เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

แบบที่ ๓ เจริญพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าออก


แบบที่ ๓ เจริญพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าออก

การเจริญวิปัสสนาแบบที่ ๓ นี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้เองในอานาปนสติสูตร
คัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสน์ ซึ่งกล่าวถึง อานาปนสติ ๑๖ ขั้น
โดยเฉพาะใน ๔ ขั้นสุดท้ายเป็นธัมมานุปัสสนาซึ่งเป็นวิปัสสนาล้วน
ในอานาปนสติ ๑๖ ขั้นนั้น ๔ ขั้นแรก หรือจตุกกะแรกเป็นสมถะล้วน
๔ ขั้นที่ ๒ และ ๔ ขั้นที่ ๓ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา
ส่วน ๔ขั้นที่ ๔ หรือจตุกกะที่ ๔ ตั้งแต่ขั้นที่ ๑๓ ถึงขั้นที่ ๑๖ เป็นวิปัสสนาล้วน

ขั้นที่ ๑๓ อนิจจานุปัสสี

ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้าหายใจออก
หายใจเข้าก็ไม่เที่ยง หายใจออกก็ไม่เที่ยง อะไรไม่เที่ยง
ก็ชีวิตร่างกายเรานี้ไม่เที่ยง ทั้งรูปทั้งนามไม่เที่ยง
หายใจเข้าไม่เที่ยง หายใจออกไม่เที่ยง
เพียงแต่เห็นความไม่เที่ยงอย่างเดียว ถ้าเข้าใจพระไตรลักษณ์ได้ตลอด
ก็สามารถเข้าถึงสภาวธรรมขั้นวิปัสสนานี้ได้ชัด เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า

“ยทนิจจํ ........สิ่งใดไม่เที่ยง
ตํ ทุกขัง .........สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ยํ ทุกฺขํ .........สิ่งใดเป็นทุกข์
ตํ อนฺตตา .......สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน”

ขั้นที่ ๑๔ วิราคานุปัสสี

ตามเห็นความจางคลาย หายใจเข้า หายใจออก
จางคลาย หรือคลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงให้จางคลายเสีย

ราคะ แปลว่า “ความติด” วิราคะ แปลว่า “ความไม่ติด”
ให้คลายจากความติด ความยึดมั่นถือมั่นให้คลายเสีย
หายใจเข้าก็ภาวนาว่าจางคลาย หายใจออกก็ภาวนาว่าจางคลาย

จางคลายศัพท์นี้เอาไปใช้ในเวลาปวดด้วยก็ได้ เมื่อรุ้สึกปวดมากๆ แม้ในขณะที่นั่งภาวนา
“จางคลาย...จางคลาย” ก็จะกายเหมือนกัน หรือถ้าเรามีโรคภัยไข้เจ็บหนัก
ก็ให้ภาวนาโดยส่งจิตที่มีพลังไปว่า “จางคลาย...จางคลาย” ก็จะหายได้

ขั้นที่ ๑๕ นิโรธานุปัสสี

ตามเห็นความดับ ขณะหายใจเข้าและขณะหายใจออก คือ
ดับโลภ โกรธหลง หายใจเข้าก็ดับ หายใจออกก็ดับ การเห็นความดับนี้
ในหลักการปฏิบัตินั้นจะต้องเห็นความเกิดด้วย คือ เห็นความเกิดดับของนามรูป
เพราะเมื่อเห็นความเกิดดับของนามรูปก็เป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่าย
ในการครองสังขาร คือการเวียนว่ายตายเกิด ชื่อว่ามีชีวิตประเสริฐ
ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับนางภิกษุณีรูปหนึ่งว่า

“โย จ วสิสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ”

แปลว่า

ผู้ใดไม่เห็นการเกิดดับของนามรูป
แม้จะมีชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี
ก็สู้ผู้ที่เห็นความเกิดดับของนามรูป
ซึ่งมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวไม่ได้

ฉะนั้นการภาวนาในข้อนี้ ถ้าส่งจิตไปที่ท้อง ที่มีอาการพองขึ้นเมื่อหายใจเข้า
และยุบลงเมื่อหายใจออก ก็จะได้ผลดีเพิ่มขึ้น คือ
เมื่อหายใจเข้าก็ภาวนาว่า “เกิด” หายใจอออกก็ภาวนาว่า “ดับ”
หรือถ้าผู้ใดมีลมหายใจยาวมากขึ้น ก็จะใส่คำว่า “อยู่”
มาต่อข้างท้ายว่า “เกิดอยู่” เมื่อหายใจเข้า และ “ดับอยู่”
เมื่อหายใจออก ก็จะชัดมากขึ้น เพราะคำว่า “อยู่” เป็นปัจจุบันธรรม

อะไรเกิด อะไรดับ ก็นามรูปมันเกิด มันดับอยู่ตลอดเวลาในร่างกายของเรา
คือ รูป ดับ ๑ ครั้ง จิต จะดับ ๑๗ ครั้ง หรือ ๑๗ ขณะจิต
เราจะรู้ หรือไม่รู้มันก็เกิดดับของมันอยู่อย่างนั้น
เช่น เซลส์ เลือด เซลส์กระดูก เซลส์เนื้อ ตายไปตลอดเวลา
ถ้าหากว่าเซลส์เราไม่ตาย เราก็ไม่ต้องทานอาหารเข้าไปอีก เพราะยังสมบรูณ์อยู่
แต่ที่เราต้องทานอาหารก็เพราะว่าเซลส์มันตาย เราจึงต้องซ่อมเซลส์

เพราะฉะนั้น ในร่างกายของเรานี้จึงมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
เราจึงต้องตามเห็นการเกิดดับของนามรูปให้มาก
เพราะคนที่ไม่เห็นการเกิดดับของนามรูป
แม้จะมีชีวิตอยู่นานก็สู้คนที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
แต่เห็นการเกิดดับของนามรูปไม่ได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญไว้

ดังนั้น สิ่งใดที่มีการเกิดดับ แสดงว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
และเมื่อสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา
แล้วควรหรือที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่านี้เป็นของเรา
เราเป็นโน่นเป็นนี้ เป็นตัวเป็นตนของเรา
จึงให้ภาวนาว่า “เกิด” เมื่อหายใจเข้า และภาวนาว่า “ดับ” เมื่อหายใจออก
การภาวนาอย่างนี้เอง

ขั้นที่ ๑๖ ปฏินิสัคคานุปัสสี

ตามเห็นความสละคืน คือความปล่อยวาง หายใจเข้า หายใจออก
ปล่อยวางอะไร อะไรก็ได้ที่มันวุ่นวาย เป็นตัวทุกข์
วางให้หมด ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น แม้ไม่วางขณะนี้ ในที่สุดก็ต้องวางอยู่แล้ว
หายใจเข้าก็ภาวนา ว่าปล่อยวาง หายใจออกก็ภาวนาว่าปล่อยวาง

เพราะฉะนั้น ในเวลาปฏิบัติต้องการจะให้ ผู้ปฏิบัติได้ใช้ ๔ คำ คือ
ไม่เที่ยง, จางคลาย, ดับหาย, ปล่อยวาง,

เอาคำใดคำหนึ่ง คือ หายใจเข้า “ไม่เที่ยง” หายใจออก “ไม่เที่ยง”
หรือหายใจเข้า “จางคลาย” หายใจออก “จางคลาย”
หรือหายใจเข้า “ดับหาย” หายใจออก “ดับหาย”
หรือหายใจเข้า “ปล่อยวาง” หายใจออก “ปล่อยวาง”
ส่วนคำว่า “ดับหาย” ใครจะเปลี่ยนไปภาวนาว่า “ดับสนิท” ก็ได้

แต่ในหลักปฏิบัติที่สูงขึ้นให้ใช้คำว่า “เกิดอยู่” “ดับอยู่” แทนตลอดไป
เพราะเป็นบทภาวนาที่นิยมปฏิบัติกันมากอย่างหนึ่ง
ทั้งได้ความหมายในการเจริญวิปัสสนาชัดมาก

ในการภาวนาหลักวิปัสสนาพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก
ทั้ง ๔ คำที่กล่าวมาข้างต้นนี้
ถ้าภาวนาคำใดได้ผลดี เหมาะกับจริตนิสัยของตน
ก็ให้เอาคำนั้นเพียงคำเดียว แล้วจิตจะคลายลงไปเอง
ให้พิจารณาอย่างนั้นโดยส่งจิตไปที่ท้องก็ได้ ที่อกก็ได้ หรือที่จมูกก็ได้
แล้วจิตจะเกิดความสงบ รู้แจ้งเห็นจริงขึ้นในที่สุด

วิธีการเจริญวิปัสสนา ๓ แบบนี้ หากผู้ใดเจริญเป็นทำได้ถูกต้อง
จิตจะเข้าสู่ความสงบ และคลายจากความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างแน่นอน
ฉะนั้น ขอให้ผู้ปฏิบัติพึงเจริญวิปัสสนาตามที่กล่าวมาแล้ว โดยใช้แบบใดแบบหนึ่ง
หรือทั้ง ๓ แบบ ตามความเหมาะสมของตน
จิตก็จะเข้าสู่ความสงบ เข้าสู่การปล่อยวางได้ในที่สุด
เป็นการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องตามหลักพระศาสนา

ผู้ใดได้เจริญเป็นประจำ แม้จะไม่ถึงซึ่งความสิ้นทุกข์
แต่ความสุขความสงบ และความเจริญรุ่งเรืองจะมีขึ้นทั้งในปัจจุบันชาติ
และในสัมปรายภพอย่างแน่นอน
ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

ในปัจจุบัน โลกได้เจริญในด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการไปมากเพียงไร
ก็ยิ่งสนับสนุนพุทธรรมมากขึ้นเพียงนั้น

เนื้อหาสาระทุกตอนในบทความนี้
หากผู้ใดอ่านจนจบโดยอ่านอย่างพิจารณาให้ถ่องแท้และนำไปปฏิบัติด้วยตนเอง
หรือนำไปแนะนำผู้อื่นได้ ก็เชื่อมั่นว่าจะได้รับผลแห่งการปฏิบัติอย่างคุ้มค่าแน่นอน
และชีวิตจะสงบสุขขึ้น เพราะเข้าสู่หลักการแบบบูรณาการ (Integration)
ในหลักธรรมของพระบรมศาสดาของเรา

เพราะพระธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
พระธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้
การได้รับความสุข ความเจริญรุ่งเองนั้น คือ
คุณค่าหรือผลานิสงส์แห่งการประพฤติธรรม




(ที่มา : เอกสารประกอบการสอบเข้าศึกษาต่อ หลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา : “วิชาทฤษฎีและการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน”. บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย, หน้า ๙๔-๑๐๔.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น