เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

อิสระภาพแห่งใจ2





ตอนที่ 1 | 2 | 3 | 4 | 5

ปลดปล่อยความคิดเห็นผิด

ปมข้อที่หกคือ ความคิดเห็นที่ผิด เป็นการมองที่ผิด เรามีความคิดเห็นอยู่ 5 ประเภทที่จะบอกได้ว่าเป็นความคิดเห็นที่ผิด

ความคิดเห็นที่ผิดอย่างแรกคือ กายนี้เป็นตัวฉัน ฉันคือกายนี้ ถ้าเธอเข้าใจหรือเชื่อว่าเมื่อเธอตายไปแล้วเธอจะไม่อยู่ตรงนั้นอีก และเธอเชื่อว่าก่อนที่จะเป็นกายนี้เธอไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น นั่นคือความคิดเห็นที่ผิด

ความคิดเห็นที่ผิดอย่างที่สองคือ ความเชื่อในความคิดเห็นที่เป็นสองขั้ว การเชื่อว่าฝ่ายขวานั้นตรงกันข้ามกับฝ่ายซ้าย เชื่อว่ามีการเกิด-มีการตาย เชื่อว่ามีข้างนอก-มีข้างใน เชื่อว่ามีการเป็นอยู่-มีการไม่เป็นอยู่ เชื่อว่ามีความเหมือนกัน-มีความต่างกัน ความคิดเห็นที่มองทุกสิ่งออกเป็นสองขั้วที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน การมองแบบนี้จะนำความทุกข์มาให้เราทั้งสิ้น พระพุทธองค์ทรงพยายามทำให้เรามีความสามารถ ที่จะข้ามพ้นความคิดเห็นที่เป็นคู่ตรงข้ามกันแบบนี้ เพื่อให้เราเข้าสู่ความเป็นอิสระ ความเป็นอิสระที่ข้ามพ้นความคิดเห็นสองขั้วนั่นคือการมองทางสายกลาง นั่นจะทำให้เราไม่ติดยึดแบบนี้ นี่เป็นคำสอนที่กว้างและลึกมาก

ความเห็นที่ผิดข้อที่สามคือ การยึดติดอยู่กับความคิดเห็นใดความคิดเห็นหนึ่ง เมื่อมีความคิดเห็นเช่นนี้ นั่นคือจุดจบในความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณของเธอ เมื่ออะไรก็ตามที่เธอได้เรียนรู้ ได้ยิน เธอควรจะมีความระมัดระวัง และไม่ควรจะตัดสินไปว่ามันคือความจริงอันสูงสุด เธอควรปล่อยวางเพื่อจะได้ก้าวเข้าไปสู่ความจริงที่สูงขึ้น เมื่อเธอมีปัญญาเห็นชอบในเรื่องหนึ่ง และเธอคิดว่าปัญญาเห็นชอบนั้นเป็นความจริงอันสูงสุดแล้ว เธอย่อมไม่สามารถที่จะรับความจริงที่สูงกว่านั้น และเธอก็ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง เธอต้องมีความพร้อมที่จะปลดปล่อยความเข้าใจของเธอ ปล่อยวางปัญญาที่ได้รับและความคิดเห็นที่เธอมีอยู่ เหมือนกับเธอเดินขึ้นบันได เมื่อเราเดินขึ้นบันไดไปถึงขั้นที่สี่ เราคิดว่านั่นคือขั้นสูงสุดแล้ว เธอก็จะไม่สามารถเดินขึ้นบันได้ที่สูงขึ้นไปได้อีก เธอต้องปล่อยวางขั้นที่สี่เพื่อที่จะข้ามไปยังขั้นที่ห้า เมื่อเธอเดินขึ้นไปบนขั้นที่ห้าเธอก็ควรที่จะพร้อมปลดปล่อยขั้นที่ห้าเพื่อที่จะเดินขึ้นไปบนขั้นที่หก เพราะฉะนั้น หากความรู้หนึ่งเป็นอุปสรรคต่อความรู้อื่น เธอควรปลดปล่อยความรู้นั้นเพื่อเข้าไปสู่ความรู้หรือความเข้าใจที่สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง นี่คือความหมายของการไม่ติดยึดกับความคิดเห็น ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์มาก เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติหรือควรปฏิบัติ

ความคิดเห็นที่ผิดข้อที่สี่คือ ความเชื่อที่ว่า สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขปัจจัย นั่นคือความคิดเห็นที่บิดเบือน กฎที่แท้จริงคือ เมื่อเธอได้มีความคิดเห็นอันใด เธอก็จะได้ผลผลิตจากความคิดเห็นนั้น เมื่อเธอบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธ เธอก็จะได้รับผลนั้น เมื่อเธอบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการคิดแบบนี้ เธอก็จะได้รับผลของการคิดเช่นนั้น เมื่อเธอสังเกตสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างลึกซึ้ง เธอก็จะเห็นว่า สิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะเงื่อนไขเหตุปัจจัยหลายอย่างมารวมกันที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้น แต่ถ้าเธอไม่คิดว่ามันมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดผลนั้นขึ้นมา เธอคิดว่ามันมีเหตุอย่างเดียวที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นมา นั่นคือความคิดเห็นที่บิดเบือน

หากเธอไม่เชื่อว่าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นจากวิถีการใช้ชีวิตของเรา นั่นคือความคิดเห็นที่บิดเบือน นั่นก็คือการกระทำที่ผิด ความคิดเห็นที่ผิด เธอคิดว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นมาของมันเอง โดยไม่คิดว่ามันมีเหตุมาจากการดำเนินชีวิต นี่คือความคิดเห็นบิดเบือนจากความเป็นจริง

ความเห็นผิดข้อที่ห้าคือ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ หากเธอเชื่อว่าการมีพิธีกรรมแบบนี้จะทำให้เธอได้รับการปลดปล่อยออกมาจากนรกหรือบาป นั่นคือสิ่งที่เธอยึดติดกับความเชื่อในพิธีกรรม เมื่อเธอเชื่อว่าเธอทานเนื้อสัตว์อะไรก็ได้ยกเว้นเนื้อวัว เมื่อเธอไม่ทานเนื้อวัวแล้วจะทำให้เธอเป็นนักบุญ หรือเธอทานเนื้ออะไรก็ได้ยกเว้นเนื้อหมู นี่เป็นเช่นเดียวกันกับความคิดต้องห้ามที่เรามีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความคิดในแง่ไสยศาสตร์เหล่านี้ไม่ช่วยให้เธอเป็นอิสระ สิ่งที่จะนำมาซึ่งการปลดปล่อยคือความเข้าใจจนเกิดปัญญา ใช่ว่าการสังเกตถึงความคิดต้องห้ามแบบนี้จะทำให้เธอเป็นอิสระ นั่นไม่เพียงพอ เธอต้องมองอย่างลึกซึ้งและเข้าใจอย่างแท้จริง เธอถึงจะปลดปล่อยได้

นี่คือความคิดเห็นผิด 5 ประการที่เธอจะต้องปลดปล่อยจากจิตปรุงแต่งของเธอ


เสียงระฆังแห่งสติ ))) ))) )))


คลายจากปมพิธีกรรมที่ว่างเปล่า

แท้จริงแล้วการกราบไหว้คือการทำสมาธิอย่างหนึ่ง คือการมองอย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นก่อนที่เราจะกราบไหว้พระพุทธองค์ เราจะต้องรู้ว่าพระพุทธองค์อยู่ในตัวเรา และเราอยู่ในตัวพระพุทธองค์ เราและพระพุทธองค์นั้นเป็นความว่างโดยธรรมชาติ และนี่คือพลังแห่งการหลุดพ้น

หากเราไม่ทำเช่นนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราเชื่อว่า การกราบไหว้พระพุทธองค์คือการอธิษฐานให้เราได้รับความปลอดภัย เมื่อนั้นเธอกำลังยึดติดกับพิธีกรรม เช่นเดียวกับเมื่อพระชาวคริสเตียนฉีกชิ้นขนมปังให้เธอในพิธีของชาวคริสเตียน แล้วเธอเชื่อจริงๆ ว่านั่นคือเนื้อของพระเยซู เธอกำลังติดยึดอยู่กับพิธีกรรม ที่วัดของเราเวลาที่เราหยิบขนมปังชิ้นหนึ่งขึ้นมา เรามองอย่างลึกซึ้งเพื่อให้เห็นว่าชิ้นขนมปังนั้นคือตัวแทนของจักรวาลทั้งหมด ในชิ้นขนมปังเธอสามารถเห็นพระอาทิตย์ ก้อนเมฆ และทุกสิ่งทุกอย่าง จักรวาลทั้งจักรวาลนั้นอยู่ในขนมปัง เมื่อเธอทานขนมปัง เธอก็สัมผัสกับจักรวาล ผืนดิน และโลกทั้งหมด นั่นคือการปฏิบัติเจริญสติ เจริญสมาธิ และเกิดปัญญา

นักบวชชาวคริสเตียนประกอบพิธีกรรม เพื่อให้เธอได้สัมผัสกับพระเยซูที่อยู่ในตัวเธอ และพระชาวคริสต์นั้นควรทำให้พิธีกรรมมีชีวิตชีวาขึ้นมาจริงๆ ณ ที่นี่ ในขณะนี้ เหมือนกับเวลาที่เราเชิญระฆัง ทุกคนกลับมาสู่บ้านแห่งปัจจุบันขณะ เราก็กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ถ้าเราไม่มีชีวิตชีวาขึ้นมาจริงๆ เราเพียงแต่ดำรงในความเงียบและทำไปตามพิธีกรรม เรากำลังติดยึด ในพิธีของชาวคริสต์จะต้องมีชีวิตชีวา ผู้เข้าร่วมในโบสถ์จึงจะมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ และนั่นคือเป้าหมายของพิธีกรรม พิธีกรรมแบบนั้นใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากเราทำตามพิธีกรรมเพียงเพราะว่านั่นเป็นพิธีกรรม เราจะไม่ได้รับอะไรเลย แต่ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงกับพระเยซู และสัมผัสได้ว่าพระเยซูอยู่ในตัวเรา นั่นย่อมเป็นมากกว่าการทำตามพิธีกรรม สิ่งเหล่านี้เป็นจริงในทุกประเพณี ทุกศาสนา

หากเราติดยึดในพิธีกรรม เราก็ต้องปลดปล่อยพิธีกรรมเหล่านี้ เมื่อเราจัดวันแห่งสติ เราจะต้องจัดในวิถีทางที่ทำให้วันแห่งสตินั้นเป็นชั่วขณะแห่งสติ เป็นชั่วขณะแห่งความเบิกบาน ความสงบ และความอิสระ ไม่อย่างนั้นแล้ว ถึงแม้ว่าวันแห่งสติจะเต็มไปด้วยการนั่งสมาธิ การสวดมนต์ แต่กลับว่างเปล่าจากความมีชีวิตชีวาและความปิติเบิกบาน วันแห่งสติก็เป็นแค่เพียงพิธีกรรม แม้แต่การนั่งสมาธิ เดินสมาธิ การสวดมนต์ก็อาจกลายเป็นพิธีกรรมที่ว่างเปล่าได้ นี่คือเงื่อนไขปมอันหนึ่งที่เราจะต้องปลดปล่อย เพื่อไปสู่การหลุดพ้นที่แท้จริง ...๐





แท้จริงแล้วการกราบไหว้
คือการทำสมาธิอย่างหนึ่ง
คือการมองอย่างลึกซึ้ง
ฉะนั้นก่อนที่เรา
จะกราบไหว้พระพุทธองค์
เราจะต้องรู้ว่า
พระพุทธองค์อยู่ในตัวเรา
และเราอยู่ในตัวพระพุทธองค์
เราและพระพุทธองค์นั้น
เป็นความว่างโดยธรรมชาติ
และนี่คือพลังแห่งการหลุดพ้น
ตอนที่ 1 | 2 | 3 | 4 | 5

อิสรภาพแห่งใจ
ปาฐกถาธรรมวันที่ 18 มิถุนายน 2552 งานภาวนา 21 วัน "The Path of the Buddha"
วัดบน (Upper Hamlet) หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส

แปลโดย : ภิกษุณีนิรามิสา
ถอดความ : สหรัฐ เจตมโนรมย์ - จิตต์จิตบุณย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น