เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ทำสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดี



บทความ > พุทธศาสนา > ทำสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดี


ทำสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดี
พระไพศาล วิสาโล
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรื่อง
"สร้างเมืองไทยให้น่าอยู่ใน ๙๙๙ วัน"
(สนพ.ขอคิดด้วยคน ของดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
คนไทยในอดีตได้ชื่อว่ามีมาตรฐานทางศีลธรรมค่อนข้างสูง เป็นที่ประทับใจของชาวต่างชาติมาก ดังสังฆราชปาลเลกัวซ์ได้พูดถึงชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า “ชาวประชาชาตินี้มีที่น่าสังเกตตรงอัธยาศัยอันอ่อนโยนและมีมนุษยธรรม ในพระนครซึ่งมีพลเมืองค่อนข้างคับคั่ง ไม่ค่อยปรากฏว่ามีการทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง ส่วนฆาตกรรมนั้นเห็นกันว่าเป็นกรณีพิเศษมากทีเดียว บางทีตลอดทั้งปีไม่มีการฆ่ากันตายเลย....ไม่เพียงแต่ต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้นที่คนไทยมีมนุษยธรรม ยังเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์เดียรัจฉานอีกด้วย”

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อคาร์ล ซิมเมอร์แมน มาสำรวจสภาพเศรษฐกิจไทย เขาอดไม่ได้ที่จะชื่นชมว่า “พลเมืองของประเทศสยามมีนิสัยใจคอดี และไม่มีความโลภในการสะสมโภคทรัพย์ไว้เป็นมาตรฐานแห่งการครองชีวิต การละทิ้งเด็ก การขายเด็ก การสมรสในวัยเยาว์ และความประพฤติชั่วร้ายต่าง ๆ ซึ่งอนารยชนชอบประพฤติกัน ไม่ปรากฏในหมู่คนไทยเลย”

คำบรรยายดังกล่าวเกือบจะเรียกได้ว่าตรงข้ามกับสภาพในปัจจุบัน ทุกวันนี้ประเทศไทยมีอาชญากรรมในอัตราที่สูงมาก มีคนถูกฆ่าตายวันละเกือบ ๒๐ คนหรือตายเกือบทุกชั่วโมง มีผู้หญิงถูกกระทำชำเราไม่ต่ำกว่า ๑๔ คนต่อวัน ในขณะที่เด็กถูกละเมิดทางเพศทุก ๒ ชั่วโมง

ความรุนแรงยังระบาดไปยังครอบครัวและโรงเรียน ขณะที่ตามท้องถนนมีเด็กถูกทิ้งปีละกว่า ๖,๐๐๐ คน ไม่นับการทำแท้งปีละ ๓ แสนราย

ในด้านการลักขโมยก็เป็นที่รู้กันดีว่ากำลังแพร่ระบาดไปทั่ว เมื่อ ๓ ปีที่แล้วบริษัทประกันภัยระดับโลกแห่งหนึ่ง(AVIVA)ได้ทำการสำรวจความเห็นของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษจำนวน ๖๐,๐๐๐ คนเกี่ยวกับอันตรายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ปรากฏว่าเมืองไทยติดอันดับหนึ่งในเรื่องการลักขโมย และติดอันดับสองในด้านการชิงทรัพย์โดยใช้ความรุนแรง

ในด้านการคดโกงหรือคอร์รัปชั่น ประเทศไทยก็เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก เพราะแพร่หลายไปทุกวงการและทุกระดับ เมื่อต้นปีนี้บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ (เพิร์ค) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของนักธุรกิจต่างชาติ พบว่าประเทศไทยมีคอร์รัปชั่นมากที่สุดเป็นอันดับ ๒ ในเอเชีย รองจากฟิลิปปินส์

ทั้งหมดนี้ชี้ว่าศีลธรรมของคนไทยตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย สาเหตุมิใช่เป็นเพราะเราสอนศีลธรรมกันน้อยลง หรือเป็นเพราะคนไทยเหินห่างจากวัด ไม่ฟังเทศน์วันพระ หรือรู้จักวันวาเลนไทน์มากกว่าวันมาฆบูชา (คนญี่ปุ่นเข้าวัดน้อยกว่าคนไทยมากแถมไม่รู้จักศีล ๕ แต่มีการละเมิดศีล ๕ น้อยกว่าคนไทยมาก)

การเรียกร้องให้เพิ่มชั่วโมงศีลธรรมในโรงเรียนให้มากขึ้น รวมทั้งเรียกร้องให้พ่อแม่พาลูกหลานเข้าวัดมากขึ้น และนิมนต์พระมาเทศน์ตามหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งในสภาให้มากขึ้น ล้วนมีพื้นฐานมาจากการมองปัญหาจริยธรรมในระดับบุคคลทั้งสิ้น คือมองว่าจริยธรรมเสื่อมเพราะผู้คนไม่รักดีหรือเพราะไม่รู้ผิดรู้ชอบ แต่สิ่งขาดหายไปก็คือการมองปัญหาจริยธรรมในระดับสังคม คือตระหนักว่าปัจจัยทางสังคมเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้จริยธรรมของผู้คนเสื่อมโทรมลง การมองข้ามปัจจัยดังกล่าวทำให้การแก้ปัญหาจริยธรรมมักหนีไม่พ้นการ “สอน” หรือ “เทศน์” หรือ “รณรงค์”

คนไทยมีศีลธรรมตกต่ำไม่ใช่เพียงเพราะว่าไม่รู้จับบาปบุญคุณโทษ หรือไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะสังคมไทยทุกวันนี้เป็นปฏิปักษ์กับความดี กล่าวคือไม่ส่งเสริมคนดี (แต่นิยมคนมีเงินหรือมีชื่อเสียงมากกว่า) กระตุ้นและบีบคั้นให้ผู้คนเห็นแก่ตัว เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุให้หลงใหลในอบายมุข หวังลาภลอยคอยโชคและนิยมทางลัด(ซึ่งรวมถึงการคอร์รัปชั่น) และที่สำคัญคือบั่นทอนสถาบันทางศีลธรรมจนอ่อนแรง ทำให้ไม่สามารถเสริมสร้างศีลธรรมให้แก่ผู้คนได้ดังแต่ก่อน

ปัจจัยทางสังคมที่เป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมทางจริยธรรมในปัจจุบัน ได้แก่

๑.การครอบงำของวัตถุนิยมและอำนาจนิยม

การขยายตัวของระบบทุนนิยมอย่างแทบไม่มีขีดจำกัด ได้ทำให้เงินเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนจนกลายเป็นเป้าหมายของชีวิต ความร่ำรวยกลายเป็นความปรารถนาสูงสุดของผู้คน ใช่แต่เท่านั้นเงินยังกลายเป็นตัววัดคุณค่าของทุกสิ่ง กลายเป็นสื่อกลางความสัมพันธ์ในทุกมิติ กล่าวคือความรักของพ่อแม่หรือของคู่รักต้องแสดงออกด้วยการให้เงินหรือวัตถุ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนอาจารย์กับนักศึกษา หมอกับคนไข้ ก็ต้องอาศัยเงินเป็นตัวเชื่อม หาใช่น้ำใจดังแต่ก่อนไม่ นอกจากนั้นการยกย่องเงินเป็นใหญ่ยังทำให้เกิดธุรกิจด้านอบายมุขมากมาย รวมทั้งสื่อมวลชนที่ส่งเสริมค่านิยมผิด ๆ ที่สวนทางกับศีลธรรม

สังคมไทยยังเป็นสังคมที่นิยมใช้อำนาจในการแก้ปัญหา รัฐบาลและระบบราชการเป็นแบบอย่างของการใช้อำนาจมากกว่าคุณธรรมหรือความรู้ ทำให้เกิดวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมในทุกระดับและทุกสถาบัน รวมทั้งครอบครัว โรงเรียนและวัด ยิ่งใช้อำนาจมากเท่าไร จริยธรรมก็ถูกละเลยมากเท่านั้น จนเกิดค่านิยมแสวงหาอำนาจโดยไม่สนใจว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

๒.ความล้มเหลวของสถาบันทางศีลธรรม

สถาบันทางศีลธรรมอันได้แก่ครอบครัว ชุมชน วัด และโรงเรียน เคยมีบทบาทอย่างมากในการกล่อมเกลาสำนึกทางศีลธรรมแก่ผู้คน สถาบันดังกล่าวจะอยู่ได้ต้องอาศัยสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยมีความรัก ความเสียสละ ความเคารพเป็นตัวเชื่อม แต่เมื่อเงินเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนอย่างมาก สัมพันธภาพที่เคยแน่นแฟ้นก็แปรเปลี่ยนไป

การทำมาหากินตามวิถีเศรษฐกิจอย่างใหม่โดยเฉพาะในเมือง ทำให้พ่อแม่ห่างเหินจากลูก ผลก็คือครอบครัวลดบทบาทในการให้การศึกษาแก่เด็ก ปล่อยให้โรงเรียนและสื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทแทน ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัวเห็นได้จากสถิติการหย่าร้าง ปัจจุบันในประเทศไทย๑ ใน ๔ ของพ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เด็กถูกทอดทิ้งหรือขาดความอบอุ่นมากขึ้น

ส่วนชุมชนก็ลดบทบาทที่แต่เดิมเคยเป็นตัวควบคุมและเสริมสร้างจริยธรรมของผู้คน เนื่องจากเศรษฐกิจและวิถีชีวิตแบบใหม่ทำให้ผู้คนอยู่กันแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น ประกอบกับผู้คนหันไปพึ่งหน่วยงานของรัฐมากขึ้น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาลทำให้ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งชุมชนดังแต่ก่อนลดน้อยลง ในทำนองเดียวกัน

ความเหินห่างระหว่างฆราวาสกับพระ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัดมีบทบาทน้อยลง แต่ก็ยังไม่ทำให้วัดอ่อนแอมากเท่ากับอิทธิพลของเงิน ซึ่งทำให้พระสงฆ์ย่อหย่อนในวัตรปฏิบัติและไม่สามารถเป็นแบบอย่างในทางศีลธรรมได้ ในขณะที่วัดกลายเป็นแห่งไสยพาณิชย์และตลาดค้าบุญไป

๓.การเมืองที่ไม่โปร่งใส

ระบบการเมืองที่มีช่องโหว่สามารถก่อให้เกิดปัญหาจริยธรรมหลายประการ เช่น การเมืองที่ไม่โปร่งใสเปิดโอกาสให้มีการคอรัปชั่น หรือเปิดช่องให้ผู้มีอิทธิพลใช้เงินสร้างฐานอำนาจจนเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ ย่อมทำให้มีการใช้อำนาจมืดเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การให้สัมปทานแก่พวกพ้อง การอนุมัติโครงการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนหรือค่าคอมมิชชั่น แก่ตน ไปจนกระทั่งการลอบสังหารคนที่ขัดผลประโยชน์ของตน ขณะเดียวกันระบบการเมืองที่รวบอำนาจเข้าส่วนกลางหรือระบบเผด็จการก็ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือจากสังคมเป็นไปได้ยาก การใช้อำนาจในทางฉ้อฉลเพื่อประโยชน์ส่วนตัวทั้งโดยผู้มีอำนาจและพวกพ้องบริวารจึงเกิดขึ้นได้ง่าย กลายเป็นค่านิยมที่ผู้คนเลียนแบบกันทั่วทั้งประเทศ

๔.ระเบียบสังคมที่ให้รางวัล ส่งเสริม หรือบีบคั้นให้คนเห็นแก่ตัว

นอกจากระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนเห็นแก่ตัวแล้ว ยังมีระบบต่างๆ ในสังคมที่ทำให้ผู้คนแก่งแย่งกันมากขึ้นเช่น ระบบจราจรที่ไม่เคร่งครัดกฎเกณฑ์ ระบบราชการที่ไม่เอื้อให้คนทำดี แต่เปิดช่องให้มีการทุจริตอย่างง่ายดาย หรือระบบยุติธรรม ซึ่งไม่โปร่งใสและอยู่ใต้อำนาจเงิน ทำให้คนมีเงินไม่สนใจที่จะทำตามกฎหมายเพราะเชื่อว่าสามารถใช้เงิน “อุด” ได้ ระบบที่บกพร่องเหล่านี้ (ซึ่งรวมไปถึงระบบความสัมพันธ์ในสังคม) ไม่เพียงแต่จะบีบคั้นให้คนเห็นแก่ตัวเท่านั้น หากยังให้ “รางวัล”แก่คนที่ทำเช่นนั้นด้วย เช่น คนที่ไร้น้ำใจ ไม่หยุดให้แก่คนข้ามทางม้าลาย สามารถไปถึงที่หมายก่อนใครๆ คนที่แซงคิว สามารถได้ตั๋วรถหรือตั๋วหนังก่อนใครๆ คนที่ทุจริต ซื้อตำแหน่ง สามารถเลื่อนชั้นก่อนใครๆ ใครที่ซื้อของหนีภาษีได้ก็เป็นที่ยกย่องว่าเก่ง คนที่ขายยาบ้าค้าผู้หญิง นอกจากจะไม่ถูกตำรวจจับเพราะมีเส้นสายหรือให้สินบนเจ้าหน้าที่แล้ว ยังร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบเหล่านี้มีแต่ทำให้คนเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบกันมากขึ้น

ทำสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดี

การเสริมสร้างศีลธรรมในสังคมไทย นอกจากการเทศนาและเผยแผ่ธรรมแล้ว จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างปัจจัยทางสังคม(และเศรษฐกิจการเมือง)ให้เกื้อกูลต่อศีลธรรมมากขึ้น กล่าวคือส่งเสริมคนดี กระตุ้นให้ผู้คนอยากทำความดี หรือดึงพลังฝ่ายบวกของผู้คนออกมา เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยมีมาตรการต่าง ๆ ดังนี้

๑. เสริมสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว

ควรมีมาตรการสนับสนุนให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้พ่อแม่มีความสามารถในการฝึกฝนกล่อมเกลาลูก ให้รู้จักคิด ใฝ่รู้ และมีจิตสำนึกที่ดีงามความเข้มแข็งของครอบครัวด้วย นอกจากนั้นควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเครือข่ายครอบครัวเพื่อช่วยเหลือกัน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และแม้แต่การช่วยดูแลลูกให้แก่กันและกันในบางโอกาส เครือข่ายดังกล่าวอาจเกิดขึ้นตามละแวกบ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือเกิดขึ้นในหมู่พ่อแม่ที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน พื้นที่สาธารณะหรือกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ของครอบครัว เช่น พิพิธภัณฑ์เด็ก ช่องรายการโทรทัศน์สำหรับครอบครัว ควรมีให้มากขึ้น

๒.ฟื้นฟูชุมชนให้เข้มแข็ง

แม้ชุมชนจะอ่อนแอลงไปมากแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ชนบท แต่ก็ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นฟูส่งเสริมศีลธรรมของผู้คนภายในชุมชนได้ มีหลายชุมชนที่เมื่อมีการหันหน้ามาร่วมมือกัน ปรากฏว่าสามารถลดปัญหาภายในชุมชนลงไปได้มาก เช่น อบายมุข ไม่ว่าการพนันหรือการกินเหล้าลดลง วัยรุ่นลดการมั่วสุม และทะเลาะกันน้อยลง ครอบครัวประพฤติดีต่อกันมากขึ้น ใช้ความรุนแรงน้อยลง นอกจากนั้นสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนก็ดีขึ้น เนื่องจากมีการร่วมมือดูแลรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรสาธารณะ มีการพัฒนาชุมชนร่วมกัน

แน่นอนว่าชุมชนเหล่านี้มาร่วมมือกันได้ มิใช่เพราะมีพระหรือข้าราชการมาเทศน์มาสอนให้สามัคคีกัน แต่เกิดจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการกลุ่ม ซึ่งมีหลายลักษณะ เช่น การทำโครงการสัจจะสะสมทรัพย์ การทำแผนแม่บทชุมชน การอนุรักษ์ป่าชุมชน การได้ทำงานร่วมกันและเห็นผลสำเร็จที่มิอาจทำได้ด้วยตัวคนเดียว ทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของการร่วมมือกัน และเกิดความไว้วางใจกันมากขึ้น กระบวนการกลุ่มบางครั้งก็มาในลักษณะของการจัดเวทีชุมชน โดยมีแกนนำชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน

๓.ฟื้นฟูบทบาทของวัดและคณะสงฆ์

ปัจจุบันระบบต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ ไม่เอื้อให้เกิดพระภิกษุสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ระบบการปกครองของคณะสงฆ์ นอกจากจะล้มเหลวในการส่งเสริมพระดีแล้ว ยังทำให้พระสงฆ์พากันสนใจลาภยศสรรเสริญกันมากขึ้น การรวมศูนย์อำนาจคณะสงฆ์ มาอยู่ในมือของมหาเถรสมาคม นอกจากจะทำให้การปกครองเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการวิ่งเต้น ระบบเส้นสาย และการแบ่งพรรคแบ่งพวก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็ไม่สามารถทำให้พระภิกษุสงฆ์มีความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลกดีพอ ที่จะสื่อธรรมให้ผู้คนเกิดความซาบซึ้งแจ่มชัดจนเห็นภัยของบริโภคนิยมหรืออำนาจนิยม และหันมาดำเนินชีวิตตามวิถีพุทธ ยิ่งการศึกษาเพื่อฝึกฝนตนให้มีความสุขภายในพึงพอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย และสามารถแก้ทุกข์ให้แก่ตนเองได้ อีกทั้งมีเมตตากรุณาปรารถนาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก อย่างรู้เท่าทันสังคมสมัยใหม่ด้วยแล้ว แทบจะไม่มีเอาเลย ผลก็คือคณะสงฆ์ปัจจุบันไร้ซึ่งพลังทางปัญญา ศีลธรรม และศาสนธรรม

การจะส่งเสริมให้คณะสงฆ์เปี่ยมด้วยพลังทางปัญญา ศีลธรรม และศาสนธรรม นั้นจะต้องมีการปฏิรูปการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างจริงจัง อย่างน้อยก็ควรมีการกระจายอำนาจเพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้อำนาจน้อยลง แต่ใช้ปัญญาและคุณธรรมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมพระดีอย่างจริงจัง มีการศึกษาทางธรรมและทางโลกอย่างสมสมัย ชนิดที่ช่วยให้พระสงฆ์รู้จักคิด มิใช่ถนัดท่องจำ สามารถสื่อและประยุกต์ธรรมได้อย่างมีพลัง ทั้งโดยการประพฤติเป็นแบบอย่าง การสอน และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ว่าโดยผ่านการฟัง การคิด หรือการปฏิบัติ

นอกจากนั้นควรมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้น เพื่อพลังทางศีลธรรมของวัดจะสามารถถ่ายทอดไปยังชุมชน และส่งอิทธิพลต่อผู้คนได้มากขึ้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวสามารถฟื้นฟูขึ้นได้ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของวัดมากขึ้น ตามคติแต่โบราณที่ถือว่าวัดเป็นของชุมชน เช่น มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการศึกษาและสนับสนุนวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์สามเณร รวมทั้งร่วมในการปฏิบัติธรรมที่วัดจัดขึ้น ในอีกด้านหนึ่งพระสงฆ์ก็เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการของชุมชนมากขึ้น เช่น ร่วมแก้ปัญหาอบายมุข ปัญหาวัยรุ่น การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ส่งเสริมการออมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน

๔.ปฏิรูปการศึกษา

โรงเรียนในปัจจุบันไม่เพียงประสบความล้มเหลวในการปลูกฝังสำนึกทางศีลธรรมเท่านั้น แม้แต่การเสริมสร้างความรู้แก่นักเรียนก็ยังล้มเหลว เห็นได้จากผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าร้อยละ ๙๐ ของนักเรียนสอบได้ไม่ถึง ๕๐ คะแนนหรือครึ่งหนึ่งของแทบทุกวิชา สำหรับนักเรียนชั้นที่ต่ำลงมาก็มีปัญหาไม่ต่างจากกัน แม้แต่การอ่านออกเขียนได้ก็เป็นปัญหา

ปัญหาของโรงเรียนจึงไม่ได้อยู่เพียงแค่สอนวิชาศีลธรรมหรือพุทธศาสนาน้อยเกินไป แต่อยู่ที่กระบวนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง บรรยากาศภายในโรงเรียนนั้นกล่าวได้ว่าไม่ส่งเสริมให้เกิดการใฝ่รู้เลย ดังเห็นได้ว่านักเรียนร้อยละ ๕๗ เคยยอมรับว่าตนหนีเรียน นอกจากนั้นยังพบว่าคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือน้อยมาก คือเฉลี่ยวันละ ๓ นาที(นับรวมผู้ที่ไม่อ่านหนังสือด้วย)

ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่การส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศและกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งหากทำได้ดี ก็จะส่งเสริมสติปัญญาและศีลธรรมไปได้ควบคู่กัน เพราะสำนึกและพฤติกรรมทางศีลธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการเรียนวิชาศีลธรรมเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเกิดจากการมีวิธีคิดที่ถูกต้อง มีเหตุผล และมีแบบอย่างที่ดี ปัจจัยเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในทางวิชาการด้วยเช่นกัน แต่วิธีคิดที่ถูกต้องและมีเหตุผลนั้นจะเกิดขึ้นได้ครูต้องส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และความใฝ่รู้ โดยครูเป็นแบบอย่างไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนจึงมีความสำคัญมาก ทั้งนี้จะต้องทำควบคู่กับการปฏิรูปการผลิตครูเพื่อให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียน นั่นหมายความว่าครูต้องรู้จักคิด ใจกว้าง ใช้อำนาจกับเด็กน้อยลง และพร้อมจะเรียนรู้ไปกับนักเรียน ที่สำคัญคือมีเวลาให้แก่เด็กมากขึ้น การปฏิรูปดังกล่าวจะทำให้การสร้างเสริมศีลธรรมและสติปัญญาของเด็กเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน โดยไม่เกิดปัญหาว่าการเพิ่มวิชาศีลธรรมจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้วิชาอื่น ๆ ของเด็กแต่อย่างใด

นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้โรงเรียนที่มีกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะข้างต้นมาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกระบวนการ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง โดยโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับศีลธรรมของนักเรียน อาทิ โรงเรียนวิถีพุทธ ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในเครือข่ายดังกล่าวด้วย

๕.เสริมสร้างองค์กรประชาสังคม

องค์กรประชาสังคม คือ องค์กรที่ประชาชนอาสาสมัครมาร่วมกันทำสาธารณประโยชน์ หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กิจกรรมที่ทำอาจเป็นการส่งเสริมสุขภาพ อนุรักษ์วัฒนธรรม ดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมกีฬา พัฒนาการศึกษา หรือ ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก เช่น เด็กกำพร้า คนยากจน ผู้ติดเชื้อเอดส์ หญิงที่ถูกทำร้าย เป็นต้น องค์กรดังกล่าวสามารถเป็นชุมชนทางศีลธรรมได้ เพราะนอกจากจะร่วมกันทำสิ่งดีมีประโยชน์แล้ว ยังส่งเสริมซึ่งกันและกันให้มีความเสียสละ เห็นแก่ส่วนรวม อันเป็นการทวนกระแสสังคมที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว นอกจากนั้นความเป็นมิตรที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ยังสามารถช่วยกำกับสนับสนุนให้แต่ละคนมีพฤติกรรมที่ดีงาม งดเว้นสิ่งที่เป็นโทษ มีการแนะนำตักเตือนกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งช่วยเหลือกันในยามที่ชีวิตประสบปัญหา

องค์กรประชาสังคม มีหลายลักษณะ อาจเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีสมาชิกไม่ถึงสิบคน ไปจนถึงองค์กรประเภทเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกนับพันนับหมื่น อาจเป็นองค์กรที่ผู้คนมาร่วมกิจกรรมกันเป็นครั้งคราว หรือทำงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรประเภทนี้ยังสามารถพัฒนาจนเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงครอบครัว ชุมชน วัด โรงเรียน รวมทั้งสื่อมวลชน ให้กลายเป็นขบวนการหรือชุมชนทางศีลธรรมขนาดใหญ่ที่สามารถมีอิทธิพลต่อสังคมบริโภคนิยมและอำนาจนิยมได้

๖.ปฏิรูปสื่อเพื่อมวลชน

ปัจจุบันมีธุรกิจจำนวนมากได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อใช้สื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้นการบริโภค อาทิ ธุรกิจเหล้า บุหรี่ การควบคุมมิให้ธุรกิจเหล่านี้ใช้สื่ออย่างเสรี เช่น งดโฆษณา หรือจำกัดเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์ ปรากฏว่าสามารถลดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและศีลธรรมได้ไม่น้อย จึงควรที่จะมีการขยายมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่ก่อผลเสียต่อศีลธรรมของสังคมส่วนรวม โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทำหน้าที่เฝ้าระวังเนื้อหาในสื่อที่เป็นอันตรายต่อศีลธรรม ไม่ว่าทางโทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์มือถือ

ในอีกด้านหนึ่งควรมีการพัฒนาสื่อที่ส่งเสริมศีลธรรม ที่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ เช่น การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์หรือช่องรายการสำหรับครอบครัว ที่ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึงได้ง่าย (ปัจจุบันมีรายการสาระสำหรับนักเรียน หรือ E-TV ซึ่งเผยแพร่เฉพาะโรงเรียนทั่วประเทศเท่านั้น) ทั้งนี้โดยอาจอาศัยงบประมาณจากสัดส่วนรายได้หรือค่าสัมปทานที่ได้จากสถานีโทรทัศน์กระแสหลักทั้งหลาย) มาตรการดังกล่าวจะได้ผลต้องมีการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ โดยมีการตั้งศูนย์อบรมผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อในทุกกระบวนการ และเปิดโอกาสให้คนจากชุมชนได้เข้ามามีส่วนเรียนรู้ เพื่อนำไปผลิตสื่อให้กับท้องถิ่นของตน นั่นหมายความว่าจะต้องมีการส่งเสริมวิทยุหรือโทรทัศน์ชุมชนอย่างจริงจัง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยอาจอาศัยงบประมาณจากองค์กรท้องถิ่น

ที่มองข้ามไม่ได้อีกประการหนึ่ง คือการทำให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กระแสหลักในปัจจุบันมีเนื้อหาที่ส่งเสริมศีลธรรมและสติปัญญามากขึ้น มิใช่มุ่งแต่ความบันเทิงและส่งเสริมบริโภคนิยมเป็นหลัก ดังนั้นจึงควรผลักดันให้ คณะกรรมการกิจการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ (กสช.) มีมาตรการส่งเสริมเนื้อหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เช่น มีการกำหนดสัดส่วนเนื้อหาดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งนี้โดยถือว่าคลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นสมบัติของชาติ จึงจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

๗.ลดอิทธิพลของบริโภคนิยมและอำนาจนิยม

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าอำนาจเงินในปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างมากต่อสื่อ สถาบันศาสนา ครอบครัว สถาบันการศึกษา ในทางส่งเสริมบริโภคนิยมและวัตถุนิยม แต่ที่กำลังเป็นปัญหาเพิ่มเข้ามาอย่างน่าเป็นห่วงคืออิทธิพลในทางการเมือง ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องธุรกิจ ที่เต็มไปด้วยการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว และการทุจริตคอรัปชั่น จนการเมืองกลายเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมมากขึ้นทุกที และกลายเป็นแบบอย่างในทางเลวร้ายต่อผู้คนในสังคม

เราจำเป็นต้องทัดทานการขยายตัวของทุนนิยมและอำนาจเงิน ด้วยการคัดค้านนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างไร้ขีดจำกัด โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุน และการเงินที่คำนึงแต่ผลประโยชน์ที่เป็นเม็ดเงิน แต่ส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่และศีลธรรมของผู้คนทั่วทั้งสังคม

ควรมีการควบคุมป้องกันมิให้อำนาจเงินเข้าไปมีอิทธิพลในการเมืองมากเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้นักการเมืองกระทำการทุจริตหรือ “ถูกซื้อ”ด้วยเงินได้ง่ายแล้ว ยังจะทำให้ฝ่ายการเมืองเป็นเครื่องมือของระบบทุนนิยม เช่น ผลักดันกฎหมายและนโยบายที่กระตุ้นบริโภคนิยมและบั่นทอนสังคมและศีลธรรมของผู้คนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น ทำให้ระบบการเมืองมีความโปร่งใสมากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ง่าย รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการถอดถอนนักการเมืองที่(มีพฤติกรรมอันควรเชื่อได้ว่า)คอร์รัปชั่น ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าปัญหาพื้นฐานคืออิทธิพลของทุนนิยมที่แพร่ซึมเข้าไปในระบบและสถาบันต่าง ๆ ของสังคม จนทำให้ความโลภหรือความเห็นแก่ตัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบและสถาบันทางการศึกษา สื่อมวลชน เศรษฐกิจ ทำให้เกิดโลกทัศน์ ค่านิยม วิถีชีวิต และความสัมพันธ์ที่ถือเอาเงินหรือวัตถุเป็นเป้าหมายชีวิต ใฝ่เสพใฝ่บริโภค และมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวให้มากที่สุด การจะลดทอนอิทธิพลของทุนนิยมและบริโภคนิยม จึงนอกจากจะต้องคัดค้านทัดทานนโยบายทางการศึกษา สื่อมวลชน เศรษฐกิจ การพัฒนาที่ส่งเสริมวัตถุนิยมและบริโภคนิยมแล้ว ยังจำเป็นต้องสร้างทางเลือกในเชิงระบบหรือสถาบันขึ้นมาด้วย ที่ส่งเสริมโลกทัศน์ ค่านิยม วิถีชีวิต และความสัมพันธ์ในทางเอื้อเฟื้อเกื้อกูล เห็นคุณค่าของชีวิต และตระหนักถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ ใฝ่ทำใฝ่สร้างสรรค์ ทั้งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน โดยนอกจากจะทำขึ้นมาเป็นตัวอย่างแล้ว ยังมีการผลักดันให้เกิดนโยบายหรือกลไก (เช่น กฎหมาย องค์กรอิสระ สถาบัน) ที่ส่งเสริมระบบหรือสถาบันทางเลือกดังกล่าวให้เข้มแข็งและแพร่หลายได้ เช่น นโยบายและกลไกที่ส่งเสริมการศึกษาทางเลือกแบบต่าง ๆ อาทิ โฮมสคูล เครือข่ายการศึกษานอกระบบ จิตปัญญาศึกษา หรือนโยบายและกลไกที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง เงินตราชุมชน หรือนโยบายและกลไกที่ส่งเสริมสื่อมวลชนสำหรับครอบครัวและองค์กรประชาสังคม เป็นต้น

สำหรับอำนาจนิยมนั้น ควรลดทอนมิให้ขยายตัวด้วยการส่งเสริมให้รัฐกระจายอำนาจออกจากส่วนกลางให้มากขึ้น มิใช่สู่องค์กรปกครองท้องถิ่นเท่านั้น ที่สำคัญคือกระจายอำนาจให้องค์กรชุมชนมีบทบาทในการจัดการดูแลกิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชนโดยตรง เช่น มีอำนาจในการจัดการป่าชุมชน แม่น้ำลำคลองในท้องถิ่น เป็นต้น

ขณะเดียวกันการใช้อำนาจของรัฐจะต้องได้รับการกำกับตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างจริงจัง การกำกับตรวจสอบและถ่วงดุลนั้น นอกจากจะทำโดยผ่านสถาบันนิติบัญญัติและตุลาการ ตลอดจนองค์กรอิสระที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้มีบทบาทด้วย ทั้งโดยตรงและโดยผ่านสถาบันนิติบัญญัติ ตุลาการและองค์กรอิสระ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้รัฐคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมโดยใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นหลัก มีความละเอียดรอบคอบในการดำเนินงาน แทนที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจดังแต่ก่อน

สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือการปฏิรูประบบราชการ เพื่อลดอำนาจนิยมภายในระบบให้น้อยลง และเป็นระบบที่อาศัยความรู้และคุณธรรมมากขึ้น โดยมีการปรึกษาหารือและส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากข้าราชการในทุกระดับให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้มีการสื่อสารจากล่างขึ้นบน แทนที่จะเป็นการสั่งการจากบนลงล่างอย่างเดียว ในทำนองเดียวกัน เมื่อออกไปสัมพันธ์กับประชาชน ควรมีการร่วมมือและปรึกษาหารือกับประชาชนมากขึ้น มิใช่สั่งการให้ประชาชนทำตามในทุกเรื่องเพราะถือว่าข้าราชการเป็นใหญ่เหนือประชาชน การลดอำนาจนิยมดังกล่าวจะต้องทำในหน่วยราชการทุกระดับ รวมทั้งในระดับโรงเรียน

กล่าวในภาพรวมแล้ว นอกจากการลดอิทธิพลของอำนาจเงินและอำนาจนิยมในเชิงระบบแล้ว จำเป็นจะต้องมีระบบหรือโครงสร้างที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ลดการเอารัดเอาเปรียบกัน และก่อให้เกิดสุขภาวะอย่างเป็นองค์รวม ทั้งในทางกาย ความสัมพันธ์ จิต และ ปัญญา โครงสร้างอันสันติดังกล่าว ย่อมเป็นโครงสร้างที่ส่งเสริมศีลธรรมในตัวเอง โครงสร้างดังกล่าว ประกอบด้วย

ระบบเศรษฐกิจ ที่ส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้อย่างยุติธรรม ไม่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้น มีสวัสดิการช่วยเหลือคนยากจน รวมทั้งปกป้องผู้ยากไร้จากการเอาเปรียบของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ผู้คนมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะหรือของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน มีปัจจัยในการผลิตและดำรงชีพขั้นพื้นฐาน สามารถเลือกหรือรักษาวิถีการดำรงชีพที่ตนปรารถนาได้ เป็นต้น

ระบบการเมือง ที่ไม่ผูกขาดอำนาจไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กระจายอำนาจให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ระดับชุมชนไปถึงระดับชาติ รวมถึงการดูแลจัดการทรัพยากรท้องถิ่น มีกลไกที่สามารถป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้หลักประกันทางสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีกลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นต้น

ระบบการศึกษา ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนตนในทุกมิติ ไม่หลงติดอยู่กับระบบบริโภคนิยมหรือถูกครอบงำด้วยลัทธินิยมใด ๆ อย่างไร้วิจารณญาณ ผู้คนสามารถพัฒนาและใช้ศักยภาพทั้ง ๔ มิติ (คือ กาย ความสัมพันธ์ จิต และปัญญา)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นอกจากสามารถแก้ปัญหาของตนได้แล้ว ยังสามารถช่วยเหลือส่วนรวมด้วยวิถีทางที่สันติ เป็นระบบที่เปิดกว้างและมีความหลากหลาย ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งยังมีเสรีภาพในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือสภาพแวดล้อมของตน

ระบบสื่อมวลชน ที่ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ถูกต้องและมีทัศนคติที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาสุขภาวะทั้ง ๔ มิติ ไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ ประชาชนสามารถเข้าถึงหรือเป็นเจ้าของได้ เป็นสื่อกลางที่ส่งเสริมให้ผู้คนเกิดความเข้าใจกัน ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งเคารพในความแตกต่างทางความคิดและอัตลักษณ์

ส่งท้าย

มักพูดกันว่าประชาชนจะมีคุณธรรม บ้านเมืองจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อได้ผู้นำที่มีคุณธรรม ดังนั้นเราจึงมักได้ยินเสียงร่ำร้องเรียกหาคนดีมาเป็นผู้นำประเทศ โดยเชื่อว่าถ้าได้ผู้นำที่เป็นคนดีแล้ว บ้านเมืองก็จะดีไปเอง ความคิดเช่นนี้นอกจากจะมองว่าความดีเป็นเรื่องของตัวบุคคลล้วน ๆ แล้ว ยังมองว่าปัจจัยทางสังคมตลอดจนระบบเศรษฐกิจการเมืองการศึกษา เป็นกลาง อยู่ที่ว่าใครจะใช้ในทางดีหรือร้าย แต่ในความเป็นจริงศีลธรรมของตัวบุคคลย่อมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย อีกทั้งปัจจัยทางสังคมก็มิได้มีความเป็นกลางทางศีลธรรม บ้างก็เป็นปฏิปักษ์กับความดี บ้างก็เป็นมิตรกับความดี ผู้นำแม้จะเป็นคนดีเพียงใด หากอยู่ภายใต้ระบบการเมืองที่ไม่โปร่งใสหรือรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ ก็อาจกลายเป็นผู้นำที่ลุแก่อำนาจ หากไม่ทุจริตเองก็ต้องยอมให้คนอื่นทุจริต หาไม่ตัวเองก็ต้องหลุดจากอำนาจในเวลาไม่นาน ใช่แต่เท่านั้นแม้ยังรักษาความดีไว้ได้แต่ก็ยากที่จะผลักดันให้ประชาชนมีศีลธรรมมากขึ้น เพราะระบบหรือกลไกต่าง ๆ คอยขัดขวาง

ด้วยเหตุนี้ในการเสริมสร้างทางศีลธรรมของผู้คนจึงต้องให้ความสำคัญกับอิทธิพลของสังคมแวดล้อมด้วย หากเห็นว่าสังคมเป็นปฏิปักษ์กับความดี ก็จำต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสังคมให้กลับมาเป็นมิตรกับความดี เราไม่ควรฝากความหวังไว้กับผู้นำที่เป็นคนดี การโยนความรับผิดชอบให้แก่คนอื่นย่อมมิใช่วิสัยของคนดี คนดีจะต้องกล้าแบกรับภาระด้วยตนเอง โดยไม่กลัวว่าจะเปลืองตัว ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะคนดีในเมืองไทยคิดถึงแต่ตัวเองมากเกินไป สังคมไทยจึงตกต่ำทางศีลธรรมจนถึงขนาดนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น