เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

พึ่งผิดที่ ชีวิตย่อมมีภัย


พึ่งผิดที่ ชีวิตย่อมมีภัย
ภัยของชีวิตโดยตรงคือกิเลส กล่าวอย่างสามัญคือ โลภะ ความอยากได้ โทสะ ความขัดเคือง โมหะ ความหลง เรียกกันสั้นๆ ว่า โลภ โกรธ หลง สำหรับภูมิคฤหัสถ์หมายถึงที่เป็นมูลให้ประพฤติชั่ว เรียกว่า กิเลสภัย1 อกุศลทุจริต บาปกรรม เรียกว่า ทุจริตภัย1 ทางดำเนินที่ชั่วประกอบด้วยทุกข์เดือดร้อน เรียกว่า ทุคติภัย1 ทั้งสามนี้เป็นเหตุผลเนื่องกัน คือกิเลสเป็นเหตุให้ประกอบทุจริต ทุจริตก็ส่งไปสู่ทุคติ
ภัยเหล่านี้บุคคลนั่นเองก่อขึ้นแก่ตน คือก่อกิเลสขึ้นก่อน แล้วก่อกรรมก่อทุกข์เดือดร้อน ทั้งนี้เพราะระลึกแล่นไปผิด จะกล่าวว่าถึงสรณะผิดก็ได้ คือถึงกิเลสเป็นสรณะ ได้แก่ ระลึกแล่นไปถึงสิ่งที่เป็นเครื่องก่อโลภ โกรธ หลง เช่น แก้วแหวนเงินทอง ลาภยศ ที่ไม่ควรได้ควรถึงแก่ตน จะกล่าวว่าถึงลาภยศเช่นนั้นเป็นสรณะก็ได้ ด้วยจำแนกออกเป็นสิ่งๆ และระลึกแล่นไปถึงบุคคลผู้มีโลภโกรธธหลงว่าผู้นั้นเป็นอย่างนั้น ผู้นี้เป็นอย่างนี้ และถือเอาเป็นตัวอย่าง ถึงกรรมที่เป็นทุจริตเป็นสรณะ คือ ระลึกแล่นไปเพื่อฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพื่อลักขโมยฉ้อโกง เพื่อประพฤติผิดในทางกาม เพื่อพูดเท็จ เพื่อดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท หรือระลึกแล่นไปในทางอบายมุขต่างๆ เมื่อจิตระลึกแล่นไปเช่นนี้ ก็เป็นผู้เข้านั่งใกล้กิเลสทุจริตนั้นๆ ด้วยจิตก่อน แล้วก็เข้านั่งใกล้ด้วยกาย ด้วยประพฤติทุจริตนั้นๆ ทางกาย วาจา ใจ ทางดำเนินของตนจึงเป็นทุคติตั้งแต่เข้านั่งใกล้กิเลสทุจริตในปัจจุบันนี้ทีเดียว
คนเป็นผู้ก่อภัยขึ้นแก่ตนด้วยตนเองเพราะถึงสรณะที่ผิดฉะนี้ และเพราะมีกิเลสกำบังปัญญาอยู่ จึงไม่รู้ว่าเป็นภัย ส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกแล่นไปของจิต ตลอดถึงนำกายเข้านั่งใกล้เป็นอุบาสกอุบาสิกาของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นผู้ไม่ก่อภัยเหล่านี้ เพราะพระรัตนตรัยเป็นที่ระลึกที่ไม่ก่อภัยทุกอย่าง จึงเป็นผู้ละภัยได้
อนึ่ง ผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ เข้านั่งใกล้พระรัตนตรัยย่อมเป็นผู้ใคร่ปรารถนาธรรม ที่เรียกว่าธรรมกามบุคคล จึงเป็นผู้พอใจขวนขวายและตั้งใจสดับฟังธรรม จึงได้ปัญญารู้ธรรมยิ่งขึ้นโดยลำดับ ความรู้ธรรมนั้น กล่าวโดยตรงก็คือ รู้สัจจะ สภาพที่จริง กล่าวอย่างสามัญ ได้แก่ รู้ว่าอะไรดี มีคุณประโยชน์ เป็นบุญเป็นกุศล เป็นทางเจริญ อะไรชั่วเป็นโทษ ไร้ประโยชน์ เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทางเสื่อมเสีย อะไรเป็นวิธีที่จะหลีกทางเสื่อมเสียนั้นๆ ดำเนินไปสู่ทางเจริญกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รู้อริยสัจ แปลว่า ของจริงของพระอริยะ คือรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หลักอริยสัจนี้อาจน้อมมาใช้เพื่อแก้ทุกข์ในโลกได้ทั่วไป และเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่นสอนแก่ผู้ที่ยังเกลือกกลั้วอยู่ด้วยทุกข์ และมีความปรารถนาเพื่อจะเปลื้องทุกข์ออกจากตน เพราะหลักอริยสัจเป็นหลักของเหตุผล ผลต่างๆ นั้นย่อมเกิดแต่เหตุ เมื่อจะเปลี่ยนแปลงผล ก็ต้องเปลี่ยนแปลงเหตุหรือแก้เหตุ
ผู้กล่าวว่าไม่ต้องการผลอย่างนี้ๆ แต่ยังประกอบเหตุเพื่อให้เกิดผลอย่างนั้นอยู่ ไม่สามารถจะพ้นจากผลอย่างนั้นได้ เช่น กล่าวว่าไม่ต้องการความเสื่อมทรัพย์ แต่ก็ดำเนินไปในอบายมุข มีเป็นนักเลงการพนัน เป็นต้น ก็ต้องประสบความเสื่อมทรัพย์อยู่นั่นเอง กล่าวว่าไม่ต้องการความวิวาทบาดหมางในระหว่าง แต่ยังประพฤติก่อเหตุวิวาทอยู่ ก็คงต้องวิวาทกันอยู่นั่นเอง กล่าวว่า ไม่ต้องการทุคติ แต่ยังประพฤติทุจริตอยู่ ก็คงต้องประสบทุคติอยู่นั่นเอง กล่าวว่าไม่อยากแก่ เจ็บ ตาย แต่ยังยึดถือแก่ เจ็บ ตาย เป็นของเราอยู่ ก็ต้องประสบทุกข์เหล่านี้อยู่นั่นเอง ทุกข์ในข้อหลังนี้ พระบรมศาสดาทรงยกแสดงเป็นทุกขสัจจ์ ในที่ทรงแสดงอริยสัจทั่วไป และทรงยกตัณหาคือความดิ้นรนกระเสือกกระสนของใจ เพื่อได้สิ่งที่ชอบ เพื่อเป็นนั่นเป็นนี่ เพื่อไม่เป็นนั่นเป็นนี่ ว่าเป็นเหตุเกิดทุกข์ ยกทางมีองค์แปดมีความเห็นชอบ เป็นต้น ว่าเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ความเห็นชอบนั้นก็คือ เห็นเหตุผลทั้งสองฝ่าย ตามหลักอริยสัจนี้นั้นเอง
กล่าวโดยย่อ เมื่อจะละทุกข์ก็ต้องรู้จักทุกข์และปล่อยทุกข์เสีย ด้วยปัญญาที่เข้าถึงสัจจะคือความจริง เมื่อละทุกข์ได้ ก็ย่อมประสบความสงบสุขโดยลำดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น