เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

แบบที่ ๒ เจริญเมื่อจิตสงบ



แบบที่ ๒ เจริญเมื่อจิตสงบ
สมาธิที่หนุนวิปัสสนานั้น ท่านหมายถึง จิตตวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์แห่งจิต ได้แก่ สมาธิ ทั้งที่เป็นอุปจารสมาธิ ทั้งที่เป็นอัปปนาสมาธิ โดยที่สุด ขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะก็ใช้เป็นฐานของวิปัสสนาได้

สมาธิที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนานั้น ถ้าว่าในทางปฏิบัติแล้วใช้ขณิกสมาธิ เพราะจิตยังไม่แนบแน่นมาก จึงใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมได้สะดวก ถ้าจิตเป็นอัปปนาสมาธิถึงขั้นได้ฌาน หรือแม้แต่เป็นอุปจารสมาธิ จิตเฉียดจะได้ฌานอยู่แล้ว จิตในขณะนั้นเป็นเอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง แนบแน่นมาก หรือเกือบเป็นหนึ่งแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ) จะใช้พิจารณาสภาวธรรมไม่ได้ จำเป็นต้องถอนออกมาให้เป็นขณิกสมาธิเสียก่อน แล้วจึงใช้หนุนปัญญาเจริญวิปัสสนาได้ แต่จิตที่แน่วแน่มาก่อนแล้วถอนออกมาพิจารณาสภาวธรรมย่อมมีพลังมากกว่าขณิกสมาธิ ฉะนั้นอาจารย์กรรมฐานบางท่านจึงกล่าวว่า สมาธิที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา คือ อุปจารสมาธิ เพราะจิตยังไม่แนบแน่นมาก จึงใช้พิจารณาสภาวธรรมได้ดี แต่อาจารย์บางท่าน เช่น พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙ วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นอาจารย์วิปัสสนาของผู้เขียนได้กล่าวยืนยันว่า ในการเจริญวิปัสสนานั้นใช้ขณิกสมาธิเท่านั้น และผู้เขียนก็เห็นด้วยตามที่บอกนี้

ฉะนั้น ในการเจริญวิปัสสนานี้ใช้ขณิกสมาธิเป็นบาท (พื้นฐาน) ของวิปัสสนา แต่ถ้าใช้อุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิเป็นบาทก็ต้องถอนจิตออกมาให้เป็นขณิกสมาธิ คือ ทำจิตให้สงบชั่วขณะหนึ่ง ได้แก่ สมาธิของคนทั่วไปนั่นเอง เช่นสมาธิในการทำงาน สมาธิในการอ่านหนังสือ สมาธิในการขับรถ และสมาธิในการฟัง เป็นต้น เพราะจิตไม่รวมตัวอยู่นาน จึงใช้พิจารณาหาเหตุผลได้ดี.

การเจริญวิปัสสนาแบบที่สองนี้นิยมใช้เมื่อ เจริญสมาธิจนใจสงบมากพอสมควรแล้ว ก็ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาพิจารณาพระไตรลักษณ์นิยมใช้มากสำหรับผู้เจริญกรรมฐาน สายพุทโธหรือสายสัมมาอรหัง คือเมื่อจิตสงบแล้ว ถ้าเข้าใจวิปัสสนาและต้องการวิปัสสนา และต้องการเจริญวิปัสสนา ก็ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาได้เลย ไม่ต้องกำหนดหรือภาวนาด้านสมถะ หรือขั้นสมาธิอีกต่อไป แต่หันมาพิจารณาได้ทันที อย่างเช่น ในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นิยมพิจารณากายคตาสติ คือ อาการ ๓๒ ในร่างกาย
ให้เห็นว่าเป็นพระไตรลักษณ์ โดยให้พิจารณาในร่างกายของตน คือ ผมขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา จิตที่สงบจากการบำเพ็ญสมถะเป็นพื้นฐานมาแล้วจะยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ไว เพราะมีศีลเป็นพื้นดี และมีจิตสงบเป็นพื้นฐานมาก่อน นักปฏิบัติธรรมเช่นนี้จะบรรลุธรรมได้ไวถ้าบุญบารมีถึงเพราะมีสมาธิดีอยู่
เหมือนอย่างที่นักปฏิบัติที่ภาวนาพุทโธก่อน แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาก็ไม่ต้องภาวนาพุทโธอีก ถ้าพิจารณาสังขารทั้งหลายหรือเอาเฉพาะขันธ์ ๕ หรือมุ่งเฉพาะอาการ ๓๒ ในร่างกายของตน แต่ละข้อมาพิจารณาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา แล้วก็จะซาบซึ้งยิ่งๆ ขึ้นเจนสามารถเข้าถึงธรรม โดยการไม่ยึดมั่นถือมั่นได้ตามพลังความเพียรแลบุญบารมีของตนที่ได้บำเพ็ญมา

การเจริญวิปัสสนาแบบที่ ๒ เมื่อจิตสงบนั้น หมายถึงเมื่อจิตมีสมาธิ เพราะสมาธิหนุนให้จิตเกิดปัญญา และปัญญาในที่นี้ก็คือวิปัสสนาปัญญา เพราะในการเจริญภาวนาตามหลักพระพะศาสนานั้นจะต้องใช้ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลหนุนให้ได้สมาธิ สมาธิหนุนให้เกิดปัญญา หากปราศจากศีลเสียแล้วสมาธิจะเกิดยากหรือเกิดไม่ได้
และถ้าปราศจากสมาธิ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ เว้นไว้แต่ท่านที่มีศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้น คือในทันทีทันใด เพราะบุญบารมีที่สั่งสมมาในชาติปางก่อนเท่านั้น อย่างเช่น สันตติมหาอำมาตย์ที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น

ศีลที่เป็นพื้นฐานสมาธิของฆราวาสอย่างน้อยก็ศีล ๕ สำหรับบรรพชิตก็ต้องมีศีลของพระภิกษุ หรือถ้าเป็นสามเณรก็ต้องมีศีลของสามเณร ถ้ามีศีลบริสุทธิ์มากเทาใดก็ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น เพราะเมื่อศีลก็เป็นเหตุหนุนให้ได้สมาธิได้ดียิ่งขึ้น
ยิ่งมีสมาธิดีก็เป็นเหตุให้การเจริญวิปัสสนาได้ดียิ่งขึ้น

การเจริญวิปัสสนาโดยยึดหลักเอาปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

อีกประการหนึ่ง ผู้เจริญวิปัสสนา เมื่อใจสงบเป็นสมาธินี้ แม้แต่เพียงได้ขณิกสมาธิก็บำเพ็ญวิปัสสนาได้ดีเช่นกัน โดยเอาปรมัตถ์มาเป็นอารมณ์ คือยึดเอา ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ธาตุ ๖ หรือ นามรูป มาพิจารณา หรือพร้อมกับการสวดมนต์เกี่ยวกับพระไตรลักษณ์ แล้วพิจารณาพร้อมไปกับการสวดมนต์ หรือไม่ต้องสวดออกเสียงเป็นเพียงแต่พิจารณาก็ไดเพื่อถอนความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง โดยเฉพาะตัวตนลงให้เกิดความเบากายเบาใจจากการพิจารณาความจริงของชีวิต

การเจริญวิปัสสนาแบบนี้สามารถเจริญได้เสมอในเมื่อเข้าใจความหมาย พิจารณาตามความเป็นจริงของชีวิตสังขารว่าตกอยู่ภายใต้พระไตรลักษณ์ ไม่มีใครล่วงพ้นไปได้ ก็สามารถคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนลงได้ เมื่อเข้าถึงพระไตรลักษณ์

การเจริญวิปัสสนาโดยยึดนามรูปเป็นอารมณ์

อีกประการหนึ่งในการเจริญวิปัสสนาในเมื่อจิตสงบแล้วนี้ สามารถแม้เพียงขณิกสมาธิเจริญนามรูปเป็นอารมณ์ได้ ในการเจริญแบบนี้ ท่านแนะนำให้เจริญโดยยึดหลัก ๓ ประการ คือ

๑. เมื่อสติตามนามรูปให้ทัน คือ ขันธ์ ๕ อันประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เมื่อย่อแล้วก็คงเหลือแต่รูปกับนามเท่านั้น คือรูปยังคงเป็นรูป ส่วนเวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ๔ อย่างนี้เป็นนาม จึงเรียกขันธ์ ๕ โดยย่อว่านามรูป

แม้แต่วัตถุธาตุหรือสสารทุกชนิดในโลกก็เป็นรูปทั้งสิ้น

เมื่อนามรูปมาปรากฏเฉพาะหน้าของผู้ปฏิบัติ ก็ต้องแยกให้ออกว่า อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป

เช่นร่างกายที่นั่งอยู่ หรืออาการเคลื่อนไหวของรางกายในอาการต่างๆ ในอิริยาบถต่างๆ หรือแม้แต่เสียง กลิ่นรส และเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่มาสัมผัสร่างกายนี้เป็นรูป ส่วนจิตที่รับรู้เป็นนาม เมื่อนามและรูปเหล่านี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปอย่างไร ก็ให้มีสติตามให้ทันความเป็นไปของนามรูปนี้ ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อสร้างความสมบรูณ์ของสติ

๒. เมื่อมีสติตามนามรูปทันแล้ว ก็ให้ปัญญาพิจารณานามรูป โดยความเป็นพระไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

๓. เมื่อพิจารณานามรูปโดยความเป็นพระไตรลักษณ์แล้ว ก็ให้ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในนามรูปเสีย

ผู้ที่จะปฏิบัติตามหลักการที่กล่าวมาข้างต้นได้ดีนั้น จำต้องปลูก “อินทรีย์ ๕” คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้มีกำลังเป็น พละ ๕ และปรับให้สมดุลกัน ก็จะได้รับผลแห่งการปฏิบัติตามสมควรแก่การปฏิบัติ หรือตามสมควรแก่บุญบารมีที่ได้สั่งสมมาอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น