เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

ชีวิตต้องการอะไร


ชีวิตต้องการอะไร
ชีวิตนี้ต้องการอะไร อาจจะเป็นปัญหาเดียวกับปัญหาที่ว่า ควรจะวาดภาพชีวิตอนาคตอย่างไร หรืออาจจะต่างกันก็ได้ สุดแต่ความประสงค์ของผู้ถาม อาจจะมุ่งผลทางวัตถุหรือทางโลกทั่วๆไปก็ได้ อาจจะหมายถึงผลที่พิเศษไปกว่านั้นก็ได้
ว่าถึงผลทางวัตถุหรือทางโลกทั่วๆไป ทุกคนก็น่าจะมีทางของตน หรือมีความคิดเห็นของตนเอง เกี่ยวแก่การเรียน อาชีพการงาน เป็นต้น แต่ถ้าหมายถึงผลที่พิเศษไปกว่านั้นก็น่าคิดว่านอกจากสิ่งต่างๆ ที่เป็นบุคคล เป็นวัตถุ เป็นชื่อเสียง เป็นต้น ที่โลกต้องการแล้วชีวิตนี้ต้องการอะไรอีก เพราะสิ่งที่โลกต้องการทั้งปวงก็ดูคล้ายๆกัน เช่น ต้องการวิชา ต้องการอาชีพ ต้องการภริยา สามี ต้องการบุตร บุตรี ต้องการทรัพย์ ต้องการยศ ต้องการชื่อเสียง เป็นต้น เช่นเดียวกับชีวิตต้องแก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเหมือนกันทุกๆชีวิต
ชีวิตและเหตุการณ์ของชีวิตทำให้คนมีความเห็นต่อชีวิตต่างๆกัน บางคนรื่นเริงยินดีอยู่กับชีวิต มักจะเป็นคนวัยรุ่น กำลังมีร่างกายเจริญ มองเห็นอะไรในโลกยิ้มแย้มแช่มชื่นไปทั้งนั้น บางคนระทมอยู่กับชีวิตจนถึงคิดหนีชีวิตก็มี เพราะความไม่สมหวังน้อยหรือมาก บางคนก็ดูเฉยๆ ต่อชีวิต แต่มิใช่เฉยเพราะรู้สัจจะของชีวิต หากเฉยๆ เพราะไม่รู้ ทั้งไม่ต้องการที่จะศึกษาเพื่อรู้ จึงอยู่ไปทำไปตามเคยวันหนึ่งๆ โดยมากน่าจะอยู่ในลักษณะนี้ไม่สู้จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์อะไรมากนัก เพราะไม่อยากจะคิดรู้อะไรมากนัก หรือเพราะไม่มีอะไรจะทำให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์มากนัก สรุปลงว่ายินดีต่อชีวิตบ้าง ยินร้ายต่อชีวิตบ้าง หลงงมงาย เช่น ที่มีความเฉยๆ เพราะไม่รู้ดังกล่าวนั้นบ้าง คนทั่วๆไปย่อมเป็นดังนี้ จะต้องพบทั้งความยินดีทั้งความยินร้าย ทั้งความหลงใหลในชีวิต จะต้องพบทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งได้ทั้งเสีย ขณะเป็นเด็กหรือเป็นวัยรุ่นอาจจะสุข มีสนุกรื่นเริงมาก แล้วจะค่อยๆ พบทุกข์เข้ามาแทนสุข น้อยหรือมากตามวัยที่เพิ่มขึ้น ตามเหตุการณ์ของชีวิตที่ต้องการพบมากขึ้นจะต้องพบทั้งความยินแย้มทั้งความระทม หรือจะต้องทั้งหัวเราะทั้งร้องไห้ นั่นแหละเป็นชีวิตหรือเป็นโลก
ว่าถึงชาวโลกทั่วไป เมื่อได้มีประสบการณ์จากโลกทั้งสองด้านแล้ว จึงจะรู้จักโลกดีขึ้น แต่ก็มีอยู่สองจำพวกเหมือนกัน คือ พวกหนึ่งแพ้โลก คือต้องเป็นทุกข์น้อยหรือมากไม่สามารถจะแก้ทุกข์ได้ คล้ายกับรอให้โลกช่วย คือให้เหตุการณ์ข้างดีตามที่ปรารถนาเกิดขึ้น อีกพวกหนึ่งไม่แพ้โลก คือไม่ยอมเป็นทุกข์ ถึงจะต้องเป็นทุกข์บ้างอย่างสามัญชน ก็ไม่ยอมให้เป็นมากหรือเป็นนานนัก พยายามแก้ทุกข์ได้ ไม่ต้องรอให้เหตุการณ์ข้างดีที่ปรารถนาต้องการเกิดช่วย ซึ่งเป็นการไม่แน่ แต่ทำความรู้จักโลกนั่นแหละให้ดีขึ้นตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เช่นว่า “สูจงมาดูโลกนี้...ที่พวกคนเขลาติดอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่” คือการศึกษาทำความรู้ชนิดที่ไม่ติดข้องให้เกิดขึ้น ด้วยปล่อยโลกให้เป็นไปตามวิถีของโลก เหมือนอย่างไม่คิดดึงดวงอาทิตย์ให้หยุดหรือให้กลับ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หน้าที่ของบุคคลคือดึงใจให้หยุดหรือให้กลับจากกิเลสและความทุกข์ ให้ดำเนินไปในทางที่ดี ไม่ยอมพ่ายแพ้แก่ชีวิตและโลก
คนเราต้องพบชีวิต หมายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ตามที่ปรารถนาไว้ก็มี ที่มิได้ปรารถนาก็มี ว่าถึงปัญหาที่ว่า คนเราควรจะวาดภาพชีวิตอนาคตของตนอย่างไร หรือ จะให้ชีวิตเป็นอย่างไร ถ้าตอบตามวิถีชีวิตทั่วไป ก็คงจะว่าให้เป็นชีวิตที่บริบูรณ์ด้วยผลตามที่ปรารถนากันทางโลกทั่วไปนี้แหละ รวมเข้าก็คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเรียกว่าโลกธรรม(ธรรมคือเรื่องของโลก) ส่วนที่น่าปรารถนาพอใจ แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จะต้องพบชีวิตส่วนที่มิได้ปรารถนาอีกด้วย คือส่วนที่ตรงกันข้าม รวมเข้าก็คือ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ชีวิตของทุกคนจะต้องพบกับโลกธรรมทั้งสองฝ่ายนี้อยู่ด้วยกัน
คำว่า โลกธรรม พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมดาโลก เพราะขึ้นชื่อว่าโลก ย่อมมีธรรมดาเป็นความได้ ความเสีย หรือความทุกข์ เช่นนั้น สิ่งที่ได้มาบางทีรู้สึกว่าให้ความสุขมากเหลือเกิน แต่สิ่งนั้นเองกลับให้ความทุกข์มากก็มี พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสชี้ให้เห็นทุกข์ไว้ก่อน ดังเช่นเมื่อมีเทพมากล่าวคาถาแปลความว่า
“ผู้มีบุตรย่อมบันเทิงเพราะบุตร ผู้มีโคย่อมบันเทิงเพราะโค นรชนย่อมบันเทิงเพราะทรัพย์สมบัติ ผู้ไม่มีทรัพย์สมบัติย่อมไม่บันเทิง”
พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก้ว่า
“ผู้มีบุตรย่อมโศกเพราะบุตร ผู้มีโคย่อมโศกเพราะโค นรชนย่อมโศกเพราะทรัพย์สมบัติ ผู้ไม่มีทรัพย์ (เป็นเหตุก่อกิเลส) ย่อมไม่โศก”
คำของเทวดากล่าวไว้ว่าเป็นภาษิตทางโลก เพราะโลกทั่วไปย่อมเห็นดังนั้น ส่วนคำของพระพุทธเจ้ากล่าวไว้เป็นภาษิตทางธรรม แต่ก็เป็นความจริง เพราะเป็นธรรมดาโลกที่จะต้องพบทั้งสุขและทุกข์ที่แม้เกิดจากสิ่งเดียวกัน ฉะนั้น ทุกๆ คนผู้ต้องการโลก คือปรารถนาจะได้สิ่งที่น่าปรารถนา หรือต้องการที่จะให้เป็นไปตามปรารถนา ก็ควรต้องการธรรมอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเครื่องช่วยรักษาตน ทั้งในคราวได้ ทั้งในคราวเสีย
พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกๆคน ตรงจุดนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่า สุขหรือทุกข์ข้อนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เมื่อพิจารณาอยู่ดังนี้จนเกิดปัญญาเห็นจริง สุขหรือทุกข์นั้นๆ ก็จะไม่ตั้งครอบงำจิตอยู่ได้ ผู้ที่มีปัญญาพิจารณาเห็นจริงอยู่ดังนั้น จะไม่ยินดีในเพราะสุข จะไม่ยินร้ายในเพราะทุกข์นั้นๆ ความสงบจิตซึ่งเป็นความสุขจะมีได้ด้วยวิธีนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น