เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

จุดหมายของชีวิต


จุดหมายของชีวิต
ชีวิตอันอุดม เป็นจุดหมายที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทุกคนปฏิบัติให้ถึง ถ้าจะตั้งปัญหาว่าอะไรคือชีวิตอันอุดม ก็น่าจะต้องพิจารณากัน คำว่า อุดม แปลว่า สูงสุด ชีวิตอันอุดมคือชีวิตที่สูงสุด ผลที่ปรารถนาจะได้อย่างสูงสุดในชีวิตใช่ไหมเป็นชีวิตอันอุดม ถ้าถือเอาความปรารถนาเป็นเกณฑ์ดังนี้ ก็ตอบได้ว่าไม่ใช่เกณฑ์จัดระดับชีวิตของพระพุทธเจ้าแน่นอน เพราะแต่ละคนย่อมมีความปรารถนาต่างๆ กัน ทั้งเพิ่มความปรารถนาขึ้นได้เสมอ จนถึงมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา(ความอยาก) ไม่มี” เช่น บางคนอยากเรียนให้สำเร็จปริญญาขั้นนั้นขั้นนี้ บางคนอยากเป็นเศรษฐี บางคนอยากเป็นเจ้าเมือง อยากเป็นอธิบดี อยากเป็นผู้แทนราษฎร อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น แต่คนที่มีความอยากดังนี้ จะประสบความสำเร็จดังที่อยากได้สักกี่คน ตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมมีจำนวนจำกัด จะเป็นด้วยกันทุกคนหาได้ไม่ บางทีคนที่ไม่ได้คิดปรารถนาว่าจะเป็นก็ได้เป็นบางคนคิดอยากและขวนขวายต่างๆ มากมายก็ไม่ได้เป็น ต้องไปเป็นอย่างที่ไม่อยากก็มีอยู่มาก
ฉะนั้น ผลที่ได้ด้วยความอยากอันเป็นตัณหา จึงมิใช่เป็นเกณฑ์จัดว่าเป็นชีวิตอันอุดมเช่นว่าเมื่อได้เป็นอย่างนั้นๆ แล้วก็เป็นอันได้ถึงขีดชีวิตอันอุดม ในทางโลกอาจจะเข้าใจกันเช่นนั้น เช่น ที่พูดว่ากำลังรุ่งเรือง หมายถึงอยู่ในตำแหน่งสูง มีทรัพย์ มีบริวารมาก ก็ว่าชีวิตขึ้นถึงขีดสูงแต่ละคนย่อมมีขีดสูงสุดต่างกัน ขีดสูงสุดผู้ใดก็เป็นชีวิตอันอุดมของผู้นั้น แต่ความขึ้นถึงขีดสูงสุดของชีวิตแบบนี้ ตามสายตาของท่านผู้รู้ย่อมว่าเป็นเหมือนอย่างความขึ้นของพลุ หรือความขึ้นของปรอทคนเป็นไข้ คือเป็นของชั่วคราว บางทีในขณะที่ชะตาชีวิตขึ้นสูงนั้น กลับมีชีวิตไม่เป็นสุข ต้องเป็นทุกข์มากเสียอีก บางคนอาจจะไม่ต้องการตำแหน่งอะไรสูงนัก แต่อยากเรียนให้รู้มากๆ ให้สำเร็จชั้นสูงๆ สิ่งอื่นๆ ไม่สำคัญ แต่ความมีวิชาสูง (ทางโลก) จะหมายความว่ามีชีวิตสูงขึ้นด้วยหรือไม่
อันวิชาย่อมเป็นปัจจัยอุดมหนุนชีวิตขึ้นอย่างหนึ่ง แต่จะต้องมีปัจจัยอื่นร่วมสนับสนุนอีกหลายอย่าง ดังจะเห็นตัวอย่างคนที่เรียนมามีวิชาสูงๆ แต่รักษาตัวไม่รอด หรือรักษาตัวให้ดีตามสมควรไม่ได้ ทั้งไม่ได้รับความนับถือจากคนทั้งหลายก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงได้ทรงวางเกณฑ์ของชีวิตไว้ว่า ชีวิตมี 3 อย่างก่อน คือ ทุชีวิต ชีวิตชั่วร้าย หมายถึงคนที่ใช้ชีวิตทำกรรมชั่วร้ายต่างๆ โมฆชีวิต ชีวิตเปล่า หมายถึงคนที่ปล่อยให้ชีวิตล่วงไปเปล่าปราศจากประโยชน์ และสุชีวิต ชีวิตดี หมายถึงคนที่ใช้ชีวิตประกอบกรรมที่ดีที่ชอบต่างๆ และชีวิตดีนี้นี่เอง เมื่อมีมากๆ ขึ้นจะกลายเป็นชีวิตอุดมในที่สุด
ชีวิตอันอุดมคือชีวิตอันสูงสุด ในแง่ของพระพุทธศาสนาคือชีวิตที่ดี อันเรียกว่าสุชีวิต หมายถึงความดีที่อาศัยชีวิตทำขึ้น ชีวิตของผู้ที่ทำดีจึงเรียกว่าชีวิตดี เมื่อทำดีมาก ชีวิตก็สูงขึ้นมาก ทำดีที่สุด ชีวิตก็สูงสุด
ที่เรียกว่าชีวิตอุดมนั้น องค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่าความดีในชีวิตมี 4 ประการ คือ กรรม วิชา ศีล และธรรม อธิบายสั้นๆ กรรม คือการงานที่ทำ หมายถึงการงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆ วิชา คือความรู้ในศิลปวิทยา ศีล คือความประพฤติที่ดี ธรรม คือคุณสมบัติที่ดีในจิตใจ ชีวิตที่ดีจะต้องมีองค์คุณทั้งสี่ประการนี้ ชีวิตจะสูงขึ้นเพียงไร ก็สุดแต่องค์คุณทั้งสี่นี้จะสูงขึ้นเท่าไร
นึกดูถึงบุคคลในโลกที่คนเป็นอันมากรู้จัก เรียกว่าคนมีชื่อเสียง ลองตรวจดูว่าอะไรทำให้เขาเป็นคนสำคัญขึ้น ก็จะเห็นได้ว่า ข้อแรกก็คือกรรม การงานที่เขาได้ทำให้ปรากฏเป็นการงานที่สำคัญในทางดีก็ได้ ในทางเสียทางร้ายก็ได้ ในทางดี เช่น คนที่ได้ทำอะไรเป็นสิ่งเกื้อกูลมาก ในทางชั่ว เช่น คนที่ทำอะไรเลวร้ายเป็นข้อฉกรรจ์ เหล่านี้เกี่ยวแก่กรรมทั้งนั้น
ไม่ต้องคิดออกไปให้ไกลตัว คิดเข้ามาที่ตนเอง ก็จะเห็นว่าการงานของตนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต คนเราทุกคนจะเป็นอะไรขึ้นมาก็เพราะการงานของตน เช่น จะเป็นชาวนาก็เพราะทำนา กสิกรรมเป็นการงานของตน ของผู้ที่เป็นชาวนา จะเป็นพ่อค้าก็เพราะทำพาณิชยการ คือการค้า จะเป็นหมอก็เพราะประกอบเวชกรรม จะเป็นนักเรียนนักศึกษาก็เพราะทำการเรียนการศึกษา จะเป็นโจรก็เพราะทำโจรกรรม ดังนี้เป็นต้น
กรรมทั้งปวงนี้ ไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมเกิดจากการทำ อยู่เฉยๆ จะเป็นกรรมอะไรขึ้นมาหาได้ไม่ จะเป็นกรรมชั่วก็เพราะทำ อยู่เฉยๆ กรรมชั่วไม่เกิดขึ้นมาเองได้ แต่ทำกรรมชั่วอาจรู้สึกว่าทำได้ง่าย เพราะมักมีความอยากจะทำ มีแรงกระตุ้นให้ทำ ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “กรรมชั่วคนชั่วทำง่าย แต่คนดีทำยาก”
ฉะนั้น ใครที่รู้สึกตนว่าทำชั่วได้ง่าย ก็ต้องเข้าใจว่าตนเองยังเป็นคนชั่วอยู่ในเรื่องนั้น ถ้าตนเองเป็นดีขึ้นแล้ว จะทำชั่วในเรื่องนั้นได้ยากหรือทำไม่ได้เอาทีเดียว ชีวิตชั่วย่อมเกิดจากการทำชั่วนี่แหละ”
ส่วนกรรมดีก็เหมือนกัน อยู่เฉยๆ จะเกิดเป็นกรรมดีขึ้นมาเองหาได้ไม่ แต่อาจรู้สึกว่าทำกรรมดียาก จะต้องใช้ความตั้งใจ ความเพียรมาก แม้ในเรื่องของกรรมดี พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า “กรรมดีคนดีทำง่าย แต่คนทำชั่วทำยาก”
ฉะนั้นใครที่ทำดียากในข้อใด ก็พึงทราบว่าตนเองยังไม่ดีพอ ต้องส่งเสริมตนเองให้ดีขึ้นอีกด้วยความพากเพียรทำกรรมดีนี่แหละ ถ้าเกียจคร้านไม่ทำกรรมดีอะไร ถึงจะไม่ทำกรรมชั่ว ชีวิตก็เป็นโมฆชีวิต คือชีวิตเปล่าประโยชน์ ค่าของชีวิตจึงมีได้ด้วยกรรมดี ทำกรรมดีมาก ค่าของชีวิตก็สูงมาก
ชีวิตของทุกคนเกี่ยวข้องกับกรรม ทั้งที่เป็นกรรมเก่า ทั้งที่เป็นกรรมใหม่ จะกล่าวว่าชีวิตเป็นผลของกรรมก็ได้
คำว่า กรรมเก่า กรรมใหม่ นี้อธิบายได้หลายระยะ เช่น ระยะไกล กรรมที่ทำแล้วในอดีตชาติเรียกว่ากรรมเก่า กรรมที่ทำแล้วในปัจจุบันชาติเรียกว่ากรรมใหม่ อธิบายอย่างนี้อาจจะไกลมากไป จนคนที่ไม่เชื่ออดีตชาติเกิดความคลางแคลง ไม่เชื่อ จึงเปลี่ยนมาอธิบายระยะใกล้ว่าในปัจจุบันชาตินี้แหละ กรรมที่ทำไปแล้วตั้งแต่เกิดมาเป็นกรรมเก่า ส่วนกรรมที่เพิ่งทำเสร็จลงไปใหม่ๆ เป็นกรรมใหม่ แม้กรรมที่กำลังทำหรือที่จะทำก็เป็นกรรมใหม่
ความมีชีวิตดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่แก่กรรมที่ทำแล้วนี้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ความขึ้นหรือลงแห่งชีวิตย่อมแล้วแต่กรรม แต่ก็อาจจะกล่าวว่าย่อมแล้วแต่บุคคลด้วย เพราะบุคคลเป็นผู้ทำกรรม เป็นเจ้าของกรรม สามารถที่จะละอกุศลกรรมด้วยกุศลกรรมได้ คือสร้างกุศลกรรมขึ้นอยู่เสมอ เมื่อกุศลกรรมมีกำลังแรงกว่า อกุศลกรรมจะตามไม่ทัน หรือจะเป็นอโหสิกรรมไป
แต่ในการสร้างกุศลกรรมนั้น ย่อมขึ้นอยู่แก่จิตใจเป็นประการสำคัญ คือจะต้องมีจิตใจประกอบด้วยสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ ตั้งต้นแต่เห็นว่าอะไรเป็นบาปอกุศล อะไรเป็นบุญกุศลตลอดถึงเห็นในเหตุผลแห่งทุกข์และความดับทุกข์ตามเป็นจริง ความเห็นชอบดังนี้จะมีขึ้นก็ต้องอาศัยวิชาที่แปลว่าความรู้
อันคำที่หมายถึงความรู้มีอยู่หลายคำ เช่น วิชา ปัญญา ญาณ เฉพาะคำว่า วิชา หมายถึงคามรู้ดังกล่าวก็ได้ หมายถึงวิชาที่เรียนรู้ ดังที่พูดกันว่าเรียนวิชานั้นวิชานี้ก็ได้ ในที่นี้หมายถึงรวมๆ กันไป จะเป็นความรู้โดยตรงก็ได้ จะเป็นความรู้ที่เรียนดังที่เรียกว่าเรียนวิชาก็ได้ เมื่อหมายถึงตัวความรู้โดยตรงก็เป็นอย่างเดียวกับปัญญา
วิชาเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งชีวิตอีกข้อหนึ่ง และเมื่อพิจารณาดูแล้ว จะเห็นว่ากรรมทุกๆอย่างย่อมต้องอาศัยวิชา ถ้าขาดวิชาเสีย จะทำกรรมอะไรหาได้ไม่ คือจะต้องมีวิชาความรู้จึงจะทำอะไรได้ ทุกคนจึงต้องเรียนวิชาสำหรับใช้ในการประกอบกรรมตามที่ประสงค์ เช่น ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกสิกรรมก็ต้องเรียนวิชาทางกสิกรรม จะประกอบอาชีพทางตุลาการหรือทนายความ ก็ต้องเรียนวิชากฎหมาย ดังนี้เป็นต้น นี้เป็นวิชาความรู้ทั่วไป
วิชาอีกอย่างหนึ่งคื่อวิชาที่จะทำให้เป็นสัมมาทิฐิดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละอกุศลกรรมด้วยกุศลกรรม และที่จะเป็นเหตุให้ละความทุกข์ที่เกิดขึ้นทางใจได้ วิชาละอกุศลธรรมและวิชาละความทุกข์ใจนี้ เป็นวิชาสำคัญที่จะต้องเรียนให้รู้ และเป็นวิชาของพระพุทธเจ้าโดยตรง ถึงจะรู้วิชาอื่นท่วมท้น แต่ขาดวิชาหลังนี้ ก็จะรักษาตัวรอดได้โดยยาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น