เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเกิดขึ้นแห่งอัตตา


บทที่ ๔
การเกิดขึ้นแห่งอัตตา

การเกิดขึ้นแห่ง "อัตตา" นั้น มาจากจิตที่ตั้งไว้ผิด พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมนำมาซึ่งอันตรายซึ่งร้ายยิ่งกว่าอันตรายที่ศัตรูใจอำมหิตจะพึงกระทำให้ จิตที่ตั้งไว้ถูกจะนำมาซึ่งประโยชน์มากกว่าคนที่หวังดีที่สุด มีบิดามารดา เป็นต้น จะทำให้ได้

ทั้งนี้เป็นการชี้ให้เห็นโทษของการที่ตั้งจิตไว้ผิด แต่สิ่งที่มนุษย์ในโลกกำลังกลัวกันนั้น หาใช่จิตที่ตั้งไว้ผิดไม่ เพราะเขายังไม่รู้จักสิ่งๆ นี้ และไม่เคยคิดถึงสิ่งๆ นี้ จึงไปสนใจกลัวสิ่งซึ่งไม่น่ากลัวเท่าสิ่งๆ นี้ เช่น กลัวลัทธิการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามบ้าง กลัวสงคราม หรือ การอดอยาก กลัวผีสาง กลัวเทวดา กลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ กลัวกันจนถึงกับหมดความสุข หรือกลายเป็นความทุกข์ทั้งกลางวันและกลางคืน

ทุกข์ภัยทั้งหมดของโลกมาจากจิตที่ตั้งไว้ผิดนี่เอง คือ จิตที่ตั้งไว้ผิด ก็ทำให้เกิดลัทธิที่ไม่พึงปรารถนาขึ้น ทำให้เกิดการอดอยาก การเบียดเบียน และการสงคราม ฯลฯ เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว ชาวโลกก็หาได้สนใจไม่ ว่ามันเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ จึงจัดการแก้ไขไปอย่างผิดๆ กระทำไปด้วยความกลัว เพราะไม่มีธรรมะ ซึ่งสามารถขจัดความกลัวออกไปเป็นอย่างดี (แม้ลำพัง ความกลัวล้วนๆ ท่านก็ถือว่า เป็นจิตที่ตั้งไว้ผิดเหมือนกัน) เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่า มีจิตที่ตั้งไว้ผิดอยู่เป็นตอนๆ ต่อเนื่องกันไปหลายระดับ เมื่อไม่มีการตั้งจิตไว้ในลักษณะที่ถูกต้องเลย สิ่งที่เรียกว่า "อัตตา" หรือ ความเห็นแก่ตัวจัด ความเห็นว่ามีตัวมีตน จึงเต็มไปหมด แม้กระนั้น ก็ไม่มีใครเอาใจใส่ ไม่สนใจว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร จนทำให้โลกนี้ตกอยู่ในสภาพ ที่อยู่ใต้กะลาครอบของอวิชชา คือ ความมืดมนอลเวง เต็มไปด้วยปัญหายุ่งยาก ซึ่งสรุปแล้วก็คือ ความทุกข์ แล้วก็แก้ไขความทุกข์กันไปเรื่อยๆ ด้วยอาการที่รู้สึกว่า ตื่นเต้นสนุกดี คือได้ลองฝีมือใช้ความรู้ใหม่ๆ แปลกๆ แม้จะแก้ไขความทุกข์ของโลกไม่ได้ ก็ยังเพลิดเพลิน อยู่ด้วยความรู้ หรือ ความสามารถใหม่ๆ เหล่านั้น เป็นเสมือนเครื่องหลอกให้อุ่นใจไปทีก่อน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด อาการเช่นนี้เอง ที่เป็นเครื่องปิดบัง ไม่ให้ไปสนใจถึงต้นเหตุอันแท้จริง ของวิกฤตการณ์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ ไม่สนใจในเรื่องจิตที่ตั้งไว้ผิด กล่าวคือ "อัตตา" กระแสแห่งการมี "ตัวตน-ของตน" จึงไหลไปเรื่อย ฉะนั้น ทำให้เราเห็นได้ว่า กำเนิดของอัตตา หรือ "ตัวเรา-ของเรา" ก็คือ อวิชชา

น่าประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือ ใครๆ ก็พยายามจะแสดงตนว่า เป็นผู้รู้จักอวิชชา และให้ความหมายของอวิชชากันไปเองตามชอบใจ ดูประหนึ่งว่า เขาเป็นผู้เข้าใจ หรือรู้จักอวิชชา อย่างแจ่มแจ้ง แต่แล้วก็เป็นที่น่าขบขัน ที่ความรู้นั้น ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้แม้แต่นิดเดียว และยังแถมเข้ากันไม่ได้กับ ความหมายของอวิชชาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ อวิชชาไม่ได้หมายถึงความไม่รู้อะไรเลยแต่เพียงอย่างเดียว กลับจะหมายถึงรู้อะไรมากมายไม่มีที่สิ้นสุดด้วยซ้ำไป แต่เป็นความผิดทั้งนั้น คือเห็นกลับตรงกันข้ามไปหมด เช่น เห็นมูลเหตุของความทุกข์ เป็นมูลเหตุของความสุขไป อย่างที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เขาไม่เห็นอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ว่า ความทุกข์นั้น มันอะไรกันแน่ อะไรเป็นมูลเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ สภาพที่ปราศความทุกข์จริงๆ นั้นเป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติอย่างไรคนเราจึงจะเข้าถึงสภาพที่ไม่มีความทุกข์

เราอาจจะกล่าวได้ว่า ความรู้ชนิดใดๆ มากมายเท่าใดก็ตาม ถ้าปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง ในสิ่งทั้ง ๔ ดังที่กล่าวมานี้แล้ว ต้องถือว่าเป็น อวิชชา ทั้งนั้น คือเป็นความรู้ที่ใช้ไม่ได้เลยในการที่จะกำจัดความทุกข์ ฉะนั้น ถ้าจะมีคำแปลที่ถูกต้องรัดกุมของคำว่า อวิชชาแล้ว จะต้องแปลว่า ธรรมชาติที่ปราศจากความรู้ชนิดที่จะดับทุกข์ได้ หรือกล่าวว่าสภาวะที่ปราศจากความรู้ที่ดับทุกข์ได้ นั่นแหละคือ อวิชชา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้โดยเฉพาะคือ ตรัสเอาความไม่รู้อริยสัจจ์ทั้ง๔ ว่าเป็นอวิชชา หมายความว่า แม้เขาจะมีความรู้มากมายเท่าไรอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้อริยสัจจ์ทั้ง๔ แล้วก็ถูกจัดว่าเป็นอวิชชา ฉะนั้นจึงทำให้เรามองเห็นได้ชัดเจนอีกว่า โลกเรากำลังอยู่ใต้กะลาครอบของอวิชชา หรือ ความรู้ที่ไม่ใช่วิชชาของพระพุทธเจ้า จึงไม่สามารถจะช่วยชาวโลกได้ ในที่สุด ก็เข้าทำนองที่เรียกว่า "ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" กล่าวคือ ความรู้ชนิดนั้นจะกลายเป็นเครื่องทำให้โลกวินาศอยู่ภายใต้ความรู้นั้นเอง

ตามหลักธรรมะในพุทธศาสนา พึงทราบไว้เสียก่อนว่า บรรดาเรื่องราวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่จิตนั้น ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า อารมณ์เป็นที่ตั้งอาศัย หรือที่เรียกว่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยสำคัญ "อารมณ์" แปลว่า สิ่งอันเป็นที่ยึดด้วยความยินดี แต่ความหมายอันแท้จริงนั้น เป็นที่ยึดหน่วงเพื่อยินดีก็ได้ หรือไม่พอใจก็ได้ แล้วแต่ว่า จิตนั้นได้รับการอบรมมาอย่างไร คือมีอวิชชานั่นเอง เมื่อ ตาหูจมูกลิ้นกาย กระทบ รูปเสียงกลิ่นรสวัตถุ ก็เกิดความรู้สึก แต่ความรู้สึกของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน และอาจรู้สึกตรงกันข้ามก็ได้ แม้จะเป็นไปในทางใจก็ตาม แต่ก็ยังเป็นที่ตั้งแห่งการเกิดขึ้นมาของ "ตัวตน-ของตน" ด้วยกันทั้งนั้น เว้นเสียแต่ว่า จิตนั้นเป็นจิตที่หมดอวิชชาโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น อวิชชาจึงเป็นมูลเหตุให้เกิด "ตัวตน-ของตน" ขึ้นมาเพราะอาศัยสิ่งที่เรียกว่า อารมณ์เป็นเหตุปัจจัย ถ้าเป็นอารมณ์ร้ายก็เกิด "ตัวตน" อย่างร้าย ถ้าเป็นอารมณ์ดีก็เกิด "ตัวตน" อย่างดี

เมื่อมีความรู้สึกเป็นตัวตนเป็นของตนเกิดขึ้นมาอย่างเต็มในรูปนี้แล้ว ก็นับได้ว่า การเกิดหรือชาติใหม่ได้ปรากฏขึ้นมาแล้ว และหลังจากนั้นความทุกข์จักต้องตามมาโดยสมควรแก่กรณี คือมากบ้างน้อยบ้าง ส่วนในกรณีของผู้ที่หมดอวิชชาเช่นพระอรหันต์นั้น ท่านไม่มีความรู้สึกว่า พอใจหรือไม่พอใจ กล่าวคือ ไม่คิดปรุงให้เป็นอารมณ์ดี หรือเป็นอารมณ์ร้ายขึ้นมาได้ ความรู้สึกว่า "ตัวเรา-ของเรา" จึงไม่มีช่องทางที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะไม่มีอวิชชาเข้ามาบันดาล มีแต่วิชชาที่แท้จริงอยู่ประจำ การกระทบของอายตนะทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ก็เป็นแต่สักว่าการกระทบ พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็สิ้นสุดลง ไม่คิดปรุงเป็นความรู้สึก หรือเป็นความอยากขึ้นต่อไป ความรู้สึกว่า "ตัวตน-ของตน" จึงไม่เกิดขึ้น เพราะกระแสแห่งการเกิดถูกตัดตอนเสียแล้ว ตั้งแต่ในขั้นของการกระทบ ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เพราะอวิชชามีอยู่ อารมณ์จึงเกิดมีความหมายขึ้นมา จิตที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา ย่อมคิดปรุงเป็นความรู้สึกที่เป็น "ตัวเรา-ของเรา" เนื่องมาจากอารมณ์นั้นๆ

อารมณ์ที่ประทับใจแรงและนาน เราเรียกเป็นอารมณ์ใหญ่ อารมณ์ที่มีความประทับใจนิดหน่อย เรียกอารมณ์เล็ก ส่วนที่อยู่ในระหว่างนั้นเรียกว่า อารมณ์ธรรมดา กรรมต่างๆ ที่กระทำลงไปสุดแต่กำลังของอารมณ์ที่ใหญ่หรือเล็ก อารมณ์ที่เป็นเหตุให้ทำกรรมขนาดใหญ่ ย่อมมีกำลังมากพอที่จะทำให้ร่างกายสั่น หรือใจสั่น หมายความว่า มีการประทับใจมาก จึงมีเจตนามาก มีผลเกิดขึ้นคือ ทำให้เกิด "ตัวเรา-ของเรา" ชนิดที่ใหญ่หลวง ทำให้เกิดความระส่ำระสายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ถ้าอารมณ์น้อยก็เป็น "ตัวเรา-ของเรา" อย่างน้อย และมีความทุกข์น้อย ฉะนั้น จึงเป็นตัวตนอย่างมนุษย์ธรรมดาก็ได้ ฉะนั้น ใครจะเป็นตัวตนอย่างสัตว์นรก หรือสัตว์เดียรฉานก็ได้ หรือเป็นตัวตนอย่างเทวดา หรือพรหมก็ได้

ในกรณีที่เป็นตัวตนอย่างมนุษย์นั้น ก็อาจจะผิดแปลกแตกต่างกันไปอีก ทั้งนี้แล้วแต่ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นอะไรในขณะนั้น เช่น เป็นบิดามารดา เป็นลูกหลาน เป็นภรรยาสามี เป็นคนรวย เป็นคนจน เป็นนายเป็นบ่าว เป็นคนสวยคนไม่สวย เป็นคนแพ้คนชนะ กระทั่งรู้สึกว่า ตัวเป็นคนโง่ หรือคนฉลาด เป็นคนมีบุญมีบาป คนดีคนชั่ว คนมีสุขหรือคนมีทุกข์ ดังนี้เป็นต้น นี้คือ "ตัวตน" ที่ถูกปรุงขึ้นมาด้วยอวิชชาในรูปต่างๆ กัน ล้วนแต่จะต้องเป็นทุกข์ เพราะความยึดถือว่า เป็นอย่างนั้นๆ ด้วยกันทั้งนั้น เพราะจะต้องมีความเห็นแก่ตัว ตามความเข้าใจว่าตัวเป็นอย่างไร

ก่อนแต่จะเกิดความยึดถือขึ้นมานั้น จะต้องเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ตัณหา" ขึ้นก่อน ตัณหาแปลว่า ความอยาก เมื่อมีความอยาก ชนิดหนึ่งชนิดใดในสิ่งใดก็ตาม สิ่งที่เราเรียกกันว่า ความยึดถือ หรืออุปาทาน ก็เกิดขึ้น เพราะในความรู้สึกอยากนั้นเอง จะต้องมีความรู้สึกเป็นตัวผู้อยาก รวมอยู่ด้วยเสมอไป อารมณ์ถูกใจก็เกิดความอยากขึ้นชนิดหนึ่ง อารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็เกิดความอยากขึ้นอีกชนิดหนึ่ง เป็นความอยากด้วยกันทั้งนั้น ความรู้สึกที่เป็นผู้อยากนั่นแหละคือ "ตัวตน" ในที่นี้ ความรู้สึกทั้งสองชนิดนี้เรียกว่า ความยึดถือ หรือ อุปาทาน คือยึดถือว่าเป็น "ตัวเรา" และยึดถือว่าเป็น "ของเรา"

ผู้ศึกษาจะสังเกตเห็นได้เลาๆ แล้วว่า ตัณหาและอุปาทานนี้มีมูลมาจากอวิชชา กล่าวคือ เพราะไม่รู้จึงได้ไปอยากไปยึดถือ มีความโลภก็เพราะไม่รู้ว่าไม่ควรโลภ มีความโกรธก็เพราะไม่รู้ว่าไม่ควรโกรธ มีความหลงก็เพราะไม่รู้ว่าไม่ควรหลง นี้แสดงว่า โลภโกรธหลงมีมูลเหตุมาจากอวิชชา เพราะฉะนั้น ความรู้สึกทั้งหลายที่เป็นของผิด ก็ล้วนแต่มาจากอวิชชาทั้งนั้น

ตัณหา(ความอยาก) แบ่งออกได้เป็น ๓ ประการ คือ อยากไปตามความใคร่ในของอันน่ารักน่าใคร่ นี้เรียกว่า กามตัณหา ความอยากชนิดที่ทำให้อยากเป็นนั่นเป็นนี่ หรือแม้อยากจะมีชีวิตอยู่ นี้เรียกว่า ภวตัณหา ความอยากประเภทสุดท้ายนั้นตรงกันข้ามจากภวตัณหา กล่าวคือ อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้นอยากไม่ให้เป็นอย่างนี้ แม้กระทั่งอยากไม่มีชีวิตอยู่นี้ เรียกว่า วิภวตัณหา

การทำความเข้าใจอย่างชัดแจ้งในความหมายของตัณหาทั้ง ๓ นี้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าปนกันจนฝั่นเฝือแล้วก็ยากที่จะเข้าถึงธรรมะได้ ฉะนั้น จำเป็นจะต้องรู้จักแยกแยะให้เป็นประเภทๆ ไป ความรู้สึกของ "ตัวตน" ก็มีอยู่ตามประเภทของตัณหา คือเป็น ๓ ประเภทเหมือนกัน "ตัวตน" ในประเภทกาม ก็ทะนงเกี่ยวกับเรื่องกาม "ตัวตน" ในประเภทรูปพรหม ก็ทะนงตัวว่าสูงหรือประเสริฐกว่าพวกที่พัวพันในกาม "ตัวตน" ประเภทอรูปพรหมก็ทะนงตัวว่า ความบริสุทธิ์ของตนนั้น สูงกว่าความบริสุทธิ์ของพวกรูปพรหม ดังนั้นมันจึงเป็นมานะหรือทิฎฐิไปด้วยกันทั้งนั้น และยังมีความทุกข์อยู่นั่นเอง

เมื่อกล่าวโดยทางปรมัตถ์แล้ว ภาวะทั้งหมดนี้มีได้ในมนุษย์เราครบทุกชนิดของตัณหาและของ "ตัวตน" เช่น ในบางคราว จิตของคนเราผละไปจากกามของรักของใคร่ ไปยึดถือที่เกียรติไม่เกี่ยวกับกาม นี้ก็คือ อาการที่ถูกภวตัณหาครอบงำ หรือกล่าวอย่างสมมติก็ว่า กำลังเป็น "ตัวตน" ชนิดรูปพรหม ทีนี้บางคราวจิตเลื่อนไปสูงกว่านั้น คือไม่เห็นแก่กามไม่เห็นแก่เกียรติ แต่ไปพัวพันกับนามธรรมอันละเอียด เช่น ความรู้จริงความดีจริง มีจิตใจสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ไปมี "ตัวตนอยู่ที่สิ่งที่ไม่มีรูปอันบริสุทธิ์แบบอรูปพรหม จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายๆ ด้วยการเทียบเคียงดูจนเห็นว่า พวกที่หลงใหลในนกเขา ต้นบอน หรือต้นไม้ดัด เป็นต้น ย่อมมีใจสะอาดกว่าพวกกำลังหลงใหลกามคุณ คือเรื่องทางเพศตรงข้าม ส่วนพวกที่สนใจพิจารณารูปธรรม หรือ นามธรรมบางอย่าง เขาผู้นั้นย่อมมีใจสะอาดขึ้นไปกว่าพวกเล่นนก เล่นบอน หรือไม้ดัด ฯลฯ ฉะนั้น การแบ่งเป็นชั้นๆ คือ ชั้นกามาวจร รูปาวจร และ อรูปาวจร จึงมีได้เป็นได้ในหมู่คนเราที่ยังเป็นๆ อยู่นี้แหละ ตามแต่ที่อวิชชาจะดึงไปในรูปไหน แต่ทั้งหมดนั้น ยังเป็นเพียงตัณหาที่มีมูลมาจากอวิชชา และจะต้องมีความทุกข์ในรูปที่ต่างกัน

เมื่อเรารู้จักสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา แล้ว เราจะได้พิจารณากันถึงการที่ตัณหาเกิดขึ้นได้ในอารมณ์นั้นๆ จนกระทั่ง เกิดอุปาทานหรือ "อัตตา" ต่อไป ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นดอกไม้ที่งดงามดอกหนึ่ง ความรู้สึกอาจจะเกิดขึ้นในทางที่เป็นตัณหาก็ได้ ไม่เป็นตัณหาเลยก็ได้ เช่น ถ้าเรารู้สึกสวยงามติดอกติดใจหลงใหลในสี และในกลิ่น การเห็นเช่นนี้ ก็กลายเป็นตัณหาไป แต่ถ้าการเห็นนั้น ก่อให้เกิดความรู้สึกไปในการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาล้วนๆ หรือเกิดความรู้สึกว่า ดอกไม้นี้เป็นมูลเหตุของความเหน็ดเหนื่อยความหมดเปลือง และความลุ่มหลงของมนุษย์ หรือมันเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ที่ซ่อนไว้ภายใต้ความงามและความหอม อย่างนี้เรียกว่า ยังไม่ถูกกามตัณหาครอบงำ และการเห็นก็ไม่ได้เป็นที่ตั้งของตัณหา เพราะไม่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่กลับมีวิชชาเข้ามาแทน ตัณหาก็ไม่เกิด จึงไม่เป็นทุกข์ เพราะตัวตนไม่เกิด นี่คือ หลักเกณฑ์ อันเกี่ยวกับความหมายของอารมณ์ที่มากระทบ ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะดีและมากเพียงไร ก็ยังบังคับควบคุมอารมณ์ของตนไว้ได้โดยมิให้เกิดเป็นตัณหา ผู้ใดไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของอวิชชาแล้ว อารมณ์ก็เป็นสักว่าอารมณ์ สัมผัสหรือความรู้สึกที่เกิดมาจากอารมณ์นั้นๆ ก็เป็นแต่สักว่าการสัมผัส และความรู้สึกไม่ก่อให้เกิดตัณหา หรือความยึดมั่นในอะไรๆ หมายความว่า ไม่ทำความทุกข์ให้เกิดขึ้น แต่เป็นความว่างจากทุกข์อยู่ตามเดิม และสติปัญญายังงอกงามไปในทางที่จะทำลายความทุกข์ในกาลข้างหน้ายิ่งขึ้น

ตัณหาประเภทที่ ๑ ที่อาศัยอารมณ์อันเป็นไปในทางกาม และยิ่งเมื่อมีความหมายเกี่ยวด้วยเพศตรงกันข้ามด้วยแล้ว ก็ย่อมจะเป็นตัณหาที่แรงและสมบูรณ์ ฉะนั้น ตัณหาที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ ย่อมถูกจัดไว้เป็นตัณหาของสัตว์ทั่วไป ในภูมิกามาวจร คือ สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต มนุษย์ และเทวดา

ตัณหาประเภทที่ ๒ แปลกเป็นพิเศษออกไป คือไม่ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า กาม และยังรู้สึกรังเกียจต่อสิ่งที่เรียกว่า กาม เสียด้วย ข้อนี้หมายความว่า คนเราบางพวก หรือบางขณะ มีจิตใจที่ไม่แยแสต่อกาม ในกรณีของคนธรรมดาสามัญ ก็เช่น ความอยากในเกียรติยศ หรือ ความดีความงาม อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนยึดถือ หรือที่รู้สึกว่าน่าปรารถนา บางคราวเรารู้สึกอยากจะอยู่เฉยๆ โดยไม่มีใครมากวน บางคราวอยากจะเดินทางไกล หรือไปพักผ่อนในที่เงียบ ที่ชายทะเล ไปนั่งนิ่งๆ คนเดียว แล้วก็พอใจในรสชาติที่เกิดขึ้นเพราะการทำอย่างนั้น เมื่อเป็นสิ่งที่ถูกใจก็มีความอยาก ตัณหาชนิดนี้จึงไม่ควรถูกจัดไว้เป็นพวกกาม ดังที่กล่าวในประเภทที่ ๑ แต่เป็นตัณหาอีกประเภทหนึ่งที่รังเกียจกาม และที่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็คือ ความลุ่มหลงของผู้ที่พอใจในสุขอันเกิดจากฌาณ (การนั่งเพ่งจนจิตแน่วแน่) อย่างบทกลอนที่เราได้ยินกันในหนังสือแบบเรียนสมัยก่อนว่า "เข้าฌานนานนับเดือน ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา จำศีลกินวาตา เป็นผาสุกทุกคืนวัน" นี่มีความหมายอันแสดงว่าเป็นความต้องการ หรือความมุ่งมาดอย่างแรงกล้าอย่างหนึ่ง อันเป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลงเหมือนกัน รวมความว่า นักสมาธิหรือพวกบำเพ็ญตบะแบบโยคี ถ้าเขาทำไปเพราะความหวังความสุขจากความสงบล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับกามเลย ก็เรียกว่า ตัณหาที่ไม่เกี่ยวด้วยกาม แต่ถ้ามีความเชื่อและมีความมุ่งหมายว่า การบำเพ็ญตบะนั้น จะนำมาซึ่งผลเป็นความสุขจากเพศตรงข้ามในชาตินี้ หรือหลังจากตายแล้ว เช่นการไปเกิดในสวรรค์ที่สมบูรณ์ไปด้วยกามคุณ เป็นต้น ความอยากของเขาก็ต้องจัดเป็น กามตัณหา ไปตามเดิม ข้อนี้อาจจะเปรียบเทียบได้กับบางคนที่ยึดมั่นในเกียรติหรือความดีจริง แต่ถ้ามีความหวังอยู่ว่า เกียรติหรือความดีนั้นจะเป็นทางมาซึ่งวัตถุปัจจัยอันเป็นที่ตั้งของกามารมณ์ หรือความสุขอันเกิดจากเพศตรงข้ามในเวลาต่อไปแล้ว ตัณหาของเขาก็กลายเป็น กามตัณหา ไปตามเดิม

คำที่เราได้ยินกันทั่วๆ ไปว่า มนุษยโลก พรหมโลก หรือ บางทีเรียกว่า กามโลก รูปโลก อรูปโลกนี้ ก็หมายถึง ภาวะทางจิตใจของเรานี่เอง กามโลก คือ ภาวะของสัตว์ที่จิตใจติดในกาม รูปโลก คือภาวะของบุคคลที่มีจิตใจมองข้ามกาม แต่ยังไปติดอยู่ที่ความพอใจของสิ่งที่เป็นรูปธรรมล้วนๆ ที่ตนนำมาเป็นอารมณ์สำหรับการเพ่งจิต หรือการบำเพ็ญฌาน และอรูปโลกก็หมายถึงภาวะทางจิตที่ใจสูงไปกว่านั้นอีก เพราะมีตัณหาละเอียดประณีตยิ่งขึ้น เป็นภาวะของหมู่ชนที่มีความหลุ่มหลงในสิ่งที่ไม่มีรูป หรือเป็นนามธรรมล้วนๆ ซึ่งตนนำมาใช้เป็นอารมณ์สำหรับการเพ่งจิตหรือเพ่งฌานของตน เมื่อทำสำเร็จก็นำมาซึ่งความพอใจลุ่มหลงที่สุขุมยิ่งขึ้นไป

ตัณหามีได้ในภพ(ภาวะ) ทั้ง ๓ ซึ่งพอจะจัดคู่กันได้ว่า กามตัณหาย่อมเป็นไปในกามภพ ภวตัณหาย่อมเป็นไปในรูปภพ นี่แหละคือความปรารถนาของมนุษย์ ผู้ที่พยายามคิด ด้วยหวังว่า จะพบสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ แม้จะมาถึงที่สุดเช่นนี้แล้ว ก็ยังหาได้ดับทุกข์โดยสิ้นเชิงไม่ เพราะความที่เขาไม่สามารถนำ "ตัวตน-ของตน" ออกไปเสียได้นั่นเอง เขาจึงตกอยู่ในขอบวงของตัณหาเรื่อยไป หรือจะพยายามเท่าไรก็ออกไปพ้นจากขอบวงของตัณหาไม่ได้ นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้เข้าใจแจ่มแจ้งจริงๆ จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรมทางลัด

สำหรับตัณหานั้น ไม่ว่าชนิดไหนหมด มันจะต้องมีมูลฐานอยู่ที่อารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสทางกายและสัมผัสทางใจนั่นเอง อารมณ์ทั้ง ๖ นี้มิได้หมายถึงแต่อารมณ์เฉพาะหน้า เพราะว่าแม้อารมณ์ในอดีตที่ล่วงไปแล้ว ก็ยังเป็นอารมณ์ของตัณหาได้อยู่ดี ด้วยการเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ในปัจจุบันบ้าง ด้วยการย้อนระลึกนึกถอยหลังไปถึงบ้าง ซึ่งเราเรียกกันว่า ความห่วงใยอาลัยอาวรณ์ ที่นี้ สำหรับอารมณ์ในอนาคตที่จะพึงได้ข้างหน้านั้น ก็เป็นอารมณ์ของตัณหาอย่างยิ่งด้วยเหมือนกัน ข้อนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "ความหวัง" และดูจะเป็นปัญหายุ่งยากกว่าอย่างอื่นด้วยซ้ำไป เพราะว่าเราอาจจะหวังกันได้มากๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และมันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกำลังใจ จนกระทั่ง พากันถือว่า ชีวิตนี้อยู่ได้ด้วยความหวังอารมณ์ในอนาคต นั้นแหละเป็นปัญหายุ่งยากที่สุดสำหรับมนุษย์เรา คือมันเป็นไปได้กว้างขวางที่สุด ปัญหายุ่งยากของโลกในปัจจุบันนี้ ซึ่งจะเป็นวิกฤติการณ์ขนาดใหญ่เล็กชนิดไหนก็ตาม หรือถึงกับจะวินาศกันทีเดียวทั้งโลกก็ตาม ล้วนแต่มีมูลมาจากอารมณ์ในอนาคตของตัณหาทั้งนั้น รวมความว่า อารมณ์ทั้งที่เป็นอนาคตและปัจจุบัน ก็ล้วนแต่เป็นตัณหาไปด้วยกันทั้งนั้น

จากที่กล่าวมาแล้ว ผู้ศึกษาจะต้องสังเกตให้เห็นว่า ในตัณหาทั้ง ๓ ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และ วิภวตัณหา นั้น ตัณหาประการแรกมีกามเป็นอารมณ์ และตัณหา ๒ ประการข้างหลังนั้น หาได้มีกามเป็นอารมณ์ไม่ เราจึงอาจจะแยกตัณหาออกเป็น ๒ ประเภท คือ ตัณหาที่เนื่องด้วยกาม และไม่ได้เนื่องด้วยกาม ทำให้กล่าวได้ว่า ศัตรูหรืออันตรายของมนุษย์เรา สำหรับในทางฝ่ายจิตแล้ว ก็มีอยู่ ๒ อย่างนี้ และนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า "กาม" และ "ภพ" ซึ่งเป็นคำบัญญัติขึ้นเฉพาะที่พวกโยคี หรือมุนี ใช้พูดกันว่า "สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวก็คือ กาม หรือ ภพ" เขาจึงออกแสวงหาหนทางรอดพ้น ด้วยการทำความเพียรอย่างยิ่ง ส่วนคนในปัจจุบันนี้ แทบจะไม่รู้จักสิ่งทั้ง ๒ นี้ว่าเป็นอะไร และไม่สนใจที่จะรู้จัก มีแต่บากบั่นพยายามเพื่อจะให้ได้กามและภพ ตามความต้องการ และไม่มองเห็นว่า เป็นสิ่งที่เป็นอันตราย อย่างที่เรียกว่า "เห็นงูเป็นปลา" แล้วก็เก็บเอามากอดรัดยึดถือไว้ด้วยอุปาทาน คือ ความรู้สึกเป็น "ตัวเรา-ของเรา" ทั้งนี้ โดยไม่รู้ว่าตนกำลังหลงรักสิ่งที่เป็นอันตราย เพราะเราควรจะอยู่โดยไม่ต้องมีความหลงรักในสิ่งใดเลย คือ อยู่ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ไม่มีความรู้สึกว่าเป็น "ตัวเราหรือเป็นของเรา" ในสิ่งใด และสามารถปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ไปได้ด้วยจิตที่บริสุทธิ์

สำหรับสิ่งที่เราเรียกว่า กามและภพนั้น เมื่อเรารู้จักมันดีแล้ว เราจะเห็นได้เองว่า กามเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่า "ของเรา" ส่วนภพนั้น เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่า "ตัวเรา" แต่เราต้องไม่ลืมหลักที่มีอยู่ว่า ถ้ามีความรู้สึกว่า "ของเรา"เมื่อใด ก็ต้องมีความรู้สึกว่าเป็น "ตัวเรา" ซ่อนลึกอยู่ในนั้นด้วย มนุษย์ตกเป็นเหยื่อ เป็นทาสของความหลอกลวง ของสิ่งที่เรียก่า "ตัวเรา-ของเรา" นั้น โดยไม่มีความรู้สึกตัวแม้แต่น้อย นี่แหละ คือข้อที่ถือกันเป็นหลัก ในหมู่ผู้รู้ว่า ซาตานหรือพญามารนั้น จะต้องมาหรือมีอยุ่ในลักษณะที่ไม่มีใครรู้จักตัวเสมอไป หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือ รู้ผิด เห็นเป็นไม่ใช่พญามารหรือศัตรู แต่เห็นเป็น "ตัวเรา" เสียเอง พญามารจึงทำอันตรายเราได้ตามชอบใจ เป็นความเสียหายเหลือที่จะพรรณนาได้ แต่พอเกิดรู้จักเข้าเท่านั้น พญามารก็จะหายหน้าไปทันที หรือที่ชอบพูดเป็นสำนวนปุคคลาธิษฐานว่า "พญามารจะขาดใจตาย หรือปักหัวหักคอตัวเองตายลงทันที" นี่แหละคือ อวิชชาที่คิดว่าเป็น "ตัวเรา" ถ้าว่างจาก "ตัวเรา" ก็คือ จิตที่บริสุทธิ์ แต่ชาวโลกไม่มีประสีประสาต่อสิ่งที่เรียกว่า พญามาร นี้เลย จึงมี "ตัวเรา" ที่ทำความเผาลนให้แก่ตัวเองด้วยความสนุกสนาน หรือด้วยความสมัครใจอย่างเป็นกิจประจำวัน คือซ้ำซากไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่ง หนักเข้าๆ ตัวเองก็ตอบไม่ได้ว่า นี่จะทำไปทำไมกัน ทั้งหมดนี้เป็นโทษของการที่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า กามและภพ หรือ "ตัวเรา-ของเรา" อย่างเดียวเท่านั้น

การที่มนุษย์เป็นทุกข์กันอยู่ในโลกกระทั่งถึงวันนี้ ก็มีมูลมาจากกามและภพ เป็นมาไม่รู้กี่แสนกี่ล้านปีแล้ว ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแก่สิ่งที่เรียกว่ากามและภพ แต่มีอยู่ที่วัตถุหรือสิ่งที่เป็นอารมณ์ภายนอก โลกแห่งปัจจุบันนี้เป็นโลกของวัตถุนิยมยิ่งขึ้นทุกที เป็นโลกของกามขึ้นทุกที แม้จะทำให้ละเอียดประณีตสุขุมเพียงไร ก็หาได้ปลอดภัยจากโทษของกามไม่ มีแต่จะกลายเป็นโทษของกามอย่างประณีตละเอียดสุขุมยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เป็นเพราะความไม่ประสีประสาต่อความรู้เรื่องกามและภพ ความตกเป็นทาสของกาม หรือวัตถุ มีแต่ขยายตัวกว้างออกไป สามารถลุกล้ำเข้าไปได้แม้ในเขตวัดวาอารามของพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นป้อมค่ายที่มั่นคงที่จะใช้ต่อต้านกามหรือวัตถุนิยม แต่ป้อมค่ายก็พังทลายไป ดังจะสังเกตได้ว่า นักบวชสมัยนี้ตกเป็นทาสของกามของวัตถุเพียงใด ลุ่มหลงแต่กามหรือติดในวัตถุกันไปแล้วแค่ไหน ไม่ผิดแผกไปจากชาวบ้านเลย นี้เรียกว่า การขยายตัวของวัตถุนิยม ซึ่งเคยเรียกกันครั้งกระโน้นว่ากาม เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ใครจะเป็นที่พึ่งให้แก่ใคร ในการที่จะทำตนให้ปลอดภัยจากอันตรายของวัตถุนิยม หรือสิ่งที่เรียกว่ากาม

เมื่อใครตกอยู่ในอิทธิพลของกามแล้ว ย่อมต้องตกอยู่ในอำนาจของภพโดยไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ เพราะมันเป็นของเนื่องกันอย่างสนิท เมื่อมีกามแล้ว ก็ประกาศตนเป็นเจ้าของของกามนั้น ซึ่งมีความหมายเป็นภพ ครั้นมีผู้แข่งขันหรือแย่งชิง "ตัวเรา" ที่เป็นภพ ก็มีกำลังแก่กล้าหรือเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก "ตัวเรา" ก็เปลี่ยนจากกามหรือราคะ มาเป็นโทสะ และเป็นโทสะยิ่งขึ้นจนถึงขนาดที่เรียกว่าลืมตัว คือมืนเมาใน "ตัวตน" จัดเกินไป จึงทำอะไรตามอำนาจของโทสะ ซึ่งเรียกกันว่าจะต้อง "รักเกียรติยิ่งกว่าชีวิต" ความไม่ยอมกันและกัน ยิ่งมีมากขึ้น ในหมู่มนุษย์ที่มึนเมาในตัวตน โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกผิด เพราะไปมัวหลงคำนึงแต่เรื่องเสียหน้าไม่เสียหน้า ซึ่งเป็นเรื่องของภพอย่างเดียวเท่านั้น อันนี้แหละเป็นมูลเหตุที่ทำให้คนเราเหมือนสัตว์ที่กัดกันจนตาย โดยไม่คำนึงถึงว่าจะได้อะไรมา เพราะอำนาจของ "ตัวตน"ได้ครอบงำหรือปิดบังดังกล่าวแล้ว แม้จะเอาสิ่งที่เป็นกามมายั่วมากล่อมมาขู่อย่างไร ก็หาได้เป็นที่สนใจในขณะนี้ ลำพังกามอย่างเดียวคนเราก็ฆ่ากันได้ พอเปลี่ยนไปเป็นรูปของภพ ก็ฆ่ากันได้ง่ายขึ้นไปอีก นี้คืออาการที่กามและภพกำลังครอบงำจิตใจคนเราอยู่ ฉะนั้นหน้าที่ของพวกเราก็คือ การสะกัดกั้นกระแสแห่งกาม ไม่ให้ครอบงำจิตใจชั้นหนึ่งก่อน ถ้าเมื่อมันครอบงำจิตแล้ว ก็สะกัดกั้นไม่ให้เป็นภพ ซึ่งเป็นเหตุให้คนทำอะไรลงไปตามชอบใจตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงอารยธรรม วัฒนธรรม หรือแม้แต่ศาสนา นี้คืออันตรายของเรื่องกามและภพที่เนื่องมาจากกาม

ถึงแม้ว่ามนุษย์เกือบทุกคน มักจะตกอยู่ใต้อำนาจของกาม หรือภพอันเนื่องจากกาม แต่ก็มีบุคคลบางจำพวกมองเห็นโทษของกามโดยประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็นโดยการได้ผ่านกามมาแล้ว อย่างโชกโชน หรือ ด้วยการศึกษาอบรมจิตใจ เพื่อให้มองเห็นอย่างนั้นก็ตาม ย่อมมองเห็นกามว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจเพราะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ จึงจัดกามไว้เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา หรือแม้แต่บุญกุศลซึ่งคนบูชากันนักนั้น ก็พลอยถูกรังเกียจไปด้วยฐานะที่เป็นปัจจัยของกาม ทั้งอย่างที่เป็นของมนุษย์และเป็นของสวรรค์ จึงทำให้เขาชะเง้อมองหาสิ่งอื่นซึ่งเป็นกุศลอันแท้จริง ที่อาจจะตัดความเยื่อใยในกามให้ขาดออกไปได้ ในที่สุด เขาก็ค้นพบภาวะทางจิตใจอย่างใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับกามเลย ซึ่งแท้จริงก็เป็นสิ่งที่มีตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่มนุษย์ธรรมดาสามัญ ได้มองข้ามมันไปเสีย เช่น บางขณะจิตของคนเราผละไปจากกาม ไปพอใจอยู่ในความว่างจากกามเป็นครั้งเป็นคราว แต่เขาก็ไม่สนใจ และไม่ถือว่าเป็นการพักผ่อนเสียด้วยซ้ำไป เว้นแต่จะเป็นบุคคลพิเศษซึ่งเห็นกามเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง ถ้าใครเผอิญมาเป็นดังนี้ เราก็ต้องยอมรับว่า เขาเป็นบุคคลที่ผิดไปจากพวกคนธรรมดา นั่นแหละคือมูลเหตุ แห่งการเกิดขึ้นของพวกพรหม และภูมิทั้ง ๒ นี้เอง คือ ภูมิหรือภพที่ไม่เนื่องด้วยกาม แม้จะยังมีความรู้สึกว่าเป็น "ตัวเรา-ของเรา" เหลืออยู่เต็มที่ แต่ก็ถือว่าเป็นเส้นเขตแดน ปักปันกันระหว่างโลกุตตรภูมิ ซึ่งเป็นที่มุ่งหมายของพุทธศาสนา กับโลกียภูมิ ซึ่งไม่เป็นที่มุ่งหมายของพุทธศาสนาแต่ประการใด

ดังนั้น ทุกคนจะต้องมองให้เห็นอย่างชัดว่า หลักพุทธศาสนานั้น เป็นไปเพื่อโลกุตตรภูมิ หาใช่เพื่อกามาวจรภูมิ, รูปาวจรภูมิ และ อรูปาวจรภมิ แต่ประการใดไม่ ถ้าจะมีพูดถึงเรื่องหลังเหล่านี้บ้าง ก็ขอให้เข้าใจไว้เถิดว่า พูดเพื่อเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า นี่แหละคือ ตัวอุปสรรคของการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ และเป็นสิ่งที่เราต้องก้าวให้พ้นไปทั้งกามและภพ จนกระทั่งไม่เป็นภพในลักษณะไหนหมด นั่นแหละคือข้อยืนยันที่ว่า โลกุตตรภูมิหรือนิพพานนั้น จะเป็นภพชนิดไหนไปไม่ได้เลย เพราะเป็นสิ่งที่ปราศจาก "ตัวตน-ของตน" โดยแท้จริง เราต้องก้าวขึ้นมาถึงขั้นนี้จริงๆ เท่านั้นจึงจะพบกับตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่หลงเอาโลกียภูมิมาเป็นพุทธศาสนา แล้วยังมายืนยันทุ่มเถียงกันคอเป็นเอ็น หรือสอนให้ผู้อื่นให้เข้าใจผิด ซึ่งนับว่าเป็นการทำบาปอย่างยิ่ง

สรุปความสั้นๆ ว่าถึงเป็นพรหมแล้ว แม้จะปราศจากกามโดยสิ้นเชิง ก็ยังไม่หลุดพ้นจากอุปาทานที่ยึดถือว่า "ตัวตน-ของตน" และยังถูกจัดว่าเป็นโลกียภูมิ เป็นวัฏฏสงสารเพราะเขายังมี "ตัวตน-ของตน" อย่างเต็มที่ ยังเป็นปุถุชนไม่ใช่อริยบุคคลอยู่นั่นเอง หวังว่า การกล่าวยืนยันสัจธรรมเช่นนี้ ผู้ที่ยกตัวเองว่า เป็นปราชญ์ในการสอนพุทธศาสนาทั้งหลาย จะไม่เหมาเอาว่าเป็นการพูดโดยอัตโนมัติ พูดนอกตำหรับตำรา หรือผิดไปจากหลักอภิธรรมที่ตนเคยศึกษาเล่าเรียนมา เพราะถ้าจะปฏิบัติพุทธศาสนากันเพื่อให้เข้าถึงตัวแท้ของพุทธศาสนาโดยเร็วแล้ว เราจำเป็นต้องข้ามสิ่งทั้งหลายที่จะทำให้เราเสียเวลา เช่นการเรียนพุทธประวัติ ประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา คัมภีร์ต่างๆ ชาดกต่างๆ ตลอดจนอภิธรรม ซึ่งอาจทำให้ผู้ศึกษาหรือผู้สอนเกิดมี "ตัวตน" และ "ของตน" ใหญ่ขึ้นไปอีก





คัดจาก หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ (๘๐บาท), ย่อโดย คุณปุ่น จงประเสริฐ
(เรียบเรียงจาก คำบรรยายเรื่อง ตัวกู-ของกู (ฉบับสมบูรณ์) ของท่านพุทธทาส)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น