เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

อิสระภาพแห่งใจ1





ตอนที่ 1 | 2 | 3 | 4 | 5
ธรรมะอรุณสวัสดิ์สังฆะที่รัก วันก่อนนั้นเราได้พูดถึง ประตูแห่งการหลุดพ้น 3 ประการ นั่นก็คือการเจริญสมาธิ 3 ประการ ซึ่งเป็นคำสอนที่ปรากฏอยู่ในพุทธศาสนาทุกนิกาย การเจริญสมาธิหมายถึงการใช้พลังแห่งการมองอย่างลึกซึ้ง เพื่อเข้าถึงธรรมชาติของความว่าง (emptiness) หรือสุญญตา การไร้สัญลักษณ์รูปลักษณ์ (signlessness) และการไร้ซึ่งความมุ่งหวัง (aimlessness)


ประตูแห่งการหลุดพ้น

ในประเพณีทางพุทธศาสนานั้น เราไม่ได้ให้คำสัญญาใดว่าผู้ปฏิบัติจะได้เข้าไปสู่สรวงสวรรค์ หรือดินแดนสุขาวดี หรือพ้นจากบาปหรือนรก แท้จริงแล้วเราปฏิบัติเพื่อที่จะมองอย่างลึกซึ้งและปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้น เราอาจเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากำลังหานั้น แท้จริงแล้วล้วนอยู่ตรงนั้นอยู่แล้วในชั่วปัจจุบันขณะ อยู่ในตัวเรา อยู่รอบตัวเรา เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่การให้คำมั่นสัญญา นี่คือการปฏิบัติที่จะช่วยให้เราตื่นรู้กับความเป็นจริงของเรา และความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลก

เราทราบดีว่าการทำสมาธินั้นคือทำสมาธิกับอะไรสักอย่าง เมื่อเราพูดถึงการทำสมาธิกับความว่างหรือสุญญตา เรารู้ว่าธรรมชาติของความว่างนั้นคือธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเธอมองไปที่ใบไม้ ก้อนหิน หรือก้อนเมฆ เธอจะเห็นธรรมชาติของความว่างอยู่ในนั้น เช่นเดียวกับเวลาที่เธอมองไปที่ใครสักคนหนึ่ง ต้นไม้สักต้น หรือแม่น้ำ เธอควรมองให้เห็นถึงธรรมชาติแห่งความเป็นจริงของความว่างในทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอดู ความว่างไม่ควรจะเป็นแค่ความคิดทางนามธรรม แต่เป็นปัญญาเห็นแจ้งที่เธอสามารถสัมผัสได้ เมื่อเธอสัมผัสสิ่งต่างๆ อย่างที่เขาเป็นอยู่

เช่นเดียวกันกับความเป็นจริงในเรื่องความไร้ซึ่งสัญลักษณ์ และรวมถึงร่างกาย ต้นไม้ เราควรจะสังเกตและมองเห็นในสิ่งต่างๆ ที่เป็นที่เกิดขึ้นว่าไม่มีสัญลักษณ์หรือสัญญา ให้เห็นถึงธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างอย่างที่เป็นอยู่ สัญญาหรือสัญลักษณ์นั้นสามารถที่จะหลอกลวงเรา เราควรตระหนักรู้ถึงการหลอกลวงของรูปลักษณ์สัญญาเหล่านั้น การติดยึดกับรูปแบบต่างๆ ทำให้เราถูกล่อลวงไปได้ง่าย

เราจะต้องสำรวจและเรียนรู้ ประยุกต์การทำสมาธิแบบนี้ ในวิถีทางที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของเรา







ความอยากทำให้เรา
ไม่สามารถที่จะสัมผัส
กับความสุขที่เกิดขึ้น
ณ ที่นี่ ขณะนี้
คำสอนของพระพุทธองค์นั้นคือ
การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข
ณ ที่นี่ ในขณะนี้
อยู่บนพื้นฐานของ
การมองอย่างลึกซึ้ง
เพื่อให้เราเห็นว่า
เรามีเงื่อนไขอย่างเพียงพอ
ที่จะมีความสุขในขณะนี้อยู่แล้ว
รู้เท่าทันปมแห่งความผูกมัด

ในพุทธศาสนาเราพูดถึง เงื่อนไข 10 ประการที่บั่นทอนความเป็นอิสระของเรา เวลาที่เราพูดถึงการหลุดพ้นนั่นคือการหลุดพ้นจาก "ปม" ที่ผูกมัดนี้ เพราะฉะนั้นเธอจะต้องฝึกปฏิบัติเจริญสมาธิที่เพื่อที่จะคลายการผูกมัดจากปมทั้งหลาย

สิ่งที่ผูกมัดเราข้อแรกคือ ความอยากมีสิ่งต่างๆ ในความอยากนั้นมีสิ่งที่เป็นอันตราย เราคิดว่าสิ่งที่เราอยากนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องมี ถ้าเรามีสิ่งนั้นเราจึงจะมีความสุข แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้เห็นอันตรายในสิ่งที่เราอยากได้ ในสิ่งที่เราไขว่คว้าหามา ความอยากทำให้เราไม่สามารถสงบสุขได้อีกต่อไป มันทำให้เราไม่มีความพึงพอใจกับสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น หรือสถานการณ์ที่เราเป็นอยู่ ความอยากทำให้เราไม่สามารถที่จะสัมผัสกับความสุขที่เกิดขึ้น ณ ที่นี่ ขณะนี้ คำสอนของพระพุทธองค์นั้นคือการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข ณ ที่นี่ ในขณะนี้ อยู่บนพื้นฐานของการมองอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เราเห็นว่าเรามีเงื่อนไขอย่างเพียงพอที่จะมีความสุขในขณะนี้อยู่แล้ว หากเรามีไฟแห่งความอยากอยู่ภายใน เราเชื่อว่า หากเราปราศจากสิ่งที่เราต้องการ เราจะไม่สามารถเป็นสุขได้อีกต่อไป ไฟแห่งความอยากทำให้เราสูญเสียความสุข ความสงบ และความสามารถที่จะมีความสุขในปัจจุบันขณะ นี่คือ 1 ใน 10 สิ่งที่ผูกมัดเราไว้ และเราจะต้องคลายปมเหล่านี้ออก


เสียงระฆังแห่งสติ ))) ))) )))


เราจะมองให้เห็นถึงสิ่งที่เราอยากได้อย่างไร พระพุทธองค์ทรงยกตัวอย่างมากมาย เพื่อให้เราเห็นถึงอันตรายจากการวิ่งไขว่คว้าสิ่งที่เราอยากได้ ตัวอย่างที่หนึ่งคือ ภาพของใครสักคนหนึ่งที่กำลังถือคบไฟและวิ่งต้านลม ลมกำลังเผาไหม้มือของเขาผู้นั้นแต่เขาก็ยังคงวิ่งต่อไป นั่นคืออันตรายของความอยาก

ตัวอย่างที่สองที่พระพุทธองค์ได้ทรงเสนอให้เราเห็นคือ ภาพของสุนัขที่กำลังวิ่งไล่กระดูกเปล่าๆ ถึงแม้ว่าสุนัขตัวนั้นจะได้กระดูกชิ้นนั้นแล้ว แต่ก็ยังไม่พึงพอใจ เพราะมันพยายามเคี้ยวกระดูกที่ไม่มีชิ้นเนื้อติดอยู่เลย หนำซ้ำกระดูกนั้นเป็นกระดูกพลาสติกอีกต่างหาก สิ่งที่เราอยากได้ก็เป็นเช่นเดียวกัน สิ่งที่เราอยากได้ไม่เคยเติมเต็มความต้องการของเรา

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ภาพของปลาที่กำลังงับเหยื่อบนเบ็ด ชาวประมงจะใช้เหยื่อติดขอเบ็ดเพื่อตกปลา แล้วโยนเบ็ดนั้นลงไปในแม่น้ำ เมื่อปลาเห็นเหยื่อตกปลาเหล่านั้นก็รู้สึกว่าเหยื่อน่าดึงดูดใจ น่าเข้าไปกัดกินมาก โดยหารู้ไม่ว่าเมื่อกัดเข้าไปแล้ว ตนเองจะติดกับดักและถูกจับได้ ซึ่งบางครั้งเหยื่อปลาที่มีสีสันที่น่าดึงดูดเหล่านั้นเป็นเพียงเหยื่อพลาสติกด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นเราจะต้องมองให้เห็นว่าสิ่งที่เราอยากได้นั้นมีอันตราย เมื่อมองเห็นอย่างชัดเจน เราจะเห็นว่าถึงแม้สิ่งนั้นจะน่าดึงดูดใจ แต่มันจะไม่สามารถดึงดูดใจเราได้อีกต่อไปแล้ว เพราะเราเห็นถึงอันตรายของสิ่งที่เราอยากได้นั้น นี่คือสิ่งที่เราจะต้องฝึกทำสมาธิ


เท่าทันปมแห่งความโกรธ ความไม่รู้ ความเปรียบเทียบ และความสงสัย

ปมที่สองคือ ความโกรธ เปลวไฟแห่งความโกรธนั้นก็ทำลายเรามากพอๆ กับเปลวไฟแห่งความอยาก เมื่อความโกรธฝังอยู่ในตัวเรา เราจะไม่มีความสามารถมีความสงบ ความสุข ณ ที่นี่และขณะนี้ นั่นคือเหตุผลที่เราจะต้องฝึกปฏิบัติมองอย่างลึกซึ้งให้เห็นว่า ความโกรธนั้นเกิดจากความโง่เขลาหรืออวิชชา ซึ่งเป็นการมองเห็นอย่างผิดๆ การมองอย่างลึกซึ้งเช่นนี้ทำให้เราเข้าใจถึงความทุกข์ ซึ่งคืออริยสัจข้อที่หนึ่งในอริยสัจ 4

เมื่อเราเข้าใจอริยสัจข้อที่หนึ่ง คือการเห็นความทุกข์ เราก็จะสามารถก้าวข้ามความโกรธ และคลายปมแห่งความโกรธนั้นได้ ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถสัมผัสได้ว่าความโกรธนั้นอยู่ในตัวเขา เขาก็จะสามารถฝึกการคลายปมแห่งความโกรธที่อยู่ในตัวเขา ซึ่งจะช่วยปลดปล่อยจิตปรุงแต่งนั้น

ปมข้อที่สามคือ ความไม่รู้ อวิชชา หรือความคิดเห็นที่ผิด ทำให้เราสับสนว่าเราควรจะไปไหน ทำอะไร และไม่ควรทำอะไร ที่เราทำในสิ่งที่ผิด เราพูดในสิ่งที่ผิดเพราะว่าเรามีความโง่เขลา เรามีความไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก อะไรคือสิ่งที่ผิด นี่คือปมผูกมัดเราในข้อที่สาม

ปมข้อที่สี่คือ ความรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า เหนือกว่า หรือเท่ากับคนอื่น นั่นเพราะว่าเรามีความคิดเห็นต่อความมีตัวตน ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ ทำให้เกิดปมด้อย ปมเด่น ปมเท่าเทียมกันในใจของเรา และเราก็เป็นทุกข์กับความเด่น ความด้อย ความเท่าเทียมเหล่านั้น

ปมข้อที่ห้าคือ ความสงสัย ความไม่เชื่อ เวลาที่เราสงสัยเราก็จะไม่มีความสุข มันมีความไม่รู้ ความไม่เชื่ออยู่ตรงนั้น ...๐


เสียงระฆังแห่งสติ ))) ))) )))

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น