เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

๔๐. ประวัติ พระพากุลเถระ


๔๐. ประวัติ พระพากุลเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

๑. สถานะเดิม

พระพากุลเถระ นามเดิม พากุล แปลว่า คนสองตระกูล

บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม เป็นเศรษฐีชาวเมืองโกสัมพี

๒. ชีวิตก่อนบวช

เมื่อพระพากุละเกิดได้ ๕ วัน มีการทำมงคล โกนผมไฟและตั้งชื่อ พี่เลี้ยงได้พาไปอาบน้ำที่ท่าน้ำแม่น้ำคงคา ปลาได้กินทารกนั้น แล้วแหวกว่ายไปตามแม่น้ำ แต่เด็กนั้นเป็นผู้มีบุญ ทางศาสนาเรียก ปัจฉิมภวิกสัตว์ แปลว่า ผู้เกิดในภพสุดท้าย ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัตทำอย่างไรก็ไม่ตาย

ปลานั้นว่ายไปตามแม่น้ำ ไปติดข่ายของชาวประมงในพระนครพาราณสี ชาวประมงนั้นจึงนำเอาปลานั้นไปขาย ในที่สุดเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง ได้ซื้อเอาไว้ เมื่อแหวะท้องปลา ก็พบทารกน่ารักเพศชายนอนอยู่ เพราะเศรษฐีนั้นไม่มีบุตรและธิดา จึงรู้สึกรักเด็กนั้นมาก ได้เลี้ยงดูไว้อย่างดี

ครั้นต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาเดิมได้ทราบเรื่องนั้น จึงไปยังบ้านของเศรษฐีชาวพาราณสี พบเด็กจำได้ว่าเป็นลูกของตน จึงได้ขอคืน แต่เศรษฐีชาวพาราณสีไม่ยอม เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี พระองค์จึงทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงเด็กนั้นคนละ ๔ เดือน เด็กนั้นค่อย ๆ เติบโตขึ้นโดยลำดับ

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระศาสดา เสด็จไปประกาศพระพุทธศาสนาในพระนครพาราณสี พากุลเศรษฐีพร้อมด้วยบริวารได้พากันไปเฝ้า แล้วได้ฟังพระธรรมเทศนา เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระศาสดาทรงประทานให้ตามประสงค์

๔. การบรรลุธรรม

พระพากุละ ครั้นบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ตั้งใจรับฟังพระโอวาทจากพระศาสดา ไม่ประมาท พากเพียรภาวนา เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพียง ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระพากุลเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลจบกิจส่วนตัวของท่านแล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ท่านเป็นผู้ที่มีอายุยืนที่สุด บวชเมื่ออายุ ๘๐ ปี เป็นพระอีก ๘๐ พรรษา ตามนี้ท่านจึงต้องมีอายุ ๑๖๐ ปี ตำนานกล่าวว่า ท่านไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่ต้องฉันยารักษาโรคเลย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะท่านได้สร้างเว็จจกุฎีถวายสงฆ์ และได้บริจาคยาให้เป็นทาน ท่านเป็นพระรูปหนึ่งในจำนวน ๕๐๐ รูป ที่เข้าร่วมสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก

๖. เอตทัคคะ

เพราะพระพากุลเถระ เป็นผู้ที่มีโรคน้อย และมีอายุยืนดังกล่าวมา พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคาพาธน้อย

๗. บุญญาธิการ

แม้พระพากุลเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคาพาธน้อย อยากได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้สร้างบุญกุศลอันจะอำนวยผลให้เป็นเช่นนั้น แล้วตั้งความปรารถนา พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า จะสำเร็จสมปณิธานในพุทธกาลแห่งพระสมณโคดม และก็ได้สมจริงทุกประการ

๘. ธรรมวาทะ

ผู้ผลัดวันประกันพรุ่ง ย่อมทำลายเหตุแห่งความสุข และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง บุคคลพูดอย่างไรพึงทำอย่างนั้น อย่าเป็นคนพูดอย่างทำอย่าง เพราะบุคคลผู้พูดอย่างทำอย่าง ผู้รู้ย่อมดูหมิ่นได้

พระนิพพานอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี คือ กิเลส เกษม (ไม่ถูกกิเลสรบกวน) ดับความทุกข์ทั้งสิ้น เป็นสุขที่แท้จริง

๙. นิพพาน

พระพากุลเถระ ครั้นได้สำเร็จอรหัตผลแล้ว ได้ปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา และชาวโลกจนถึงอายุขัยของท่าน แล้วได้นิพพานจากไป ตามตำนานกล่าวว่า ก่อนนิพพานท่านได้เข้าเตโชสมาบัติ นั่งนิพพานในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ เมื่อนิพพานแล้วไฟได้ไหม้สรีระร่างของท่านหมดไป ณ ที่นั้นเอง


หนังสืออ้างอิง.-

-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น