดที่เมืองสาวัตถี เป็นคนวรรณะแพศย์
๒. ชีวิตก่อนบวช
พระสุภูติเถระ ในสมัยก่อนบวชตั้งแต่เป็นเด็กมา ได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีที่จะพึงหาได้ในสมัยนั้น เพราะบิดาของท่านเป็นเศรษฐีมีทรัพย์มาก
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาทรงอาศัยเมืองราชคฤห์ เป็นสถานที่ทำการประกาศพระพุทธศาสนา อนาถบิณฑิกเศรษฐีจากพระนครสาวัตถี ได้มาเยี่ยมราชคหเศรษฐีผู้เป็นสหายที่เมืองราชคฤห์ ได้ทราบข่าวการเสด็จอุบัติแห่งพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้าที่สีตวัน แล้วได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมกับการเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก จึงได้กราบทูลอาราธนาพระศาสดาเพื่อเสด็จมายังสาวัตถี ได้สร้าง พระเชตวันมหาวิหารถวายเป็นที่ประทับ
ในวันฉลองมหาวิหาร สุภูติกุฎุมพีไปกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังธรรมของพระศาสดา เกิดศรัทธาจึงทูลขอบวช พระศาสดาจึงทรงบวชให้ตามประสงค์
๔. การบรรลุธรรม
เมื่อเขาได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยจนเข้าใจแตกฉาน ต่อจากนั้นได้เรียนกรรมฐาน บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำเมตตาฌานให้เป็นบาท แล้วได้บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นาน
๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา
พระสุภูติเถระเมื่อสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว ท่านมีปฏิปทาที่พิเศษกว่าผู้อื่น คือเมื่อแสดงธรรมก็จะไม่ออกไปนอกจากนิยาม (กำหนด) ที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร เวลาเที่ยวไปบิณฑบาต ก่อนจะรับอาหารบิณฑบาต ท่านจะเข้าเมตตาฌานก่อน ออกจากฌานแล้วจึงรับอาหารบิณฑบาต ทำอย่างนี้ทุก ๆ เรือน ด้วยตั้งใจว่าทำอย่างนี้ผู้ถวายอาหารบิณฑบาตจะได้ผลบุญมาก ประกอบร่างกายของท่านสง่างาม และผิวพรรณผุดผ่อง จึงนำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่บุคคลเป็นจำนวนมาก
๖. เอตทัคคะ
พระสุภูติเถระ อยู่อย่างไม่มีกิเลส แม้แต่การแสดงธรรมก็ไม่พูดถึงคุณหรือโทษของใคร จะเข้าเมตตาฌานอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะเที่ยวไปบิณฑบาตดังกล่าวแล้ว เพราะอาศัยเหตุการณ์ทั้งสองนี้ พระชินสีห์จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่อย่างไม่มีกิเลสและเป็นพระทักขิไณยบุคคล
๗. บุญญาธิการ
แม้พระสุภูติเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านาน ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติสองอย่างคือ อรณวิหาร (รณ แปลว่า กิเลส) การอยู่อย่างไม่มีกิเลส และความเป็นพระทักขิไณยบุคคลจึงเกิดศรัทธาปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงได้สร้างบุญกุศลถวายพระทศพลมากมาย แล้วได้ตั้งความปรารถนา พระศาสดาทรงเห็นว่าจะสำเร็จแน่นอนจึงทรงพยากรณ์ว่า จะได้ในสมัยของพระพุทธโคดม ในที่สุดก็ได้สมปรารถนาทุกอย่างดังกล่าวมา
๘. ธรรมวาทะ
ผู้ต้องการจะทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ พยายามในสิ่งที่ไม่ควรพยายาม คงไม่ได้รับประโยชน์อะไร การประพฤติอย่างนั้น เป็นการกำหนดความเคราะห์ร้ายของเขา หากทิ้งความไม่ประมาท ซึ่งเป็นธรรมชั้นเอก ก็จะเป็นเหมือนคนกาฬกิณี หากทิ้งอินทรียธรรม (สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา) เสียทั้งหมด ก็จะปรากฏเหมือนคนตาบอด
ควรพูดแต่สิ่งที่ตนทำได้
ไม่ควรพูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้
ผู้พูดสิ่งที่ตนทำไม่ได้
ย่อมถูกผู้รู้เขาดูหมิ่นเอา
๙. นิพพาน
พระสุภูติเถระ ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตลอดอายุของท่าน สุดท้ายได้ดับขันธปรินิพพาน เหมือนไฟที่ดับโดยหาเชื้อไม่ได้
หนังสืออ้างอิง.-
-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น