เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

สนทนาธรรมถึงสภาวะภายในกับสภาพการเมืองในปัจจุบัน







เจริญ ตรงวรานนท์ - จิตตปัญญา : ถอดความ
กฤติมา ธรรมมิตร - จิตราพรหมจริยา : เรียบเรียง
ตอนที่ 1 | 2
จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เต็มไปด้วยการแบ่งแยก ออกเป็นสองฝักฝ่าย การคอยโต้แย้งหักล้างแนวความคิดซึ่งกันและกัน และการใช้ความรุนแรง ทำให้เพื่อนผู้ฝึกปฏิบัติหลายๆ คน มองเห็นถึงความจำเป็นที่เราต้องฝึกปฏิบัติเจริญสติ เพื่อรักษา สันติภาพในใจของเราไว้

ในช่วงเย็นของวันที่ 10 กันยายน 2551 กลุ่มสังฆะวันอังคารได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติร่วมกับ คณะภิกษุและภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม นำโดย หลวงพี่นิรามิสา หลวงพี่นำธรรม (หลวงพี่ฟับหยุ่ง) และ หลวงพี่สมกัลยา (หลวงพี่เขเงียม หรือ หลวงพี่มะเฟือง) ในช่วงสนทนาธรรม สมาชิกสังฆะ หลายคนได้แบ่งปัน และ ถามคำถามถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนและสะเทือน ถึงสภาวะภายในจิตใจของทุกคน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ต่อไปนี้คือ คำถามจากหัวใจ และคำตอบจากปัญญา ที่หลวงพี่ทั้งสามรูปได้แบ่งปันให้กับพวกเรา ทุกคน


คำถาม 1 : สำหรับผม มีสองขั้วความคิดอยู่ในที่ทำงานเดียวกัน อย่างไรก็ดีผมพยายามคงความสัมพันธ์ที่ดีไว้ แม้ว่า เราจะคิดไม่เหมือนกัน แต่ก็พยายามไม่ปะทะกัน หลายครั้งก็มีเหตุให้ปะทะกัน ทำให้เกิดอารมณ์และบรรยากาศในที่ทำงาน ร้อนขึ้น อยากได้คำชี้แนะว่าในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะอยู่กับคนที่คิดต่างในทางการเมืองอย่างสันติได้อย่างไร

คำถาม 2 : ในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อนและคนรอบข้างมักพูดว่าพวกเราควรจะทำอะไรสักอย่าง บางครั้งก็รู้สึกผิดที่ ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่รู้ว่าเราควรจะออกไปทำอะไรกับเขาด้วยหรือเปล่า หรือแค่นั่งภาวนาไปก็พอ

คำถาม 3 : สถานการณ์ที่บ้าน พ่อแม่เราอยู่ฝ่ายพันธมิตร เราไม่ได้พูดว่าอะไร พ่อแม่ก็เข้าใจไปว่าเราเป็นฝ่ายรัฐบาล เมื่อเราไปเจอเพื่อนที่ชอบรัฐบาล เราบอกว่ารัฐบาลก็ทำเกินไปนะ เขาก็หาว่าเราเป็นพันธมิตร เราไม่อยากให้เกิดสถานการณ์ เช่นนี้ อยากให้มันจบและกลับคืนสู่ความสงบ ไม่รู้ว่าควรจะวางจิตใจของเราอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้

คำถาม 4 : เรารับรู้สถานการณ์มาตลอด แต่รู้สึกเป็นทุกข์กับการรับข่าว เมื่อเป็นทุกข์ เราก็ปิดการรับรู้ข่าวสาร จนถึง ปัจจุบันนี้ พยายามไม่รับข่าวมากนัก ยกเว้นข่าวที่สำคัญจริงๆ เมื่อเราไม่รับรู้ เราก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าเราทำแบบนี้ เราผิดไหม

คำถาม 5 : ส่วนตัวรู้สึกเบื่อและไม่อยากรับรู้ข่าวสาร เพราะเรื่องราวล่วงเลยมาถึง 3 ปี และดูไม่มีวี่แววว่าจะมีทางออก สิ่งที่กังวลก็คือ พ่อแม่และคนใกล้ตัวที่คอยเกาะติดสถานการณ์ตามข่าวสารทุกวัน เรารู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมกับสถานการณ์ อย่างมาก ทำให้เป็นห่วงและรู้ว่าเขาเหนื่อย แต่เขากลับเห็นว่าเราเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่สนใจเรื่องราวบ้านเมือง เลยวางตัว ไม่ถูก ไม่รู้จะทำอย่างไร




คำว่า "วางใจเป็นกลาง" ไม่ได้หมายถึงการวางเฉย แต่หมายถึงว่าเราเข้าใจเขา เห็นเขาอย่างที่เป็นอยู่ เรามีสายตาแห่งปัญญา ในการมอง ฉะนั้นเมื่อเราพูด เราพูดตามความเป็นจริง ไม่ได้หมายความว่า เราเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยิ่งเรามีปัญญา ในการมองอย่างที่เป็นกลาง ได้มากเท่าไหร่ เราจะสามารถทำให้ทั้งสองฝ่าย มีความเข้าใจมากขึ้นเท่านั้น วิธีการแลกเปลี่ยนของเรา จะช่วยลด ความแบ่งเขาแบ่งเราได้
หลวงพี่นิรามิสา :

ธรรมสวัสดีพี่น้องทุกท่าน หลวงพี่ได้เห็นความเมตตากรุณา ความรู้สึกดีๆ ความตั้งใจ และ ความเป็นพลเมืองไทยที่รับผิดชอบของทุกท่าน หลวงพี่คิดว่าถ้าเรามีความตระหนักรู้อยู่เสมอว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและในโลกนั้นไม่ได้แยกออกจากเรา แต่สะท้อนซึ่งกันและกัน เหตุการณ์ ในสังคมมีเงื่อนไขที่เกิดขึ้น และเหตุการณ์เหล่านั้นก็เกิดขึ้นภายในเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่เป็นเรื่องส่วนรวมจะส่งผลกระทบถึงส่วนตัว และสิ่งที่เป็นเรื่องส่วนตัวก็ส่งผลกระทบ ต่อส่วนรวม เราควรมองว่าเหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทุกฝ่าย ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ได้เป็นเพราะพันธมิตรเท่านั้น หรือเพราะรัฐบาลเท่านั้น เมื่อเรามีชีวิตอยู่ ในสังคมและรู้จักการฝึกปฏิบัติ เราจะรู้วิธีมองในแบบที่เราจะไม่ติดอยู่ในทั้งสองขั้ว หลวงพี่คิดว่า การที่เราสามารถมานั่งนิ่งๆ ไม่ร้อนรน ไม่โกรธได้ นี่คือสิ่งที่สังคมกำลังต้องการ เรากำลังมอบ ของขวัญให้กับสังคมไทย เพราะเมื่อเรานั่งนิ่งๆ ได้ เราจะมีความชัดเจน มีสติ มีสมาธิอยู่ตรงนั้น สิ่งที่ถกเถียงกันในที่ทำงาน เรื่องที่เกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลจะกลับขึ้นมาให้เราได้พิจารณา เมื่อ เรามีความสามารถที่จะนั่งนิ่งๆ เราจะเห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่ เราก็กำลังช่วยสังคม เพราะสิ่งที่ จะช่วยสังคมได้ก็คือ ปัญญาของเราแต่ละคน

เมื่อมีความสามารถที่จะนั่งนิ่งๆ เห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่ เราจะเห็นทางออก แต่เรื่องนี้เป็น สิ่งที่ไม่ง่าย น้องๆ หลายคนเลือกที่จะไม่รับข่าว เพื่อไม่ให้ถูกกระทบมากนัก เหมือนที่คุณสุริวิภา ได้ถามหลวงปู่เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมืองไทย ซึ่งหลวงปู่ตอบอย่างชัดเจนว่า เราไม่จำเป็นต้อง ดูข่าวทุกวัน หลายครั้งเวลาที่เราอยู่ในสังคม เรารู้สึกถูกบังคับให้ต้องทันข่าวสาร เหมือนหลวงพี่ ในสมัยที่ยังไม่บวช ก็เคยรู้สึกเช่นนั้น เราต้องอ่านข่าวทุกวัน หากเข้าประชุมเราต้องรู้ เราต้องมี ความเห็น และสิ่งที่เป็นอิสระมาก เมื่อหลวงพี่บวช หลวงพี่ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน (หลวงพี่ยิ้ม) เพราะเมื่อเราฝึกปฏิบัติ เราสัมผัสความสุข ความสงบ และรู้ว่าเราสามารถเลือกรับสิ่ง ที่หล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ที่ดีได้

หลวงพี่คิดว่าเราไม่จำเป็นต้องปิดรับข่าวสาร เรารับข่าวพอที่จะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ เราอาจเลือกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ หรือดูข่าวแค่อาทิตย์ละครั้ง เราสามารถใช้สติปัญญาของ เราเลือกว่าจะรับข่าวไหน หลวงพี่เห็นคุณสมบัตินี้ในหลวงปู่ ท่านไม่ได้อ่านมากมาย แต่ท่านเข้าใจ หลวงปู่ทราบสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลกอย่างน่าประหลาดใจมาก เพราะอะไร เพราะเมื่อท่านฝึกฝน ที่จะมองให้ถึงแก่น ท่านฝึกด้วยตัวเอง และสามารถที่จะเข้าใจนิสัย กิเลส ความโกรธ ความอิจฉา ความแบ่งแยกในตัวเองอย่างชัดเจน จึงสามารถเข้าใจความแบ่งแยกภายนอกได้อย่างชัดเจน เมื่อเราฝึกปฏิบัติเช่นเดียวกับท่าน เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หลวงพี่เชื่อว่าทุกคน ฝึกเช่นนั้นได้ ฉะนั้น การตัดสินใจไม่รับข่าวสารมากจึงถือเป็นปัญญา เพราะข่าวสารต่างๆ มี ลักษณะเร้าอารมณ์ และไม่ได้ช่วยทำให้เรามีความเข้าใจที่แท้จริง ฉะนั้นเมื่อเราเป็นผู้รับข่าวสาร เราต้องรับอย่างมีสติ เราอาจกลับสู่การฝึกปฏิบัติพื้นฐาน เช่น ขณะเรากำลังอ่านข่าว เรารู้ว่าเรา กำลังรู้สึกอะไร ถ้าเราโกรธ เราก็ต้องฝึกที่จะหยุดตามลมหายใจ กลับมาตระหนักรู้ความโกรธ ของเรา เมื่อเรายังมีความโกรธ นั่นแปลว่า เรายังไม่มีความนิ่งพอที่จะมองสถานการณ์อย่างที่ มันเป็น และเมื่อน้ำไม่ใสพอ เราก็ไม่สามารถมองเห็นก้นบึ้งของปัญหาได้

อย่างที่น้องได้ถามว่าเราต้องทำอะไรบางอย่างไหม การที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ เรากำลังเอื้อสิ่งที่ดีงามให้กับสังคม เพราะพลังแห่งสันติ แผ่ไปได้เสมอ และนี่คือการกระทำอย่างหนึ่งแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราต้องโต้ตอบ เราต้องกระทำอย่างมีสติ ถึงตอนนั้น เราต้องถาม ตัวเองว่า เรามีสติและมีปัญญาพอไหม เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อประธานาธิบดีก่อสงครามกับประเทศอิรัก สังฆะที่นั่นได้ เขียนจดหมายรักถึงประธานาธิบดี แต่ก่อนที่จะทำเช่นนั้นได้ พวกเขาได้นั่งสมาธิและเดินภาวนาร่วมกัน ฝึกที่จะมองอย่างไม่แบ่งแยก มองด้วยความรักความเข้าใจ และสังฆะจะร่วมกันสนทนาธรรมในเรื่องนี้บนพื้นฐานของการมองอย่างเปิดกว้าง เมื่อเรามองเช่นนั้นได้ เราจะสามารถเขียนจดหมายรักได้ เราเริ่มเขียนในสิ่งดีๆ ที่เขาได้ทำ ในฐานะที่เราเป็นประชาชนของประเทศนี้ เราจะเกื้อกูลรักษา สังคมนี้ได้ด้วยวิธีใด เราต้องมีความรักความเมตตา มีสติปัญญาที่จะเห็นทางออก แต่ในทุกวันนี้ เรามักโต้ตอบด้วยอารมณ์และใช้การ เรียกร้อง

การภาวนาไม่ใช่การนั่งเฉยๆ ไม่สนใจใครหรือการเก็บกดอารมณ์รู้สึก การภาวนาคือการตระหนักรู้ว่าสิ่งใดกำลังเกิดขึ้น ตระหนักรู้ อย่างไม่เป็นทุกข์ หรือถึงแม้ว่าจะเป็นทุกข์ เราก็รู้และกลับมาดูแลความทุกข์นั้น เมื่อเราทำได้อย่างสม่ำเสมอ การภาวนาของเราจะ มั่นคงและลึกซึ้งมากขึ้น เราจะสามารถมองด้วยความเมตตากรุณาจนเห็นทางออกที่ดีงามร่วมกัน ฉะนั้นความสามารถที่จะนั่งนิ่งๆ ใน สถานการณ์ที่ขัดแย้งได้ถือเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ ในจังหวะที่เหมาะสม พลังที่นิ่งเงียบนี้จะสามารถช่วยคลี่คลายให้สถานการณ์ ดีขึ้นได้

คำว่า "วางใจเป็นกลาง" ไม่ได้หมายถึงการวางเฉย แต่หมายถึงว่าเราเข้าใจเขา เห็นเขาอย่างที่เป็นอยู่ เรามีสายตาแห่งปัญญา ในการมอง ฉะนั้นเมื่อเราพูด เราพูดตามความเป็นจริง ไม่ได้หมายความว่าเราเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยิ่งเรามีปัญญาในการมองอย่าง ที่เป็นกลางได้มากเท่าไหร่ เราจะสามารถทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจมากขึ้นเท่านั้น วิธีการแลกเปลี่ยนของเราจะช่วยลดความ แบ่งเขาแบ่งเราได้ ฉะนั้นการวางตัวเป็นกลางเราจึงมีความคิดเห็นได้ แต่เป็นความคิดเห็นที่เป็นกลาง คำว่า "อุเบกขา" มีความหมาย ว่าเราโอบรับทั้งสองฝ่าย เรายอมรับพวกเขาทั้งสองฝ่าย นี่คือการปฏิบัติภาวนาที่มีพลังและเป็นรูปธรรมมาก ไม่ใช่การนั่งหลับตา ไม่สนใจใคร แต่เป็นการโอบรับอย่างที่เขาเป็นอยู่ นี่คือการวางใจเป็นกลาง



สำหรับคนทำงานในออฟฟิศก็ต้องฝึกเช่นเดียวกัน ที่หมู่บ้านพลัมเรามีหลวงพี่มาจาก 20 ประเทศ แต่ละคนมาจากพื้นฐานประสบการณ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่ง ที่เราจะระลึกอยู่เสมอก็คือ เรามีความเป็นพี่น้องกัน เวลาอยู่ในออฟฟิศก็เหมือนอยู่ใน ครอบครัว คนที่ทำงานก็เหมือนพี่น้องของเรา บางครั้งพี่น้องสายเลือดเดียวมีความคิด ต่างกัน แต่เราไม่เกลียดกัน เพราะฉะนั้นต้องระลึกว่าเราเป็นพี่น้องในที่ทำงานเดียวกัน และเราต้องรักษาความรักฉันท์พี่น้องนี้ไว้ เพราะความคิดของคนเราเปลี่ยนแปลงไป ตลอดเวลา เราจึงต้องระมัดระวังการพูดคุยและพยายามสร้างบรรยากาศที่ดีในออฟฟิศ เช่น เราอาจซื้อขนมมานั่งรับประทานด้วยกัน หากวันนั้นเราทำอะไรที่เป็นเรื่องสนุกๆ ก็นำ มาเล่าสู่กันฟัง

แล้วเราจะทำอย่างไรให้สถานการณ์ดีขึ้น ในฐานะที่เราก็เป็นลูกหลานชาวไทยคนหนึ่ง ที่รักประเทศไทยและอยากอยู่ในสังคมที่มีสันติ หลวงพี่คิดว่าเราสามารถเขียนจดหมายรัก ถึงนายกรัฐมนตรี หรือถึงคุณสนธิ ลิ้มทองกุลได้ จดหมายรักเป็นจดหมายที่เราไม่แบ่งแยก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เรารดน้ำเมล็ดพันธุ์ที่งดงามในตัวเขา เพราะว่าเรารู้ว่าลึกๆ แล้ว ทุกคน อยากทำในสิ่งที่ดีงาม และเราพยายามมองให้เห็นว่า มันมีเงื่อนไขเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ สถานการณ์เป็นเช่นนี้ เราต้องมองอย่างเป็นธรรม เป็นกลาง และโอบรับ สิ่งที่เราจะได้จาก การเขียนจดหมายนี้คือความสงบ ความรู้สึกอันชัดเจน และคลายปมบางอย่างที่ขัดแย้งอยู่ ภายในใจของเรา

หลวงพี่อยากฝากทุกคนไว้ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์อย่างไร สิ่งหนึ่งที่เราควรรักษาไว้คือ "ความไม่ท้อแท้" เพราะความ ท้อแท้เป็นโรคร้าย โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว เพราะฉะนั้นเราควรฝึกปฏิบัติ เพื่อรักษาความเข้าใจ กำลังใจ และความหวัง อย่าปล่อย ให้ข่าวหรือสถานการณ์เหล่านี้ทำให้เราท้อแท้สิ้นหวัง เมื่อไรก็ตามที่คนหนุ่มสาวในประเทศสิ้นหวัง ประเทศชาติก็สิ้นหวัง ความสิ้นหวัง เป็นเพียงอารมณ์หนึ่งเท่านั้นเอง เมื่อมาแล้วก็ปล่อยไป เหมือนกับที่หลวงปู่ชอบเล่าให้ฟัง ตอนที่สถานการณ์ในเวียดนามเลวร้ายมาก คนหนุ่มสาวถามท่านว่า สงครามจะมีวันหยุดไหม หลวงปู่ตอบว่า แน่นอนสงครามต้องหยุด เพราะว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ถ้าเราคิด อย่างนี้เราจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง และเราควรพยายามฝึกตัวเองให้เป็นตัวแทนแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น

หลวงพี่อยากนิมนต์ หลวงพี่นำธรรม และ หลวงพี่สมกัลยา ช่วยเพิ่มเติม ท่านทั้งสองเคยผ่านประสบการณ์สงคราม และ ความ ขัดแย้งในประเทศของท่าน มีสิ่งที่ท่านจะแลกเปลี่ยนได้มากมายและเราจะได้เรียนรู้ ๐





หากเราต้องการให้ ประเทศไทยมีความสงบ เราไม่อาจเพิกเฉยกับ อีกครึ่งประเทศ ที่คิดไม่เหมือนเราได้ ถ้าในใจของเรายังไม่สามารถ ยอมรับอีกฝ่ายหนึ่งได้ แสดงว่าการปฏิบัติของเรา ยังไม่ประสบผล เราต้องรู้ว่าต้นเหตุของ ความแบ่งแยกตัดสินนั้น แท้จริงแล้วอยู่ภายในใจเรา
...
เมื่อตระหนักรู้เช่นนี้ เราจะสามารถดูแลตัวเองได้ เรายิ้มได้ และ ยอมรับทั้งสองฝ่ายได้
หลวงพี่นำธรรม :

การฝึกนั่งสมาธิก็คือการฝึกที่จะนั่งอย่างสงบ เมื่อเราสามารถที่จะนั่งอย่างสงบ เราจะเห็น สิ่งต่างๆ ในตัวเราเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราจะเห็นว่า ในตัวเราเองก็มีการแบ่งแยก มีการตัดสิน เราสามารถฝึกปฏิบัติที่จะดูแลสิ่งเหล่านี้ภายในตัวเราได้ พวกเรามีแนวโน้มที่จะเลือกสิ่งที่เราชอบ และกดสิ่งที่เราไม่ชอบเอาไว้ นี่คือลักษณะหนึ่งของการแบ่งแยก แบ่งพรรคแบ่งพวก แม้กระทั่ง การเลือกเพื่อนก็เหมือนกัน เราชอบคนที่คิดเหมือนเรา รู้สึกเหมือนเรา และเรามักเลือกไม่คบคน ที่คิดไม่เหมือนเรา ไม่รู้สึกเหมือนเรา เวลาที่เราเพียงทำตามในสิ่งที่เราชอบ หรือทำตามกลุ่ม พวกเราเอง นั่นไม่ได้แปลว่าเราจะมีความสุขเสมอไป บางครั้งแม้ทำตามสิ่งที่ชอบ เรากลับยิ่ง เป็นทุกข์ และเมื่อเราผลักไสหรือกดสิ่งที่ไม่ชอบไว้ เรายิ่งทุกข์มากขึ้นอีก การฝึกปฏิบัติก็คือ การฝึกที่จะกลับมาอยู่กับตัวเอง ฝึกที่จะตระหนักรู้สิ่งที่อยู่ที่นั่นเพื่อดูแลมัน

ในครอบครัวของหลวงพี่เอง คุณแม่รักลูกคนที่สร้างปัญหาให้ครอบครัวมากกว่าลูกคนอื่นๆ พี่ๆน้องๆ ก็ถามคุณแม่ว่า ทำไมคุณแม่จึงรักลูกคนนั้น มากกว่าพวกเราที่ไม่เคยสร้างปัญหาใดๆ คุณแม่ตอบว่า เพราะลูกคนนั้นมีความทุกข์มากกว่าลูกคนอื่นๆ นี่คือปัญญาแห่งการไม่แบ่งแยก ของคุณแม่ นี่คืออุเบกขา ในฐานะผู้ปฏิบัติเราไม่ควรเลือกข้างที่คิดหรือรู้สึกเหมือนเรา เราควร มองอย่างลึกซึ้งเพื่อทำให้เราฉลาดขึ้นและเข้าใจทั้งสองฝ่าย มองให้เข้าใจว่าทำไมเขาจึงทำ เช่นนั้น เขาคิดอะไรอยู่ เขาเป็นทุกข์อะไร แทนที่จะตัดสินวิพากษ์วิจารณ์ว่าใครถูก ใครผิด ใครคือข้างที่เราชอบ ใครคือข้างที่เราไม่ชอบ เราควรใช้ความสงบและสติพิจารณาทั้งสองฝ่าย พยายามเข้าใจความทุกข์ของทั้งสองฝ่าย

หากเราต้องการให้ประเทศไทยมีความสงบ เราไม่อาจเพิกเฉยกับอีกครึ่งประเทศที่คิด ไม่เหมือนเราได้ ถ้าในใจของเรายังไม่สามารถยอมรับอีกฝ่ายหนึ่งได้ แสดงว่าการปฏิบัติของเรา ยังไม่ประสบผล เราต้องรู้ว่าต้นเหตุของความแบ่งแยกตัดสินนั้นแท้จริงแล้วอยู่ภายในใจเรา เมื่อใดก็ตามที่เราฝึกเช่นนี้ เราจะตระหนักได้ว่ารากแห่งความแบ่งแยกนั้นอยู่ในตัวเราเอง เมื่อ ตระหนักรู้เช่นนี้ เราจะสามารถดูแลตัวเองได้ เรายิ้มได้ และยอมรับทั้งสองฝ่ายได้ เวลาที่เรา สามารถรับฟังทั้งสองฝ่ายได้ เราจะมีความอดทนและรู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรในชั่วขณะนั้น

หลวงพี่คิดว่าเป็นเรื่องเหมาะสม ที่จะมีการสนทนาธรรมเพื่อรับฟังความคิดของกันและกัน ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันได้ดียิ่งขึ้น หลวงพี่ขอแนะนำวิธีการฟังข่าวดังนี้ เวลาที่เราฟังข่าว เราอย่าฟังตามสิ่งที่ข่าวบอก แต่ต้องฟังถึงรากแห่งความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ในข่าว วิธีการนี้จะทำให้ เราเข้าใจความทุกข์ในตัวเราเองด้วย เราอาจจะหาโอกาสดูข่าวร่วมกันเป็นสังฆะ แล้วนำมา แลกเปลี่ยนกันว่าเราได้ยินและเห็นอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดปัญญาจากการพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ถึงต้นตอของปัญหา

เมื่อเราไม่เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราจะมีความอดทน มีสติปัญญา มีความรักและความเข้าใจ และเมื่อเราจะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การกระทำนั้นจะเป็นไปด้วยความรัก มิใช่ด้วยความแบ่งแยก แม้ว่าเราจะเป็นกลุ่มคนเล็กๆ แต่ถ้าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม และอยู่บนพื้นฐานของความรักแล้ว ผู้คนจะรับรู้และได้ยินเรา จงอย่ากลัวว่าเราเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ดูตัวอย่างจากพระพุทธองค์สิ ท่านเป็นเพียงคนๆ เดียวเท่านั้น แต่เมื่อท่านทำอย่างถูกต้อง ผู้คนก็รู้ได้ในทันทีว่าท่านได้ทำอย่างถูกต้องแล้ว และพวกเขาก็ได้ปฏิบัติ ตามวิถีของพระองค์จนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น อย่ากลัวว่าคนกลุ่มเล็กๆ จะทำอะไรไม่ได้ หลวงพี่เห็นพวกเราแล้วมีความเชื่อมั่นว่า สังฆะของเราสามารถทำได้ ๐



หลวงพี่สมกัลยา :

กราบนมัสการหลวงปู่และพี่น้องสังฆะที่รักทุกท่าน หลวงพี่อยากแลกเปลี่ยนว่าในสถานการณ์ แบบนี้ เราควรฝึกดูแลความคิดเชิงบวกให้มากขึ้น ตระหนักรู้ถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เราสามารถมี ความสุขได้ อย่าให้ความสนใจกับความคิดเชิงลบมากนัก เพราะเรายังมีสุขภาพที่ดี มีครอบครัวที่ดี เวลาที่เราเดิน เราสามารถเดินในวิถีที่จะบ่มเพาะความรักในตัวเรา และครอบครัวของเราได้

ขอให้เราอย่าปล่อยให้ใจของเราถูกปกคลุมไปด้วยเรื่องไม่ดีต่างๆ ที่มากเกินไป เราควรหา เวลาผ่อนพักตระหนักรู้บ้าง ตระหนักรู้ถึงคนที่เรารักซึ่งอยู่รอบๆ ตัวเรา หรือ กำลังอยู่ต่อหน้าเรา ตระหนักรู้ถึงความงามของธรรมชาติ ดอกไม้ ท้องฟ้าสีครามและสายฝน มหัศจรรย์ของชีวิตเหล่านี้ สามารถนำความสงบ ความสุข และสามารถเยียวยาจิตใจของเราได้ เมื่อเราสามารถซึมซับความ มหัศจรรย์ของชีวิตเหล่านี้ ใจของเราจะเกิดความสมดุล เราโชคดีแล้วที่มีเพื่อนสังฆะมาร่วมปฏิบัติ และยังมีหลวงพี่ที่มาเยี่ยมเยียนพวกเราบ่อยๆ มีโอกาสมานั่งอยู่ที่นี่และปฏิบัติร่วมกัน พวกเราจึง ปลอดภัย ๐


ในตอนท้าย หลวงพี่นิรามิสา ได้เชิญเสียงระฆังเล็กๆ และเชื้อเชิญให้พวกเรานวดเท้าที่นั่งขัดสมาธิมานาน ทั้งข้างซ้ายและขวา ด้วยความรักที่ไม่แบ่งแยก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น