เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

ศึกษาชีวิตทั้งสองด้าน


ศึกษาชีวิตทั้งสองด้าน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แปลความว่า
“ความโศกย่อมเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก ภัยคือความกลัว ย่อมเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก สำหรับผู้ที่พ้นแล้วจากสิ่งที่เป็นที่รัก จะไม่มีความโศก ภัยจักมีแต่ที่ไหน”
พระพุทธภาษิตนี้ดูคล้ายกับมองในทางร้ายว่า สิ่งเป็นที่รักจะเป็นแหล่งแห่งเกิดความโศกและภัยเสมอ แต่ก็เป็นความจริงที่ความโศกและภัยทุกอย่างเกิดจากแหล่งรักทั้งนั้น ใครก็ตามที่ได้รับความสุขจากสิ่งเป็นที่รักเพียงอย่างเดียว ยังไม่ชื่อว่าได้พบโลกหรือผ่านโลกทั้งสองด้าน ต่อเมื่อได้รับความทุกข์จากสิ่งเป็นที่รักอีกอย่างหนึ่ง จึงจะชื่อได้ผ่านพบโลกครบสองด้าน เป็นโอกาสที่ทำให้รู้จักโลกดีขึ้น
อันที่จริงชีวิตที่ดำเนินผ่านสุขทุกข์ต่างๆในโลก หรือผ่านโลกที่มีทั้งสุขทั้งทุกข์ เท่ากับเป็นการศึกษาให้เกิดเจริญปัญญาขึ้นอยู่เสมอ อาจจะมีการหลงผิดไปในบางคราว ก็ไม่ใช่ตลอดไปและทุกคนที่เกิดมาย่อมมีพื้นปัญญาที่จะเพิ่มเติมขึ้นได้เสมอ ทั้งปัญญาที่จะเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้นก็เพราะรู้ทั้งสองด้าน คือรู้ทั้งสุขทั้งทุกข์ ถ้ารู้จักแต่สุข ไม่รู้จักทุกข์ ก็ยังไม่ใช่ปัญญาสมบูรณ์
จะรู้จักทุกข์ได้ก็ต้องประสบกับความทุกข์ และดูเข้าไปที่ทุกข์ หรือดูเข้ามาที่จิตใจอันมีทุกข์ว่า จิตนี้มีทุกข์ ดูอาการจิตในที่มีทุกข์ว่าเป็นอย่างไร อาการคือ แห้งผากใจปราศจากความสดชื่น เหมือนอย่างต้นไม้เหี่ยว คร่ำครวญใจด้วยความคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้วหรือถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ไขว่คว้าในสิ่งที่สิ้นไปหายไปแล้ว เหมือนอย่างไล่จับเงา หรือกลัวสิ่งที่ยังอยู่ว่าหายไปเสีย หรือกลัวว่าอะไรที่น่ากลัวจะเกิดขึ้น ตรอมใจ ไม่มีความผาสุก คับแค้นใจ เหมือนอย่างถูกอัดถูกบีบ อาการใจเหล่านี้แสดงออกมาให้เห็นทางกายอันเป็นเรือนอาศัยของจิตใจ อวัยวะทางกายที่บอกใจอย่างดีที่สุดคือดวงตาและสีหน้า ดวงตาจะเศร้า สีหน้าจะหมอง ร่างกายทั่วไปจะซูบ อาการทางกายเหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็นผลพลอยเสีย
ดูอาการจิตใจที่มีทุกข์ว่าเป็นอย่างนี้ๆ ดูให้เห็นชัด ให้คล้ายกับส่องกระจกเห็นเงาหน้าของตนชัดเจน แล้วศึกษา คือพยายามค้นหาความจริงในจิตใจของตนเองต่อไปว่า เป็นอาการประจำหรือเป็นอาการจร เทียบอย่างเป็นโรคประจำหรือเป็นโรคจร มีอะไรเป็นเหตุเป็นสมุฏฐานจะเห็นว่าเป็นอาการจร เพราะแต่ก่อนนี้ไม่เคยมีเคยเป็น เคยมีแต่อาการที่เป็นความสุขอันตรงกันข้าม ถึงอาการที่เป็นความสุขก็เหมือนกัน คือเป็นอาการจร เพราะก่อนแต่นั้นก็ไม่เคยมีเคยเป็น ได้แก่ เมื่อเป็นเด็กยังไม่มีอาการจิตใจเช่นนี้ มาเริ่มมีขึ้นตั้งแต่เมื่อย่างเข้าดรุณวัยเริ่มมีสิ่งเป็นที่รักขึ้นตั้งแต่หนึ่งสิ่งสองสามสิ่ง เป็นต้น เมื่อศึกษาจิตใจของตนเองไปดังนี้ จักได้พบสัจจะขึ้นสมจริงตามพระพุทธพยากรณ์นี้ แหละเป็นเหตุเป็นสมุฏฐาน
การหัดศึกษาให้รู้จักกระบวนแห่งจิตใจของตนเองนั้นเป็นข้อที่ควรทำ ทั้งในคราวมีสุขและในคราวมีทุกข์ เหตุแห่งสุขและทุกข์ข้อที่สำคัญก็คือ สิ่งที่เป็นที่รัก ในขณะที่มีสุขจะยกไว้ก่อน จะกล่าวแต่ที่มีทุกข์ ให้รวมใจดูที่ตัวความทุกข์ที่กำลังเสวยอยู่ ดูอาการของจิตที่เป็นทุกข์ว่าเป็นอย่างไร ห่อเหี่ยวอย่างไร มีอาการเศร้าหมองอย่างไร ห่อเหี่ยวอย่างไร หมดรส หมดความสำราญอย่างไร ดูความคิดว่าในขณะที่จิตเป็นทุกข์เช่นนี้ จิตมีความคิดอย่างไร คิดถึงอะไร ก็จะรู้ว่ากำลังคิดถึงเรื่องที่ทำให้ทุกข์นั้นแหละ เพราะจิตผูกอยู่กับเรื่องนั้นมาก ความผูกจิตมีมากในเรื่องใด ก็ดึงจิตให้คิดถึงเรื่องนั้นมากและเป็นทุกข์มาก ฉะนั้น ความทุกข์จึงเป็นผลตามความผูกจิต (สังโยชน์) ซึ่งคอยดึงจิตให้คิดไปถึงเรื่องที่ผูกไว้ในใจ
อันที่จริงเรื่องที่ผูกใจไว้นี้มิใช่เฉพาะแต่สิ่งที่เป็นที่รักเท่านั้น ถึงสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็ผูกใจไว้เหมือนกัน จึงเกิดความชอบใจและความไม่ชอบใจ ถ้าไม่มีความผูกใจไว้เสียเลยก็จะไม่มีทุกสิ่งคือที่รักก็ไม่มี ที่ไม่รักก็ไม่มี ตลอดถึงความยินดียินร้ายก็จะไม่มี
ตามที่กล่าวมานี้เป็นกระบวนทางจิต กล่าวสั้นคือ ความผูกจิตอยู่กับเรื่อง (อันเรียกว่า อารมณ์) ที่ทุกๆ คนประสบพบผ่านมาทางอายตนะ มีตา หู เป็นต้น และความคิดที่ถูกดึงให้คิดไปในเรื่องที่ผูกใจอยู่เสมอ ถ้าเป็นเรื่องของสิ่งอันเป็นที่รัก และไม่เป็นไปตามที่ปรารถนาต้องการ ยิ่งคิดไปก็ยิ่งเป็นทุกข์ไป จิตครุ่นคิดไปด้วยเสวยทุกข์ไปด้วย “หยุดคิดได้เมื่อใด ก็หยุดทุกข์ลงเมื่อนั้น”
คำว่า หยุดคิด หมายถึง หยุดคิดถึงเรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์ ถ้ากล่าวดังนี้แก่ใคร ก็น่าจะได้รับตอบว่า สำหรับหลักการที่ว่านั้นไม่เถียง แต่ทำไม่ได้ คือจะห้ามมิให้คิดไม่ได้ ถ้าแย้งดังนี้ก็ต้องรับรองว่าห้ามไม่ได้จริง ด้วยเหตุที่ยังมีความผูกจิตอยู่ในเรื่องนั้น ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ความผูกจิตไว้นี้เองคอยดึงจิตให้คิดไปในเรื่องที่ผูกไว้ เป็นดังนี้จนกว่าจะปล่อยความผูกนี้ได้ ถ้าว่าดังนี้ก็น่าจะถูกประท้วงอีกว่าปล่อยไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ซึ่งเป็นที่รัก และสามัญชนทั่วไปก็จะต้องมีสิ่งเป็นที่รัก เช่น จะต้องมีพ่อแม่ลูกหลาน เป็นต้น ที่เป็นที่รัก เมื่อมีขึ้น จิตใจก็จะต้องผูกพัน ที่เรียกว่าความผูกจิต จึงไม่สามารถจะปล่อยไว้ ถ้ามีการประท้วงดังนี้ก็ต้องตอบชี้แจงได้ว่า รับรองว่าสามารถแน่ ถ้าลองปฏิบัติดูตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะความผูกพันแห่งจิตใจนี้เป็นกิเลส เพื่อที่จะชี้ให้เห็นหน้าตาให้ชัดขึ้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในธรรมบท แปลความรวมกันว่า
“ความโศก ความกลัว เกิดจากความรัก ความยินดี ความใคร่(กาม) ความอยาก (ตัณหา) สำหรับผู้ที่พ้นแล้วจากความรัก ความยินดี ความใคร่(กาม) ความอยาก (ตัณหา) จะไม่มีความโศก ความกลัวจักมีแต่ที่ไหน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น