เจริญพร ขอให้มีความสุขสมหวังและ ถึงความสิ้นทุกข์ในเวลาอันใกล้โดยง่ายเทอญ

ยินดีต้อนรับ สหธรรมิกผู้มีใจเป็นกุศลทุกๆท่านครับ

ขอเรียนเชิญ สหธรรมิกทุกๆท่านมาร่วมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ข้อคิด คำแนะนำ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาครับ

" ความมืดแม้ทั้งโลก ก็บดบังลำแสงเพียงน้อยนิดมิได้ "


สันโดษ

สันโดษ
สุขใด เสมอความสงบ ไม่มี

หน้าเว็บ

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
อดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อโหสิให้ทุกคน แต่อย่ามีเวรกรรมร่วมกันอีกเลย

ผู้ติดตาม

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมภาคใต้ น้ำท่วมสงขลา อ่วม 7 อำเภอ








ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมภาคใต้ น้ำท่วมสงขลา อ่วม 7 อำเภอ

เตือนภาคใต้ฝั่งตะวันออกตามแนวพายุให้ระวังน้ำท่วมและคลื่นพายุซัดฝั่ง (STORM SURGE)

วิเคราะห์สภาพอากาศภาพถ่ายดาวเทียม 1 พ.ย. โดยกรมอุตุนิยมวิทยา

กลุ่มเมฆที่ 1 : ประเทศไทยตอนบนท้องฟ้าโปร่งเป็นส่วนมาก ไม่มีฝนและอากาศหนาว
กลุ่มเมฆที่ 2 : แนวเมฆชั้นสูงปกคลุมทางตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่มีฝนและอากาศหนาว
กลุ่มเมฆที่ 3 : กลุ่มเมฆชั้นต่ำปกคลุมชายฝั่งภาคตะวันออกโดยมีฝนปกคลุมตามบริเวณชายฝั่ง
กลุ่มเมฆที่ 4 : กลุ่มเมฆฝนปกคลุมภาคใต้โดยมีฝนฟ้าคะนองปกคลุมทางตอนกลางและทางตอนล่างของภาคและตกต่อเนื่อง
กลุ่มเมฆที่ 5 : กลุ่มเมฆฝนปกคลุมภาคใต้ฝั่งตะวันตกโดยมีฝนฟ้าคะนองปกคลุมในบริเวณดังกล่าว


ข่าวนํ้าท่วม



น้ำท่วม อ.สะเดา จ.สงขลา เครดิต : @tummeng_090



อ.หาดใหญ่ เมืองใหม่ 1 น้ำท่วมประมาณเอวแล้ว เครดิต : @igoyz



ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงการเคลื่อนตัวของพายุดีเปรสชั่นบริเวณภาคใต้ตอนล่าง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช คืนนี้.. เครดิต : @tummeng_090



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก marine.tmd.go.th, กรมอุตุนิยมวิทยา, @tummeng_090 ,@BBalaka ,@igoyz ,ลูกเมย์ Facebook Teerada

สงขลาประกาศภัยพิบัติ 10 อำเภอ หาดใหญ่ชักธงแดง สั่งอพยพคนแล้ว หวั่นคืนนี้คันกั้นน้ำจะรับน้ำไม่ไหวและทะลักท่วมเมือง ขณะที่กรมอุตุฯ เตือนพายุเข้าภาคใต้ฝั่งตะวันออกเที่ยงคืนนี้ เตรียมรับมือฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากอีกระลอก

ประกาศเตือนภัย "พายุดีเปรสชันในอ่าวไทย และอากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบน" ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 01 พฤศจิกายน 2553

เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (1 พ.ย) พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีศูนย์กลางห่างประมาณ 350 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของจังหวัดสงขลา หรือที่ ละติจูด 6.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.0 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดประมาณ 50 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 15 กม./ชม. คาดว่า จะเคลื่อนตัวผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ในช่วงวันที่ 1-2 พฤศจิกายน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ และอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร

จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ที่อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งได้ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ขอให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าสู่ฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนกลางลงไปควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง ในระยะ 1-2 วันนี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไปกับมีลมแรง สำหรับภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภู อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส

ในระยะนี้ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและเตือนภัย จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมอุตุนิยวิทยา ได้ออกประกาศเตือนภัยล่าสุด ครั้งที่ 1 ประจำวันที่ 1 พ.ย. ว่า ขณะนี้พายุดีเปรสชั่นในอ่าวไทยกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งตะวันออก โดยคาดว่า พายุดังกล่าวจะเข้าสู่พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ภายในคืนนี้ ( 1 พ.ย.) ถึงวันพรุ่งนี้เช้า (2 พ.ย.) และศูนย์กลางของพายุจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งประมาณเที่ยงคืนของวันนี้ ส่งผลให้สภาพอากาศบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง และฝนตกหนักหลายวัน จึงประกาศเตือนให้จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เฝ้าระวังเรื่องของคลื่นและพายุลมแรง ซึ่งจะมีผลกระทบตั้งแต่ช่วงคืนนี้ (1 พ.ย.) เป็นต้นไป และขอให้เรือต่างๆ งดออกจากฝั่งในช่วงนี้


สงขลาประกาศเขตภัยพิบัติ 10 อำเภอ-หาดใหญ่ชักธงแดงเตรียมอพยพ

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จังหวัดสงขลา ยังคงขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ประกาศ 10 อำเภอในจังหวัดประสบภัยพิบัติ ขณะที่น้ำจากเขาคอหงส์เริ่มไหลเข้าท่วมในพื้นที่ตัวเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลาแล้ว ส่งผลให้การจราจรติดขัดทั้งเมือง ประชาชนเร่งขนของขึ้นที่สูงหนีน้ำ

ด้านนายธัญพัฒน์ สุวรรณรัตน์ รองนายกเทศมนตรีตำบลสะบ้าย้อย อ.สะบ้ายย้อย จ.สงขลา กล่าวว่า หลังจากฝนตกติดต่อกันอย่างหนัก ทำให้ขณะนี้พื้นที่สะบ้าย้อยประสบภาวะน้ำท่วมฉับพลัน โดยระดับน้ำเพิ่มสูงประมาณ 1 เมตร ส่งผลให้ประชาชนและราษฎรจำนวน 200 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลอดทั้งวันนี้ระดับน้ำจะเพิ่มสูงถึง 2 เมตร เนื่องจากฝนยังตกหนักโดยไม่มีทีท่าจะหยุด โดยเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว แต่อุปสรรคคือบางจุดน้ำทะลักท่วมอย่างรวดเร็ว จึงไม่สามารถเข้าไปในบางชุมชนได้

ขณะที่ชาวบ้าน อ.สะเดา จ.สงขลา เปิดเผยว่า ฝนตกติดต่อกันมาตั้งแต่วันศุกร์จนถึงขณะนี้ยังไม่หยุด ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ล่าสุดบางพื้นที่ใน อ.สะเดา มีน้ำสูงกว่า 3 เมตร ทำให้ทางการตัดไฟแล้ว แต่ยังใช้โทรศัพท์ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบ้านอีกมากที่ออกมาจากบ้านไม่ได้ เพราะไม่คิดว่าน้ำจะท่วมเร็วขนาดนี้

นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในสงขลายังทำให้มีสถานศึกษาในจังหวัดอีกกว่า 113 แห่ง ต้องประกาศหยุดการเรียนการสอนชั่วคราวอย่างน้อย 3 วันเพื่อติดตามสถานการณ์ เนื่องจากน้ำท่วมเส้นทาง ขณะที่บรรยากาศการเปิดเทอมวันแรกในบางโรงเรียนยังค่อนข้างวุ่นวาย เนื่องจากมีบางโรงเรียนที่น้ำยังไม่ท่วม แต่เส้นทางเข้า-ออกไม่สามารถสัญจรได้ ทำให้โรงเรียนต้องประกาศให้ผู้ปกครองมารับนักเรียนกลับบ้านในช่วงบ่ายเพื่อความปลอดภัย

ในส่วนเทศบาลนครหาดใหญ่มีรายงานว่า น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อำเภอนาทวี จ.สงขลา หลังจากฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน ล่าสุดระดับน้ำสูงถึง 1.5 เมตร ทางโรงพยาบาลจึงได้อพยพคนไข้ 74 คน ออกจากตึกผู้ป่วย เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักจำนวน 6 ราย ได้ถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหาดใหญ่อย่างเร่งด่วน ส่วนที่เหลือกระจายไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลจะนะ ในจำนวนนี้มีทั้งหญิงแรกคลอด รวมทั้งเด็กทารก และญาติของผู้ป่วย ซึ่งการลำเลียงผู้ป่วยค่อนข้างลำบาก เนื่องจากต้องใช้รถยีเอ็มซีของทหารเพียงอย่างเดียว ที่จะสามารถเข้าไปภายในโรงพยาบาลได้ เนื่องจากพื้นที่ถนนหน้าโรงพยาบาลและบริเวณโดยรอบ มีน้ำท่วมสูง และเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนสภาพภายในโรงพยาบาลขณะนี้เริ่มมีน้ำไหลเข้าท่วมตึกผู้ป่วย ความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร รวมทั้งบ้านพักของแพทย์และพยาบาล กำลังทหารเร่งนำกระสอบทรายมาสร้างเป็นแนวกั้นน้ำบริเวณถนนปากทางเข้าโรง พยาบาล ซึ่งมีน้ำทะลักค่อนข้างรุนแรง

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลจะเปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น เนื่องจากการเดินทางเข้าโรงพยาบาลต้องใช้รถบรรทุก 6 ล้อวิ่งเข้า-ออกเท่านั้น

ขณะที่นายอดุลย์ศักดิ์ มูเก็ม รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เผยว่า ฝนที่ตกลงมาหนักกว่า 4-5 วัน ทำให้คาดว่า ปริมาณน้ำจะมากกว่าเดิมและน่ากลัวทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำที่จะมาจากฝั่งอำเภอนาหม่อม ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่น้ำผ่านหลายจุดน้ำได้ท่วมแล้ว โดยล่าสุดหลายฝ่ายได้ประชุมเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่แล้ว

ทั้งนี้ สำหรับจุดเสี่ยงในเขคเทศบาลนครหาดใหญ่ อาทิ หลังวัดหาดใหญ่ใน ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างเทศบาลเมืองควนลัง กับเทศบาลนครหาดใหญ่ ส่วนบริเวณเทศบาลเมืองคอหงส์ ฝั่งตะวันออกของหาดใหญ่ ขณะนี้หลายพื้นที่ท่วมแล้ว แต่ระดับน้ำยังไม่สูงมากนัก ทั้งนี้หากมี เหตุฉุกเฉินจริง ๆ ก็เตรียมการอพยพไว้แล้ว โดยได้ประสานงานพื้นที่ เช่น บริเวณภายในมหาวิทยาละยสงขลานครินทร์ (มอ.หาดใหญ่) และบริเวณ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทเดิม(รพช.) บริเวณเส้นทางไปสนามบินหาดใหญ่นอกจากนี้ได้มีการปะสานงานกับเอกชนในการใช้ พื้นที่ตึกสูง เพื่อใช้อพยพคนและรถ ขึ้นที่สูงแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานว่า ทางหาดใหญ่ได้เปลี่ยนจากธงเหลืองเฝ้าระวังสถานการณ์ เป็นธงสีแดงแล้ว ซึ่งหมายความว่า น้ำจะท่วมได้ภายใน 3-60 ชั่วโมง โดยสั่งอพยพประชาชนทันที เนื่องจากคาดว่า ในคืนนี้คันกั้นน้ำจะรับน้ำไม่ไหวและทะลักท่วมเมือง

โดยในตอนนี้ การไฟฟ้าสงขลาทำการตัดไฟ ทำให้ไฟดับเกือบทั่วทั้งจังหวัด และโรงประปาจมน้ำ จนเหลือแค่โรงเดียว เจ้าหน้าที่แจ้งให้สำรองน้ำไว้ใช้โดยด่วน

ทั้งนี้ สามารถสอบถามสถานการณ์ รวมทั้งแผนอพยพต่าง ๆ ได้ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเทศบาลนครหาดใหญ่ โทร. 074 200 000, 074 200 007 หรือสายด่วน 1559



เกิดฝนตกหนักใน มอ.หาดใหญ่ ทำให้น้ำท่วมขัง เครดิต : @BBalaka



ภาพน้ำท่วมหาดใหญ่ สงขลา เครดิต : ลูกเมย์ Facebook Teerada


น้ำท่วมสตูล น้ำไหลเข้าท่วมหลายอำเภอปิด 3 โรงเรียน

ขณะนี้น้ำในพื้นที่จังหวัดสตูล ได้เพิ่มขยายวงกว้างเข้าท่วมพื้นที่ ในหลายอำเภอของจังหวัดสตูล ล่าสุด มีโรงเรียนได้สั่งการปิดการเรียนการสอนไปแล้ว 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลเมืองสตูล โรงเรียนในพื้นที่อำเภอมะนัง และโรงเรียนบ้านปันจอร์ เนื่องจากน้ำจากชลประทานดุสน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เข้าไหลท่วมบ้านเรือนราษฎร ในพื้นที่ อำเภอควนโดน กว่า 1,000 ครัวเรือน

ด้านนายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าฯ สตูล สั่งการและได้พูดคุยกับอาสาสมัคร กว่า 1,000 คน ในการลงพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สตูล ล่าสุดน้ำเข้าท่วมจากคลองชลประทาน คลองบำบัน คลองละงู เอ่อล้นไหลเข้าท่วมบ้านเรือน ชาวบ้านคือ อ.ละงู อ.ควนโดน อ.เมืองสตูล และ อ.มะนัง ซึ่งพื้นที่ อ.ควนโดน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าตรวจสอบและย้ายเสาไฟให้สูงกว่าระดับน้ำกว่า 2,000 ครัวเรือน

ขณะเดียวกันได้นำเรือท้องแบน เข้าช่วยเหลือชาวบ้าน และข้าวของของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่ ต.ฉลุง อ.เมืองสตูล เข้าพักไว้ที่สูง รวมถึงการขนย้ายต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ฝากประชาชนให้ติดตามข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยา และวิทยุกระจายเสียงอย่างต่อเนื่อง และใกล้ชิดในการป้องกันน้ำท่วม

พัทลุงฝนตก 3 วันติด ระดับน้ำคลองสูงขึ้น

หลังจากที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน กว่า 3 วัน ทำให้ระดับน้ำในลำคลองสายต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะระดับน้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาบรรทัด ในพื้นที่อำเภอกงหรา อำเภอตะโหมด อำเภอป่าบอน อำเภอศรีบรรพต อำเภอศรีนครินทร์ น้ำไหลแรง และมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้น้ำในคลองท่าแนะ พื้นที่ อำเภอศรีบรรพต ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น ระดับน้ำหน้าประตูระบายอยู่สูงกว่าระดับเตือนภัย

สำนักงานชลประทานพัทลุง ฝ่ายจัดสรรน้ำ จึงจำเป็นต้องระบายน้ำออกจากคลองท่าแนะ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับตัวอาคารชลประทาน และจากการระบายน้ำในครั้งนี้ มีผลกระทบทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร ที่อยู่ติดกับลำคลองท่าแนะ ในพื้นที่ชุมชนในเขตอำเภอศรีบรรพต และอำเภอควนขนุน

ทางด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดพัทลุง ยังคงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย 15 ตำบล 28 หมู่บ้าน ที่อยู่ริมป่าเทือกเขาบรรทัด อำเภอกงหรา อำเภอตะโหมด อำเภอป่าบอน อำเภอศรีบรรพต และ อำเภอศรีนครินทร์ ระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ในช่วงระยะนี้ พร้อมประสานไปยังอาสาสมัครมิสเตอร์เตือนภัยหมู่บ้าน เฝ้าติดตาม และให้รายงานสถานการณ์น้ำกับจังหวัดทราบทุก ๆ ชั่วโมง

ตรังเตือนฝนตกอีก 2-3 วัน ระวังน้ำท่วมน้ำป่า

นายวุฒิชัย สกาวสุวรรณ หัวหน้าสถานีอุตุนิยมวิทยาตรัง เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำฝนช่วง 24 ช.ม. ที่ผ่านมา วัดได้ 70 ม.ม. และฝนจะตกไปอีก 2-3 วัน หากปริมาณน้ำฝนตกถึง 100 ม.ม. ใน 24 ช.ม. ก็จะเกิดน้ำหลาก น้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำตรัง ส่วนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เทือกเขาบรรทัด อำเภอนาโยง อำเภอย่านตาขาว ให้ระมัดระวังน้ำป่าไหลจากเขาบรรทัด ส่วนผู้ที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำตรัง ก็จะเกิดน้ำล้นตลิ่งท่วมได้

สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวที่ทะเลตรัง หรือสถานที่ต่าง ๆ ของจังหวัดตรังนั้น โปรดเช็กสภาพอากาศก่อนเดินทาง


สุราษฎร์ฯ ตั้งศูนย์รับมือน้ำท่วม ดินถล่ม

หลังจากที่มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ในช่วง 2-3 วัน ที่ผ่านมา ทาง จ.สุราษฎร์ธานี ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม พร้อมตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ส่วนหน้าอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้า อ.พนม อ.ไชยา อ.เกาะสมุย อ.พระแสง โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เฝ้าติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ช.ม.

ปัตตานีบางพื้นที่รถผ่านไม่ได้แล้ว

สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ จ.ปัตตานี ล่าสุดมีน้ำท่วมขังทุกพื้นที่ ทั้ง 12 อำเภอของ จ.ปัตตานี โดยบางพื้นที่ของ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง อ.โคกโพธิ์ อ.เมือง อ.ยะหริ่ง รถไม่สามารถผ่านได้ น้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร และประชาชน อ.มายอ ประมาณ 15 ครัวเรือน กำลังต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้ไฟฟ้าเขตใน อ.เมือง ดับทั้งสาย ในส่วนของกำลังเจ้าหน้าที่ขณะนี้ทุกหน่วยงาน ได้ออกให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ แต่เนื่องจากความเดือดร้อนของประชาชนมีจำนวนมาก ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าให้การช่วยเหลือ



น้ำท่วมสงขลา



น้ำท่วมสงขลา


ยะลา ฝนหนัก เฝ้าระวัง 48 ตำบลน้ำท่วม

ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ได้ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีเริ่มสูงขึ้น บางจุดเริ่มไหลทะลักเข้าท่วมในสวนยางพาราบ้างแล้ว ทำให้ทางจังหวัดยะลาเปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มจังหวัดยะลา เพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที

โดยนายเวโรจน์ สายทองแท้ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา กล่าวว่า ต้องเฝ้าระวังดินถล่มใน อ.เบตง อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา ซึ่งล่าสุดยังคงมีปริมาณฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะเกิดอุทกภัยใน 8 อำเภอของจังหวัด รวม 48 ตำบล 247 หมู่บ้าน โดยเขต อ.เมืองยะลา มีพื้นที่เฝ้าระวังมากที่สุดรวม 12 ตำบล อย่างไรก็ตามล่าสุดระดับน้ำในแม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี และในเขื่อนบางลาง ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่ถึงระดับวิกฤต

กรมชลประทานประกาศเตือนนราธิวาส

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ออกประกาศฉบับที่ 17 เรื่องสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส หลังฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายบุรีสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายบุรี ในเขตอำเภอศรีสาคร ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่บ้านท่าเรือ อำเภอรือเสาะ ขอให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น.ของวันนี้ พร้อมหาทางป้องกันล่วงหน้าเพื่อความปลอดภัย และป้องกันน้ำไหลเข้าที่พักอาศัย และพื้นที่การเกษตร โดยการขนย้ายสิ่งของ สัตว์เลี้ยง และยานพาหนะขึ้นสู่ที่สูง

ขณะที่นายเดชรัฐ สิมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้สั่งปิดชายหาดอ่าวมะนาว ในนราธิวาสแล้ว หลังคลื่นลมเข้าหาฝั่งด้วยกำลังแรง อีกกระแสลมแรงพัดกระหน่ำจนต้นสนขนาดใหญ่ล้มระเนระนาดกีดขวางเส้นทางจราจรอีกหลายต้น จึงเกรงว่านักท่องเที่ยวจะไม่ปลอดภัย

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.สุไหง-โกลก เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤต เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำสุไหง-โกลกเพิ่มระดับเป็น 9 เมตร ซึ่งสูงจากตลิ่งกว่า 1 เมตรแล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าไปช่วยเหลือและอพยพราษฎรในุชมชนหัวตะพานจำนวน 100 หลังคาเรือนไปอยู่ยังศูนย์อพยพผู้ประสบอุทกภัยชั่วคราว ที่โรงเรียนเทศบาล 4 ต.สุไหง-โกลก

ภูเก็ตสั่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม-ดินสไลด์

ปภ.ภูเก็ตสั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดดินสไลด์และน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากมีฝนตกติดต่อกันนานหลายวัน ประกอบกับภูเก็ตมีพื้นที่เสี่ยงภัยอันอาจจะทำให้มีน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มได้ เนื่องจากจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมีการก่อสร้างต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีการเปิดหน้าดินและก่อสร้างบนที่สูงหรือพื้นที่ลาดเชิงเขา โดยจุดที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษมีกว่า 10 จุด เช่น บ้านกะหลิม บ้านไม้เรียบ บ้านเหนือ บ้านชิดเชี่ยว วัดใหม่ เป็นต้น

สั่งปิดหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน ชั่วคราว

นายสมาน สะแต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา (ทสจ.พังงา) ได้สั่งปิดหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติศรีพังงา และน้ำตกอีกจำนวน 10 แห่ง หลังเกิดพายุฝนตกหนัก โดยมีกำหนดเปิดอีกครั้ง ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 แต่จะรอดูสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง

ตรังสั่งปิดน้ำตก 6 แห่ง หวั่นน้ำป่าไหลหลาก

นายคม ไชยภักดี หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด เผยว่า ได้มีการประกาศปิดน้ำตกทั้ง 6 แห่งในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดตรังได้แก่ อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน และอำเภอนาโยง ประกอบด้วย น้ำตกสายรุ้ง น้ำตกไพรสวรรค์ น้ำตกโตนเต๊ะ น้ำตกโตนตก น้ำตกกะช่อง และน้ำตกลำปลอก อย่างไม่มีกำหนด หลังมีฝนตกติดต่อกันทั้งวันทั้งคืนจนทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสีน้ำเริ่มขุ่นแดง โดยหวั่นว่า หากคืนนี้ฝนยังไม่หยุดตก น้ำตกทุกแห่งน่าจะวัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากได้ และหากฝนยังตกติดต่อกันเช่นนี้อีก 3 วัน อาจจะเกิดดินโคลนถล่ม



ระดับน้ำในคลองอู่ตะเภา หาดใหญ่ เข้าขั้นวิกฤต : เครดิตสงขลาทูเดย์


เบอร์ติดต่อสอบถามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสงขลา

- สายตรง นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ศาลากลางจังหวัดสงขลา ถ.ราชดำเนิน อ.เมือง จ.สงขลา 90000 โทรศัพท์ 0-7432-3874, 0-7431-3126 โทรสาร(FAX) 0-743-13126

- ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา 418 ม.6 ถ.สายสนามบิน ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ 90110 โทรศัพท์ 0-7425-1160-3 โทรสาร(FAX) 0-7425-1166

- สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา อาคารศาลาประชาคม ถ.ราชดำเนิน อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000 โทรศัพท์ 074-31-6380-2 โทรสาร(FAX) 0-7431-6382

- องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา 074-303100

- เทศบาลนครหาดใหญ่ สายด่วนกุญชร 1559

- เทศบาลเมืองคอหงส์ 074-280004

- เทศบาลเมืองคลองแห 074-580888 สายด่วน 1132

- อ.เบตง จ.ยะลาเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว ออกช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง โทรศัพท์ 073-230478

- ศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเทศบาลนครหาดใหญ่ โทร. 074 200 000, 074 200 007 หรือสายด่วน 1559


อุบัติเหตุ ฉุกเฉิน ขอความช่วยเหลือ

- ศูนย์วิทยุกู้ภัยมิตรภาพสามัคคีท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง 074-350955

- ศูนย์นเรนทร สงขลา 1669

สถานีวิทยุที่รายงานสถานการณ์น้ำท่วม

- สถานีวิทยุ มอ. เอฟเอ็ม 88.0 ฟังออนไลน์ http://www.psuradio88.com/

- สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา เอฟเอ็ม 90.50 โทรศัพท์ 0-7433-3220-1 โทรสาร 0-7433-3555 ฟังออนไลน์ region6.prd.go.th


เบอร์โทรศัพท์ติดต่อสอบถาม ประสานงานเหตุอุทกภัย


- ศูนย์กลางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ติดต่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร 1784

- ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม โทร.1555 และ 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง

- ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.นครราชสีมา โทร 044-342-652 ถึง 4 และ 044-342-570 ถึง 7

- ประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ โทรฟรี 1669 หรือ 02-591-9769 ตลอด 24 ชั่วโมง

- สอบถามเส้นทางรถไฟ และเวลาเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร 1690

- สอบถามสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-398-9830

- กฟภ.ตั้งศูนย์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 นครราชสีมา โทร.044214334-5 หรือ CallCenter1129

- สอบถามน้ำท่วม ถ.มิตรภาพ ที่แขวงการทางต่าง ๆ ได้ที่โทร 044-242047 ต่อ 21, 044-212200, 037-211098, 036-461422, 036-211105 ต่อ 24

การเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วม

1. หมั่นติดตามข่าวสาร และประกาศเตือนทุกช่องทาง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เสาสัญญาณ เป็นต้น

2. เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง แก๊ชสำหรับหุงต้ม ยารักษาโรค ไฟฉาย เทียน ไม้ขีดไฟ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อเอาตัวรอดในยามน้ำท่วม

3. เตรียมกระสอบทรายไว้เพื่อทำผนังกั้นน้ำ (แต่ห้ามวางไว้พิงกำแพง เพราะจะเพิ่มแรงดันให้น้ำทะลักเข้ามาได้ง่าย)

4. หมั่นทำความสะอาดพื้น ไม่ให้มีของอันตรายหากเกิดน้ำท่วมสูง

5. เก็บของมีค่า และสัตว์เลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า ไปไว้ชั้นบนของบ้าน

6. เตรียมเบอร์ติดต่อ หน่วยงานของรัฐ เผื่อต้องการความช่วยเหลือ

7. ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารให้พร้อม

8. หากเกิดน้ำท่วมให้หนีขึ้นที่สูง และปิดวงจรไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

9. พยายามหาส่วนแห้งเพื่อหลบภัย และป้องกันไฟดูด

10. ห้ามรับประทานน้ำที่ท่วมสูง หากขาดแคลนน้ำดื่ม ให้ต้มก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคระบาด

11. หากน้ำท่วมไม่สูงมาก ให้ระวังการใช้รถใช้ถนน และดูแลเด็กเล็กไม่ให้ออกจากบ้าน

12. ระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ หากถูกกัดให้ล้างแผลด้วยน้ำต้มสุกและเช็ดแอลกอฮอล์รอบแผล จากนั้นหาทางไปโรงพยาบาลทันที

13. เตรียมน้ำสะอาดไว้ดื่ม และชำระร่างกาย

14. เตรียมถุงดำเล็ก - ใหญ่ ไว้ทิ้งขยะและปลดทุกข์

15. เตรียมอุปกรณ์สำหรับขอความช่วยเหลือ เช่น นกหวีด ชูชีพ

16. หากน้ำท่วมเป็นเวลานาน อาจเกิดแผ่นดินทรุดตัวได้ แนะนำให้อยู่ห่างตึกหรืออาคารสูง ๆ

ข่าวน้ำท่วม บริจาคผู้ประสบภัยน้ำท่วม คลิกเลยค่ะ





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมอุตุนิยมวิทยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น